1.วาทกรรมและปฏิบัติการของวาทกรรม (Discourse
and Discursive Practices)
โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
ใน Madness and
Civilization ฟูโกบรรยายประวัติศาสตร์ของความบ้าในปัจจุบัน
ที่สถานะของความบ้า
ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นวิวัฒนาการต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน
เพราะสถานะของความบ้าในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างจากยุคก่อน
ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต่อเนื่อง
เพราะอิทธิพลของวาทกรรมที่ครอบงำพื้นที่ทางสังคม
ส่งผลให้เรามองและเข้าใจความบ้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คำถามของฟูโกต่อเรื่องนี้ก็คือ
สังคมแต่ละยุคสมัยพูดถึง ‘ความบ้า’อย่างไร
และปฏิบัติต่อ’คนบ้า’ อย่างไร
ฟูโก
แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ความบ้าในประวัติศาสตร์ยุโรปของยุคกลาง
ที่เป็นความรู้แห่งยุคสมัย ความบ้ามีการผันแปรและเปลี่ยนแปลงไปตามวาทกรรมชุดอื่นๆ
ที่มีอิทธิพลและครอบงำพื้นที่ทางความคิดของเราในการอธิบายลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าความบ้าในปัจจุบัน
เช่น ประวัติศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับความบ้าของยุโรปในยุคกลาง
ที่เริ่มจากภูมิปัญญาอันพิเศษสูงส่งที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า
พวกเขามองว่าคนที่พูดคนเดียวไม่ใช่คนบ้าแต่เขากำลังพูดกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติที่คนธรรมดามองไม่เห็นและไม่ได้ยิน
มาสู่ความบ้าคือความไร้เหตุผลและความบ้ากลายเป็นความชั่วร้ายและเป็นมลทินของสังคม
คนบ้าถูกรวมกับพวกอาชญากร และขอทาน รวมทั้งถูกแยกออกจากคนปกติในสังคม
จนกระทั่งการพัฒนาความรู้ในศตวรรษที่19 ได้ทำให้ความบ้ากับความปกติไม่ได้มีความแตกต่างกัน
คนบ้าสามารถฟื้นฟูรักษาให้หายและกลับมาอยู่ร่วมกับคนปกติได้
เพราะความบ้าถือเป็นเหตุผลในระบบหนึ่งที่แตกต่างจากระบบเหตุผลอื่นๆ ดังนั้นคนบ้าจึงถูกปลดปล่อยออกจากสถานกักกัน
โรงพยาบาลบ้า มาอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของจิตแพทย์ หรือกล่าวให้ง่ายก็คือ
ในช่วงเวลาหนึ่งเรามีความรู้ชุดหนึ่งที่จำกัดการรับรู้ ความเข้าใจของเรา
และทำให้เราพูดถึงมัน ในขณะเดียวกันก็มีความรู้ชุดหนึ่งที่ถูกกีดกันหรือ แยกออกไป
โดยการทำให้เงียบและทำให้ไม่ถูกพูดถึง (Silent of Language)
เช่น
เราอธิบายเรื่องของความบ้าเป็นอาการทางจิตมากกว่าการกระทำของสิ่งที่เหนือธรรมชาติ
เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลเป็นต้น
ดังนั้น
ในช่วงยุคของการปฏิวัติทางภูมิปัญญาในในศตวรรษที่ 17-18 วาทกรรมว่าด้วยเหตุผล (Discourse
of Reason) จึงเป็นแบบแผนของการคิดของมนุษย์ในการอธิบายเกี่ยวกับความบ้าได้ดีที่สุด
แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ความบ้าจึงถูกจำแนกแยกออกจากคนปกติ เพราะความรู้ทำให้พวกเขากลายเป็น
‘คนผิดปกติ’
ภายใต้วาทกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (Freud) ทีพูดถึงเรื่อง ‘อาการป่วยทางจิต’ สิ่งเหล่านี้คือ การเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ว่าด้วยความบ้า จากภาวะของความบ้า
ไปสู่อาการป่วยทางจิต ที่ดำเนินไปพร้อมกับการสถาปนาความรู้ วิชาการในสังคมสมัยใหม่
ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของวาทกรรม ภาษาที่จำแนกแยกแยะ จัดประเภท
และให้คุณค่าต่อความบ้า และทำให้ความบ้าเป็นเช่นนั้น เช่น
เรื่องของความเจ็บป่วยทางจิต (mental illness ) ที่สร้างความเป็นอื่นของความบ้า
ในช่วงเวลาหนึ่งที่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์กำลังมีอิทธิพล
อาการทางจิตจึงมีลักษณะไม่แตกต่างจากคนปกติ มันไม่ใช่ความผิดปกติ
หรือความไร้เหตุผล เพราะมันเป็นเหตุผลอีกชุดหนึ่งต่างหาก
คนบ้าคือคนปกติที่มีอาการป่วยทางจิต จึงไม่ต้องอยู่รวมกับพวกเบี่ยงเบน ผิดปกติ
เช่นนักโทษ ในคุก แต่มีโรงพยาบาล คลินิกสำหรับดูแล บำบัดฟื้นฟู
ให้พวกเขากลายเป็นคนปกติและออกสู่สังคมได้
ซึ่งแตกต่างจากความคิดเรื่องความบ้าในยุคก่อนๆ
ทำให้ความบ้าไม่ถูกพูดถึงในนัยดังกล่าว หรือถูกทำให้เป็นอื่นโดยวาทกรรมทางจิตเวช
จิตวิทยา จิตวิเคราะห์ ที่สร้างความรู้ใหม่ในสังคม[1]
เช่นเดียวกับงาน The Order of
Things ฟูโกเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวมนุษย์ คือวิชานิรุกติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
และชีววิทยา
ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีวิชาเหล่านี้อยู่เลยจนกระทั่งในศตวรรษที่ 18
ที่มนุษย์ได้กลายเป็นวัตถุแห่งการศึกษา วิชาเหล่านี้จึงปรากฏขึ้นมา
ในเรื่องชีวิตของมนุษย์ ภาษาของมนุษย์ และปากท้องของมนุษย์
ดังนั้นวิชาเหล่านี้ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องยาวนานแต่อย่างใด
แต่มันผันแปรไปตามวาทกรรมที่ครอบงำสังคมและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิด
เมื่อภาษามีบทบาทสำคัญในการบ่งบอกความจริงของมนุษย์
ดังที่ฟูโก
ได้บอกถึงความรู้ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่อิงนั้นอยู่บนฐานของเรื่องความคล้ายคลึง
(La
resemblance) ระหว่างสิ่งต่างๆ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่17-18
เช่นใบหน้าของคนกับท้องฟ้า ดวงตากับดวงดาว ความรู้จึงเป็นการเปรียบเทียบความเหมือน
ของสิ่งต่างๆ และเคลื่อนมาสู่การเปรียบเทียบความแตกต่าง(La difference) ด้วยการจำแนกแยกแยะและให้ความแตกต่างระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นๆ
ดังจะเห็นว่ามีการศึกษาเชิงเปรียบเทียบปรากฏมากทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ
สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นในการสร้างความรู้ การส่งผ่านความรู้ ก็เช่นเดียวกัน
วิชาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ที่มีความเปลี่ยนแปลงและไม่ต่อเนื่องตามวาทกรรม
(Discourse) ที่ครอบงำความคิดของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลาและยุคสมัย
ซึ่งสัมพันธ์กับบทบาทของภาษาในการสร้าง ความรู้และความจริงให้กับมนุษย์
ดังชื่อหนังสือที่เกี่ยวกับถ้อยคำและสรรพสิ่ง (The Order of thing)
งานศึกษาชิ้นนี้ ฟูโกได้แสดงให้เห็นการใช้แนวทาง Archaeology
ด้วยการขุดค้น
สำรวจและมองลงไปยังสิ่งที่พบเห็นในแต่ละยุคสมัยที่กองทับถมกันอยู่
เพื่อค้นหากรอบความรู้(episteme) ซึ่งเป็นกรอบกำกับเครือข่ายของความรู้
