“The subaltern cannot speak.”ผู้ไร้อำนาจในสังคม (subaltern) ไม่สามารถแสดงออกถึงเสียงของตนเองได้ในโครงสร้างที่ถูกครอบงำโดยอำนาจและวาทกรรมของผู้มีอำนาจ (Spivak , Can the Subaltern Speak?)
“To confront the Other as Other is to acknowledge its irreducibility.” การเผชิญหน้ากับ “ผู้อื่น” ต้องยอมรับว่าเราจะไม่มีวันเข้าใจพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์ (Spivak , “In Other Worlds”)
ตอนที่ผมเป็นเอ็นจีโอ และพาชาวบ้านเข้าประชุมกับนักวิชาการ กรรมาธิการร่างกฏหมายแร่ นักอุตสาหกรรม นักธรณีวิทยา สว. สส. นักกฏหมาย และอื่นๆ ผมจำได้เลยว่าเวทีวันนั้น แม่มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ของกลุ่มทุนข้ามชาติ ได้ลุกขึ้นพูดด้วยตัวเองต่อมุมมองเรื่องแร่โพแทชในเวที โดยใช้เรื่องตำนานกระรอกเผือกมา พูดด้วยความรู้สึกมากกว่าพูดแบบวิชาการ เพื่ออธิบายตัวแร่ … แน่นอนในทางวิชาการ ในทางกฏหมายอาจจะยอมรับกับสิ่งที่แม่มณีพูดได้ยากในแนวคิดทางวิชาการและแนวทางการพัฒนา แต่มันคือความจริงของตนในพื้นที่มากที่สุด.. มันทำให้ผมคิดว่า พรบ.ชาติพันธุ์ที่ถกเถียงพูดคุยกันอยู่นั้น สะท้อน การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการต่อรองสิทธิ การรับรองสิทธิแต่ยังเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม การแปลเสียง และการสร้างตัวตนในบริบทของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมด้วย
ดังนั้นหลายครั้งเมื่อมีการประชุมหรือสัมมนาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. มักมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองเข้าร่วม แต่เนื้อหาที่พวกเขาแสดงออกมักถูกลดทอนหรือตีความใหม่ให้เหมาะกับการสื่อสารในกรอบวิชาการหรือแบบทางการ ดังเช่นการตีความใหม่ให้เข้ากับเป้าหมายของตน เช่น ความต้องการของชนเผ่าพื้นเมืองในด้านสิทธิที่ดินอาจถูกแปลงให้กลายเป็น “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” เพื่อเอื้อต่อโครงการของรัฐในอนาคต ดังนั้นรัฐมักใช้วาทกรรมที่ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ “ถูกกำหนด” ตัวตนจากภายนอกมากกว่าภายในของตัวเอง รวมทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว หรือองค์กรต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ “เป็นกระบอกเสียง” ให้ Subaltern อาจไม่สามารถถ่ายทอดเสียงเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง เพราะมักจะแทรกแซงด้วยกรอบคิด อุดมการณ์ หรืออำนาจของตัวเองเข้าไปด้วย
ในฐานะนักมานุษยวิทยาก็สนใจที่จะตั้งคำถาม และการวิเคราะห์ว่าเสียงของชาวบ้านหรือชนเผ่าพื้นเมืองถูกแปลหรือเบี่ยงเบนอย่างไรในกระบวนการร่างกฎหมา
แน่นอนผมนึกถึงงานชิ้นหนึ่งของ Gayatri Chakravorty Spivak เป็นนักวิชาการด้านทฤษฎีวรรณกรรมและการศึกษาเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะในเรื่องแนวคิด Postcolonialism และ Deconstruction เธอเน้นประเด็นเกี่ยวกับการกดทับ การเป็นตัวแทน (representation) และเสียงของผู้ถูกกดขี่ในสังคม
ในบทความชื่อ Can the Subaltern Speak? ของ Spivak เขาอธิบายคำว่า “Subaltern” จึงหมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ใต้สุดในโครงสร้างสังคมที่ถูกกดทับและไร้เสียง เช่น คนยากจน ผู้หญิง หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกล่าอาณานิคม
