วิชาการแนวโพสต์โมเดิร์น (Post-Modern)
วิชาการแนวหลังสมัยใหม่
ไม่ใช่วิชาการที่มุ่งหมายจะเข้ามาแทนโมเดิร์น ในตอนนี้ แต่Post ที่แปลว่าหลัง
ไม่ได้หมายความว่า Modern จบแล้ว แต่โพสต์โมเดิร์น เข้ามาแข่งขัน วิพากษ์
ต่อล้อต่อเถียงกับโมเดิร์น
โดยวิชาการแนวสมัยใหม่เป็นผลพวงของปรัชญาที่เรียกว่าความรู้แจ้ง (Enlightenment) ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่18 พัฒนามาจากแนวความคิดมนุษยนิยม
(`Humanism) ในยุคของการฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการ (Renaissance) ที่มนุษย์มาถึงยุคของแสงสว่างด้วยพลังของเหตุผล(Reason) เจตจำนง (Will) เสรีภาพ (Freedom)และความฝักใฝ่ในความสงบสุข
สิ่งที่มนุษย์ต้องการแสวงหาเหล่านี้ล้วนต้องแลกมาด้วยการต่อสู้
ดังเช่นกรณีของการปฏิวัติในฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 ที่ประชาชน
คนชั้นกลางต้องการได้มาซึ่งเสรีภาพ
อันนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป
สิ่งเหล่านี้ได้หล่อเลี้ยงระบบความคิดในยุคอุตสาหกรรม ทุนนิยม ให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะพลังของการปฏิวัติอุตสาหกรรม
สิ่งเหล่านี้มีลักษณะเป็นสากล
ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นคุณสมบัติประจำมนุษยชาติ
ตั้งแต่ที่พวกสารัตถะเพศชายในยุโรปค้นพบสิ่งเหล่านี้
และต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปมอบให้กับคนทั้งโลก เกิดลัทธิล่าอาณานิคม
ที่ชูวาทกรรมว่าด้วยแสงสว่างของคนผิวขาวที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น
เราไปยึดครองหรือแย่งชิงทรัพยากรใด เราก็อ้างว่าเราไม่ได้เอาเปรียบหรือขูดรีด
แต่เราเอาแสงสว่างของเราไปเผยแพร่ให้กับคนซีกโลกอื่น โดยตัวแทนของพระเจ้าคนขาว
ซึ่งก็คือบรรดามิชชันนารี ในช่วงของการล่าอาณานิคม
ที่เข้าทำลายความเชื่อในทางไสยศาสตร์ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ
ภูตผีของกลุ่มคนพื้นเมืองที่พวกเขาคิดว่างมงายไร้เหตุผลโดยสร้างผีตัวใหม่ที่เป็นผีของคนตะวันตกผิวขาว
ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อในเรื่องสารัตถะของเพศชายผิวขาวที่เหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่ผู้หญิงถูกมองว่าใช้อารมณ์มากกว่าเรื่องของเหตุผล
วิชาการแนวหลังสมัยใหม่
พยายามวิพากษ์และตั้งคำถามกับวิธีคิดแบบโมเดิร์น
โดยเฉพาะความคิดที่ว่าด้วย Universalism
เพราะโมเดิร์นพยายามอ้างถึงแม่แบบที่เป็นสากลใช้ได้กับมนุษย์ทั้งโลกทุกเผ่าพันธุ์
มนุษย์ทุกชนิด ซึ่งมันเกินความจริงและทฤษฎีใหญ่ที่เป็นผลมาจาก Universalism
ระบบใหญ่ๆที่โมเดิร์นคิดขึ้นมาจำเป็นต้องตรวจสอบและวิพากษ์
บนฐานของความหลากหลาย (Multiple) เพราะวิชาการแบบโมเดิร์น
พยายามกดทับความหลากหลายเอาไว้
เพราะวิชาการแบบโมเดิร์น
ต้องการตรึงบางอย่างใช้กับแม่แบบไว้กับแม่แบบที่หยุดนิ่งกับที่
ทั้งที่จริงสิ่งต่างๆหรือปรากฏการณ์ต่างๆล้วนมีพลวัตร
มีการเลื่อนไหลซึ่งตรงกันข้ามกับวิธีคิดแบบโมเดิร์นที่มองอะไรที่เรียบเนียนแบบโมเดิร์นที่อ้างถึงความชัดเจน
แจ่มแจ้ง มีเอกภาพ มีความเป็นหนึ่งเดียว โลกนี้เข้าใจง่าย เหมือนของตกเท่ากับ X=MN
ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากวิทยาศาสตร์แบบนิวตันและเดการ์ต
แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น บอกว่า ความสัมพันธ์ (Relation)
ไม่ได้เป็นเอกภาพหรือหนึ่งเดียว แต่มีความยอกย้อน ย้อนแย้งกันอยู่ตลอดเวลา
ตามความเลื่อนไหลหลากหลาย จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ตัววิชาการเองเที่ยวไปอธิบาย
ตรวจสอบอะไรต่อมิอะไร แต่ควรที่จะหันมาตรวจสอบตัวเอง วิชาการแบบโพสต์โมเดิร์น
จะตระหนักว่าวิชาการของตัวเองจะต้องถูกหรือต้องการ การตรวจสอบและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา
แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเข้ามาประทะกับความคิดแบบเน้นความเป็นสากลของโมเดิร์น
(Modern Universal) ซึ่งต้องมาดูและให้ความสนใจกับความเลื่อนไหล
ย้อนแย้ง หลากหลาย ซึ่งมันซับซ้อน สร้างความกระอักกระอ่วนใจตลอดเวลา
วิธีคิดแบบโมเดิร์นชอบสร้างสิ่งที่เรียกว่า Grand-Theory ตั้งแต่ช่วงปี
1960 ซึ่งเริ่มเกิดปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ
ผู้คนเริ่มตั้งคำถามและไม่ยอมหลงเชื่อ และวิพากษ์ความคิดเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น
เรื่องเล่าใหม่ๆหรือ Grand Narrative คือสิ่งที่นักวิชาการโมเดิร์นอ้างว่า
เป็นความจริง (Truth) สัจจะ
ทั้งที่เป็นแค่ชุดค่านิยมชุดหนึ่ง เช่นเดียวกับลัทธิที่เน้นความเป็นสากล( Universalism) ซึ่งพบได้ในวิธีคิดของพวก Enlightenment ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นนายของตัวเองและมีเหตุผล
และในมาร์กซิสต์ (Marxism)
ที่เชื่อว่ามนุษยชาติกำลังเดินทางไปสู่สังคมในอุดมคติ (Utopia) ดังนั้นทุกสิ่งมันไม่ใช่ความจริง(Truth)
แต่โมเดิร์นนำไปเสนอเหมือนว่าเป็นความจริง
ซึ่งทำให้เราสนใจวิเคราะห์แต่ในระดับใหญ่ (Macro Analysis)
ก็จะวิเคราะห์จากอำนาจรัฐที่ใหญ่โตมโหฬาร และเป็นอำนาจแบบบนลงล่าง (Top
–Down) วิเคราะห์การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น
อำนาจรัฐจะชอบธรรมอย่างไร อะไรทำให้อำนาจของรัฐชอบธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก
จนมองไม่เห็นวิถีชีวิตของผู้คนหรือเสียงของคนเล็กคนน้อย
มิเชล ฟูโก
กลับไปสำรวจบนการกำเนิดของโมเดิร์นใหม่ โดยมองว่า
ความเป็นสมัยใหม่เกิดขึ้นมาจากการแบ่งแยกและการกีดกัน ความเป็นสมัยใหม่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่
17-18 ในตะวันตกมีการลุกขึ้นมาขีดเส้นแบ่งระหว่างคนจิตปกติกับคนจิตวิปลาส
