แนวคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality)ในกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)และการข้ามพรมแดน (Transnational) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล
แนวคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality)ในกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)และการข้ามพรมแดน
(Transnational)
เพศวิถีมีความสัมพันธ์กับเพศสรีระ (Sex) และเพศสภาวะ (Gender)ในแง่ของการอธิบายความสัมพันธ์ระว่างลักษณะทางกายภาพชีวภาพ
หรือลักษณะทางร่างกายที่เป็นธรรมชาติซึ่งปรากฏให้เห็นภายนอก สุชาดา (2550)อธิบายว่าความหมายของเพศวิถีที่ใช้กันในทางมานุษยวิทยามีนิยามกว้างขวางกว่าประเด็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศและแรงขับทางเพศของคนในสังคม
เพศวิถีเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าประเด็นเรื่องชีววิทยามีคุณสมบัติเหมือนเพศสภาวะกล่าวคือมีความหลากหลายและลื่นไหล
เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง สอดคล้องกับพิมพวัลย์ (2551)
ที่ให้ความหมายของเพศวิถีในการศึกษาทางมานุษยวิทยาหมายถึงการที่บุคคลให้ความหมายเรื่องเพศของตนเอง
ระบบความเชื่อ ค่านิยมของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องเพศ
ความรู้สึกและความปรารถนาหรือแรงขับทางเพศ ความสุขหรือความพึงพอใจทางเพศ
รสนิยมทางเพศ การแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศ
คู่ความสัมพันธ์ทางเพศและการให้ความหมายกับคู่ความสัมพันธ์ทางเพศต่างๆ
พฤติกรรมทางเพศแบบแผนพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่หลากหลาย ความสัมพันธ์หญิงชาย
สิ่งที่น่าสนใจคือ เพศวิถีเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
และเป็นเรื่องของการนิยามและให้ความหมายเกี่ยวกับเพศวิถีของตัวเองรวมทั้งเพศวิถีเป็นเรื่องของวัฒนธรรม
นิยามของเพศวิถีมีความหลากหลายและซับซ้อนซึ่งไม่สามารถระบุชัดเจนอย่างเด็ดขาดว่าเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เฉพาะ โดยนิยามอย่างกว้างๆอาจกล่าวได้ว่าเพศวิถีสัมพันธ์กับการแสดงออกถึงลักษณะโดยภาพรวมของบุคคล การระบุหรือบอกเล่าว่าตัวเองเป็นใคร
มีความเชื่อและความรู้สึกอย่างไร และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆอย่างไรทั้งในแง่ของคำพูด
การแสดงกริยาท่าทาง การแต่งตัว การแสดงความรู้สึกรวมทั้งลักษณะของความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับบุคคลต่าง
จากนิยามอย่างกว้างๆสะท้อนลักษณะของเพศวิถีใน 3 ประเด็นคือ อัตลักษณ์ทางเพศ
ความพึงพอใจทางเพศและพฤติกรรมทางเพศ
โดยเพศวิถีในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับมิติต่างๆของเพศวิถีในปัจจุบันที่มีความครอบคลุมลักษณะ
5 อย่างคือ 1.เพศวิถีกับความปรารถนาทางเพศ
ที่สัมพันธ์กับการรับรู้และความรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองและผู้อื่นที่นำไปสู่การปฏิบัติต่อร่างกายตัวเองและพฤติกรรมทางเพศของปัจเจกบุคคลและคู่สัมพันธ์
2.ความผูกพันทางเพศ คือ
ความรู้สึกของบุคคลว่าตัวเองมีความผูกพันใกล้ชิดกับคนอื่นได้
ซึ่งสัมพันธ์กับความจริงใจและการเปิดเผยต่อกันที่สะท้อนผ่าน การดูแลเอาใจใส่
การเข้าถึงความสุขและความทุกข์ 3.อัตลักษณ์ทางเพศ คือ ความเข้าใจว่าตัวเองมีสภาพเป็นอย่างไร เป็นชายเป็นหญิงหรือไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
อาจเป็นเกย์ เสลเบี้ยนทอม กระเทยและอื่นๆ
ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับเพศที่ปรากฏทางชีวภาพ
แต่สิ่งที่สำคัญคืออัตลักษณ์ทางเพศจะเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าคนนั้นมีบทบาทอย่างไร
