วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

From Archaeology of knowledge to Genealogy


จากการศึกษาแบบโบราณคดีความรู้ (Archaeology of Knowledge) มาสู่การศึกษาแบบวงศาวิทยา Genealogy ประวัติศาสตร์ความรู้กับอำนาจ

                                                                                                              โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
วิธีการแบบวงศาวิทยาหรือ Genealogy เป็นวิธีการศึกษาที่พัฒนามาจากงาน Archaeology of knowledge  ที่ยังมีข้อบกพร่องบางประการ ในการมองประวัติศาสตร์ออกเป็นชั้นๆ ของชุดเวลาของวาทกรรม ที่อาจเรียกว่า Serialism โดยการตีแผ่ชั้นต่างๆชุดต่างๆของช่วงเวลาและวาทกรรม ในการเปิดเผยให้เห็นองค์ประกอบต่างๆที่ดำรงอยู่ด้วยกัน (Coexistence) โดยการอธิบายคุณลักษณะ กฎเกณฑ์ของวาทกรรมหนึ่งๆที่มาประสานกัน รวมทั้งภาษาและวาทกรรมในตัวของมันเอง โดไม่ได้นำเงื่อนไขทางสังคม การเมือง ปัจจัยแวดล้อมมาพิจารณาด้วย ซึ่งทำให้ฟูโก ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นพวกโครงสร้างนิยมมากกว่า แม้ว่าเขาจะพยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องของสรรพสิ่งต่างๆ ภายใต้ความหักเห แตกดับและการเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลาของสิ่งต่างๆก็ตาม เพราะว่าเขาปฏิบัติราวกับว่าภาษาหรือวาทกรรมนั้นเป็นอิสระจากบริบททางสังคมทั้งมวล  วงศาวิทยาให้ความสนใจกับการศึกษาร่างกายของมนุษย์ที่ถูกสร้างหรือบงการจากอำนาจของวาทกรรมในประวัติศาสตร์ กลไกลเหล่านี้ที่ทำให้มีตัวตนของมนุษย์ขึ้นมา ในรูปแบบที่อ่อนไหว ไม่มั่นคงและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในยุคสมัยหนึ่งๆ ไม่ได้มีความมั่นคงต่อย่างใด การวิเคราะห์แบบวงศาวิทยา จึงเป็นการวิเคราะห์โดยการจัดวางตัวเองให้ยืนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของช่วงเวลาและเงื่อนไขสังคมบางประการโดยไม่แยกตัวออกจากวาทกรรมหนึ่ง ที่สามารถมองย้อนกลับไปยังวาทกรรมอื่นๆ เช่น ผู้ศึกษายืนอยู่ในช่วงเวลาของการพูดถึงเรื่องแร่โพแทช  ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุในปัจจุบัน ที่กำลังเป็นข้อถกเถียง ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ในทางเทคโนโลยี ในทางกฎหมาย เพื่อที่จะวิพากษ์การจัดการทรัพยากรเกลือและโพแทช ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เป็นต้น
สิ่งที่วงศาวิทยาให้ความสำคัญก็คือ การปฏิบัติการของวาทกรรมต่างๆ  โดยเขาพัฒนาแนวความคิดเรื่องอำนาจขึ้นมา ซึ่งเป็นการขจัดข้อบกพร่องของArchaeology of Knowledge ของเขา ที่ละเลยเรื่องของระบอบอำนาจ (Regime of power) ของวาทกรรม โดยการให้ความสำคัญกับรูปแบบ แนวคิด และกฎเกณฑ์ของวาทกรรม และการสร้างความจริง แต่ในวงศาวิทยาของเขาต้องการบอกว่า ความจริงเป็นสัจจะได้ ก็เพราะอำนาจบางอย่างถูกสร้างขึ้นไปพร้อมกันกับความรู้ ฟูโกเรียกมันว่า ระบอบของความจริง (Regime of Truth) สิ่งที่เขาทำคือการเปิดเผย ส่วนย่อยต่างๆที่ถูกบดบง หรือควบคุม สกัดกั้น ด้วยอำนาจของวาทกรรม ที่พวกเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือความจริง
การวิพากษ์ประวัติศาสตร์แบบมวลรวมหรือ ประวัติศาสตร์แบบรวบยอด ( Total History ) ที่บ่งชี้และแสดงความหมายร่วมกันของการปรากฏขึ้นของยุคสมัยทั้งหมด  ซึ่งได้สร้างระบบความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียว (Homogenous Relation ) กับพวกเราในความคิดทางประวัติศาสตร์  โดยการก้าวข้ามมาสู่ประวัติศาสตร์แบบใหม่ ภายใต้ การแบ่งแยก, การชี้ให้เห็นข้อจำกัด, ความแตกต่างของระดับชั้น,ลำดับของช่วงเวลาที่เฉพาะ และประเภทของความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนเป็นไปได้ เขาได้เสนอสิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์เฉพาะGeneral History ในความสัมพันธ์ที่แตกต่างข้างต้น ในพื้นที่ที่กระจัดกระจาย (Space of dispersion)และแตกต่างหลากหลาย      โดยการเคลื่อนไปสู่การศึกษาแบบที่เรียกว่าวงศาวิทยา (Foucault :1972,9-10) ในรูปแบบของความไม่ต่อเนื่อง (Discontinous) สิ่งที่คิดได้ไม่ถึง (Unthinkable) เหตุการณ์ที่กระจัดกระจาย (Dispersed event) และ ความบังเอิญ (accident)  ที่จำกัดและลดทอน การเปิดเผยตัวของเหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง โดยการตีแผ่ให้เห็นความไม่ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ทางความคิด  ความสัมพันธ์ของชุดของเรื่องราว หมวดหมู่ ( Series หรือ table) ที่เพิ่มมากขึ้นในจำนวนของลำดับชั้นและการแบ่งแยกพวกเขาในความเฉพาะของช่วงเวลา  ประวัติศาสตร์ทางความคิด  จึงเป็นสิ่งที่ค้นหา ความไม่ต่อเนื่อง ซึ่งประวัติศาสตร์ การปรากฏตัวของสิ่งเหล่านี้กับสิ่งที่ถูกละทิ้ง ละเลย สิ่งที่มีการปะทุ แตกแยกของเหตุการณ์ ในความนิยามชื่นชอบกับโครงสร้างที่มั่นคง (Foucault,1972;4) นั่นก็คือ การต่อต้านศูนย์กลางขององค์ประธาน (Subject) และความคิดที่ฝังแน่นในคู่ทวิลักษณ์ คู่ตรงกันข้ามของนักมานุษยวิทยาสายโครงสร้าง( Structural Anthropology ) และมนุษยนิยม(Humanism) ที่ให้ความสำคัญกับตัวมนุษย์และตอกย้ำความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ในความมีเหตุผล การสร้างความคิดเชิงเดี่ยว เกี่ยวกับการจัดวางคุณค่า โลกทัศน์ที่เชื่อมโยงกับอารยธรรมของมนุษย์ ที่ถูกทำลายและทำให้หลุดจากอำนาจของศูนย์กลางที่เหนียวแน่น ในการปฏิบัติของ นิชเช่ (Neitze) ในสิ่งที่เรียกว่า วงศาวิทยา ที่ปะทะกับเรื่องเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ (Telos of Mankind)  และเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นองค์ประธานของประวัติศาสตร์แต่อย่างใด โดยสิ่งที่ฟูโก ได้นำเสนอเป็นพื้นฐานในงานArcheology ของเขาก็คือ การตั้งคำถามกับประวัติสาสตร์ที่ไม่เคลื่อนไหว เขาเรียกว่าสิ่งที่เป็นตัวอย่างซึ่งเราเชื่อมั่น ชื่นชมอย่างแนบแน่นและไม่ตั้งคำถามหรืออนุสาวรีย์ที่ไร้เสียง ( Monument )  ที่ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้ทำงานบนสิ่งที่เรียกว่า เอกสารหลักฐานต่างๆเช่น หนังสือ หรือ Ouvre  ซึ่งรวบรวมและผลิตซ้ำองค์ความรู้ต่างๆ สำหรับการอ้างอิงและการพูดถึง ปัญหาสำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เรียกว่า เอกสารหลักฐานสู่การเป็นเหมือนตัวอย่างที่คนยกย่องชื่นชม ทั้งที่หนังสือก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า สนามที่ซับซ้อนของบรรดาวาทกรรมต่างๆที่ประกอบเข้าด้วยกันภายในเอกสารชิ้นหนึ่งๆ ที่เราไม่เคยตั้งคำถาม เพราะเราเชื่อว่ามันคือความรู้ ความจริงของเรา สิ่งที่พูโก พูดถึงความรู้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นๆไปได้ที่เราสามารถพูดภายในสนามปฏิบัติการของวาทกรรม (Foucault:1972,182)  ที่ถูกทำให้กลายเป็นความจริงเฉพาะ  ดังนั้นความรู้ จึงเป็นเสมือนพื้นที่ ที่องค์ประธานสามารถจับยึดตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในการพูดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่น วาทกรรมทางการแพทย์ของหมอ วาทเรื่องทรัพยากรแร่ธาตุของนักธรณีวิทยา วาทกรรมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของนักสิ่งแวดล้อม ความรู้เป็นเช่นเดียวกับสนามของการเชื่อมประสาน  ที่เกิดขึ้นภายใต้สิ่งที่ถูกพูดถึงและแนวความคิดเบื้องหลังที่ปรากฏหรือเผยตัวออกมาและสุดท้ายความรู้ เป็นสิ่งที่ถูกนิยามโดยความเป็นไปได้ของการใช้ และการจัดหาอย่างเหมาะสมโดยวาทกรรม ที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งที่ถูกพูดขึ้นมาใหม่ กับสิ่งที่ถูกพูดมาแล้ว การเชื่อมโยงกับวาทกรรมอื่นๆหรือการปฎิบัติอื่นๆที่ไม่ใช่ Discursive Practices แต่เป็น Non-Discursive Practice ที่อยู่นอกเหนือการพูดถึงวาทกรรม เป็นเรื่องของสถาบันที่รองรับความจริงของวาทกรรม ให้การปรากฏตัวของวาทกรรมเป็นไปได้
