ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ทบทวนแนวคิดเรื่องผู้สูงอายุกับบ้าน ในมิติทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 การอ่านงานเก่าตัวเอง เพิ่มสถานการณ์ใหม่ และเอาความคิดร่วมสมัยมาวิเคราะห์ ผ่านบ้านไทดำ ห้องผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ ผีพ่อแม่ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเชิงนโยบาย ในเรื่อง “บ้านกับผู้สูงอายุ” กับนโยบายรัฐสวัสดิการ

อาจต้องเริ่มต้นจาก “บ้าน”ความหมายของมันคืออะไรบ้างในภาวะของระบบทุนนิยมที่สร้างความหมายของบ้านกลายเป็นวัตถุหรือสินทรัพย์ บ้านอาจจะเกี่ยวโยงกับอารมณ์ความรู้สึก ความอบอุ่น ความรัก ความสุข หรืออื่นๆ ตามการรับรู้และประสบการณ์ชีวิตและบริบทต่างๆที่เปลี่ยนผ่านตัวตน ความคิดและสร้างความหมายต่อเรื่องบ้าน..
ในระบบทุนนิยม การมีชีวิตที่ดีสัมพันธ์กับเรื่องเงินและการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิตเท่ากับการมีเงินใช้ วิธีคิดดังกล่าวได้ต่อเติมและสร้างความหมายต่อเรื่องบ้าน ลดทอนและจำกัดความหมายของบ้านที่หลากหลาย โดยเฉพาะความหมายในเชิงวัฒนธรรม ความหมายในเชิงนามธรรม ความคิด การรับรู้ อารมณ์และความรู้สึก เช่น บ้านกับอำนาจในความเป็นเข้าของ บ้านคือครอบครัว บ้านคือความสัมพันธ์ บ้านคือจิตวิญญาณ บ้านคือมูลมังของพ่อแม่ บ้านเป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษ บ้านคือศูนย์กลางของโคตรวงศ์ และอื่นๆ
ส่วนเหล่านี้คือเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องนำมาพิจารณาในเรื่องการสร้างสวัสดิการผู้สูงอายุและคุณภาพชีวิต ภายใต้แนวคิดเรื่องของการเปลี่ยนบ้านให้เป็นสินทรัพย์ของผู้สูงอายุ คนในวัยเกษียณที่เป็นเจ้าของครอบครองอยู่ เพื่อให้มีรายได้ เลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรเชื่อมโยงกับความจริงว่าด้วยศักยภาพ ความเป็นผู้สูงอายุและความมีศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ....
การกลายสภาพผู้สูงอายุเป็นลูกหนี้ มันได้ลดทอนความภูมิใจในชีวิตของผู้สูงวัยหรือไม่ หรือเราควรต้องทำอย่างไร ที่จะชี้หรือทำให้เห็นความภาคภูมิใจหรือตระหนักในศักดิ์ศรีแห่งตน ในการเปลี่ยนบ้านที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง มาเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเหมือนการจำนอง โดยการเอาทรัพย์สินที่เหลืออยู่ในบั้นปลายชีวิตมาเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต...
ข้อเท็จจริงคือผู้สูงอายุแต่ละทุนมีทุนที่ไม่เท่ากัน
ผมชอบแนวคิดเรื่อง field หรือสนามของ ปิแอร์ บูดิเยอร์ เพราะมันทำให้เราสามารถทำความเข้าใจผู้คนและสังคมที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดแบบ มาร์กซ์เรื่องชนขั้นและการตัดสินใจทางชนชั้น ที่สัมพันธ์กับทุน (capital) สนาม (field) และจริต (habitus) ...
