ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

งานวิจัยเกี่ยวกับเหมืองแร่ในเลย ต่อ


ประเด็นเรื่องของการต่อสู้เคลื่อนไหวในพื้นที่
เสียงจากคนชายขอบ สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย นาหนองบง โดยคณะทำงานโครงการขับเคลื่อนสิทธิ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (2552) หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ที่ประเด็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเสียงของคนชายขอบ โดยมี 8 ประเด็นที่ศึกษา เช่น การทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี ประเด็นเรื่องเอดส์และเอชไอวี ประเด็นเรื่องการขุดลอกแม่น้ำ  ประเด็นเรื่องชุมชนแออัด ประเด็นกฎหมายป่าชุมชนละประเด็นการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยประเด็นเรื่องเหมืองแร่ทองคำที่บ้านนาหนองบง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของชาวบ้านนาหนองบง โดยให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเข้ามาของบริษัททุ่งคำจำกัดตั้งแต่การสำรวจแหล่งแร่ การล่าลายเซ็นชาวบ้านเพื่อทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การทำเหมืองแร่ และก่อตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องความชอบธรรมจากกลุ่มทุนข้ามชาติและรัฐ
รวมทั้งการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอีไอเอที่ระบุว่า”พื้นที่ของการทำเหมืองอยู่ห่างจากชุมชนและเส้นทางสัญจรมาก โดยปกติคาดว่าจะไม่มีผู้ใดผ่านมาบริเวณพื้นที่โครงการเลยนอกจากผู้ที่เข้ามาทำงานในเหมืองหรือผู้ที่ต้องการจะเข้ามาชมเหมือง” ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงของชุมชนที่อยู่บริเวณรอบเหมือง รวมทั้งในรายงานฉบับนี้ไม่ได้มีการประเมินหาระดับไซยาไนด์และแคดเมียม รวมทั้งข้อมูลจากรายงานพยายามจะบอกว่าในพื้นที่ที่มีสารหนู แมงกานีสและตะกั่วอยู่ก่อนทำเหมืองแล้ว แต่ว่าในความเป็นจริงสารเหล่านี้ก็ไม่ได้มีค่าเกินมาตรฐานเหมือนในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้นำไปสู่การเข้ามาตรวจสอบคุณภาพน้ำในบ้านนาหนองบงของหน่วยงานต่างๆที่พบการปนเปื้อนของสารพิษเกินระดับมาตรฐาน รวมทั้งผลกระทบอื่นๆที่เกิดขึ้น เช่นการเสียหายของลักษณะกายภาพ ผิวดินทรุดตัว จากการระเบิด การขุดแร่และการลดลงของสิ่งมีชีวิตโดยรอบเหมือง เช่นปลา พืชผัก
ประเด็นสำคัญก็คืองานชิ้นนี้พูดถึงเรื่องของสิทธิในระดับชาติ โดยการลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม(ICESCR)เมื่อปีพ.ศ.2542  ทำให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะให้ความมั่นใจและรับผิดชอบต่อการกระทำของบุคคลกลุ่มบุคคลหรือรัฐที่จะละเมิดสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างสงบ สิทธิในน้ำสะอาด สิทธิในอาหาร สิทธิในสุขภาพ รวมถึงสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยของประชาชน เช่นเดียวกับรัฐจะต้องดูแลและตรวจสอบการดำเนินการของบริษัททุ่งคำจำกัด ให้มีความสอดคล้องกับรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่นำเสนอ แต่กรณีของเหมืองทองคำที่นาหนองบงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของรัฐในการปฏิบัติตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในน้ำที่ได้รับผลกระทบจากากรทำเหมืองแร่และมีการปนเปื้อนสารพิษลงสู่แหล่งน้ำบนดินและใต้ดินรวมถึงสิทธิในอาหาร พืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ  โดยผู้เขียนเสนอให้รัฐแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านบริเวณรอบเหมือง เช่น การจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความกังวลของชาวบ้าน และร่างแผนระยะยาวเพื่อชดเชยความเสียหายจากผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ  ที่สะท้อนให้เห็นประเด็นของการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเรื่องของกฎหมายและสิทธิตามกฎหมายที่เป็นยุทธศาสตร์ในการเรียกร้องความชอบธรรมของกระบวนการพัฒนา
สอดคล้องกับบทความเหมืองทองวังสะพุง เมื่อผู้จงรักษ์เป็นผู้บุกรุก ของแม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา (2553) บทความข่าวชิ้นนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 8 คน และนายสมัย ภักดิ์มี ประธานกลุ่มคนรักบ้านเกิด บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย ถูกฟ้องดำเนินคดีจากบริษัททุ่งคำจำกัดในข้อหาบุกรุก  และให้ข้อมูลถึงเบื้องหลังความขัดแย้งตั้งแต่การเข้ามาดำเนินกิจการของบริษัทในพื้นที่ด้วยการสำรวจและกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในตำบลเขาหลวงก่อนจะทำเหมืองแร่ โดยที่วิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายท่ามกลางภูเขา ทำการเพาะปลูกข้าว ปลูกยางพารา งาและลูกเดือย มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำธรรมชาติ คือห้วยผุก  แม่น้ำฮวย ห้วยลิ้นควาย ห้วยดินดำ และห้วยเหล็ก ที่ไหลผ่านพื้นที่บ้านนาหนองบงและหมู่บ้านอื่นๆในตำบลเขาหลวงอีก 13 หมู่บ้าน จนเมื่อเกิดเหมืองแร่ทองคำขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2549 บนพื้นที่ 1,160 ไร่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้าน คือบ้านนาหนองบง บ้านกกสะทอน บ้านห้วยผุก บ้านแก่งหิน บ้านโนนผาพุงพัฒนาและบ้านภูทับฟ้าพัฒนา
ประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวในพื้นที่ สืบเนื่องจากการที่ชาวบ้านไม่มีความรู้ในเรื่องเหมืองแร่ และไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง รวมถึงผู้นำที่ไม่นำเอาข้อมูลข่าวสารมาขยายให้คนในพื้นที่ฟัง และคนในพื้นที่ด้วยกันเองที่หลอกลวงกัน ว่าอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้รับเงินจากบริษัท 2,000 บาท ทำให้ชาวบ้านไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในที่ดินของตัวเอง  จนกระทั่งเกิดเหมืองแร่ในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ดิน น้ำ พืชและสัตว์ เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนัก ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวให้หน่วยงานราชการและนักวิชาการเข้ามาตรวจสอบคุณภาพของน้ำ แต่แม้ว่าผลที่ออกมาจะพบว่าในแม่น้ำฮวย มีปริมาณแคดเมียมสารหนูและแมงกานีสมากเกินมาตรฐานแต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไข จนชาวบ้านรวมตัวตั้งกลุ่มคนรักบ้านเกิดขึ้น เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม โดยยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เคลื่อนไหวที่น่าสนใจของกลุ่มก็คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทั่วประเทศ และทำให้ประเด็นเรื่องเหมืองกลายเป็นปัญหาสาธารณะว่าจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เครือข่ายนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนมาช่วยในเรื่องของคดีความต่างๆที่เกิดกับชาวบ้านและใช้เรื่องของกฎหมาย สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวต่อสู้
สอดคล้องกับ แผ่นผับประชาสัมพันธ์ของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ในเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนในคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณหมู่บ้านนาหนองบง ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติบ้านนาหนองบงที่มีครัวเรือน 220 ครอบครัว  และการเกิดขึ้นของกลุ่มคนรักบ้านเกิดเมื่อปีพ.ศ.2550 ที่ต่อสู้กับกลุ่มทุนที่เข้ามาทำเหมืองแร่เมื่อปีพ.ศ.2547 และได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่อยู่รอบเหมือง ทั้งการปนเปื้อนของสารเคมีที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร สัตว์น้ำ เช่นปลาและหอย จนนำไปสู่การตรวจสอบและการประกาศของกรมควบคุมมลพิษ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องการห้ามนำน้ำบริเวณที่พบสารแคดเมียมและแมงกานีสมาอุปโภคบริโภค ประเด็นที่สำคัญก็คือ การชี้ให้เห็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิตากฎหมายของชาวบ้านในพื้นที่ เช่น สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตร66 ที่ให้ความสำคัญกับชุมชนในการรวมตัวกันเป็นชุมชนท้องถิ่น ที่มีสิทธิฟื้นฟูรักษาจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมและมีส่วนร่วมในการจัดการ รักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน หรือมาตรที่67 ในสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์กับทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพได้อย่างเป็นปกติฯ รวมทั้งสิทธิในเรื่องน้ำ เรื่องอาหาร เรื่องการทำงานและสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงนามของรัฐบาลไทยในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ที่ต่อต้านโครงการเหมืองแร่ทองคำ ที่บ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
    ประเด็นของการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับกรณีเหมืองแร่และโรงโม่หินที่จังหวัดเลยข้างต้นของเครือข่ายต่างๆ พบว่าประเด็นเรื่องนี้มีความหลากหลายทั้งในมิติเชิงสังคมวัฒนธรรม มิติทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญคือประเด็นเรื่องของสุขภาพที่ทำโดยนักวิชาการผู้เชียวชาญเฉพาะด้าน ทางด้านอุทกวิทยาน้ำบนดินใต้ดิน ทางด้านสาธารณสุขและด้านวิทยาศาสตร์ ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่และผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับประเด็นในรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพที่ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่จะต้องดำเนินการจัดทำควบคู่กับรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย ข้อมูลดังกล่าวจึงถือเป็นฐานข้อมูลสำคัญของชาวบ้านในการนำมาใช้เพื่อการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิจากกระบวนการพัฒนาของรัฐและเอกชนที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการเคลื่อนไหวในพื้นที่ของชาวบ้านที่ทำให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจาการทำเหมืองแร่ทางด้านสังคมที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและเกิดการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ต่อต้านโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทของชาวบ้านกับรัฐและกลุ่มทุน รวมถึงชาวบ้านด้วยกันเอง และไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคต รวมทั้งเป็นกรณีตัวอย่างของกระบวนการพัฒนาโครงการการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนในพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดการยอมรับในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ร่วมกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ เน้นอยู่ที่ปัจจัยทางชีววิทยาเพ

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเกี่ยวกับการนอนเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว(priv

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Derkhiem ในหนัง