วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

Foucault กับการประยุกต์ใช้


การประยุกต์ใช้วิธีการแบบโบราณคดีของความรู้ (Archaeology of Knowledge)สู่การศึกษาแบบวงศาวิทยา(Genealogy)ของมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) เพื่อเปิดพรมแดนทางความรู้และอำนาจ
                                                                                                 โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
                                               





หนังสือสำคัญของมิเชล ฟูโก
            Madness and civilization  (พิมพ์ 1961 แปล 1965) ประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เรียกว่าความบ้าในปัจจุบันไม่ใช่การมองวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของความบ้าจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรารู้จักว่าเป็นความบ้า ในปัจจุบันกลับมีสถานะต่างจากยุคก่อนๆ และผันแปรเป็นมาต่างๆกันอย่างไม่ต่อเนื่องเพราะ Discourse ที่ทรงอิทธิพลกว่า ครอบงำปริมณฑลที่ใช้อธิบายลักษณะที่เราเรียกว่า บ้าในปัจจุบัน
         ประวัติศาสตร์ยุโรปในยุคกลาง ลักษณะที่เราเรียกว่า บ้า ในปัจจุบัน ถูกถือว่า เป็นลักษณะของความพิเศษในเชิงศักดิ์สิทธิ์ คือ แหล่งสถิตของสัจจะของพระผู้เป็นเจ้า(การเข้าถึงความจริงหรือการเข้าถึงพระเจ้า เพราะพระเจ้าคือความจริง) ตอนปลายยุคกลาง ในราวศตวรรษที่ 16 ความบ้าถือเป็นภูมิปัญญาหรือญาณพิเศษแบบหนึ่งของมนุษย์ท่ามกลาง วาทกรรม ที่ถือกันว่า ภูมิปัญญาแบบที่ต่างไปจากปกติธรรมดา คือความเหนือธรรมดา เหนือผู้อื่น การมีในสิ่งที่ผู้อื่นไม่มี การเห็นพระเจ้า ได้ยินเสียงพระเจ้า(การที่คนบ้าพูดคนเดียว) สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้ และเป็นแหล่งที่มาจากอาณาจักรไกลโพ้นมหาสมุทร
         ศตวรรษที่17-18 ยุคแห่งการปฎิวัติทางภูมิปัญญาที่ให้ความสำคัญและเชื่อมั่นในเหตุผลนิยมของมนุษย์ เหตุผลกลายเป็นแบบแผนของการคิดที่ถือว่าดีที่สุด ภายใต้วาทกรรมเช่นนี้ ความบ้าจึงเป็นสิ่งที่อยู่พ้นขอบเขตของความเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่อยู่ในซับเซตของเหตุผล(และความเป็นมนุษย์) ความบ้าถูกอธิบายว่าเป็นความไร้เหตุผล ไม่มีเหตุผลหรืออยู่นอกเหนือเหตุผล ( เรียกว่า Unreason แม้ว่าจริงๆแล้วคนบ้าหรือความบ้าก็อาจมีเหตุผลชุดหนึ่งของตัวเองที่แตกต่างจากชุดของเหตุผลของคนปกติ) แต่ในช่วงเวลานี้ความบ้ายังไม่ถูกถือว่าเป็นอาการป่วย คงเป็นเพียงลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจาก ความปกติ ดังนั้นคนบ้าจึงถูกควบคุมและดูแลปนไปกับพวกผิดปกติอื่นๆ เช่น ขอทาน อาชญากร
         ศตวรรษที่19 ความบ้าถูกจำแนกออกจากความผิดปกติอื่นๆ กลายเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง เพราะเกิดชุดความรู้หรือวาทกรรม (Discourse)ใหม่ที่เกี่ยวกับโรคทางจิตที่ไม่เคยมีมาก่อน ความบ้าถูกมองว่าเป็นความบกพร่องในพัฒนาการบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจและสมอง แต่พวกเขาก็ยังเป็นคน ดังนั้นคนบ้าถูกถือว่าเป็นคนเช่นกันกับคนอื่นในสังคม  ที่เป็นผลมาจากวาทกรรมของพวกมานุษยนิยม (Humanism) สิ่งที่แตกต่างระหว่างคนบ้ากับคนปกติเป็นแค่เพียงการบกพร่องทางด้านชีววิทยา ดังนั้นจึงต้องได้รับการรักษาแบบเฉพาะ(จากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชและประสาท)และในที่เฉพาะของคนบ้า(โรงพยาบาลบ้า โรงพยาบาลจิตเวช)
         การค้นพบของซิกมันด์ ฟรอยด์ ในความก้าวหน้าของวิชาการด้านจิตวิเคราะห์ ทำให้ความบ้ากับความปกติไม่แตกต่างกันอย่างที่เคยคิดหรือเชื่อมาก่อนหน้า แต่ทว่าทั้งสองสิ่งมีลักษณะร่วมกันมากกว่าแตกต่างกัน ทำให้เราตระหนักว่า ความบ้า ไม่ใช่ Unreason หรือป่วย แต่เป็นเหตุผลอีกระบบหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ดังนั้นฟรอยด์จึงปลดปล่อยพวกเขาจากสถานกักกัน  แต่กระนั้นก็ตามความมีอิสระของพวกเขา(คนบ้า)มีได้ตราบเท่าที่พวกเขายังอยู่ภายใต้อำนาจหรือความรู้ของจิตแพทย์





