The Man-Eating Myth: Anthropology & Anthropophagy (1979) เขียนโดย William Arens หนังสือเล่มนี้เป็นงานมานุษยวิทยาที่ท้าทายแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับ การกินเนื้อมนุษย์ (Cannibalism) โดย Arens ตั้งคำถามกับแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาที่อ้างว่ามีการกินเนื้อมนุษย์อย่างเป็นระบบในบางสังคม โดยเขาเสนอว่าการกล่าวหาว่าชนเผ่าพื้นเมืองบางกลุ่มกินเนื้อมนุษย์อาจเป็นการสร้างเรื่องขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง อาณานิคม และอุดมการณ์ของโลกตะวันตก
การกินเนื้อมนุษย์เป็น “ตำนาน” ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่ง Arens โต้แย้งว่าไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่พิสูจน์ว่ามีสังคมใดที่ปฏิบัติการกินเนื้อมนุษย์อย่างแพร่หลาย
ข้อมูลส่วนใหญ่ที่อ้างถึงการกินเนื้อมนุษย์มักมาจากบันทึกของนักล่าอาณานิคมหรือนักสำรวจชาวยุโรป ซึ่งอาจมีอคติและการบิดเบือนข้อเท็จจริง
ดังนั้น การกล่าวหาเรื่อง “การกินเนื้อมนุษย์” มักใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจ โดยตะวันตกมักใช้ภาพจำของ “คนเถื่อนกินคน” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการล่าอาณานิคมและการควบคุมชนพื้นเมือง ตัวอย่าง เช่น การกล่าวหาว่าชนเผ่าในอเมริกาใต้ แอฟริกา หรือหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นมนุษย์กินคน ช่วยให้มหาอำนาจยุโรปมีเหตุผลในการพิชิตและ “ทำให้ศิวิไลซ์”
การตั้งคำถามกับหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา แม้ว่าจะมีซากกระดูกมนุษย์ที่แสดงร่องรอยการถูกชำแหละ แต่ Arens โต้แย้งว่าสิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ไม่ใช่การกินเนื้อเป็นอาหาร Arens วิเคราะห์กรณีศึกษาหลายกรณี เช่น ชนเผ่า Carib ในอเมริกาใต้ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากินมนุษย์ แต่ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีหรือบันทึกของชนเผ่าเองที่ยืนยันเรื่องนี้ หรือชาว Aztec ที่ถูกอ้างว่าใช้การกินเนื้อมนุษย์เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ แต่อาจเป็นเพียงการบิดเบือนของชาวสเปนที่ต้องการลดทอนความชอบธรรมของอาณาจักร Aztec รวมทั้งหลักฐานที่สนับสนุนการมีอยู่ของ “เผ่ากินคน” มักไม่มีความชัดเจน และอาจเป็นเพียงเรื่องเล่าที่แต่ง
หนังสือ The Man-Eating Myth เป็นงานที่ เปลี่ยนมุมมอง ของนักมานุษยวิทยาต่อแนวคิดเรื่อง “Cannibalism” โดยงานของ Arens ไม่ได้ปฏิเสธการกินเนื้อมนุษย์ทั้งหมด แต่ตั้งข้อสงสัยว่าการกล่าวหาว่ามีสังคมที่ปฏิบัติการกินเนื้อมนุษย์เป็นระบบนั้น อาจไม่มีมูลความจริง รวมทั้งตั้งคำถามกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับอคติของมานุษยวิทยาตะวันตก และบทบาทของ เรื่องเล่าในกระบวนการสร้างอำนาจทางวัฒนธรรม
ในขณะที่หนังสือเรื่อง Cannibalism: A Perfectly Natural History (2017) เขียนโดยBill Schutt หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาเรื่อง การกินเนื้อของเผ่าพันธุ์เดียวกัน (Cannibalism) จากมุมมองของชีววิทยาและประวัติศาสตร์ เช่น Cannibalism ในสัตว์ จากข้อม฿ลพบว่ามีสัตว์จำนวนมากที่กินเผ่าพันธุ์เดียวกัน เช่น กบ หนอน ผีเสื้อ และฉลาม บางสายพันธุ์ ดังนั้น Cannibalism เป็นเสมือนกลยุทธ์การอยู่รอด เช่น แม่แมงมุมบางชนิดให้ลูกกินร่างของตนเองหลังจากฟักตัว