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่างานวงศาวิทยาของฟูโก  ต้องการปะทะกับสิ่งที่เรียกว่า อำนาจและความรู้ โดยเน้นไปทีงาน Discipline and Punishment  เป็นสิ่งที่อยู่บนรอยทางของแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจ ที่ให้ความชัดเจนกับการให้ความสัมพันธ์ระหว่างความแตกต่างของ Archaeology และ Genealogy  โดยมองไปที่การผลิตความรู้และอำนาจ ที่ควบคุมจัดระเบียบและวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์
ในงานของ Rudi Visker (1995) เรื่อง Genealogy as Critiques ในบทความจริงของวิทยาศาสตร์ และความจริงของประสบการณ์ ฟูโกต้องการต่อต้านประวัติศาสตร์ (Counter-History) และวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่ซึ่งขัดแย้ง ตรงกันข้าม กับความทรงจำ  การต่อต้านความทรงจำ (Counter-memory) และเปิดเผยว่าความทรงจำเช่นเดียวกับความหลงลืม (Visker,1995;17)  ซึ่งความหมายของประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่มีสมมตติฐานเบื้องต้น ของระยะทางที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ระหว่างช่วงยุคสมัย ซึ่งมันเพิ่มขึ้นจากความหลงลืมเกี่ยวกับความหมายดั้งเดิมของอดีตและความหมายในอดีตที่ไม่สามารถหยิบฉวยในช่วงเวลาปัจจุบัน
การสร้างความเป็นอื่น (Aliennation) ในการป้องกันความรู้บางอย่าง จากความรู้อื่นๆของเรา อะไรที่เราเชื่อ เรารู้  เช่น เรื่องของความเจ็บป่วยทางจิต(mental illness ) ที่ทำให้เป็นอื่นของความบ้า การทำให้เป็นอื่นในวิชาจิตวิทยา ที่มันสร้างความเป็นไปได้ของตัวมันเอง (Visker:1995,21) เหมือนเรื่องของโปแตช ซึ่งสร้างความเป็นอื่นให้กับเกลือ โดยสร้างความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยาการเป็นแร่ ไม่เป็นแร่ กีดกันสิ่งเหล่านี้ออกจากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ  สถานะของเกลือจึงไม่ถูกพูดถึง ในขณะที่โปแตช และเกลือหินซึ่งเป็นแร่ชนิดใหม่ ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในการนำมาพัฒนาประเทศ ภายใต้การลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ทุน เทคโนโลยี และการไม่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากการผลิตเกลือแบบพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมแบบต้มแบบตากขนาดกลาง  รวมถึงสถาบันต่างๆ ทางการเมือง กฎหมายที่ทำหน้าที่สอดรับและสนับสนุน ดังนั้นประติศาสตร์ของเกลือและโปแตชจึงสร้างความเป็นไปได้ให้กับวิชาธรณีวิทยาเป็นต้น
ดังนั้นความต้องการต่อต้านประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเริ่มแรกในงานสืบค้นความรู้และลำดับชั้นทางประวัติศาสตร์ของเขา (Archaeology of Knowledge) และงานที่มีการสืบค้นอย่างเป็นระบบที่พัฒนาในช่วงต่อมาของเขา คือ วงศาวิทยา หรือสาแหรกความรู้ (Genealogy of Knowledge) การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ที่เป็นปฏิปักษ์หรือความขัดแย้งกับความทรงจำ ที่เขาเรียกกว่า ความทรงจำที่ถูกหลงลืม วงศาวิทยาไม่ได้อ้างถึงเฉพาะความไม่ต่อเนื่อง ที่ทำลายมายาคติ ความเพ้อฝัน ความหลอกลวง ของวิวัฒนาการการพัฒนาเท่านั้น แต่ยังตอกย้ำหรือเผยให้เห็นความต่อเนื่องที่ลึกมากกว่า ที่ซึ่งเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงส่งผ่านอย่างเป็นลำดับ
ฟูโก ต่อต้านประวัติศาสตร์ ของลัทธิที่ยึดถือความจริง(Realist) ของการตีความหมายด้วยตัวเอง การพึ่งพาการดำรงอยู่ของวัตถุที่เป็นอิสระทางวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับวิชาจิตวิทยา และ ล่อลวง จักจูงไปยังการเลือกสรรและการสร้างอุดมคติ ในการอ่านประวัติศาสตร์ในการปรากฏของมัน  การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์ (Human Science)
การค้นพบเกี่ยวกับการปิดปังอำพราง ความจริงของวัตถุ (Real Object) ความบ้า คือสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่บน de facto ร่องรอยของความจริงที่เปิดเผยและเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นอื่น คือคำพูดหรือวลีหนึ่งที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นๆ การห้าม การโต้แย้งหรือการสกัดกั้น พวกเขา ในการแผ่ขยายในแต่ละวลี ที่อ้างถึงความสมบูรณ์กับทุกๆสิ่ง ออกจากการไม่พูด(Deleuze:1986,2) ซึ่ง de facto          ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจาก de jure ได้ เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยทางจิต คือ ความเป็นอื่นของความบ้า ในช่วงเวลาหนึ่งที่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์กำลังมีอิทธิพล อาการทางจิตมีลักษณะไม่แตกต่างจากคนปกติ มันไม่ใช่ความเจ็บป่วย หรือความไร้เหตุผล คนที่เป็นโรคจิต จึงไม่ต้องอยู่รวมกับพวกเบี่ยงเบน ผิดปกติ เช่นนักโทษ ในคุก แต่มีโรงพยาบาลสำหรับดูแล บำบัดฟื้นฟู ให้พวกเขากลายเป็นคนปกติและออกสู่สังคมได้ ซึ่งแตกต่างจากความคิดเรื่องความบ้าในยุคก่อนๆ ทำให้ความบ้าไม่ถูกพูดถึงหรือถูกทำให้เป็นอื่นโดยวาทกรรมทางจิตเวช จิตวิทยา จิตวิเคราะห์ ที่สร้างความรู้ใหม่ในสังคม
แนวทางการศึกษาแบบวงศาวิทยาของฟูโก จึงเป็นเสมือนการเปิดพื้นที่ ( Open Space )สนามของพลังอำนาจ ( The Field Force ) ฉากหรือบทที่สามารถกล่าวซ้ำ ( Repeatable Scence ) ที่อาจสรุปสั้นๆได้ว่า มันเหมือนหนังสือที่ไม่ถูกกีดกันกับการแสดงตัวมันเอง ที่เป็นทั้งการต่อสู้และอาวุธ  ยุทธศาสตร์และผลกระทบ การดิ้นรนต่อสู้ และการแข่งขัน หรือบาดแผลร่องรอยของความเสียหาย  เช่นเดียวกับการแสดงสถานการณ์และการหวนระลึกเกี่ยวกับอดีต หรือการเผชิญหน้าอย่างไม่ราบเรียบและฉากที่สามารถพูดซ้ำ
การเชื่อมต่อของฟูโก ระหว่างอำนาจกับความรู้ เช่นเดียวกับที่เขาบอกว่า ไม่ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ปราศจากความเกี่ยวข้องกันในการประกอบสร้างของสนามแห่งความรู้ หรือความรู้อื่นๆ ที่ไม่แสดงสมมติฐานล่วงหน้า และประกอบสร้างที่ช่วงเวลาเดียวกันกับความสัมพันธ์ของอำนาจ (Visker:1995,57)
แนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบของความรู้และอำนาจ เป็นสิ่งที่มีความหมายกับการใช้อำนาจ (exercise power) ในช่วงเวลาเดียวกันกับกฎเกณฑ์ที่จัดตั้งความรู้ เช่นเดียวกับการป้องกันรักษาความรู้ ที่อำนาจผลิตมัน เหมือนความรู้ทางมนุษยศาสตร์กับระเบียบวินัย หรือกฎเกณฑ์ของอำนาจ (The Discipline of power )  ที่ทำงานไปด้วยกัน
ฟูโกเปลี่ยนผ่านจากArchaeology  ไปยัง Genealogy ซึ่ง Archaeology ดูเหมือนจะถูกบังคับกับเอกสิทธิ์ ในรูปแบบที่เฉพาะของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในความสามารถปฏิเสธเช่นเดียวกับสิ่งที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ หนทางที่ซึ่งมนุษยศาสตร์ สามารถจับยึดตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขา ภายในขอบเขตทางความรู้เหล่านี้ การมองยังความสัมพันธ์ของความรู้ อำนาจและวิทยาศาสตร์
เมื่ออำนาจกำหนดความรู้ การขยายตัวของความรู้คือการขยายตัวของอำนาจในวาทกรรม (Visker:1995,67)