ความเชื่อ วิธีคิดต่อสิ่งต่างๆในสังคม ซึ่งปรากฏอยู่ด้วยถ้อยคำ
ข้อเขียนเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่แพร่กระจายและไหลเวียนอยู่ในสังคม
เป็นวาทกรรมและแหล่งอ้างอิงของยุคสมัย
ในการสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆของผู้คนในยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าโบราณคดีแห่งความรู้
(Archaeology of Knowledge) เป็นการศึกษาถึงชุดของกฎเกณฑ์ที่สร้างความหมายหรือเป็นตัวกำหนดความหมายให้กับสิ่งต่างๆ
ในรูปวาทกรรมและปฏิบัติการของวาทกรรมว่าด้วยเรื่องนั้นๆ
ดังนั้นสรรพสิ่งต่างๆในสังคม จึงเป็นเพียงผลผลิตของวาทกรรมชุดหนึ่งเท่านั้น
งานทั้ง 2
ชิ้นของฟูโกข้างต้น ได้ชี้ให้เห็นความเข้าใจของวาทกรรมว่า
เป็นเรื่องของสิ่งที่ถูกกล่าวถึง (ไม่ว่าจะพูดหรือเขียนหรือสื่อความแบบอื่น)
ซึ่งปฏิบัติการของวาทกรรมทำให้เกิดกระบวนการจำแนก แยกประเภท และการดึงดูด
ความรู้ชุดนั้นเข้ามาสู่ตัวเอง เพื่อทำให้เกิดการรับรู้เข้าใจต่อเรื่องดังกล่าว
โดยที่ความรู้ ความจริงดังกล่าวมันไม่คงที่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ภายใต้กฎเกณฑ์ของวาทกรรม ของสิ่งที่ถูกกล่าวถึง
รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะพูดถึงสิ่งนั้น
รวมทั้งการสถาปนาผู้พูดให้มีความชอบธรรมในการพูดด้วยการรับรองจากสถาบันทางสังคมต่างๆ
เช่นแพทย์ ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสมาคม
หรือโรงพยาบาลที่ให้อำนาจแพทย์ในการตรวจตรา วินิจฉัยร่างกายของคนไข้
รวมถึงการกรีดมีดลงไปบนเรือนร่างของมนุษย์ เพื่อการรักษา ซึ่งเป็นความรู้ ในทาง
”กายวิภาค” และ ”ศัลยกรรมผ่าตัด” ในขณะที่ยุคสมัยแรกเริ่มที่ยังไม่มีวิชาการแพทย์ ผู้ที่ทำเช่นนี้ย่อมไม่แตกต่างจากอาชญากร
ที่ทำร้ายคนอื่น เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ที่ก่อให้เกิดวาทกรรมชุดขึ้นมาในสังคม
กระบวนการดังกล่าวคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความรู้และอำนาจที่กระทำต่อทุกสรรพสิ่งในสังคม
ดังนั้น สิ่งที่ฟูโกค้นพบจากแนวทาง Archaeology ก็คือ ความไม่ต่อเนื่อง (Discontinuity) จุดเริ่มต้นที่หลากหลาย
(Threshold) รอยแตกแยก (Rupture) จุดแตกหัก
(Break) การเปลี่ยนรูป (Mutation) การก้าวข้าม(Shift) ช่องว่าง (Gap) การแทรกแซง (Interruption) การแทนที่ (Displacement) และการเปลี่ยนแปลง (Transformation)
ของวาทกรรมชุดต่างๆ[2]
ที่แสดงให้เห็นความไม่คงที่
หรือการผันแปรของวาทกรรมในสังคมภายใต้กฎเกณฑ์ของวาทกรรม
สิ่งที่ถูกกล่าวถึง(ทั้งการพูดและการเขียน) ที่เป็นความรู้ ความจริงของยุคสมัย
ซึ่งสะท้อนผ่านภาคปฏิบัติการของวาทกรรมในสถานการณ์ต่างๆ
ที่ปรากฏและเปิดเผยตัวเองออกมา ผ่านการพูด ดังนั้นการจะเข้าใจวาทกรรม (Discourse) ได้ ก็ต้องวิเคราะห์ปฏิบัติการของวาทกรรม
ในการแสดงให้เห็นเครือข่ายของการสื่อความหรือภาษา ที่ทำให้สามารถสื่อสารกันได้
พูดด้วยกันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเป็นไปได้ของความรู้
ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของวาทกรรมและสามารถปะทะประสานกับวาทกรรมชุดอื่นๆได้
ทั้งชุดที่ขัดแย้ง แตกต่าง ก็สามารถมาประสานกันได้ในสถานการณ์หนึ่ง
และเกิดเป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา
ซึ่งเหตุการณ์ที่วาทกรรมเปิดเผยตัวออกมาในสถานการณ์หนึ่งๆก็คือ
ปฏิบัติการของวาทกรรม
2.ความรู้และอำนาจ (Power
and Knowledge)
การเคลื่อนที่ของการศึกษาแบบ
Archaeology ไปสู่สิ่งที่เรียกว่าวงศาวิทยา หรือ Genealogy โดยการมองที่แนวคิด Genealogy การปะทะกันเรื่องความรู้ทั่วไปที่เป็น
“Savoir” และแนวความคิดเรื่องอำนาจ
โดยมองลงไปที่ปัญหาซึ่งเปิดเผยให้เห็นการปะทะกันของความรู้ชุดต่างๆ
ในการทำให้คนเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช และกลวิธีของความจริง (Machinery
of Truth) ที่ทำให้ความจริงของเกลือกลายเป็นสิ่งที่เรารับรู้
และเข้าใจต่อการเข้ามาของอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสาน
ในงาน Discipline and
Punish ของฟูโก ถึงแม้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับคุกและการควบคุมนักโทษ
หรือประวัติศาสตร์ของการจองจำ แต่วิธีการอธิบายของเขา
กินความครอบคลุมพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมของสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคุก โรงพยาบาล
โรงเรียน วัด หรือค่ายทหาร ที่ทำให้เขาพบการก่อรูปของวาทกรรม
และปฏิบัติการของวาทกรรมในพื้นที่เหล่านั้น ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของความรู้และอำนาจที่มาคู่กัน
และความรู้ที่ผลิตอำนาจขึ้นมา ในวิธีการแบบวงศาวิทยา ดังที่เห็นได้จาก
วาทกรรมที่ว่าด้วยอาชญากรรมและการลงโทษ
โดยใช้คุกซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสร้างระเบียบวินัยและการควบคุมอาชญากร
แต่เมื่อวาทกรรมว่าด้วยอาชญากรเปลี่ยนแปลงไป
ทำให้คุกที่ควบคุมอาชญากรเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากคุกที่เคยปิดตายจากโลกภายนอก
กลายเป็นคุกที่เปิดตัวเองกับโลกภายนอกมากกว่า
และอาชญากรก็ไม่ได้แตกต่างจากพลเมืองอื่นๆ เป็นแต่เพียงผู้หลงผิด หรือกระทำความผิด
ที่สามารถปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้
แต่ในอีกด้านหนึ่งคุกก็เปิดเผยให้เห็นความแยบยลของอำนาจสมัยใหม่ ในพื้นที่เปิดโล่ง
ที่สามารถตรวจตราสอดส่องได้กว้างขวางมากขึ้น
และฝึกฝนควบคุมร่างกายหรือระเบียบวินัยของนักโทษ ได้อย่างเป็นปกติ
และไม่ใช่การลงโทษที่รุนแรงดังเช่นอดีต แต่เป็นอำนาจควบคุม
ผ่านกระบวนการสร้างบรรทัดฐานหรือการทำให้เป็นปกติ (Normalization) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ”ระเบียบวินัย”(Discipline)
ซึ่งได้กลายมาเป็นเป้าหมายของพื้นที่ทางสังคม ไม่ว่า ในโรงเรียน
โรงพยาบาลหรือโรงงาน เป็นต้น
งานชิ้นนี้ของฟูโก
เป็นการสืบค้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจว่า เอกลักษณ์และความหมายของสิ่งต่างๆเหล่านั้น
หรือวาทกรรมชุดนั้น ถูกสร้างขึ้นมาและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน (History
of Present) ดังนั้น วิธีการแบบวงศาวิทยา
จึงเป็นการเปิดเผยให้เห็นองค์ประกอบต่างๆที่ดำรงอยู่ด้วยกัน (Coexistence) โดยการอธิบายคุณลักษณะที่มาประสานกัน
และให้ความสำคัญต่ออำนาจ/ความรู้ที่กำกับ ระบอบของความจริง (Regime of
Truth) ฟูโก พูดถึงวงศาวิทยาของเขาว่า
“วงศาวิทยาควรที่จะถูกมอง
