ชนเผ่าบาร่า (BARA) :การชิงวัวกับเส้นแบ่งบางๆของความเป็นลูกผู้ชายกับหัวขโมย สะท้อนให้เห็นการปะทะกันระหว่างประเพณี กฏศีลธรรมและกฏหมาย ซึ่งเราอาจจะทำความเข้าใจผ่านมุมมองทางสังคมและศีลธรรมของเรา แต่ในทางตรงข้ามนั้น ชนเผ่าบาร่าในประเทศมาดากัสการ์นั้นอาจคิดหรือมีมุมมองที่แตกต่างจากเราก็ได้
.....ประวัติศาสตร์มาดากัสการ์.....
สาธารณรัฐมาดากัสการ์ (Republic of Madagascar) เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่บนมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่นอกชายฝั่งของแอฟริกาใกล้กับประเทศโมแซมบิก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพรวมถึงภาษาและวัฒนธรรมของชมเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ประกอบด้วยชาวมาลากาซี ชาวบารา ชาวเมรินา ชาวเบตซิเลโอ ชาวซึมีเฮติและชาวสะลากาวะ จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า หมู่เกาะมาดาร์กัสการ์มีคนมาอาศัยอยู่กว่า 200 ปีมาแล้ว เริ่มแรกเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนที่จะมีชนกลุ่มอื่นๆ กลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามมา คือ ชาวแอฟริกันและอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่ 16 ภายใต้การนำของดิเอโก เดียซ์ นักเดินเรือและนักบุกเบิกชาวโปตุเกส
ในอดีตหมู่เกาะมาดากัสการ์รวมตัวกันภายใต้ระบบกษัตริย์ในช่วงปีพ.ศ. 2340-2404 ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาอ้างสิทธิ์ในการปกครองในปีพ.ศ.2483 จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2439 ระบบกษัตริย์ถูกทำลายลงไป ประเทศมาดากัสการ์ก็ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระราชินีนาถรานาวาโลที่ 3 แห่งมาดากัสการ์และต่อมาปีพ.ศ. 2501 ได้มีการลงมติให้สาธารณรัฐมาลากาซีมีอำนาจปกครองตัวเองในประชาคมฝรั่งเศสและประเทศมาดากัสการ์ก็ได้รับเอกราชในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2503 หลังจากนั้นก็ได้มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวอาหรับ อินเดียและยุโรปเข้ามาในบริเวณแถบนี้เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันภาษาท้องถิ่นของชาวบาร่าที่ใช้คือภาษาบาร่า ส่วนภาษาราชการคือ มาลากาซี่ (Malagasy) ศาสนาที่พวกเขานับถือคือศาสนาดั้งเดิมที่นับถือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ภูตผี วิญญาณกว่าประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายลูเธแลนและคาทอลิคซึ่งมีคนนับถือน้อยมาก เมืองบาร่ามีประชากรจากการสำรวจเมื่อปีค.ศ. 2000 ประมาณ 520,000 คน
......สภาพทั่วไปของสังคมชาวบาร่า(BARA)....
เมืองบาร่าอยู่ทางภาคใต้ตอนกลางของมาดากัสการ์ โดยมีส่วนที่ยื่นออกไปบรรจบกับภาคตะวันออกและภาคตะวันตกคือเมือง ไอบาร่า (Ibara) ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและยึดถือประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดทำให้แนวความคิดของโลกสมัยใหม่ไม่สามารถแทรกซึมผ่านชาวบาร่าได้โดยง่าย ในขณะเดียวกันในปัจจุบัน การตั้งคำถามต่อประเพณีวัฒนธรรมบางอย่าง อาทิเช่น การขโมยวัวจากคอกปศุสัตว์ คือสิ่งที่นำไปสู่สภาวะที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการถูกคุกคามจากหัวขโมยที่พวกเขาไม่สามารถจัดการได้และการต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงของตัวเองไป ทำให้ชาวบ่าร่าในปัจจุบันที่ได้รับการศึกษาเปิดรับความคิดของตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกในความคิดและวิถีชีวิตของตนเอง ทำให้ชาวเผ่าบาร่าบางคนละทิ้งหมู่บ้านตัวเองและออกเดินทางไปเสาะแสวงหาวิถีชีวิตใหม่ที่แตกต่างจากเดิม
....วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวบาร่า (BARA)...
