กลุ่มคนรักบ้านเกิดและกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ
ที่คัดค้านเรื่องเหมืองแร่และโรงโม่หิน ในพื้นที่จังหวัดเลย
ความเป็นมาของเครือข่าย
สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนกลุ่มองค์กรชาวบ้าน และทำหน้าที่อบรมประสานกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะดำเนินการต่อสู้คัดค้านเรื่องของโรงโม่หิน
ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
เป็นกลุ่มที่ดำเนินการต่อสู้มาอย่างยาวนานและเป็นกลุ่มต้นๆที่ทำการเคลื่อนไหวคัดค้านเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ธาตุในพื้นที่จังหวัดเลย
โดยเน้นการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมป่าไม้ ที่ดินและทรัพยากรแร่ในจังหวัดเลย เนื่องจากจังหวัดเลยที่มีภูเขาและแหล่งแร่มากกมาย
มีโรงโม่หินและเหมืองแร่หลายแห่ง งานที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันคือ
การต่อสู้กับนายทุนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในพื้นที่ตำบลผาน้อย ที่มีกิจการเหมืองและโรงโมหินจำนวนมาก
และเกิดผลกระทบต่อหมู่บ้านกว่า 20 หมู่บ้าน
และได้ก่อตั้งเครือข่ายเยาวชนอนุรักษ์ป่าภูผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยขึ้นมา
ที่เกิดขึ้นจากบ้านรอบป่าภูผาน้อย ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของนายทุนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่
ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
หมู่บ้านนาหนองบง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2550 โดยชาวบ้านนาหนองบงและชาวบ้านใกล้เคียงรวม
6 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่ทองคำ
ของบริษัททุ่งคำ จำกัด ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทางธรณีวิทยาเมื่อปีพ.ศ. 2534-2535
ในพื้นที่ 340,000 ไร่
จนพบสินแร่ทองคำในสามพื้นที่ คือภูทับฟ้า ภูเหล็ก และภูซำป่าบอน ที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการทำเหมือง
และได้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเมื่อปีพ.ศ.2541 จากนั้นก็ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ.2546 ในพื้นที่ 1,308 ไร่ของภูทับฟ้า และ 228 ไร่ในพื้นที่ภูซำป่าบอน
เนื่องจากแหล่งของการทำเหมืองแร่ทองคำ
คือภูทับฟ้าซึ่งมีสินแร่ทองคำปริมาณมหาศาล
และอยู่ใกล้กับลำห้วยผุกซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำฮวย และแหล่งน้ำซับหรือน้ำซำ
ที่เป็นลำห้วยขนาดเล็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงชีวิตของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านในตำบลเขาหลวง ซึ่งตั้งอยู่รอบพื้นที่เหมือง ทั้งฝุ่นละอองจากการระเบิดหินและได้รับผลกระทบจากสารไซยาไนต์ที่ใช้ในกระบวนการแยกแร่ทองคำ
ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำบนดินและใต้ดิน และปัจจุบันกลุ่มรักษ์บ้านเกิด
มีสมาชิกมากกว่า 1,000 คน
ซึ่งทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองเหล็ก เหมืองทองแดง
เหมืองแบไรต์และเหมืองแร่โพแทช โดยผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ
มีความชัดเจนในช่วงปีพ.ศ.2553 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยได้ประกาศให้ประชาชนที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ
งดบริโภคน้ำและสัตว์น้ำในพื้นที่ห้วยเหล็ก บ้านนาหนองบง เนื่องจากการปนเปื้อนของสารไซยาไนต์ เช่นแคดเมียม แมงกานีส และ ตะกั่ว มีระดับสูง
ทำให้ชาวบ้านต้องใช้จ่ายเงินในการซื้อน้ำดื่มมาอุปโภคบริโภค
กรณีบทเรียนจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่ภูทับฟ้า
และภูซำป่าบอน ที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ถูกนำมาเป็นกรณีตัวอย่างของการต่อต้านโครงการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทภูเทพ
ที่กำลังอยู่ในช่วงว่าจ้างให้สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เข้ามาทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ
อีไอเอ โดยบริษัทผาแดงภูเทพ ได้ขอประทานบัตรในพื้นที่15,600
ไร่ เพื่อทำเหมืองแร่ทองแดง โดยครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ตำบลนาดินดำ ตำบลนาอาน
ตำบลนาโป่ง ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง
และตำบลท่าสะอาด อำเภอนาแห้ว จำนวนกว่า 40
หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา
ทำไร่และทำสวนยาง โดยแกนนำได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ เพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพของบริษัทภูเทพ จำกัด ในเครือของบริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด มหาชน
โดยสถานการณ์ปัจจุบันบริษัทภูเทพกำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ
โดยในปัจจุบันเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 ทางกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ
ได้ยื่นหนังสือและประท้วงการเข้ามาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
โครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเหมืองทองแดง ภูเทพ จังหวัดเลย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
กลุ่มที่เป็นเครือข่ายสำคัญที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้คัดค้าน
มีหลากหลายกลุ่มทั้งที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์ภูหลวง กลุ่มอุมุงเชียงคาน
ที่คัดค้านการทำเหมืองแร่เหล็กและแบไรต์และโรงโม่หินในพื้นที่อำเภอเชียงคาน
จังหวัดเลย เป็นต้น การเชื่อมโยงเครือข่ายของผู้ได้รับผลกระทบของเหมืองแร่
ตามแนวสายแร่ที่พาดผ่านตอนบนของภาคอีสานสู่รอยต่อของจังหวัดเพชรบูรณ์
พิจิตรและพิษณุโลกบริษัทเขาเจ็ดลูก เขาหม้อ ซึ่งบริษัทอัครา ไมน์นิ่ง จำกัด
ได้รับสัมปทานอาชญาบัตรในการสำรวจและได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี
ทำให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงประเด็นปัญหาเรื่องของเหมืองแร่ขึ้นในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งที่เกิดโครงการขึ้นแล้วและโครงการยังไม่เกิดขึ้น
ข้อมูลการขับเคลื่อนของเครือข่าย
การขับเคลื่อนงานของเครือข่ายส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเผยแพร่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ทองคำ
เหมืองทองแดง เหมืองเหล็ก และเหมืองแบไรต์ ในพื้นที่จังหวัดเลย
ที่เกิดกับกระบวนการทำเหมืองแร่ เช่น การระเบิดหิน การแต่งแร่
ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องการทำประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบริษัทและกลุ่มทุนที่จะเข้ามาดำเนินการทำเหมืองแร่
ตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปีพ.ศ.2535 งานวิจัย
งานวิชาการและงานศึกษา ที่ขับเคลื่อนโดยเครือข่าย พบว่ามีจำนวนน้อยมาก
เมื่อเทียบกับระยะเวลาของการเคลื่อนไหวที่มีการดำเนินโครงการพัฒนามาอย่างยาวนาน
ซึ่งอาจจะเกิดจากการเข้าถึงพื้นที่ปัญหาค่อนข้างยากลำบากและกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่
แต่จากการสัมภาษณ์แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ พบว่า
เคยมีนักศึกษาเข้ามาศึกษาข้อมูลในพื้นที่จำนวนหนึ่ง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าทำแล้วรวบรวมหรือเก็บไว้ที่ไหน
มีเพียงของกลุ่มนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่ลงมาเก็บข้อมูลของชาวบ้านเกี่ยวกับการต่อสู้และผลกระทบของโครงการทำเหมืองแร่ทองแดงของกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ
ที่พวกเขาใช้เป็นเอกสารของการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการทำเหมืองทองแดงของกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น