เช่นเดียวกับความพยายามอย่างหนึ่ง กับความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่มาจากการถูกจองจำ
การจัดวางพวกเขา ซึ่งทำให้ความรู้ดังกล่าว เป็นปรปักษ์
ขัดแย้งและต่อสู้กับการบีบบังคับทางทฤษฏี
ในความเป็นเอกภาพและรูปแบบของวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์
วงศาวิทยาจึงเป็นพื้นฐานที่อยู่บนปฏิกิริยาสะท้อนกลับของความรู้ท้องถิ่น
ความรู้แยกย่อย (Local Knowledge)....ในทางตรงกันข้ามกับลำดับชั้นของความรู้ทางวิทยาศาสตร์
และผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติภายในอำนาจของพวกเขา”[3]
ดังนั้น ความจริงจึงเป็นเสมือนเรื่องราว ที่อำนาจ/ความรู้ทำงานเชื่อมกัน
ฟูโกบอกว่า ไม่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ปราศจากความเกี่ยวข้องกันในการประกอบสร้างหรือสถาปนาตัวเองขึ้นมาในสนามแห่งความรู้
และไม่มีความรู้ใดที่ดำรงอยู่โดยไร้อำนาจ หรือไม่ผลิตอำนาจ
ความรู้และอำนาจสร้างการก่อเกิดให้กันและกัน ด้วยเหตุนี้
อำนาจจึงทำงานและควบคุมเหนือชีวิตของเรา
อำนาจและความรู้จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และอำนาจไม่ใช่สมบัติของผู้ใด
แต่ดำรงอยู่คู่กับการปฏิบัติ นั่นคืออำนาจเป็นยุทธศาสตร์ของการกระทำที่ถูกจัดวาง
ไปพร้อมกับเรื่องของความรู้
ที่ไม่มีใครสามารถผูกขาดหรือครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว
แต่มันมีการไหลเวียนอยู่ภายในสังคม ที่คนกลุ่มต่างๆสามารถหยิบฉวย ต่อเติม
สร้างความหมายใหม่ได้อย่างไม่รู้จบและเมื่ออำนาจกำหนดความรู้
การขยายตัวของความรู้คือการขยายตัวของอำนาจในวาทกรรม[4]
แนวความคิดของฟูโก
และการวิเคราะห์ของเขาช่วยเหลือสนับสนุน กับเรื่องของความรู้และอำนาจ
ในการมองอำนาจเป็นเชิงลบ ที่อำนาจเป็นประเด็นเกี่ยวกับการกีดกัน บังคับ สกัดกั้น
ควบคุม ตัดตอน ปิดปัง[5]
สัมพันธภาพทางอำนาจจึงอยู่ในแนวตั้งฉาก จากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่ง จากบนลงล่าง
โดยก้าวไปสู่แนวความคิดเรื่องอำนาจที่ปรากฏในรูปของอำนาจเชิงบวก
มองอำนาจในลักษณะตัดผ่านระหว่างกัน (Intersection) ที่สำคัญก็คือการมองอำนาจในเชิงบวกที่เป็นเรื่องของความมีประสิทธิภาพของความจริงที่ปรากฏอยู่
“อำนาจผลิตความจริง(ความรู้)ก่อนที่มันจะบีบบังคับควบคุม” (The Formula Power Produces Reality before it represses)[6]
อำนาจจึงอยู่ทุกหนแห่ง และขับเคลื่อนตัวเองผ่านวาทกรรมในแต่ละชุด
เพื่อเข้ามาควบคุม ครอบครอง เหนือชีวิตของเรา ความรู้เป็นเพียงผลผลิตของอำนาจ
ที่เบียดบัง สกัดกลั้น หรือเบียดขับ
ความรู้ย่อยอื่นๆให้อยู่ภายในขอบเขตของความไม่น่าเชื่อถือ และการไม่ถูกยอมรับ
รวมทั้งกระบวนการทำให้วาทกรรมกระแสหลักนั้นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาจนได้รับการยอมรับและเชื่อกันในสังคม
บทความชิ้นนี้พยายามนำเอาความคิดของฟูโกมาอธิบายเรื่องเกลือและโพแทช
ในเรื่องของการช่วงชิงความจริงและความหมายของความรู้ที่เกิดจากวาทกรรมชุดต่างๆ
โดยเฉพาะความรู้ย่อยที่ถูกเบียดขับจากปริมณฑลทางสังคม ความรู้ย่อยเหล่านี้
เป็นสิ่งซึ่งควรได้รับความสนใจ ศึกษาภายใต้ชุดของวาทกรรมที่ความหลากหลาย
ที่ปรากฏให้เห็นร่องรอยของการต่อสู้และความขัดแย้งต่างๆ
ในการพยายามปลดปล่อยตัวเองจากความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์หรือวาทกรรมหลัก
คนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
ได้ใช้วาทกรรมของท้องถิ่นในการต่อสู้เคลื่อนไหว
ภายใต้อำนาจที่สร้างความเป็นไปได้ให้เกิดการกระทำบางอย่างในสังคม
เช่น การพัฒนา ที่สร้างความเป็นไปได้ต่อการจัดการ คน
พื้นที่และทรัพยากร
สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนประกอบสร้างจากวาทกรรม วาทกรรมของเกลือและโพแทช
จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของข้อเท็จจริง ข้อมูล ที่นำเสนอเท่านั้น
แต่รวมไปถึงการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการสร้างกฎเกณฑ์หรือแบบแผนว่า
อะไรคือการจัดการทรัพยากรเกลือและโพแทชใต้พื้นดินอีสาน
โดยสร้างวาทกรรมว่าด้วยเรื่องเกลือและโพแทช
เพื่อให้ผู้คนยอมรับในวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาอย่างแพร่หลาย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า วาทกรรมชุดต่างๆที่สร้างความจริง
ความรู้ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความรู้กระแสหลัก หรือความรู้ย่อย
ที่เป็นกรอบกำหนดในสิ่งที่เราสามารถกล่าวถึง เขียนถึง บรรยาย อธิบาย
เข้าใจและตัดสินคุณค่าต่อสิ่งต่างๆได้ ดังที่ฟูโก กล่าวว่า
“Let us give term
genealogy to the union of erudite knowledge and local memories which allow us
to establish a historical knowledge of struggles and to make use of this
knowledge tactically today”[7]
ดังนั้นวาทกรรมว่าด้วยเกลือและโพแทช
ถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งของการแย่งชิงพื้นที่ของวาทกรรม
โดยอำนาจที่มีอยู่แล้วในความรู้หนึ่ง
และความรู้ที่เกิดจากอำนาจท่ามกลางความแตกต่างนั้น ซึ่งปรากฏตัวชัดเจนในการอธิบายทำความเข้าใจต่อปัญหาเรื่องเกลือและโพแทช
อำนาจจึงอยู่คู่กับความรู้ รวมทั้งความจริงที่ทำให้คนรับรู้ เข้าใจ
และอยู่ใต้บงการ ของวาทกรรมใดวาทกรรมหนึ่ง
เช่นปฏิบัติการของเรื่องเกลือและโพแทช
ได้สร้างระเบียบวินัย หรือแบบแผนของอำนาจ
ให้คนยอมรับความจริงต่อเรื่องดังกล่าวในปัจจุบัน
การประยุกต์ใช้ Archaeology
of knowledge ในการวิเคราะห์เรื่องเกลือและโพแทช
อะไรคือโบราณคดีของความรู้? (Archaeology of Knowledge)
ฟูโก้ ทำความเข้าใจและขุดค้นประวัติศาสตร์
ที่ไม่ใช่เรื่องของความต่อเนื่อง ความเป็นเอกภาพและความเป็นสากลของประวัติศาสตร์
แต่เขามองประวัติศาสตร์ในทิศทางตรงกันข้าม โดยมองถึงความไม่ต่อเนื่อง ( Discontinuity) ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย ถูกละเลย ไม่ถูกพูดถึง
จุดเริ่มต้นที่หลากหลาย (threshold)ไม่ใช่จุดกำเนิดเพียงจุดเดียว
รอยแตกแยก (rupture)ภายใต้ความกลมกลืน จุดแตกหัก (Break) การเปลี่ยนรูป (Mutation) การเปลี่ยนแปลงและการส่งผ่าน(Transformation) ของประวัติศาสตร์แห่งความรู้กับพวกเรา
รวมทั้งการปฏิเสธเรื่องของจุดเริ่มต้น (Origin)ที่ไม่มีอยู่จริง
สิ่งที่ปรากฏจึงเป็นเพียงสิ่งที่สะท้อนหรือพูดออกมาจากจุดเริ่มต้น
เหมือนนักโบราณคดี หรือนักประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องราวจากวัตถุ
ภาพเขียนที่ตัวเองขุดค้นหรือพบเจอ สิ่งที่เขียนไม่ใช่จุดกำเนิดเริ่มต้นดั้งเดิม
