ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เซ็กส์และไซเบอร์ : ผลประโยชน์ ความพึงพอใจและเพศวิถีบนชุมชนออนไลน์ นัฐวุฒิ สิงห์กุล

สำหรับผมการนั่งเขียนงานบทความคือความสุขและใช้เวลา พละกำลังเยอะมากในระยะเวลาหลายเดือน ผมมีร่างบทความเก็บไว้เยอะจำนวนหนึ่ง บางร่างยังไม่สมบูรณ์ บางร่างหยุดนิ่ง บางร่างเกือบเสร็จ แต่ผมไม่ลืมจะนำมาขัดเกลาและอัพเดทข้อมูลใหม่ๆเสมอ .. ณ จุดหนึ่งการรอคอยการตีพิมพ์ในวารสารใช้เวลานานมากไม่ว่าจะtci หรือ scopus บางครั้งสิ่งที่ผมคิด ผมอยากถ่ายทอดให้ทันช่วงเวลาที่ทันสมัย. ..Blog จึงเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่ผมใช้ลงสิ่งที่อยากเขียน ในวงกว้างและเนื้อหาในนี้ก็ถูกใช้อ้างอิงในวารสาร งานวิจัย ในชุดแบบเรียนของคนอื่นๆเยอะเสียด้วย มีคนเริ่มติดตามอ่านมากขึ้น ทำให้ผมมีแรงที่จะพัฒนาและเกลาบทความเพื่อส่งตีพิมพ์อย่างเป็นทางการเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของตัวเอง..อย่างบางส่วนของร่างบทความชิ้นนี้ที่เคยนำเสนอในเวทีมนุษย์ในโลกดิจิทัล ด้วยระบบความก้าวหน้าทางวิชาการที่ถูกใครบางคนกำหนดทำให้ผมไม่มีทางเลือกมากนักในการเติบโตวิชาการในแนวทางของตัวเอง.. ****เซ็กส์และไซเบอร์ : ผลประโยชน์ ความพึงพอใจและเพศวิถีบนชุมชนออนไลน์*** ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของผู้คน สื่อ เทคโนโลยี การเงินและความคิด รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าภูมิทัศน์แห่งเซ็กส์ (Sexscapes) ได้สร้างพื้นที่ของความลื่นไหลในเรื่องของเพศสภาพและเพศวิถี ในฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของงานบริการทางเพศ ในอีกด้านหนึ่งของทำให้เห็นภาวะอัตวิสัยและความปรารถนาของผู้คนที่ใช้เพศสภาพและเพศวิถีในการดิ้นรนต่อสูงต่อรองเพื่อความอยู่รอด ในขณะเดียวกันปรากฏการณ์ดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นโอกาสและความเสี่ยง การเกิดขึ้นของพื้นที่ที่เรียกว่าภูมิทัศน์แห่งเซ็กส์ จึงเชื่อมโยงให้เห็นปฏิบัติการของผู้หญิงขายบริการทางเพศที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก การเชื่อมโยงร่างกายให้เป็นสินค้าของความแปลกตา(Exotic)เพื่อนำไปสู่พื้นที่ของกามรมณ์(Erotic)ในธุรกิจเพศเชิงพาณิชย์(Jankowick, 2008) ​ เทคโนโลยีการสื่อสารทางสังคม ดังเช่น ทวิสเตอร์ ไลน์ เฟสบุ๊คและยูทูป เป็นพื้นที่และเครื่องมือของการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์และสะท้อนให้เห็นเพศวิถีของคนในยุคปัจจุบันCorrell​(1995) ชี้ให้เห็นว่าเพศวถีออนไลน์(Online Sexuality) เป็นสิ่งที่ถูกบ่มเพาะและมีพลังอำนาจในทางสังคมมากว่า2ทศวรรษแล้ว ที่เริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (desktop computer) และเครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะ (Public computer network) ในช่วงกลางปี1990 ที่ทำให้ความนิยมในการใช้อินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยชุดคำของคำว่า เพศวิถีทางอินเตอร์เน็ต(Internet sexuality)หรือ กิจกรรมทางเพศออนไลน์(Online Sexual Activitiesหรือ OSA) ได้อ้างถึงเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศที่พบได้ในพื้นที่ออนไลน์(Adam, Oye, & Parker,2003; Cooper, McLoughlin, & Campbell,2000) พื้นที่เหล่านี้ได้ออกแบบกิจกรรมและรูปแบบทางเพศที่หลากหลาย