Spivak ตั้งคำถามว่า “ผู้ไร้อำนาจสามารถพูดได้จริงหรือ?” (Can the Subaltern Speak?) โดยเธอเสนอว่าผู้ถูกกดขี่ไม่สามารถพูดได้อย่างแท้จริง เพราะการพูดของพวกเขามักถูกตีความหรือบิดเบือนผ่านมุมมองของผู้มีอำนาจ ในแนวทางนี้ Spivak ไม่ได้หมายถึงการพูดทางกายภาพ แต่เธอหมายถึง การพูดในแง่ของการส่งผ่านเสียงและเจตจำนงที่แท้จริงของตนเองโดยปราศจากการถูกครอบงำหรือบิดเบือน โดยผู้มีอำนาจ เช่น นักวิชาการตะวันตก ระบบอาณานิคม หรือโครงสร้างสังคมอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่ “พูดแทน” ผู้ไร้อำนาจ ซึ่งกระบวนการนี้ได้กลายเป็นการแทนที่มากกว่าเป็นตัวแทน
คำกล่าวในบทความที่ว่า “There is no space from which the subaltern (sexed subaltern) can speak.” เธอชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนที่ไม่เพียงแต่กลุ่ม subaltern ถูกกดขี่ แต่ผู้หญิงที่เป็น subaltern ยิ่งถูกทำให้ไร้เสียงมากขึ้นในหลายระดับ ผู้หญิงในสังคมอาณานิคมถูกบีบบังคับให้เงียบผ่านทั้งระบบสังคมและการตีความโดยชนชั้นปกครอง ที่สะท้อนความไร้เสียงของผู้หญิงใน Subaltern โดย Spivak เน้นว่า ผู้หญิง ในกลุ่ม subaltern ถูกกดขี่ในหลายมิติ ทั้งจากระบบอาณานิคม ระบบชายเป็นใหญ่ และโครงสร้างทางสังคม เป็นต้น
Spivak วิพากษ์การแทรกแซงของจักรวรรดินิยมที่มักอ้างว่าเข้ามาช่วยเหลือผู้หญิงในประเทศอาณานิคมจากวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงกลับตอกย้ำการกดขี่และสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจของตะวันตก ดังเช่น การที่จักรวรรดินิยมตะวันตกอ้างว่ามาช่วยเหลือ “ผู้หญิงพื้นเมือง” จากความป่าเถื่อนในวัฒนธรรมท้องถิ่น แท้จริงแล้วกลับเป็นการตอกย้ำอำนาจของตนเอง ตัวแฃอย่างที่ Spivak ใช้คือ พิธี Sati สตี ในอินเดีย โดยพิธี Sati เป็นประเพณีที่หญิงหม้ายเผาตัวเองไปพร้อมกับร่างของสามีที่เสียชีวิต
Spivak วิเคราะห์ว่านี่เป็นสนามของการต่อสู้ทางอำนาจระหว่างจักรวรรดินิยมตะวันตกและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยฝ่ายตะวันตกมองว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นเหยื่อที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ในขณะที่ฝ่ายท้องถิ่น มองว่าเป็นการแสดงความภักดีและเกียรติของผู้หญิง ทั้งสองฝ่ายล้วนพูด “แทน” ผู้หญิง แต่ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเหล่านั้นพูดถึงความรู้สึกหรือประสบการณ์ของตัวเองอยู่ดี
เช่นเดียวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองในอาณานิคมมักถูกเขียนโดยผู้ล่าอาณานิคม และสะท้อนมุมมองของผู้มีอำนาจ เช่น การเขียนถึงชนพื้นเมืองว่า “ล้าหลัง” หรือ “ต้องการความช่วยเหลือ” อยู่เสมอ ภายใต้วาทกรรมการพัฒนา Spivak วิพากษ์ว่านักวิชาการตะวันตกมักศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้ถูกกดขี่จากมุมมองของอำนาจ ซึ่งไม่เปิดพื้นที่ให้ subaltern พูดด้วยตัวเอง
ผมชอบงานชิ้นหนึ่งของ Spivak ชื่อ Death of a Discipline” (2003) เป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลของ Spivak ซึ่งได้วิพากษ์และเสนอการเปลี่ยนแปลงแนวทางการศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบ (Comparative Literature) เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคโลกาภิวัตน์และหลังอาณานิคม (Postcolonialism)
