มานุษยวิทยากับการศึกษาสัญญะ
และสัญลักษณ์
Sign[1] and
Symbol in Anthropology study
นัฐวุฒิ สิงห์กุล
มานุษยวิทยา(Anthropology)
เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ในทุกๆด้านที่สัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา พิธีกรรม
ที่สะท้อนผ่านโลกทัศน์ ความเชื่อ ความคิด
วัตถุสิ่งของ ภาษา พฤติกรรม บุคลิกภาพและการแสดงออกของมนุษย์ ความพยายามอย่างสำคัญของนักมานุษยวิทยา
ในช่วงปี1960-1970 ในการศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์วัฒนธรรม
เช่นเดียวกับระบบของสัญลักษณ์ และระบบการสื่อความหมายในสังคม ได้นำนักมานุษยวิทยา
ก้าวเข้าไปสู่สนามใหม่ทางมานุษยวิทยา
ที่เป็นการเผชิญหน้ากันอย่างท้าทายของมานุษยวิทยาสายโครงสร้าง(Structural
Anthropology) และมานุษยวิทยาทางปรัชญา(Philosophy
Anthropology) อันได้รับอิทธิพลมาจากนักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง
ชาวสวิสเซอร์แลนด์ อย่างเฟอร์ดิน็องต์ เดอ โซซูร์ (Ferdinane de Saussure) และนักปรัชญาชาวอเมริกัน อย่างชาร์ล แซนเดอร์ เพิร์ซ (Charles
Sander Pierce) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสนามทางมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม
ดังที่Singer Milton (1968) ได้กล่าวถึงสนามใหม่ทางมานุษยวิทยาในช่วงเวลานั้นว่า
“ ในช่วงทศวรรษหน้าของปี1968-1978 ฉันวางแผนกับภาพที่ต่อเนื่องในงานวิจัยของฉัน
และการสอนที่น่าสนใจในอินเดีย รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับอารยะธรรม
อย่างไรก็ตาม ฉันยังใช้เวลาจำนวนมากกับสนามทางมานุษยวิทยา ซึ่งฉันหมายถึง การพรรณา
การวิเคราะห์ ระบบคุณค่า การให้ความหมายและระบบความเชื่อของวัฒนธรรมที่เฉพาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบและความสัมพันธ์ของพวกเขา(คนที่ถูกศึกษา)กับโครงสร้างสังคม
สิ่งแวดล้อมและบุคลิกภาพ นี่คือการปรากฎขึ้นของสนามใหม่ทางมานุษยวิทยา
และความสนใจที่ถูกชักชวนและดึงดูดอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เนื่องมาจากการทำงานของเลวี่ สเตร๊าท์
ในการวิเคราะห์โครงสร้างของนิทานปรัมปรา(Myth) และนำวิธีการทางภาษาศาสตร์ไปใช้เกี่ยวกับการวิเคราะห์
ส่วนประกอบของนิทานพื้นบ้าน การจำแนก แยกแยะ การจัดประเภทของเครือญาติ การจำแนกสี
โรคภัยไข้เจ็บ การแบ่งแยกพืช และสัตว์ รวมถึงลักษณะสำคัญอื่นๆ ทางวัฒนธรรม....ในการทำงานของตัวฉันเอง ฉันตั้งใจกับการวางรูปแบบและการฝึกฝนที่เฉพาะในตรรกะเชิงสัญลักษณ์
ทางปรัชญา และจิตวิทยาสังคม สำหรับการช่วยวางรากฐานทางทฤษฎีของระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม(Cultural
Symbol System)” (Singer 1984;preface 8 )
ดังนั้น
การประยุกต์ใช้แนวคิดและทฤษฎีของสาขาอื่นๆในทางมานุษยวิทยา ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย
วิธีการ และประเด็นสำคัญ ในสนามย่อยทางมานุษยวิทยา
และนำไปสู่วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เรียกชื่อกันแตกต่าง เช่น เลวี่ สเตร๊าท์(Levi-Strauss
) ที่เรียกว่า มนุษยวิทยาโครงสร้างหรือสัญวิทยา (Structural
Anthropology or Semiology) ,เกียร์ซ คลิฟฟอร์ด (Clifford
Greezt) ที่เรียกว่า มานุษยวิทยาของการตีความ (Interpretive
Anthropology) ,ชไนเดอร์ (Schneider) ที่เรียกสนามของเขาว่า
คำอธิบายหรือเรื่องเล่าทางวัฒนธรรม(Culture account) , พีค็อซ(Peacock)
และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้ออกแบบสนามใหม่ของพวกเขาทางมานุษยวิทยา
ว่าเป็นมานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์(Symbolism Anthropology),วิกเตอร์
เทอร์นเนอร์(victor Turner)และ แมรี่ ดักลัส(Mary
Douglas) ที่อ้างเกี่ยวกับ สัญลักษณ์วิทยาเชิงเปรียบเทียบ(Comparative
Symbology) ที่เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์
ในบริบทที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคมที่เป็นรูปธรรม และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ ที่เป็นเป็นเหมือนสูตรทางคณิตศาสตร์และเหตุผลเชิงตรรกศาสตร์
หรือระบบการระลึกรู้เข้าใจ(Cognitive System) ดังเช่นที่เทอร์นเนอร์ ได้สังเกตบนลักษณะของสัญวิทยา(Semiology)
สัญศาสตร์(Semiotic)และภาษาศาสตร์(Linguistic)
ในทัศนะทางความคิดของนักวิชาการภาษาศาสตร์อย่างโซซูร์( Ferdinance
