จริงๆแล้วความปรารถนาและจินตนาการของมนุษย์มันมีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ถ้ำ หรือ มนุษย์ที่มีอารยธรรม ก็ล้วนเอาสิ่งที่เห็น หรือเรียนรู้มาถ่ายทอดเป็นภาพหรืองานศิลปะในลักษณะ Visualized หรือการทำให้สิ่งต่างๆกลายเป็นภาพ...สิ่งที่ผมสนใจคือจินตนาการที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพนั้นมันเทียบเคียงกับของจริงหรือเกินเลยไปจากของจริง เป็นจินตนาการที่ควรจะกว้างไกลและไร้ขอบเขต...
ในอดีตเมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาไปสู่ยุคประวัติศาสตร์ การใช้ภาษาเขียนในการบันทึกเรื่องราว บอกเล่าจินตนาการ สิ่งที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวันได้เข้ามาแทนที่ภาพ เพราะภาษาสามารถนำเสนอและใส่ความคิดบางอย่างที่ต้องการชักนำได้มากกว่า การศึกษาในยุคหลัง การวาดภาพก็ถูกจัดเป็นการเรียนในแผนกวิชาศิลปะ ในขณะที่วิชาความรู้อื่นๆในสมัยต่อมา ก็มักจะเน้นตำราหรือแบบเรียน ถึงแม้บางสาขาวิชาเช่นแพทย์ศาสตร์ก็จะใช้ตำราที่เป็นตัวหนังสือ ควบคู่ไปกับภาพร่างอวัยวะในร่างกาย เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ใช้จินตนาการเข้าไปไม่ได้มากเพราะต้องเทียบเคียงกับภาพจริง(ดาวิชนชี่ ก็วาดภาพกายวิภาคในห้องผ่าตัด) เพื่อผลในการรักษาที่ถูกต้อง จนต่อมาเมื่อสังคมพัฒนามากขึ้น การจำลองภาพเหล่านี้ออกมาสมจริงก็มีมากขึ้น แต่บ่อยครั้งในความรู้ต่างๆสิ่งที่เขียนในตำราก็จำกัดจินตนาการที่หลากหลาย เช่นแบบเรียนเพศศึกษาที่เน้นความเป็นชายเป็นหญิงแค่สองด้านเท่านั้นตามที่เรียนเขียนอ่าน เป็นต้น...
Donna Haraway ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้รูปแบบของการสื่อสารมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้ง การถ่ายรูป การสแกนวัตถุ การสร้างภาพจำลอง สร้างภาพที่ผ่านฟิล์มเอ๊กซเรย์ เป็นต้น
จินตนาการของผู้คนในยุคปัจจุบันจึงเคลื่อนตัวจาก จินตนาการผ่านตัวบท (text image) มาสู่ จินตนาการทางด้านภาพเสมือนจริง(visual image) เพราะทุกอย่างต้องอาศัยจินตนาการผ่านภาพ แม้ว่าจะอ่านหนังสือก็ตาม เราอ่านนิยาย หนังสือแนวอิโรติก ก็ต้องจินตนาการหรือมีภาพในหัวเกี่ยวกับสิ่งที่อ่าน
การเติบโตและแพร่กระจายของvisualize ทำให้คนกลุ่มต่างๆสามารถสะสมเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับชัวิตมนุษย์ทั้งในแง่ของการควบคุมและการค้นหาคำตอบบางอย่าง การสแกนกระเป๋าในสนามบิน การสแกนใบหน้า การสร้างภาพจำลองเสมือนจริงของมนุษย์ยุคโบราณจากโครงกระดูก เป็นต้น...
Haraway วิพากษ์วิธีคิดของฟรอยด์ที่บอกว่ามนุษย์ในข่วงวัยทารกที่ยังไม่เข้าสู่สังคม ยังไม่รู้และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระบบสัญลักษณ์ แต่เมื่อเหยียบเท้าก้าวเข้าไปในพรมแดนของระบบสัญลักษณ์ สิ่งต่างๆในชีวิตก็จะถูกจัดระเบียบด้วยระบบสัญลักษณ์และภาษา เข่นเดียวกับความเป็นผู้หญิงผู้ชายก็ถูกจัดการด้วยระบบสัญลักษณ์เรื่องเพศ เสื้อผ้า หน้าผม สีที่ชอบ ของเล่นที่ใช่ ล้วนเป็นที่สังคมได้ขัดเกลาผ่านการเรียนรู้ทางภาษาทั้งสิ้น....
