งานวิจัยที่เกี่ยวกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกลือและโพแทช
มีจำนวนมากมายในเมืองไทย ทั้งอยู่ในรูปของหนังสือ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์
บทความในวารสารต่างๆ ซึ่งผู้ศึกษาได้รวบรวมจำนวนกว่า 40 ชิ้น
และข่าวในหนังสือพิมพ์ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ถึงปัจจุบัน
ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับเกลือและโพแทช โดยผู้ศึกษา
ได้วิเคราะห์เนื้อหาของวิทยานิพนธ์แต่ละชิ้น
โดยการมองลงไปที่ประวัติศาสตร์ของการศึกษาปัญหา การโต้แย้ง การถกเถียงกันในประเด็นเรื่องของเกลือและโพแทช เพื่อจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจและมองเห็นประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ รวมทั้งข้อวิจารณ์ ข้อโต้แย้ง
หรือสิ่งที่ถูกมองข้ามละเลย ที่พบในงานการศึกษาต่างๆเกี่ยวกับเกลือละโพแทช ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพการจัดการพื้นที่ทางกายภาพ
ตั้งแต่การสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี จนมาถึงการทำให้พื้นที่ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้
ได้ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ของการศึกษา และพื้นที่ของการลงทุน
ที่จะนำไปสู่ประเด็นของการสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการและงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้
จากข้อมูลต่างๆที่รวบรวมจากเอกสาร
หลักฐาน ทางวรรณกรรมเกี่ยวกับเกลือและโพแทช พบว่า ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องเกลือและโพแทชที่พบ
เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2514 ถึงปัจจุบัน ทั้งการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ
ทั้งในรูปของหนังสือ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ งานวิจัย บทความ การรายงานข่าว
ซึ่งแบ่งออกเป็นพัฒนาการในแตะละช่วงเพื่อให้มองเห็นภาพรวมในงานแต่ละชิ้นที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับเกลือและโพแทช
บนข้อถกเถียงและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
โดยผู้ศึกษาแบ่งโดยใช้เกณฑ์จากจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องเกลือในอีสานในช่วงปี
พ.ศ.2515 เป็นต้นมา
รวมทั้งการสำรวจเกลือหินและโพแทชของกรมทรัพยากรธรณีตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2519
จนกระทั่งการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ในช่วงปี พ.ศ. 2524
และปัญหาเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในช่วงปี พ.ศ. 2533 ถึงปัจจุบันได้ดังนี้คือ
1) ในช่วงปี พ.ศ. 2515- 2523
เรียกว่าช่วงของการค้นหาและสร้างองค์ความรู้เรื่องทรัพยากร
เนื้อหาหรือประเด็นในการนำเสนอเรื่องโพแทชและเกลือ
เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ โดยเป็นเอกสารและบทความ
ที่เขียนโดยนักธรณีวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิศาสตร์เป็นส่วนใหญ่และถูกตีพิมพ์ในวารสารข่าวสารการธรณี ในช่วงปีพ.ศ.2519-2522 ซึ่งนำเสนอเรื่องแหล่งกำเนิดเกลือและโพแทชในภาคอีสาน
การสำรวจแร่โพแทชและเกลือหินในภาคอีสานของประเทศไทย
ราคาและตลาดแร่โพแทชของโลก
ทฤษฎีการเกิดโพแทชในภาคอีสานที่มองว่าภาคอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน
และทำให้มีแร่เกลือหินและโพแทช อยู่ใต้พื้นดินจำนวนมหาศาล บริเวณแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช เช่น ,
โปแตชอยู่หนใด ,
โปแตชตอนอวสานโดยไสว สุนทโรทก (2521), สถานการณ์ของแร่โปแตชของโลก
โดยเอมอร จงรักษ์ (2522) และ
ข้อคิดเห็นการกำเนิดเกลือโปแตชในภาคอีสาน โดยณรงค์ ถิรมงคล (2521) เป็นต้น รวมทั้ง รายงานสำรวจเศรษฐกิจและตลาดเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยหน่วยวิชาการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (2521) ที่พูดถึงตลาดเกลือ วิธีการผลิตเกลือ
และปริมาณการผลิตเกลือในจังหวัดต่างๆของภาคอีสาน ผลการศึกษาพบว่า
แหล่งผลิตเกลือเป็นเสมือนตลาดแรงงานของท้องถิ่น ที่ทำให้คนชนบทในท้องถิ่นมีงานทำในฤดูแล้งเพราะการต้มเกลือพื้นบ้านถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านหลังฤดูกาลทำนาและเป็นทรัพยากรที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นมาก
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพื้นที่ทำการผลิตเกลือซึ่งมีความสัมพันธ์ในเชิงสังคมและวัฒนธรรม
เช่น บ่อพันขัน ของพจน์ เกื้อกูล (2518) และ
เกลือและการตั้งถิ่นฐานในภาคอีสาน ของ แวน
เลียร์ (2515) ในวารสารเมืองโบราณที่เป็นการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและการผลิตเกลือ
รวมถึงการปลูกข้าวเป็นต้น
ดังนั้นงานเขียนในช่วงนี้มีลักษณะของการตื่นตัวในการสำรวจและค้นพบแหล่งแร่โพแทชและเกลือหิน พร้อมๆกับการขยายตัวของการผลิตเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถวอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และลำน้ำเสียว อำเภอบรบือ
จังหวัดมหาสารคาม
ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ทดแทนการผลิตเกลือจากทะเล ที่มีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการขยายพื้นที่ทำนากุ้ง
และการเปลี่ยนอาชีพของคนทำนาเกลือทำให้ประเด็นเรื่องเกลือกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจพร้อมๆกับการค้นหาและพัฒนาแหล่งแร่ที่มีมูลค่าใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ในอนาคต
2) ในช่วงปีพ.ศ.2527-2535
เรียกว่าช่วงของการใช้ประโยชน์และความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ
เรื่องของเกลือไม่ปรากฏในงานเขียนระหว่างช่วงปี
พ.ศ.2523-2526 จนถึงช่วงปี พ.ศ.2527
ก็มีงานของคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง ระบบตลาดและราคาเกลือในประเทศไทย ของ อัมพัน พักมณี (2515) นอกนั้นก็จะเป็นประเด็นเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเกลือเกลือของอีสาน
โดยเฉพาะประเด็นของลำน้ำเสียวและพื้นที่อื่นๆที่ทำการผลิต
ที่ออกมาในรูปบทความทางวิชาการ เช่น เกลืออีสาน
โดยประเสริฐ วิทยารัฐ (2538) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำเนิดเกลืออีสาน การผลิตและสภาพปัญหา โดยผู้ศึกษาเห็นว่า ต้องมีการควบคุมการทำเกลือในรูปแบบของน้ำเค็มเหมือนการทำเหมืองโดยทั่วไป
และควรส่งเสริมให้มีการผลิตเกลือในอีสานต่อไปแต่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยรวมถึงการนำเอาแร่ชนิดอื่นๆเช่นแร่โปแตช
ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการผลิตปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
นอกจากนี้ก็มีรายงานข่าวความเคลื่อนไหว
ของการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านกับนายทุนรวมถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มและน้ำเค็ม
เช่น ขุมเกลือทองคำขาว เกลือบรบือ โดย อัษฎา วนาทรัพย์ดำรง(2529), ระวังเกลือท่วมประเทศผันนาเกลือมาเป็นเหมืองโปแตช
โดยบุญชัย เจียมจิตจรุง (2534), บทความอุทกวิทยาภาคอีสาน ดินเค็มผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของสมชัย วงศ์สวัสดิ์และสมเจตต์ จุลวงษ์ (2532), ดินเค็มในภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ สภาพปัญหาและมาตรการในการทำเกลือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยพงษ์เทพ จารุอำพรรณ (2534) ที่กล่าวถึงสาเหตุการลักลอบทำเกลือโดยผิดกฎหมายโดยใช้น้ำเกลือจากใต้ดิน
ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้เกลือในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้ในทางอุตสาหกรรมมากขึ้น
อันนำไปสู่การแสวงหาแหล่งผลิตใหม่ๆเพื่อใช้ในการผลิตเกลือและนำออกมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเกลือหินใต้ดินปริมาณมหาศาล
ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดิน และน้ำ
รวมถึงการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งผลจากการผลิตเกลือสมุทรในภาคกลางและภาคตะวันออกและรวมถึงเหมืองเกลือละลายของจังหวัดนครราชสีมาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้
ผู้เขียนได้เสนอว่าควรมีการควบคุมการทำเกลือลักษณะดังกล่าว
โดยแทนที่ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกลือเต็มรูปแบบในลักษณะของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
นอกจากนี้ ยังมีเอกสารรวบรวมการประชุมสัมมนาเรื่อง
ดินเค็มผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติภาคอีสาน และผลประโยชน์มหาศาลชาวบ้านไม่ได้ครอบครอง โดยมูลนิธิฟริดิกนามันและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน(2533) ที่จัดขึ้นที่สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องลำน้ำเสียว
และการลักลอบทำเกลือแบบผิดกฎหมาย
ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำการเกษตร
แหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามที่ควรจะต้องมีการยับยั้งหรือยุติกิจกรรมดังกล่าว
ในอีกด้านหนึ่งก็มีการพูดถึงความหมายของเกลือในฐานะของวัตถุเพื่อสุขภาพ
เช่น เมื่อเกลือไม่ใช่แค่เพียงเกลือของ แก้ว กังสดาลอำไพ(2534) ในวารสารหมอชาวบ้าน สถาบันวิจัยด้านโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่สัมพันธ์กับการส่งเสริมการบริโภคเกลือไอโอดีน
ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการป้องกันโรคคอพอก
โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่อยู่ห่างไกลจากทะเล
ทำให้ได้รับอาหารที่มีธาตุไอโอดีนน้อย จึงได้
มีการส่งเสริมการผลิตเกลือผสมไอโอดีน
โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในคอลัมน์เจาะตลาดธุรกิจก้าวหน้า (2535) เรื่อง เกลือปรุงทิพย์
บุกตลาด เน้นจุดขาย มีธาตุไอโอดีนเป็นส่วนผสม ที่สะท้อนให้เห็นการก้าวเข้ามาในระบบธุรกิจเกลือเพื่อสุขภาพ
ที่วางจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์การบรรจุหีบห่อที่สวยงามมีราคาแพงกว่าเกลือทั่วไป
และวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ตเพื่อเจาะตลาดชนชั้นกลางในเมืองทั่วประเทศ
ของบริษัทเกลือปรุงทิพย์จำกัด ที่ผลิตเกลือแบบเหมืองละลาย ที่อำเภอพิมาย
จังหวัดนครราชสีมา และเป็นเหมืองเกลือขนาดใหญ่แรกๆของภาคอีสานที่มีลักษณะเป็นเหมืองแบบละลายก่อนจะเกิดการพัฒนาเหมืองอุโมงค์ของการขุดเจาะเหมืองแร่โพแทชที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โดยในช่วงนี้เอกสาร บทความ งานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับเกลือและโพแทช
จะเน้นไปที่ความสำคัญของเกลือใต้พื้นดิน ที่เป็นเหมือนขุมทรัพย์ทองคำขาวที่ถูกนำมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งมีการเพิ่มพื้นที่การผลิตและผลิตกันจำนวนมากในช่วงปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา
หลังจากมีการค้นพบว่าใต้พื้นดินอีสานมีชั้นเกลือหินอันมหาศาลทับถมกันอยู่
พร้อมกับประเด็นในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น จากการผลิตเกลือในเขตต่างๆของภาคอีสาน
โดยเน้นไปที่ประเด็นเรื่องของลำน้ำเสียว
ที่มีผู้คนคัดค้านและเคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวนา
และการเชื่อมโยงเครือข่ายของการศึกษาระหว่างนักวิชาการ นักศึกษาและชาวบ้าน
เช่นคณะกรรมติดตามผลการสัมมนาปัญหาดินเค็มกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น
รวมถึงประเด็นใหม่ในการเปลี่ยนสภาพของเกลือจากวัตถุในเชิงพาณิชยกรรมและวัตถุเพื่อการผลิตทางอุตสาหกรรมกลายมาเป็นวัตถุดิบเพื่อสุขภาพ
ผนวกกับการประกอบธุรกิจของกลุ่มทุนที่มีเทคโนโลยีและมีทุนขนาดใหญ่ขึ้น
เช่น บริษัทพิมาย ซอลต์ จำกัด ที่นำเทคโนโลยีการทำเหมืองแร่แบบละลายเข้ามาใช้และมีการนำมาผลิตเป็นเกลือเพื่อการบริโภคเป็นเกลือบริสุทธิ์ที่มีส่วนผสมของธาตุไอโอดีนและวางจำหน่ายแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งเป็นผู้บริโภคอย่างกว้างขวางมากขึ้นและส่งผลให้การผลิตเกลือแบบพื้นบ้าน
และแบบอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก ที่ผลิตเกลือแบบต้มและตาก
กลายเป็นวัตถุดิบที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมเป็นหลัก
3) ในช่วงปี 2536-2544 เรียกว่าเป็นช่วงของการพัฒนาและการจัดการในเชิงพาณิชย์
ประเด็นเกี่ยวกับเกลือและโพแทช
สะท้อนในรูปแบบของการศึกษาแบบวิทยานิพนธ์มากที่สุด เช่น
ผลกระทบต่อภูมิทัศน์วัฒนธรรมลำน้ำเสียวในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ในการใช้ที่ดิน
ในเขตอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดย วนมพร พาหะนิชย์ (2538) ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตเกลือเพื่อการค้าในเขตลำน้ำเสียว
จังหวัดมหาสารคาม เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่อง
ผลกระทบจากการผลิตเกลือสินเธาว์บ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ของ เพชร
สุพัตกุล (2542)
ได้ศึกษาผลกระทบจากการผลิตเกลือแบบต้มและแบบตากที่บ้านดุง แม้ว่าการผลิตเกลือจะมีผลกระทบกับพื้นที่ทางการเกษตรดินเค็มและน้ำเค็ม
แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าการผลิตเกลือยังมีผลกระทบในทางบวกคือ
คนมีรายได้จากการประกอบอาชีพต้มเกลือและเป็นแรงงานรับจ้างทำให้เศรษฐกิจในชุมชนขยายตัว
ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาเรื่อง บ่อเกลือบ้านท่าสะอาด กับวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำสงคราม
กรณีศึกษาบ้านท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ของ กุสุมา หงษ์ชูตา (2544)
ได้สะท้อนให้เห็นแง่มุมทางวัฒนธรรมของการผลิตเกลือที่บ้านท่าสะอาด
ทั้งในแง่พิธีกรรมเกี่ยวกับเกลือที่บ่อหัวแฮด การค้าขายเกลือระหว่างชุมชนรวมทั้ง
การประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกลือ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า ควรมีการปรับปรุงคุณภาพ
และการบรรจุผลิตภัณฑ์
เพื่อเป็นสินค้าของชุมชนรวมถึงการสร้างการประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้และทำให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเกลือและวิถีชีวิตของคนในชุมชน หรืองานศึกษานโยบายสาธารณะของการผลิตเกลือ
เรื่องแนวทางการจัดการอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์แบบยั่งยืน กรณีศึกษาอำเภอบ้านดุง
จังหวัดอุดรธานี ของ สุชาติ
สุขสะอาด (2544) ที่วิเคราะห์ในเชิงของนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศไทยที่ไม่สอดคล้องกับการผลิตเกลือสินเธาว์
โดยผู้เขียนสรุปว่ารัฐควรที่จะสนับสนุนประกอบอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์เพราะเป็นอาชีพของคนในชุมชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือต้มที่ใช้พื้นที่น้อยและสามารถสูบน้ำเกลือใต้ดินได้ตลอดเวลาและควรจะจัดการในรูปแบบของประปาน้ำเกลือเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการโดยองค์กรส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการจำหน่ายซึ่งก่อให้เกิดรายได้สำหรับการพัฒนาท้องถิ่นด้วย