นอกจากนี้อัตลักษณ์ทางเพศยังแสดงให้เห็นทิศทางทางเพศของคนคนนั้นด้วย 4.อนามัยเจริญพันธุ์และอนามัยทางเพศ
ที่สะท้อนความสัมพันธ์กับพฤติกรรม ทัศนคติและความสัมพันธ์ทางเพศ เช่น ความสุข
ความปลอดภัย ในเรื่องเพศสมพันธ์และการเจริญพันธุ์ 5.การนำเรื่องเพศมาควบคุมความสัมพันธ์
ที่สะท้อนให้เห็นว่าเพศวิถีเป็นสถานการณ์ที่บุคคลแสดงออกทางเพศที่คุกคาม
ควบคุมหรือสร้างอิทธิพลต่อคนอื่น
ซึ่งการนำเรื่องเพศมาควบคุมความสัมพันธ์อาจนำไปสู่ทั้งความปลอดภัยและอันตราย เช่น
การสร้างความเจ็บปวดและความรุนแรงทางเพศ
เป็นต้นดังนั้นนิยามของเพศวิถีจึงไม่ได้แค่เพียงบอกว่าหมายถึงอะไรเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่ามันถูกสร้างได้อย่างไรและสะท้อนให้เห็นการจำแนกและจัดประเภทของเพศวิถีที่ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติและผิดปกติ
อันส่งผลต่อความพึงพอใจ ความสุขและคุณภาพชีวิตของคนต่อเรื่องเพศวิถีในสังคม
ในสังคมสมัยใหม่เทคนิควิทยาการในการจัดแบ่งเพศวิถี
มีความสัมพันธ์กับความเชื่อและความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ที่อยู่บนฐานของความรู้เชิงวัตถุวิสัยที่นำไปสู่การทำนาย
อธิบายสิ่งต่างๆอย่างถูกต้องแม่นยำ
และความรู้ดังกล่าวยึดโยงอยู่บนความรู้ความจริงที่เป็นสากลและใช้ได้ในทุกสถานการณ์
ความรู้ในเรื่องเพศศาสตร์ (Sexology) ก็เกิดขึ้นภายใต้การมองว่าเพศเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและดำรงอยู่ในลักษณะทางชีภาพของมนุษย์
ที่อธิบายและทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และการสร้างศัพท์เทคนิคในเรื่องเพศ
การจัดโครงสร้างความรู้ในเรื่องเพศ การจัดแบ่งประเภท ดังเช่นการจัดแบ่งเรื่องเพศออกเป็นเรื่องของชายและหญิงผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ที่เชื่อมโยงปัจจัยทางด้านชีววิทยา เช่น ฮอร์โมน โครโมโซม ยีนส์ แรงขับทางเพศ
ที่แฝงฝังและติดยึดกับตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิด
สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงกำหนดลักษณะของเพศเท่านั้นแต่ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเพศ (Sex
Orientation) เพศจึงสัมพันธ์กับอวัยวะเพศ
แรงขับทางเพศที่ยึดโยงกับเรื่องของการสืบพันธุ์ ความสัมพันธ์แบบสอดใส่
รุกและรับระหว่างชายกับหญิง
รวมทั้งบทบาทของการตั้งครรภ์ความเป็นแม่และการเลี้ยงดูลูก
ซึ่งการจัดแบ่งประเภทบุคคลให้เป็นชายหญิงตามเพศวิถีที่เป็นเรื่องของธรรมชาติและเชื่อมโยงกับสรีระทางเพศเป็นสิ่งที่เรียกว่าเพศสภาพ
(Gender)ของความเป็นหญิงเป็นชายให้กับบุคคลและมีความคิดและพฤติกรรมไปตามเพศสภาพที่ถูกกำหนด
ประเด็นดังกล่าว
จึงนำไปสู่มุมมองที่ว่าเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงและเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของการสืบพันธุ์
การมีลูกและการผลิตสมาชิกให้กับสังคมเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ
ซึ่งแตกต่างจากรักต่างเพศที่เป็นภาวะธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติ
รวมทั้งกลุ่มคนที่มีเพศวิถีที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเป็นคนกลุ่มน้อยที่เบี่ยงเบนและจะต้องถูกลงโทษ
ถูกกีดกัน ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติและถูกบขับออกจากสังคม
ดังนั้นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้นำไปสู่การสืบพันธุ์ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ
ผิดธรรมชาติ
โดยเฉพาะการขายบริการทางเพศที่เป็นเรื่องของการซื้อขายบริการและเป็นเพศสัมพันธ์แบบพาณิชย์และใช้วิธีการควบคุมการเกิดจึงกลายเป็นเรื่องที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม
รวมทั้งการขายบริการทางเพศระหว่างชายกับชายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าผิดปติและเบี่ยงเบนมากที่สุด
เพราะเป็นความสัมพันธ์ของการรักเพศเดียวกันและการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่สืบพันธุ์และถูกมองว่าผิดธรรมชาติ
เทคนิคกล่าวจึงเป็นการแบ่งแยกและจัดแบ่งในเรื่องของเพศวิถี
โดยการสร้างบรรทัดฐานและกรอบทางศีลธรรมทางสังคมมากำกับความถูกผิดและพฤติกรรมทางเพศที่เหมะสมเป็นไปตามความคาดหวังที่สังคมกำหนด
เพศวิถีตามลักษณะดังกล่าวจึงถูกควบคุมผ่านกรอบความคิดหลักหรือวาทกรรมกระแสหลักที่ได้สร้างความรู้เกี่ยวกับเพศวิถีให้กับผู้คนในสังคม
ในขณะเดียวกันผู้คนในสังคมบางกลุ่มก็พยายามต่อรองหรือต่อต้านวาทกรรมกระแสหลักโดยสร้างความรู้ย่อยๆ
วาทกรรมรองขึ้นมาเพื่อตอบโต้หรือแสดงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาในพื้นที่ทางสังคม
ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการเชื่อมโยงความคิดเรื่องของความรู้และอำนาจที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศวิถี
ดังที่มิเชล ฟูโกเสนอว่า
การผลิตเพศวิถีก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของอำนาจในแง่ที่ผู้คนต่างๆก็สามารถกำหนดเพศวิถีของตัวเองได้
แน่นอนว่าแนวความคิดดังกล่าวมีความสัมพันธ์โยงใยกับเรื่องของอำนาจ
การผลิตและการประกอบสร้างความรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องของเพศวิถี
โดยเฉพาะเพศวิถีในสังคมสมัยใหม่ที่สัมพันธ์กับผลกระทบอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยมและกระแสการบริโภคนิยม
ที่ทำให้ความหมายหรือการนิยามความหมายเกี่ยวกับเพศและร่างกายของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นสินค้าเพิ่มมากขึ้น
(ยศ ,2548:22) โดยเฉพาะการทำร่างกายเป็นสินค้า
การผลิตสินค้าเกี่ยวกับร่างกาย และการเติบโตของเพศพาณิชย์และเซ็กส์ทัวร์
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในระบบทุนนิยม
ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางสังคมของมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมคือ การเปลี่ยนแปลงจากการสะสมทุน
มาสู่การกระจายทุนและจากการผลิตสู่การบริโภค (Week,1985:22)
วัฒนธรรมบริโภคในสังคมปัจจุบันสะท้อนผ่านสินค้าที่ไหลเวียนอยู่ในตลาดและในสังคม
และการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี ทำให้ปัจเจกบุคคลมีอำนาจในตัวเอง
มีเหตุผลมีอิสระที่จะตัดสินใจและกระทำตามสิ่งที่ตัวเองปรารถนา วัฒนธรรมบริโภคสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสินค้า ร่างกายของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสินค้า
และสะท้อนให้เห็นความหมายทางวัฒนธรรม
โครงสร้างของระบบสังคมที่มองร่างกายเป็นสินค้า
ร่างกายผู้หญิงภายใต้ระบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ ที่สัมพันธ์กับภาพลักษณ์ทางเพศที่ถูกสร้างขึ้นผ่านโฆษณาและสื่อสารมวลชนต่างๆ
ร่างกายของผู้หญิงเป็นที่ปรารถนาหรือต้องการของผู้ชายที่สามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นเงินและนำเงินนั้นกลับมาจับจ่ายซื้อสินค้าในกระแสบริโภคนิยมเพื่อความอยู่รอดในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นความมีอิสระในการเลือกเพศวิถีหรือเพศสถานะของผู้ขายบริการในส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นทางเลือกและอิสระในเพศวิถีแบบที่ตัวเองเลือกแต่ในอีกด้านหนึ่งมันได้กลายวัตถุ
สินค้าและความแปลกใหม่ของอารมณ์และความสุขความหฤหรรษ์ทางเพศ เช่น