เพียงแค่เป็นการเอาอดีตมาเขียนในปัจจุบันหรือสิ่งที่ออกมาจากจุดเริ่มต้น (Leave
of Origin) สรุปง่ายๆก็คือ การปรากฏของสิ่งที่ถูกพูดซ้ำ
ดังนั้นประวัติศาสตร์ในความหมายของฟูโก้จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์แบบที่เรารับรู้และ
Archaeology
ของเขาก็ไม่ใช่แบบเดียวกับที่นักโบราณคดีขุดค้นและศึกษาร่องรอยของมนุษย์
จากร่องรอยวัตถุสิ่งต่างๆ จากอดีตของวัตถุหรือสิ่งที่พบ
ซึ่งกระจายตัวและฝังตัวอยู่ใต้พื้นดินอยู่ในพื้นที่หรืออาณาบริเวณหนึ่ง
โดยมีการทับถมและเรียงกันในระดับของชั้นดินต่างๆ ตามอายุและความยาวนานของดิน
จากปัจจุบันลงไปสู่อดีต แต่ละชั้นดินมันจึงมีความเป็นมาของแต่ละยุคสมัย
แต่ละช่วงเวลา ที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง และเป็นอิสระจากยุคอื่นๆ
เพียงแต่ว่า
คำอธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้รวบรวมและพิจารณาจากหลักฐานหลายๆยุคประกอบกัน
นั่นคือ การมาสัมพันธ์กันหรือประกอบกัน
ของชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายและมีอิสระต่อกันภายใต้คำอธิบายทางองค์ความรู้ที่มีเอกภาพ
ที่ประกอบขึ้นมาจากวาทกรรม (Discourse) ชุดต่างๆ
นี่คือสิ่งที่ฟูโก้ต้องการเปิดเผยและอธิบายโดยวิธีการที่เรียกว่า
Archaeology
of Knowledge) หรือการขุดค้นประวัติศาสตร์ของความรู้ ซึ่งในนัยของฟูโก้ประวัติศาสตร์ที่เราเรียกว่า
ประวัติศาสตร์ของความคิด ความรู้
นั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสาขาวิชาทางปรัชญา วิทยาศาสตร์ การเมือง
เศรษฐศาสตร์ และวรรณคดีต่างๆ
เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์ (Science)
หนังสือทั่วไป (Book)
หรือเอกสารหนังสือพิเศษที่เกิดจากการรวบรวมภายหลังมรณกรรม การรวมบทความ
การใช้นามแฝง ที่เขาเรียกว่า “Oeuvre” ที่เป็นสิ่งที่ผลิตและผลิตซ้ำองค์ความรู้ต่างๆ
และสร้างความจริงให้กับเรา ที่ถูกเก็บรักษาไว้ภายใต้ความเป็นสิ่งที่เรียกว่า
เอกสารหลักฐาน (Document) สำหรับการอ้างอิงและพูดถึง ที่ฝังตัวไว้กับความทรงจำของมนุษย์
หรือเป็นอนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างของอดีต (Monument)
ที่ได้ให้สิ่งที่เราสามารถพูดได้อย่างแท้จริง พร้อมไปกับบางสิ่งที่เงียบเชียบ
ไร้เสียงหรือไม่ถูกพูดถึง
สิ่งที่น่าสนใจในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของเราก็คือ
การเปลี่ยนผ่านของสิ่งที่เรียกว่า เอกสารหลักฐาน (Document) ไปยังสิ่งที่เรียกว่า อนุสาวรีย์ (Monument)
ที่เรา เคารพ ยกย่อง ชื่นชม ระลึกถึง ในความสมบูรณ์รวบยอดของมัน
ในพลังของความเงียบและการไร้เสียง การปราศจากการตั้งคำถาม
และยอมรับในสิ่งที่เรากล่าวถึง ว่าสิ่งเหล่านั้นคือความจริง ที่ดำเนินการผ่านวาทกรรมในตัวเอง และสนามภายนอก
( Field exteriority)
ของวาทกรรมที่ปฎิบัติการผ่านสิ่งที่เรียกว่า สถาบัน
สถาบันที่กล่าวถึงเกี่ยวข้องกับการสร้างองค์ความรู้
โรงเรียน หนังสือ ตำรา เอกสารต่างๆ
สถาบันทางเศรษฐกิจ สถาบันการเมือง และอื่นๆ ที่ทำให้เราพูดได้อย่างสนิทใจ
และมั่นใจในความถูกต้อง และการยืนยันหรือการมีอยู่จริงของความรู้ชุดนั้น
ในตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่า
ความสำคัญของเอกสารหลักฐานต่างๆ
ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระแต่อย่างใด
แต่อยู่ที่ความจริงที่เอกสารเหล่านั้นบอกหรือสื่อกับเรามากกว่า
ประวัตศาสตร์ที่ต่อเนื่อง ความมีเอกภพ
ความเป็นสากล และความมั่นคงแน่นอนของเอกสารหลักฐาน จึงเป็นสิ่งที่ฟูโก
ตั้งคำถามและทดสอบปัญหาทางทฤษฏีเหล่านี้ ในการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ ในสนามที่เฉพาะ
หรือเหตุการณ์ที่เฉพาะ (Event)
ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความคิดและความรู้
โดยพิจารณาลงไปยังการแพร่กระจายหรือเหตุการณ์ที่กระจัดกระจาย ที่ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อต่างๆ
ผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่
ผ่านตัวบท หนังสือ และOeuvre ที่สร้างความมั่นคงและความเป็นเอกภาพและเป็นอนุสาวรีย์
(Monument)ให้กับมัน
วาทกรรม
จึงไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ภายในเนื้อแท้ของตัวมันเอง มีอิสระในตัวเอง
และสามารถเข้าใจได้อย่างเป็นสากล แต่ความมีเอกภาพของวาทกรรมเชื่อมโยงกับ
การจำแนกแยกประเภท กฎเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกัน ประเภทของสถาบันที่ตอกย้ำความจริงดังกล่าว
เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องวิเคราะห์
เช่นวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรเกลือและโปแตช
ถือว่าเป็นการแสดงหรือผลิตวาทกรรม ภายใต้สิ่งที่ถูกพูดอยู่แล้ว (Already -Said)
เพราะในปัจจุบันเมื่อพูดถึงการจัดการทรัพยากรต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม
และความยั่งยืน
ซึ่งปรากฏการณ์ของสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางได้ขุมขังสกัดกั้นการปรากฏอย่างแท้จริงของสิ่งที่ไม่ถูกพูดหรือไม่เคยถูกพูดถึง
ฟูโกกล่าวว่าสิ่งที่ไม่ถูกพูดก็เป็นเหมือนการขุมขังตัวเองไว้ภายในสิ่งที่ถูกพูดทั้งหมดนั่นเอง ( Foucault 1972;25)
ตัวอย่างเช่น
เมื่อเรื่องเกลือและโปแตชถูกหยิบยกมาพูดในเวทีสัมมนาในแง่มุมต่างๆนั้น
ในเรื่องเศรษฐกิจ ที่บริษัทข้ามชาติเน้นในเรื่องของตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัด
มูลค่าทางเศรษฐกิจ การกระจายหรือการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยไม่พูดหรือเลี่ยงที่จะพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม
หรือผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่เมื่อพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ทำให้ดูราวกับว่า ปัญหาต่างๆจะไม่มีทางเกิด
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นก็เป็นการหวั่นวิตกของตัวชาวบ้านเองที่ไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีการทำเหมือง
ทำให้บริษัทถูกมองว่าไม่พูดถึงข้อเสียพูดถึงแต่ด้านดีอย่างเดียว
การวิเคราะห์วาทกรรมของฟูโก จึงเป็นการมองลงไปที่หน่วยของการศึกษาวาทกรรม
ที่เรียกว่า สิ่งที่พูด หรือ Statement/ E’nonce
ที่เป็นเสมือนวัตถุของการศึกษาของฟูโก ที่ต้องการดูการก่อตัว (Formation) และการจัดวางตัว (Formulate)ของวาทกรรม
ในบริบทต่างๆ สถานการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ
ดังนั้นการวิเคราะห์ของฟูโก้จึงเน้นไปที่ Statement ,Group of
