ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แนวคิด reciprocity of body and world (ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนระหว่างร่างกายและโลก) ของ Bourdieu โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ต่อจากการสอนเมื่อวาน ที่ผมได้ให้นักศึกษาอ่านบทความชื่อ Cultural Phenomenology Embodiment: Agency , Sexual Difference and Illness ของ Thomas Csordas บทความเริ่มต้นจากการถกเถียงเรื่อง” Body as a discrete organic entity” เป็นแนวคิดที่มองว่าร่างกายเป็นหน่วยที่แยกออกจากกัน (discrete) ได้อย่างเด็กขาด และมีขอบเขตที่ชัดเจน ซึ่งมนุษย์สามารถถูกมองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพที่ดำรงอยู่โดยอิสระ แนวคิดนี้มักถูกนำมาใช้ในทางชีววิทยาและการแพทย์ ที่มองร่างกายมนุษย์เป็นระบบชีวภาพที่ทำงานอย่างเป็นเอกเทศ อย่างไรก็ตาม ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมถึงมานุษยวิทยา แนวคิดนี้ถูกตั้งคำถาม เนื่องจากร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีเพียงมิติทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดแนวคิดที่มองร่างกายแบบ porous body หรือร่างกายที่มีความซึมผ่าน (permeability) ซึ่งโต้แย้งว่าร่างกายไม่ได้มีขอบเขตที่ตายตัว แต่เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม หากเชื่อมโยงแนวคิด Body as a discrete organic entity กับการแพทย์ จะเกี่ยวข้องกับมุมมองทางชีวการแพทย์ (biomedical model) ซึ่งถือว่าร่างกายเป็นหน่วยชีวภาพที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มักมองร่างกายเป็นระบบอวัยวะและเซลล์ที่สามารถวิเคราะห์ รักษา และซ่อมแซมได้โดยอิสระจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น จิตใจ อารมณ์ หรือบริบททางสังคม โดยเขาเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและโลก 3 แบบ 1 ในระดับของการดำรงอยู่ (existence) ของMerleau -Pontyในเรื่องbeing -toward- the world 2. ในระดับของ Habitus ของ Bourdieu ในเรื่อง Reciprocity of body-world และ3 คือระดับ ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ( Power Relations)ของ Michael Foucault ในเรื่อง world-upon -body ในครั้งนี้ผมจะพูดถึง ระดับของ Habitus ของ Bourdieu ในเรื่อง Reciprocity of body-world ในแนวคิดของ Pierre Bourdieu habitus เป็นโครงสร้างของพฤติกรรมและความคิดที่ถูกสร้างขึ้นผ่านประสบการณ์ทางสังคม ซึ่งส่งผลต่อวิธีที่บุคคลรับรู้และกระทำการในโลก ดังนั้นอาจพูดโดยสรุปได้ว่า Habitus เป็น ชุดของแนวโน้มหรือจริต (dispositions) ที่บุคคลได้รับจากประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดตายตัว แต่เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังผ่านการเลี้ยงดู การศึกษา และบริบททางสังคม ดังนี้น Habitus ส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลโดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัว เช่น วิธีเดิน วิธีพูด หรือรสนิยมทางศิลปะ เป็นต้น เมื่อเราพิจารณา Habitus เราจะพบว่ามันมีระดับของสิ่งที่เรียกว่า Habitus ตั้งแค่ระดับปัจเจกบุคคล (Individual Habitus) ซึ่ง Habitus ทำงานในระดับบุคคลส่งผลต่อรสนิยม นิสัย