de Saussure) และเพิร์ส (Charles Sander Pierce) ได้นำไปสู่การแนะนำทิศทางที่แตกต่างในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ
ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาของนักมานุษยวิทยา ออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1) นักมานุษยวิทยาเชิงสัญวิทยา (The Semiological Anthropologist) ซึ่งสนใจเกี่ยวกับการอธิบาย พรรณนาและวิเคราะห์ระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural
symbol system) การนับถือระบบสัญลักษณ์ของสัตว์ประจำเผ่าหรือตระกูล(Totemism)
นิยายปรัมปรา(Myth) พิธีกรรม(Ritual) พิธีเฉลิมฉลอง(ceremonies) ระบบเครือญาติ(Kinship
system) อันมาจากงานชาติพันธุ์วรรณาของพวกเขา
ในบริบทความสัมพันธ์ทางสังคม และการกระทำของปัจเจกบุคคลและความรู้สึกนึกคิด
2)
นักมานุษยวิทยาเชิงสัญศาสตร์ (The semiotic Anthropology) ซึ่งสนใจศึกษาระบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในอีกด้านหนึ่ง
ที่คล้ายคลึงกับงานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณาในระบบของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความรู้สึก
อารมณ์ของปัจเจกบุคคล(Emotion individual)รวมทั้งกิจกรรม(Activity)ต่างๆที่เกิดขึ้น
ลักษณะทั้งสองนี้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของแนวคิด
ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในสายหน้าที่นิยม (Functionalism) โครงสร้างนิยม(Structuralism)
และสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยนักมานุษยวิทยาสังคม
วัฒนธรรม ในอังกฤษ อเมริกาและฝรั่งเศส ดังที่ Singer Milton (1984) กล่าวว่า ความนิยมและกระบวนการสร้างลักษณะในทิศทางของการศึกษาวิจัยของพวก Saussurean
เช่นเดียวกับพวก โครงสร้าง (Structuralist) การระลึกรู้
(Cognitive) และมนุษยนิยม (humanistic) ซึ่งทั้งสามประเภทมีจุดเน้นอยู่บนเรื่องของภาษา ในขณะที่พวกนิยมแนวคิดของเพิร์ส
(Piercean) ถูกพิจารณาเช่นเดียวกับพวก หน้าที่นิยม(Functionalist)
อรรถประโยชน์นิยม(Utilitarian) และธรรมชาตินิยม(Naturalist)
ที่มีจุดเน้นที่ปัจเจกบุคคล ประสบการณ์ การสังเกต
การรับรู้เข้าใจและการกระทำต่อโลกและสังคม
การผสานแนวคิดและทฤษฎีมานุษยวิทยาเข้ากับวิธีการศึกษาเชิงสัญลักษณ์และสัญญะ
ไม่ว่าจะเป็นมนุษยวิทยาโครงสร้างนิยม(Structuralism) มนุษยวิทยาหน้าที่นิยม(Functionalism)
มนุษยวิทยาโครงสร้าง-หน้าที่นิยม(Structural-Functionalism)
มนุษยวิทยาการระลึกรู้(cognitive) มนุษยวิทยาสัญลักษณ์นิยม(Symbolism)
มนุษยวิทยาภาพรวมทางวัฒนธรรม(Cultural Configuration) ในตัวของทฤษฎีต่างๆเหล่านี้มีการถูกเชื่อมโยงเข้ากัน
เช่นโครงสร้างนิยม กับสัญลักษณ์นิยม
ที่ความคิดในเรื่องของโครงสร้างสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการวิเคราะห์ปรากฎการณ์เชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสัญลักษณ์สัตว์(Totemism) นิทานปรัมปรา(Myth) และพิธีกรรม (Ritual) โดยเฉพาะในช่วงปี1950-1960
ที่นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อClaude
Levi-Strauss(1908-1968) ได้ทำให้วิชาทางมานุษยวิทยามีสนามใหม่ภายใต้ชื่อโครงสร้างนิยมและสัญวิทยา
ในคำประกาศของเขาเมื่อรับตำแหน่งที่ College de France ว่า “มนุษ์ติดต่อสื่อสารโดยความหมายของสัญลักษณ์และสัญญะ”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือความแตกต่างของหัวข้อเนื้อหาที่สำคัญและวิธีการศึกษาที่มีความแตกต่างกันระหว่างสัญศาสตร์และสัญวิทยา
สามารถเป็นสิ่งที่ถูกสรุปในชุดของความแตกต่างที่สำคัญ โดยสัญวิทยาเป็นสิ่งที่เน้นภาษาเป็นศูนย์กลาง
ที่มีพื้นฐานอยู่บน 3 ข้อสมมตติฐานคือ
1)ภาษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดของระบบสัญญะทั้งหมด
2)ข้อสมมติฐานของระบบสัญญะอื่นๆทั้งหมด
เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ของภาษา
3)ภาษาศาสตร์ เช่นเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ในการศึกษาเกี่ยวกับภาษาที่ได้ให้รูปแบบที่ดีที่สุด
สำหรับการศึกษเกี่ยวกับระบบสัญญะอื่นๆทั้งหมด
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสัญวิทยา เป็นการศึกษาชนิดประเภทของระบบสัญญะ
รวมทั้งวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับรูปแบบทางภาษา หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกระบวนการตีความหมายทางภาษาศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรม
ในขณะที่สัญศาสตร์เป็นสิ่งที่สนใจในกระบวนการของการติดต่อสื่อสาร
และเน้นการเอาตรรกะเป็นศูนย์กลาง ที่สนใจประเภทชนิดของสัญญะที่เป็นภาพเหมือน ดัชนี
สัญลักษณ์ และความสัมพันธ์กับวัตถุของพวกเขา
ในการตีความหมายของพวกเขา ที่เป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับภาษาศาสตร์
ในรูปแบบทางภาษาที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสมการ แผนภาพและไดอะแกรม
และแนวคิดในเรื่องของความหมายสัญญะหรือการกำหนดวัตถุ
เช่นเดียวกับสิ่งที่ไม่สำคัญจำเป็น เหมือนเปลือกนอก แต่มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญในแง่ของการนำไปสู่การแสดงออกที่เป็นไปได้
ในผู้แปลหรือตีความหมายมัน นี่เองที่เป็นจุดต่างสำคัญ กับความคิดของโซซูร์
ที่ปฎิเสธเรื่องของตำแหน่งแห่งที่ ในการกำหนดวัตถุ สิ่งของ เนื้อหาสาระ
ซึ่งถูกรักษาไว้เช่นเดียวกับจุดที่แตกต่างทางภาษาศาสตร์
ที่เป็นเหมือนกับการสร้างข้อผูกมัดหรือพันธนาการในรากฐานทางวัตถุ
หรือความเชื่อในการมีอยู่จริงเริ่มต้นของวัตถุสิ่งของในการกำหนดการตัดสินใจของเรา
ในขณะที่โซซูร์ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างภาพประทับของจินตนาการ
ภาพประทับของเสียง และความคิด ที่เรียกว่า การกำหนดให้เป็นของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ
ที่โซซูร์ให้ความสำคัญกับตัวความคิด (Concept)และระบบกฎเกณฑ์(Langue) มากกว่ารูปสัญญะ
การกำหนดเนื้อหา ขอบเขตและวิธีการ ที่แตกต่างของสัญวิทยาและสัญศาสตร์
อันมีรากฐานมาจากโซซูร์และเพิร์ซ ทำให้มีผู้ติดตามที่มากมาย
ในการประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาเชิงสัญญะ
ดังเช่นสัญศาสตร์ของความไร้สำนึกของลากอง(Jacques-Lacan)
สัญศาสตร์ในรหัสเกี่ยวกับเครือญาติและนิทานปรัมปราของเลวี่-สเตร๊าท์(Levi-Strauss) สัญศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความขัดแย้งในสังคมของออทุสแซร์(Louis
Authusser) สัญศาสตร์ทางวรรณคดีของบาร์ธ(Roland Barthes) และสัญศาสตร์เกี่ยวกับวาทกรรมทางประวัติศาสตร์และเอกสารหลักฐานของฟูโก(Micheal
Foucault) และอัมเบอร์โต้ อีโก้(Umbeto Eco) ในสัญศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุคAvant-garde
โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes1915-1980) นักวรรณคดีวิจารณ์และนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับโซซูร์
ในคู่ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ
ที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาไปสู่การศึกษารหัสทางวัฒนธรรม
ที่มีโครงสร้างเหมือนภาษา
การก้าวข้ามในการศึกษาสัญญะ จากการเริ่มต้นมองไปที่วัตถุ การให้ความหมายหรือการตีความหมาย
ไปสู่เรื่องของภาษา รหัสทางวัฒนธรรม
เพื่อค้นหาโครงสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดความคิด คุณค่า ค่านิยม
มาเป็นการศึกษาตัวบท โดยให้ความสำคัญกับงานเขียน
ที่กลุ่มพวกโครงสร้างนิยมและภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง อย่างโซซูร์และเลวี่ สเตร๊าท์
ได้ละเลย โดยให้ความสำคัญของภาษาพูดมากกว่า การเขียน ที่ถูกมองว่า
เป็นทรราชหรือกบฎ
ที่มีความร้ายกาจหรือเชื้อโรคที่ทำให้ธรรมชาติของการพูดการใช้ภาษาเสื่อมโทรม ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญะ
จึงควรที่จะแสดงให้เห็นความเป็นสัญญะที่หลากหลายภายใต้วัตถุ บทสนทนา ตัวบท
ที่เกี่ยวกับสัญญะนั้นๆ
เพื่อให้เราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ในลำดับชั้นในความสลับซับซ้อนของสัญญะที่เป็นเรื่องของวัตถุ
บทสนทนา และตัวบทอันหลากหลาย
ซึ่งถูกใช้โดยบุคคลหลายกลุ่ม
“แนวความคิดของวัฒนธรรม เป็นสัญศาสตร์อย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่สอดคล้องกับความคิดของแม๊กซ์
เวเบอร์ ที่มองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ถูกแขวนไว้ในเครือข่ายของการสร้างความหมาย
ที่ตัวเขาเองมีการเรียบเรียง ฉันยึดจับวัฒนธรรมกับการเป็นเครือข่ายเหล่านั้น
และวิเคราะห์เกี่ยวกับมัน...มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ในเชิงการทดลองในการวิจัย/ค้นหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แต่มันเป็นการตีความหมายหนึ่ง
ในการค้นหาเกี่ยวกับความหมาย”(Greezt,1973)
แนวความคิดของเกียร์ซ
เป็นแนวความคิดที่วางอยู่บนบุคคลและการสร้างความหมาย