วาทกรรมทางการแพทย์ เช่นเดียวกับการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสนามที่เฉพาะของวัตถุ มันถูกเชื่อมโยงกับการปฏิบัติที่เป็นภายนอกกับมัน ดังนั้นการปฏิบัติทางอำนาจ ยืนอยู่บนความสัมพันธ์ภายนอกกับความรู้ ที่พวกเขาสร้างความเป็นไปได้ ในความสัมพันธ์ที่เฉพาะระหว่างความรู้และการอ้างอิงภายนอก นี่คืออำนาจที่กีดกันปัจเจกบุคคลของความไร้ตัวตนของพวกเขา ที่จัดวางพวกเขา ในแสงสว่างอื่นๆ การให้พวกเขาพร้อมกับจำนวน หรือตราประทับ เอกสารหลักฐาน ที่พวกเขาอาศัยอยู่และรูปแบบพื้นฐานของความสามารถอธิบายพรรณนาใหม่ (New describability)
ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเทคนิคของอำนาจ  มันแสดงการอ้างอิงเกี่ยวกับ ประเภทชนิดที่แน่นอนของความรู้ กลไกลทางโครงสร้าง โดยความสัมพันธ์ของอำนาจที่สร้างความเป็นไปได้ของ Corpus of Knowledge ที่เป็นไปได้และความรู้ที่แผ่ขยาย
พื้นฐานของการเชื่อมต่อ การยอมรับในความจริงที่ว่า อำนาจ จัดการ จัดวาง ความรู้ ไปยังขอบเขตของวัตถุ แต่ในความจริงที่ตัวมันเองผลิต ขอบเขตของวัตถุนั้น ในการเชื่อมโยงภายใน ในยุทธศาสตร์ของอำนาจที่หลากหลาย และการจัดการใช้มัน นั่นคือการเชื่อมโยงระหว่างอำนาจกับความรู้ที่เป็นไปได้ มันกีดกัน ขุมขังควบคุมความรู้หนึ่งไม่ให้ปรากฏ พร้อมๆกับมันสร้างองค์ความรู้หนึ่งขึ้นมาด้วย
แนวความคิดของฟูโก และการวิเคราะห์ของเขาช่วยเหลือสนับสนุน กับเรื่องของความรู้และอำนาจ ความแตกหัก การทำลาย พร้อมกับรูปแบบธรรมเนียมที่มองว่า อำนาจเป็นในเชิงลบ เป็นเรื่องของการกีดกัน บังคับ สกัดกั้น ควบคุม  ตัดตอน ปิดปัง (อ้างจาก visker:1995,70) เป็นอำนาจในแนวตั้งฉาก จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง จากบนลงล่าง  นำไปสู่แนวความคิดเรื่องอำนาจที่ปรากฏในรูปของอำนาจเชิงบวก ในการมองอำนาจในเชิงการผลิตของความจริง (Productive) และการควบคุม (Repressive)  ฟูโก ยกตัวอย่างกรณีของร่างกาย  โดยเฉพาะเรื่องความบ้า ที่ร่างกายของมนุษย์ถูกจัดการหรือจัดระเบียบและการต่อต้าน ขัดขืน ร่างกายคือสิ่งที่พูด อย่างมีทิศทางตรงในสนามทางการเมือง ร่างกายซึ่งถูกลดทอนไปยังการเป็นวัตถุทางเศรษฐกิจ  เทคโนโลยีทางการเมือง และกายวิภาค ความเข้าใจเรื่องร่างกายซึ่งมีประวัติศาสตร์ ที่ได้รับมาจากวงศาวิทยาของ นิชเช่ เกี่ยวกับศีลธรรมจรรยา (Moral) ที่สนับสนุนกับการทำงานของฟูโก ในเรื่องจุลฟิสิกส์ของอำนาจ (Microphysics of Power) ที่ซึ่งเป็นสนามของความถูกต้อง ที่ตั้งมั่นในความคิดความเข้าใจ ระหว่างหน้าที่ที่สำคัญเหล่านี้ (เครื่องมือและสถาบัน) และร่างกายของพวกเขาเอง กับ ความเป็นวัตถุเครื่องมือของพวกเขา และพลังอำนาจของพวกเขา (Visker,1995:7,1-72)  นั่นก็คือ อำนาจที่กำกับผู้คนให้อยู่ในบรรทัดฐาน ระเบียบกฎเกณฑ์เดียวกัน  โดยควบคุมลงไปถึงระดับชีวิตประจำวัน การปฎิบัติของร่างกายมนุษย์ ที่ถูกทำให้เป็นวัตถุที่สามารถควบคุม จัดวางและใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นการใช้อำนาจควบคุมโดยผ่านการวาง กำหนดหรือสร้างบรรทัดฐาน และใช้ระเบียบวินัย เป็นเครื่องมือสำคัญทางอำนาจที่จะกำกับ ควบคุมผู้คนในสังคม
วิธีการวงศาวิทยาของนิชเช่ มันวางอยู่เลยไปจาก Archaeology ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ไม่ใช่ปฎิบัติการของวาทกรรม (Non-discurive practices) ของโครงสร้างอำนาจทางสังคม นั่นคือการให้ความสนใจกับเงื่อนไขบริบท ที่อยู่ด้านนอกของวาทกรรม ที่เป็นเรื่องของสถาบัน ในการผลิตซ้ำวาทกรรม ความรู้และอำนาจ
ฟูโก แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ของเขาเกี่ยวกับระเบียบวินัย เช่นเดียวกับ วงศาวิทยา ที่เกี่ยวกับชุดของการประยุกต์ใช้เทคนิควิทยาการที่เฉพาะกับร่างกาย การควบคุม จัดวางร่างกาย โดยระเบียบกฎเกณฑ์
การทำงานของปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ของอำนาจ มันเป็นสภาพเงื่อนไขของความชัดเจน ภายใต้สิ่งที่ซึ่งวิพากษ์เกี่ยวกับอำนาจ ดังนั้นการศึกษากระบวนการทางอำนาจมันจึงทำงานไปพร้อมกับการวิพากษ์อำนาจไปพร้อมกันด้วย
อำนาจผลิตความจริง ก่อนที่มันจะบีบบังคับควบคุม “The Formula Power Produces Reality before it  reality” นั้นก็คืออำนาจเป็นสิ่งที่ถูกผลิตและบีบบังคับในช่วงเวลาเดียวกัน อำนาจจึงทำงานไปพร้อมกับการผลิตความรู้ความจริง และการใช้อำนาจไปพร้อมกัน เช่นกรณีของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี การจัดการในพื้นที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการสร้างความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าโพแทช ที่บรรดานักพัฒนาเอกชน บริษัทข้ามชาติ นักวิชาการ และอื่นๆ พยายามสร้างขึ้นเพื่อจัดการทรัพยากรใต้พื้นดินแห่งนี้ น่าสนใจว่า บรรดาโลกทัศน์ที่แตกต่างในเรื่องของเกลือ ในพื้นที่หนองหานที่เป็นเกลือแบบพื้นบ้าน ใช้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน และทำปลาร้าเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับวิถีประมงของคนลุ่มน้ำหนองหาน กับเกลือแบบบ้านดุง ที่เป็นเชิงพาณิชยกรรม  เพื่อการค้าให้กับอุตสาหกรรมขนาดเล็กต่างๆ เช่นโรงงานน้ำปลา โรงน้ำแข็ง โรงงานผลิตไอศกรีม และชาวบ้านพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่มองเรื่องของเกลือและโพแทช เป็นหายนะของชาวนาอีสาน ที่จะทำให้แผ่นดินทรุด ดินเค็มและน้ำเค็ม  ความคิดและโลกทัศน์ที่แตกต่าง วาทกรรมที่หลากหลายเหล่านี้ มันมารวมกัน ประสานกันในสถานการณ์ที่เฉพาะได้อย่างไร จนเกิดเป็นวาทกรรมใหม่ขึ้นมา เช่น การร่วมมือกันระหว่างเกลือพื้นบ้านและเกลืออุตสาหกรรมแบบพาณิชย์ เพื่อต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ในการทำเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินในอีสาน อันนำไปสู่แนวคิดเรื่องของการจัดการเกลือ และนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับเกลือ มันถูกสร้างองค์ความรู้ตรงนี้มาได้อย่างไร ภายใต้ข้อถกเถียงระหว่างนายทุนเกลือแบบพาณิชย์และชาวนาในอดีต ที่เป็นคู่ตรงกันข้ามกัน หรือรัฐบาล ข้าราชการ อุตสาหกรรมจังหวัด ที่ไม่สนับสนุนการทำเกลือแบบพาณิชย์ที่ใช้การสูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตาก เนื่องจากทำลายสภาพแวดล้อม และเกิดแผ่นดินเป็นโพรงด้านล่างหลายแห่งจึงต้องประกาศปิด แต่กับสนับสนุนการำเหมืองแร่โพแทช โดยให้เหตุผลถึงความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี และการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ซึ่งแตกต่างขัดแย้งกันมันมารวมอยู่ด้วยกัน ประสานกันภายใต้หัวข้อของการประชุมสัมมนาได้อย่างไร ทั้งที่มันมาจากฐานความคิดและโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน ความรู้ตรงนี้ถูกผลิตโดยนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชนหรือแม้แต่ในงานเขียนของนักมานึษยวิทยา ที่ทำให้มันมีอำนาจพลังขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งที่มันคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านบอกเล่าถ่ายทอดกัน เช่นตำนานผาแดงนางไอ่ มันถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการต่อสู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอย่างไร
การศึกษารูปสัญญะที่ล่องลอยกับประเด็นทางมานุษยวิทยา