และการกระทำของแต่ละปัจเจกชน ตัวอย่างเช่น เด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ อาจพัฒนาความสนใจทางวิชาการโดยอัตโนมัติ หรือ Habitus ระดับกลุ่ม/ชนชั้นทางสังคม (Class Habitus) ที่พบว่าบุคคลที่อยู่ในชนชั้นเดียวกันมักจะมี habitus ที่คล้ายกัน เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์ทางสังคมที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่นคนในชนชั้นแรงงานอาจมี habitus ที่เน้นการใช้แรงกาย ขณะที่คนในชนชั้นสูงอาจมี habitus ที่ให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรม สุดท้าย Habitus ในระดับโครงสร้างทางสังคม (Structural Habitus) ซึ่ง Habitus ถูกกำหนดโดยโครงสร้างทางสังคม เช่น ระบบการศึกษา กฎหมาย หรือสถาบันทางวัฒนธรรมตัวอย่างเช่น ระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำ อาจสร้าง habitus ของคนที่เชื่อว่าความรู้ต้องมาจากตำรา ไม่ใช่การคิดวิเคราะห์ เป็นต้น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง Habitus, Field และ Capital จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจะพบว่า Habitus ไม่สามารถแยกออกจาก Field (แวดวง หรือสนามทางสังคม) ได้ เนื่องจาก habitus ของบุคคลจะทำงานภายในบริบทของสนามที่พวกเขาอยู่ ที่เชื่อมโยงกับ Capital (ทุน ) ที่มี เช่น ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนทางสังคม ก็มีผลต่อ habitus ของบุคคลและวิธีที่พวกเขาเคลื่อนที่ภายใน field (สนามทางสังคม หรือแวดวงทางสังคม) ตัวอย่างเช่น ในระบบการศึกษา เราจะพบว่า Habitus ของชนชั้นกลางที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา อาจทำให้พวกเขาได้เปรียบในโรงเรียนมากกว่าคนที่มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน หรือในวัฒนธรรมการบริโภคคนที่มี habitus แบบชนชั้นสูงอาจเลือกรับประทานอาหารที่หรูหรา หรือฟังดนตรีคลาสสิก ขณะที่ชนชั้นล่างอาจเลือกรับประทานอาหารที่เน้นปริมาณและราคาถูก หรือในมานุษยวิทยาทางร่างกาย เราอาจจะมองว่า Habitus ส่งผลต่อวิธีที่คนใช้ร่างกาย เช่น ท่าทางการนั่ง การพูด หรือการเดิน ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกฝนและการขัดเกลาทางสังคม ดังนั้นระดับของ habitus มีตั้งแต่ระดับปัจเจก ระดับกลุ่ม/ชนชั้น ไปจนถึงระดับโครงสร้างทางสังคม รวมทั้ง Habitus ไม่ใช่สิ่งที่กำหนดตายตัว แต่เป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบททางสังคม แนวคิดในเรื่องความสัมพันธ์ของ habitus กับ reciprocity of body and world (ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนระหว่างร่างกายและโลก) จะเป็นการสำรวจว่า ร่างกายของเราสร้างโลก และโลกก็กำหนดร่างกายของเรา อย่างไร แนวคิด Reciprocity of Body and World มองว่า ร่างกายของเราไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในโลก แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรารับรู้และสร้างความหมายให้กับโลก ขณะเดียวกัน โลกภายนอกก็มีอิทธิพลต่อการก่อตัวของร่างกายและประสบการณ์ของเรา ตัวอย่างเช่น วิธีที่เราเดินเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของพื้นที่ เช่น เดินในป่ากับเดินบนถนนในเมือง หรือวิธีที่เรารับรู้ร่างกายของเราเองซึ่งถูกกำหนดโดยบรรทัดฐานทางสังคม