ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การหัวเราะ วิเคราะห์ผ่านมุมมองทางมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

จากบทความของ Hans Speier ชื่อ Wit and Politics: An Essay on Laughter and Power หรือชื่อแปลเป็นไทยว่าไหวพริบและการการเมือง : ความเรียงว่าด้วยการหัวเราะและอำนาจ ได้จัดแบ่งประเภทของการหัวเราะหรือตลกขบขันออกเป็นประเภทต่างๆ ทั้งในเรื่องการหัวเราะเท่ากับการรักษาบำบัดความตึงเครียด (Healing) การหัวเราะคือการล้อเลียนเสียดสีทางการเมือง การหัวเราะเป็นการใช้สติปัญญาหรือไหวพริบ การหัวเราะเป็นการขบถ เป็นต้น รวมทั้งการมองว่าการหัวเราะไม่ได้หมายถึงการที่เรามีชัยชนะเหนือคนอื่น แต่การหัวเราะเป็นเครื่องหมายของการชนะตัวเราเอง การเอาชนะต่ออดีต เป็นเสมือนการท้าทายตัวเอง ทำไมการหัวเราะมันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม การหัวเราะถูกเชื่อมโยงกับกาละและเทศะ (พื้นที่และเวลา) การหัวเราะเชื่อมโยงกับบุคคลและสถานภาพของบุคคล การหัวเราะแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะการหัวเราะกลายเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะความซีเรียส เคร่งขรึมจริงจังกับความไร้สาระหรือไม่จริงจังของมนุษย์ ระบบทุนนิยมและโลกสมัยใหม่ไม่ชอบให้มีการหัวเราะมากเกินไป หรือหัวเราะตลอดเวลา เพราะเวลาของการหัวเราะควรจะต้องถูกนำมาใช้ในการทำงานสร้างผลผลิตมากกว่า การหัวเราะมันมีสถานะบางอย่างที่บ่อเซาะอำนาจ เพราะการหัวเราะมีสถานะที่คลุมเครือ คือ เราไม่รู้ว่าเขาหัวเราะเยาะเราด้วยความเอ็นดู หรือดูถูกดูแคลน เยาะเย้ยถากถางคาวมน่าทุเรศ หลายคนจึงเกลียดกลัวการหัวเราะ เพราะการหัวเราะและเสียงหัวเราะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ในงานเขียนของมิคาอิล บัคติน นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย มองว่าการหัวเราะมีเป้าหมายมีทิศทางเข้าสู่มนุษย์ทุกคน แม้แต่ตัวผู้หัวเราะ หรือผู้ถูกหัวเราะ เป็นสิ่งที่แสดงความจริงของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ในทางคริสต์ศาสนา การหัวเราะโดยตัวมันเองไม่ใช่บาป แต่เป็นเครื่องมือและหนทางไปสู่บาป เพราะการหัวเราะเยาะใครบางคน อาจฆ่าคนคนนั้นได้ การหัวเราะจึงถึงเชื่อมโยงกับเรื่องทางศาสนาและการควบคุมร่างกายของนักบวชภายใต้ความสำรวจที่ต้องแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาห้ามหัวเราะหรือแสดงการไม่สำรวมและไม่จริงจัง ในทางการเมือง การหัวเราะถูกเชื่อมโยงกับการควบคุม เพราะการหัวเราะมันเชื่อมโยงกับความเจ็บปวด ความอัปยศอดสู และความทรงจำบางอย่าง ในช่วงของการรำลึกเหตุการณ์ในจัตุรัสเทียนอันเหมิน รัฐบาลจีนเคยออกประกาศห้ามไปหัวเราะในสถานที่แห่งนี้ การหัวเราะเชื่อมโยงกับพื้นที่ กาละและเทศะ ที่ต้องสร้างความสำรวม การไปงานที่โศกเศร้า ตัวอย่างเช่นการไปงานศพที่ต้องแสดงความเสียใจมากกว่าความรื่นเริง ที่แสดงให้เห็นว่าการหัวเราะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม หากเราลองมองย้อนกลับไปดูในยุคกลางของตะวันตก ในหนังสือเรื่อง Carnival ของมิคาเอล บัคติน นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย คำว่าคาร์นิวัล (Carnival) ของบักตินคือการล้อเลียน ลักษณะกลับหัวกลับหาง หรือการกระทำอะไรก็ตามที่ตรงกันข้ามกับระเบียบของศาสนา เป็นการปลดปล่อยมนุษย์เพียงชั่วคราวในงานพิธีกรรม ก่อนที่ระเบียบที่เคร่งครัดจะกลับมา ที่ได้เชื่อมโยงให้เห็นบทสนทนาของการตอบโต้กับความเคร่งเครียดของคริสต์ศาสนากับพื้นที่ของการระบายของชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ในช่วงยุคกลาง งานคาร์นิวัลจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นการระบายความอัดอั้นอันมากล้นของมนุษย์ที่ถูกกดขี่ ทั้งการดื่มกิน เต้น ถ่มน้ำลาย พูดหยาบคาย หัวเราะขบขัน เยาะเย้ยถากถางกัน แสดงออกเรื่องเพศกัน การตด การเรอ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็เป็นการแต่งตัว การสร้างหุ่นขนาดมหึมาตัวอ้วนกลมในขบวนแห่หรือขบวนพาเหรด ที่ทำให้เห็นความต้องการที่มากมาย ล้นเหลือของมนุษย์ ในอีกด้านหนึ่งผมมองว่า Carnival ของบักติน ไม่ใช่แค่การดำรงอยู่แบบชั่วคราวของเสรีภาพที่จะต้องกลับมาสู่ระเบียบหลังงานคาร์นิวัลสิ้นสุด แต่มันได้สร้างสภาวะของการกลายเป็น (Becoming) ที่วิถีชีวิต การมองโลก สิ่งที่เป็นเสรีภาพที่แท้จริงจะเข้ามาแทนที่สิ่งที่เป็นอยู่เดิม ภาวะของการหัวเราะ การล้อเลียนเสียดสีที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่ความหมายใหม่ๆ ผมนึกถึงงานวรรณกรรมแนวล้อเลียนเสียดสี ที่ใช้การล้อเลียนเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ อย่างเช่นหนังสือเรื่องอีแร้ง ที่ชื่ออีริค ฟอน วูล์ฟแกง ที่เขียนมาเพื่อล้อเลียนกับเรื่องนางนวลที่ชื่อโจนาทานลิฟวิงสตัน ของริชาร์ด บาช นางนวลเป็นนกที่แสดงถึงความสวยงาม ที่เชื่อมโยงกับการให้ความสำคัญเรื่องของจิตของตัวเอง(Self) ภายใต้การเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกับความคิด ความศรัทธา “หากเธอเชื่อมัน มันก็เป็นความจริง หากเธอคิด เธอต้องการเธอย่อมได้สมใจปรารถนา” พร้อมกับบอกเน้นย้ำว่าอย่าเชื่อในสิ่งที่ตาเห็นเพราะมันมีขีดจำกัด แต่จงดูสิ่งต่างๆด้วยหัวใจด้วยความเข้าใจ สุดท้ายหนังสือเล่มนี้ทิ้งปริศนาให้คิดและตีความไว้หลายอย่าง จากสิ่งที่เขาบอกว่า นกนางนวลบินจากไป แต่วิญญาณเสรียังอยู่ตราบนิรันดร์... ในขณะที่อีแล้งชื่อวูล์ฟแกง ก็สะท้อนให้เห็นว่าวิญญาณเสรียังอยู่แต่อยู่ในร่างของสัตว์อื่นๆ สัตว์ที่ต่างกัน การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จึงไม่ใช่แค่การกิน แต่ยังเป็นการพยามทำทุกอย่างในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้ อย่างเช่น นกนางนวลจากโจนาธาน อาจจะชอบที่จะใช้ความรวดเร็วในการบิน ในขณะที่อีแล้งอย่างวูล์ฟแกง ต้องการอ่านหนังสือ สภาวะดังกล่าวเป็นการปฏิเสธธรรมชาติบางอย่างของสัตว์เหล่านั้นการบินด้วยความเร็วจึงไม่ใช่หน้าที่ของนกนางนวล อีแล้งไม่ต้องการอ่านหนังสือแต่ต้องการกินซากศพ แต่สัตว์เหล่านี้ฝึกฝนตัวเองให้แตกต่างและเป็นขบถจากสิ่งที่เคยเชื่อกันอยู่ และอดทนต่อเสียงรบกวนรอบข้างที่มองสิ่งที่พวกเขาทำเป็นเรื่องไร้สาระ แต่พวกเขาเป็นคนที่พร้อมก้าวเดินไปยังเส้นทางใหม่ที่ไม่มีใครค้นพบ ความตลกขบขันที่แสดงผ่านการล้อเลียนผ่านเรื่องของอีแร้ง ที่ล้อเลียนกับนิยายต้นแบบอย่างเรืองนกนางนวลชื่อโจนาธาน ที่ดึงเอาความสวยงามของนางนวลลงมาให้อยู่ในพื้นที่เดียวกับพวกเขา ที่ต้องการบอกว่าไม่มีใครที่มีอำนาจเหนือคนอื่น หรือใครคนใดที่จะต่ำต้อยจนต้องยอมก้มหัวหรือศิโรราบให้กับบางคนตลอดชีวิต การล้อเลียนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่การนำไปสู่เสียงหัวเราะ แต่ยังสะท้อนการหัวเราะขบขันของผู้อ่านนั้น ทำให้รับรู้ได้ว่า สิ่งที่สูงส่ง เหนือกว่า สวยกว่า สง่างามกว่า สามารถสัมผัสกับมันได้ แตะต้องเข้าถึงมันได้ การล้อเลียนเรื่องของอีแร้ง ต่อต้นฉบับของนกนางนวลโจนาธาน มันทำให้ตัวนกนางนวล มีความหมาย ไม่ใช่เป็นนางนวลที่ไรเชีวิตหรือเป็นสัตว์ในตำนานเท่านั้น เพราะการหยิบใช้คือการใช้ประโยชน์ สร้างเสียงหัวเราะ ล้อเลียนได้ ก็หมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงมีชีวิตอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราอาจกล่าวว่าการล้อเลียน การหัวเราะจึงเป็นสัญลักษณ์หรือการประกาศของการมีอยู่ การเชื่อมโยงให้เห็นประโยชน์ ของการต่อยอด การถกเถียงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการทำงานของเสียงหัวเราะและการล้อเลียน ก็เท่ากับว่าสิ่งเหล่านั้นกำลังก้าวไปสู่จุดจบ การล้อเลียนจึงเป็นการล้อเลียนที่สัมพันธ์กับรูปแบบ มนุษย์รู้ว่าเรากำลังล้ออะไรอยู่ อย่างเช่นคุณจะล้อตัวบท คุณก็ต้องรู้จักตัวบทที่เป็นเสมือนต้นแบบคุณจะล้อ...ผมชอบงานของบัคตินซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากงานคนซิ่งอีสาน ร่างกายอัตลักษณ์และกามรมณ์ที่ผมเป็นผู้ช่วยวิจัย อ.ดร.พัฒนา กิติอาษาและอ.สุริยา สมุทคุปติ์ งานของบัคตินเป็นสิ่งที่ขยายพรมแดนทางความคิด มุมมองของมนุษย์ต่อตัวเอง โลกและจักรวาลที่จะนำปสู่คุณค่าใหม่และการเรียนรู้ของมนุษย์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...