    ภาษาเป็นตัวกำหนดความคิดของมนุษย์หรือเป็นสิ่งที่จำลองความคิดของมนุษย์ ยังคงเป็นคำถามและข้อถกเถียงที่หาคำอธิบายต่างๆได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระนั้นก็ตามในสภาวะปัจจุบันเราจะพบว่า ภาษาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีพลังอำนาจและอิทธิพลอย่างมหาศาลในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่สรรพสิ่งต่างๆมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้อย่างกว้างขวางรวดเร็วทั้งข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและทุน ทำให้พลังอำนาจที่ไร้ขอบเขตของโลกมีอิทธิพล อย่างมหาศาลและครอบงำทั่วทุกพื้นที่  แน่นอนว่าโลกทุกวันนี้ มนุษย์ทุกที่ล้วนสามารถสื่อสารหรือเข้าใจรับรู้กันได้ด้วยภาษาและกฎเกณฑ์ชุดเดียวกัน ที่เราเรียกกันว่า พูดภาษาเดียวกันแม้จะอยู่คนละทวีปหรือคนละซีกโลกก็ตาม
นักมานุษยวิทยาเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดแบบโครงสร้างนิยม(Structuralism)  เป็นที่นิยมและแพร่หลายในแวดวงวิชาการมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่6(ดูธเนศ วงษ์ยานนาวา,2528)  ซึ่งนักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยมให้ความสนใจกับการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง(Structural linguistics) ในการใช้ข้อมูลทางการสื่อสาร(Communication)ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา สัญญะ[1] สัญลักษณ์  เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม  แนวคิดแบบโครงสร้างนิยมโดยหลักการแล้ว ปฎิเสธความเป็นองค์ประธานของมนุษย์(subject) โดยเชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้อยู่ในสภาวะขององค์ประธานอันอิสระแต่อย่างใด แต่มีความสัมพันธ์และขึ้นอยู่กับลักษณะที่เรียกว่าโครงสร้าง(Structure) ที่เป็นโครงสร้างที่อยู่เหนือกาละเทศะ(เวลาและสถานที่) ซึ่งครอบคลุมและครอบงำมนุษย์อยู่ในปัจจุบัน
นักมานุษยวิทยาที่สำคัญอย่าง Claude Levi-Strauss นักจิตวิเคราะห์อย่างJacque Lacan นักปรัชญาและวรรณดีวิจารณ์อย่างJacques Derrida นักสัญวิทยาอย่าง Roland Barth และแม้แต่นักปรัชญาประวัติศาสตร์อย่าง Michel  Foucault  ต่างก็ได้รับอิทธิพลจากความคิดของสำนักโครงสร้างนิยม เพียงแต่ว่าบางท่านได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับหน่วยสัญญะคือ รูปสัญญะและความหมายสัญญะที่แตกต่างกัน  ในขณะที่สำนักโครงสร้างนิยมจะให้ความสำคัญกับความหมายสัญญะ(Signified)  อันเป็นเรื่องของระบบคิด  แต่สำนักหลังโครงสร้างนิยม(Post-structuralism)จะให้ความสำคัญกับรูปสัญญะ(Signifier) มากกว่าเพราะเชื่อว่ารูปสัญญะสามารถปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากความหมายสัญญะที่ดำรงอยู่แล้วล่องลอยไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปสัญญะหรือความหมายสัญญะก็ตาม ล้วนแต่เป็นผลมาจากการถูกกำหนดให้เป็นทั้งสิ้น(arbitrary)ไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความหมาย(Signifiance)มากกว่าการให้ความสำคัญกับโครงสร้าง/รหัส ดังเช่นที่สำนักโครงสร้างนิยมกระทำกัน
ความคิดของนักคิดสกุลโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม  มองว่ามนุษย์เป็นเพียงร่างทรงของภาษาหรือโครงสร้างชุดหนึ่งที่กำกับอยู่ มนุษย์ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นองค์ประธานของสรรพสิ่งต่างๆอีกต่อไป มนุษย์จึงถูกลดทอนสถานภาพและบทบาทในการเป็นผู้กระทำและถูกกระทำไปพร้อมๆกัน  ผู้ที่มีอิทธิพลต่อสำนักคิดโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม ที่สนใจศึกษาในเชิงสัญศาสตร์(Semiotic)หรือสัญวิทยา(semiology)[2]ก็คือ Ferdinan de Saussure[3]  นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส  ซึ่งได้พัฒนาศาสตร์ของการศึกษาที่เรียกว่า ภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง(Structural Linguistics)  โดยโซซูร์ ได้เสนอให้แยกสิ่งที่เรียกว่า  ภาษา(Language) และถ้อยคำ คำพูด(speech)หรือ ภาษา(Langue)และ การใช้ภาษา(Parole)[4]ออกจากกัน เพื่อ เป็นหน่วยในการศึกษาวิเคราะห์ โดยเขาให้ความสำคัญกับกับสิ่งที่เรียกว่า ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทำให้คำพูดหรือเสียงที่เปล่งออกมามีความหมาย ดังนั้น ภาษาจึงเกี่ยวพันในสองด้านคือ ด้านสังคม(Social)และด้านปัจเจกบุคคล(Individual) พูดง่ายๆก็คือ เรื่องของภาษาประกอบด้วยเรื่องที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ของภาษากับผู้ใช้ภาษา และด้วยความที่ภาษา(Language)ในนัยของโซซูร์ก็คือระบบองค์รวม(System/Holism) ที่มีความสมบูรณ์ในตัวเองและมีกฎเกณฑ์ในการจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ  ซึ่งแตกต่างจากรูปสัญญะ/ ตัวหมาย(signifier)หรือการใช้ภาษา(Parole) ที่มีความแตกต่างหลากหลาย อาจเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ ดังนั้นสถานะของภาษา(Langue)จึงค่อนข้างมั่นคงมากกว่าเรื่องของการใช้ภาษา(Parole)ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล อีกทั้งสิ่งที่จะทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้ภาษาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าโซซูร์ให้ความสำคัญกับเรื่องของรูปแบบ(form) มากกว่าเนื้อหาสาระ(substance) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักโครงสร้างนิยมยึดถือ  แต่อย่างไรก็ตามทั้งรูปแบบและเนื้อหาจะต้องทำงานประสานกันขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพราะหากมีเฉพาะรูปแบบไม่มีเนื้อหารูปแบบก็ว่างเปล่า หากมีเฉพาะเนื้อหาแต่ขาดรูปแบบ เนื้อหาก็หมดความหมาย เช่นหมากรุก เป็นหมากรุกได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในตารางและอยู่ภายใต้กติกาของหมากรุก  และตัวหมากแต่ละตัวที่มีความแตกต่างกัน มีค่าที่ต่างกัน และการเดินบนตารางที่ต่างกันตามกฎระเบียบของการเล่นหมากรุก เป็นต้น
ภาษาจึงเป็นเรื่องของ ระบบคุณค่าชุดหนึ่งที่สังคมกำหนดขึ้นมาไม่ได้มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง[5] แต่เป็นเรื่องของการถูกกำหนดให้เป็น(the arbitrary of the sign) ไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นทั้งเรื่องของการถูกกำหนดให้เป็นในระดับรูปสัญญะและความหมายสัญญะเช่น คำว่าห--า กับ ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ประเภทเคไนน์มีสี่เท้ามีหางและเห่าได้ที่เรียกว่าหมาหรือในระดับรูปสัญญะด้วยกันเองเช่น  ม้า กับ Horse หมา กับ Dog เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของโซซูร์  การที่จะเข้าใจการถูกกำหนดให้เป็นของสัญญะ  เราต้องค้นหากฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น เพราะมนุษย์จะต้องพูดหรือสื่อสารภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง ซึ่งรูปสัญญะในความเห็นของโซซูร์ไม่ได้ล่องลอยได้อย่างอิสระแต่รูปสัญญะจะต้องได้รับการยอมรับและขึ้นอยู่กับชุมชนที่ใช้ภาษา(Linguistic community) นั่นก็หมายความว่า ระบบของภาษานั้นมีอิทธิพลหรืออำนาจที่จะร้อยรัดให้สิ่งต่างๆดำรงอยู่ได้ ดังนั้นระบบ กฎเกณฑ์ สถาบันทางสังคมจึงมีความสำคัญอย่างมิอาจปฎิเสธได้ และด้วยเหตุที่ภาษาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ที่เกิดจากการถูกกำหนดให้เป็นและทำให้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเข้ามามีความเกี่ยวข้องกันโดยผ่านระบบภาษา ทำให้ความหมายของภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้นักมานุษยวิทยานำวิธีการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์และอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบันมากขึ้น
นักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยมชาวอังกฤษ Claude Levi-Strauss[6] ที่สนใจศึกษาวัฒนธรรม พิธีกรรมและนิทานปรัมปราของชนพื้นเมืองที่ยังไม่มีภาษาเขียนใช้  และถือว่าสิ่งเหล่านี้คือภาษาแบบหนึ่ง ซึ่งเขามีความคิดที่ไม่แตกต่างจากSaussure และได้อิทธิพลมาจากสำนักคิดภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างอย่าง Ronan Jacobson อยู่ไม่น้อย(อ้างจากไชยรัตน์;2545) เขาเชื่อว่าภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อความคิดกันนั้นมีโครงสร้างที่แน่นอน นั่นคือมีโครงสร้างชุดหนึ่งกำหนดกำกับให้เป็นอยู่หรือมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงร้อยรัดกัน เนื่องจากความคิดของมนุษย์ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันนั้น เป็นการให้ความหมายและความเข้าใจในลักษณะของคู่ตรงข้าม(Binary opposition)  ที่มนุษย์สามารถผลิตความหมายเมื่อเขานึกถึงสิ่งตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรม ดิบ-สุก ผู้ชาย-ผู้หญิง รูปธรรม-นามธรรม เป็นต้น  ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจของเขาที่จะสืบค้น ความรู้และหา ความหมายที่มาจากมนุษย์ไปสู่ภาษา /โครงสร้างที่เป็นเสมือนระเบียบกฎเกณฑ์ ที่กำกับให้เกิดความหมายขึ้นมา ดังเช่น นิทานปรัมปรา ความหมายจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เล่าหรือประสบการณ์อันช่ำชองยาวนาน เพราะผู้เล่าก็มีฐานะเป็นเพียงร่างทรงที่ตอกย้ำกฎเกณฑ์/รหัสของนิทานปรัมปราที่กำหนดการเล่าเรื่องโดยที่ผู้เล่าไม่รู้ตัว ซึ่งLevi-strauss ถึงแม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นพวกรูปแบบนิยม(formalism) แต่วิธีคิดของเขาก็ท้าทายกับวิธีคิดแบบรูปแบบนิยม โดยมองว่า ความหมายเกิดขึ้นจาก ความแตกต่างระหว่างรูปแบบกับเนื้อหา รูปแบบเป็นรูปแบบได้เพราะไม่ใช่เนื้อหา เช่นเดียวกับเนื้อหาเป็นเนื้อหาสาระได้เพราะไม่ใช่รูปแบบ นั่นคือเขามองที่ความแตกต่างและความสัมพันธ์ที่ไม่ได้แยกเป็นรูปแบบเนื้อหาอย่างแข็งทื่ออย่างที่พวกรูปแบบนิยมปฎิบัติกัน
Levi-Strauss ได้นำเสนอความคิดเรื่อง รูปสัญญะที่ล่องลอยหรือFloating Signifier[7] โดยเขามองว่าความหมายเป็นเรื่องของรหัสกฎเกณฑ์ ซึ่งในตัวของรหัสกฎเกณฑ์เองไม่มีความหมาย แต่เป็นตัวกำหนดความหมาย ดังนั้นความหมายจึงมิใช่สิ่งที่เกิดจากเนื้อในของข้อความที่ส่ง เมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่รู้มาก่อนก็พูดไม่ถูกพูดไม่ได้ ด้วยไม่มีรหัสกฎเกณฑ์กำหนดให้พูดเรื่องนั้น นั่นคือเมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน ความหมายสัญญะก็ไม่มี ทำให้รูปสัญญะไม่มีอะไรมาเกาะเกี่ยว จึงล่องลอยไปเรื่อยๆจนกว่าจะพบความหมายที่จะเข้ามาเกาะยึด เนื่องจากรหัส/กฎเกณฑ์ /สัญญะ ที่กำหนดการรับรู้ของเราค่อนข้างจำกัดมาก สิ่งที่เราไม่รู้ คิดไม่ถึง คิดไม่ได้มีอยู่อย่างมากมาย เนื่องจากเราไม่มีรหัสในเรื่องนั้นๆเมื่องเราไม่รู้ก็พูดถึงสิ่งนั้นไม่ได้ ลำพังรูปสัญญะอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอแต่จะต้องมีความหมายสัญญะด้วย  แต่เนื่องจากรูปสัญญะมักก้าวไม่ทันความหมายสัญญะเพราะมีสิ่งที่เราไม่รู้มากมาย ทำให้สร้างรูปสัญญะขึ้นมาไม่ทัน ดังนั้นจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่า รูปสัญญะที่ล่องลอย หรือข้อความอันเป็นที่ยอมรับในชุมชนที่ใช้ภาษานั้นแต่ปราศจากความหมายที่แน่นอนชัดเจน[8]
สิ่งที่เห็นได้จากความคิดของLevi-Strauss ก็คือเขาให้ความสนใจในระดับของการให้ความหมาย(Signification) ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ตายตัวของรูปสัญญะ(Signifier)กับความหมายสัญญะ(Signified) หรือตัวหมาย กับตัวหมายถึง แต่มันเกี่ยวข้องกับหลักการของการให้และสร้างความหมายว่าเป็นอย่างไร และทำไมมนุษย์จึงผลิตความหมายอย่างนั้น โดยไม่ยึดติดกับความหมายที่สมบูรณ์แบบ แต่มองความเป็นไปได้ที่จะเกิดความหมาย ด้วยวิธีการให้คุณค่าและใช้ต้นทุนที่แตกต่างกัน ดังเช่น เมื่อเวลาเราค้นหาศัพท์ในพจนานุกรม  เราจะพบว่าตัวพจนานุกรมเองก็อธิบายศัพท์คำหนึ่งด้วยศัพท์อีกคำหนึ่ง หรือมากกว่า ซึ่งทำให้เราอาจต้องค้นหาคำศัพท์อื่นๆเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าแม้เราจะพยายามหาความหมายของคำมากมายเพียงใด ท้ายที่สุดเราจะพบว่า ในสังคมวัฒนธรรมต่างๆก็มีความหมายแตกต่างไปจากความเข้าใจของเราเป็นอันมาก
หากจะเปรียบเทียบกับนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศส อย่าง Roland Barthes(1950-1980)  ที่ได้พัฒนาแนวทางการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ที่มองความหมายเป็นเรื่องของความแตกต่างตรงกันข้ามไม่ได้เกิดจากเนื้อในของสิ่งนั้นๆแต่อย่างใด ความเป็นคู่ตรงกันข้ามเป็นตัวกำหนดความหมาย ความหมายจึงมีลักษณะเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่ง มีการผสมผสาน ต่อเติมของสัญญะภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์หรือที่Derrida เรียกว่าการเล่นของรูปสัญญะ(The Play Signifier) หรือที่Barthes เรียกว่าการผจญภัยของสัญญะที่เป็นการศึกษากระบวนการสร้างความหมายของสัญญะที่ไม่สิ้นสุด(อ้างจากไชยรัตน์,2545)  ซึ่งสัญญะในความหมายของBarthes กว้างขวางกว่าเรื่องภาษามาก เพราะมันเป็นหน่วยของการสื่อความหมายที่แตกต่างหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร สบู่ ผงซักฟอก หอไอเฟล ของเล่น ไวน์ นิตยสาร เหตุการณ์น้ำท่วม ฯลฯ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสรรพสิ่งต่างๆในสังคมล้วนเป็นสัญญะได้ทั้งสิ้น และความหมายของสัญญะเหล่านี้ไม่ได้เป็นธรรมชาติแต่อย่างใด แต่มันผูกรัดเชื่อมโยงกับรหัสกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่เรียกว่า ระบบวัฒนธรรมในสังคมนั้น Barthes มองว่าการที่สรรพสิ่งต่างๆในสังคมกลายเป็นสัญญะนั้น เป็นกระบวนการสร้างมายาคติ(Mythology) ที่ทำให้เกิดมายาคติ(Myth)[9] และกลายเป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่ปกติธรรมดาของคนในสังคมที่ยอมรับมันอย่างไม่ตั้งคำถาม เป็นความคิดที่สอดรับกับระบบของอำนาจของสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่  มายาคติจึงเป็นสิ่งที่Barthes ใช้ศึกษาวิเคราะห์ในเชิงสัญวิทยา เพราะเขาเชื่อว่า ตัวมายาคติก็คือตัวกำหนดการรับรู้ของคนในสังคม ความจริงความหมาย ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ธรรมชาติแต่เป็นผลผลิตของสังคม และดำรงอยู่ในระดับการรับรู้ของมนุษย์ บทบาทหน้าที่ของมายาคติจึงไม่ใช่เรื่องของการปิดบัง อำพราง ปกปิด แต่อย่างใด เพียงแต่มันเป็นเรื่องของการบิดเบือนที่ทำให้มองไม่เห็นหรือไม่เห็นอย่างที่มันเป็นมากกว่า   Barthes ให้ความสำคัญกับรหัส(Code)[10]ที่กำหนดความคิด ประสบการณ์ของมนุษย์ การสร้างรหัสต้องอาศัยภาษา ถ้าไม่มีภาษาก็ไม่มีรหัส รหัสเป็นเรื่องของการคิดค้นและตกลงร่วมกัน ภาษาจึงประกอบด้วยรหัสมากมายซึ่งเกิดจากการความสัมพันธ์ที่ไม่ได่ฃ้เกี่ยวข้องกันระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ความหลากหลายของรหัสนี้เองเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า รูปสัญญะที่ล่องลอย”  ดังนั้นรหัสจึงไม่มีความหมายบริสุทธิ์หรือสมบูรณ์ในตัวเองแต่อย่างใด แต่ถูกกำกับอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้  ซึ่งต่อมาBarthes