โดย Spivak บอกว่าต้องปฏิวัติวิชาวรรณคดีเปรียบเเทียบ รวมทั้งชี้ว่า วรรณคดีเปรียบเทียบแบบดั้งเดิม มีจุดอ่อนสำคัญที่มุ่งเปรียบเทียบเฉพาะงานเขียนในบริบทตะวันตก (Eurocentric) และมองข้ามวรรณกรรมจากโลกที่ไม่ใช่ตะวันตก เธอเสนอให้วรรณคดีเปรียบเทียบพัฒนาสู่การศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นระดับโลก เช่น ความยุติธรรมทางสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น และปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมให้มากขึ้น เธอเสนอเรื่องการบูรณาการวรรณกรรมจากโลกที่สามและเรียกร้องให้วรรณคดีเปรียบเทียบรวมเอาวรรณกรรมและเสียงของโลกที่สามเข้าไปเพื่อสร้างความสมดุลในสนามวาทกรรม ดังที่ Spivak บอกว่า “Comparative Literature is not about comparing literatures, but about thinking through the incommensurable.” หมายความว่าวรรณคดีเปรียบเทียบควรมุ่งไปที่การทำความเข้าใจความแตกต่างที่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้โดยตรง มันคือความแตกต่างที่งดงาม และมีความเฉพาะ ไม่ใช่การเทียบว่าเหนือกว่าหรือด้อยกว่า
Spivak นำเสนอแนวคิด “The Planetarity” คือแทนที่จะมองโลกผ่านกรอบของโลกาภิวัตน์ (globalization) ซึ่งมักถูกครอบงำโดยการค้าและอำนาจทุน Spivak เสนอแนวคิด “planetarity” ซึ่งเน้นความเชื่อมโยงของมนุษยชาติในเชิงจริยธรรมและความเป็นสากลให้มากขึ้น โลกควรถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่เราทุกคนมีความสัมพันธ์ร่วมกัน โดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังเช่นที่ Spivak กล่าวว่า “The task of the humanities is to supplement globalization with planetarity.” (มนุษยศาสตร์ควรเสนอแนวทางใหม่ที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โดยไม่ถูกครอบงำด้วยเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์)
Spivak เน้นว่า การเรียนรู้จาก “ผู้อื่น” (Learning from the Other) นักวิชาการตะวันตกต้องเปลี่ยนทัศนคติจากการ “ศึกษาผู้อื่น” มาเป็น “การเรียนรู้จากผู้อื่น” โดยเปิดพื้นที่ให้วัฒนธรรมท้องถิ่นและประสบการณ์ของผู้คนในโลกที่สามสามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวเอง ดังที่Spivak บอกว่า “To learn from below is to unlearn privilege.” ซึ่งมีความหมายว่า การเรียนรู้จากผู้ถูกกดขี่หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นต้องเริ่มจากการยอมรับว่าอำนาจและสิทธิพิเศษของตนเองอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าใจ “ผู้อื่น” ก่อน นั่นคือเห็นข้อจำกัดและจุดอ่อนในตัวเองในการเข้าใจคนอื่น
หนังสืออีกเล่มของ Spivak ที่น่าสนใจคือ “In Other Worlds: Essays in Cultural Politics” (1987) เป็นหนังสือรวมบทความของ Gayatri Chakravorty Spivak ที่รวบรวมแนวคิดสำคัญในด้าน วรรณคดีศึกษา การเมืองวัฒนธรรม (Cultural Politics) และ ทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) โดย Spivak ใช้แนวคิดจาก Jacques Derrida และนักคิดอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์บทบาทของภาษา วัฒนธรรม และอำนาจในบริบทของอาณานิคมและหลังอาณานิคม
แนวคิดสำคัญใน “In Other Worlds” มีดังนี้
1. การเมืองของการแปล (The Politics of Translation) การแปลไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษา แต่เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ วาทกรรม และอคติของผู้แปล โดย Spivak ชี้ว่าภาษาเป็นเครื่องมือของอำนาจ และการแปลสามารถสร้างการครอบงำทางวัฒนธรรม หรือเปิดพื้นที่ให้กับ “เสียง” ของผู้ที่ถูกกดขี่
