เรื่องเหมืองแร่กับสิทธิชุมชน[1]
บทนำ
บทความชิ้นนี้พยายามสรุปให้เห็นสถานการณ์ของการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ในปัจจุบัน
ที่สัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
กระบวนการพัฒนาดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งในหลายๆด้าน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน
การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย
ทั้งพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปี พ.ศ 2535 พระราชบัญญัติแร่
พ.ศ.2510 และกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550
รวมทั้งประเด็นเรื่องของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
(อีไอเอ)และการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้เคลื่อนไหวภาคประชาชน
แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
และหลายกรณีที่กระบวนการทำรายงานเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศในการผลักดันโครงการ
ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
การต่อสู้ที่ผ่านมา....บทเรียนของการต่อสู้ระหว่างธุรกิจเหมืองแร่กับชาวบ้าน
การพัฒนาทรัพยากรแร่ในประเทศไทย
ได้เริ่มก่อเกิดและเติบโตตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบสำหรับการพัฒนาประเทศเมื่อปี
พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ทำให้ต้องใช้เทคนิคและวิธีการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุที่มีความทันสมัยมากขึ้น
เช่นมีการสำรวจทางธรณีเคมี และการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อแสวงหาแหล่งแร่ สำหรับวิเคราะห์ประเมินความสมบูรณ์
ปริมาณสำรองของทรัพยากรแร่และความคุ้มค่าต่อการลงทุนในทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งค้นหาและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญ
เช่น ดีบุก เหล็ก ฟลูออไรต์ โลหะพื้นฐานต่างๆ ยิปซัม โพแทช เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศและบางส่วนส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ
โดยในอดีตได้มีโครงการสำรวจทรัพยากรแร่ร่วมกับต่างประเทศ ที่สำคัญคือ การสำรวจแร่กัมมันตรังสีและแร่วัตถุนิวเคลียร์ร่วมกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
ในช่วงปี พ.ศ. 2504 – 2506 โครงการสำรวจลุ่มแม่นํ้าโขงร่วมกับองค์การสหประชาชาติ
ในปี พ.ศ.2506 และโครงการสำรวจแร่นอกชายฝั่งทะเลร่วมกับ
UNDP และ CCOP ในระหว่างปี พ.ศ. 2522 – 2538[2] โดยในช่วงเวลาดังกล่าว
ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและเทคโนโลยีการผลิตแร่ให้กับคนไทย เช่น
การเปิดสอนด้านวิศวกรรมโลหะและเหมืองแร่การเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยเป้าหมายของการสำรวจทรัพยากรแร่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการจากการแสวงหาแหล่งแร่เพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์และชี้ชวนให้นักลงทุนมาลงทุน
มาเป็นการจัดเตรียมข้อมูลธรณีวิทยาและธรณีวิทยาแหล่งแร่ รวมทั้งเชื้อเชิญให้ภาคเอกชนเข้ามาขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจแร่ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีหน่วยงานภาครัฐด้วย
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้นำไปสู่การเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆทั้งในประเทศและนอกประเทศจำนวนมาก
ทยอยเข้ามาขอใช้ทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่างๆได้
ไม่ว่าจะเป็นการขออาชญาบัตรในการสำรวจและการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่
โดยในประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่จำนวนมากและอยู่ในกลุ่มแร่ 4 ประเภทหลักคือ กลุ่มแร่เชื้อเพลิง กลุ่มหินประดับและหินอุตสาหกรรมก่อสร้าง
กลุ่มหินอุตสาหกรรมซีเมนต์ กลุ่มแร่โลหะและแร่อโลหะ(ดูแผนที่ ก
แสดงแหล่งแร่ประเภทต่างๆในประเทศไทย)
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 1 – 5 (พ.ศ.