เขาได้ใช้ทฤษฎีเชิงปรากฎการณ์วิทยา ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับบุคคล
เวลาและการปฎิบัติการ ดังเช่นการศึกษาของเขาที่บาหลี
ไม่ว่าจะเป็นConduction
of Bali ในปี1966 หรือ Deep play:Note
on the balinese cockfight ในปี1973 ที่เกี่ยวกับการตีความสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
เช่นการชนไก่ของผู้ชายบาหลี ที่ไก่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายและวัฒนธรรมของชาวบาหลี
ในการเปรียบเทียบ คำว่า Sabange ที่ใช้สำหรับไก่ชน
ถูกใช้ในความหมายถึง วีรบุรุษ นักรบ ผู้ชนะ ผู้ชายเจ้าชู้ เสือผู้หญิง
หรือความแข็งแรงบึกบึน หรือแม้แต่เรื่องของการแต่งงาน การทำสงคราม
การทะเลาะวิวาทในเรื่องสมบัติมรดก ก็จะถูกเปรียบเทียบกับไก่ชน
ที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว องค์กรทางสังคมและการจัดช่วงชั้นทางสังคม
ที่คนบาหลีบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง
นักมานุษยวิทยาอีกท่านหนึ่งที่มีความพยายามที่จะศึกษาสัญลักษณ์ในพิธีกรรม
ที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางสังคมคือ วิกเตอร์ เทอร์เนอร์(Victor
Turner) ที่วิเคราะห์รูปแบบทางวัฒนธรรม
พิธีกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยมองไปที่โครงสร้างทางสังคม
ที่เป็นความสัมพันธ์ของสถานภาพ บทบาท กับโครงสร้างทางสังคมหน่วยต่างๆ
การเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ในพิธีกรรมนั้นจะนำเราเข้าไปสู่ความเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม
โดยเขามองไปที่สภาวะคุณสมบัติของโครงสร้าง 2 แบบคือ
คุณสมบัติทางโครงสร้างและคุณสมบัติที่ไร้โครงสร้าง หรือStructureกับ Communitas ซึ่งสภาวะทั้งสองมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตลอดเวลา
วิกเตอร์ เทอร์เนอร์
ได้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและพิธีกรรมในแอฟริกา
เขาได้ชี้จุดที่แตกต่างระหว่างวิธีการของพวกมนุษยวิทยาอังกฤษและฝรั่งเศส
ในเรื่องของพิธีกรรมและสัญลักษณ์
ซึ่งเขาได้แนะนำในรายงานของเขาในการประชุมนี้ โดยแบ่งออกเป็น3ส่วน คือ 1) ปฎิบัติการทางความหมาย(Operational
meaning) 2) การศึกษาการอธิบายความหมาย(exegetical meaning)
3)การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของความหมาย(positional meaning) ที่เป็นเหมือนหนทางของการเชื่อมโยงสำหรับสองสำนักทางมานุษยวิทยานี้ นี่คือสิ่งที่เทอร์เนอร์
ได้ใช้ในการศึกษาพิธีกรรม ที่เป็นรูปแบบทางวัฒนธรรม เทอร์เนอร์
ได้ศึกษาการแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ กระบวนการทางพิธีกรรม
ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึงไปสู่อีกสถานะหนึ่ง
สภาวะที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านก็คือสภาวะคุณสมบัติที่ไร้โครงสร้าง
หรือช่วงเวลาที่เรียกว่าช่วงชายขอบ(Liminal period/Liminality) ที่สร้างความหมายสัญลักษณ์ในพิธีกรรม เพราะคุณสมบัติแห่งช่วงชายขอบ
เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิด วรรณกรรมปรัมปรา สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม
รวมทั้งศิลปะและระบบปรัชญาด้วย(Turner,1970;p.128-130)
แมรี่
ดักลาส(Mary
Douglas) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาทางสัญลักษณ์
พิธีกรรมและกิจกรรมทั้งหมด ในการสร้างเกี่ยวกับความจริงทางสังคมในทุกๆวัน
โดยเฉพาะความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคม
ความสกปรก ร่างกาย อาหาร
การครอบครองวัตถุ คำพูดตลกและถ้อยคำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องทาง โภชนศาสตร์ หรือเรื่องทางการแแพทย์ เรื่องความรวย ความเสี่ยง
แต่มันเป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรม เมื่อเขาศึกษา เรื่องความบริสุทธิ์(Purity)และมลทิน(Pollution) ความสกปรก ความสะอาด
ที่เป็นเรื่องของการจัดระเบียบ และเป็นเรื่องของโครงสร้างทางความคิด คล้ายคลึงกับการจำแนกระบบวรรณะในอินเดีย ดักลาส
ได้ขีดร่างธรรมเนียมทางวัฒนธรรมไปยังการอธิบายกระบวนการที่เฉพาะทั่วไป ในกฎเกณฑ์
กฎระเบียบ ของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ที่เรียกว่า Moral Order ซึ่งความสกปรก ความเบี่ยงเบน ความผิดปกติ
และวัตถุอื่นก็ถูกสังเกตเช่นเดียวกับมลทิน/มลภาวะ(Pollution)
ที่เปิดเผยให้เห็นความสำคัญของวัตถุสิ่งของ