เซ็กส์ผ่านอินเตอร์เน็ต แคมฟร็อกซ์เซ็กส์โฟนเซ็กส์กับผู้ชาย หรือกระเทย หรือธุรกิจทิฟฟานีโชว์ที่กระตุ้นให้ชาวต่างชาติและผู้ชายทั่วไปสนใจ
Ladyboyหรือมีเซ็กส์กับผู้หญิงข้ามชาติ เป็นต้น
และสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดและระบบทุนนิยมที่สะท้อนผ่านธุรกิจเซ็กส์ทัวร์และเพศเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น
การเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของระบบทุนนิยม
เพศสัมพันธ์ที่เป็นหน้าที่ในแง่ของการสร้างครอบครัวและการผลิตสมาชิก
กลายเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ตามท้องตลาด ไม่ใช่แค่รูปแบบของการค้าประเวณี
แต่ยังมีความหลากหลายของการสร้างจินตนาการละความฝัน ผ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ตแคมฟร็อก
ทีวี และภาพยนตร์
รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้เรื่องเพศมีความหฤหรรษ์และมีหน้าที่เพื่อการสร้างความบันเทิงมากกว่าการผลิตสมาชิก
เพศสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องแต่งงาน
ภายใต้เทคนิคหรือรูปแบบการคุมกำเนิดต่างๆ ทำให้เรื่องของเพศสัมพันธ์ได้กลายเป็นสินค้าของความพึงพอใจทางเพศ
ทำให้เพศวิถีเป็นมากกว่าพฤติกรรมตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณของมนุษย์แต่มีนัยของอำนาจ
การควบคุม การต่อสู้ ต่อรอง การแสดงตัวตน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน
สังคมและประเทศชาติเป็นต้น
การมองเพศวิถีในลักษณะดังกล่าวข้างต้นจึงมีคุณูปการที่สำคัญจากแนวคิดของมิเชล
ฟูโก ที่มองว่าเพศวิถีเป็นผลผลิตของการแบ่งประเภท การจัดระเบียบ การกำหนดกฏเกณฑ์
กติกา และการควบคุมกำกับเรื่องเพศ
ทั้งกระบวนการปกปิดและการไม่ถูกพูดถึงในเรื่องเพศต่างๆก็ล้วนแล้วแต่เป็นการควบคุมทางเพศ
ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบหนึ่ง
เพศสัมพันธ์หรือบทบาททางเพศแบบไหนที่เหมาะสมไม่เหมาะสม เพศวิถีแบบไหนถูกต้อง
ปลอดภัย เพศสัมพันธ์แบบไหนเป็นความเสี่ยงเป็นสิ่งสกปรกไม่พึงปรารถนาของสังคม
ทำให้เกิดการควบคุมร่างกายตัวเองให้สอดคล้องกับวาทกรรมที่กำหนดซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนการของอำนาจในระดับจุลภาค
(Micro-power)ที่เข้ามาจัดการกับร่างกายของมนุษย์
เพศวิถีของผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ
จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของความรู้และอำนาจ การต่อสู้ ต่อรอง
ที่สร้างตัวตนและเพศวิถีของผู้หญิงลาวเหล่านี้ทั้งที่เข้ามาโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจ
ภายใต้ความสัมพันธ์กับการเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาด ระบบทุนนิยม
โลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมโยง ท้องถิ่นกับโลกภายใต้อุตสาหกรรมทางเพศ (Sex industries)การเป็นเหยื่อของการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ
การเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ ความต้องการโอกาสในการทำงาน
การรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือความต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น
ดังนั้นเพศวิถีของผู้หญิงขายบริการข้ามชาติลาวจึงสัมพันธ์กับจินตนาการ
ที่เชื่อมโยงร่างกายอัตลักษณ์ตัวตนของพวกพวกเธอเข้ากับระบบทุนนิยม
ความทันสมัยและการบริโภคนิยมเพื่อเติมเต็มความปรารถนาและความพึงพอใจของตัวเอง
ร่างกายของพวกเธอไม่เพียงแต่สัมพันธ์กับระบบโลก โลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมเท่านั้น
แต่ยังซ้อนทับกับความเป็นรัฐชาติระหว่างแผ่นดินที่กำเนิดกับแผ่นดินใหม่ที่อพยพเข้าไปด้วย
เช่น
ความมีอิสระเสรีในการตัดสินใจการใช้ชีวิตของตัวเอง