หรืองานศึกษาเรื่อง
การศึกษากระบวนการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตเกลือของบ้านหนองกวั่ง
อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร โดยกาญจนา
อุทัยเลี้ยง (2546)
ที่ศึกษาเงื่อนไขการยอมรับเทคโนโลยีของชาวบ้าน ในเทคโนโลยีเตาต้มเกลือแบบท้องเผาไหม้เดี่ยวและเผาไหม้คู่ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงของคณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
รองลงมาก็เป็นข่าวและบทความ ที่เป็นเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตเกลือทำให้เกิดปัญหาดินเค็ม
การปนเปื้อนของน้ำเค็มลงสู่แหล่งน้ำเป็นส่วนใหญ่
รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านกับนายทุนและชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกัน เช่น คำถามถึงภูเขาเกลือผันน้ำมาละลายภูเขาเกลือ
โดย วีระ สุดสังข์ (2537) , พลิกปูมศึกสามเส้าแอ่งเกลือบ้านม่วง
วานรนิวาส สกลนคร ของหนังสือพิมพ์มติชน (2538) รวมทั้งการนพเสนอประเด็นเรื่องเกลือพื้นบ้านในฐานะของภูมิปัญญาท้องถิ่นและอาชีพเสริมหลังฤดูการทำนา
เช่น บทความชีวิตสาวนาเกลือบ้านหาดยาว ต้มดินให้เป็นเกลือ อาชีพที่ไม่ต้องมีทุนรอน
โดยชูชีพ ดำรงสันติสุข (2538) และ ต้มเกลือสินเธาว์ที่หนองเค็ม ภูมิปัญญาชาวบ้านอันล้ำค่า
โดย ประสาท สายดวง (2540) เป็นต้น
สุดท้ายรายงานการวิจัยเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐเรื่องของเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม
เช่น ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์อำเภอบ้านดุง
โดย อานนท์ เศรษฐเกรียงไกรและคณะ (2536) และ
การผลิตและการตลาดเกลือของประเทศไทย โดย กองวิจัยการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2538)
ที่ศึกษาราคาของเกลือและปริมาณการใช้เกลือและความต้องการเกลือของประเทศที่มีเพิ่มสูงมากขึ้น
โดยเฉพาะเกลือสินเธาว์ที่มีค่าโซเดียมคลอไรค์สูงกว่า และนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ดีกว่า
มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและผลผลิตมากกว่าเกลือสมุทร
แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากกว่า
สำหรับปัญหาในอนาคตก็คือการเกิดโครงการเหมืองแร่โพแทช ที่จะทำให้มีปริมาณเกลือออกสู่ตลาดมากขึ้น
ดังนั้นจะต้องมีการควบคุมการผลิตเกลือสินเธาว์เพื่อช่วยเหลือชาวนาเกลือสมุทรที่อาจจะได้รับผลกระทบ
ประเด็นเกี่ยวกับเกลือและโพแทชในงานศึกษาต่างๆข้างต้น
จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ประเด็นของเกลือและโพแทชมีความหลากหลาย
ทั้งในแง่ของการจัดการเชิงธุรกิจ
การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตไม่ว่าจะเป็นวิธีการผลิต เชื้อเพลิงในการผลิตเพื่อประหยัดต้นทุนในการผลิต
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและ
ความขัดแย้งในการผลิตเกลือระหว่างชาวบ้าน ผู้ผลิตเกลือและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
รวมทั้งเรื่องทางสังคม วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเรื่องของภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
เศรษฐกิจระดับชุมชนซึ่งเกิดจากการผลิตเกลือสินเธาว์ซึ่งเป็นอาชีพเสริม
รวมถึงนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากการทำเกลือ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกลือที่บ้านดุงแสดงให้เห็นแนวความคิดที่ค่อนข้างสอดคล้องกันในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์จากเกลือและโพแทช
ที่ควรมีการนำมาใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับมาตรการการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเพราะเกลือเป็นวัตถุที่มีมากมายมหาศาลและมีราคาสูง
ในทางอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจและพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
4) ในช่วงปี 2545ถึงปัจจุบัน เรียกว่าช่วงของการวางแผนนโยบายการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุอย่างยั่งยืน
การศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเกลือ
สะท้อนออกมาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของการจัดการและนโยบายสาธารณะมากที่สุด โดยเฉพาะ
ในงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัย นักวิชาการในมหาวิทยาลัย และนักพัฒนาเอกชน
ซึ่งต้องการแสวงหาทางออกในประเด็นปัญหาของเรื่องเกลือและโพแทช
ซึ่งกำลังขัดแย้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ เช่น งานวิจัยโครงการจัดการทรัพยากรเกลือ
ดินเค็มและน้ำเค็มแบบยั่งยืนในภาคอีสานตอนบน ของอ.ประสิทธิ์ คุณุรัตน์และคณะ(2550) โดยเป็นงานวิจัยระยะยาวต่อเนื่องระหว่างปี
2545ถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะเทคโนโลยีธรณี
และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิยาลัยขอนแก่น
โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนจากกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นเรื่องของการวางแผน
การกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรดินเค็มและน้ำเค็มภาคอีสานให้สอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่โดยข้อสรุปก็คือควรส่งเสริมการศึกษาเพื่อหาแนวทางนำเกลือที่มีอยู่ในภูมิภาคปริมาณมหาศาลมาใช้ประโยชน์
โดยให้มีผลกระทบน้อยที่สุดเพื่อเป็นสินค้าส่งออกในอนาคต หรือ งานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนกรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
โดยมีกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 4 กรณี ในประเทศไทย
อาทิเช่น โครงการท่อก๊าซไทยมาเลเซีย โครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี เป็นต้น
ที่ศึกษาโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2548) โดยมีประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช
จังหวัดอุดรธานี ที่ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการบริหารบ้านเมืองและสังคมในด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยวิพากษ์เกี่ยวกับกลไกลของรัฐในการจัดการทรัพยากร
ทั้งในเรื่องของกฎหมายแร่ รัฐธรรมนูญ สัญญา รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงนโยบายของรัฐบาล
โดยเสนอนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการจัดการเกลือแบบต่างๆและโพแทชให้มีความสมดุลกัน
โดยเฉพาะการผลิตเกลือแบบพื้นบ้านและเกลือแบบอุตสาหกรรมแบบต้มและตาก
โดยไม่ให้โครงการเหมืองแร่โพแทชสร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมเกลือพื้นฐานขนาดอื่นๆจากปริมาณเกลือจำนวนมหาศาลที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตโพแทช
ส่งผลให้เกลือล้นตลาด เป็นต้น รวมทั้งงานของ สุภาพร ดารักษ์ (2550) เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุ
ศึกษากรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ก็ได้ชี้ให้เห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในการต่อสู้เคลื่อนไหวและเรียกร้องสิทธิในความเป็นเจ้าของพื้นที่และทรัพยากร
ตั้งแต่การใช้ช่องทางของกฏหมายการยื่นหนังสือ การเดินรณรงค์