Statement และ Event
ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในประเภทชนิดที่แตกต่างทั้งทางเทคโนโลยี
เศรษฐกิจ สังคม
ที่เปิดเผยความสัมพันธ์ทั้งหมดของวาทกรรม
ในพื้นที่ที่ซึ่งเหตุการณ์ของวาทกรรมเป็นสิ่งที่ถูกใช้และจัดการ เช่น
การประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเกลือและโปแตช ที่เป็นสนามของวาทกรรมอันซับซ้อน
และมีความแตกต่างกันมากมาย ภายใต้ Archive[8]
และGrounding ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
ที่ทุกคนเน้นย้ำ การจัดการเกลือและโปแตช จึงเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้าง
โดยสิ่งที่ถูกพูดถึงทั้งหมด ซึ่งปรากฏผ่านการให้ชื่อ แบ่งแยก อธิบาย พรรณนา
และให้ร่องรอยการพัฒนาของวาทกรรมชุดนี้
ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์อันหลากหลาย และการตัดสินใจความเป็นไปได้ในการพูดถึงสิ่งเหล่านี้
โดยเชื่อมโยงกับวาทกรรม ที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดิน
คือเกลือและโปแตช ดังเช่น บริษัทข้ามชาติ พูดถึงเกลือและโปแตช ในเชิงเศรษฐกิจ
รายได้ ผลประโยชน์ของชาติ
และการจ้างงาน หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และกระทรวงอุตสาหกรรม พูดถึงการจัดการที่ยั่งยืน และการนำมาใช้ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
การเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การเป็นผู้กำหนดกลไกลตลาด เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าหน่วยของวาทกรรม
หรือสิ่งที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไม่ได้หมายถึงการดำรงอยู่อย่างแท้จริงของวัตถุ
ที่เราเรียกว่า เกลือและโปแตชเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์และกฎเกณฑ์
ที่สร้างความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวของวัตถุ ทั้งในเวทีการสัมมนา เวทีการประชุม
และระหว่างช่วงเวลาแห่งยุคสมัย
นั้นก็หมายความว่า
มันไม่ใช่สิ่งที่มีความมั่นคงถาวรและมีเอกลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวแต่อย่างใด
แต่มันเป็นพื้นที่ (Space) ในวัตถุ
ที่ปรากฏอย่างหลากหลาย และเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง มันคือวัตถุที่เฉพาะในการเลือกปฏิบัติ
การสกัดกลั้น
และการทำให้แตกต่างในชีวิตประจำวัน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
และการเมือง เช่น การต้มเกลือพื้นบ้านเพื่อบริโภคของชาวบ้านในชุมชนบริเวณลุ่มน้ำหนองหาน
การผลิตเกลือในเชิงพาณิชย์แบบอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านม่วง
และอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
หรือเกลือและโปแตชแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของกลุ่มทุนข้ามชาติ
บริเวณแหล่งบ้านโนนสมบูรณ์ กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
จังหวัดอุดรธานี
ฟูโก นิยามกลุ่มของสิ่งที่พูด (Group
of Statement) ในชุดของกระบวนการทำให้เป็นปัจเจกบุคคลของมัน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้คำนิยาม จำกัดความ ในการแตกกระจัดกระจายของวัตถุเหล่านี้
ในการหยิบฉวยพื้นที่เล็กๆและให้คุณค่าพวกเขาบนระยะทางของยุคสมัย
กฎเกณฑ์การก่อรูปของวาทกรรม (Discursive Formation )
จึงเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกพวกเขา
ระดับของการพึ่งพาของพวกเขาบนสิ่งอื่นๆ หนทางที่พวกเขามีระหว่างกัน หรือ
การกีดกันสิ่งอื่นๆ รวมทั้งการส่งผ่านสิ่งที่ได้รับ
และการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกันของตำแหน่งแห่งที่ที่เข้าไปครอบครอง รวมถึงการจัดการและการแทนที่ระหว่างกันของชุดความรู้หรือชุดวาทกรรมดังกล่าว
ดังนั้นกฎเกณฑ์ของการก่อรูป จึงเป็นสภาพเงื่อนไขของการดำรงอยู่
ในลักษณะของการดำรงอยู่ร่วมกัน (Coxeistence) การเก็บรักษา (Maintenance) การเปลี่ยนแปลงแก้ไข (Modification)
การทำให้ไม่ปรากฏ (Disappearance)
ในกระบวนการกำหนดและการแบ่งแยกวาทกรรม(Foucault,1972;38)
ฟูโก
เสนอให้เรามองการดำรงอยู่ของสิ่งที่พูด เช่นเดียวกับการก่อรูปของวัตถุ
ที่เราต้องพิจารณาถึง
1)
พื้นที่หรือปริมณฑลที่มีการปรากฏชุดของวาทกรรมหรือชุดความรู้ดังกล่าว (Surface
of Emergence) ในการแสดงตัวออกมาในลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย
จากปัจเจกบุคคลหรือคนกลุ่มต่างๆ ที่สอดคล้องกับความเข้มข้นของเหตุผล
รหัสทางความคิด และประเภทของทฤษฏีที่สอดคล้อง เช่นเกลือ โปแตช เกลือหิน แร่
วัตถุทางเศรษฐกิจ วัตถุทางวัฒนธรรม วัตถุทางการเมือง ซึ่งมันไม่ได้แสดงถึงสิ่งเดียวกันในสังคมที่แตกต่าง
ยุคสมัยที่แตกต่าง
ตัวอย่างเช่น รูปแบบหรือการก่อรูปของวาทกรรม เช่น
เกลือ กับแร่ ในสมัยหนึ่ง มันถูกกำหนดให้มีนัยเดียวกัน
ด้วยเหตุผลของประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าสูง
แต่ต่อมามันก็ไม่ถูกจัดประเภทว่าเป็นแร่ เนื่องจากมีราคาต่ำ และไม่ใช่แร่หาได้ยาก
ต่อมาเมื่อมีการค้นพบแร่โปแตชและเกลือหิน ก็เลยมีการจัดเข้ามาในประเภทของแร่
เป็นต้น
2) เราจำเป็นต้องอธิบายถึงการจำกัดขอบเขต(Delimitation) ของชุดความรู้หรือชุดของวาทกรรมนั้นๆ
เช่นเดียวกับกระบวนการทำให้เป็นสถาบันที่นำเสนอกฎเกณฑ์ของตัวเอง ดังที่คนหลากหลายกลุ่มพยายามสร้างความเป็นเกลือและโปแตชเช่นเดียวกับวัตถุ
ในการให้โครงร่าง ความรู้ และการปฎิบัติ โดยการรับรองของกฎหมาย รัฐบาล สถาบันต่างๆ ที่สร้างอำนาจหลักในสังคม
ในการกำหนดเขต การให้ชื่อ การจำแนกแยกประเภท การอธิบายพรรณนามัน
และสร้างความเป็นเกลือและโปแตชในความรู้ความเข้าใจของเรา
เช่นเดียวกับวัตถุในการจัดการ การพัฒนา ที่ต้องพึ่งพาสถาบันต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ ที่ฟูโกเรียกว่า Field of
exteriority หรือ non-discursive practice
3) เราจำเป็นต้องวิเคราะห์กลุ่มของความเฉพาะ (Grid of Specification) ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับการแบ่งแยกประเภทที่แตกต่าง
ที่ซึ่งถูกทำให้ขัดแย้ง ถูกทำให้สัมพันธ์กัน ถูกทำให้รวมกัน จัดกลุ่มเข้าด้วยกัน
และแบ่งแยกออกจากกัน นี่คือรูปแบบที่สร้างความเป็นไปได้
โดยกลุ่มของความสัมพันธ์ที่จัดตั้งระหว่างอำนาจของการปรากฏ การปักเขต
และการทำให้เฉพาะกลุ่ม ในสิ่งหนึ่งที่เราสามารถพูด หรือพูดได้
ความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้น เราจำเป็นต้องแบ่งแยกจากความสัมพันธ์ 2 ส่วน คือ