ซึ่งแต่เดิมอยู่ร่วมกันในสังคม พอมีเส้นแบ่งระหว่างคนจิตปกติกับคนจิตวิปลาส
ก็กักกันคนวิปลาสไว้ในโรงพยาบาลบ้า เพื่อต้องการกีดกันเหลือแต่คนจิตปกติ
ที่มีเหตุผล เพราะมองว่าจิตวิปลาสเป็นความเบี่ยงเบนที่ต้องแก้ไข ต้องรักษา
ให้หายเป็นปกติ
มิเชล ฟูโกได้ชี้ให้เห็นการขีดเส้นแบ่งของพลเมืองดีกับอาชญากรและการลงโทษ
เกิดสถาบันใหม่ทางสังคม ที่เปลี่ยนจากช่วง Pre-Modern เป็น Modern จนกระทั่งเกิดคุก เพื่อเอาไปฟื้นฟูให้เขากลับมาเป็นคนดี
ขีดเส้นแบ่งวิถีเพศแบบปกติ และแบบเบี่ยงเบน
ตรงนี้เริ่มทำให้เรามีมุมมองใหม่เกี่ยวกับสังคมโมเดิร์น ในหนังสือ Discipline
and Punish การวินัยและการลงโทษ โดยชี้ให้เห็นการทำงานของอำนาจในระดับจุลภาค
เป็นอำนาจที่ซึมซ่านไปทั่วอยู่ในองคาพยพของสังคม ในช่วงของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสังคมเข้าไปสู่สมัยใหม่
อำนาจไปจับยึดมนุษย์ในปฏิบัติการของร่างกาย เข้ามาจับยึดในเรื่องของระเบียบวินัย
บรรทัดฐานที่สังคมสมัยใหม่สถาปนาขึ้นมา เช่น ตารางเวลาของคน กฎระเบียบ ข้อบังคับ
เป็นต้น
ฟูโก ชี้ต่อว่า
อำนาจผูกพันกับสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าวาทกรรม (Discourse)
ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เป็นสิ่งที่คนพูดกัน เขียนกัน ในยุคใดยุคหนึ่ง
สิ่งที่พูดหรือเขียน จำกัดด้วยกรอบความรู้ในประเด็นนั้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม
ความเป็นไทย โลกร้อน ความเป็นชาติ สิ่งที่พูดหรือเขียนถูกกำหนดด้วยสิ่งที่เรียกว่า
กรอบความรู้ (Episteme) กรอบความรู้
มีที่มาจากกลุ่มคนบางกลุ่มยกให้เป็นผู้สันทัดกรณีหรือผู้เชี่ยวชาญ
และกรอบนั้นมันก็แพร่กระจายออกไป อะไรที่พูดออกมาเป็นที่ยอมรับได้ เช่น
ในยุคหนึ่งเราอยู่ในกรอบความรู้ (Episteme)
ที่บอกว่าประเทศต้องพัฒนา น้ำไหล ไฟสว่าง แต่ปัจจุบันกรอบความรู้ กับบอกเราว่า
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นอำนาจจึงพ่วงไปกับกรอบความรู้ในสิ่งที่เรียกว่า
วาทกรรมในแต่ละยุคหรือวาทกรรมแห่งยุคสมัย ดังนั้น การใช้อำนาจคือการใช้วาทกรรม
ความรู้ ความเข้าใจ ของผู้คนยุคหนึ่งก็จะมาผูกกับผู้คนไว้ ตรงนี้มีผลสำคัญในเชิงวิชาการ
ได้ภาพประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มันเป็นห่วงโซ่ที่มนุษย์สร้างขึ้น
มันมีความต่อเนื่อง
ในมิติเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Dimension)
หมายถึงเรื่องของคุณค่าและความหมาย วิชาการแบบโมเดิร์นเห็นเรื่องนี้รองจาก
เรื่องอรรถประโยชน์สูงสุด (Utility) หากจะวิเคราะห์แบบโมเดิร์น
ก็จะมองว่า มนุษย์ทำสิ่งต่างๆเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองหรือสังคม
มนุษย์บริโภคเพื่อสนองความต้องการ(Want) หรือความจำเป็น(Need) ถ้าเราหันมาวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์
