อาวุธของผู้อ่อนแอ weapon of the weak มุมมองต่อปรากฏการณ์การต่อสู้ของคนเล็กคนน้อย โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
Weapons of the Weak เป็นงานชาติพันธุ์วรรณาที่เขียนโดย James C. Scott ที่ศึกษาผลกระทบของการปฏิวัติเขียวในชนบทของมาเลเซีย วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของการศึกษาวิจัยนี้คือการโต้แย้งว่าแนวคิดเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาด( false consciousness ) และการครองอำนาจนำ(hegemony ) ของลัทธิมาร์กเซียน(Marxian )และพวกกรัมเซียน (Gramscian ) นั้นไม่ถูกต้อง เขาพัฒนาข้อสรุปนี้ตลอดหนังสือทั้งเล่ม ผ่านสถานการณ์และตัวละครต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาทำงานภาคสนามในหมู่บ้านในมาเลเซีย ภายใต้ระยะเวลาการทำงานภาคสนามของเขาเป็นเวลา 2 ปี (ค.ศ. 1978-1980) ในชุมชนเกษตรกรรมทำนาขนาดเล็กที่มี 70 ครัวเรือนในพื้นที่ปลูกข้าวหลักของรัฐเกดาห์ในมาเลเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติเขียวในปี ค.ศ.1976 ที่ได้ขจัดโอกาสในการรับค่าจ้างสำหรับเกษตรกรรายย่อยและแรงงานที่ไม่มีที่ดินถึง 2/3 ส่วน ที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ตามมา โดยผูเขียนวิเคราะห์ว่าเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในหมู่บ้านและแนวปฏิบัติในการต่อต้านซึ่งประกอบด้วย การอู้งาน การหลอกลวง การทอดทิ้งงาน การไม่ยอมตาม การฉกฉวย การแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น การใส่ร้าย การปล้น การวางเพลิง และการก่อวินาศกรรม คนรวยและคนจนมีส่วนร่วมในการต่อสู้อย่างเงียบๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงในการถือครองที่ดิน เครื่องจักร และการจ้างงานเพื่อพัฒนาผลประโยชน์ของตนเอง และใช้ค่านิยมที่พวกเขาแบ่งปันเพื่อควบคุมการกระจายสถานะ ที่ดิน งาน และธัญพืช เป็นต้น ตัวอย่างเข่น การแกล้งป่วยเพื่อไม่ยอมทำงานรับใช้เจ้าของที่ดิน หรือการขอตัวไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เพื่อให้เวลาในการทำงานน้อยลงหริอ การเกี่ยวข้าวแรงๆเพื่อให้เมล็ดข้าวร่วง เพื่อตะได้แอบไปเก็บเมล็ดข้าวจากที่ดินของนายจ้างในตอนกลางคืน เป็นต้น การต่อสู้เหล่านี้คืออาวุธของคนจนคนไร้อำนาจ ที่มีเพียงร่างกายในการต่อสู้..
คำถามสำคัญในปัจจุบันคือ ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่มสลายของระบอบการปกครองที่ดูเลวร้ายตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์? พวกเขา(คนตัวเล็กคนน้อย ไร้อำนาจ) ล้วนเป็น “ผู้กล้าหาญ” (brave) และเป็นผู้เห็นต่างที่มีจำนวนไม่มากที่สามารถพบได้ในทุกระบบการเมือง พวกเขาอาจจะต่อต้านอย่างเปิดเผย ขณะเดียวกันการเปิดเผยก็เสี่ยงอันตรายต่อตนเอง บ่อยครั้งถึงชีวิตด้วยซ้ำ แต่พวกเขาต้องต่อสู้ เพราะพวกเขาเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตอยู่กับคำโกหก ปลิ้นปล้อนของชนชั้นปกครอง ? หรือพวกเขาค่อนข้างจะทำตัวเหมือน "คนขี้ขลาด"( cowards) หรือแกล้งที่จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้ต่อต้านกับผู้ทีอำนาจมากกว่าโดยที่ตัวเองไม่ต้องเสี่ยง