การจินตนาการถึงความเจริญความทันสมัยที่อยู่ห่างไกลจากสังคมแบบจารีตที่ตัวเองเคยอยู่ หรือความสุขสบายที่ดีกว่าความยากจนแร้นแค้น
รวมถึงเพศวิถีในแบบที่ตัวเองพึงพอใจ และทำหน้าที่หลากหลายไม่ผูกติดแค่การสืบพันธุ์หรือผลิตสมาชิกกับสังคม
แต่เป็นทั้งความพึงพอใจ ความสุข เป็นสินค้าแลกเปลี่ยน เป็นการซื้อขาย เป็นต้น
เพศวิถีดังกล่าวจึงเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การข้ามพรมแดนของผู้หญิงเหล่านี้มีมากขึ้นและสะดวกรวดเร็วมากกว่าเดิม
โลกาภิวัตน์มีความสัมพันธ์กับพื้นที่และกระบวนการข้ามพรมแดน
ในแง่ที่โลกาภิวัฒน์ลดทอนความสำคัญของพื้นที่และขยายความสัมพันธ์ทางสังคมในมติทางภูมิศาสตร์
ซึ่งพรมแดนของภูมิศาสตร์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ทางสังคมโลกาภิวัตน์
ซึ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หรือพรมแดนหดแคบลงภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่แผ่กว้างและรวดเร็ว
ความสำนึกร่วมของผู้คนในการเป็นส่วนหนึ่งของโลก
ผ่านการรับรู้เหตุการณ์อย่างรวดเร็วฉับพลันในทุกมุมโลกซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคม ดังนั้นโลกาภิวัตน์จึงสัมพันธ์กับ
มิติของพื้นที่และเวลาที่หดแคบลงและรวดเร็วขึ้น ทั้งการเคลื่อนย้ายของทุน คน เงินตรา อุดมการณ์ เทคโนโลยีและสื่อ
รวมทั้งการขยายพื้นที่ของจินตนาการของผู้คน ที่เชื่อมโยง ท้องถิ่น
รัฐชาติและโลกเข้าด้วยกัน ที่สำคัญก็คือจินตนาการเหล่านี้กลายเป็นความจริงและปฏิบัติการทางสังคม
ที่สะท้อนผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตประจำวัน การต่อสู้ดิ้นรน
ความทุกข์ทรมานโดยเฉพาะของผู้คนที่ข้ามพรมแดน
การอพยพข้ามแดน
เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ของการแผ่ขยายของกระแสโลกาภิวัตน์
การข้ามพรมแดนทำให้เกิดการสลายไปของพรมแดนและบทบาทของรัฐชาติและรัฐชาติถูกแปรสภาพให้กลายเป็นกลจักรหนึ่งของการค้าของโลกยุคโลกาภิวัฒน์
(Michael Burawoy ,2001:148)
สิ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์กลายเป็นสังคมข้ามพรมแดน(Transnationalism)
เป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งตัวตนทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง
เศรษฐกิจและปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์กระบวนการเหล่านี้อาจเรียกว่า
เป็นปฏิบัติการข้ามพรมแดน
ที่สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนย้าย อัตลักษณ์ตัวตน
การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินแม่กับประเทศที่อพยพเข้าไป
ประสบการณ์การข้ามพรมแดนของผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น แรงงานข้ามชาติ ดังนั้น ตามแนวทางของ
Glick Schiller มองว่า
สังคมข้ามแดนเกิดภายใต้เงื่อนไขของระบบทุนนิยมและต้องถูกวิเคราะห์ภายใต้เงื่อนไขบริบทความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานในระดับโลก
รวมทั้งสังคมข้ามแดน เป็นกระบวนการที่ผู้อพยพสร้างสนามทางสังคมพาดผ่าน เชื่อมโยง
หรือตัดข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ ทั้งกิจกรมในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับแนวคิด
คนกับสิ่งของและคนกับทุนและเน้นความสำคัญของมนุษย์ในฐานะผู้กระทำการ
ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติลาวจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์
ระบบทุนนิยม และกระแสบริโภคนิยมโดยการเดินทางข้ามพรมแดน
ในฐานะของแรงงานที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย จากท้องถิ่นประเทศแม่ของตัวเอง
พร้อมกับจินตนาการเกี่ยวกับความทันสมัย ความเจริญก้าวหน้า
เพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งของตัวเองและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง
โดยผนวกตัวเองเข้ากับระบบทุนนิยม การเปลี่ยนร่างกายให้เป็นสินค้าในฐานะของทุน
ที่เชื่อมโยงกับการเติบโตของธุรกิจเพศเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเซ็กส์ทัวร์
ในอีกด้านหนึ่งตัวตนของแม่หญิงแรงงานข้ามชาติลาวเหลานี้ยังผูกโยงกับอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์
สถานภาพในแผ่นดินเกิดที่จากมา
ทั้งความเป็นแม่เป็นลูกสาวหรือเป็นภรรยาเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพรมแดนของประเทศปลายทางที่เป็นพื้นที่ที่แตกต่าง
และมีการซ้อนทับของอำนาจของรัฐชาติไทยที่เข้ามาจัดการและควบคุมแรงงานเหล่านี้ภายใต้กฏหมาย
เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย เป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง เป็นผู้ค้าประเวณี
เป็นอาชญากร เป็นต้น
พื้นที่พรมแดนเหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต
ประสบการณ์การข้ามแดน ความเจ็บป่วยและความทุกข์ทรมาน ทั้งจากความขัดแย้งจากภาวะความทันสมัย
ความไม่ลงรอยกันระหว่างอัตลักษณ์แบบจารีตกับอัตลักษณ์สมัยใหม่
การถูกควบคุมจากอำนาจทั้งอำนาจของจารีต กรอบศีลธรรมทางศาสนา อำนาจของกฎหมาย
กับการมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตหรือเพศวิถีในแบบที่ตัวเองปรารถนาในการเข้ามาสู่อาชีพขายบริการ
รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพรมแดนทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในสภาวะของการไร้พรมแดนในกระแสโลกาภิวัตน์
ทำให้การเดินทางระหว่างแผ่นดินต้นทางกับแผ่นดินปลายทางทำได้สะดวกรวดเร็วและง่ายมากขึ้น
ทั้งนโยบายของความเป็นอาเซียน
การค้าเสรีทำให้การเคลื่อนย้ายของผู้คนและทุนมีมากขึ้น
วิถีชีวิตของแม่ญิงลาวจึงไม่ได้ห่างไกลจากวิถีชีวิตแบบเดิมมากนัก
พวกเขาสามารถกลับบ้านในช่วงเทศกาลสำคัญ สงกรานต์ปีใหม่ เพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัว
ชุมชนตามแบบจารีตในขณะเดียวกันพวกเขาก็สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตตามแบบของความทันสมัย
ความมีอิสระเสรีในการใช้ชีวิต การทำงานโดยใช้เนื้อตัวร่างกายแลกเปลี่ยนกับเงินตราโดยไม่ต้องติดกับกรอบทางศีลธรรมหรือจารีต
ดังนั้นในการศึกษาประเด็นผู้หญิงลาวอพยพขายบริการ
ตัวตน ชีวิต ประสบการณ์ ในเรื่องเพศวิถี ความเจ็บป่วยและสุขภาพ
ผู้ศึกษาจึงเลือกใช้มุมมองของโพสต์โมเดิร์น แนวคิดเรื่องตัวตน วาทกรรมและเพศวิถี (Sexuality)ของมิเชล ฟูโก ที่สัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัตน์
(Globalization)และการข้ามพรมแดน (Transnational)ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติผู้หญิงลาวที่อพยพเคลื่อนย้ายมาขายบริการในประเทศไทยมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ศึกษาภายใต้เงื่อนไขปัจจัยต่างๆของการกลายเป็นผู้หญิงขายบริการและการเข้ามาในประเทศไทย
ทั้งอิทธิพลของระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่แผ่ขยายข้ามพรมแดนอย่างกว้างขวางเพื่อสะท้อนให้เห็นประสบการณ์
การใช้ชีวิตและการต่อสู้รวมทั้งความเจ็บป่วยจากการขายบริการในพื้นที่ข้ามแดน
รวมทั้งใช้แนวคิดของมิเชลฟูโก มาทำความเข้าใจความรู้และอำนาจที่ปรกอบสร้างตัวตนและร่างกายของแม่ญิงลาว
ผ่านชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
รวมถึงประเด็นเรื่องอัตตาและตัวตนที่มีอิสระในการเลือกและตัดสินใจในเพศวิถีของตัวเองที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตและความเจ็บป่วยทางสุขภาพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น