การวิเคราะห์สังคมในชุดของชนชั้น บูดิเยอร์ใช้แนวคิดว่าด้วยสนาม ในลักษณะของพื้นที่แข่งขันหรือสนามทางสังคม (social arena) เป็นเสมือนพื้นที่ของเกมส์ สนามคือกลยุทธ์ของผู้คน เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาและเป็นแหล่งทรัพยากรที่ปรารถนา
สนามจึงเกี่ยวโยงกับทั้งการศึกษา (academic field) สนามของศาสนา (religious field) สนามทางเศรษฐกิจ (economic field) และสนามของอำนาจ (the field of power)
สนามอาจถูกนิยามเช่นเดียวกับเครือข่าย (net work) หรือ สนามคือระบบของการจัดวางตำแหน่งทางสังคม ( a system of social position) กระบวนทำให้เป็นโครงสร้างอยู่ภายในของชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าทุกสนามคือสถานที่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้น
อำนาจดังกล่าว สัมพันธ์กับสนามที่แตกต่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับการชี้ขาดหรือตัดสินในรูปแบบของทุน (capital)ที่มีอยู่ อย่างค่อนข้างจะมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสัญลักษณ์
พ่อแม่ให้เด็กหรือลูกของพวกเขาด้วยทุนทางวัฒนธรรม ที่สร้างรสนิยม (taste) สร้างการรับรู้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่สวยงาม มีคุณค่า เป็นอุดมการณ์หลัก และสร้างความแตกต่างระหว่างชนชั้นซึ่งสร้างระยะห่างในรสนิยมของตัวเองกับรสนิยมของคนอื่นๆทั่วไป
คำถามคือ ทุนทางวัฒนธรรมที่คือสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้คนไปยังความได้เปรียบ ภายใต้ชุดของคำว่าการศึกษาได้อย่างไร
บูดิเยอร์ได้พิจารณาร่างกายในฐานะทุนทางกายภาพที่สามารถแปรไปเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมได้ในภายหลัง โดยให้ความสนใจกับความหมายทางสัญลักษณ์ที่ประทับอยู่ในร่างกายของแต่ละคนรวมถึงกระบวนการที่ผู้คนทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสมาชิกของชนชั้นลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของทุนที่มีอยู่ในร่างกายของตน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการศึกษา การใช้แรงงาน การใช้ความสามารถพิเศษ เช่นกีฬา ดนตรี การแสดง หรือการคบหากับคนที่สังกัดชนชั้นเดียวกัน ที่ทีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมใกล้เคียงกันและมีรสนิยมคล้ายคลึงกัน
ร่างกายของผู้สูงอายุในสังคมเกษตรกรรม ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อส่งลูกเรียนในระดับที่สูงเพื่อไม่ให้ลำบากเหมือนตัวเอง ซึ่งดูเหมือนว่าทักษะความชำนาญในด้านเกษตรกรรมจะถูกเก็บรักษาไว้ในตัวผู้สูงอายุ ในขณะที่ลูกหลานรุ่นใหม่ถูกตัดขาดจากทักษะเหล่านี้ ภายใต้อุดมคติใหม่และการสะสมทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นผ่านระบบการศึกษา ในขณะที่ร่างกายของความชราถูกตัดออกจากมิติทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันบ้านของพ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่ลูกหลานจะไม่เข้าไปยุ่งหรือครอบครอง เมื่อพ่อแม่มีขีวิตอยู่ ก็ดำรงสถานะความเป็นเจ้าบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นทุนชีวิตของผู้สูงวัย ที่ยังคงดำรงภาวะของการครอบครองอำนาจอยู่ ในขนบทจะชัดเจนมากในเรื่องนี้
กลับมาที่มุมมองเรื่องของความมั่นคงของผู้สูงอายุกับการมีบ้าน คือสถานที่ที่พึ่งที่พักพิงสุดท้ายของมนุษย์ ทุกคนอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ดังนั้นรัฐ สถาบันการเงินใช้อุดมคติเรื่องนี้ ในการส่งเสริมให้คนมีบ้านที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิต การเปิดช่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อทางการเงิน สามารถแปรทรัพย์สินที่มีอยู่หรือเป็นเจ้าของให้กลายเป็นเงินรายได้ต่อเดือนได้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มเหล่านี้มีคุณภาพชัวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองมากขึ้นตามวิธีคิดเรื่องนโยบายสวัสดิการ ภายใต้รูปแบบการกู้เงินรูปแบบหนึ่งของคนสูงวัยหรือผู้เกษียณ โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามระยะเวลาที่กำหนด
ในความจริงบางคนผ่อนบ้านมาทั้งชีวิต จนถึงวัยเกษียณ อายุ 60 ปี ตามระยะเวลาที่กู้เงินซื้อบ้าน พอหมดหนี้สินเรื่องบ้าน ก็มีความต้องการจะปลดแอกตัวเองจากภาระต่างๆทั้งการทำงาน หนี้สิน การเกิดความรู้สึกในความเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของทรัพย์สิน ที่สามารถใช้ดอกผลจากน้ำพักน้ำแรงและความเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองในช่วงบั้นปลาย แต่วิธีคิดการแปลงบ้านเป็นทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุ ได้สร้างภาระเงื่อนไขผูกพันอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุ...