ภาพการทรมานนักโทษผู้ผิดปกติจากมาตรฐานสังคม    ภาพคนบ้าที่มีสถานะศักดิ์สิทธ์ การติดต่อกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ     ภาพเรือบรรทุกคนบ้าไปโยนทิ้งทะเล

        The Birth of Clinic (พิมพ์ 1963 แปล 1973)
        The Order of Thing (พิมพ์ 1966 แปล 1970)
ฟูโก เขียนประวัติศาสตร์ของวิชาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ 3 แขนง คือ ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละวิชาไม่ได้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในอดีตแต่อย่างใด ก่อนศตวรรษที่ 18 ไม่มีวิชาเหล่านี้ เพราะมนุษย์ไม่เคยเอาตัวเองเป็นวัตถุหรือหน่วยในการศึกษา มนุษย์วางตัวเองไว้ในฐานะองค์ประธาน (Subject) ของสิ่งต่างๆเสมอ
หนังสือถ้อยคำและสรรพสิ่ง (The Order of thing ) มุ่งหมายที่จะสืบค้นดูความเป็นมาของการสถาปนาศาสตร์ที่หันมาจัดวางมนุษย์ให้เป็นวัตถุแห่งการศึกษา ฟูโกเรียกวิธีการของเขาว่า โบราณคดีของความรู้ (Archeaology of knowledge) หรือการขุดค้นลงไปที่ชั้นของความรู้ (Layer of knowledge)เช่นเดียวกับเขาสำรวจชั้นของเอกสารต่างๆ (Archive) เพื่อค้นหาโครงสร้างความคิดของแต่ละยุคสมัย โครงสร้างดังกล่าวเรียกว่า กรอบทางความรู้ (Episteme) สิ่งเหล่านี้เรียกว่า เป็นเบ้าหลอมคำพูดและข้อเขียนในเรื่องต่างๆที่ไหลเวียนไปมาในสังคม ที่เรียกว่า วาทกรรม เป็นแหล่งอ้างอิงของผู้คนในยุคนั้นๆที่จะหยิบยื่นความหมายละคุณค่าของสรรพสิ่ง
ความรู้ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกัน ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กรอบความรู้อิงกับกรอบความคล้ายคลึง (La Ressemblance)ระหว่างสิ่งต่างๆ ศตวรรษที่17 และ18 ก็เกิดการตัดขาดในโลกความรู้ ความรู้แบบใหม่เกิดขึ้นมา เน้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่ง โดยอาศัยการชั่ง ตวง วัด และจัดประเภท(La Differance) ศตวรรษที่19 เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับสาเหตุ (La Cause)ไม่ใช่ อะไรแตกต่างจากอะไรแต่เป็น อะไรกำหนดให้เกิดอะไร
          ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ
1. ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบแม่บททางความรู้ทั้งปวงในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุ
2.มโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นวัตถุแห่งการศึกษา ในฐานะเป็นตัวการก่อให้เกิดโภคทรัพย์ สังคมและภาษา นี่คือ ที่มาของศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์ (Les Sciences Humaines) ซึ่งมนุษย์ดำรงตนในฐานะอัตบุคคลผู้กระทำและวัตถุที่ถูกกระทำ


      ภาพ Las Meninas  by Diego Valasquez
          จากภาพนำมาสู่คำถามว่า
         ใครกำลังมองใคร?
         เรามองภาพเขียน?
         ภาพเขียนมองเรา?
         จิตรกรมองคนที่เป็นแบบ?
         ใครมีอำนาจ?
         ใครเป็นSubject?
         ใครเป็น Object?
ความหมายของภาพ
ภาพดังกล่าวเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างการปรากฏกับการไม่ปรากฏ สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่มองไม่เห็น ความหมายจึงเป็นเรื่องของการแทนที่สวมรอย ภาพจึงไม่มีศูนย์กลางเดียวและไม่ใช่วัตถุที่นำเสนอเพียงชนิดเดียว ความหมายจึงเป็นเรื่องของการกำลังจะเกิด ความหมายสุดท้ายที่ยุติเด็ดขาดยังมาไม่ถึง
วาทกรรมที่ปรากฏ
         วาทกรรมว่าด้วยการจ้องมอง (Gaze)
         วาทกรรมของภาพเขียน