กับระเบียบกฎเกณฑ์ของการจำแนกแยกประเภท โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับขอบเขตทางสัญลักษณ์
ที่แบ่งแยกสังคม กลุ่มคนและปัจเจกบุคคล
แมรี่
ดักลาสค่อนข้างสนใจ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการอธิบายทางสุขวิทยา(Hygienie) ในแนวทางเดียวกับรูปแบบธรรมเนียมความเชื่อในพระเจ้าและวิญญาณ ที่สังคมไม่ใช่รูปภาพของความจริง ที่ถูกปกป้องไว้
ไม่ใช่โดยการมีอยู่ของมันที่เรามองเห็นมันเช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์และอันตรายเท่านั้น
แต่เป็นการดำรงอยู่ของความจริงด้วย ดักลาสต้องการยืนยันถึงพื้นฐาน ศีลธรรม
จรรยามารยาทของสังคม ที่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมและความรู้สึกร่วมกัน ที่ถูกสร้างขึ้น ผ่านความสะอาด
สกปรกของวัตถุ
วัตถุเป็นสิ่งที่ไม่ได้สะอาด สกปรกในตัวของมันเอง มันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ผิดที่ผิดทาง (Out
of Place) ที่สร้างบางสิ่งให้สกปรก
ถ้าสิ่งที่ปกติมันวางอยู่บนโต๊ะหรือในอาหาร
หรือถ้ามันวางอยู่บนพื้นดินและมูลสัตว์ ดังที่ดักลาสบอกว่า
“ พวกเราเป็นสิ่งที่ออกไปจาก คำจำกัดความที่เก่าแก่ของความสกปรก
เช่นเดียวกับสสารที่วางอยู่ผิดที่ผิดตำแหน่ง(Out of Place) นี่คือความเกี่ยวข้องกับสภาพเงื่อนไข
2 อย่าง
ในชุดของความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์และความขัดแย้งของระเบียบกฎเกณฑ์
ความสกปรก(Dirth) เป็นสิ่งที่ไม่เคยเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกแยกออกจากเหตุการณ์
ซึ่งความสกปรกเป็นระบบ ความสกปรกเป็นผลผลิต เป็นผลพลอยได้ ของการวางกฎเกณฑ์ของระบบ
และการจำแนกแยกแยะประเภทของสสาร
ในกฎเกณฑ์ทั้งหมดที่ปฎิเสธความไม่เหมาะสมของส่วนประกอบ...”
ดักลาส
เชื่อมโยงความคิดเกี่ยวกับความสกปรกนี้กับสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจน
เกี่ยวกับความคิดเรื่องความบริสุทธิ์ ศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับคำอธิบายทางศีลธรรม
ในแต่ละระบบของการจำแนกแยกแยะ การจัดประเภทของความสกปรก ความสะอาด
ที่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์และการจัดประเภททางความคิด โดยผ่านระบบสัญลักษณ์
ความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยาสายต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่นิยม โครงสร้างหน้าที่นิยม
สัญลักษณ์นิยมและแนวความคิดเรื่องวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับเรื่องของปัจเจกบุคคล
กลุ่มและสังคม ที่สร้างสัญลักษณ์
ความหมายทางสัญลักษณ์และการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่นำไปสู่สัญลักษณ์ทางภาษา
ในการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะ
ภายใต้ความสัมพันธ์ ระหว่างปัจเจกบุคคล สังคม ความคิด
วัตถุและการสร้างความหมาย โดยศึกษาและสังเกตผ่านตัวพิธีกรรม ประเพณีทางศาสนา พิธีเฉลิมฉลอง
และปรากฎการณ์ทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือสัญญะ ผ่านวัตถุ
สิ่งของในพิธีกรรม หรือการใช้ภาษา ผ่านการเล่านิทานปรัมปรา บทสนทนา
คำเรียกเครือญาติ ภาษาพื้นเมือง บทสวดมนต์ขับไล่วิญญาณความชั่วร้าย
หรือการบวงสรวงเทพเจ้าของชนเผ่า
ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากเรื่องของวัฒนธรรม ไปสู่เรื่องของภาษา
ที่สอดคล้องกับวัตถุ(Object)
และความคิด(Subject)ในการให้ความหมาย(meaning)
ที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ
ภาษากลายเป็นเครื่องมือให้เราสามารถศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมได้
การศึกษาความคิด ที่สัมพันธ์กับเรื่องของภาษา
ได้รับการพัฒนาโดยนักมานุษยวิทยาสายโครงสร้างนิยม อย่างเลวี่ สเตร๊าท์
ที่เป็นการพยายามค้นหากฎเกณฑ์ภายใต้จิตใต้สำนึกของมนุษย์
โซซูร์
ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์สองด้าน (Dyadic) ในชุดของ
รูปสัญญะ(signifiant/signifier) กับความหมายสัญญะ(signifie/signified)
ระบบกฎเกณฑ์(langue)กับการเปล่งเสียง(speech/parole)
นามธรรม(abstract)กับรูปธรรม(concrete)
สังคม(Social)กับปัจเจกบุคคล(individual) ความคิด(concept)กับจินตภาพแห่งเสียง(sound-image/acoustic-image) ที่เป็นเสมือนกับสองด้านของความสัมพันธ์ซี่งสามารถทำการแยกศึกษาได้
โดยที่Langue เป็นผลผลิตทางสังคม ในความสามารถทางถ้อยคำ คำพูด และการรวบรวมสะสม
ธรรมเนียม แบบแผน กฎเกณฑ์สำคัญ
ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยกลุ่มทางสังคมหรือชุมชนทางภาษากับการยินยอม
อนุญาตของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้
ที่เป็นความสามารถที่ติดตัวมาของมนุษย์
ส่วน
Parole
หรือด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ ที่ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในตัวของมันเองแต่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของระบบไวยกรณ์ทางภาษา รูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นคู่ระหว่างรูปสัญญะและความหมายสัญญะ
มันค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมชาติน้อยมาก
เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการกำหนดให้เป็น(Arbitrary) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างจิตภาพของเสียง
(Sound-image) และความคิด(Concept) เช่นเดียวกับรูปสัญญะ(Signifier)
และความหมายสัญญะ(Signified) เช่นคำศัพท์ว่า TREE
(ต้นไม้) ที่เป็นตัวอย่างของโซซูร์
ซึ่งเป็นรูปสัญญะ และเป็นความหมายสัญญะในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับต้นไม้
ลักษณะความจริงทางกายภาพของต้นไม้ที่เจริญเติบโตในพื้นดิน คำศัพท์คำว่า “TREEหรือต้นไม้” ไม่ได้เป็นธรรมชาติหรือคุณสมบัติที่เท่าเทียมกันกับต้นไม้จริงๆ
ซึ่งโซซูร์ก็ไม่ได้สนใจกับความจริงที่อยู่พ้นขอบเขตหรือนอกเหนือเรื่องของภาษา
ที่อยู่ภายใต้การรับรองเกี่ยวกับมันเท่านั้น
การถูกกำหนดให้เป็น
จึงไม่ใช่เหตุผลหรือธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงระหว่าง2ส่วนของสัญญะ
ที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้รูปแบบกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนทางภาษา
ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องภายในตัวของปัจเจกบุคคล
รูปสัญญะที่แตกต่างหลากหลายของคำศัพท์
เกี่ยวกับต้นไม้ Arbre ,Baum Arbor และTree ไม่มีอะไรเลยที่จะเหมาะสมกว่าหรือมีเหตุผลกว่าสิ่งอื่นๆ
แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาและการันตี จากโครงสร้าง
ธรรมชาติของระบบที่เกิดขึ้นในชุดคำที่แน่นอน คำศัพท์ของต้นไม้ จึงมีความหมายถึงลักษณะทางกายภาพเกี่ยวกับใบ
สิ่งที่เจริญเติบโตในดิน
เพราะว่าโครงสร้างของภาษาได้สร้างความหมายของมันและทำให้มันถูกต้อง
ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลทางภาษาในการสร้างความเข้าใจของมนุษย์
เกี่ยวกับโลกและสิ่งต่างๆรอบตัว
ในสัญศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุคAvant-garde โรล็องต์ บาร์ธ(Roland
Barthes1915-1980) นักวรรณคดีวิจารณ์และนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับโซซูร์
ในคู่ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ
ที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาไปสู่การศึกษารหัสทางวัฒนธรรม
ที่มีโครงสร้างเหมือนภาษา บาร์ธ
ได้ทำการศึกษาสัญญะ เช่นเดียวกับรหัสทางวัฒนธรรม
หรือหน่วยของการสื่อความหมายที่มีความแตกต่างหลากหลาย ผ่านการวิเคราะห์ วัตถุ
สิ่งของ และเหตุการณ์ทางวัฒนธรรม เช่น
เสื้อผ้า อาหาร สบู่ ผงซักฟอก ไวน์ ของเล่น หอไอเฟล เหตุการณ์น้ำท่วมในฝรั่งเศส
นิตยาสาร โบชัวร์ท่องเที่ยว และอื่นๆ
ซึ่งทุกๆสิ่งในสังคมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ล้วนเป็นสัญญะทั้งสิ้น
ภายใต้กฎเกณฑ์และรหัสในระบบวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของมายาคติ(Myth)
ที่คนในสังคมยอมรับอย่างไม่ตั้งคำถาม
บาร์ธ ให้ความสำคัญกับเรื่องของรหัส(Code) ที่กำหนดความคิดประสบการณ์ของมนุษย์
โดยการสร้างรหัสผ่านภาษา
ซึ่งรหัสกลายเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นและเป็นเสมือนพันธะสัญญาร่วมกันในสังคม ภาษาจึงบรรจุด้วยรหัสที่มากมาย
รหัสจึงไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์หรือมีความหมายในตัวของมันเอง แต่ความหมายของมันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ประกอบสร้างภายใต้กฎเกกณฑ์ชุดหนึ่งในลักษณะทางภาษา ดังที่บาร์ธ
กล่าวว่ารูปสัญญะและความหมายสัญญะถูกประกอบสร้างโดยสัญญะ ดังเช่น ช่อกุหลาบ
ที่เป็นเหมือนรูปสัญญะ กับความรู้สึกหลงใหลรักใคร่ ที่เป็นความหมายสัญญะ
ที่ถูกผลิตโดยสัญญะของความเป็นช่อกุหลาบ รูปสัญญะจึงเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า
และมันเป็นสิ่งที่จะต้องถูกเติมเต็ม โดยความคิดว่าอะไรที่ควรจะเติม(Hawkes:1977,หน้า...)