ความสัมพันธ์ขั้นปฐมภูมิ (Primary Relation) ที่เป็นอิสระจากวาทกรรมทั้งหมด
กับความสัมพันธ์แบบทุติยภูมิ (Secondary Relation) ที่วัตถุแห่งวาทกรรมถูกช่วงชิงในการกล่าวถึง
หรืออธิบายายในสถาบันต่างๆ เช่น ศาสนา ครอบครัว พรรคการเมือง องค์กรธุรกิจ เป็นต้น
กรณีตัวอย่างเช่น ในเรื่องเหมืองแร่โปแตช
ชาวบ้านพูดถึงเรื่องเกลือในการบริโภคในชีวิตประจำวัน การถนอมอาหาร ทำปลาร้า การใช้สอยในชุมชน
แลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน เครือญาติ ที่เขาสามารถพูดได้
ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ในระดับที่สอง ที่เรียกว่าความสัมพันธ์ขั้นทุติยภูมิ
(Secondary
Relation) ที่เป็นการจัดวางวาทกรรมในตัวของมันเองที่คนอื่นๆ
สามารถพูดถึงเกลือและโปแตชได้ แม้ว่าจะไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านี้
ไม่ได้ทำการผลิตเกลือ เช่นนักวิชาการ นักพัฒนา บริษัทข้ามชาติ ที่สามารถพูด
และผลิตความรู้เกี่ยวกับเกลือและโปแตชในพื้นที่
ที่เป็นการผลิตซ้ำความหมายคนละอย่างกับสิ่งที่ชาวบ้าน ครอบครัว
ชุมชนพูดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้
เป็นความต่างที่มาปะทะกันในพื้นที่หรือสนามของวาทกรรมเดียวกัน
ปรากฏการณ์กังกล่าว สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ของวาทกรรมที่เป็นไปได้ บนพื้นที่ที่ปรากฎในการประชุมสัมมนา สิ่งเหล่านี้ เราอาจเรียกได้ว่า
เป็นความสัมพันธ์ของปฎิบัติการของวาทกรรมที่เราสามารถเห็นได้ภายในวาทกรรม
ที่อยู่ในความคิด ความเข้าใจที่จำกัดของวาทกรรม ที่ให้วัตถุที่เราสามารถพูดได้
หรือตัดสินกลุ่มของความสัมพันธ์ของพวกเขา
วาทกรรมจึงสร้างระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการพูดวัตถุสิ่งต่างๆ วาทกรรมจึงเป็นเหมือน การวิเคราะห์ การแบ่งแยก
การให้ชื่อ การวางมันไว้ในสถานการณ์ต่างๆ เป็นเสมือนการปฏิบัติ (Practices) (Foucault,1972;46)
สิ่งที่ฟูโก เน้นย้ำก็คือ
การค้นหาสิ่งที่พูดหรือหน่วยของวาทกรรมในตัวเอง ในการจำแนกแจกจ่ายพวกเขา
การแสดงระหว่างกันของความแตกต่างของพวกเขา ที่แสดงให้เห็นกลุ่มของกฎเกณฑ์
หรือพื้นฐาน เบื้องหลัง ที่ดำรงอยู่ภายในการปฎิบัติ
และการให้คำจำกัดความมันในความเฉพาะของมัน
การประกอบสร้าง ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา การพูด การเขียน
ประวัติศาสตร์ในวัตถุของวาทกรรมที่ฟูโกต้องการชี้ให้เห็นสิ่งที่พวกเขาเป็นมากกว่าการประกอบสร้างของสัญญะ
ภาษา หรือถ้อยคำ ที่เราจำเป็นต้องอธิบายและเปิดเผยมัน (Foucault,1972;49)
สิ่งที่เราพูดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ
เช่นการอธิบายพรรณาคุณลักษณะ คุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ประวัติบุคคล การตั้งสมมติฐาน การตีความหมาย
การคำนวณทางสถิติ การเปรียบเทียบ การอนุมาน และอื่นๆ ซึ่งเป็นวาทกรรมในศตวรรษที่19
ฟูโกต้องการค้นหาว่าอะไรที่ผูกโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน ทำไมเราต้องพูดถึงสิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งอื่นๆ ฟูโก
ต้องการค้นหา กฎเกณฑ์เริ่มแรกที่ดำรงอยู่ หรือ ดำเนินการอยู่ เบื้องหลังสิ่งที่พูด
ที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ รวมทั้งตำแหน่งแห่งที่ที่พวกเขายึดครองหรือครอบครองอยู่
สิ่งที่ฟูโกให้เราพิจารณาก็คือ
1)
ใครคือคนพูด “Who is Speaking”
ในบรรดาคนที่พูดทั้งหลาย เช่นสิ่งที่พูดเกี่ยวกับเรื่องเกลือและโปแตช ที่มาจาก
บริษัทข้ามชาติ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี
การทรวงอุตสาหกรรม นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนาเอกชน และชาวบ้าน
ที่มีความแตกต่างของลักษณะซึ่งสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ในประเภทของภาษา
คุณลักษณะที่เฉพาะของเขาเช่นความมีชื่อเสียง ความรู้ ความชำนาญ เช่น
ความเป็นนักธรณีวิทยา วิศวกรเหมืองแร่ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม หรือชาวนาเกษตรกร
ที่จะรับประกันเบื้องต้นว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นความจริงและมีความถูกต้อง
มีความชอบธรรมในการพูดที่สามารถได้รับการยอมรับอย่างทันที
เช่นวิศวกรเหมืองแร่ที่ใช้เทคนิคเครื่องมืออันทันสมัย กับชาวนาที่ใช้จอบใช้เสียม
ย่อมมีความน่าเชื่อถือในการพูดเกี่ยวกับเรื่องเหมืองเกลือหินและโปแตชที่ต่างกัน การสัมมนาโครงการเหมืองแร่โพแทช
ปัญหาและแนวทางแก้ไขที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสะท้อนให้เห็นว่า
เสียงส่วนใหญ่ที่เราได้ยินคือเสียงของบรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้พูดหรือกล่าวถึงวาทกรรมชุดดังกล่าว
ในขณะที่ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมประชุมกลายเป็นเพียงคนนั่งฟังเท่านั้น
2)
ความสัมพันธ์ในการอธิบายที่เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ (Site) ของสถาบัน (Instituition)ที่รับรองหรืออยู่เบื้องหลังความรู้หรือวาทกรรมที่ถูกกล่าวถึง
ที่นำไปสู่การปฎิบัติการในระดับที่เรียกว่า Non-discursive practices เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดเกี่ยวกับเกลือและโปแตช
ในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับชาติ ซึ่งจะได้รับเมื่อนำนโยบาย
หรือแผนงานเมกะโปรเจ็คนั้นลงไปดำเนินการในระดับพื้นที่ให้เกิดผล
หรือบริษัทพูดถึงเรื่องส่วนแบ่งจากเหมืองแร่โปแตชที่จะเกิดขึ้น
หากมีการเกิดรงงานเหมืองแร่ขึ้นจริงในพื้นที่ เป็นต้น
3)
ตำแหน่งขององค์ประธานที่ถูกกำหนดนิยามโดยสถานการณ์ (Situation) ที่เป็นไปได้สำหรับการครอบครองชุดความรู้หรือวาทกรรม
ในความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่หลากหลายหรือความเป็นไปได้ที่จะถูกพูดถึง
เช่นสถานการณ์ในเวทีต่างๆ ทั้งในระดับ หมู่บ้าน ท้องถิ่น ประเทศ
การประชุมของนักวิชาการ ของภาคธุรกิจ ของรัฐบาล หรือการประชุมขององค์กรต่างๆ
เป็นต้น
กฎเกณฑ์ของการก่อรูปของวาทกรรมที่ครอบครอง
ควบคุม เกี่ยวกับรูปแบบทางความคิด (Formation of concept) ซึ่งแนวความคิดเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เฉพาะโดยชุดของกฏเกณฑ์ที่ซับซ้อน ที่ถูกเก็บรักษาไว้เช่นเดียวกับสิ่งที่เขาพูด
โดยพิจารณาและมองลงไปที่สนามของความแตกต่างหลากหลาย
ในชุดของระเบียบกฎเกณฑ์ของการเปล่งเสียง ถ้อยคำ (ordering of enunciative
series) หรือไม่ก็เป็นกฎเกณฑ์ของการอนุมานสรุป
ความต่อเนื่องของความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และการแสดงเหตุผลเชิงสาธิต
กฎเกณฑ์ของการอธิบายพรรณนา พื้นที่ของการแจกจ่าย แพร่กระจาย ที่พวกเขาเข้าครอบครอง
ในเหตุการณ์ของช่วงเวลาที่ถูกแจกจ่ายในเส้นสายที่ต่อเนื่องของสิ่งที่พูด (Foucault,1972;57) เช่น Enunciative field ที่เกิดขึ้นร่วมกันในการประชุมสัมมนา
มันบีบให้คนเข้าร่วมประชุมแสดงเหตุผล
หรือพูดเกี่ยวกับกระบวนการจัดการทรัพยากรใต้พื้นดิน เกลือและโปแตช
โดยการให้เหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ รายได้ ที่บริษัทและรัฐบาลพูดถึง ในกฎเกณฑ์ที่เฉพาะและการนำไปใช้เฉพาะ
ในความสอดคล้องกับกลุ่มของสิ่งที่พูด โดยการก่อรูปของแนวความคิด
ได้นำไปสู่การสร้างทัศนคติ ที่หลากหลายในการยอมรับหรือปฏิเสธ เกี่ยวกับมัน
ในการจำแนก แยกประเภทการจัดลำดับชั้นของสิ่งที่พูด โดยการพิจารณาลงไปที่
สนามของการปรากฏของมัน (Field of Presence)
สนามของการดำรงอยู่ร่วมกัน (field of concomitance)
สนามแห่งความทรงจำ ( field of memory) ในสิ่งที่พูด
ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับ หรืออธิบายพรรณนาความถูกต้องของตัวพวกเขาเอง
และมีการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่หลากหลายพร้อมๆกับการสร้างการยอมรับในสิ่งที่พูด
ฟูโกเสนอให้พิจารณา
การแตกกระจายที่เป็นประเภทชนิดของวาทกรรมที่เฉพาะ ที่เกี่ยวกับความไม่สามารถเข้ากันได้
การตัดผ่านระหว่างกัน การเป็นตัวแทน หรือการถูกกีดกัน
การเปลี่ยนแปลงระหว่างกัน
การแทนที่สวมรอยและอื่นๆ
การวิเคราะห์วาทกรรมจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเภทของแนวความคิดเบื้องต้น
(Preconceptual) สนามที่ซึ่งแนวความคิดสามารถดำรงอยู่ร่วมกันภายใต้ความขัดแย้ง
ความแตกต่างหลากหลาย และภายใต้กฎเกณฑ์ที่เป็นสนามขององค์ประธาน(Subject)(Foucault,1972;60) อาจกล่าวได้ว่า
สนามของกระบวนการสร้างความคิดเริ่มต้น ในการอนุญาตหรือยินยอม
กับการปรากฏของระเบียบกฎเกณฑ์(Regularity) ของวากรรม
การบีบบังคับขุมขัง ที่สร้างความเป็นไปได้ในแนวความคิดที่แตกต่างหลากหลาย
เช่นกฎเกณฑ์ภายใต้การประชุมสัมมนาเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช
อุดรธานี
ปัญหาต่างๆ ดำรงอยู่ร่วมกัน (Coexistence) และอธิบายบนระดับเดียวกันคือสถานการณ์เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ
กระบวนการพัฒนา การใช้ให้เกิดประโยชน์ และผลประโยชน์ของชาติ
ซึ่งแสดงให้เห็นการก่อรูปของวาทกรรม (Discursive formation)
ที่ถูกจัดวาง (Formulated) ผ่านทัศนคติ ผ่านภาษาในการประชุม
ผ่านสิ่งที่พูด ดังนั้น นอกจากแนวความคิด (Concept)
จะเป็นสิ่งที่ถูกจัดวางและกำหนดในสิ่งที่พูด ที่สัมพันธ์กับการก่อรูปของวาทกรรมและรูปแบบวิธีการที่สามารถพูดได้แล้ว
ทางเลือกทางทฤษฎีหรือยุทธศาสตร์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ในการก่อรูปของวาทกรรมและแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของยุทธศาสตร์หรือทางเลือกที่ถูกวางเอาไว้
เมื่อวาทกรรมชุดหนึ่งต้องเผชิญหน้าหรือปะทะกับวาทกรรมชุดอื่นๆ ภายใต้เอกสารสารฐานเบื้องต้น
(Archive)หรือพื้นฐานเบื้องหลัง(Grounding)ของวาทกรรม ว่ามีการดำรงอยู่ร่วมกัน (Co-existence) มีการเชื่อมโยงกัน (Connection)
ที่เหมือนการยืนยันกันไปมา ระหว่างฝ่ายหนึ่งสู่อีกฝ่ายหนึ่ง
จากเรื่องหนึ่งบนเรื่องหนึ่ง เช่น
เศรษฐกิจกับชุมชน นโยบายรัฐกับชุมชน บริษัทกับรัฐ นโยบายรัฐกับบริษัท
บริษัทกับชุมชน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ทางเลือกจึงถูกกำหนดโดยจุดยืนที่แตกต่างเบี่ยงเบนในกลุ่มของความคิดและทฤษฎีที่อ้างอิง
ฟูโก มองว่า
เราจำเป็นต้องค้นหากฎเกณฑ์ของการก่อรูปของวาทกรรมในตัวเอง ระบบของการปรากฏขึ้น
การแจกจ่าย การแพร่กระจาย เกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการพูดถึง ภายใต้บริบท
การจัดวางตำแหน่ง และการแพร่กระจายทางความคิด
ระบบการจัดการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางเลือก
เช่น การประชุมสัมมนา เป็นเหตุการณ์ที่ตั้งขึ้น โดยกลุ่มของนักวิชาการต่างๆ
ที่เป็นการพูดเกี่ยวกับการจัดการเกลือ และโปแตช
การแสวงหาทางออกและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
โดยมีการจัดวางรูปแบบของการประชุม
การวางบุคคลที่จะพูดในประเด็นต่างๆ
โดยวางโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นกรณีศึกษาตัวอย่าง เป็นยุทธศาสตร์
เกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งสะท้อนผ่านกลุ่มที่หลากหลาย มาด้วยทัศนคติและเบื้องหลังที่แตกต่างกัน
ในสิ่งที่พูด ภาษาที่ใช้ในการประชุม
สิ่งที่พูด หรือ Statement
จึงอ้างอิงกับรูปแบบของสิ่งที่พูด (Formation)
ตำแหน่งแห่งที่ (Place) สนามของการปรากฏ (Field of
Emergence) ของมัน อำนาจกับความแตกต่างของปัจเจกบุคคล หรือวัตถุ โดยดูจากความเกี่ยวฃพัน
การเทียบเคียงกันของสิ่งที่พูด (Correlate of the Statement)
ซึ่งเป็นกลุ่มของขอบเขตที่ซึ่งวัตถุอาจจะปรากฏ
หรือที่ซึ่งความสัมพันธ์อาจเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดหรือระบุ (Assigned)
เช่น
การประชุมสัมมนาเกี่ยวกับเกลือและโปแตช ภายใต้ Statement ที่หลากหลายเกี่ยวกับ มัน ของนักวิชาการ บริษัท เอ็นจีโอ ข้าราชการ
นักการเมือง และอื่นๆ ที่ปรากฏในการประชุม
ภาษาที่ใช้ในการประชุมความคิดเบื้องหลังและยุทธศาสตร์ทางเลือกที่วางเอาไว้
ภายใต้แนวทางแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับเรื่องดังกล่าว
ที่กลุ่มต่างๆได้พูดออกมาและเปิดเผยความแตกต่างในพื้นที่ของความแตกต่างนี้(Space
of Differentation)
ซึ่งเราต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของสิ่งที่ถูกพูด (Foucault,1972;99)
The Statement จึงเป็นการแบ่งแยกไปยังสนามของ Enunciative ที่มีบริบท มีตำแหน่งแห่งที่
มีสถานภาพ เป็นสิ่งสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
ในการบีบบังคับให้ต้องกล่าวถึง พูดถึง และยืนยันความถูกต้อง
ความจริงของสิ่งที่พูด
ซึ่งสร้างความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ในสิ่งที่พูดและอ้างอิงถึงอดีตหรือรากเหง้าของสิ่งเหล่านั้น
รวมถึงความเป็นไปได้ของมันในอนาคต เป็นเสมือนเครื่องมือ วัสดุ (Materiality) ที่สามารถถูกกล่าวซ้ำในลักษณะของสิ่งที่พูด และทำให้สิ่งที่พูดมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย
พร้อมกับเป็นเครื่องมือ วัสดุของสถาบันที่สลับซับซ้อน เราไม่อาจกล่าวได้ว่า
สิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งเดียวกัน กับที่ถูกเขียนบนกระดาษ ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ
ทำโปสการ์ด หรือการผลิตซ้ำบนเทปบันทึกเสียง หรือการพูดประโยชน์นั้นในชีวิตประจำวัน
ที่เราจะสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เป็นวัตถุเดียวกันในแต่ละกรณี
เพราะมันเกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ของสถาบัน
ที่ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีขอบเขตทางพื้นที่และเวลาที่เฉพาะ
ที่นิยามความเป็นไปได้และการกลับมากล่าวซ้ำ คัดลอกมัน
ดังนั้นสิ่งที่พูด (Statement) จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้อย่างทันทีทันใด ภายใต้เบื้องหลังของมัน
บนพื้นผิวที่ปรากฏ
ยังมีส่วนประกอบที่ถูกปิดปังซ่อนเร้นความลับของความหมายที่ฝังอยู่ในตัวพวกเขา
หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ปรากฏดูเหมือนจะนำไปสู่สิ่งที่ไร้เสียง
มีภาพแต่ปราศจากถ้อยคำของพวกเขา ดังนั้นStatement จึงไม่ใช่ทั้งสิ่งที่สามารถมองเห็นได้
(Visible) หรือสิ่งที่ถูกปิดปังซ่อนเร้น (Hidden)จนมองไม่เห็นแต่อย่างใด (Foucault,1972;109)
ตัวอย่างเช่นในการประชุมสัมมนาโครงการเหมืองแร่โปแตช เราต้องมองลงไปที่เนื้อหาทั้งหมดที่พูดเกี่ยวกับเกลือและโปแตช
ที่หลากหลาย ซึ่งถูกพูดโดยคนกลุ่มต่างๆ
ที่เปิดเผยและไม่ได้ปกปิดวาทกรรมชุดดังกล่าวแต่อย่างใด
แต่กลับแสดงตัวออกมาอย่างหลากหลาย ในภาษาของนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน นักการเมือง
ข้าราชการ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้โดยง่ายนัก
เพราะในสิ่งที่พูดมันไม่ได้กำหนดหรือบอกทิศทางที่ชัดเจน
มันยังมีบางอย่างที่ปิดบังซ่อนเร้นความหมาย อุดมการณ์
เบื้องหลังที่แท้จริงบางอย่าง
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภายใต้สิ่งที่พูดอย่างหลากหลายแท้จริงแล้วมันไม่เคยหลากหลายจริงๆ
ฟูโก เสนอให้เรามองลงไปที่การใช้ประโยชน์และการกล่าวซ้ำของมัน(Foucault
,1972;106) การใช้ประโยชน์(Used)คือดูที่สิ่งที่คนกลุ่มต่างๆเอามาพูดทั้งหมดในการประชุมสัมมนาและการกล่าวซ้ำของมัน
(repeated) ซึ่งต้องดูที่การปะทะ ประสาน โต้ตอบกันของวาทกรรม
ภายใต้สิ่งที่พวกเขาพูด
ตัว Discursive มันก็คือเผด็จการ หรืออำนาจของภาษา ที่กำกับความรู้
ความจริงโดยตัวของมันเอง ปัญหาไม่ใช่ความถูกต้อง ถูกผิดของมัน แต่อยู่ที่สิ่งที่มีมันถูกพูดยังไง
และสิ่งที่พูดออกมามันทำให้คนยอมรับเชื่อฟังยังไงมากกว่า มันทำให้คนเข้าใจเนื้อหาความจริงนั้นยังไง
ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา แต่คือความจริงที่มันบอกกับเราต่างหาก
แม้ว่าเราไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่ามันคืออะไร เป็นอะไร
แต่สิ่งที่ถูกพูดมันบ่งชี้อะไรกับเรา ที่มันจัดการผ่านอำนาจของสิ่งที่พูด (Statement)
และแบล็คอัพของมันซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายนอกสนามของวาทกรรม(Field
of exteriority)
หรือไม่ใช่ภาคปฎิบัติการของวากรรมที่เป็นสิ่งที่ถูกพูด Non-discursive
practices
สิ่งที่เราสามารถวิเคราะห์ได้ก็คือ
การก่อรูปของวาทกรรมในการถูกแบ่งแยกระนาบที่เฉพาะของสิ่งที่พูด
ที่ระดับของสิ่งที่พูดในความเฉพาะใน 4 ทิศทางที่เราต้องวิเคราะห์ คือ
รูปแบบของวัตถุ ตำแหน่งแห่งที่ขององค์ประธาน รูปแบบทางความคิด
และทางเลือกของยุทธศาสตร์ เราจึงต้องมองไปที่ปฎิบัติการของมันผ่านภาษา
ที่นำไปปฎิบัติ ดำเนินการในเงื่อนไขของEnunciative Function มันเสมือนโครงร่างที่ไร้ตัวตน (Body
of anonymous)กฎเกณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกพิจารณา กำหนดอยู่เสมอ
ในเวลาและพื้นที่ ที่เป็นการกำหนดของยุคสมัย สังคม สภาพทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ
และพื้นที่ทางภาษา (Foucault ,1972;117)
[1] Rudi
Vesker, Michel Foucault Genealogy as Critique, (trans.) Chris Turner, (London: Verso,1995), p. 21.
[2]
Michel Foucault, The Archaeology of
Knowledge and the Discourse on Language. (trans.) Alan Sheridan. (New York: Pantheon Books,1972), p. 21.
[3] อ้างจาก Michel Foucault ที่ว่า A Genealogy should be seen as a kind of attempt to
emancipate historical knowledge from that subjection, to render them ,that is
capable of opposition and of struggle against the coercion of a theoretical
,unitary, formal and scientific discourse. It is base a reactivation of local
knowledge – of minor knowledge- in opposition to the scientific hierarchisation of knowledge and the effects intrinsic to
their power…” ,1980 p. 85.
[4] Rudi
Vesker, Michel Foucault: Genealogy as Critique, (Trans.) Chris Turner, (London: Verso,1995), p. 67.
[5] Ibid.,70.
[6] Gilles Deluze, Deleuze Gilles Foucault. (Trans.) by Sean Hand.(The university of Minnesota
Press,1988), p. 39
[7]
Michel Foucault, “ Two Lectures” Power/Knowledge selected Interviews and
Other Writings 1972-1977. (Ed.) by Colin Gordon.( New York
:Pantheon Books,1980), p. 83.
[8] Archive หรือ
Piori a history ในความหมายของฟูโก คือเงื่อนไขความจริงสำหรับสิ่งที่เราพูด และเงื่อนไขของความถูกต้องในการตัดสินพิจารณา
เป็นสิ่งที่กำหนด ให้เราพูดได้อย่างแท้จริง
อาจกล่าวได้ว่า มันเป็นเงื่อนไขของการปรากฏอย่างอิสระ
ในการปรากฏร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในรูปแบบที่เฉพาะในการดำรงอยู่ของพวกเขา (Foucault,1972;127) ซึ่งลักษณะของ archive จึงเป็นกลุ่มของกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะของการปฎิบัติการทางวาทกรรม
ที่มีลักษณะของการแบ่งแยกประเภทที่แตกต่าง การก่อรูปของวาทกรรมที่แตกต่าง Archive
ในความหมายของฟูโก มันไม่ใช่หนังสือ บทความ
เอกสารหลักฐานที่ถูกเก็บรักษาภายใต้วัฒนธรรม ที่ยืนยันรับรองกับอดีตของมัน
อัตลักษณ์ที่ต่อเนื่องยาวนานของมัน
แต่มันคือสถาบัน ที่สังคมกำหนด
และสร้างความเป็นไปได้ของมันกับการบันทึกและการเก็บรักษาเอาไว้ มันจึงเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นไปได้ของเราในการพูด
ในช่วงเวลาของยุคสมัย การอธิบายเกี่ยวกับArchive
ก็คือกฎเกณฑ์ที่พวกเราพูดเกี่ยวกับวัตถุแห่งวาทกรรม
รูปแบบของการปรากฏ การดำรงอยู่ร่วมกัน การสะสมเพิ่มพูนทางประวัติศาสตร์ และการไม่ปรากฏ ที่อธิบายความเป็นไปได้ของArchive
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น