การขึ้นป้ายคัดค้านโครงการ การผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาและอื่นๆ
ซึ่งทำให้ประเด็นปัญหาเรื่องโครงการเหมืองแร่โพแทช
รับรู้สู่สาธารณะในวงกว้างและนำไปสู่การศึกษาหาแรวทางแก้ไขปัญหาของภาคส่วนต่างๆ
ในช่วงเวลาที่เรื่องของเหมืองแร่โพแทชได้เริ่มเป็นที่รับรู้และสนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้น
ได้เกิดการศึกษาในประเด็นนโยบายสาธารณะและกฏหมาย การต่อสู้เคลื่อนไหว
โดยใช้วัฒนธรรม (กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมและเอ็นจีโอ รวมทั้งนักศึกษาที่เขามาเรียนรู้)
รวมทั้งเรื่องประเด็นการทำ HIA การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
ประเด็นเรื่องเหมืองแร่ ความรู้และการปฏิบัติ
ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ งานวิจัยและศึกษาของสถาบันราชภัฏอุดรธานี
ที่พานักศึกษาลงชุมชนและเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน
งานศึกษาและงานวิจัยที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ที่สอดคล้องกับเรื่องของการบริหารจัดการเชิงนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ธาตุใต้พื้นดินโดยเฉพาะเกลือและโพแทชออกมามากมาย
โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดเวทีทางวิชาการเกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทชในสถาบันการศึกษาท้องถิ่นและเปิดให้เป็นประเด็นสาธารณะกว้างขวางในสถาบันการศึกษาส่วนกลาง
งานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งคือหนังสือที่สรุปจากการสัมมนาโครงการเหมืองแร่โพแทช
จังหวัดอุดรธานี ปัญหาและแนวทางแก้ไขของธงชัย พรรณสวัสดิ์และคณะ (2546) ที่มีประเด็นเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชของผู้เชี่ยวชาญ
นักวิชาการในมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องแขนงต่างๆ โดยในเอกสารฉบับนี้แบ่งออกเป็น 6 ส่วนคือ
ส่วนแรกของหนังสือ
คือบทความการบรรยายพิเศษ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติของไทย มิติของการจัดการที่ยั่งยืน
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พูดถึงภาระหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในการจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในด้านเศรษฐกิจ
สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
ส่วนที่สอง
เป็นเรื่องของความเป็นมาและสถานะของโครงการตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันโดยตัวแทนบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตชคอร์เปอร์เรชั่นที่จะเข้ามาดำเนินการทำเหมืองในพื้นที่และนักธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัย มหิดลที่เคยเป็นหัวหน้าทีมคณะสำรวจแร่โพแทชและเกลือหินในภาคอีสาน
รวมทั้งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่มีหน้าที่ในการออกอาชญาบัตรและประทานบัตรในการสำรวจพัฒนาแหล่งแร่และสร้างโรงงานเหมืองแร่
เนื้อหาทั้งสามส่วนมีความสัมพันธ์กันในแง่ของการสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชในภาคอีสานโดยกรมทรัพยากรธรณี
เมื่อปีพ.ศ. 2516 -2519 ก่อนที่จะเปิดให้บริษัทเอกชนมาลงทุนสำรวจต่อ
เพื่อทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ เมื่อปี พ.ศ.2527 ก่อนที่บริษัทเอเชีย แปซิฟิกโปแตช
คอร์เปอร์เรชั่น จะยื่นขอประทานบัตรสำหรับสร้างโรงงานต่อกระทรวงอุตสาหกรรม
ตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
ส่วนที่สาม เป็นการทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สถาบันราชภัฎอุดรธานี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ได้ให้ข้อมูลในเรื่องของปัญหาในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ
ในประเด็นผลกระทบทางด้านกายภาพ เช่น แผ่นดินทรุดตัว
การแพร่กระจายของดินเค็ม น้ำเค็ม ประเด็นทางเศรษฐกิจ
ในเรื่องของผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียม
ระหว่างรัฐบาล บริษัทข้ามชาติ และคนในพื้นที่ รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และปัญหาทางด้านสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต
ที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นมูลค่าได้
และการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำรายงานฉบับนี้
ส่วนที่สี่ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายแร่
สัญญาที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมของประชาชน
การจัดการความขัดแย้ง และบทบาทของนักวิชาการและสถาบันท้องถิ่น โดยสภาทนายความ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ
และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา เป็นการนำเสนอประเด็นทางกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องแดนกรรมสิทธิ์
ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้าน
การดำเนินกิจกรรมของบริษัทเพื่อผลทางธุรกิจ
ซึ่งจะนำมาสู่ความแตกแยกระหว่างชาวบ้านในชุมชน
รวมทั้งการปิดปังข้อมูลข่าวสารกับคนในพื้นที่
ที่ถูกกีดกันออกจากกระบวนการพัฒนาดังกล่าว
ส่วนที่ห้าเป็นเรื่องนโยบายของรัฐซึ่งนำเสนอโดยที่ปรึกษาวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้ให้เห็นเรื่องของการจัดการบริหารแบบองค์รวม
เพื่อสร้างการจัดการแร่อย่างยั่งยืนในลักษณะของการอนุรักษ์ควบคู่กับการใช้ประโยชน์และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและหลักธรรมมาภิบาลเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด
ส่วนสุดท้าย
เป็นข้อสรุปการสัมมนาและข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากการประชุมเพื่อสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทชบนแผ่นดินอีสานและเป็นแนวทางหนึ่งในการพิจารณาความคุ้มค่า
ผลดี ผลเสีย ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อการตัดสินใจในนโยบายพัฒนาของรัฐและกลุ่มทุนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่
ประเด็นของหนังสือดังกล่าวทำให้เกิดการเชื่อมโยงปัญหาเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติกับแนวนโยบายการพัฒนาของภาครัฐและเอกชนที่จะต้องทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ซึ่งนำไปสู่การศึกษาและวิจัยในประเด็นที่เป็นปัญหาและข้อเสนอแนะจากเวทีสัมมนานั้นในแง่มุมต่างๆที่หลากหลายที่ทำการศึกษาโดยองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในเวลาต่อมาอีกหลายชิ้น
งานวิจัยวิเคราะห์นโยบายสาธารณะกรณีศึกษา
เกี่ยวกับการจัดการเกลืออีสาน วิถีชุมชน สู่อุตสาหกรรม โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์และเบญจรัตน์ เมืองไทย
(2548) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของนโยบายการจัดการทรัพยากรเกลือเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและสอดคล้อง
โดยเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของเกลือในอุตสาหกรรมต่างๆและการเข้ามาของทุนข้ามชาติที่จะทำให้เกลือแบบพื้นบ้านและเกลืออุตสาหกรรมของคนในพื้นที่หมดสิ้นไป
โดยเฉพาะเกลือแบบอุตสาหกรรมในพื้นที่เพราะใช้ต้นทุนต่ำและทำลายสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์อย่างมาก
อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่โอบอุ้มกลุ่มทุนข้ามชาติและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ
ในการเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศและทำลายธุรกิจเกลือในระดับท้องถิ่นให้หมดสิ้นไปจากตลาดการค้าเกลือ
โดยงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการเชื่อมโยงให้เห็นเรื่องของวัฒนธรรมการทำเกลือแบบพื้นบ้านที่เกลือได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชขนาดใหญ่และเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชในแง่มุมเกี่ยวกับพัฒนาการและประวัติศาสตร์เกลือในภาคอีสานรวมถึงนโยบายสาธารณะที่รัฐพยายามเข้าไปควบคุมจัดการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในอนาคต
เช่นเดียวกับวิทยานิพนธ์เรื่องเกลือและโพแทช:ภาษาความรู้และอำนาจในการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน
กรณีศึกษาโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานีของ นัฐวุฒิ สิงห์กุล (2550) ผู้ศึกษาอธิบายเรื่องเกลือและโพแทช
ในมิติที่หลากหลาย ภายใต้การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเกลือและโพแทช
ทั้งในแง่ของการพัฒนา เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อม
หรือเรื่องทางวัฒนธรรม สิ่งที่ปรากฏก็คือ
ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเดียวแต่มีความหลากหลาย
เพราะแต่ละฝ่ายต่างพยายามสร้างให้วาทกรรมของตัวเองมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
ผ่านการต่อรอง การปะทะ
ประสานกันบนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องของเกลือและโพแทช
ที่สร้างให้เรื่องของเกลือและโพแทช ถูกกล่าวถึงในพื้นที่ทางสังคม
นอกจากนี้วิทยานิพนธ์เล่มนี้ ได้สืบค้นร่องรอยของความรู้
และความจริงเกี่ยวกับเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช โดยสืบค้นให้เห็นการปะทะกันของวาทกรรมในความสัมพันธ์ของอำนาจและความรู้
จากเนื้อหาและความจริงเกี่ยวกับเรื่องเกลือที่วาทกรรมชุดต่างๆก่อตัวขึ้นมา
และแย่งชิงพื้นที่ของความหมายและความจริงเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช เช่นเรื่องของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
กับเกลือแบบพื้นบ้าน และเกลืออุตสาหกรรมท้องถิ่น หรือ ความรู้ทางวิศวกรรมเหมืองแร่
กับตำนานพื้นบ้าน ผาแดงนางไอ่ ที่ปะทะต่อรองกันอยู่ในพื้นที่
และพยายามสร้างการยอมรับกับคนกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างอำนาจ
ความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุ วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้
แม้ว่าจะไม่มีทางออกต่อปัญหาเรื่องนี้ แต่สาระสำคัญที่บอกให้เห็นก็คือ
การจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับเกลือและโพแทช
สามารถอธิบายผ่านการทำความเข้าใจวาทกรรม ที่เป็นเรื่องของการให้ความหมาย
การสร้างความจริง และความรู้
ได้มากกว่าเรื่องของเกลือที่เป็นวัตถุที่บริโภคเท่านั้น
แต่เกลือได้กลายมาเป็นประเด็นปัญหาของการศึกษาและการกล่าวถึง โดยคนกลุ่มต่างๆไม่ว่าจะเป็นนักธรณีวิทยา
นักนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการส่วนกลางและท้องถิ่นและชาวบ้าน
เพื่อสร้างอำนาจ ความรู้และความจริงเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเกลือและโพแทชใต้พื้นดินอีสาน
ประเด็นในเรื่องของการต่อสู้เคลื่อนไหวโดยใช้วาทกรรมเรื่องของเกลือพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาท้องถิ่นและตำนานพื้นบ้านมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินในงานชิ้นนี้
สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยเรื่องขบวนการชาวบ้านคัดค้านเหมืองโพแทชบนผืนแผ่นดินอีสาน
โดยฐากูร สรวงศ์สิริเขียน มณีมัย ทองอยู่ บรรณาธิการ(2554) ที่ชี้ให้เห็นกระบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่
ตั้งแต่พัฒนาการของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อบริษัทเข้ามาดำเนินการ
ทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเตรียมการขอประทานบัตรเพื่อสร้างโรงงาน
จนเกิดการรวมตัวกันต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การใช้ช่องทางการทางการเมืองและกฏหมาย
ผ่านการยื่นหนังสือ การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ การสร้างเครือข่าย
การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีเหมืองแร่โพแทช
จนถึงการใช้เรื่องของวัฒนธรรมในการเคลื่อนไหว เช่น การเดินรณรงค์บอกข่าว การทำจดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่น
การใช้สื่อวิทยุชุมชนเพื่อบอกข่าวสาร การจัดประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่
การทำนารวมเพื่อระดมทุนในการต่อสู้
การใช้วัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการและการใช้ตำนานความเชื่อท้องถิ่นในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ
กระบวนการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการต่อสู้เคลื่อนไหวและเป็นวิธีการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่อยู่บนพ้นฐานของสายสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ
การช่วยเหลือเกื้อกูลและความสามัคคีกัน
รวมทั้งตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของวิถีเกษตรกรรมที่กำลังถูกคุกคามด้วยระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่แยกชาวบ้านออกจากการพึ่งตัวเองและเน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
สิ่งที่น่าสนใจในงานชิ้นนี้ก็คือการสรุปให้เห็นว่า
การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่กับอำนาจรัฐ
ไม่สามารถยึดแนวทางหรือรูปแบบการต่อสู้แบบหนึ่งแบบใดที่ตายตัวได้
แต่กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านต้องใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายและปรับไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างอำนาจในการตอบโต้
ต่อรอง คัดคานและประนีประนอมระหว่างชาวบ้านกับรัฐ กลุ่มทุนข้ามชาติและกระแสโลกาภิวัตน์รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ด้วยกันเอง
งานชิ้นนี้สอดคล้องกับงานศึกษาในเชิงรัฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
ของ วิเชียร บุราณรักษ์ (2548) เรื่อง ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน
ศึกษากรณีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่ผู้ศึกษาเน้นศึกษาการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
โดยชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง
อันเนื่องมาจากแนวนโยบายและการดำเนินการพัฒนาของภาครัฐ
ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม
ซึ่งกระบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จะใช้รูปแบบที่หลากหลาย ทั้งกลยุทธ์ทางการเมือง
และกลยุทธ์แบบชุมชนนิยม การใช้วัฒนธรรมชุมชนในการเคลื่อนไหว
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ การต่อสู้ทางด้านกฎหมายและนโยบายกับภาครัฐ
และกลยุทธ์การแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่และนอกพื้นที่
โดยรูปแบบของการต่อสู้จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการตอบโต้ของกลุ่มเป้าหมาย
(ในที่นี้หมายถึงบริษัทข้ามชาติ
กลุ่มสนับสนุนหรือรัฐที่อยู่ตรงกันข้ามกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)
ที่นำไปสู่การแสวงหาทางออก และการแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด
สิ่งที่น่าสนใจในงานชิ้นนี้คือ
ได้ชี้ให้เห็นปัญหาและอุปสรรคของการเคลื่อนไหวที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายในกลุ่ม เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวยังขาดแคลนผู้นำ
และสมาชิกที่เข้มแข็งและมีความหลากหลาย
ขาดแนวคิดที่ชัดเจนในกระบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมทั้งปัญหาในการขยายฐานมวลชนให้มากขึ้น
ส่วนปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกนั้นส่วนใหญ่มาจากเรื่องของระบบการเมืองกระแสหลักที่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและระบบการเมืองแบบตัวแทน
การสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ผู้แทนราษฎรในพื้นที่ไม่สามารถออกมาแสดงบทบาทที่ชัดเจนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ปัญหา
รวมทั้งสื่อกระแสหลักยังให้ความสนใจน้อย เมื่อเทียบกับสื่อท้องถิ่น
ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลกรณีปัญหาของชาวบ้านอยู่ในวงแคบไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะมากนัก
สิ่งที่งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นที่สอดคล้องกับงานของนัฐวุฒิ
สิงห์กุล และฐากูร สรวงสิริ ก็คือ
การพูดถึงการใช้วัฒนธรรมและพิธีกรรมท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการต่อสู้
ถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่แสดงให้เห็นอำนาจที่อยู่ในมือของชาวบ้านที่ไม่ใช่เครื่องมือของอำนาจทางการเมืองกระแสหลักที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ยากกว่า
การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยขบวนการดังกล่าวจึงเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่
แสดงให้เห็นบทบาทสิทธิทางการเมือง การมีส่วนร่วมในการพัฒนา เพื่อแสดงตัวตน
และความคิดในการแย่งชิงพื้นที่ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตัวเอง
ในงานชิ้นนี้พยามตอกย้ำให้รัฐให้ความสนใจและเปิดพื้นที่สาธารณะให้ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ให้มากขึ้น
โดยประเด็นสำคัญที่งานชิ้นนี้ได้สรุปอย่างน่าสนใจและแตกต่างจากการศึกษาอื่นที่ศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายก็คือ ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการเคลื่อนไหว
โดยเฉพาะการขยายฐานมวลชนที่ยังอยู่ในวงจำกัด
เนื่องจากความคิดแบบแยกขั้วที่มองว่าภาครัฐเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับชาวบ้าน
ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยง ภาครัฐในพื้นที่ เช่น ครู เจ้าหน้าที่อนามัย
ข้าราชการต่างๆในพื้นที่เข้ามาเป็นแนวร่วมได้มาก
และการให้ความสำคัญกับประชาชนที่เคลื่อนไหวที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักทำให้ละเลยคนชั้นกลางอื่นๆที่จะมีส่วนขับเคลื่อนและเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาร่วมกัน
ในอีกด้านหนึ่ง
งานที่ศึกษาในประเด็นเรื่องโครงการเหมืองแร่โพแทชปัจจุบัน ยังมีความสัมพันธ์อย่างมากกับเรื่องของการใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่
โดยที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีเป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรม
ซึ่งย่อมจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
งานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้คืองานของ ชูศักดิ์ เขียวสะอาด (2550) เรื่องการคาดการณ์ผลกระทบด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินจากความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
กรณีศึกษา : โครงการเหมืองแร่โพแทชแหล่งสมบูรณ์ (แหล่งอุดรใต้) จังหวัดอุดรธานี งานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้พยายามคาดการณ์และสะท้อนให้เห็นผลกระทบด้านการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
ซึ่งเก็บข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เข้ามาช่วย เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นการใช้ที่ดินในปัจจุบันของชาวบ้านในพื้นที่รอบโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลของการศึกษาวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า
การใช้ประโยชน์จากที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวร้อยละ 90.31 โดยเป็นการปลูกข้าวเพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักและเป็นอาชีพที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
แต่หากเกิดโครงการเหมืองแร่และดินเสื่อมคุณภาพลงไปเนื่องจากความเค็มของดินเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถเพาะปลูกได้
ที่ดินเหล่านี้ก็จะกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าร้อยละ59.38 เนื่องจากการจะเพาะปลูกได้ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพดินและใช้ต้นทุนในการผลิตสูง
เมื่อพื้นดินทรุดตัวลงพื้นที่เหล่านี้ก็จะกลายเป็นแอ่งน้ำ
หรือพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง เมื่อน้ำมีคุณภาพเลวลง
ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกร้อยละ52.81
ที่สะท้อนให้เห็นว่าที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญและสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินรวมทั้งเรื่องการทรุดตัวของผิวดิน
งานชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางและมาตรการป้องกัน
ติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโครงการและการป้องกันการเกิดการแพร่กระจายของดินเค็มที่มีการทำเหมืองแร่โพแทชที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโครงการ
สิ่งที่น่าสนใจคืองานชิ้นนี้แสดงให้เห็นความสอดคล้องกับการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัด
ตามแนวคิดที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมของ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุดรธานี
(2549 : ไม่มีเลขหน้า) อธิบายไว้ว่า ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
มีวัตถุประสงค์เพื่อ อนุรักษ์บริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไว้สำหรับทำการเกษตรชั้นดีและฟื้นฟูสภาพดินในบริเวณพื้นที่เสื่อมโทรม
มีการอนุรักษ์แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะที่ดินในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการเกษตรกรรม
ซึ่งขัดแย้งกับการศึกษาของ บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ บจก. (2545 : 5-4–5-6)ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและการทำการเกษตรมีผลผลิตค่อนข้างต่ำ
รวมทั้งได้ทำการศึกษาทางธรณีวิทยาและวิศวกรรมศาสตร์เพื่อศึกษาการทรุดตัวของดินในพื้นที่โครงการฯโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์
Strees-deformation(FLAC) และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไว้ว่า
การทรุดตัวของผิวดินคาดว่าจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ประมาณ 0.7 เมตร ในระยะเวลา 20 ปี เป็นบริเวณกว้างและมีอัตราการทรุดตัวเท่าๆกัน
โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทรุดตัวของดินจะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเพาะปลูกแต่อย่างใด
เป็นผลกระทบที่เกิดต่อเนื่องนานกว่า 5 ปี หรือตลอดระยะเวลาการทำเหมือง