2. วาทกรรมหลังอาณานิคม (Postcolonial Discourse) Spivak วิเคราะห์ว่าการสร้างกรอบความรู้ (epistemology) ในสังคมอาณานิคมมักสะท้อนอำนาจของผู้ล่าอาณานิคม โดยมองข้ามหรือบิดเบือนประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่
3. Deconstruction และการอ่านแบบระแวดระวัง (Close Reading) Spivak นำเสนอแนวทางการอ่านและวิเคราะห์วรรณคดีโดยใช้แนวคิดแบบ Deconstruction ( รื้อสร้าง) เพื่อเผยให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่แฝงอยู่ในตัวบท
4. การเป็นตัวแทน (Representation) และการแทนที่ (re-presentation) “ผู้อื่น” ในวรรณคดีหรือการศึกษาวัฒนธรรมมักถูกครอบงำด้วยมุมมองของผู้เขียนหรือผู้ศึกษา เธอชี้ว่าโลกของ “ผู้อื่น” (โลกที่ถูกกดขี่หรือไม่ใช่ตะวันตก) มักถูกสร้างขึ้นโดยมุมมองของโลกตะวันตก โดยการวิเคราะห์วรรณกรรมอาณานิคม ซึ่ง Spivak ใช้วรรณกรรมจากโลกที่สาม เช่น งานเขียนของ Mahasweta Devi นักเขียนอินเดีย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่ เช่น ผู้หญิงพื้นเมือง หรือชนเผ่าต่างๆ มักถูกลดทอนในวรรณกรรมกระแสหลัก ซึ่งเธอแสดงให้เห็นว่าเมื่อแปลวรรณกรรมท้องถิ่นสู่ภาษาสากล เช่น ภาษาอังกฤษ มักมีความเสี่ยงที่จะทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นสูญเสียบริบทสำคัญ เช่น การแปลคำที่มีความหมายเฉพาะในวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรม อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด
ดังนั้น Spivak ใช้แนวคิดการรื้อสร้าง (Deconstruction) ของ Derrida เพื่อวิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรม เช่น การอ่านงานของ Jane Austen หรือ Joseph Conrad โดยเปิดเผยโครงสร้างอำนาจที่ซ่อนอยู่ในเรื่องเล่า และวัฒนธรรมใด วัฒนธรรมหนึ่งมักถูกแทนที่ในสื่อและวรรณกรรม และใครเป็นผู้ควบคุมการเล่าเรื่อง โดยการตั้งคำถามและวิเคราะห์ว่าภาพลักษณ์ของชนพื้นเมืองถูกเปลี่ยนแปลงหรือบิดเบือนอย่างไร ผู้ล่าอาณานิคมนำเสนอวัฒนธรรมของผู้ถูกกดขี่อย่างไร รวมทั้งการศึกษาสื่อในโลกหลังอาณานิคม เช่น การนำเสนอวัฒนธรรมเอเชียในภาพยนตร์ฮอลลีวูด เป็นต้น
เล่มสุดท้ายที่ผมคิดว่าน่าสนใจในงานของ Spivak คือ “A Critique of Postcolonial Reason: Toward a History of the Vanishing Present” (1999) เป็นผลงานสำคัญของ Gayatri Chakravorty Spivak ที่วิพากษ์วิธีการสร้างความรู้ในโลกยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคม โดย Spivak ใช้ทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism) และการวิพากษ์ทฤษฎีตะวันตกเพื่อตั้งคำถามต่อการกดขี่และการทำให้ “ผู้อื่น” เป็นสิ่งที่ไร้เสียง (Subaltern) แนวคิดสำคัญเช่น
1. การสร้าง “ผู้อื่น” (The Construction of the Other) โดย Spivak ชี้ว่า วาทกรรมอาณานิคม (Colonial Discourse) สร้าง “ผู้อื่น” (Other) ขึ้นผ่านกรอบคิดตะวันตก โดยทำให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในโลกตะวันตกถูกมองว่าเป็นผู้ด้อยกว่าหรือไม่สามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเอง
2. การหายไปของเสียงของ Subaltern Spivak เน้นว่ากลุ่มผู้ถูกกดขี่ เช่น ผู้หญิงในโลกที่สาม ไม่สามารถมีเสียงหรือเล่าเรื่องราวของตัวเองได้ในบริบทของโครงสร้างอำนาจแบบตะวันตก ซึ่ง Spivak วิเคราะห์กรณีผู้หญิงในวัฒนธรรมอินเดีย โดยเฉพาะประเด็นการ “Sati” (การเผาตัวตายของหญิงหม้าย) ว่าเสียงของพวกเธอถูกทำให้เงียบหายทั้งในกรอบคิดของอาณานิคมและประเพณีอินเดียเอง
