ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

3. แนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองด้านสุขภาพ (Political Economy of Health) นัฐวุฒิ สิงห์กุล


แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของสุขภาพ เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคมระดับมหภาคที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพิจารณาถึงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการผลิตทางสังคมเกี่ยวกับความเจ็บป่วย (The social production of disease)  Morgan นิยาม แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของสุขภาพว่าคือการวิเคราะห์ระดับมหภาค การวิพากษ์และมุมมองทางประวัติศาสตร์สำหรับการวิเคราะห์เกี่ยวกับการกระจายของโรคและการบริการทางสุขภาพ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย พร้อมกับเน้นย้ำเกี่ยวกับผลกระทบของการแบ่งชนชั้นทางสังคม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ภายในระบบเศรษฐกิจโลก (Morgan,1984:132 อ้างในพิมพวัลย์ บุญมงคล 2555:12)  แม้ว่าเศรษฐศาสตร์การเมืองของสุขภาพ จะเกี่ยวข้องกับความหลากหลายของระบบเศรษฐกิจ  กระบวนการพัฒนาและการแผ่ขยายของระบบทุนนิยมโลก และแนวทางของแพทย์แบบชีวะ(Biomedicine) ที่ดำเนินการภายในบริบทเหล่านี้ ดังที่ Baer (1997:28) ได้กล่าวว่า ผลกำไรสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการแพทย์แบบชีวะ ไปยังระบบทุนนิยมแบบเข้มข้น พร้อมความพยายามอย่างหนักในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีชั้นสูง การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับยาจำนวนมหาศาล และความเข้มข้นของบริการในทางการแพทย์ที่ซับซ้อน
แนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองด้านสุขภาพ อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญ 3 แนว แนวคิดแรก คือ แนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ที่มองว่าระบบทุนนิยมดำเนินการได้ด้วยการสะสมทุน การเอารัดเอาเปรียบชนชั้นแรงงานที่เป็นผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ ดังเช่น ความสัมพันธ์เชิงมหภาคในเรื่องของการพัฒนาระบบแพทย์เชิงพาณิชย์ กับเชิงจุลภาคคือความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ในบริบทของการรักษาและสุขภาพ
แนวคิดที่สอง คือแนวคิดเชิงวิพากษ์วัฒนธรรม ที่มองว่าวัฒนธรรมไม่ใช่ระบบความหมายที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจและอธิบายโลกของตนเองเท่านั้น แต่วัฒนธรรมยังมีระบบคิดและอุดมการณ์ที่ ซ่อนเร้น ปิดปัง และซุกซ่อนความจริงทางเศรษฐกิจการเมืองเอาไว้  ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นทั้งสายใยของความหมายที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นเรื่องเร้นลับ และอำพรางความจริงของสังคมเอาไว้ด้วย ในการนำแนวความคิดนี้มาอธิบายการแพทย์และการสาธารณสุข จึงสามารถนำมาอธิบายได้ว่า การแพทย์และการสาธารณสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ในระบบทุนนิยมสิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า อีกทั้งคุณค่าและมูลค่าของการบริการสุขภาพกลายเป็นสิ่งที่คุกคามและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุคคล รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม ซึ่งโครงสร้างและสถาบันทางสังคมได้สร้างและผลักดันให้ความยากจนและความมีอภิสิทธิ์อยู่อย่างมั่นคงถาวร ดังนั้นคนที่เสียเปรียบในสังคมก็ยังคงเสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา ทั้งผู้หญิง ชนชั้นกรรมกร คนยากจน ชาวนา และคนกลุ่มน้อย
