ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แนวคิดแบบWorld Upon Body ของ Michael Foucault โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

Foucault. : World Upon Body ผมเริ่มจากการอธิบาย Component of corporeality หรือ องค์ประกอบของร่างกายภาพ หมายถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ประกอบกันเป็นประสบการณ์ทางกายภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่รวมถึงส่วนประกอบทางกายภาพ (เช่น อวัยวะและโครงสร้างทางชีววิทยา) แต่ยังเกี่ยวข้องกับการรับรู้ทางจิตใจและการปฏิสัมพันธ์ของร่างกายกับโลกภายนอกในระดับทางสังคมและวัฒนธรรม ในบทความเรื่อง Cultural Phenomenology Embodiment: Agency , Sexual Difference and Illness ของ Thomas Csordas ชี้ให้เห็นองค์ประกอบหรือส่วนประกอบทั้ง10 นี้จะช่วยกำหนด corporeality หรือการมีร่างกายจากมุมมองของการศึกษามานุษยวิทยา ประกอบด้วย 1. รูปทรงของร่างกาย(Bodily Form ) ร่างกายของเราประกอบไปด้วยแขน ขา ลำตัว ศีรษะ ท่าทางยืน การมีร่างกายที่สมบูรณ์เป็นการสะท้อนภาพของความสมบูรณ์ แต่ก็สามารถสูญเสียส่วนต่างๆ เช่น การตัดแขน หรือการสูญเสียอวัยวะ 2. ประสบการณ์จากการสัมผัส ( sensory Experience) เรามีประสาทสัมผัสที่สำคัญ (การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส รสชาติ และการได้กลิ่น) ซึ่งช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลก การสูญเสียประสาทสัมผัสเหล่านี้ทำให้ประสบการณ์ของชีวิตเปลี่ยนแปลงไป 3. การเคลื่อนไหวหรือความสามารถในการเคลื่อนไหว(Movement &Motility) การเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีเจตนา ความสามารถในการเคลื่อนไหวมีความสำคัญต่อการมีชีวิต ซึ่งต้องใช้ความพยายามและต้องเผชิญกับอุปสรรค 4. การมุ่งไปในทิศทางหรือการปรับตัว (Orientation) การที่เราอยู่อย่างไรในพื้นที่ ทั้งพื้นที่ทางธรรมชาติและพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวที่สร้างพื้นที่ใหม่ในทางกายภาพและจิตใจ 5. ความสามารถ (Capacity) ร่างกายมีความสามารถในการทำงานและทนทาน แต่ความสามารถเหล่านี้สามารถลดลงจากโรคหรืออุบัติเหตุ แต่ก็สามารถเสริมได้ด้วยเทคนิค เครื่องมือ หรือเทคโนโลยี 6. เพศ รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างเพศสรีระ เซ็กส์ และอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึง เพศวิถี ในประสบการณ์ทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเพศทางเลือก เช่น คนข้ามเพศ หรือผู้ที่มีความแตกต่างทางเพศ 7. เมตาบอลิซึม/สรีรวิทยา( Metabolism & Physiology ) การสร้างและทำลายโปรโตพลาสมาที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ให้พลังงานและช่วยให้ร่างกายดูดซับวัสดุใหม่เข้ามาในร่างกาย 8. การมีร่วม (Copresence) คือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งในบริบททางกายภาพ (พบหน้ากัน) และในโลกเสมือนที่เกิดจากเทคโนโลยี 9. อารมณ์ (Affect) คือ ประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและการตอบสนองทางอารมณ์ของบุคคลฃ 10. เวลา (Temporality) คือการรับรู้เวลาในแง่ของช่วงเวลา เช่น การเติบโต แก่ลง ความตาย การเกิดใหม่ หรือการเคลื่อนไหวตามจังหวะของฤดูกาล จากองค์ประกอบทั้งหมด ผมลองสรุปองค์ประกอบหลักของ corporeality ให้กระชับออกเป็น 5 อย่างได้แก่ฝ 1. Physical body (ร่างกายทางกายภาพ) ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สามารถสัมผัสและเห็นได้ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งทำให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ ในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับ ชีววิทยา และการทำงานของร่างกายจากมุมมองทางการแพทย์และสรีรวิทยา 2. Perception (การรับรู้) เป็นการรับรู้ของร่างกายผ่านประสาทสัมผัส เช่น การมองเห็น, การได้ยิน, การสัมผัส, การดมกลิ่น, และการลิ้มรส ซึ่งช่วยให้เราสัมผัสโลกภายนอกและตัวเราผ่านการรับรู้ทางร่างกาย ซึ่ง การรับรู้มีผลต่อประสบการณ์ทางจิตใจและอารมณ์ของบุคคล 3. Movement (การเคลื่อนไหว) การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เช่น การเดิน, การพูด, การทำงานอเก๋นต้น นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับ agency หรือการกระทำในโลกที่มีผลต่อการสร้างและแสดงออกถึงตัวตนของบุคคล 4. Emotion and sensation (อารมณ์และความรู้สึก)โดยร่างกายมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึก เช่น ความเจ็บปวด, ความเครียด, ความสุข ซึ่งสามารถสัมผัสได้ผ่านร่างกาย การรับรู้ทางอารมณ์เหล่านี้สามารถแสดงออกผ่านการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น หรือการสั่นของมือ 5. Cultural and social embodiment (การเป็นร่างกายในเชิงวัฒนธรรมและสังคม) ร่างกายยังมีความเกี่ยวข้องกับบทบาททางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การแสดงออกทางร่างกายตามที่สังคมคาดหวัง (เช่น การแต่งตัว, ท่าทาง, การแสดงออกทางใบหน้า) ที่บ่งบอกถึงสถานะและตัวตนของบุคคลในสังคม ดังนั้นความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมสามารถมีอิทธิพลต่อการรับรู้ร่างกาย เช่น การเข้าใจในเรื่องของความสวยงามหรือความสมบูรณ์ของร่างกายตามมาตรฐานสังคม Michel Foucault: “World Upon Body” แนวคิดหลักของ Foucault มองร่างกายในฐานะที่เป็น วัตถุของอำนาจ ที่ถูกควบคุมและจัดการโดยโครงสร้างสังคมและอำนาจในรูปแบบต่างๆ เขาเน้นที่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและโลกผ่าน disciplinary power หรืออำนาจที่กำหนดและควบคุมการกระทำของบุคคลผ่านกฎระเบียบต่างๆ เช่นในโรงเรียน โรงพยาบาล หรือสถาบันอื่นๆ ความเหมือนกันระหว่าง Foucault, Bourdieu, และ Merleau-Ponty ต่างยอมรับว่าร่างกายไม่สามารถแยกจากโลกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับโลกมีบทบาทสำคัญในการสร้างประสบการณ์มนุษย์ แต่ความแตกต่างคือ Foucault ให้ความสำคัญกับการควบคุมและการปกครองร่างกายผ่านอำนาจในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นที่วิธีที่โลกภายนอก (เช่น อำนาจจากสถาบันทางสังคม) มีผลต่อการเป็นร่างกาย เขามองว่าร่างกายไม่ได้เป็นแค่ที่รับรู้หรือกระทำ แต่เป็นเครื่องมือในการควบคุมและเป็นพื้นที่ของการกระทำที่ถูกปกครอง Michel Foucault มองความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย (body) และโลก (world) โดยเน้นไปที่อำนาจ (power) และวาทกรรม (discourse) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในงานของเขา อำนาจและวาทกรรม (Power and Discourse) โดย Foucault ไม่ได้มองอำนาจว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวบุคคลหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นสิ่งที่กระจายตัวอยู่ในความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง อำนาจทำงานผ่าน วาทกรรม (discursive formations) ซึ่งหมายถึงชุดของข้อความหรือคำพูดที่สร้างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งที่สามารถพูดได้ คิดได้ และกระทำได้ในสังคม วาทกรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือของอำนาจเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ผลิต ความรู้ (knowledge) และความจริง (truth) ด้วย ดังนั้นอำนาจและความรู้จึงเชื่อมโยงกัน และเป็นไปไม่ได้ที่ความรู้จะมีอยู่โดยปราศจากอำนาจ …เมื่อมีความรู้ ย่อมมีอำนาจ เมื่อมีอำนทนก็ต้องมีความรู้ที่อยู่เบื้องหลังที่คอยกำกับอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราคันชินกับความปกติของมันโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้ได้ตั้งคำถามต่อความรู้และอำนาจดังกล่าว