3. การวิพากษ์ทฤษฎีตะวันตก (Critique of Western Theory) Spivak วิพากษ์นักคิดตะวันตก เช่น Immanuel Kant, Karl Marx, และ Martin Heidegger ว่าทฤษฎีเหล่านี้มักไม่สามารถตอบสนองต่อบริบทของโลกหลังอาณานิคม และมีส่วนในการสร้างและคงอยู่ของการครอบงำ ตัวอย่างเช่น Spivak ชี้ให้เห็นว่าแนวคิด “มนุษยภาพ” ของ Kant ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการยกเว้น “ผู้อื่น” ที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นมนุษย์เต็มตัวในบริบทของยุคอาณานิคม
4. การรื้อสร้าง (Deconstruction) Spivak ใช้การรื้อสร้าง (Deconstruction) เพื่อเปิดเผยความลักลั่นในความรู้ตะวันตก และชี้ให้เห็นว่า ความรู้ดังกล่าวไม่สามารถตอบสนองต่อความซับซ้อนของประสบการณ์มนุษย์ในบริบทที่ไม่ใช่ตะวันตก
5. “Vanishing Present” Spivak ชี้ไปที่การที่ “ปัจจุบัน” ของผู้คนในโลกที่สามหายไปในวาทกรรมตะวันตก ซึ่งมักยึดโยงอดีตกับอนาคต แต่ละเลยประสบการณ์ปัจจุบันของคนในบริบทเหล่านี้
ผมว่าแนวคิดของานSpivak สามารถนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาได้ดังนี้
1. การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย นักวิจัยควรตระหนักว่าการตีความหรือบันทึกข้อมูลมักแฝงอคติจากมุมมองของผู้วิจัย รวมทั้งต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยเล่าเรื่องราวด้วยตนเอง
2. การวิจัยเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ ในกรณีศึกษากลุ่ม LGBTQ+ นักวิจัยควรหลีกเลี่ยงการ “พูดแทน” โดยให้ความสำคัญกับเสียงของกลุ่มคนเหล่านี้ในการเล่าประสบการณ์ของตนเอง
3. การวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชน ควรระวังไม่ให้การเล่าขานของชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจครอบงำประวัติศาสตร์ของคนในพื้นที่
4. การศึกษาวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น
การศึกษาวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแอฟริกา ในเอเชีย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิจัยควรหลีกเลี่ยงการตัดสินวัฒนธรรมจากมุมมองของคนภายนอก
ข้อเสนอแนะสำหรับนักวิจัยควรที่จะต้องใช้ วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (ethnography) เพื่อสร้างความเข้าใจในเชิงลึก หลีกเลี่ยงการ “ตีความ” เสียงของผู้ถูกกดขี่ตามมุมมองของตนเอง และการใช้ วิธีการศึกษาแบบมีส่วนร่วม (participatory research) เพื่อสร้างพื้นที่ให้กลุ่มผู้ถูกกดขี่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงเสียงของตนเอง
หัวใจสำคัญดังที่ Spivak บอกว่า To question the authority of a discourse is not to dismiss it but to reinscribe it.” นั่นคือการตั้งคำถามกับอำนาจในวาทกรรมไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธ แต่คือการทำให้มันถูกเขียนขึ้นใหม่ในรูปแบบที่ยุติธรรมกว่า ..นั่นคือหน้าที่ของเรานักมานุษยวิทยา
เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา... ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่ หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น.. การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร.. ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น