แนวคิดที่สามคือ แนวคิดเชิงทฤษฎีการพึ่งพิงหรือเรียกว่า World System Theory ที่เน้นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับปะเทศด้อยพัฒนา จักรวรรดินิยมกับอาณานิคม แนวคิดนี้มองว่าการแทรกแซงของระบบทุนนิยมในสังคมเป็นตัวกำหนดความเจ็บป่วย โรค ความยากจนและการด้อยพัฒนาของผู้คนในสังคม (Morgan ,1987 อ้างในพิมพวัลย์,2555:หน้า 11-12)
แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นที่นิยมในช่วงปีค.ศ.1978-1990 ที่มองว่า การมีสุขภาพที่ดี การเจ็บป่วยและการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของบุคคลต่างๆในสังคมที่เป็นอยู่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่บุคคลกลุ่มต่างๆจะเข้าถึง ควบคุม แย่งชิงและดูดซับทรัพยากรได้หรือไม่และในระดับใดเท่านั้นเอง รวมถึงการมีสถาบันทางการแพทย์เพื่อเป็นหลักประกันความมีสุขภาพอนามัยที่ดีอย่างเหมาะสมเพียงพอสำหรับประชาชน  และการสร้างผลผลิตให้กับสังคมในฐานะของผู้ผลิตและผู้บริโภค และความไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรให้กับคนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและไม่สามารถกลับมาเป็นแรงงานในระบบตลาดได้ เช่น ผู้ป่วย คนชรา คนพิการ การแพทย์ได้ทำให้ความเหลือมล้ำทางสังคมเกิดขึ้น สุขภาพกลายเป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระบบบริการสุขภาพในระบบทุนนิยมที่ไร้ประสิทธิภาพ ราคาแพง และควบคุมไม่ได้ รวมทั้งสร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้น การมุ่งรักษาโรคเฉียบพลันด้วยการใช้ยาและเทคโนโลยีมากกว่าการป้องกันหรือการรักษาสุขภาพให้ดีของประชาชน ดังนั้นสาเหตุของความเจ็บป่วยจึงเกิดขึ้นและสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม อันเนื่องมาจากระบบการผลิตแบบทุนนิยม เช่น การผลิตอุตสาหกรรมเคมีแบบเครื่องจักร และระบบสายพานอุตสาหกรรม ที่ขึ้นอยู่กับเวลา ปริมาณของผลผลิต ทำให้เกิดมลภาวะ การความเครียด ความแปลกแยกและอันตรายจากการทำงาน อีกทั้งความล้มเหลวของรัฐที่จะแก้ไข ควบคุมกิจกรรมของบริษัทหรือกลุ่มทุนข้ามชาติ  การควบคุม การผลิต การกระจายและตลาด รวมถึงการโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นเหล้าบุหรี่ ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก  การเกิดขึ้นของความสัมพันธ์ของระบบทุนนิยมและระบบสาธารณสุขที่สร้างความต้องการทางสุขภาพ แต่ละเลยหรือมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงของโรคทำให้เกิดความต้องการบริโภคบริการทางสุขภาพที่เป็นสินค้าเพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ของระบบสุขภาพกับระบบทุนนิยม
โดยสรุปก็คือ แนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองมองว่า สถาบันทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางธุรกิจและการตัดสินใจทางการเมืองไม่เพียงส่งผลต่อความเจ็บป่วยของบุคคลและการเข้าถึงทรัพยากรทางสุขภาพเท่านั้นแต่ยังผลิตหรือสร้างความเจ็บป่วยที่นำไปสู่ความแปดเปื้อนและความเสี่ยงอื่นๆ โดยสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพที่นำไปสู่การผลิตความเครียดที่สัมพันธ์กับการไม่ทำหน้าที่ทางกายภาพ (Physical Dyfunction) ที่ลดทอนกับการต้านทานความเจ็บป่วย ในทางตรงกันข้ามการจัดการของสังคมและชุมชนสามารถต่อสู้กับภาวะความเสี่ยงและสนับสนุนการสร้างโอกาสในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพด้วย (Winkleman,2009:296)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ เน้นอยู่ที่ปัจจัยทางชีววิทยาเพ

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเกี่ยวกับการนอนเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว(priv

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Derkhiem ในหนัง