พลเมืองหลายล้านคนที่อยากจะต่อต้าน แม้จะไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงชีวิตแต่กลับมีส่วนร่วมในการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันแต่มีสติอย่างเต็มที่ นี่คือข้อสะท้อนของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เจมส์ สก็อตต์ ในทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับ "อาวุธของผู้อ่อนแอ" ซึ่งสะท่อนสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของความคิดของเขา นั่นคือวัฒนธรรมของการต่อต้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจทุกๆวันของชีวิตประจำวันมนุษย์ทั่วไป
ตัวอย่าง การหัวเราะหรือการพูดเรื่องลามก เรื่องเพศหรือ สิ่งที่ตลกขบขันเท่ากับการรักษาบำบัดความตึงเครียด (Healing) การหัวเราะหรือการใช้คำพูดลามก การพูดเรื่องเพศซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน คือการล้อเลียนเสียดสีทางการเมือง การเมืองของรัฐศีลธรรม รัฐที่พยามบอกว่าเราคือประชาธิปไตย
การหัวเราะ การพูดเรื่องลามก เรื่องเพศ เป็นรูปแบบของการใช้สติปัญญาหรือไหวพริบ ในการตอบโต้กับบางสิ่งบางอย่าง บางครั้งใข้ตอบโต้กับการถูกกดขี่ ควบคุม เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย ความตึงเครียดในทางสังคม สิ่งเหล่านี้คือรูปแบบของการนอกกรอบ ชวนให้ถกคิด ตั้งคำถาม หรือการขบถต่อบางสิ่ง เป็นต้น
หากจะถามต่อว่า ทำไมสิ่งดังกล่าวข้างต้น มันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะมันถูกเชื่อมโยงกับกาละและเทศะ (พื้นที่และเวลา) มันถูกเชื่อมโยงกับบุคคลและสถานภาพของบุคคล คนจน คนไร้การศึกษาหรือแม้แต่ความเป็นคนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แน่นอน เพราะการใข้ภาษาที่ง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ใช่ภาษากวีที่ใช้เปรียบเปรย เข่น การใช้แท่งหยก แทนอวัยวะเพศชาย หรือวงแหวนมังกร แทนอวัยวะผู้หญิง ที่ปรากฏในคัมภีร์เต๋า หรือในใช้ลึงค์ กับโยนี ที่แทนเทพผู้ชายผู้หญิงอันศักดิ์สิทธิ์ นี่ยังไม่นับคำเรียกอวัยวะของการสืบพันธุ์ที่หลากหลายในหลายวัฒนธรรม ทั้งไส้กรอก มะเขือ กุนเชียง ปลาชะโด หอยกาบ หอยเป๋าฮื้อ หรือการเรียกอัณฑะ ทั้งลูกนัท (อังกฤษ) พวงไข่ (ไทย) อโวคาโด (เม็กซิกัน) …มันคือเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม
การแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะการหัวเราะ การพูดเรื่องลามก เรื่องเพศ การพูดหยาบคาย ได้กลายเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะแบบแผนของมาารยาทที่ถูกกำหนด บ่อนเซาะรัฐแห่งศีลธรรมที่ต้องสร้างความสะอาด ความบริสุทธิ์ กลายเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะกับความซีเรียส เคร่งขรึมจริงจัง ในสิ่งที่ถูกมองว่าคือความไร้สาระหรือไม่จริงจังของมนุษย์ ทั้งที่มันเป็นด้านธรรมขาติของมนุษย์ กิน ขี้ ปี้ นอน..ดังนั้นการซุกซ่อนของสิ่งเหล่านี้ในพิ้นที่ทางสังคม รายการทีวีรอบดึก ช่องทางออนไลน์ที่ควบคุมไม่ได้ นิทาน ภาพยตร์ เพลง และอื่นๆ ล้วนสะท้อนความปรารถนาที่อยู่ภายในของมนุษย์
ดังนั้น ระบบทุนนิยมและโลกสมัยใหม่ไม่ชอบให้มีการหัวเราะ พูดเรื่องเพศ หรือแสดงออกซึ่งสิ่งลามกมากเกินไป เพราะเวลาของการทำสิ่งเหล่านี้ ควรจะต้องถูกนำมาใช้ในการทำงานสร้างผลผลิตในทางเศรษฐกิจมากกว่า …ทั้งที่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้มันสามารถทำให้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมความบันเทิงได้เข่นเดียวกัน