Haraway ท้าทายว่ามนุษย์ต้องสลายหรือสลัดแก่นแกนบางอย่างของตัวเองออกไป เช่นสลายความเป็นแก่นแกนแบบธรรมชาติ ที่สร้างความคิดว่าด้วยความปกติ ไม่ปกติ เป็นมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์ ภายใต้การสร้างพรมแดนของการปะทะกันในเส้นแบ่ง มนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์กับเครื่องจักร สิ่งที่เป็นกายภาพ กับไร้กายภาพ ที่เขาเรียกสิ่งนี้ว่า cybog คุณูปการสำคัญของแนวคิดนี้คือ ความไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่งที่ตายตัว แต่สามารถแตกตัวออกไปได้อย่างมากมาย ภายใต้ความแตกต่างของเชื้อชาติ เพศ ศาสนา สีผิวและอื่นๆ สิ่งต่างๆจะสามารถดำรงอยู่ได้เมื่อเชื่อมโยงหรือประกอบกับส่วนอื่นๆ..ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ในปัจจุบันมันจึงขยายขอบเขตไปมากกว่าความรู้เดิมที่เราเคยมีเสียอีก...
ย้อนกลับมาที่เรื่องของระบบสัญลักษ์และภาษา ที่กลายมาเป็นข้อจำกัดในการค้นพบศักยภาพและความจริงที่หลากหลายของความเป็นมนุษย์
เรื่องจากมนุษย์ถูกขุมขังภายใต้ภาษาและในตัวของภาษาก็ไม่สามารถอธิบายสิ่งต่างๆให้กับมนุษย์ได้ทุกอย่าง.. เมื่อภาษามีความไม่สมบูรณ์ ความรู้สึกขาดหรือความต้องการเติมเต็มจึงบังเกิดขึ้น และผลักดันไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความปรารถนา(Desire)เพื่อสร้างรูปแบบของการสื่อสารในแบบของตัวเอง ภาวะดังกล่าวมนุษย์จึงต้องปลดปล่อยและทำตัวเองให้หลุดพ้นจากภาวะธรรมชาติเพื่อเข้าสู่โลกจินตนาการ หรือโลกแฟนตาซี เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดของมนุษย์ การเติมเต็มสิ่งที่ขาดอันไม่สิ้นสุด ทำให้เกิดกระบวนการผลิตความปรารถนา(desire machine) การแปรความปรารถนาเพื่อผลิตความปรารถนานั้นให้มีรูปร่างปรากฏ...ภาวะของความขาด จึงเป็นเสมือนสิ่งที่ไม่สมบูรณ์เพื่อรอการเติมเต็ม หากสิ่งใดสมบูรณ์แล้วก็มักจะหยุดนิ่งและไม่เคลื่อนไหวต่อสิ่งใดๆ ...แต่ทว่ามนุษย์จะสร้างสัญญะใหม่ๆหรือภาษาใหม่ๆตลอดเวลาเพื่อหลุดจากกรอบทางสังคมและหลุดออกจากความเป็นมนุษย์ที่มีสารัตถะเพื่อแตกตัวหรืออวตารเป็นสิ่งใดก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา... วิธีคิดแบบนี้ของ Lacan ก็สะท้อนให้เห็นการไม่แยกมนุษย์ธรรมชาติหรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ออกจากกัน อีกทั้งยังทำลายเส้นแบ่งของการจัดประเภท การแยกแยะสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ๆความรู้ใหม่ๆในสังคม
Reference
Donna J. Haraway, “A Cyborg Manifesto: Science, technology, and Socialist-Feminism in the Late Twentieth Century,” in Simians, Cyborgs, and Women: The Reinvention of Nature (New York: Routledge, 1991), 149-181
Horrocks R. (1997) Lacan: Lack and Desire. In: Campling J. (eds) An Introduction to the Study of Sexuality. Palgrave Macmillan, London. https://doi.org/10.1057/9780230390140_5
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น