2504 - 2529) รัฐมุ่งเน้นให้มีการผลิตทรัพยากรแร่เพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศเป็นหลักและหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสำรวจธรณีวิทยาแหล่งแร่ในประเทศรวมทั้งสนับสนุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการลงทุนในกิจการเหมืองแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก
วุลแฟรม ตะกั่ว ยิปซัม แมงกานีส ฟลูออไรต์ พลวง เหล็ก โลหะพื้นฐาน เกลือหิน
และลิกไนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน
อย่างเช่น ไฟฟ้า ในขณะที่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6
ถึงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2530 - 2549)
ได้เปลี่ยนแนวทางจากการผลิตทรัพยากรแร่เพื่อการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมาเป็นผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ
โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจและประเมินปริมาณสำรองแร่วัตถุดิบเพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ
สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าการผลิต
โดยเฉพาะแร่วัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเชื้อเพลิง ได้แก่ลิกไนต์ หินปูน
สังกะสี ยิปซัม หินอ่อน ดินขาว เฟลด์สปาร์ ทรายแก้ว รวมทั้งแร่ที่ใช้เป็นปุ๋ย เช่น
โพแทชฟอสเฟต เป็นต้น[1]
ประเด็นปัญหาของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจึงเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความทันสมัยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
รวมถึงโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ความรู้ ทุนและทรัพยากร
ระหว่างกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาของทุนต่างชาติมากขึ้น
ที่สัมพันธ์กับเรื่องกฎหมายที่เปิดช่องให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินหรือเช่าที่ดินในระยะที่ยาวมากขึ้นได้
ทำให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถเข้ามาลงทุนประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยแบบระยะยาวได้
เช่น โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด
ที่ขอสัมปทานผลิตแร่โพแทชที่แหล่งสมบูรณ์ไซด์ อุดรเหมือนและอุดรใต้ เป็นระยะเวลา 22 ปีตลอดสัญญาที่ขอประทานบัตรเป็นต้น
ในตลอดระยะเวลาของการพัฒนาประเทศไทย
ทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินถูกนำขึ้นมาใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการใช้ทรัพยากรแร่ธาตุของไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะแร่ในกลุ่มพลังงานอย่างถ่านหินและแร่ในกลุ่มก่อสร้าง เช่นหินปูน
หินก่อสร้าง ยิปซั่ม มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง
ในปี2552ประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตลิกไนต์มากกว่า
15.000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการผลิตในปี2547 ราว 5,000 ล้านบาท และการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศอีกกว่า
18,000 ล้านบาท
โดยถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศถูกใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม
ในปัจจุบันราว1ใน5 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศมาจากพลังงานถ่านหิน[2]
เช่นเดียวกับแร่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จำเป็นต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
จากการคำนวณข้อมูลการผลิตแร่กลุ่มหินก่อสร้างปี2546-2550 ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
พบว่า ปริมาณการใช้หินก่อสร้างในปีพ.ศ.2546 เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ6
ต่อปี จาก77.1 ล้านตัน เป็น101.0 ล้านตันในปีพ.ศ.2550 เช่นเดียวกับข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ปี2550 เกี่ยวกับการผลิต ราคาทรัพยากรแร่
ทรัพยากรแร่ที่ได้รับการอนุญาตให้ทำการผลิตได้และพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการผลิต
ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มทุนต่างๆ(ดูรายละเอียดจากตาราง
ข้างล่าง )
[1] บทความชิ้นนี้เรียบเรียงและเขียนโดย
นัฐวุฒิ สิงห์กุล ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้นำเสนอในงานเสวนาสานพลังเครือข่ายและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์
ในหัวข้อธุรกิจเหมืองแร่กับสิทธิชุมชน ณ โรงแรมมิราเคิล วันที่ 20 ธันวาคม 2554
โดยสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมาจากการศึกษารวมทั้งความเห็นบางประเด็นมาจากทัศนะผู้เขียนเอง