สังคมของชาวบาร่าเป็นสังคมเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน (Pastoralism) มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาลเพื่อให้สัตว์และคนมีอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต วิถีชีวิตดังกล่าวสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สังคมของชาวบาร่า ผู้ชายมักจะอ้างถึงตัวเองว่าเป็น “Baralahy” ซึ่งแปลว่ามนุษย์ผู้ชายบาร่าผู้มีร่างกายแข็งแรง (Bara Males meaning Strong man ) เด็กชาวบาร่า (Bara Boy) จะต้องผ่านพิธีเปลี่ยนผ่านสภาวะที่จะสร้างตัวเองให้กลายเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้ชายที่ทำหน้าที่ปกป้องดูแลกลุ่มต่อไป ดังนั้นเมื่อชายชาวบาร่ายังเป็นเด็ก จะถูกมองว่า พวกเขามีสถานภาพเช่นเดียวกับผู้หญิงชาวบาร่า (Bara Female) หากยังไม่เข้าพิธีเปลี่ยนผ่าน เขาจะยังไม่สามารถกลายเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์ได้ โดยประเพณีพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านสภาวะที่สำคัญไปสู่ความเป็นลูกผู้ชายของชาวบาร่าก็คือการเข้าร่วมในประเพณีที่เรียกว่า การขโมยวัว หรือสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน ปรากฏการณ์ในพิธีกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็น ความแข็งแรงทางด้านกายภาพและความเป็นลูกผู้ชาย (Virility) ซึ่งอยู่ในพรมแดนของความรุนแรง และเป็นจริยธรรมสำคัญในชุมชนบารา ดังนั้นความเป็นชายในสังคมบาร่าไม่ได้จำกัดลักษณะเฉพาะทางกายภาพในความเป็นเพศชายหรือเพศหญิง แต่ความเป็นชาย ปรากฏผ่านความรุนแรงในการเข้าร่วมพิธีการขโมยวัวของเพื่อนบ้าน
ในการศึกษาของ Louis Paul Randriamarolaza (1986) ในบทความเรื่อง Fokonolona et cognatisme à Madagascar ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเพณีนี้เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างขัดแย้งและมีลักษณะกลับหัวกลับหาง ในเรื่องของการละเมิดสิทธิของผู้อื่นที่สามารถทำได้ภายใต้ความเข้มแข็ง คนที่ไม่สามารถรักษาทรัพย์สินดังกล่าว ก็คือคนอ่อนแอที่ไม่สามารถปกป้องตัวเอง ครอบครัวและชุมชนได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันการลักขโมยวัวก็คือค่านิยมที่ยอมรับร่วมกันว่าเป็นความดีงาม ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า การเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริง เป็นหลักการของความกล้าหาญ ในด้านของความมีเล่ห์เหลี่ยมและความแคล่วคล่องว่องไว (ในการขโมย) สำหรับคนที่ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือฉลาดหลักแหลมจะถูกเรียกว่า ตาโบอาร่า “taboara” ความฉลาดหลักแหลมของพวกเขา ทำให้พวกเขาดูมีเล่ห์เหลี่ยมและบุคลิกของพวกเขาไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าอย่างง่ายๆ โดยพวกเขามีคติพจน์ประจำกลุ่มที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงว่า “ฟานาลอทซี มาโอดี ทีซี่ อีลา เวโล” (“Fanalotsy maody tsy ela velo”) ที่แปลว่า นักรบผู้ซึ่งไม่ระมัดระวังตัวเองผู้นั้นจะมีอายุไม่ยืนยาว และให้ความสำคัญกับพลังหรือคุณค่าของความกล้าหาญพอๆกับการเป็นคนที่เปิดเผยตรงไปตรงมา รวมทั้งในเรื่องของการลักขโมยด้วย ที่ปรากฏผ่านถ้อยคำที่เกี่ยวโยงกับประเพณีของการกระทำความรุนแรงที่เรียกว่า ฮาลัทซี ออมบี (“Halatsy aomby”) หรือ การลักขโมยวัว (Theft of Cattle) อันเป็นประเพณีที่เคร่งครัดในสังคมบาร่าที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังที่พวกเขาอ้างอิงคำพูดของบรรพบุรุษว่า” Ny halatsy tsindrokiny ny mahery” หมายถึง การขโมยวัวนั้นคือรูปแบบของการแสวงหาหรือการเก็บสะสมทรัพย์สินที่น่ายกย่องและควรค่าแก่การสรรเสริญ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงและความเป็นชายของชนเผ่าบาร่า