กระบวนการสร้างความหมาย
ที่ไม่สิ้นสุดนี่เองที่บาร์ธ ได้เคลื่อนย้ายไปสู่การพิจารณาเรื่องมายาคติ
ที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นในสังคม ในความสลับซับซ้อนและการสร้างความจริง
ความน่าเชื่อถื่อ และสิทธิในการดำรงอยู่ของมัน
มายาคติ จึงเป็นผลผลิตลำดับที่สองที่เกิดขึ้นจากสัญญะก่อนหน้ามัน
ในระดับที่1 ที่ตวามหมายสัญญะในระดับที่1
มันกลายเป็นรูปสัญญะในระดับที่2 ที่สามารถต่อเติมความหมายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ที่เขาเรียกว่า รูปสัญญะที่ว่างเปล่า (Empty Signifier) ดังที่บาร์ธได้แสดงให้เห็นว่า
“ฉันอยู่ที่ร้านตัดผม
ที่ซึ่งเขาได้ถ่ายเอกสารหน้าปกนิตยาสาร Paris-Match ให้กับฉัน
บนหน้าปก ภาพเด็กนิโกรหนุ่ม ในชุดเครื่องแบบทหารฝรั่งเศส
กำลังทำความเคารพพร้อมกับระดับของสายตาที่มองขึ้นไป
และถูกจัดวางอย่างค่อนข้างเหมาะสม อยู่บนแถบสีของธงชาติฝรั่งเศส
ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของรูปภาพ แต่ดูจะไร้เดียงสาหรือบริสุทธิ์ไม่
ฉันเห็นได้อย่างดีมาก ว่าอะไรที่มันบ่งชี้แสดงกับฉัน นั่นคือประเทศฝรั่งเศส
ที่เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือทั้งหมดของความเป็นพี่น้อง/บุตรชาตแห่งฝรั่งเศส (Her son)โดยปราศจากการแบ่งแยกเลือกปฎิบัติทางสีผิว
สิ่งที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา เก็บรักษาอยู่ภายใต้ธงชาติฝรั่งเศส(Her
Flag) นี่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีกว่า
การหันกลับไปยืนยันเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม การแสดงให้เห็นความกระตือรือร้นโดยนิโกรหนุ่มผู้นี้
ในการเก็บรักษาความเป็นผู้ถูกกดขี่ของเขา ฉันเผชิญหน้าอีกครั้ง
กับระบบสัญวิทยาที่ใหญ่กว่า นี่คือสิ่งที่เป็นรูปสัญญะ
ที่ทำให้เป็นรูปแบบของตัวมันเองอย่างเรียบร้อย พร้อมกับระบบที่มีอยู่ก่อนหน้า(ทหารผิวดำเป็นสิ่งที่ให้ความเคารพธงชาติฝรั่งเศส) นี่คือความหมายสัญญะ
มันเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยเป้าหมายที่ผสมผสานเกี่ยวกับ ความเป็นฝรั่งเศส(Frenchness)
และความเป็นทหาร(Malitariness) นี่เป็นสิ่งที่ปรากฎเกี่ยวกับความหมายสัญญะที่นำไปสู่รูปสัญญะ”(อ้างจากHawkes:1977)
ดังนั้น สิ่งที่บาร์ธ ได้รับอิทธิพลมาจากโซซูร์
ก็คงเป็นความคิดในเรื่องของระบบกฎเกณฑ์(Langue) ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปถึงการพูด
แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับสถาบันทางสังคม (Social
Institution) และระบบของคุณค่า (System of Value) เป็นส่วนที่ปัจเจกบุคคล
ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้ด้วยตัวเอง เพราะมีพันธะข้อตกลงของกลุ่ม
ที่มีความสำคัญจำเป็นและเป็นที่ยอมรับของทุกๆคนในความสมบูรณ์ของมัน
เช่นเดียวกับเกมส์ที่มีกฎเกณฑ์มนตัวของมันเอง
และสมามารถเป็นสิ่งที่ถูกจับยึดหรือใช้ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์และคุณค่า
ดังที่บาร์ธ ได้กล่าวถึงในElementary of Semiology เกี่ยวกับระบบของเสื้อผ้า ระบบของรถยนต์ ระบบของเฟอร์นิเจอร์
ระบบที่ซับซ้อนซึ่งเป็นเรื่องของสื่อในการติดต่อสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ โฆษณา
ระบบของอาหาร ที่เป็นเหมือนระบบของภาษา และเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษา
เมื่อเราอ่านเมนูอาหาร หรืออ่านนิตยาสาร ตำราทำอาหาร ที่ความแตกต่างหลายหลายของประเภทชนิด
วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร อยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ทางโภชนาการ
ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ของการกีดกัน ที่เกี่ยวกับข้อห้ามเกี่ยวกับอาหาร ความแตกต่างที่ถูกบ่งชี้โดยรสชาติ หวาน เผ็ด
เค็ม หรือความสัมพันธ์ที่เป็นลำดับต่อเนื่อง ที่จัดเรียงในตารางเมนูอาหาร หรือความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภูมิภาคและสังคม
ภายใต้ระบบวัฒนธรรมของการปรุงอาหารที่อยู่เหนือส่วนของปัจเจกบุคคล(Parole)หรือครอบครัว ในเรื่องของการจัดเตรียมวัตถุดิบ