เช่น ภาพโป๊เปลือย ความรู้เรื่องเพศศึกษา การติดต่อซื้อขายกันในประเด็นเรื่องทางเพศ เป็นต้น ​ เช่นเดียวกับ Nicola M. Doring (2009) ได้รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวกับพื้นที่อินเตอร์เน็ตกับผลกระทบต่อเรื่องเพศวิถี โดยชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ของออนไลน์กับลักษณะของกิจกรรมที่เรียกว่า เพศวิถีออนไลน์ มี 6 ลักษณะคือ ​1. ภาพโป๊เปลือยบนอินเตอร์เน็ต (Pornograohy on the internet) ในเรื่องของการผลิต การแลกเปลี่ยน การแจกจ่าย การอธิบายบรรยายเกี่ยวกับเรื่องเพศ ทั้งในเชิงการค้าและไม่ใช่การค้าเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าสิ่งลามกอนาจารทางออนไลน์ (online pornography) ทั้งการเสนอขายภาพโป๊เปลือย การไลฟ์สดโชว์หวิว คลิป วีดีโอ ภาพยนตร์ การ์ตูน ข้อความหรือเรื่องราว ที่ถูดกจัดหาผ่านทางเว็ปไซต์ทั้งที่ให้ฟรีและเสียเงิน เป็นต้น ​2. ร้านค้าสินค้าทางเพศบนอินเตอร์เน็ต (Sex shop on the internet) เกี่ยวกับการแสดงสินค้า บริการเกี่ยวกับเรื่องเพศ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทางเพศ ทั้งเซ็กส์ทอยประเภทต่างๆ ยาไวอาก้า ตุ๊กตายาง หนังสือโป๊ เป็นต้น ร้านค้าสินค้าทางเพศในออนไลน์อาจจะดำรงอยู่ในพื้นที่ร้านทางกายภาพด้วยแต่ใช้การพึ่งพาจากร้านค้าออนไลน์ (online sex shop) ในการซื้อขายสินค้าทางเพศ ​3. การขายบริการทางเพศบนอินเตอร์เน็ต (Sex work on the internet) การโฆษณาผ่านอินเตอร์เน็ต การใช้รายละเอียดข้อมูล ข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่าง เพศ ราคา สถานที่นัดหมายเพื่อกิจกรรมทางเพศ รวมถึงกิจกรรมทางเพศต่างๆที่สามารถทำได้ ที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการขายบริการทางเพศแบบออฟไลน์(offline sex work) มาสู่การขายบริการทางเพศรูปแบบใหม่บนพื้นที่ออนไลน์(online sex work) ทั้งการไลฟ์สด โชว์หวิว ผ่านเว๊ปแคม การโพสต์รับงานผ่านเว๊ปไซต์ การส่งรูปและพูดคุยผ่านไลน์ เป็นต้น ที่สร้างรูปแบบการติดต่อซื้อขายกับกลุ่มคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง การคัดเลือกลูกค้า การติดต่อส่วนบุคคลและการนัดเจอกันบนสถานที่จริงระหว่างผู้ขายบริการกับลูกค้า ​4. เพศศึกษาบนอินเตอร์เน็ต (Sexual Education on the internet) อินเตอร์เน็ตได้เปิดพื้นที่สำหรับ การสืบค้น การแสวงหาความรู้และการให้คำแนะนำเรื่องเพศ ที่ส่งผลต่อทัศนคติ การตระหนักรู้และพฤติกรรมทางเพศของผู้คน การเรียนรู้เรื่องเพศผ่านสื่อต่างๆที่สามารถเข้าถึงกันได้ง่ายมากกว่าการพูดคุยกันในพื้นที่ประจำวันทั่วไปซึ่งเรื่องเพศยังเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบพูดคุยกันในพื้นที่สาธารณะ แต่ได้กลายเป็นสิ่งที่ปัจเจกบนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้อย่างกระตือรือร้น รวดเร็วและง่ายดายผ่านพื้นที่ออนไลน์ ​5. การติดต่อในเรื่องเพศบนอินเตอร์เน็ต (Sexual contact on internet) การสร้างความสัมพันธ์ การทำความรู้จัก การค้นหา การคัดเลือก นัดหมายเพื่อพบเจอ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร จินตนาการ ความปรารถนาในทางเพศที่เรียกว่า online sex หรือ Cybersex ที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า คู่ความสัมพันธ์ทางเพศที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ (Cybersex