กระบวนการของอำนาจที่กระทำต่อร่างกาย (Power over the Body) โดย Foucault สนใจว่าอำนาจนั้นกระทำต่อร่างกายของบุคคลอย่างไร โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่มีการควบคุมร่างกายผ่านกลไกต่างๆ เช่น การฝึกฝนทางวินัย (Discipline) เช่น ทหารที่ต้องฝึกท่าทางให้ถูกต้อง, นักเรียนที่ต้องนั่งในท่าที่เหมาะสมเมื่อเขียนหนังสือ หรือประเด็นของชีวการเมือง (Biopolitics)หรืออำนาจที่แทรกซึมในระดับร่างกาย เซลล์ทางชีวะ ที่มองอำนาจที่ควบคุมชีวิตของประชากรในระดับที่เป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ปัจเจกบุคคล อำนาจเหล่านี้ไม่ได้เป็นอำนาจที่กดขี่อย่างชัดเจนเสมอไป แต่ทำงานผ่านโครงสร้างและกลไกของสังคม เช่น สถาบัน โรงเรียน โรงพยาบาล และเรือนจำ ที่ทำให้เรารับรู้เกี่ยวกับร่างกายและสิ่งที่จะทำเกี่ยวกับร่างกายว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะคิดและทำเกี่ยวกับมัน เราสามารถมองเห็นอิทธิพลของอำนาจที่กระจายตัว (Diffusion of Power) โดย Foucault ไม่ได้มองอำนาจว่าเป็นสิ่งที่มีศูนย์กลาง (centralized) แต่เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในทุกๆ ด้านของชีวิต อำนาจกระทำผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การทำให้ประชากรปฏิบัติตัวในแบบที่เป็นที่ยอมรับทางสังคม หรือการทำให้คนเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติเป็นไปตามธรรมชาติหรือสามัญสำนึก (common sense) แม้ว่าปัจเจกบุคคลอาจมี การต่อต้าน (resistance) แต่อำนาจในแนวคิดของ Foucault นั้นไม่ใช่การกดขี่ที่ตรงไปตรงมา หากแต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่บุคคลต้องดำเนินชีวิตไปตามกลไกของมัน ถ้าลองเปรียบเทียบแนวคิดของ Foucault กับ Pierre Bourdieu ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและโลกในมุมมองที่ต่างออกไป เช่น Bourdieu เน้นที่ habitus หรือโครงสร้างของพฤติกรรมที่ก่อตัวขึ้นจากประสบการณ์ทางสังคม ในขณะที่ Foucault เน้นที่ วาทกรรมและอำนาจ ซึ่งทำงานผ่านสถาบันและโครงสร้างทางสังคม ในขณะที่ Bourdieu มองว่า พฤติกรรมเกิดจากความคุ้นเคยและการปรับตัวตามเงื่อนไขทางสังคม (เช่น คนเดินตัวตรงเพราะมันเป็น “ธรรมชาติ” ที่สังคมสอนมา) แต่ในอีกด้านหนึ่ง Foucault มองว่า พฤติกรรมถูกกำหนดโดยอำนาจและวาทกรรม (เช่น การนั่งตัวตรงอาจเป็นผลจากการถูกฝึกวินัยโดยโรงเรียน) สรุปแนวคิดสำคัญของ Foucault ที่น่าสนใจได้แก่ 1. อำนาจและวาทกรรมกำหนดความเป็นไปของร่างกายและสังคม ิสังคมไม่ได้มีอำนาจแบบชัดเจนเหมือนรัฐบาลเผด็จการ แต่อำนาจทำงานผ่านสถาบันและวาทกรรมฃ 2. อำนาจควบคุมร่างกายผ่านวินัยและการจัดการประชากร ไม่ใช่แค่ปัจเจกบุคคลที่ถูกควบคุม แต่รวมถึงทั้งสังคมผ่านแนวคิดอย่างชีวการเมือง 3. อำนาจไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่รัฐหรือชนชั้นปกครอง แต่แทรกซึมอยู่ในโครงสร้างของชีวิตประจำวัน – คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังถูกควบคุม เพราะอำนาจทำงานในระดับวัฒนธรรมและความคิด Foucault จึงเน้นว่าเราควรตั้งคำถามกับระบบที่เราดำเนินชีวิตอยู่ และมองเห็นว่าความจริงและกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ “ธรรมชาติ” แต่ถูกสร้างขึ้นผ่านวาทกรรมและอำนาจ แนวทางของ Foucault ที่เน้น World-upon-body โดย Foucault สนใจการดำรงอยู่ของอำนาจในความสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรม และพยายามทำความเข้าใจ “วิธีที่ปัจเจกบุคคลสร้างตัวเองผ่านปฏิบัติการของตนเอง” Foucault ไม่ปฏิเสธ “อัตวิสัย” (subjectivity) แต่ปฏิเสธการเริ่มต้นการวิเคราะห์จากอัตวิสัยแบบปรากฏการณ์วิทยา งานของFoucault