มีฐานะที่บางเบาและอยู่ปลายเหตุของกระบวนการทางสังคม ต้นเหตุสำคัญคือความสัมพันธ์ของชนชั้นในวิถีการผลิต
วิชาการแบบโพสต์โมเดิร์น (Post-Modern Scholarship) ให้ความสำคัญกับภาษา ภาพเสนอที่สร้างขึ้น
ในความคิดแบบโมเดิร์นมองว่าเป็นปลายเหตุ แต่ความคิดแบบโพสต์โมเดิร์น มองว่า
เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสถาบันทางสังคม ระบบการเมือง เป็นอย่างนี้ สิ่งที่คนพูดกัน
วาทกรรมที่อ่านกัน เศรษฐกิจแบบโมเดิร์น เป็นเรื่องของอุปสงค์ อุปทาน ความจำเป็น(Need)และการสนองความต้องการ
การอธิบายของ Bataille ที่เกี่ยวกับโพสต์โมเดิร์น
หรือเศรษฐศาสตร์แนวโพสต์โมเดิร์น ได้อ้างถึง ความสิ้นเปลือง
ความสูญเปล่าอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจ
คนเราไม่ได้บริโภคเพื่ออิ่มท้องหรือบริโภคโดยเน้นประโยชน์
แต่บริโภคเพื่อหน้าตาหรือบริโภคเชิงสัญลักษณ์หรือสัญญะ
ปิแอร์ บูดิเยอร์ (Pierre Boudieu)
เศรษฐกิจแบบทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์
การให้ของขวัญและการทำลายทรัพย์สินเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่งที่มีมาตั้งแต่สังคมโบราณ
(Potlac) ของชนเผ่าพื้นเมือง การให้ของขวัญกัน
ต้องคาดดาราคากันเอง ว่าจะซื้อเท่าไหร่ ให้มันเพียงพอ เศรษฐกิจของการสักการะ บูชา
การอุปถัมภ์ ของอย่างนี้เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สนใจ เช่น
เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคหรือนีโอคลาสสิค แต่ในขณะเดียวกันลืมคิดไปว่า เศรษฐกิจใต้ดินหรือเศรษฐกิจนอกระบบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย
มิติเชิงสัญลักษณ์ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจมันแสดงให้เราเห็นอย่างเข้มข้น
ในสังคมหลังสมัยใหม่ เราเห็นทั้งในเรื่องทางเศรษฐกิจ การเมือง ชัดเจน
นักวิชาการในเรื่องนี้อย่างโรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) หรือ ฌอง
โบดิยาร์ด (Jean Baudrillard) การบริโภคในสังคมโพสต์โมเดิร์น
ไม่ใช่การบริโภคเพื่อประโยชน์ใช้สอย แต่บริโภคเพื่อสื่อคุณค่าของตัวเองต่อผู้อื่น
เช่นที่ปรากฏผ่านโฆษณา ศูนย์การค้า เป็นการบริโภคสัญญะ (Sign)
ซึ่งไม่จำเป็นต้องจริงใจ ว่าเพื่อแสดงความเป็นไทย แต่เพื่อไม่ให้ตกยุค
เราบริโภคโฆษณา เช่น ความสุขที่คุณดื่มได้
ไปๆมาๆท้ายที่สุดความเป็นสัญญะมันมีความสำคัญมากกว่าประโยชน์ใช้สอย
ในสังคมสมัยใหม่ทุนนิยมขั้นล่าสุด ให้สิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายในสังคม
ไม่ใช่ความแตกต่างจริง เป็นความแตกต่างในลักษณะที่ฉาบฉวย เชิงสัญญะ
มันเป็นความแตกต่างแบบจำลอง อย่างเช่นยาสีฟันที่ผลิตจากหลายบริษัท อาจมีความแตกต่างกันนิดหน่อยในด้านราคา
คุณสมบัติและรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
มิเชล ฟูโก (Michel Foucault)
มองว่าการสถาปนาสมัยใหม่เกิดจากการขีดเส้นแบ่งและจัดประเภทให้กับสิ่งต่างๆ เช่น