ในขณะที่ Cannibalism ในมนุษย์ ดังที่ Schutt สำรวจกรณีศึกษาต่างๆ เช่น การกินเนื้อกันในช่วงภาวะอดอยาก เช่น การล่มของเรือ Essex และเหตุการณ์ที่ Donner Party ในศตวรรษที่ 19 การกินเนื้อในพิธีกรรม เช่น การกินเนื้อศพของชนเผ่า Fore ในปาปัวนิวกินี ซึ่งนำไปสู่โรค Kuru (โรคทางสมองที่คล้ายโรควัวบ้า)
กระบวนการบิดเบือนภาพลักษณ์ของ Cannibalism เช่นเดียวกับที่ William Arens ได้โต้แย้งเรื่องนี้ใน The Man-Eating Myth Schutt ชี้ให้เห็นว่าการกล่าวหาเรื่องเผ่ากินคนมักถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและอาณานิคม เช่น เรื่องเล่าของ “มนุษย์กินคน” ถูกขยายเกินจริงในสื่อตะวันตก
ดังนั้น Schutt นำเสนอว่า Cannibalism เป็น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ความโหดร้ายหรือเรื่องเล่าของสังคมป่าเถื่อน โดยเขาใช้มุมมองทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมนี้อย่างมีเหตุผล
ประวัติศาสตร์ของการกินเนื้อมนุษย์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถูกถ่ายทอดผ่านกรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์ ตำนาน และเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับการกินเนื้อมนุษย์ ภายใต้การวิเคราะห์ตำนานเกี่ยวกับมนุษย์กินคน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคใหม่ ตัวอย่างเช่น การกินเนื้อมนุษย์ในหมู่ชนเผ่า Aztec ซึ่งบางแหล่งอ้างว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจแสดงถึงการกินเนื้อมนุษย์ในยุคหิน
หรือ เหตุการณ์ Cannibalism ที่เกิดขึ้นจริง เช่น Donner Party (1846-1847) กลุ่มนักเดินทางชาวอเมริกันที่ติดอยู่ในเทือกเขา Sierra Nevada และต้องกินเนื้อเพื่อนมนุษย์เพื่อเอาชีวิตรอด หรือกรณีเรืออับปาง Batavia (1629): กลุ่มผู้รอดชีวิตต้องต่อสู้และกินเนื้อกันเอง
รวมถึงการตั้งคำถามว่าการกินเนื้อกันยังคงมีอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ หรือไม่ เช่น การกินรกมนุษย์ในบางวัฒนธรรม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ที่คล้าย Cannibalism เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์จากร่างกายมนุษย์ในการแพทย์ ที่สะท้อนว่าการกินเนื้อมนุษย์มีอยู่จริง และไม่ได้เป็นเพียง “ตำนาน” เท่านั้น
การกินเนื้อมนุษย์ (หรือ anthropophagy) จึงเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งต้องห้ามที่สุดในสังคมปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์
ประเภทของการกินเนื้อมนุษย์มีนิยามมากมาย เช่น
Endocannibalism คือ การกินเนื้อของสมาชิกภายในกลุ่มของตนเอง
Exocannibalism คือ การกินเนื้อของบุคคลภายนอกกลุ่ม
Mortuary cannibalism (การกินเนื้อในพิธีศพ) เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมงานศพ อาจถูกปฏิบัติด้วยความรักหรือเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่และการสืบทอดชีวิต
Warfare cannibalism (การกินเนื้อจากสงคราม) คือการกินเนื้อของศัตรู ซึ่งอาจเป็นการให้เกียรติแก่คู่ต่อสู้ที่กล้าหาญหรือเป็นการแสดงอำนาจเหนือผู้พ่ายแพ้
Survival cannibalism (การกินเนื้อเพื่อความอยู่รอด) การกินเนื้อของผู้ที่อ่อนแอกว่า (เช่น เด็กเล็ก คนชรา หรือผู้ป่วย) ในสภาวะที่ขาดแคลนอาหาร เช่น เหตุการณ์เรืออับปาง การปิดล้อมทางทหาร หรือภาวะอดอยาก
การกินเนื้อมานุษย์ประเภทอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับ แต่มีการศึกษาไม่มากนัก