ได้หันเข้ามาสู่แนวทางการศึกษาหลังโครงสร้างนิยม ที่พูดถึงเรื่องตัวบท(Text)[11] กระบวนการสร้างโครงสร้างและความหมายที่ไม่รู้จักจบสิ้น Barthes ได้แสดงให้เห็นว่า รูปสัญญะไม่จำเป็นต้องมีความหมายสัญญะ แต่มันสามารถสร้างความหมายของตัวเองได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้บาร์ธ ก้าวข้ามจากวิธีการศึกษาแบบสัญวิทยามาสู่หลังโคงสร้างนิยม( อ้างจากMoriarty,1991,PartIIและไชยรัตน์,2545) โดยให้ความสำคัญกับตัวบทและการวิจารณ์ตัวบท เขามองว่าผู้แต่งผู้เขียนไม่ได้สื่อความคิดของตนออกมาในตัวบท แต่เป็นเพียงผู้ประกอบสร้าง แต่งเติมตัวบทโดยนำเอาคำต่างๆในภาษาในวัฒนธรรมมาผสมผสานกัน ให้เกิดความหมายขึ้นมา โดยการสร้างความหมายจากการอ้างอิงกับคำอื่นๆ เหมือนกับพจนานุกรม ดังนั้นผู้แต่งจึงไม่ได้มีอำนาจในการผูกขาดเบ็ดเสร็จ แต่สังคมประวัติศาสตร์หรือรูปสัญญะของตัวบทต่างหากที่สามารถสื่อสร้างความหมายได้ด้วยตัวเอง  Barthes จึงให้ความสนใจกับกระบวนการสร้างความหมาย(Signifiance) โดยเฉพาะความสำคัญของรูปสัญญะ มากกว่าความหมายสัญญะ ที่สามารถปลดปล่อยตัวเองได้อย่างอิสระจากความหมายสัญญะเดิมที่ดำรงอยู่ และล่องลอยไปเพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับตัวบทได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด[12] ซึงมโนทัศน์เรื่องตัวบทที่เปิดกว้าง ก็ไม่แตกต่างจากแนวคิดเรื่องรูปสัญญะที่ล่องลอย ที่ผู้อ่านสามารถสร้างตัวบทใหม่ สร้างความหมายใหม่จากการอ่านของตนเอง  สิ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย ของบาร์ธ ก็คือ ระบบของมายาคติ ในการสื่อความหมายซึ่งมีสองระดับคือความหมายตรงหรือความหมายตามภาษา(denotation)กับความหมายแฝงหรือความหมายของมายาคติ(Connotation)ซึ่งเป็นระดับที่อยู่เหนือภาษา  สิ่งที่น่าสังเกตก็คือสัญญะ[13]ในระบบความหมายที่1(ภาษา)สามารถถูกสลายความหมายลงและกลายเป็นรูปสัญญะที่ว่างเปล่าในระบบความหมายชุดที่2 (มายาคติ) เพื่อสื่อความหมายอีกอย่างได้ ระบบการสร้างความหมายชุดที่2 นี่เอง คือรูปสัญญะที่ล่องลอยซึ่งทำให้สรรพสิ่งไม่สามารถมีความหมายที่สมบูรณ์ยุติเด็ดขาด ดังนั้นสัญญะสามารถจะทำให้หมดความหมายหรือว่างเปล่า และกลายมาเป็นรูปสัญญะในอีกระบบเพื่อรอคอยการผสมกับความหมายสัญญะชุดใหม่ Barthes ได้นำเสนอวิธีการอ่านมายาคติ3 แบบ(อ้างจากไชยรัตน์,2545) ที่ผู้ศึกษาจะนำมาประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย คือ
1.การอ่านในระดับของรูปสัญญะที่ความหมายถูกทำให้ว่างเปล่า(Empty Signifier) ด้วยการปลดปล่อยความหมายให้เป็นไปตามตัวอักษร เหมือนกับการอ่านในระดับแรกของการวิเคราะห์รูปสัญญะที่ล่องลอย ที่คนในสังคมยอมรับและเอารูปสัญญะที่มีคุณค่าชุดหนึ่งอยู่ แต่เปล่ากลวงความหมายมาใช้
2.การอ่านในระดับของรูปสัญญะที่มีความหมายสมบูรณ์(Full Signifier) ซึ่งเป็นการอ่านเพื่อดูความบิดเบือนระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ โดยในการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย จะดูที่การหยิบฉวย แย่งชิงและใส่ความหมายเข้าไปให้รูปสัญญะของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจเหมือนกัน แตกต่างกัน สมดุลกลมกลืนหรือขัดแย้งกันก็ได้
3.การอ่านในระดับรูปสัญญะกลายเป็นมายาคติ โดยไม่แยกรูปสัญญะกับความหมายสัญญะออกจากกัน เพื่อหาระบบการสร้างความหมายเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ความเป็นรูปสัญญะที่ล่องลอย เพื่อค้นหากระบวนการสร้างความหมายสร้างคุณค่า และเปิดเผยให้เห็นอุดมการณ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง
ดังนั้นการวิเคราะห์ตัวบทโดยวิธีการอ่านมายาคติของบาร์ธ จึงมีความสำคัญยิ่งในการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาแนวหลังโครงสร้งนิยมที่ได้หันมาให้ความสนใจกับการศึกษาวาทกรรม ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้ ความจริงและอำนาจที่เราเชื่อว่าบริสุทธิ์และยอมรับในสังคม ดังที่ Jacques Lacan ได้กล่าวว่า “...social bonds are founded by Discourse” ( อ้างจากDescombes ,หน้า101) นั่นก็คือ การผูกพันทางสังคม ถูกสถาปนาขึ้นมาด้วยวาทกรรม หากเราจะมองว่ากฎเกณฑ์รูปแบบของภาษาที่เราใช้ร่วมกันอย่างสมดุลย์ราบเรียบ เป็นสิ่งที่ถูกกดทับ ปิดกั้น ความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นวาทกรรมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามทบทวนกับประวัติศาสตร์ที่ว่าด้วยความจริงความรู้  และทำให้สิ่งต่างๆเหล่านี้กลายเป็นธรรมชาติ ความชอบธรรมซึ่งก็คือมายาคติแบบหนึ่ง ที่มีเรื่องของปฎิบัติการทางวาทกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ดังนั้นหากพูดในความหมายของฟูโกต์ วาทกรรมก็คือสนามแห่งการต่อสู้ช่วงชิงที่เป็นกฎเกณฑ์ หรือตัวกำหนดความจริง ความรู้ และสิ่งที่เราพูด (Statement)ซึ่งตัวฟูโกต์ นั้นก็ได้ให้ความสำคัญกับภาษาเป็นอย่างมาก เพราะวาทกรรมทำให้ระบบการพูดหรือการเขียนในสังคมเป็นไปได้” (Foucault,1970;79-80) เนื่องจากวาทกรรมคือตัวกำหนดกฎเกณฑ์ ในการพูดการเขียนไม่แตกต่างจาก Langue/Code ในความหมายของโซซูร์และบาร์ธ  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วาทกรรมเป็นมากกว่าเรื่องภาษา/คำพูด เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่าภาคปฎิบัติการของวาทกรรม(Discursive Practices) ซึ่งเป็นเรื่องของความคิด ความเชื่อ จารีต และสถาบันต่างๆในสังคมที่ผลิตซ้ำและส่งผ่านวาทกรรมเหล่านั้น แม้ว่าวาทกรรมในตัวมันเองนั้นสามารถที่จะสร้างสรรพสิ่งต่างๆขึ้นมาได้แต่ก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่กำหนดการดำรงอยู่การเปลี่ยนแปลง การสูญหาย เลือนหาย การปรากฏของสรรพสิ่งต่างๆ  วาทกรรมจึงเป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ความเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน ไม่สัมพันธ์กันแต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน(Foucault,1978;100) วาทกรรมจึงทำหน้าที่เก็บกด ปิดกั้น และเปิดเผยบางอย่างไปพร้อมกัน  และเป็นสิ่งที่สลายความเป็นองค์ประธานและผู้กระทำของมนุษย์ให้กลายเป็นผู้ถูกกระทำไปพร้อมกันด้วย  การศึกษาวิเคราะห์วาทกรรมจึงมีความสำคัญในการศึกษาเรื่องอำนาจ ความรู้ ความจริงที่พวกเรายึดถืออย่างสนิทใจในสังคมปัจจุบัน อย่างน้อยวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ฟูโกต์ เรียกว่าGenealogy เป็นการศึกษาที่ไม่ได้วางอยู่บนเงื่อนไขของลำดับเวลา แต่ค้นหารอยแยกความแตกต่างหลากหลายเพื่อกลับไปหาจุดเริ่มต้นในอดีตและทำความเข้าใจวาทกรรมแห่งยุคสมัย เพื่อปลดปล่อยความรู้ทางประวัติศาสตร์จากการจองจำของความเป็นองค์ประธานเพื่อที่จะจัดวางพวกเขา[14] ที่สำคัญก็คือ การสะท้อนให้เห็นถึงภาคปฎิบัติการของวาทกรรมและเทคนิคของการสร้างตัวตน(Technologies of the self) ที่เกิดจากอำนาจในการสร้างความจริงความรู้ของวาทกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ร่างกายของมนุษย์เองก็ตาม วาทกรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกแย่งชิงเพื่อครอบครอง และให้ความหมาย เพื่อสร้างอำนาจ ความรู้ ความจริงและอัตลักษณ์ในสังคม
