….คุณภาพอากาศก็ยังแย่อีก แล้วคุณภาพชีวิตที่ดีจะเป็นไปได้อย่างไร ชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเจ็บป่วย ไม่สบาย…
ด้วยความเป็นนักมานุษยวิทยาอดไม่ได้ที่ตั้งคำถามกับวิกฤตการณ์ด้านอากาศ…กับสถานการณ์ที่หลายพื้นที่เริ่มตื่นตัวกับเรื่องฝุ่น บางคนที่มีฐานะและพอที่จะมีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศก็ซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ที่บ้านหรือที่ทำงาน และขณะที่บางคนที่ไม่มีเงินในการซื้อสิ่งเหล่านี้หรือไม่มีที่อยู่อาศัยที่มิดชิดต้องใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้งอย่างเช่นคนเร่ร่อนไร้บ้านที่ผมผ่านไปพบเจอในทุกเช้าที่บริเวณสนามหลวง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่นอนอยู่ข้างถนนและไม่มีหน้ากากแน่นอนว่าการรับรู้จากเรื่องปัญหาและผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ของคนเหล่านี้อาจจะไม่มีเลยก็ได้
ในทางมานุษยวิทยาสิ่งเหล่านี้ ผมเรียกว่า สิทธิทางอากาศ หรือ การเมืองของการหายใจหรือ Politics of Breathing ที่มีจุดเน้นของศึกษาโดยการตั้งคำถามว่าการหายใจในเมืองที่มีฝุ่น PM 2.5 สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร? คำถามข้อต่อไปคือคือ รัฐบาล องค์กร และประชาชนมองปัญหามลพิษในเชิงวัฒนธรรมและการเมืองอย่างไร ? และข้อสุดท้ายผู้คน “รู้สึก” หรือ “สัมผัส” กับอากาศที่เป็นพิษในเชิงประสบการณ์ เช่น การสูดหายใจที่เต็มไปด้วยฝุ่น ส่งผลต่อจิตวิทยาและร่างกายอย่างไร?
อีกเรื่องคือการเมืองของความรู้และอำนาจ ในเรื่องPM 2.5 เราได้ยินมานาน และจะได้ยินมากขึ้น เมื่อหน้ากากอนามัย และเครื้องฟอกอากาศขยับราคามากขึ้น หรือแผนที่แสดงให้เห็นค่าฝุ่นในทุกพื้นที่ ที่ถูกแสดงด้วยตัวเลขและสี ที่บ่งชี้คุณภาพของอากาศ จาก หลับสิบไปเป็นหลักร้อย จากสีเขียว เหลืองส้ม แดง มาเป็นม่วง หรือการดูข่าวเลือดกำเดาไหล การเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าบางคนกลัวแต่ไม่รู้ บางคนรู้เพราะหาข้อมูลและทำควาทเข้าใจเพื่อดูแลตัวเอง บางคนก็อาจไม่สนใจและใช้ชีวิตตามปกติ
PM 2.5 คืออะไร? คำตอบคือ PM 2.5 ย่อมาจาก “Particulate Matter ขนาด 2.5 ไมครอน” ที่หมายถึงอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ประมาณ 30 เท่า) ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง หรือการเผาในที่โล่งแจ้ง
เนื่องลักษณะสำคัญของ PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจนสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือด ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคปอด มันมีความสามารถในการลอยอยู่ในอากาศเป็นเวลานานและเดินทางไกล ดังนั้น PM 2.5 จึงมักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ และเชื่อมโยงกับปัญหามลพิษในเมืองใหญ่ทั่วโลกในปัจจุบัน
แนวคิด “การเมืองของการหายใจ” ( Politics of Breathing ) หมายถึง การเชื่อมโยงการหายใจในฐานะกิจกรรมทางร่างกายเข้ากับประเด็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในบริบทของ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคลและสังคมในวงกว้าง แนวคิดนี้สำรวจว่าการหายใจในพื้นที่ที่มีมลพิษกลายเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ความไม่เท่าเทียม และการจัดการปัญหาอย่างไร
ตัวอย่างของ “การเมืองของการหายใจ” ที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 มีดังนี้คือ
1. ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ • คนในชนชั้นหรือพื้นที่ที่ร่ำรวยมักสามารถเข้าถึงเครื่องกรองอากาศ คุณภาพชีวิตที่ดี หรือพื้นที่ปลอดมลพิษได้ดีกว่าคนในชนชั้นล่าง ตัวอย่างเช่น คนเร่ร่อนไม่มีบ้าน คนในเมืองที่แออัด เช่น ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ มักต้องเผชิญกับ PM 2.5 ในระดับที่สูงกว่า เนื่องจากขาดพื้นที่สีเขียวและระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ
2. ความรับผิดชอบของรัฐและอุตสาหกรรม
โดย PM 2.5 มักเกิดจากกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมหรือการขนส่ง แต่การแก้ปัญหามักถูกผลักภาระไปยังประชาชน เช่น การรณรงค์ให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือซื้อหน้ากาก N95 แทนที่การควบคุมการปล่อยมลพิษในระดับโครงสร้าง
3. การประท้วงและการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม จากวิกฤตการณ์ฌรื่องฝุ่น ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบของ PM 2.5 และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ เช่น การปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศ หรือการควบคุมการปล่อยก๊าซของโรงงาน ตัวอย่างเช่น การประท้วงในอินเดียที่กรุงนิวเดลีซึ่งมีมลพิษสูงที่สุดในโลก มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่สีเขียวและควบคุมการปล่อยควันจากรถยนต์
4. ผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ เช่น การรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ ถูกผลักไปที่ประชาชน ขณะที่ผู้ก่อมลพิษไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ประชาชนต้องหาซื้อเครื่องป้องกันตัวเองเช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ
5. หน้ากากอนามัยในฐานะเครื่องหมายทางสังคม ดังเช่น การสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่ที่มี PM 2.5 ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องป้องกันมลพิษ แต่ยังสะท้อนถึงการรับรู้ต่อปัญหา ความตระหนักในปัญหา และความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วย เช่น ผู้ที่สามารถซื้อหน้ากาก N95 คุณภาพสูง มักเป็นคนที่มีรายได้ดีกว่า
ดังนั้น การเมืองของการหายใจ” แสดงให้เห็นว่าปัญหา PM 2.5 ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับอำนาจ ความไม่เท่าเทียม และวิธีการที่รัฐและประชาชนจัดการกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาแนวนี้ช่วยเปิดมุมมองว่า อากาศที่เราหายใจในแต่ละวันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่ซับซ้อน
รวมถึงการสำรวจว่าการหายใจในเมืองที่มีมลพิษไม่ได้เป็นเพียงแค่กระบวนการทางกายภาพ แต่ยังเป็นประสบการณ์ทางการเมืองและสังคม ตัวอย่างเช่น ประชากรในประเทศไทย ที่เริ่มใช้หน้ากากกรองอากาศไม่เพียงเพื่อปกป้องสุขภาพ แต่ยังเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษได้
เทคโนโลยีสมัยใหม่ และ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น การเปรียบเทียบ AQI ระหว่างไทย ประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี ลาว กัมพูชา ปักกิ่ง รวมถึงประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่น รายงานการเปรียบเทียบคุณภาพอากาศในประเทศถูกใช้ทั้งในเชิงบวก (กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข) และเชิงลบ (ตำหนิการจัดการของรัฐบาลและผู้มีอำนาจ )
มลพิษจึงไม่ใช่แค่สิ่งที่วัดได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่ “รู้สึกได้” ดังเช่นผู้คนเริ่มถ่ายภาพ โพสต์ภาพอากาศ ที่สะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับการรับรู้และความรู้สึกเมื่อมองเห็นหมอกควันบนท้องฟ้า ทำให้คนไทยบางคนเริ่มให้ความหมายและมองหมอกควันเป็น “สิ่งแปลกปลอม” “อันตราย” “ ภัยคุกคาม” ที่ทำให้ชีวิตของคนในประเทศเปลี่ยนไป
หมอกควันถูกเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวผู้คนที่เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กที่ท้องฟ้าเคยสดใส แต่ปัจจุบันหมอกควันหนาทึบได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเมือง และการใช้ชีวิตของผู้คน การไม่สามารถออกไปทำงานกลางแจ้ง และการเก็บตัวอยู่ในบ้าน แน่นอนว่าประสบการณ์เหล่านี้ เชื้อมโยงกับการรับรู้ทางร่างกาย การแสบตา ระคายเคืองจมูก การเจ็บคอ การหายใจติดขัด และอื่นๆ
ผมมองว่าในปัจจุบันเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ในประเด็นนี้มากขึ้น โดย นักวิชาการ นักการเมือง โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มนักเคลื่อนไหว มีการใช้ความรู้และข้อมูลด้านมลพิษ เช่น การเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในเรื่องสภาพอากาศ เพื่อกดดันให้รัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง ตัวอย่างเช่น กลุ่ม NGO ในฮ่องกงสร้างแคมเปญที่เชื่อมโยงมลพิษทางอากาศกับการลดลงของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ดังนั้น มลพิษทางอากาศไม่ใช่แค่เรื่อง “มองเห็นได้” หรือ “วัดได้” แต่ยังเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางกายภาพและความรู้สึก เช่น การสูดลมหายใจในเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษ ที่สร้างความรู้สึกต่อการถูกคุกคาม ความเสี่ยง ที่กระทบต่อชีวิต สุขภาพและความเจ็บป่วยของตัวเอง และมันสะท้อนความเจ็บป่วยในทางสังคมด้วยเช่นกัน
เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา... ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่ หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น.. การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร.. ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น