Medicinal cannibalism (การกินเนื้อเพื่อรักษาโรค) การบริโภคเนื้อเยื่อของมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์
Technological cannibalism (การกินเนื้อที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี) เช่น การใช้ศพเพื่อสกัดฮอร์โมนเจริญเติบโตจากต่อมใต้สมอง
Autocannibalism (การกินเนื้อตัวเอง) คือ การกินส่วนของร่างกายตนเอง เช่น เส้นผมและเล็บ
Placentophagy (การกินรกทารก) คือการที่แม่กินรกของลูกหลังคลอด
Innocent cannibalism (การกินเนื้อโดยไม่รู้ตัว): เมื่อบุคคลกินเนื้อมนุษย์โดยไม่รู้ว่ามันเป็นเนื้อคน
การกินเนื้อมนุษย์มักถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ด้านมืดของมนุษยชาติ” เช่นเดียวกับการข่มขืน การเป็นทาส การฆ่าทารก การร่วมประเวณีระหว่างเครือญาติ และการทอดทิ้งคู่ครอง พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์โบราณของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการละเมิดบรรทัดฐานทางสังคมในยุคปัจจุบัน
นักมานุษยวิทยาตะวันตกได้พยายามอธิบายปรากฏการณ์การกินเนื้อมนุษย์มาเป็นเวลาช้านาน โดยเริ่มตั้งแต่ มิเชล เดอ มงเตญ (Michel de Montaigne) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้เขียนเรียงความเกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์ในปี 1580 โดยมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นตัวอย่างของ สัมพัทธภาพทางวัฒนธรรม (Cultural Relativism) ในข่วงต่อมา บรอนิสลาฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) นักมานุษยวิทยาชาวโปแลนด์ ได้เสนอว่าทุกสิ่งในสังคมมนุษย์ล้วนมีหน้าที่หรือบทบาท รวมถึงการกินเนื้อมนุษย์ด้วย ในขณะที่ อี.อี. อีแวนส์-พริตชาร์ด (E.E. Evans-Pritchard) นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ มองว่าการกินเนื้อมนุษย์เป็นการตอบสนองต่อความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของมนุษย์
มุมมองของนักมานุษยวิทยาและนักจิตวิเคราะห์ต่อการกินเนื้อมนุษย์ ดังเช่นนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) มองว่าการกินเนื้อมนุษย์เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่พัฒนาขึ้นจากการผสมผสานของ สัญลักษณ์ พิธีกรรม และจักรวาลวิทยา ในขณะที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียมองว่าการกินเนื้อมนุษย์สะท้อนถึง ความผิดปกติทางจิตที่ฝังลึกในจิตใต้สำนึก
ตลอดประวัติศาสตร์ มีฆาตกรต่อเนื่องหลายคนที่ก่อเหตุ กินเนื้อมนุษย์ เช่น ริชาร์ด เชส (Richard Chase) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เชอร์ลีย์ ลินเดนบอม (Shirley Lindenbaum) ได้รวบรวมและอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์ไว้อย่างครอบคลุมในปี 2004 โดยรวมถึงมุมมองของนักมานุษยวิทยาชาวดัตช์ โจจาดา เวอร์ริปส์ (Jojada Verrips) ที่เสนอว่าการกินเนื้อมนุษย์อาจเป็น ความต้องการพื้นฐานที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน และความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ความอยากกินเนื้อมนุษย์ในยุคปัจจุบันอาจถูกตอบสนองผ่าน ภาพยนตร์ หนังสือ และดนตรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของแนวโน้มเหล่านี้
พิธีกรรมการกินเนื้อมนุษย์ในบริบททางศาสนา