อีกประเด็นหนึ่ง ธรรมชาติของความจำเป็นในการใช้เงิน ภาวะความผันผวนทางการเงินที่ไม่แน่นอน ทำไมผู้สูงอายุในชนบทออมเงินในกองทุนต่างๆค่อนข้างน้อย แต่นิยมกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ความต้องการค่าทำศพ เพราะกลัวลูกหลายจะไม่มีเงินจ่ายค่าจัดงานศพให้ตัวเอง รวมทั้งการไม่มีเงินจัดงานแต่งงาน หรืองานบวช การจัดการของชาวบ้านคือ การกู้เงินนอกระบบ ในระบบ การเอาข้าวในยุ้งไปขาย สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เฉพาะ เนื่องจากมุมมองหรือทัศนคติว่าการออมแบบมีเงื่อนไขในกองทุนต่างๆคือข้อจำกัดที่ไม่ยืดหยุ่นในการตั้งรับกับสถานการณ์ปัญหาที่มีความผันผวนตลอดเวลา....
การใช้เงินของครอบครัวไม่ได้มีอัตราคงที่ในแต่ละเดือน บางเดือนไม่ใช้เลย บางเดือนใช้มาก บางเดือนใช้น้อยตามเงื่อนไขของครอบครัว เข่นฤดูกาลเพาะปลูก เจ็บป่วยหรือมีงานศพ งานแต่ง งานบวชของสมาชิกในครอบครัว การจัดการทรัพย์สินมี ผู้สูงอายุที่อายุมาก เจ็บป่วย มักทำพินัยกรรมไว้ หรือจัดการแบ่งมรดกให้กับลูกหลานของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเวลาเสียชีวิต...
ผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ในเมือง ชนบท ผู้สูงอายุที่เป็นชาวนา ผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการเกษียณ มีสถานะทางสังคมและรายได้ที่แตกต่างกัน ย่อมมีวิธีคิดมุมมองต่อการใช้ขีวิตในบั้นปลายที่ต่างกันแน่นอน คำถามที่ท้าทายก็คือเราจะทำนโยบายอย่างไรให้สามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมแบะสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของผู้สูงอายุนสังคมไทย
ในชนบทบางแห่ง แม้ว่าที่ดินจะถูกแบ่งให้กับลูกๆ แต่บ้านของพ่อแม่ยังคงเป็นศูนย์กลางของลูกหลาน และส่วนใหญ่บ้านของพ่อแม่จะตกเป็นมรดกของผู้ดูแลพ่อแม่ หรือลูกสาวคนสุดท้อง...
ภาวะความเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จ ผู้สูงอายุที่ปลดแอกจากพันธนาการทางสังคม รวมถึงเศรษฐกิจการมีเสรีภาพและอิสระทางเศรษฐกิจ การเงินในช่วงบั้นปลายของชีวิต มีเงินในการดำรงชีพ ไม่พึ่งพาลูกหลาน ไม่มีหนี้สิน พึ่งตัวเองได้ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี..
อาจกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงวัตถุในทางสังคมวัฒนธรรมันมีความหมายหลากหลาย ทั้งมิติเชิงกายภาพ มิติทางจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับ Macel Mauss นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เคยเสนอความคิดในเรื่องการให้ของขวัญของกำนัล ( the gift ) ดังนั้นในแง่นี้วัตถุต่างๆล้วนเต็มไปด้วยความหมายการแลกเปลี่ยน ความสัมพันธ์และพันธะสัญญา ที่ทำให้เราเห็นความน่าสนใจระหว่างวัตถุกับความมีเอเจนซี่ในตัวของมันเอง ที่สามารถกำหนดโครงสร้างของความสัมพันธ์กับผู้คน เช่นเดียวกับของขวัญ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยน มารยาททางสังคมเมื่อได้รับของแล้วก็จำเป็นต้องตอบแทนหรือให้กลับคืน
ผมยกตัวอย่างวัตถุทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เสื้อฮี ของชาวไทดำที่ใช้ในพิธีกรรมว่าด้วยชัวิตและความตายของชาวไทดำ การสวมใส่เสื้อฮีในพิธีกรรมต่างๆทั้งเสนเรือน แต่งงาน หรืองานศพ สะท้อนให้เห็นว่าตัวเสื้อของชาวไทดำในฐานะของวัตถุ (object) มันมีสิ่งที่เขื่อมโยงกับจิตวิญญาณ(spiritual) ความเชื่อเรื่องขวัญ เรื่องผีพ่อแม่ การส่งต่อเสื้อเหล่านี้ให้กับลูกชายคนโตที่จะต้องใส่ในพิธีเลี้ยงผีเรือนของบรรพลุรุษในฐานะของเจ้าเสื้อ....
สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของวัตถุ(object) กับความเป็นอัตตภาวะ(subjectivity) การเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับ วัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ที่ได้สร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงของตัวตน และส่งผ่านความหมายของตัวตนที่อาจจะเปลี่ยนรูป หรือผสมความหมายเดิมกับความหมายใหม่ หรือสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาเลย ซึ่งมีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ลูกหลานไทดำ ผู้สืบทอดสืบต่อในการดูแลห้องผี (ตะล่อห่อง) ผู้รักษาปั๊บผีเฮือน ผู้สืบล้ำก่ำผี....
วัตถุจึงไม่ได้แยกขาดออกจากความเป็นมนุษย์ แต่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ระหว่างมนุษย์กับวัตถุหรือสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ตัวอย่างเช่น คนข้างนอกสังคมไทดำที่ไม่ได้นับถือผีเดียวกันห้ามเข้ามาในห้องผี หรือการที่คนต่างสายตระกูลจะมานอนในบ้านไทดำต้องบอกกล่าวบรรพบุรุษในตะล่อห่อง(ห้องผีเรือน)ก่อนเสมอ...
ประเด็นทางสังคม มีมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้ให้ข้อขบคิด วิพากษ์ และศึกษาได้อยู่เสมอที่สำคัญต้องชี้ให้เห็น 3 ส่วนสำคัญคือแนวคิดทฤษฎีและระเบียบวิธี( Discipline ), พื้นที่ศึกษาหรือสนาม(Area )และ ประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหา ( Issue ) ที่เป็นพื้นฐานที่ทำให้วัตถุไม่ว่างเปล่าหรือไร้ความหมาย ความคิดไม่ได้ลอยๆหรือมืดบอดเพราะไม่มีรูปธรรมมารองรับการอธิบาย..

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ เน้นอยู่ที่ปัจจัยทางชีววิทยาเพ

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเกี่ยวกับการนอนเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว(priv

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile Derkhiem ในหนัง