ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช
จังหวัดอุดรธานี
เริ่มต้นจากช่วงปี
พ.ศ.2498ที่ได้มีการสำรวจและขุดเจาะหาน้ำบาดาลในภาคอีสาน
จนพบว่ามีน้ำเค็มและใต้พื้นดินของภาคอีสานมีน้ำเกลือและเกลือหินปริมาณมหาศาล
จนกระทั่งพ.ศ.2516-2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ทำโครงการการสำรวจแร่โพแทชและเกลือหินในภาคอีสาน
ครอบคลุมพื้นที่แอ่งโคราชแลแอ่งสกลนครจนพบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีแร่โพแทชและเกลือหินอยู่หลายแห่ง
และเมื่อปีพ.ศ.2523 รัฐบาลไทยประกาศแหล่งสัมปทานทั้งสิ้น15 แห่ง
เพื่อเชิญชวนนักลงทุนและผู้สนใจเข้ามาขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจและผลิตแร่ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจังหวัดอุดรธานีก็เป็น 1 ใน 15 แห่ง
ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเป็นพื้นที่ 2,333 ตารางกิโลเมตร พ.ศ.2527 บริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช
คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัทอะกริโก โปแตช ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในการร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการกับประเทศแคนาดา และได้ยื่นขอสิทธิ์ผูกขาดการสำรวจแร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากนั้นสถานการณ์ของารค้าโพแทชในโลกลดลง
บริษัทจึงได้หยุดดำเนินการใดๆเป็นระยะเลานานถึง 10 ปี จนกระทั่งสถานการณ์โพแทชเริ่มดีขึ้น ทำให้ในช่วงปีพ.ศ.2537 บริษัทเอพีพีซี
มั่นใจว่าค้นพบแหล่งแร่โพแทชปริมาณมหาศาล จึงได้ทำการขุดเจาะเพิ่มอีก 360 หลุม
เป็นหลุมเกลือ 160 หลุม หลุมน้ำ 200 หลุม
จึงตัดสินใจที่จะพัฒนาเป็นแหล่งแร่ในเชิงพาณิชย์ โดยการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน
ในเขตบ้านหนองตะไกร้ หนองนาเจริญ เพื่อเป็นที่ตั้งโรงงาน จำนวน 2,500 ไร่ ในราคาไร่ละ
60,000-100,000 บาท ในช่วงพ.ศ.2539 มีปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเอพีพีซี
ซึ่งผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยที่เคยมีสัดส่วนหุ้มมากกว่า
ได้มีการขายหุ้นให้กับบริษัทข้ามชาติจากประเทศแคนาดา เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
และรัฐบาลไทยโดยกระทรวงการคลังก็เข้ามาถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช
คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด ทำการสำรวจแล้วเสร็จในพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร
ที่ได้รับสิทธิสำรวจในปีพ.ศ.2540 ในเวลาเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีผ่านร่างพระราชบัญญัติแร่
ฉบับแก้ไข ปีพ.ศ. 2510 ที่เสนอโดยกรมทรัพยากรธรณี
โดยแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นเรื่องแดนกรรมสิทธิ์และการทำเหมืองใต้ดินเมื่อปีพ.ศ.2541
ในส่วนของพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทช บริษัทเอพีพีซี
ได้ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและสภาตำบลหนองไผ่
เพื่อปรึกษาเรื่องการจัดประชุมและประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองไผ่ และเข้ามา
เข้ามาประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โพแทช กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองไผ่
โดยมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ล้มวัวและมีการจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงให้ชาวบ้านชม
ที่บ้านหนองตะไกร้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 12-16
มกราคม พ.ศ.2542 และ เข้ามาประชาสัมพันธ์โครงการกับชาวบ้านในเขตตำบลห้วยสามพาด
กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์
เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับโครงการ
เหตุการณ์สำคัญก็คือ
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทเอพีพีซี ที่ได้ว่าจ้างบริษัททีม
คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นผู้ทำการศึกษา
ได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ในช่วงของการได้รับอาชญาบัตรสำรวจ ทั้งที่พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปีพ.ศ.2535
กำหนดให้ยื่นในช่วงการขอประทานบัตร แต่บริษัทยื่นก่อน จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ.