ดังเช่น ร่องรอยของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกินเนื้อมนุษย์ยังสามารถพบได้ใน สัญลักษณ์ทางศาสนา ตัวอย่างเช่น พิธีมหาสนิท (Eucharist) ของศาสนาคริสต์ ซึ่งผู้ศรัทธาจะรับประทานขนมปังและไวน์เป็นตัวแทนของเนื้อและเลือดของพระเยซูคริสต์ อย่างไรก็ตาม มีความย้อนแย้งทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ในยุคแรก ชาวคริสต์ถูกชาวโรมันกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคนเนื่องจากพิธีมหาสนิท แต่ในทางกลับกัน ชาวคริสต์ก็มองว่าชาวโรมันเป็นมนุษย์กินคนจากการเผาคนเป็นๆ บนกองไฟ
มนุษย์กินคนมีความสัมพันธ์กับการสร้างภาพความเป็นอื่น (The Other) คำว่า “Cannibal” เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ โดยมีรากศัพท์มาจากรายงานของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ในปี 1493 หลังจากการเดินทางครั้งที่สองของเขาสู่ทะเลแคริบเบียน ซึ่งเขาใช้คำนี้อ้างถึง ชนเผ่าแคริบ (Caribs) ในหมู่เกาะแอนทิลลิส ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้กินเนื้อมนุษย์
ความเชื่อมโยงระหว่าง แนวคิดเรื่องมนุษย์กินคนกับลัทธิล่าอาณานิคมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ นักคิดในยุโรปมักพูดถึงมนุษย์กินคนในฐานะ พฤติกรรมของวัฒนธรรมอื่น ซึ่งแฝงนัยว่าคนที่กินคนเป็นพวก “ล้าหลัง” และ “สมควรถูกปกครอง”
Lindenbaum ได้อธิบายว่า รายงานเกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์ในบางสังคมอาจถูก กล่าวเกินจริงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในบันทึกของ กัปตันเจมส์ คุก (Captain James Cook) นักสำรวจชาวอังกฤษ พบว่า ความหมกมุ่นของลูกเรือเกี่ยวกับการกินเนื้อมนุษย์อาจทำให้ชาวเมารี (Maori) พูดเกินจริงถึงความยินดีในการกินเนื้อมนุษย์ย่างของพวกเขา
นี่คือ “ด้านมืดของมนุษยชาติ” ที่แท้จริง ดังเช่น การศึกษาในแนว หลังอาณานิคม (Post-Colonial Studies) ชี้ให้เห็นว่าหลายเรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์กินคนที่แพร่หลายในอดีต ถูกสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง โดยมิชชันนารี ผู้บริหารอาณานิคม และนักผจญภัย รวมถึงข้อกล่าวหาจากกลุ่มชนใกล้เคียงที่มีเป้าหมายในการดูหมิ่น หรือสร้างอคติทางชาติพันธุ์
นักวิชาการบางคน ยังคงตั้งข้อสงสัยว่าการกินเนื้อมนุษย์เคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ พวกเขามองว่ามันอาจเป็น เพียงผลผลิตจากจินตนาการของชาวยุโรปและเป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยม ซึ่งสะท้อนถึงจิตใจที่บิดเบี้ยวของมนุษย์เอง
จุดร่วมสำคัญในประวัติศาสตร์ของข้อกล่าวหาเรื่องมนุษย์กินคนคือ การปฏิเสธว่าตนเองมีแนวโน้มเหล่านี้ แต่กลับกล่าวหาว่า “ผู้อื่น” เป็นฝ่ายกระทำ เราใช้ข้อกล่าวหานี้เป็นเครื่องมือในการทำให้ผู้อื่นดูป่าเถื่อน สมควรถูกพิชิต และทำให้พวกเขา “มีอารยะธรรม”
อย่างไรก็ตาม Lindenbaum อ้างคำพูดของ โคลด รอว์สัน (Claude Rawson) ว่าในยุคสมัยที่เน้นความเสมอภาคเช่นปัจจุบัน การปฏิเสธแนวโน้มการกินเนื้อมนุษย์ของตนเอง ถูกขยายไปสู่การปฏิเสธแทนผู้อื่นที่เราเคยดูถูก และพยายามยอมรับพวกเขาในฐานะผู้เท่าเทียมกัน
เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา... ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่ หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น.. การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร.. ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น