เช่น มาตรฐานความงาม หรือแนวคิดเรื่องสุขภาพ เป็นต้น Bourdieu นำเสนอว่า habitus คือโครงสร้างของร่างกายที่สะสมมาจากประสบการณ์ทางสังคม ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับแนวคิด reciprocity ของ Merleau-Ponty เพราะ habitus ไม่ได้อยู่แค่ในจิตใจ แต่ฝังอยู่ในร่างกายของเรา Habitus สร้างร่างกาย 2 ลักษณะ อย่างแรกคือ สร้างร่างกายที่เหมาะสมกับโลกของมัน ตัวอย่างเช่น ร่างกายของแต่ละชนชั้นทางสังคมถูกฝึกฝนให้เคลื่อนไหว พูด และดำเนินชีวิตในแบบที่เหมาะสมกับบริบทของมัน ดังเช่น คนที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นสูง อาจมีท่วงท่าการเดินหรือวิธีพูดที่สะท้อนความมีอำนาจ หรือนักกีฬามี habitus ที่ถูกฝึกให้ตอบสนองต่อโลกแบบเฉพาะ เช่น นักฟุตบอลมีร่างกายที่ตอบสนองต่อสนามหญ้าและลูกบอล อย่างที่สองคือ โลกภายนอกสร้าง habitus ในร่างกายเราด้วยเช่นกัน ดังเช่น สิ่งแวดล้อมและบริบททางสังคมเป็นตัวกำหนด “รูปแบบของร่างกายที่เหมาะสม” ในแต่ละพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างผอมและฟิตและเฟิร์ม คนอาจพัฒนาหรือบังคับร่างกายของตนให้เข้ากับมาตรฐานนี้ หรือกรณีแรงงานก่อสร้างและพนักงานออฟฟิศมีร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นแตกต่างกัน ตามงานที่พวกเขาทำ เป็นต้น ดังนั้น Habitus และ reciprocity of body and world เชื่อมโยงกัน เพราะ ร่างกายของเราเป็นทั้งผลผลิตของโลกและเป็นเครื่องมือที่เราสร้างโลก ร่างกายไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยปัจเจก แต่เป็นผลลัพธ์ของการแลกเปลี่ยนทางสังคม ซึ่งกำหนดวิธีที่เรารับรู้และเคลื่อนไหว อาจกล่าวได้ว่า โลกกำหนด habitus ของเรา ในขณะที่ habitus ของเราก็กำหนดวิธีที่เราสัมผัสและสร้างความหมายให้กับโลกเช่นกัน ถ้าลองเชื่อมโยงแนวคิด Habitus และ Reciprocity of Body and World กับมิติทางการแพทย์ จะสามารถอธิบายได้ว่า ร่างกายมนุษย์ในการแพทย์ไม่ใช่แค่ระบบชีวภาพ แต่เป็นผลลัพธ์ของโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม และการปฏิสัมพันธ์กับโลก Habitus และร่างกายในระบบการแพทย์ ในมุมมองของ Pierre Bourdieu ร่างกายของเราไม่ได้เป็นอิสระจากบริบททางสังคม แต่ถูกสร้างขึ้นผ่าน habitus ที่เกิดจากระบบการแพทย์และวัฒนธรรมสุขภาพ Habitus ของแพทย์ เช่น แพทย์ได้รับการฝึกให้มองร่างกายในเชิงชีววิทยา และตัดสินความเจ็บป่วยจากมาตรฐานทางการแพทย์ ในขณะที่ Habitus ของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมี habitus ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนชั้น การศึกษา และประสบการณ์ เช่น คนชนบทอาจพึ่งแพทย์แผนโบราณมากกว่าการแพทย์ตะวันตก ตัวอย่างเช่น คนที่โตมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนปัจจุบันอาจมี habitus ที่ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นในโรงพยาบาล ขณะที่คนที่เติบโตมาในสังคมที่เน้นการรักษาแบบพื้นบ้านอาจมี habitus ที่ทำให้พวกเขาเลือกใช้สมุนไพรมากกว่า หรือกรณีผู้หญิงและผู้ชายอาจมี habitus ต่อสุขภาพต่างกัน เช่น ผู้ชายบางกลุ่มอาจไม่ชอบไปพบแพทย์เพราะ habitus ของ “ความเป็นชาย” ที่มองว่าการเจ็บป่วยเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ เป็นต้น