จากข้อมูลข้างต้นสามารถคาดคะเนได้ว่า ยิ่งประเทศมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดไหนมากขึ้นเท่าไหร่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเภทของแร่ชนิดนั้นก็จะมีการสำรวจและขอสัมปทานในการผลิตเพิ่มมากขึ้น
รวมทั้งเงื่อนไขในแง่ของราคาและความคุ้มทุนของการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ก็เป็นตัวแปรสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้นกลถ่มแร่อื่นๆที่มีความสำคัญในเรื่องของการเกษตร เช่น โพแทช
ที่นำมาใช้ผลิตปุ๋ยและผลพลอยได้จากเกลือที่นำไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆก็มีแนวโน้มที่จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นและมีการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาสำรวจเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีโดมเกลือมหาศาลใต้พื้นดินของแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร[1]
เช่น การขออาชญาบัตรสำรวจพื้นที่โพแทชในจังหวัดสกลนคร มหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น
สถานการณ์ของปัญหาเรื่องเหมืองแร่จึงไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่แต่มีการสะสมอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษของการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของปัญหาในเรื่องเหมืองแร่กับสิทธิชุมชนพบเห็นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยดังที่สรุปเป็นตารางได้ดังนี้[2]
โครงการ
|
จุดเริ่มต้น
|
การเคลื่อนไหว
|
สถานการณ์ปัจจุบัน
|
โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
|
ปีพ.ศ.2539-40 บริษัทAPPC
เข้ามาสำรวจและลงทุน
|
ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อปี
พ.ศ.2545
|
บริษัทอิตาเลียนไทยเข้ามาร่วมลงทุนกับAPPC ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทำอีไอเอ
ใหม่และเอชไอเอเพิ่มเติมในการขอประมานบัตร รวมทั้งพยายามเร่งรัดให้มีการรังวัดปักหมุด
ในพื้นที่ขอประทานบัตรทำการขุดเหมืองแร่และพื้นที่โรงงานแต่งแร่
|
โครงการทำเหมืองแร่ทองแดง
|
บริษัทภูเทพ จำกัดในเครือ ผาแดง
อินดัสทรีและไทยออสจำกัด ทำการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ในปีพ.ศ.2549
|
ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟประมาณปีพ.ศ 2551-52
|
บริษัทภูเทพ จำกัด
พยายามเปิดเวทีเพื่อจัดทำรายงานอีไอเอ
และเอชไอเอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอประทานบัตร
|
โครงการเหมืองแร่ตะกั่ว คลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ
จังหวัดกาญจนบุรี
|
เกิดโรงแต่งแร่คลิตี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2510และบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทยจำกัด) ทำเหมืองแร่ตะกั่ว
และเกิดผลกระทบต่อลำห้วยคลิตี้เมื่อปีพ.ศ.2541 และตรวจพบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านสูง
นอกจากนี้บริเวณโดยรอบเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังมีบริษัทต่างๆที่ได้รับสัมปทานประกอบกิจการเหมืองแร่จำนวนมาก
เช่น บริษัทเคมโก้ และบริษัทผลแอนด์ซัน จำกัด (เมืองพลวง)
รวมทั้งการลักลอบทำแร่ถื่อน
|
ปีพ.ศ.2541 ชาวบ้านเขียนจดหมายร้องทุกข์ถึงอธิบดีควบคุมมลพิษ
เกิดการนำเสนอประเด็นสู่สาธารณะ และเมื่อปีพ.ศ.2543องค์กรพัฒนาเอกชนและวุฒิสภาเรียกร้องสิทธิชุมชนให้กับชาวบ้านในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว
|
ปัจจุบันมีการยกเลิกและยังยั้งการทำเหมืองในพื้นที่แต่ก็ยังมีการพยายามสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการทำเหมืองขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการคัดค้านการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงูทับที่ทำกินชาวบ้านในพื้นที่คลิตี้บนและคลิตี้ล่าง
จำนวนกว่า 4000 ไร่
และเตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชน
|
โครงการเหมืองลิกไนต์ แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
|
มีแนวคิดสำรวจแร่ลิกไนต์บริเวณพื้นที่แม่เมาะจังหวัดลำปางตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 และสำรวจพบถ่านหินลิกไนต์ในปีพ.ศ 2496-97 และสร้างเหมืองแม่เมาะขึ้นเพื่อขุดแร่ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงและตั้งโรงงานไฟฟ้าขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
|
ปีพ.ศ.2527 เกิดมลพิษทางด้านฝุ่นควัน
และปีพ.ศ.2535 เกิดปัญหาการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์