สำหรับเรื่องของรูปสัญญะที่ล่องลอยนั้น ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในนักทฤษฎีหลายๆสาขาวิชา ซึ่งมีนัยที่แตกต่างจาก Saussure  ซึ่งเน้น.ในเรื่องของความหมายสัญญะ ว่าเป็นตัวกำหนดรูปสัญญะในฐานะที่รูปสัญญะหนึ่งตัวต่อความหมายหนึ่ง  นักทฤษฎีหลังโคงสร้างนิยมอย่างลากอง เห็นว่าความหมายสัญญะหนึ่งอาจมีหลายรูปสัญญะ ที่สื่อถึงความคิดเดียวกัน ทำให้มองว่าความหมายเป็นเรื่องที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวและไม่มีความสมบูรณ์เด็ดขาด ซึ่งไม่แตกต่างจากรูปสัญญะที่ล่องลอยของเลวี่ สเตร้าท์ หรือ Derrida ก็มองว่ารูปสัญญะและความหมายสัญญะที่เป็นอิสระต่อกัน รูปสัญญะหลายตัวสามารถสื่อความหมาย/ความคิดถึงสิ่งเดียวกันได้ หรือรูปสัญญะตัวหนึ่งสามารถสื่อความหมายความคิดที่หลากหลายได้ นั่นคือลักษณะที่เรียกว่าการพลิ้วไหวของสัญญะ(Play of Signifier) มีนัยไม่แตกต่างจากรูปสัญญะที่ล่องลอย  ที่มีการสร้างและสื่อความหมายที่ไม่รู้จบ อย่างที่Barthes เรียกว่าSignifiance หรือการประยุกต์ใช้ของ Jeans Baudrillard[15]  ซึ่งสนใจศึกษาสัญญะในทางเศรษฐศาสตร์ และได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับSimulation ที่มองโลกปัจจุบันว่า วัตถุสิ่งของสินค้า ไม่ได้สร้างความหมายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ใช้สอย(Use-Value) หรือคุณค่าในการแลกเปลี่ยน(Exchange value) ซึ่งสรรพสิ่งต่างได้หลุดลอยออกไปจากฐานะที่เป็นจริงหรือแหล่งอ้างอิงได้ สู่การเป็นสัญญะตัวหนึ่งที่ล่องลอย เพื่อรอผสมแลกเปลี่ยนกับสัญญะตัวอื่นๆและสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งการผสมแลกเปลี่ยนก็สัมพันธ์กับการเลือกใช้รหัสกฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง เช่นอัตรแลกเปลี่ยนเงินตรา โบดิยาร์ด ได้วิเคราะห์ระบบสัญญะในสังคมปัจจุบันประกอบด้วยแหล่งอ้างอิง(Referent) รูปสัญญะ(Signifier) และความหมายสัญญะ(Signified) โดยที่สังคมสมัยใหม่ระบบสัญญะได้พัฒนาไปในระดับที่รูปสัญญะและความหมายสัญญะสามารถจะสร้างสรรค์ตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องมีของจริงมารองรับ นี่คือประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การล่องลอยของสัญญะและการเปล่ากลวงทางความหมายของสัญญะที่เสมือนกับสำเนาของเอกสารที่ถ่ายติดต่อกันเรื่อยๆจนเบลอและเลือนลางจากของจริงไม่สามารถหาต้นตอได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เรื่องของการศึกษาภาษาและวาทกรรมในฐานะที่เป็นระบบ/กฎเกณฑ์เป็นรหัสและสัญญะแบบหนึ่ง ที่ทำให้บทสนทนาหรือการสื่อสารในสังคมดำรงอยู่ได้ ในแง่หนึ่งนอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจกระบวนการสร้างและสื่อความหมายแล้วยังเปิดเผยให้เราเห็นถึงมายาคติและวาทกรรมที่ครอบงำและยอมรับอยู่ในสังคม โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ที่รูปสัญญะและความหมายสัญญะไม่สื่อความต่อกันมากขึ้น รูปสัญญะจึงกลายสภาพเป็นสัญญะที่ว่างเปล่าและเป็นเสมือนพื้นที่แห่งอำนาจ ที่แต่ละฝ่ายพยามจะเข้ามาช่วงชิง ฉกฉวยหรืออธิบายใส่ความหมายให้กับความเปล่ากลวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนา เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นหัวข้อที่ผู้ศึกษาสนใจ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่ารูปสัญญะที่ล่องลอยจะเปล่ากลวงจากความหมายแต่ไม่เปล่ากลวงทางคุณค่า เพราะการที่คนกลุ่มต่างๆยอมรับและนำมาใช้โดยไม่ตั้งคำถามกับมัน ก็ย่อมแสดงว่ามันมีคุณค่าในตัวของมันระดับหนึ่ง แต่ในฐานะที่ผู้ศึกษาเป็นนักมานุษยวิทยา ก็พยามที่จะทำความเข้าใจกระบวนการสร้างคุณค่า การใส่ความหมายให้กับมัน  รวมถึงมองมันเป็นสนามปฎิบัติการหนึ่งของกระบวนการทางอำนาจ เพื่อแย่งชิงความหมายและสร้างวาทกรรมให้คนในสังคมยอมรับ
                                                                                                                                        
บรรณานุกรมภาษาไทย
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545)  สัญวิทยา ,โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  . กรุงเทพฯ : วิภาษา.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2527) ไม่มีสังคมใดเหนือกว่าสังคมอื่น:ทรรศนะในการศึกษามานุษยวิทยาของ Claude Levi Strauss” วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. ปีที่2 ฉบับที่2 (กุมภาพันธ์) 60-76.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2533)  เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้าง ในการศึกษานิทานปรัมปรา ของโคลด เลวี่-เสตราส์ วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่17 ฉบับที่1 (มิถุนายน)45-79.

บรรณานุกรมภาษาต่างประเทศ
Hawkes Terence[1977]. “ Linguistic and Anthropology”  “Science of Sign” In Structuralism and Semiotics ,Methuen and co Ltd.
Hugh J.Silverman[1994] “French Structuralism and After De Saussure,Levi-Strauss,Barthes,Foucault” P.391-408.In  Continental Philosophy in The 20th Century edited by Richard Kearney,Routledge history of Philosophy volume8
Levi-Strauss,Claude[1987] “Introduction to the work of Marcel Mauss” Transleted by Felicity Baker Routledge and Kegan Paul London.
Levi-Strauss,Claude[1976] “Structural Anthropology Volume1  Transleted from the French by Monique Laution ,Basic Book Inc Publisher Newyork.
Levi-Strauss,Claude [1963]. “ Introduction History and anthropology”P.1-27 “Effective of Symbol”P.187-205and “Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology” P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2 Transleted from Franch by Claire Jacobson and Brooke Grundfest Schoepf,Basic Book.
Levi-Strauss Claude[1984] “Anthropology and Myth  Lecture 1951-1982” Transleted by Roy Willish,Basil Blackwell.
Singer,Milton B.[1984]. “man’s glassy essence exploration in semiotic anthropology” ,Indiana university press.




หนังสืออ้างอิงต่างประเทศ
Barthes Roland[1967] “Elements of Semiology Transleted from the French by Annette Lavers and Colin Smith.New YorkHill andv Wang,1980.
Barthes Roland[1973] “theory of the Text” 31-47 In Robert Young,Ed,1981.
Clarke ,D.S,J.R. “Principle of Semiotic”
Chapman Siobhan[2000]. “ Philosophy for Linguists  an Introduction” Routledge London and Newyork.
Culler ,Jonathan[1981]. “ In Pursuit of Sign” Semiotics Literature Deconstruction ,Cornell university Newyork Press.
Culler,Jonathan[1979]. “Jacques Derrida” P.154-179 In Structuralism and Since From Levi-Strauss to Derrida Edited by John Sturrock,Oxford University Press.
David Lidov[1999]  “Element of Seemiotic” Macmillan Press.
Derrida Jacques[1978] “Writing and Difference” Translated with an Introduction and Additional Notes by  Alan Bass.London and Henley:Routledge and Kegan Paul.
Derrida Jacques[1973]. “Differance” P.129-160 in Speech and Phenomena And Other Essays on Husserl’s Theory of Signs Edited by David B.Allison and Newton Garver : Northwestern University Press.
Derrida Jacques[1974]. “linguistic And Grammatology” P.27-73 In Grammatology Translated by Gayati Chakravorty Spivak.Baltimore The John Hopskin University Press.
Hawkes Terence[1977]. “ Linguistic and Anthropology”  “Science of Sign” In Structuralism and Semiotics ,Methuen and co Ltd.