partner) ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศกันโนโลกที่แท้จริงหรือโลกออฟไลน์ (offline sex) ดังนั้นเซ็กส์ในพื้นที่ออนไลน์สะท้อนให้เห็นการพัฒนารูปแบบใหม่ของการเผชิญหน้าหริการพบปะกันทางเพศของผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ​6. วัฒนธรรมย่อยทางเพศบนอินเตอร์เน็ต(Sexual subculture on the internet) การสร้างเครือข่ายของความสัมพันธ์ในกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ รสนิยม ความชื่นชอบทางเพศวิถีที่คล้ายคลึงกัน เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แชร์ประสบการณ์และการทำกิจกรรมร่วมกันโลกของออนไลน์และออฟไลน์ เช่นกลุ่มสวิงกิ้ง กลุ่มเกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น ที่สะท้อนให้เห็นเครือข่าย การสนับสนุนทางสังคมและการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนเหล่านี้ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นตัวตนที่หลากหลายของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ การอ้างอิงอัตลักษณ์กับกลุ่มที่มีความชื่นชอบหรือมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ​ ดังนั้นพื้นที่ออนไลน์จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญที่แสดงออกซึ่งความปรารถนาความต้องการในเรื่องของเพศวิถีของผู้คนในยุคปัจจุบันมากขึ้น เช่นเดียวกับ Anthony Gidden (1992) ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมของผู้บริโภคที่สัมพันธ์กับกระบวนการทำให้เรื่องของเพศกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมในสังคม โดยเฉพาะระบบทุนนิยมในช่วงยุคปลายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของการผลิตไปสู่พื้นฐานของการบริโภค(Production base to consumption base)ที่ได้สร้างพลังการขับเคลื่อนของผู้บริโภคให้มีลักษณะวิถีชีวิตของความเป็นปัจเจกชนที่มีความลื่นไหล(Flexible individualistic lifestyles) ซึ่งความพึงพอใจทางเพศวิถี(Pleasure sexuality) และเรื่องของกามรมณ์( erotic) กลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของระบบทุนนิยมช่วงปลาย การเป็นส่วนหนึ่งของงานภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมการใช้เวลาว่าง(leisure culture)ที่กำลังเติบโตอย่างกว้างขวาง (Gidden,1992:13) อ้างอิงที่มาของข้อมูล Adam, M. S., Oye, J.,& Parker, T. S. (2003). Sexuality of older adults and the internet: From sex education to cybersex. Sexual and Relationship Therapy, 18(3), 405-415. Cooper, A., Delmonico, D.L., & Burg, R. (2000). Cybersex users, abusers, and compulsives: New findings and implications. Sexual Addiction & Compulsivity: The Journal of Treatment and Prevention, 7:51–67. Cooper, A., Mcloughlin, I. P.,&Campbell, K. M. (2000). Sexuality in cyberspace: Update for the 21st century. CyberPsychology and Behavior, 3(4), 521-536. Jankowiak R. William. (2008). Intimacies : Love + Sex Across Culture. USA : Columbia University Press. Nicola M. Doring (2009). The Internet’s impact on sexuality: A critical review of 15 years of research. Computers in Human Behavior 25 (2009) 1089–1101.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...