การแพทย์แผนปัจจุบันกับการสร้างการรับรู้ร่างกาย โดย แพทย์มักมองร่างกายของผู้ป่วยในเชิงชีววิทยา (ร่างกายเป็นเครื่องจักรที่มีอวัยวะทำงานเป็นระบบ) ขณะที่ผู้ป่วยมองร่างกายของตนเองในเชิงอารมณ์และประสบการณ์ส่วนตัว ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งอาจรู้สึกว่าร่างกายของตนเองถูกทำให้ “แปลกแยก” ออกจากตัวตนเพราะการรักษาทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียความเป็นปกติของร่างกาย โลกทางสังคมกำหนดความหมายของโรค ดังเช่น โรคบางชนิดไม่ได้เป็นแค่ภาวะทางกาย แต่ยังถูกกำหนดโดยบริบททางสังคม ตัวอย่างเช่นโรคซึมเศร้าในบางวัฒนธรรมอาจถูกมองว่าเป็น “โรคทางจิต” ที่ต้องได้รับการรักษา ขณะที่ในวัฒนธรรมอื่นอาจถูกมองว่าเป็น “อาการทางจิตวิญญาณ” ที่ต้องได้รับการเยียวยาทางพิธีกรรม เป็นต้น Habitus สัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพ เนื่องจาก Habitus ส่งผลต่อพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น อาหาร ออกกำลังกาย หรือพฤติกรรมการใช้ยา ตัวอย่างเช่น ในบางวัฒนธรรม คนอาจมี habitus ที่ทำให้พวกเขาไม่กล้าไปหาหมอเมื่อป่วย เพราะมองว่าการไปโรงพยาบาลเป็นเรื่องของคนที่ “ป่วยหนัก” เท่านั้น หรือ Habitus ของผู้หญิงบางกลุ่มอาจทำให้พวกเธอใส่ใจเรื่องโภชนาการและสุขภาพมากกว่าผู้ชายที่เติบโตมาในบริบทที่เน้น “ความแข็งแกร่ง” ภาวะของการตอบโต้หรือตอบแทนระหว่าร่างกายกับโลก (Reciprocity of Body and World ) สะท้อนเกี่ยวกับการรักษา ดังเช่น ร่างกายของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทางการแพทย์ เช่น คนไข้บางคนอาจรู้สึกดีขึ้นจากการรักษาเพียงเพราะพวกเขามีความเชื่อในประสิทธิภาพของยา (placebo effect) หรือกรณีระบบโรงพยาบาลออกแบบให้รองรับร่างกายในแบบที่แพทย์คาดหวัง เช่น การใช้เตียงคนไข้ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งสะท้อนว่า โลกทางการแพทย์สร้าง habitus ให้ผู้ป่วยรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในโรงพยาบาล หรือตัวอย่างเทคโนโลยีทางการแพทย์และร่างกาย เราจะพบว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีที่เรารับรู้ร่างกายของเรา เช่น การแพทย์สมัยใหม่ทำให้คนมองร่างกายเป็นสิ่งที่สามารถ “ซ่อมแซม” ได้ เช่น การผ่าตัดเสริมความงาม หรืออวัยวะเทียม เป็นต้น หรือ การวินิจฉัยผ่านเครื่องมือ เช่น MRI หรือ CT Scan ทำให้ร่างกายถูกแปลความหมายผ่านภาพดิจิทัลโดยผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าตีความผ่านความรู้สึกของผู้ป่วยเอง เป็นต้น ดังนั้นสรุปได้ว่า Habitus สัมพันธ์กับกำหนดว่าคนในแต่ละสังคมรับรู้สุขภาพและปฏิบัติตัวต่อการแพทย์อย่างไร เช่น ทำไมบางคนเชื่อในแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะที่บางคนเชื่อในแพทย์ทางเลือก แนวคิด Reciprocity of Body and World แสดงให้เห็นว่า ร่างกายของเราไม่ได้เป็นเพียงวัตถุที่ถูกแพทย์รักษา แต่เป็นสิ่งที่สร้างความหมายและเปลี่ยนแปลงไปตามโลกที่เราอยู่ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการแพทย์ไม่เพียงรักษาร่างกาย แต่ยังมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายและโรค ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับโลก Habitus และการกระทำ (Practice) เป็นการสร้างร่วมกันของร่างกายและโลก โดย Bourdieu มองว่าการกระทำของมนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของเจตนา (intention) หรือโครงสร้างทางสังคมอย่างเดียว แต่เป็นผลจาก habitus ซึ่งเป็นชุดของแนวโน้มพฤติกรรมที่เกิดจากประวัติศาสตร์ส่วนตัวและเงื่อนไขทางสังคม ดังนั้น การกระทำของเราจึงไม่ใช่แค่การตอบโต้โลกภายนอกแบบ call and response แต่เป็น กระบวนการร่วมกันระหว่างร่างกายและโลก ในระดับ Habitus เป็น “ประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นธรรมชาติ” โดย Bourdieu อธิบายว่า habitus คือรูปแบบของการรับรู้และปฏิบัติที่ฝังอยู่ในตัวบุคคลจนกลายเป็น “ธรรมชาติที่สอง” (second nature ) เราปฏิบัติและเข้าใจโลกผ่าน habitus โดยอัตโนมัติ แม้จะไม่รู้ตัวว่าสิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาทางประวัติศาสตร์ Habitus จึงเป็นโครงสร้างที่ทั้ง กำหนด (structured) และ สร้างขึ้นมาใหม่ผ่านการกระทำ (structuring) การกระทำเป็นทั้งสิ่งที่อิสระและถูกกำหนด Habitus ทำให้เรารู้สึกว่าการกระทำของเราเป็นไปโดยธรรมชาติและมีอิสระ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็กำหนดว่าอะไรเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ในบริบทของเรา แนวคิดเรื่องความรู้สึกต่อโลก (Practical Sense) และความเชื่อในทางปฏิบัติ (Practical Belief) โดย Bourdieu เสนอว่า การเข้าใจโลกทางปฏิบัติไม่ได้เกิดจากการคิดวิเคราะห์แบบมีเหตุผล แต่เกิดจากการมีส่วนร่วมทางร่างกาย ตัวอย่างเช่น practical sense คือความรู้สึกที่ทำให้เรารู้ว่าควรทำอะไรโดยไม่ต้องคิดก่อน ในขณะที่ practical belief ไม่ใช่เพียงความเชื่อในเชิงจิตใจ แต่เป็น สภาวะของร่างกาย ที่หล่อหลอมโดยโครงสร้างทางสังคม แนวคิดนี้ใกล้เคียงกับ Merleau-Ponty ซึ่งมองว่าการรับรู้โลกเป็นเรื่องของร่างกายมากกว่าปัญญา Habitus ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของบุคคล แต่เกี่ยวข้องกับอำนาจ (power) และโครงสร้างสังคม ดังนั้นการที่บุคคลมองว่าสิ่งใดเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ (sense of the probable future) ถูกกำหนดโดยอำนาจทางสังคมที่มากำกับเราตั้งแต่เด็ก Habitus จึงทำหน้าที่เป็นกลไกที่ปรับตัวให้เข้ากับโลกในแบบที่สะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจทางสังคม Bourdieu มักใช้คำที่เป็นสำนวนย้อนแย้งกัน เช่น “การจัดวางอย่างเป็นธรรมชาติ“ (spontaneous dispositions), “การประดิษฐ์ที่ไร้เจตนา” (intentionless invention) “วงออร์เคสตราที่ไร้ผู้อำนวยการ“ (conductorless orchestration) และ “โครงสร้างที่กำหนดและถูกกำหนด ” (structuring and structured structures)” (1990: 61) แนวคิดของ Bourdieu เกี่ยวกับ habitus แสดงให้เห็นว่า ร่างกายและโลกสร้างกันและกันในเชิงโครงสร้าง ผ่านการปฏิบัติที่ถูกหล่อหลอมทางสังคม แม้เราจะรู้สึกว่ากระทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ แต่ในความเป็นจริง habitus ทำให้การกระทำของเราสอดคล้องกับเงื่อนไขของโลกโดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกัน มันก็กำหนดว่าสิ่งใดเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา….

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...