Hugh J.Silverman[1994] “French Structuralism and After De Saussure,Levi-Strauss,Barthes,Foucault” P.391-408.In  Continental Philosophy in The 20th Century edited by Richard Kearney,Routledge history of Philosophy volume8
Levi-Strauss,Claude[1987] “Introduction to the work of Marcel Mauss” Transleted by Felicity Baker Routledge and Kegan Paul London.
Levi-Strauss,Claude[1976] “Structural Anthropology Volume1  Transleted from the French by Monique Laution ,Basic Book Inc Publisher Newyork.
Levi-Strauss,Claude [1963]. “ Introduction History and anthropology”P.1-27 “Effective of Symbol”P.187-205and “Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology” P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2 Transleted from Franch by Claire Jacobson and Brooke Grundfest Schoepf,Basic Book.
Levi-Strauss Claude[1984] “Anthropology and Myth  Lecture 1951-1982” Transleted by Roy Willish,Basil Blackwell.
Merrell Floyd[1995]. “semiology –Structuralism confronts Semiotics”3-38 in Sign Textuality World,Bloomington and Indianapolis Indiana University Press.
Paul A.Erickson[1998].”A History of Anthropological Theory”,Breadview Press.
Peirce,Charles Sander[1955]. “Philosophical Writings of Peirce”.Selected and Edited ewith an Introduction by Justus Buchler.New York:Dover Publication.
Rosamund Bilington[1991] “Culture and Society A sociology of Culture” macmillan Press..
Saussure,Ferdinand de[1959]. “Course in General Linguistics”.Edited by Charles Bally and Albert Sechehaye in  Collaboration with Albert Riedlinger.Translated with an Introduction and Notes by Wade Baskin.Newyork McGrawhill 1966.
Singer,Milton B.[1984]. “man’s glassy essence exploration in semiotic anthropology” ,Indiana university press.
Umberto Eco [1976]. “A Theory of Semiotics”.Bloomington:Indiana University Press,1979.
Umberto Eco[1984]. “semiotic and The Philosophy of Language”, Macmillan Press.
Vincent Desombe[1986]. “object  of all sorts a philosophical Grammar” Translated by Lorna Scott-fox and Jeremy Harding,Johnhopskin university Press.
Vincent Desombe[1980]. “Semiology” in Modern French Philosophy ,Translated by L.S Scott-Foy and J.M.Hardins, Cambridge University Press.P.75-105.






[1] สัญญะ ถือว่าเป็นหน่วยต่ำสุดของการสื่อสาร ที่ประกอบด้วยรูปสัญญะ ตัวหมาย(signifier)และตัวหมายถึงหรือความหมายสัญญะ(signified)
[2] semiology และsemiotics แท้จริงแล้วก็คือสัญญะชนิดหนึ่ง เพราะมันสามารถสื่อความหมายที่เฉพาะแบบหนึ่ง semiology นิยมใช้กันในหมู่นักวิชาการชาวยุโรป เพื่อทำความคาราวะแก่Saussure ส่วนSemiotics หรือสัญศาสตร์นั้นนิยมใช้กันในหมู่นักวิชาการอังกฤษ เมพื่อแสดงความเคารพต่อ Charles Sander Pierce นักปรัชญาชาวอเมริกันที่คิดค้นคำนี้แรกเริ่มแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึง(ดูในไชยรัตน์,2545)
[3] Ferdinan de Saussure,ไม่มีงานชิ้นสำคัญของเขาเอง แต่งานที่มีชื่อเสียงของเขาเกิดจากการรวบรวมของลูกศิษย์สามคนโดยเฉพาะคำบรรยายที่มหาวิทยาลัยเจนีวาในช่วงปี1906-1911และตีพิมพ์ออกมาในปี1916 ภายใต้ชื่อ  course General Linguistics
[4] การแยกหน่วยพื้นฐานของการศึกษาภาษาของซูโซร์  มีทั้งที่เรียกว่าภาษา(Langue) และการใช้ภาษา(Parole) ,ความคิด(Concept) และภาพประทับของเสียง(Sound-image), ความหมายสัญญะ ตัวหมายถึง(Signifie) รูปสัญญะ/ตัวหมาย(Signifiant)
[5] จากข้อความ”...language as a system of socially determined values,not as a collection of substaintially defined element” ดูในCuller1976,หน้า51-52.
[6] ศึกษางานของ Claude levi-strauss ได้จาก The Savage Mind(1966),  Totemism(1963), Structural Anthropology(1963,1976), Raw and Cook(1969)และ the  Elementary structure of Kinship(1969)หรืองานของEdmund leach(1970)  ชื่อClaude levi-straussที่กล่าวถึงชีวประวัติ การทำงาน ความคิดและงานศึกษาของสเตร้าท์
[7] มีคนให้นิยามที่แตกต่างหลากหลายเช่น “an empty of floating sinifier is variously defined...” “Floating Signifier on introduction by Claude Levi-strauss to describe as word or expression that does not have a meaning so much as hold open space for that which exceeds expression..” meaning is never Fixed can be describe as a floating signifier..” สรุปโดยรวมรูปสัญญะที่ล่องลอย( floating sinifier )ก็คือสิ่งที่มีคำนิยามค่อนข้างหลากหลาย  หรือมีความหมายไม่ตายตัวจนเหมือนกับว่าไม่มีความหมายในตัวเองแต่อย่างใด
[8] เช่นเดียวกับLacan เรียกช่องว่างอันเกิดจากการที่รูปสัญญะไม่มีความหมายมเกาะเกี่ยว ว่า Metaphor หรือการเติมเต็มโดยใช้คำอุปมาอุปมัยหรือการใช้คำหนึ่งแทนอีกคำหนึ่งเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นมา โดยที่คำที่ถูกแทนที่ไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่ทำให้ไม่ปรากฎในขณะนั้นเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีคำหรือความหมายที่ตรงกันหรือใช้แทนกันได้อย่างสมบรณ์แต่จะมีความหมายใหม่เกิดขึ้นเสมอ ความสำคัญจึงอยู่ที่รูปปสัญญะมากกว่า เช่น คำว่าเก้าอี้ อาจไม่ได้หมายถึงวัตถุสำหรับนั่ง แต่อาจหมายถึงตำแหน่งด้วย(ดูคำอธิบายได้จากไชยรัตน์,2545)
[9] มายาคติหรือMyth ที่บาร์ธใช้ไม่ แตกต่างจากMyth ในความหมายLevi-strauss ที่หมายถึงนิทานปรัมปราที่ต้องการแยกแยะระดับความคิดของนิทานปรัมปรา โดยทำความเข้าใจสำนวนเนื้อหาที่หลากหลายเพื่อหาภาพรวมของระบบทั้งหมด เพราะสเตร้าท์เชื่อว่า ระบบคิดของมนุษย์เป็นระบบเดียวกันทั้งหมด เป็นโครงสร้างที่เป็นสากลที่มนุษย์ไม่ได้ตระหนักว่ามีอยู่(ดูเพิ่มได้จากLevi- Strauss,1963หรือปริตตา,2531)
[10] ดูการศึกษาแนวสัญวิทยาได้จาก Barthes(1967)เรื่อง Elements of Semiology และ Myth today
[11] ตัวบทหรือText คือพื้นทื่ที่ถูกผลิตสร้างตากความสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับตัวงานหรืองานเขียนไม่ใช่คนอ่านกับคนเขียน ภาษาคือสิ่งที่สร้างตัวบท ความหมายของตัวบทจึงไม่หยุดนิ่งเพราะภาษาไม่เคยสิ้นสุดความหมายแต่ล่องลอยและสร้างความหมายให้กับตัวบทเสมอ ตัวบทจึงเป็นเหมือนรูปสัญญะที่ล่องลอยและเปลี่ยนแปลงอยู่เสอเพื่อสร้างความหมาย(ดูได้จาก Barthes,1973;derrida,1978)
[12] ดูได้จาก Barthes (1973)เรื่องWriting Degree Zero S/Z the pleasure of the text และTheory of the text แบ่งเป็น Readerly text  หรือตัวบทปิด กับWriterly text ตัวบทเปิดหรือตัวบทที่ถูกถักทอไว้ด้วยรหัสชุดต่างๆที่สะท้อนอำนาจของผู้อ่านในการเขียนตัวบทใหม่ไม่จบสิ้น
[13] สัญญะในระดับที่1 จะวางอยู่บนระบบของภาษาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสัญญะ(รูปสัญญะกับความหมายสัญญะ) รูปสัญญะในระดับที่2 หรือมายาคติ เกิดจากสัญญะในระบบภาษาถูกลดทอนทำให้หมดความหมายหรือว่างเปล่าและกลายมาเป็นรูปสัญญะในระดับที่2(มายาคติซึ่งมายาคติคือการพูดการใช้ภาษาแบบหนึ่งที่กระทำผ่านวาทกรรม(ดูได้จากบทความของ Barthes,1995 เรื่องMyth today) และดูตัวอย่างได้จากภาคผนวกที่2
[14] อ้างจากFoucault1980 Power/Knowledge selected interviews and other writing1972-1977 บทความกล่าว่า”...a genealogy should be seen as a kind of attempt to emancipates historical from that subjectionto render them..”หน้า85
[15] สามารถอ่านงานของJeans Baudrillard เรื่อง mirror of production, Symbolic exchange and death และ for critique of the political economy of the sign เพื่อดูแนวความคิดเรื่องSimulation และการวิเคราะห์สัญญะในกระแสทุนนิยมและการบริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...