ประชาชนล้มป่วยไม่ทราบสาเหตุและรวมตัวกันภายใต้ชื่อเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ
ช่วงปีพ.ศ.2547 2549 และ2551
มีมติให้คนอพยพออกจาพื้นที่รัศมีโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร ชาวบ้านมีทั้งส่วนที่สมัครใจย้ายกับไม่ยอมย้ายออก
|
ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย
เดินทางมาศาลปกครองสูงสุดแจ้งวัฒนะเมื่อ 22 กันยายน 2554
เพื่อให้ศาลเร่งรัดคดีค่าชดเชยเยียวยาจาก กฟผ. ที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้จ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านเมื่อวันที่
4 มีนาคม ปีพ.ศ.2552 แต่กฟผ.ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งยังไม่ได้พิจารณาตัดสิน
|
โครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน
|
ปีพ.ศ.2539
พื้นที่ป่าบริเวณผาจันได ตำบลดงมะไฟ ถูกกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรม
บริษัทศิลาโชคชัยภัทร จำกัด ขอประทานบัตรทำเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
|
เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 แกนนำถูกยิงเสียชีวิตรวม4 คน และปีพ.ศ.2542
พระสงฆ์และชาวบ้านรวมตัวกันตั้งชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้
|
ปัจจุบันศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมาสั่งให้ระงับโครงการจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาด
ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดให้ยกเลิกโครงการ
รวมทั้งชาวบ้านที่คัดค้านถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี
และถูกตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเอกชัย ศรีพุทธา และนายสุพัฒน์ ถมทองวิจิตร
เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ปีพ.ศ. 2554
|
โครงการเหมืองแร่สังกะสี ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
และตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
|
บริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด และบริษัทตาก ไมน์นิ่ง
จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองสังกะสีที่ตำบลแม่ตาว จังหวัดตากเมื่อปี พ.ศ. 2525 (ก่อนหน้านั้นบริษัทไทยซิงจำกัดได้รับประทานบัตรทำเหมืองเมื่อปีพ.ศ./2515-2518)
และเตรียมจัดทำแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพื้นที่ใหม่ในคอยผาแดง
ตำบลพระธาตุผาแดงเพื่อขอประทานบัตรต่อ
|
เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียม ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541-2546
และชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่
|
ปัจจุบันมีการตรวจสอบและกำกับดูแลและเผ้าระวังการทำเหมืองสังกะสี
บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตากให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ปีพ.ศ. 2510
|
โครงการเหมืองแร่ทองคำ ในจังหวัดพิจิตร
เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
|
ปีพ.ศ.2543 บริษัทอัคราไมน์นิ่ง
จำกัด จัดทำรายงานอีไอเอและขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำในตำบลเขาเจ็ดลูก
อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง
จังหวัดเพชรบูรณ์รวมทั้งได้รับสิทธิสำรวจสายแร่ทองคำเพิ่มเติมครอบคลุมพื้นที่3
จังหวัด ร่วมกับบริษัทริชภูมิไมนิ่ง และบริษัทไทยโกลบอลเวนเจอร์ส
จำกัดในปีพ.ศ. 2549
|
เกิดภาวะน้ำธรรมชาติแห้ง ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค
ทำการเกษตร เกิดมลพิษทางฝุ่นและเสียง
รวมทั้งกาปนเปื้อนสารไซยาไนด์และสารหนูลงสู่น้ำบนดินและใต้ดิน
ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วยและเคลื่อนไหวต่อต้านในพื้นที่
|
ปัจจุบันบริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด อยู่ในช่วงของการขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจเพิ่มเติม
|
โครงการเหมืองแร่ทองคำ ที่อำเภอวังสะพุง
จังหวัดเลย
|
ปีพ.ศ.2548 บริษัททุ่งคำ
จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า ภูซำป่าบอนและภูเหล็ก
ครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านนาหนองบง บ้านกกสะทอน บ้านแก่งหิน บ้านโนนผาพุงพัฒนาบ้านห้วยผุกและบ้านภูทับฟ้าพัฒนา
ในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
|
ปีพ.ศ.2549 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ตรวจและวิเคราะห์น้ำในลำน้ำฮวย แม่น้ำสาขาของลำน้ำเลย พบปริมาณสารแคดเมียม
สารหนูและสังกะสี ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเกินค่ามาตรฐาน
จนนำไปสู่การตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในเรื่องสิทธิชุมชน
สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
|
บริษัทขอประทานบัตรเพื่อเปิดพื้นที่ทำเหมืองเพิ่มเติม
|
โครงการสำรวจและเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน
จังหวัดเลย
|
กลุ่มนายทุนในและนอกประเทศ
เข้ามากว้านซื้อพื้นที่ตามป่าและไหล่เขาในบริเวณภูเขาแก้ว ในเขต ต.เขาแก้ว
อ.เชียงคาน จ.เลย และ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย
โดยบางกลุ่มลักลอบตัดไม้และทำแร่เหล็กเถื่อน
|
ชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลธาตุและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้ตรวจสอบและสั่งปิดเหมืองดังกล่าว
และคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่บนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าภูเหล็ก
และสัมปทานที่ทับที่ดินทำกินชาวบ้าน
|
|
โครงการสำรวจแร่โพแทช จังหวัดมหาสารคาม
|
บริษัทไทยสารคาม อะโกร โปแตช จำกัด
ยื่นขออาชบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปีพ.ศ.2548
|
ชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ
และยังไม่มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวในพื้นที่
|
บริษัทกำลังดำเนินการขอต่ออาชญาบัตรพิเศษเพิ่มเติมหลังจากสำรวจมาแล้ว
5 ปี
|
โครงการสำรวจแร่โพแทช จังหวัดขอนแก่น
|
ปีพ.ศ.2548 บริษัทกรุงเทพโยธาอุตสาหกรรม
ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช จำนวน 10 แปลงที่
ตำบลบ้านทุ่ง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลบ้านฝาง
ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น
|
|
|
โครงการทำเหมืองเกลือแบบละลายและสูบน้ำเกลือใต้ดิน
จังหวัดนครราชสีมา
|
บริษัทไทยสินทรัพย์ ยื่นขออาชญาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่
อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา
และบริษัทธนสุนทร (1997) ขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจที่ตำบลด่านช้าง
อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
|
การดูดน้ำเกลือ ส่งผลกระทบต่อการเกษตร
และเกิดหลุมยุบ รวมทั้งฝุ่นละอองเกลือในอากาศ
จนนำไปสู่การเรียกร้องของชาวบ้านและทางการสั่งให้มีการหยุดดำเนินการดังกล่าว
รวมทั้งชาวบ้านชนะคดีจากการฟ้องศาลปกครองในปีพ.ศ.2552
|
ปัจจุบันยังมีการยุบตัวของผิวดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
|
โครงการทำเหมืองหินเขาคูหา ต.รัตภูมิ จ.สงขลา
|
บริษัทพิรพลมายนิ่ง จำกัด และนายมนู เลขะกุล
ขออนุมัติประทานบัตรทำเหมืองหินเพิ่มเติม ในปีพ.ศ.2552-2553
|
ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา
อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และเครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา
เพื่อเรียกร้องสิทธิและเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีที่บริษัทละเมิดสิทธิชุมชน
และผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม
โดยที่หินที่ได้ไม่ได้นำมาใช้ในกิจการของจังหวัดสงขลาและประเทศไทยแต่ส่งไปจำหน่ายยังอินเดีย
|
บริษัทยังคงดำเนินการผลิตเหมืองหินในพื้นที่ต่อไป
และชาวบ้านก็คงยังต่อสู้เรียกร้องในพื้นที่
|
โครงการเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน
อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
|
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนจะขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในปีพ.ศ.2549ถึงปีพ.ศ.2551 ที่ตำบลทุ่งพอและตำบลคอลอมูดอ
อ.สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
|
ชาวบ้านยังรับรู้ข้อมูลน้อย
|
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการตามแผน
|
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก
ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง, พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ,พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว อ.งาว จ.ลำปาง,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน
อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ,พื้นที่ขอสำรวจแร่โปแตช
จ.สกลนคร ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ต.พะวอ
อ.แม่สอด จ.ตาก ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.ลี้ จ.ลำพูน ,พื้นที่ลำเลียงและลานกองแร่ถ่านหินจากพม่า
จ.เชียงราย และพื้นที่อื่นๆในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ดังข้อมูลของกลุ่มตรวจสอบและพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อม
สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมกราคม 2554 พบว่า