2544 องค์กรพัฒนาเอกชน
โดยเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เข้ามาให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่
เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ในประเด็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
สิทธิชุมชนแลพะพระราชบัญญัติแร่ที่มีการแก้ไข และเริ่มมีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากกิ่งประจักษ์ศิลปาคม
จำนวน 15 คน เข้าร่วมประชุมในกรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
ที่เกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 ที่กำลังเข้าสู่คณะกรรมาธิการร่วม
โดยมีตัวแทนจากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม อ.จอน อึ้งภากรณ์
สว.กรุงเทพฯ อ.รตยา จันทรเสถียร
และอ.ไพโจน์ พลเพชร นักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมาย ที่ตึกมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
กรุงแทพฯ รวมทั้งการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่เข้ามาร่วมจัดเวทีเสวนา
สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์
โดยมีชาวบ้านจาก 10 หมู่บ้านมารับฟัง และมีวิทยากรเช่น ศ.สิวรักษ์รวมทั้งใช้วิธีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและการให้ข้อมูลกับองค์การบริหารส่วนตำบล
จนกระทั่งปีพ.ศ.2545 ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีอย่างเป็นทางการโดยตัวแทนชาวบ้านจาก
16 หมู่บ้าน 3 ตำบล คือ ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วงกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
และตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จำนวน 60 คน ร่วมประชุม
ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี โดยมีสีประจำกลุ่มคือสีเขียวใบตองอ่อน แทนความหมายของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
และมีการประชุมใหญ่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เลือกประธาน และคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆรอบโครงการ
เพื่อคัดค้านเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
และดำเนินการขึ้นป้ายคัดค้านโครงการละติดธงสัญลักษณ์สีเขียวในแต่ละหมู่บ้าน
ในช่วงปีพ.ศ.2545 มีกระบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มหลายรูปแบบ เช่นการยื่นหนังสือต่อสถานทูตแคนาดา
ประจำประเทศไทย
เพื่อประณามการกระทำของบริษัทเอพีพีซีที่เข้ามาแทรกแซงการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ที่ละเมิดสิทธิชุมชนคนไทย
รวมทั้งเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูป (คสร.)
อบนมกฎหมายให้กับตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี จำนวน 40 คน
ที่โรงแรมต้นคูณ อุดรธานีและมีการอบรมต่อเนื่องอีกหลายรุ่น การศึกษาดูงานกรณีปัญหาและการต่อสู้ของชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง
จังหวัดขอนแก่น และชาวบ้านบ่อนอก หินกูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การ
เข้าร่วมประชุมกับหอการค้าจังหวัด เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช
และรับฟังความคิดเห็นของหอการค้าจังหวัดต้อโครงการนี้
ก่อนที่จะเข้าชี้แจงต่อเทศบาลตำบลโนนสูง และการลงพื้นที่บำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
ร่วมกับคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อศึกษาการทำเหมืองแร่โพแทช
จากนั้นก็ใช้วิธีการบอกเล่าข่าวสารในพื้นที่เพื่อหาพันธมิตร โดยการเดินรณรงค์เพื่อบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โพแทช
จังหวัดอุดรธานี ให้กับหมู่บ้านต่างๆรอบโครงการในตำบลหนองไผ่ ตำบลโนนสูง
ตำบลนาม่วง อำเภอเมืองและตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคมรวมถึงชาวบ้านที่อยู่ในเมืองด้วยนอกจากนี้ก็ยังใช้วิธีการเคลื่อนไหวกดดัน
ด้วยการชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี
ผ่านทางนายชัยพร รัตนนาคะ
ผู้ว่าราชการจังหวัด
เพื่อเรียกร้องให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากโครงการเหมืองแร่โพแทช
โดยมีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย
ซึ่งถือเป็นการนำเอาประเด็นเรื่องของเหมืองแร่โพแทชเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาและศึกษาในประเด็นนี้อย่างจริงจังโดยมีชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
กระบวนการเคลื่อนไหวมีการพัฒนาเรื่องสื่อโดยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อพื้นบ้าน
คือหมอลำที่ร้องกลอนลำเกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทช
และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางวิทยุชุมชน รวมทั้งจัดการระดมทุนในการเคลื่อนไหวต่อสู้โดยรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นบ้าน
เช่น การทำนารวมและการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่
ทำให้ประเด็นเรื่องเหมืองแร่โพแทชเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับความสนใจ จนนำไปสู่การจัดสัมมนาโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ปัญหาและแนวทางแก้ไข
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2546 ที่อาคารสถาบบันวิจัยสภาวะแวดล้อม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ มาให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ
รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าไปร่วมรับฟัง
การเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้นำไปสู่การเปิดประเด็นเรื่องรายงานการวิเคราะห์ลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่แอบทำโดยที่ชาวบ้านไม่รู้และกระทำผิดขั้นตอน
ทำให้มีการต่อต้านในพื้นที่มากขึ้น จนนำไปสู่การชะลอโครงการเหมืองแร่โพแทช
ในช่วงนี้บริษัทเอพีพีซีต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่พร้อมกับการทำกิจกรรมสัมพันธ์อื่นๆกับชุมชนรอบโครงการใหม่
ไม่ว่าจะส่งเสริมอาชีพ ให้ทุนการศึกษา ร่วมงานบุญกฐิน ผ้าป่า จัดแข่งกีฬา
หรือให้ค่าลอดใต้ทุนชาวบ้านในพื้นที่ที่จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ผ่าน ได้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญของบริษัทในช่วงเดือนมิถุนายนปี
พ.ศ. 2549 ที่ได้ทำการขายหุ้นบางส่วนให้กับบริษัทอิตาเลียนไทย เดเวลล็อปเม้นต์
จำกัด เข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่โพแทชต่อ ทำให้การต่อสู้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งคดีฟ้องร้องของแกนนำชาวบ้าน กรณีการรื้อถอนหมุดปักเขตทำเหมืองแร่
ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและบริษัท
ทำให้ชาวบ้านถูกตั้งข้อหาทำลายทรัพย์สินและต้องขึ้นโรงพัก และขึ้นศาลเป็นประจำ
โดยในช่วงนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์เริ่มสัมพันธ์กับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและกลุ่มของนักกฎหมาย
อาสาสมัครนักกฎหมาย ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดีจนชาวบ้านหลุดพ้นจากคดีความ
สิ่งที่น่าสนใจในการเคลื่อนไหวประเด็นวิชาการสาธารณะของชาวบ้านในช่วงปี 2548-2554 คือ การชูประเด็นเรื่องเกลือ โดยนักพัฒนาเอกชน นักวิจัยอิสระ
ที่มีการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการเกลืออุตสาหกรรมบ้านดุง บ้านม่วง
และมีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการจัดการนโยบายสาธารณะเรื่องเกลืออีสาน
รวมถึงการจัดงานมหกรรมสืบสานภูมิปัญญาเกลือพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี
ที่เป็นการเปิดประเด็นเรื่องเกลือขึ้นมาสู้กับเหมืองแร่โพแทชของกลุ่มทุนข้ามชาติ
รวมถึงประเด็นเรื่องการประเมินผลกระทบทางสังคมและสุขภาพที่บริษัทเหมืองแร่จะต้องทำร่วมกับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อหาพันธมิตรและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กลุ่มทุนข้ามชาติฉวยโอกาสสร้างเหมืองขึ้นในพื้นที่โดยที่ชาวบ้านไม่ยอมรับ
ข้อมูลการขับเคลื่อนของเครือข่าย
กระบวนการขับเคลื่อนของเครือข่ายมีกระบวนการที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของการต่อสู้กับรัฐและกลุ่มนายทุน
ในช่วงแรกจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูล
โดยการนำข้อมูลจากรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก
โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด มาสรุปเป็นข้อมูลที่กระชับและเข้าใจง่ายถึงกระบวนการผลิต
และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของโครงการ และนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช
จากนั้นก็จะใช้วิธีการรณรงค์บอกข้อมูลให้กับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆและตัวเมืองอุดรธานีให้รู้เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ก็ใช้เวทีทางวิชาการ
นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โพแทชในวงสาธารณะ ทั้งจากชาวบ้าน
กรณีปัญหาต่างๆจากการพัฒนาของรัฐ เช่น โครงการอนุรักษ์ลำน้ำพอง
ชาวบ้านกลุ่มบ่อนอกและหินกรูด เป็นต้น การเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ผลิตเกลือที่บ้านดุงจังหวัดอุดรธานี
และที่อำเภอบ้านม่วง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งนำไปสู่การศึกษาในเรื่องของเกลือและเหมืองแร่โพแทชทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
และนักวิชาการในส่วนกลางและในพื้นที่อย่างมากมาย โดยเฉพาะการนำเสนอประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรเกลือและโพแทชใต้พื้นดินภาคอีสาน
และการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่โดยใช้วัฒนธรรม
ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรของตัวเอง
รวมถึงการผลักดันให้มีการทำการประเมินผลกระทบทางด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ของกลุ่มทุน โดยในช่วงเวลาปัจจุบัน
มีงานศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ
และการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งงานส่วนใหญ่จะทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่
ภายใต้เครือข่ายนิเวศวัฒนธรรมอีสาน และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านเอกสาร หนังสือ
งานวิจัย กับหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเผยแพร่ผ่านจดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่นและวิทยุชุมชนในพื้นที่
งานวิจัย งานวิชาการและงานศึกษา
ที่ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นงานขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นพี่เลี้ยงในการต่อสู้เคลื่อนไหว
ทีมวิชาการที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
และการทำวิจัยร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ.
2546 เป็นต้นมา ที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
เพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการดังกล่าว งานวิจัยและงานศึกษาที่น่าสนใจ
กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มและการจัดการทรัพยากรแร่ภาคอีสาน
(2546) ในหนังสือโพแทช : ขุมทรัพย์ใต้ดินของใคร
งานชิ้นนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำเนิดโครงการเหมืองแร่โพแทชเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการทำปุ๋ยเคมี
ตั้งแต่การสำรวจจนค้นพบแหล่งแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานีที่เรียกว่าแหล่งสมบูรณ์
ครอบคลุมพื้นที่4 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลห้วยสามพาด
ตำบลนาม่วง ในเขตกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ตำบลหนองไผ่และตำบลโนนสูง ในเขตอำเภอเมือง
จังหวัดอุดรธานี โดยเป็นโครงการหลักที่กำลังขอสัมปทานการทำเหมืองที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยมีขนาดของโครงการเป็นลำดับที่สามของโลกต่อจากแคนาดา และรัสเซีย
และเป็นเหมืองขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของเอเชีย
โดยใช้รูปแบบการผลิตแบบการทำเหมืองอุโมงค์ใต้ดินแบบช่องสลับเสาค้ำยัน (Room
and Pillar)
โดยกระบวนการผลิตแร่โพแทชดังกล่าวจะสามารถผลิตแร่โพแทชได้ปริมาณ 2 ล้านตันต่อปีและได้เกลือซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการแยกแร่ปริมาณ 4
ล้านตันต่อปี ตลอดระยะเวลา 22 ปีของการทำเหมือง
โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับงานของ อ.สันติภาพ ศิริวัฒนาไพบูลย์และสมพร
เพ็งคำ (2546) ในงานศึกษาเรื่องเหมืองแร่โพแทช:
ผลกระทบต่อสุขภาพที่ถูกมองข้าม ที่ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ
ในบทความชิ้นนี้มีการพูดถึงรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ
จนละเลยมิติทางสังคมและผลกระทบทางด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนในอนาคตและเป็นข้อมูลสำคัญที่ควรคำนึงถึงการตัดสินใจเชิงนโยบาย
และเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการทำโครงการพัฒนาต่างๆในพื้นที่
ในงานศึกษาสำคัญชื้นหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
ได้พยายามชี้ให้เห็นนโยบายของรัฐเกี่ยวกับเรื่องเกลือ เช่นงานของเลิศศักดิ์
คำคงศักดิ์ และเบญจรัตน์ เมืองไทย (2548)
ในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่องการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ
กรณีศึกษาการจัดการเกลืออีสาน วิถีชีวิตชุมชนสู่อุตสาหกรรม ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
ที่ศึกษาเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเกลือของประเทศไทย
ความสัมพันธ์ของเกลือกับกลุ่มทุน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมกระจก
อุตสาหกรรมฟอกย้อมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอื่นๆ
การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเกลือทะเลจากภาคตะวันออกมาสู่ภาคอีสาน
โดยนำวิธีการทำนาเกลือแบบตากมาใช้ในภาคอีสานรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตเกลือจากการผลิตเกลือแบบพื้นบ้าน
ไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม
ทั้งจากนายทุนในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นที่เรียกว่าการทำนาเกลือ แบบต้มและตาก
จนมาถึงการทำเหมืองเกลือทั้งเหมืองละลายเกลือใต้ดินและเหมืองอุโมงค์แบบปิดที่สะท้อนให้เห็นทิศทางหรือนโยบายการพัฒนาประเทศไทยและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
สังคม และสุขภาพ อันมาจากการปนเปื้อนของเกลือละน้ำเกลือสู่พื้นที่เพาะปลูก
แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ป่าไม้ถูกทำลาย การทรุดตัวของพื้นดิน การเปลี่ยนแปลงอาชีพและปัญหาสุขภาพอนามัยที่เกิดจากการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ
โดยในงานชิ้นนี้ได้ศึกษาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและจัดการทรัพยากรเกลือแบบต่างๆอย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัด กรมทรัพยากรธรณี ภาคเอกชน
หรือชาวบ้านซึ่งงานศึกษาที่ได้นำไปสู่ข้อเสนอทางยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและของประเทศไทย
โดยเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการเกลือด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและคำนึกถึงผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว สอดคล้องกับงานของจรัญ
วงษ์พรหมและธนะจักร เย็นบำรุง(2550)
เรื่องเกลืออีสาน ความรู้สู่ยุทธศาสตร์การจัดการอย่างยั่งยืน
ที่ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรเกลืออย่างยั่งยืนโดยเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเกื้อกูลกันอย่างสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของประชาชน
และทรัพยากร กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ที่จะต้องสร้างอำนาจให้กับท้องถิ่นในการตัดสินใจและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเองด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
และแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งตัวเองและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
โดยงานศึกษาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงประเด็นโครงการเหมืองแร่โพแทช
เข้ากับเรื่องของนโยบายการจัดการทรัพยากรเกลือใต้พื้นดินอีสานที่มีปริมาณมหาศาล
โดยเกลือหินเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของแร่โพแทชชนิดต่างๆ
และเป็นสิ่งที่รัฐและภาคเอกชนต้องการจะพัฒนาและนำทรัพยากรใต้พื้นดินเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ท่ามกลางความขัดแย้งและกรณีปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างชาวบ้านกับรัฐ
ชาวบ้านกับกลุ่มนายทุนและระหว่างชาวบ้านด้วยกัน
ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านกฎหมายทั้งพระราชบัญญัติแร่
พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและ รัฐธรรมนูญ
ดังนั้นจะต้องมีการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวในฐานะเจ้าของทรัพยากรและคนที่อยู่ในพื้นที่พัฒนา
งานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
ที่ใช้ประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวและการศึกษาในประเด็นเรื่องการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ
(HIA) มาเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ
ต่างดวงตา คุณค่าก็แตกต่าง บทเรียนจากการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ
กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี โดย บำเพ็ญ ไชยรักษ์ เรียบเรียง
งานศึกษาชิ้นนี้พัฒนาจากการสัมมนา เรื่องผลกระทบทางด้านสุขภาพ
โครงการเหมืองแร่โพแทช:แนวทางการประยุกต์ใช้ในสังคมไทย
เมื่อวันที่ 17-18พฤษภาคม 2546 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ซึ่งได้พัฒนามาสู่งานวิจัยโดยใช้รูปแบบการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเพื่อใช้คาดการณ์ผลกระทบทางด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการเหมืองแร่โพแทช
เพื่อเสนอแนะและให้ทิศทางเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
โดยพูดถึงประเด็นสำคัญก็คือข้อถกเถียงเกี่ยวกับรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
(EIA) ของบริษัททีม คอลซัลติ้ง
จำกัด ที่ผ่านความเห็นชอบของผู้ชำนาญการและนำไปสู่การออกประทานบัตรเพื่อก่อสร้างเหมืองแร่โพแทช
จะต้องสอดคล้องกับพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พบว่ามีความบกพร่องหลายประเด็น ทั้งในเรื่องข้อมูลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ทางสังคมและสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพที่ยังขาดข้อมูล
รวมถึงการให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
จนลืมมิติทางสังคมและวัฒนธรรมไป
ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการในแง่ความเป็นมา การเปรียบเทียบให้เห็นการดำเนินกิจการเหมืองแร่ในต่างประเทศที่แคนาดา
และผลกระทบทางด้านสังคมและสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง สิ่งที่น่าสนใจคือ
การทำการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี พบว่า
ผลกระทบทางด้านร่างกาย จะเกิดกับสองกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มที่ทำงานในเหมือง
กับคนที่ไม่ได้ทำงานในเหมืองแต่อาศัยอยู่รอบพื้นที่โครงการ
จะเสี่ยงกับโรคทางเดินหายใจและมะเร็งในปอดที่เกิดจากฝุ่นละอองจากการผลิตแร่
การบดเกลือ การแต่งแร่ และกองแร่ที่อยู่บนลานกองเกลือ ผลทางด้านสุขภาพจิต
เกิดความกังวลและหวาดกลัวผลกระทบจากการจุดเจาะ จากลานกองเกลือและน้ำเกลือ
และความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินที่มาจากคนแปลกหน้าที่เข้ามาทำงาน
ผลกระทบต่อสุขภาพด้านสังคม คือเรื่องของความแตกแยกในชุมชน การทะเลาะเบาะแว้ง
เกิดความขัดแย้งแบ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน รวมทั้งผลกระทบทางด้านสุขภาวะปัญญา
ที่เกิดจากการปิดตัวเองในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านเชื่อในเรื่องของเศรษฐกิจ
รายได้และการจ้างงานอย่างเดียว ไม่คำนึงผลกระทบด้านอื่นๆ
ไม่เปิดรับข้อมูลที่ถูกต้องไม่มีการแยกแยะ
อย่างรู้เท่าทันและคำนึงถึงข้อดีข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ
งานศึกษาชิ้นนี้จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจในการเปิดประเด็นมิติทางด้านสุขภาพที่ศึกษาก่อนการดำเนินงานของกลุ่มทุนหรือโครงการพัฒนาที่จะเข้ามาดำเนินการ
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการศึกษาหลังจากโครงการเกิดขึ้นและมีผลกระทบทางสุขภาพเกิดขึ้น
โดยงานศึกษานี้เป็นการประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและเป็นผลกระทบที่พวกเขารู้สึกว่าเกิดขึ้นกับตัวเองทั้งที่ยังไม่มีโครงการในพื้นที่เกิดขึ้น
และเป็นข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการต่อสู้เคลื่อนไหวในพื้นที่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น