หากเราลองมองย้อนกลับไปดูในยุคกลางของตะวันตก ในหนังสือเรื่อง Carnival ของมิคาเอล บัคติน นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย คำว่าคาร์นิวัล (Carnival) ของบักตินคือการล้อเลียน ลักษณะกลับหัวกลับหาง หรือการกระทำอะไรก็ตามที่ตรงกันข้ามกับระเบียบของศาสนา เป็นการปลดปล่อยมนุษย์เพียงชั่วคราวในงานพิธีกรรม ก่อนที่ระเบียบที่เคร่งครัดจะกลับมา ที่ได้เชื่อมโยงให้เห็นบทสนทนาของการตอบโต้กับความเคร่งเครียดของคริสต์ศาสนากับพื้นที่ของการระบายของชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ในช่วงยุคกลาง งานคาร์นิวัลจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นการระบายความอัดอั้นอันมากล้นของมนุษย์ที่ถูกกดขี่ ทั้งการดื่มกิน เต้น ถ่มน้ำลาย พูดหยาบคาย หัวเราะขบขัน เยาะเย้ยถากถางกัน แสดงออกเรื่องเพศกัน การตด การเรอ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็เป็นการแต่งตัว การสร้างหุ่นขนาดมหึมาตัวอ้วนกลมในขบวนแห่หรือขบวนพาเหรด ที่ทำให้เห็นความต้องการที่มากมาย ล้นเหลือของมนุษย์ ในอีกด้านหนึ่งผมมองว่า Carnival ของบักติน ไม่ใช่แค่การดำรงอยู่แบบชั่วคราวของเสรีภาพที่จะต้องกลับมาสู่ระเบียบหลังงานคาร์นิวัลสิ้นสุด แต่มันได้สร้างสภาวะของการกลายเป็น (Becoming) ที่วิถีชีวิต การมองโลก สิ่งที่เป็นเสรีภาพที่แท้จริงจะเข้ามาแทนที่สิ่งที่เป็นอยู่เดิม
ภาวะของการหัวเราะ การล้อเลียนเสียดสี การพูดเริ่องเพศ เรื่องลามกที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่ความหมายใหม่ๆ ผมนึกถึงงานวรรณกรรมแนวล้อเลียนเสียดสี ที่ใช้การล้อเลียนเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ หรือมีเรื่องเพศซุกซ่อนอยู่ เช่น นิทานก้อมหรือนิทานขนาดสั้นของอีสาน ที่เป็นเรื่องเพศที่ไร้กรอบ ลูกเขยแม่ยาย คนแก่กับเด็ก พ่อผัวลูกสะใภ้เป็นต้น หรือมรสพพื้นบ้านอย่างหมอลำ ที่มีการดึงเอาเรื่องเพศมาใช้ในกลอนลำ เนื้อเพลง หรือการสอย ให้ทั้งหมอลำ หางเครื่อง นักดนตรี หมอแคน รวมถึงผู้ชม ปลดปล่อยจินตนาการทางเพศของตัวเอง และระบายเสรีภาพของตัวเองที่ถูกกฏเกณฑ์ทางสังคมควบคุม แม้จะชั่วคราวก็ตาม ซึ่งเราพบเห็นได้ในพิธีกรรมของชาวอีสานที่มีเรื่องเพศ ที่เป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณืเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งตุ๊กตาบักแด่น ตุ๊กตาร่วมเพศ ปลัดขิก ในบุญบั้งไฟ ผีตาโขน
...ผมชอบงานของบัคตินซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากงานคนซิ่งอีสาน ร่างกายอัตลักษณ์และกามรมณ์ที่ผมเป็นผู้ช่วยวิจัย อ.ดร.พัฒนา กิติอาษาและอ.สุริยา สมุทคุปติ์ งานของบัคตินเป็นสิ่งที่ขยายพรมแดนทางความคิด มุมมองของมนุษย์ต่อตัวเอง โลกและจักรวาลที่จะนำไปสู่คุณค่าใหม่และการเรียนรู้ของมนุษย์ การมองปรากฏการณ์อย่างเข้าใจ เข้าบริบท เข้าใจคน และไม่มีอคติหรือความเกลียดชัง ใช้สิ่งเหล่านี้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มองอย่างรอบด้าน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น