แสดงให้เห็นว่าอำนาจแทรกซึมอยู่ในสถาบันต่าง ๆ เช่น ระบบกฎหมาย แพทยศาสตร์ ความบ้า ระบบเพศ และชีวการเมือง (biopolitics) การก่อรูปของวาทกรรม(discursive formations) เป็นกลไกสำคัญของอำนาจ ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ของความจริงและความรู้ ดั้งนั้นอำนาจไม่ได้ถูกถือครองโดยปัจเจกบุคคล แต่กระจายอยู่ทั่วไปในสังคม คล้ายกับ “พลังงานมืด” (dark energy) ในจักรวาล ซึ่ง โลกในความคิดของ Foucault ไม่ใช่แนวคิดที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นพื้นที่ที่อำนาจกระทำต่อร่างกาย และสร้างรูปแบบของการดำรงอยู่ผ่านระเบียบวินัย (discipline) และเทคโนโลยีของรัฐบาล (governmentality) มุมมองของ Foucault: การแพทย์และสุขภาพในฐานะกลไกของอำนาจ ซึ่ง Foucault ศึกษา ชีวอำนาจ (Biopower) และ ชีวการเมือง (Biopolitics) ซึ่งหมายถึงวิธีที่รัฐและสถาบันต่าง ๆ ควบคุมร่างกายของประชาชนผ่านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และนโยบายด้านสุขภาพ ภายใต้อำนาจวินิจฉัยและอำนาจของสถาบันการแพทย์ ระบบการแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้เป็นเพียงการรักษาโรค แต่ยังเป็นเครื่องมือของอำนาจ โดยแพทย์ โรงพยาบาล และระบบสาธารณสุขมีบทบาทในการกำหนด “ความปกติ” และ “ความผิดปกติ” ของร่างกายและจิตใจ คนไข้ถูกทำให้กลายเป็น “วัตถุแห่งการตรวจสอบ” (object of surveillance) มากกว่าการเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง ตัวอย่างเช่น โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า หรือ สมาธิสั้น อาจไม่ได้เป็นเพียงภาวะทางการแพทย์ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อควบคุมพฤติกรรมของประชากร แนวคิดเรื่อง สุขภาพที่ดี หรือ สุขภาพที่แย่ ถูกกำหนดผ่านวาทกรรมทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยา โรงพยาบาลและระเบียบวินัยของร่างกาย ในงานของ Foucault เรื่อง The Birth of the Clinic (1963) Foucault วิเคราะห์ว่าโรงพยาบาลไม่ได้เป็นเพียงสถานที่รักษาผู้ป่วย แต่เป็น “พื้นที่ของการควบคุมและการเฝ้าระวัง” การแพทย์แผนปัจจุบันอาศัย “สายตาทางคลินิกหรือการจับจ้องทางการแพทย์ ” (medical gaze) ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์มองร่างกายของคนไข้เป็นวัตถุที่ต้องตรวจสอบ ดังนั้นโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น กำหนดเวลานอน เวลารับประทานอาหาร และกิจกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ระบบสุขภาพมักกำหนดว่าผู้ป่วย “ควร” ทำอะไร เช่น ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมอาหาร หรือ ผู้ป่วยซึมเศร้าควรรับประทานยา โดยไม่คำนึงถึงมิติทางสังคมของปัญหา สุขภาพและชีวการเมืองที่ปรากฏในงานของFoucault ชื่อ The History of Sexuality (1976) Foucault อธิบายว่าแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพและร่างกายถูกควบคุมผ่าน กฎระเบียบทางศีลธรรมและนโยบายของรัฐ ดังนั้นสุขภาพไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนบุคคล แต่เป็น เครื่องมือของรัฐในการจัดระเบียบประชากร ตัวอย่างเช่น โครงการฉีดวัคซีน การคุมกำเนิด หรือการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ เป็นรูปแบบของชีวการเมืองที่พยายามกำหนดพฤติกรรมของประชาชน หรือเหตุการณ์ ในช่วงโควิด-19 แนวคิดของ Foucault สามารถใช้วิเคราะห์ นโยบายล็อกดาวน์ หรือ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นการใช้ชีวอำนาจเพื่อควบคุมประชากร แนวคิดของ Foucault ทำให้เราเข้าใจว่า สุขภาพไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องการเมือง ในขณะที่ Merleau-Ponty ทำให้เราเห็นว่า สุขภาพคือประสบการณ์ของร่างกายในการดำรงอยู่ในโลก ….

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...