เครื่องมือหรือกลวิธีศิลปะในการปรุงอาหารที่หลากหลาย(Barthes:1967,P.27-28)
สิ่งที่เราเห็นได้จากความคิดของบาร์ธ
ที่สะท้อนผ่านการศึกษาระบบทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็คือ เรื่องของระบบคุณค่า ค่านิยม
ทัศนคติ การพิจารณากำหนด ที่พึ่งพาอยู่บนตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม เศรษฐกิจ ที่เป็นการให้คุณค่ากับมนุษย์
ซึ่งเป็นผู้บริโภคหรือใช้สัญญะเหล่านี้ ดังเช่น
ที่เขาเริ่มต้นตั้งคำถามกับการตายของผู้ประพันธ์ และการเกิดขึ้นของผู้อ่าน
ที่เริ่มต้นเรียนรู้กับการสร้างโลกใหม่ในหนทางที่แตกต่างภายใต้หนทางของกระบวนการสร้างความหมายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้อ่านและตัวบท
ในบริบทที่แตกต่างหลากหลายที่เกิดจากสภาวะของการไม่มีบริบทที่ชัดเจน
บริบททางความหมายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและผลิตบริบทใหม่ๆได้เสมอ
จนไม่สามารถที่จะควบคุมผูกขาด ความสมบูรณ์ทางความหมายได้
โดยเฉพาะภาษาเขียนที่มีความเป็นตัวเอง มีบริบทของตัวเอง
ภาษาพูดก็เช่นเดียวกันกับภาษาเขียนที่มันสามารถถูกสร้างและอ้างถึงตลอดเวลา
เพื่อสร้างบริบทใหม่ให้เกิดขึ้น
นี่เองที่เป็นสิ่งที่นักทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า
รูปสัญญะ มากกว่าความหมาย สัญญะ ที่เป็นเรื่องของโครงสร้าง กฎเกณฑ์ รหัส
ที่พวกโครงสร้างนิยมให้ความสำคัญ
บาร์ธ ได้หันเหจากการวิเคราะห์รหัสทางวัฒนธรรม
เข้าสู่การศึกษาเกี่ยวกับตัวบทความ(Text) ในความคิดที่ว่า มนุษย์ใส่รหัส(Encode) สำหรับตัวพวกเขาเอง
ดังนั้นบทความหรือตัวText จึงเป็นเหมือนสถานที่
ตำแหน่งสำหรับการอ่าน ที่เราสามารถถอดรหัสได้เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ
ซึ่งเป็นรากฐานแนวคิดที่พัฒนามาจากพวกโครงสร้างนิยม
ที่ต้องการสลายลดทอนความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญญะภายใต้โครงสร้างกฎเกณฑ์ทางภาษาที่หยุดนิ่งตายตัว
กำลังถูกทำลายด้วยแนวคิดแบบหลังโครงสร้าง
ที่ต้องการหักล้างความเป็นศูนย์กลางทางภาษาหรือการยึดเอาวจนะเป็นศูนย์กลาง(Logocentricism)
[1]
Sign ในความหมายนี้หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ
ไม่ว่าจะเป็นสัญศาสตร์ (Semiotic) และ สัญวิทยา (Semiology)
สวัสดีฉัน aM clinton nancy หลังจากที่ได้มีความสัมพันธ์กับแอนเดอร์สันมานานหลายปีแล้วเขาเลิกกับฉันฉันทำทุกอย่างเพื่อให้เขากลับมาได้ แต่ทั้งหมดก็ไร้ผลฉันต้องการให้เขากลับมามากเพราะความรักที่ฉันมีต่อเขา, ฉันขอร้องเขาด้วยทุกสิ่งทุกอย่างฉันทำสัญญา แต่เขาปฏิเสธ ฉันอธิบายปัญหาของฉันกับเพื่อนของฉันและเธอบอกว่าฉันควรจะติดต่อล้อสะกดที่สามารถช่วยฉันโยนคาถาเพื่อนำเขากลับมา แต่ฉันเป็นประเภทที่ไม่เคยเชื่อในการสะกดฉันไม่มีทางเลือกกว่าที่จะลองฉัน ส่งคาถลลวงและเขาบอกผมว่าไม่มีปัญหาใด ๆ ที่ทุกอย่างจะเรียบร้อยก่อนสามวันที่อดีตของฉันจะกลับมาหาฉันก่อนสามวันเขาได้ให้การสะกดและในวันที่สองก็แปลกใจคือประมาณ 4 โมงเย็น อดีตของฉันเรียกฉันว่าฉันประหลาดใจมากฉันตอบสายและสิ่งที่เขาพูดก็คือเขาเสียใจมากสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาต้องการให้ฉันกลับไปเขาว่าเขารักฉันมาก ฉันมีความสุขมาก ๆ และไปหาเขานั่นคือสิ่งที่เราเริ่มใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขอีกครั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาฉันได้สัญญาว่าใครที่ฉันรู้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันก็จะช่วยคนดังกล่าวโดยการแนะนำให้เขาเป็นครูผู้ชำเถียงในการสะกดเฉพาะที่แท้จริงและทรงพลังที่ช่วยฉันด้วยปัญหาของตัวเอง อีเมล์: drogunduspellcaster@gmail.com คุณสามารถส่งอีเมลถึงเขาได้หากคุณต้องการความช่วยเหลือในความสัมพันธ์หรือกรณีอื่น ๆ
ตอบลบ1) รักคาถา
2) Lost Love Spells
3) การหย่าร้าง
4) เวทมนตร์สมรส
5) มัดสะกด
6) คาถา Breakup
7) ขับไล่คนที่ผ่านมา
8. ) คุณต้องการได้รับการเลื่อนตำแหน่งในการสะกดของสำนักงาน / สลากกินแบ่งของคุณ
9) ต้องการที่จะตอบสนองความรักของคุณ
ติดต่อคนที่ยิ่งใหญ่นี้หากคุณมีปัญหาใด ๆ สำหรับโซลูชันที่ยั่งยืน
ผ่าน DR ODOGBO34@GMAIL.COM