การมองภาพทำให้เราตกเป็นวัตถุร่างทรงของวาทกรรมว่าด้วยภาพเขียน ในทำนองเดียวกัน วัตถุของภาพเขียน Las Meninas คือ พระราชา พระราชินี ที่เป็นเจ้าชีวิตในโลกของความเป็นจริงกลับถูกทำให้กลายเป็นวัตถุของวาทกรรมว่าด้วยภาพเขียน
ในขณะเดียวกันภาพเขียนไม่ได้มีความหมายที่หยุดนิ่งตายตัวรอให้คนมองค้นหา แค่คนมองทำปฏิสัมพันธ์กับภาพให้เกิดเป็นความหมายขึ้นมา เป็นปฏิสัมพันธ์ภายใต้การกำกับของวาทกรรมว่าด้วยภาพเขียน
          The Disappearance of man
          ปรากฏในหนังสือThe order of thing ในบทที่1 Las Meninas และบทที่3 Representing
บรรยายอากัปกริยาและตำแหน่งของตัวจิตรกรในภาพเขียนที่นำเสนอตัวเองปรากฏอยู่ พร้อมทั้งบรรยายให้รายละเอียดลักษณะขององค์ประกอบทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในภาพ ตำแหน่งแห่งที่ อาการของบุคคล ช่องว่าง ทิศทางแสงเงา รวมทั้งจินตนาการทางความคิดของเขาเองที่มีต่อเรื่องราวและโครงสร้างของภาพ(เชิงศิลปะการจัดวาง) นำเสนอความเป็นภาพนี้ออกมา
สรุปได้ว่า คนดู จิตรกรและภาพ ต่างเป็นSubject Object ซึ่งกันและกัน

        The Archaeology of Knowledge (พิมพ์ 1969 แปล 1972)
วิธีการศึกษาที่เทียบเคียงกระบวนการขุดค้นทางโบราณคดี แต่มีความแตกต่างกัน โบราณคดีศึกษาร่องรอยอารยะธรรมของมนุษย์จากซากวัตถุต่างๆที่กระจายอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่งหรือวัฒนธรรมหนี่ง และโดยมากจะฝังตัวอยู่ในระดับชั้นดินต่างๆกัน ตามแต่อายุและความยาวนานของอารยะธรรม ณ ที่แห่งนั้น หลักฐานในแต่ละชั้นดิน เป็นผลผลิตเฉพาะยุคสมัยหนึ่ง จึงมีความสมบูรณ์ในตัวเองและเป็นอิสระจากหลักฐานยุคสมัยอื่นๆ แต่คำอธิบายเกี่ยวกับมนุษย์ต้องพิจารณาจากหลักฐานหลายยุคประกอบกันความรู้ต่างๆและตัวตนของมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น
ดังนั้นจะเข้าใจตัวมนุษย์ว่าประกอบขึ้นมาจากความรู้ได้อย่างไรและเข้าใจความรู้ว่าแประกอบขึ้นมาจาก Discourse ได้อย่างไร ก็ต้องใช้วิธีการ Archaeology
          Discourse ของฟูโก คือการดำรงอยู่ในเชิงระนาบต่างๆจำนวนมากมาย แต่ละระนาบมีความเป็นอิสระในตัวเอง หรือมีความเป็นมาและเวลาของตนเอง ดังนั้น Discourse เป็นเครือข่ายของ Possibility of Knowledge ที่ทำให้ Discourse ต่างๆสามารถประสาน บรรจบกันเป็นครั้งคราวเฉพาะสถานการณ์จนเกิดเป็น Discursive Practice และเกิดความหมายความรู้ขึ้น
Discourse ก็เหมือนวัตถุสิ่งของในชั้นดิน กล่าวคือ ก่อตัวขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขและดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง แต่ละDiscourse มีความเป็นมาเฉพาะของตน เป็นผลผลิตของสภาวการณ์เฉพาะเจาะจง มีอายุเงื่อนไขของการดำรงอยู่หรือมีเวลาเฉพาะของตัวเอง
ประเด็นในหนังสือฟูโก ปฏิเสธ สิ่งที่เรียกว่าความดั้งเดิมเริ่มแรก การสรุปรวบยอดและความต่อเนื่อง ( Origin ,Total ,Continous ) ที่ดูเหมือนราบเรียบและเป็นปกติของสังคม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...