การศึกษาเกี่ยวกับความบ้าที่แบ่งแยกระหว่างคนปกติกับคนบ้า
หรือการแบ่งแยกระหว่างความมีอารยะธรรมกับไร้อารยะธรรม ( ในงานข องมิเชลฟูโก เรื่อวง Madness
and Civilization ) เป้าหมายในหนังสือของเขาคือ การให้เสียงของคน (Give
the voice) โดยเฉพาะคนที่ถูกลิดรอนและถูกกดีกันกดทับ ดังเช่นเสียงคนที่จิตวิปลาส
เพื่อให้พวกเขาได้สะท้อนเสียงของพวกเขาเองและให้คนอื่นได้ยินเสียงของพวกเขาด้วย
นักมานุษยวิทยา
ที่ลงไปศึกษาชนเผ่าต่างๆนั้นก็เป็นการใช้อำนาจรูปแบบหนึ่ง หรือปฏิบัติการ (Practice)
ของนักมานุษยวิทยาที่เราไปจ้องมองคนอื่นๆให้กลายเป็นผู้ถูกศึกษา เช่น
การศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าหนึ่ง
ผู้วิจัยหรือผู้ศึกษาพยายามจัดแหน่งและวางอำนาจในการอยู่เหนือวัตถุที่ตัวเองศึกษา
เอาวิถีชีวิตของชนเผ่าเป็นวัตถุในการศึกษา ในงาน Writing Culture ของ เจมส์ คลิฟฟอร์ด (James Clifford)
ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ที่เขาเอางานทางมานุษยวิทยามาวิเคราะห์
วิจารณ์ว่าเหมือนการเขียนนิยายต้องมีจริต มีความรู้สึก มีอารมณ์เยอะ
เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่เลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แนวความคิดแบบโพสต์โมเดิร์น
หันไปทำความเข้าใจและดูภาวะสังคมว่ามันซ้อนทับ ย้อนแย้งกันอย่างไร
และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ดังนั้นความรู้แบบโพสต์โมเดิร์น
หลุดลอยจากกรอบความรู้โมเดิร์นไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่มีเหตุผล
เพราะเราต้องไปวิพากษ์กับโมเดิร์น
ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องเรียนรู้ด้วยกันซึ่งกันและกัน
โมเดิร์นต้องยอมรับโพสต์โมเดิร์นด้วย โพสต์โมเดิร์นก็ต้องเข้าไปเรียนรู้โมเดิร์น
การกระทำ (Action)
ที่มีต่อสังคมของโพสต์โมเดิร์น จะไม่ค่อยไปต่อกรกับเรื่องใหญ่
แต่เป็นการทำเรื่องเล็กๆกับสิ่งที่ใกล้ตัวคน
ในสิ่งที่คนทั่วไปมองไม่เห็นชัดเจนหรือจับต้องได้ เช่น จิตสำนึก จิตใต้สำนึก
เพราะการสร้างของใหญ่ไปล้มของใหญ่มันก็เสมือนการสร้างของใหญ่ขึ้นมาแทนของเดิมซึ่งก็จะกลับไปสู่วงจรการกดทับสิ่งเล็กสิ่งน้อยเหมือนเดิม
โพสต์โมเดิร์น พยายามจะบอกว่า
ตัวเองไม่ได้เข้าไปแทนโมเดิร์น เพราะถ้าเข้าไปยึดพื้นที่แทน มันจะเกิดความผูกขาด
แต่ขอให้ตัวเองมีพื้นที่ร่วม เพื่อรักษาความหลากหลายนั้นเอาไว้
และควบคุมความฟุ้งเฟ้อและอวดอ้างตัวเองของแนวคิดแบบโมเดิร์นและนักคิดใหญ่ๆในกระแสความคิดนี้
โดยไม่ได้ต้องการเข้าไปเป็นกระแสหลักแต่ต้องการพื้นที่ในการต่อรอง โพสต์โมเดิร์น
ไม่เชื่อในการทำให้มีอันเดียว เป็นแบบเดี่ยว(Mono) ซึ่งไม่ใช่หยุดอยู่แค่เรื่องของความสันติสุข
สงบเงียบ ลอมชอม แต่ต้องอยู่ด้วยการวิพากษ์ ทะเลาะเพื่อบ่อนเซาะอำนาจให้ถึงที่สุด
ที่สำคัญคือต้องตรวจสอบอำนาจ
แนวคิดอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) คือ
การพยายามดิ้นรนอยู่รอดครั้งสุดท้ายของโมเดิร์น ที่ปรากฏชัดในงานของ Jean-Paul
Sartre ซึ่งพยายามพูดถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ มนุษย์คือภาพของมนุษย์
มนุษย์คือสิ่งที่พวกเขาสร้างตัวเองขึ้นมา
ดังนั้นมนุษย์จึงต้องรับผิดชอบและถูกกำหนดให้เป็นอิสระมนุษย์เรียกร้องที่จะยืนยันในเจตจำนงของเรา
เขาออกนิตยสารชื่อ Modern Times อิทธิพลของกระแสความคิดดังกล่าวก็เลยต้องการดึงเอา
Existentialism มาอยู่ใน มนุษยนิยม (Humanism) อัตภาวะนิยมก็คือ
มนุษยนิยมอย่างหนึ่งที่กลับมาเน้นและให้ความสำคัญกับตัวตนของมนุษย์
การศึกษาวัฒนธรรมในช่วงยุคหลังทันสมัยนิยม
ข้อขัดแย้งทางความคิดในยุคของโมเดิร์น
คือความขัดแย้งในด้านวิถีชีวิต ที่มีรากฐานจากความแตกต่างทางชนชั้น โดยเฉพาะในช่วงหลังที่อำนาจของชนชั้นกลาง
(Bourgeois) มีฐานะและบทบาทสำคัญทางการค้า
การควบคุมทางเศรษฐกิจ เกิดการเติบโตของระบบทุนนิยม (Capitalism) ที่นำไปสู่แนวความคิดและค่านิยมที่เชิดชูความเป็นปัจเจก(Individualism) ที่ต้องการจะปลดปล่อยตัวเอง
และตอบสนองความต้องการบริโภคที่ไม่มีสิ้นสุด
รวมทั้งการแสวงหาสิ่งที่จะเข้ามาตอบแทนความต้องการของตัวเอง
โดยเฉพาะเงินตรา ที่จะนำมาซื้อวัตถุสิ่งของ
ตัวตนของมนุษย์ถูกลดทอนเมื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต
ในฐานะผู้ผลิต นายทุน แรงงาน รวมทั้งการผนวกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริโภค
เมื่อต้องกลายมาเป็นผู้บริโภคภายใต้ห่วงโซ่ของวิถีการผลิต
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการเป็นองค์ประธาน(Subject)
และเป็นกรรมหรือวัตถุ(Object) ของมนุษย์ในกระแสทุนนิยม
กระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization)
มนุษย์มีฐานะเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม (Commodities)
และแสวงหาเงินทองอย่างบ้าคลั่ง (Fetishism)
ให้ความสำคัญกับวัตถุในฐานะสิ่งที่จะทำให้มนุษย์เข้าถึงคำว่าความสุข
แต่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคนอื่น
การพยายามแสวงหาตัวตนของมนุษย์ ที่ต้องการสร้างตัวตนให้แตกต่างหรือเหมือนกับคนอื่น
ซึ่งนำไปสู่กระบวนการของการบริโภคสินค้าของมนุษย์ในสังคมซึ่งไม่ว่าจะบริโภคสินค้าอย่างไร
แท้จริงแล้วไม่ได้แสดงถึงความเป็นตัวตนของตัวเองใดๆทั้งสิ้น
แต่เป็นการแสดงออกซึ่งตัวตนของตัวเองในระบบทุนนิยม โดยการเทียบเคียงความเหมือนความต่างจากคนในสังคม
การบริโภคสินค้าจึงตอกย้ำอัตลักษณ์ของตัวตนที่เหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่น
ภายใต้ตัวเลือกที่ถูกกำหนดจากผู้ผลิตในสังคม
ความเป็นปัจเจกชนแท้ที่อ้างถึงจึงเป็นได้เพียงแค่ปัจเจกชนเทียม (Puedo-Individualism)
เท่านั้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น