การตีความของนักมานุษวิทยาเพื่อความเข้าใจในพิธีกรรมการขโมยวัวของชาวบาร่า ในด้านหนึ่งมีความหมายถึงการแลกเปลี่ยน การหมุนเวียนทรัพย์สินและการกระจายผลผลิตในทางเศรษฐกิจ และการลดความตึงเครียดจากการสะสมความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกัน (ดังเช่น นาย ก. ขโมยวัวจากนาย ข. ที่ซึ่งนาย ข.ขโมยมาจากนาย ค. และนายค.ขโมยมาจากนาย ง.และนาย ง.ขโมยมาจากนาย ก. อีกทีหนึ่ง) ตัวอย่างเช่นในเมือง Barabe ที่เป็นสถานที่ศึกษาของ Radriamarolaza การลักขโมยวัวนั้น เป็นแนวทางที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมอย่างแท้จริงที่ถูกรักษาไว้เช่นเดียวกับสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชนที่เรียกว่า “Tany Fiarakandrova” หรือหมู่บ้านแห่งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือหมู่บ้านแห่งคอกปศุสัตว์ (Vala/Cattle-Pen) ดังนั้น คำที่ชาวบาร่าชอบพูดว่า “Tany Fiarakandrova” หรือ “Vala” แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า พื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเข้าไปใช้ ครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ ในขณะเดียวกันคำว่า “Tanin aomby” ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเจ้าของร่วมและอัตลักษณ์ที่มีร่วมกันของสายตระกูล (Foko/Clan) ดังนั้นเมื่อวัวอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะของความเป็นเจ้าของร่วมหรือการเป็นคนเชื้อสายเดียวกัน คนในชุมชนจึงมีสิทธิ์หรือความสามารถที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของวัวที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ก็ได้ (ระบบประเพณีมีมาก่อนกฏหมาย ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมมีมาก่อนการครอบครองแบบปัจเจก)
ชุมชนบาร่าและชาวบาร่าก็เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนอื่นๆทั่วโลก ที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน ที่เกิดจากระบบทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัตน์ ที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเข้ามาของคนภายนอกพื้นที่หรือคนภายนอกกลุ่ม
ในปัจจุบันการขโมยวัวจึงมีลักษณะทับซ้อนระหว่างการขโมยวัวในประเพณีของผู้ชายชาวบาร่าที่แข็งแรง (Baralahy) คนกลุ่มนี้จะไม่ดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง และถือว่าพฤติกรรมดังกล่าว เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนชนเผ่าเลี้ยงสัตว์กึ่งเร่ร่อนดั้งเดิมที่สังคมยอมรับ ถือเป็นการแสดงความกล้าหาญที่สร้างศักดิ์ศรีให้กับตัวเองและมีคุณค่าสำหรับผู้หญิงที่จะเลือกเขาแต่งงานด้วยในอนาคต
ในขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เยาวชนในชนบทบางแห่งของมาดากัสการ์ ถูกแรงกระตุ้นทางการเมืองและเศรษฐกิจ ได้รวมตัวกันทำให้เกิดกลุ่มแก๊งของหัวขโมยวัวที่อยู่นอกเหนือธรรมเนียมปฎิบัติและไม่มีศักดิ์ศรี หรือพวกหัวขโมยภายนอกที่เรียกว่า “Malaso” ที่มีลักษณะเป็นหัวขโมยในทางเลว พวกเขาจะไม่เคารพนับถือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสามารถขโมยวัวได้ในทุกหนแห่งไม่ว่าชุมชนไหนก็ตาม แม้กระทั่งการฆ่าเจ้าของวัว ซึ่งถือเป็นความรุนแรงอย่สงมาก. ด้วยพฤติกรรมการขโมยวัวแบบนี้ ทำให้ประเพณีการขโมยวัวของชาวบาร่าถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นสิ่งเลวร้าย และได้กลายเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนขัดต่อกฏหมายและความสบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในมุมมองของรัฐและเจ้าหน้าที่ จึงได้มีการควบคุมและให้ยกเลิกพิธีกรรมดังกล่าวในปัจจุบันโดยใช้กฏหมายเข้ามาควบคุมและจัดการในเรื่องนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงในหมู่ชนชาวบาร่ามองว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านและเป็นเครื่องมือของการก้าวไปสู่ความเป็นลูกผู้ชายที่สมบูรณ์ หาใช่ความหมายในเชิงของอาชญากร การลักขโมยแต่อย่างใด และถือเป็นคุณธรรมและค่านิยมร่วมที่ยอมรับกันได้ในกลุ่ม โดยทั่วไปชาวบาร่าไม่นิยมฆ่าวัวหรือสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ยกเว้นในพิธีกรรมความตาย (Funeral) และการเซ่นสรวงสังเวยในพิธีกรรม อาหารสำคัญของชาวบาร่าคือ ข้าว นม ผักและมันสำปะหลัง เท่านั้น
ปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนพิธีกรรมดังกล่าว คือความแตกต่างทางชนชั้นที่มากขึ้น ผ่านการสะสมความมั่งคั่ง ไม่ใช่การกระจายทรัพยากรจากคนที่มีมากกว่า ไปให้กับคนที่น้อยกว่า หรือนัยของความเข้มแข็งและความเป็นชาย รวมทั้งไม่ได้มีนัยสำคัญทางวัฒนธรรม ปัจจุบันการยอมรับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การเน้นวัตถุเงินตราต่างหากที่มีความสำคัญ และได้นำไปสู่รูปแบบการขโมยวัวที่อยู่นอกเหนือประเพณีและอยู่นอกเหนือจากที่กฏหมายกำหนดมากขึ้นในปัจจุบัน...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น