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม
2552 จำนวน 27 โครงการที่ยื่นขอประทานบัตร
เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2553 จำนวน 50 โครงการที่ยื่นขอประทานบัตร
ที่น่าสนใจคือข้อมูลของโครงการที่ยังไม่ได้จัดส่งรายงานประเภทโครงการเหมืองแร่
มีจำนวนถึง515โครงการที่มีผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทั่วประเทศ[3] นั่นแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของปัญหาในการดำเนินการพัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ของประเทศไทยในอนาคตอาจจะทวีความรุนแรงและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้น
เพราะโครงการจำนวนหลายโครงการที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ว่าจะมีโครงการหรือธุรกิจเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองเสมือนการตัดชาวบ้านออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินโครงการตั้งแต่แรกเริ่ม
โดยปัญหาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและปัญหาเก่าในประเด็นเรื่องเหมืองแร่ที่ยังคั่งค้างและแก้ไขปัญหาไม่ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายประการของการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายรัฐธรรมนูญ
ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทำการต่อสู้เคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆ
ทั้งที่ถูกจังดำเนินคดี ทั้งที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการชะลอโครงการ
ยกเลิกหรือยับยั้งโครงการ หรือประสบความล้มเหลวในการต่อสู้และต้องจำยอมต่อกระแสการพัฒนาที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลือก
ประเด็นที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวกรณีเหมืองแร่ในประเทศไทย
พบประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายประเด็นตั้งแต่พัฒนาการของการต่อสู้ที่มีความยาวนานแตกต่างกัน
เช่น เหมืองคลิตี้ที่ดำเนินการทำเหมืองมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2510 ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติแร่และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2535 ทำให้สถานการณ์ของปัญหาค่อนข้างรุนแรงและสั่งสมมาอย่างยาวนาน
จนกระทั่งปีพ.ศ.2541 จึงจะเริ่มเป็นข่าวสู่สาธารณะในวงกว้าง
เมื่อมีการตรวจพบสารตะกั่วในกระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ ที่น้ำจากลำห้วยคลิตี้มาใช้ในการอุปโภคบริโภค
มีการเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตของกระบวนการต่อสู้ เช่น
การรวมกลุ่ม การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้าน
การทำให้เป็นข่าวสาธารณะที่ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านสามารถนำเสนอแนวนโยบายหรือการตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาของตัวเองสู่สาธารณะ
รวมทั้งการเปิดเวทีวิชาการระหว่างนักวิชาการภาครัฐ สถาบันการศึกษาต่างๆ
เพื่อสร้างเครือข่ายและพันธมิตร
และนำเสนอปัญหาสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนและข้อมูลในการตัดสินใจในการพัฒนา
โดยกระบวนการเคลื่อนไหวของเหมืองคลิตี้หรือแม่เมาะที่ลำปาง
กลายมาเป็นบทเรียนให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น เหมืองแร่โพแทชที่อุดรธานี
เหมืองแร่ทองคำและทองแดงที่เลยเป็นต้น
ภายใต้กระบวนการรุกคือบของกลุ่ทุนที่ใช้มายาคติหรือภาพลวงเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาที่คนในพื้นที่อยากจะสัมผัสแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม
[1] ผู้สนใจสามารถอ่านได้ในงานแอ่งอารยธรรมอีสาน(2533)
ของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่พูดถึงพัฒนาการการตั้งถิ่นฐาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม
วัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆแถบลุ่มแม่น้ำ โขง
ชีและมูลโดยการขุดค้นทาและสำรวจทางโบราณคดีซึ่งพบแหล่งผลิตเกลือโบราณกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของภาคอีสาน
หรือเอกสารการเสวนา ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ 2,500ปี
ภูมิหลังนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งจัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546
[2] ส่วนหนึ่งรวบรวมจากงานรายงานการศึกษาชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
ด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายและงานวิชาการ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น