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก
ดังนั้นงานศึกษาของชูศักดิ์
เขียวสะอาดและสำนักงานผังเมืองและโยธาธิการอุดรธานี จึงเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจในให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการใช้ประโยชน์ของพื้นที่และการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินเมื่อมีโครงการเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างจากงานศึกษาในรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมของบริษัทข้ามชาติ
ที่มองว่าการดำเนินการเหมืองแร่โพแทชจะไม่ส่งผลต่อการใช้ที่ดิน ตลอดจนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรมรวมทั้งการพยายามบอกว่าพื้นที่บริเวณโครงการเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ใช่พื้นที่เกษตรกรรมและไม่ใช่พื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์
เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสภาพพื้นที่จริงและพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยที่ผลการศึกษาวิจัยของงานชิ้นนี้ก็ยังขัดแย้งกับงานศึกษาของกลุ่มอื่นๆที่ศึกษาในประเด็นเดียวกัน
นอกจากนี้มีงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการจัดการเกลือในเชิงธุรกิจ
เพื่อสร้างรายได้ในทางเศรษฐกิจ
รวมถึงปัญหาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตเกลือ อาทิเช่น
การจัดการธุรกิจเกลือสินเธาว์ในอำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดย ดำรง
ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม (2545) ได้ศึกษากระบวนการผลิตและปัจจัยที่มีผลต่อการประกอบธุรกิจเกลือ
ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขของพื้นที่ที่ทางราชการอนุญาต การมีแรงงานมากเพียงพอในการผลิต
รวมทั้งการมีปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยที่ไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นผลทำให้เกิดการผลิตเกลือเป็นจำนวนมาก
ผู้ศึกษาเห็นว่าควรยกเลิกกฎหมายที่ให้ผลิตเกลือแบบต้มแบบตากได้ครึ่งปีให้ผลิตได้ตลอดทั้งปี
เช่นเดียวกับ การศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเกลือแบบต้มและตากที่บ้านกุดเรือคำและบ้านจำปาดง
อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดย
ชัชวาลย์ น้อยคำยาง (2545)
ศึกษาการผลิตเกลือแบบต้มและตากเปรียบเทียบกัน พบว่าการผลิตเกลือแบบต้มและตากมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน
แต่เนื่องจากผู้ประกอบการในพื้นที่มีการจัดการและชดเชยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทำให้ลดความขัดแย้งในชุมชนลงได้
รวมทั้งผู้ศึกษาเห็นว่าควรมีการส่งเสริมการบรรจุหีบห่อและเติมสารไอโอดีนเพื่อเป็นสินค้าสร้างรายได้และควรผลักดันให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
หรืองานศึกษาเรื่องปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปริมาณการผลิตเกลือสินเธาว์
กรณีศึกษาอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร โดย รติสมัย พิมัยสถาน (2546) จากการศึกษาพบว่า พื้นที่การผลิต
จำนวนแรงงานและปริมาณเชื้อเพลิงมีผลต่อการประกอบอาชีพการผลิตเกลือสินเธาว์
รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดินเค็ม น้ำเค็มและความขัดแย้งกับชุมชนใกล้เคียง
นอกจากนี้ยังมี เอกสารการวิจัยการสำรวจและข้อมูลเกี่ยวกับเกลือเรื่องเกลือสินเธาว์ โดย
กลุ่มสามประสานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2547) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเกลือสินเธาว์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การผลิตและการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
และให้ข้อเสนอในทางนโยบายว่า เกลือซึ่งเป็นผลพลอยได้จากเหมืองแร่โพแทช ซึ่งเป็นเกลือบริสุทธิ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ดีในอุตสาหกรรม
และทำให้ประเทศไทยผลิตเกลือได้จำนวนมหาศาลที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว
รวมทั้งบทความ
นาเกลือโบราณ วิถีชีวิตลูกอีสานที่กำลังหายไป โดย มยุรี อัครบาล (2547) ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการผลิตเกลือแบบโบราณของภาคอีสาน
ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาธุรกิจแบบอุตสาหกรรม การสร้างฝายอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ผลิตเกลือ
ราคาเกลือที่ตกต่ำและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการผลิตเกลือสินเธาว์
ในช่วงนี้การศึกษาเกี่ยวกับเกลือในภาคอีสานจึงเน้นไปที่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินอันมีค่านี้
เนื่องจากการผลิตเกลือในจังหวัดต่างๆของภาคอีสานกำลังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
พร้อมกับปัญหาเรื่องของผลกระทบและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นตามมา
ทำให้ต้องมีการศึกษาแนวทางการจัดการเกลือแบบยั่งยืน ทั้งในด้านผลผลิตในทางเศรษฐกิจและการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้มีความสอดคล้องกัน
รวมทั้งการค้นพบแร่โพแทชชนิดที่ดีที่สุดในโลกในพื้นที่
ทำให้เรื่องของเกลือหินและโพแทชได้รับความสนใจอย่างมาก รวมถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนต่างชาติในจังหวัดอุดรธานี
ที่กำลังมีการเคลื่อนไหวคัดค้านกลุ่มทุนข้ามชาติของชาวบ้านในพื้นที่และนักพัฒนาเอกชนที่กำลังรุนแรงในปัจจุบัน
ในขณะที่งานวิจัยโดยนักวิชาการ
นักพัฒนาเอกชน และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
ให้ความสำคัญกับเรื่องของงานศึกษาการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจและความหมายในการเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
การต่อสู้เคลื่อนไหวรูปแบบต่างๆ
แต่ขณะเดียวกันกลุ่มทุนข้ามในพื้นที่ก็พยายามสร้างมวลชนและสร้างความรู้เกี่ยวกับแร่โพแทชในพื้นที่ผ่านพื้นที่อินเตอร์เน็ต
จดหมายข่าว รวมทั้งจัดประชุมสัมมนาให้ความรู้กับผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการ
สถานศึกษาและโรงพยาบาล
โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มทุนข้ามชาติจะต้องเริ่มจัดทำใหม่
รวมถึงรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โครงการในช่วงปีพ.ศ. 2553-2554
จึงได้จัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น
เช่นการปนเปื้อนต่อน้ำผิวดิน ใต้ดิน จากของเสียในกระบวนการผลิต ลานกองเกลือ
น้ำเกลือจากการแต่งแร่ เป็นต้น และการจัดทำรายงานเพื่อประกอบการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่แจกจ่ายประชาชนและหน่วยงานต่างๆ
เช่น เอกสารเผยแพร่ข้อมูลโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี
ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ตำบล โนนสูง
หนองนาคำ หนองไผ่ อำเภอเมือง ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์
จังหวัดอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัดและบริษัททีมคอนซัลติ้ง
เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (2553) รวมทั้งเอกสารสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานกาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
โครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี ระหว่างวันที่23-28 มิถุนายน
2554 ในพื้นที่5ตำบล ในเขตอำเภอเมือง
และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม โดยในเนื้อหาของเอกสารจะเป็นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โพแทช
ผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับและการชี้แจงตอบในประเด็นต่างๆของบริษัท
ประเด็นที่น่าสนใจคือข้อเสนอของชาวบ้าน ที่เรียกร้องต่อบริษัท เช่น
การเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้รับสิทธิ์ทำงานในเหมืองก่อนคนข้าวนอก
ความต้องการให้บริษัทจัดตั้งกองทุนสำหรับการศึกษาในพื้นที่ การจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมอาชีพ การทำประกันสุขภาพให้ประชาชนและการจัดให้มีสถานที่บริการด้านสุขภาพอยู่บริเวณใกล้โครงการเพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับหมู่บ้านรอบพื้นที่โครงการ
รวมทั้งการทำข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ในปัญหาต่างๆที่ชาวบ้านกังวล
ซึ่งบริษัทจะรับไปพิจารณา
สิ่งที่น่าสนใจคือในเอกสารฉบับนี้ขาดความชัดเจนในด้านจำนวนคนที่เข้าร่วมประชุม
สถานภาพของผู้เข้าร่วมเป็นใครบ้าง โดยเฉพาะการเปิดเวทีของตำบลห้วยสามพาด
ในรายงานระบุว่าสถานที่คือสำนกงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทเอพีพีซี
ไม่ได้จัดในพื้นที่เหมือนตำบลอื่นๆ
แต่ข้อมูลดังกล่าวก็กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนความคิดเห็นของคนในพื้นที่ทั้งที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ทั้งหมด
เป็นข้อมูลที่บริษัทนำไปใช้ในการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่และสร้างความรู้เกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทชโดยเน้นในประเด็นของเศรษฐกิจและผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดกับทุกคนในประเทศไทย
จากงานศึกษาเรื่องเกลือและโพแทชข้างต้น
พบว่าเรื่องของเกลือและโพแทชถูกวางบนฐานคิดในเรื่องของทรัพยากรที่นำไปสู่การสร้างความรู้เกี่ยวกับเกลือและโพแทช
ที่สัมพันธ์กับเรื่องทางภูมิศาสตร์ (Geography) ประวัติศาสตร์ (History) เศรษฐศาสตร์ (Economy) สังคมวัฒนธรรม (Salt and Socio-Culture) การเมือง (Political) และสิ่งแวดล้อม (Environment)
ที่ทำให้ความรู้เรื่องเกลือและโพแทชถูกอธิบายในแง่มุมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ
ผู้ศึกษาพบข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่หลายประการ ภายใต้ข้อถกเถียงต่างๆที่สร้างขึ้นมาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องเกลือและโพแทช
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นหลักในทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจสังคม
วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเมืองซึ่งเป็นเรื่องการจัดการและนโยบาย
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดออกจากกันอย่างเด็ดขาดแต่มันยังมีการเชื่อมประสานกันอยู่ภายใต้มโนทัศน์และความคิดเกี่ยวกับเกลือและโพแทชในฐานะของความเป็น ‘ทรัพยากร’
ซึ่งเป็นวาทกรรมหลักในการศึกษาวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลและองค์กรทั้งภาคราชการ และภาคเอกชนที่พูดและเขียนเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช
ภายใต้แนวคิดอื่นๆที่ประกอบกันทั้งทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรมและการเมือง ซึ่งสร้างความรู้และสร้างความหมายของเกลือและโพแทชในรูปแบบต่างๆ
ทั้งวัตถุในทางเศรษฐกิจ ที่ผูกพันกับเรื่องของตลาด
วิธีการผลิตและราคาของเกลือและโพแทชในตลาด
ในทางประวัติศาสตร์ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ทางโบราณคดี
ในเรื่องของการตั้งถิ่นฐานของชุมชน วิถีชีวิตและการผลิตเกลือในอดีต ในทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับพื้นที่ของแหล่งแร่
ปริมาณแร่สำรอง ความคุ้มทุนต่อการลงทุน ประเภทชนิดของแร่ ในทางสังคมและวัฒนธรรม
เกลือสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคน วัฒนธรรมปลาแดก
วัฒนธรรมอาหาร การแลกเปลี่ยนการพึ่งพาระหว่างกัน
หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกลือ รวมทั้งในทางการเมือง เกลือและโพแทช จะสัมพันธ์กับเรื่องของนโยบาย
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องของกฎหมาย
และเรื่องของอำนาจในการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากร
เป็นต้น
ดังนั้นประเด็นของการศึกษาและวิจัยได้สร้างนัยของเกลือและโพแทช
ในมุมมองที่ค่อนข้างจะแยกส่วนมากกว่าจะเชื่อมโยงประสานกันเป็นแบบภาพรวม
เมื่อเราอ่านงานที่เกี่ยวกับเกลือและโพแทชในทางเศรษฐกิจ
เราก็จะมองเห็นความสัมพันธ์ของมันในทางเศรษฐกิจ เป็นวัตถุที่มีคุณค่ามีราคา
แต่เราไม่สามารถจะมองเห็นนัยอื่นๆไม่ถูกพูดถึง เช่น
เรื่องปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งทางสังคม และการศึกษาประเด็นเรื่องเกลือและโพแทชที่เน้นให้เห็นพัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตแบบพื้นบ้านไปสู่อุตสาหกรรม
ทำให้ดูราวกับว่าการจัดการเรื่องของเกลือจะต้องมุ่งไปสู่การผลิตในรูปแบบเชิงพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
ทำให้สิ่งที่เรียกว่าการผลิตเกลือสินเธาว์แบบพื้นบ้าน
กลายเป็นสิ่งที่ต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่สร้างรายได้และควรพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจในเชิงพาณิชย์
ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ ที่ผู้ศึกษาได้ลงไปศึกษา บริเวณลุ่มน้ำหนองหาน
ที่ไม่ได้ผลิตเพื่อการค้าแต่ผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นสำคัญ
และมีข้อจำกัดที่น่าสนใจมากมายในการไม่ทำการผลิตเพื่อการค้าขายเช่น
การขาดแรงงาน และวัตถุดิบในการต้ม
เป็นต้น ในขณะเดียวกัน
การอธิบายแบบภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์
ทำให้มิติในการอธิบายผูกขาดอยู่ที่ตัวของเกลือในแง่ของคุณสมบัติ แหล่งกำเนิด ปริมาณความหนาของแร่ ราคาแร่
มูลค่าในตลาดโลก
มากกว่าเรื่องของตัวคนที่สัมพันธ์กับการจัดการเชิงพื้นที่ที่มีโลกทัศน์
ความคิดต่อเรื่องของเกลือและโพแทช ผ่านวัฒนธรรม วิถีชีวิตประจำวัน
ผ่านสิ่งที่ถูกกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นนิทานปรัมปราท้องถิ่น เช่น ตำนานผาแดง นางไอ่ ที่ชาวบ้านเชื่อมโยงคำอธิบายถึงหายนะกับความไม่ต้องการที่จะให้มีเหมืองแร่ในพื้นที่กับไม่เคยถูกพูดถึงร่วมกับประเด็นหลักอื่นๆเลย
เพราะความเชื่อชุดนี้เป็นเหมือนจารีต
เป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้คนในชุมชนเข้าเคารพ
พึ่งพาธรรมชาติอย่างสมดุล และหวาดกลัวหายนะที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือทำลายธรรมชาติของพวกเขา
ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวความคิดในทางวิทยาศาสตร์
ที่เชื่อในเรื่องเหตุผล
การควบคุมและจัดการกับธรรมชาติ รวมถึงสิ่งที่เหนือธรรมชาติ
ไว้ภายใต้ความไม่มีเหตุผล ความรู้ของท้องถิ่น
จึงไม่สามารถปะทะกับความรู้หลักที่ถูกสร้างขึ้น ภายใต้ความเป็นไปได้ของการอธิบายหรือการพูดถึงเกลือและโพแทชที่สร้างความรู้และความจริง
รวมถึงความถูกต้องในสิ่งที่สามารถพูดได้ โดยผ่านเรื่องของภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และกฎหมาย
ที่เป็นเรื่องของเหตุผลและความก้าวหน้า มากกว่าเรื่องของความหมาย ความรู้สึกและความคิดของคนที่มีต่อวัตถุที่เรียกว่าเกลือและโพแทชในพื้นที่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น