ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ต้นกับเพลงในความทรงจำ 4

ในปีพ.ศ.2536 เกิดอัลบั้ม 12 ราศี ซึ่งอัลบั้มหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีการนำเอาเรื่องราวของคนที่เกิดราศีต่างๆ เช่นอารมณ์ บุคลิกลักษณะมาแต่ให้เป็นเพลงต่างๆ 12 เพลง โดยในแต่ละเพลงจะทำนายลักษณะคนในแต่ละราศี
1.       เพลงนักคิด ที่สะท้อนความเป็นคนราศีกุมภ์ ที่เปิดกว้างรับสิ่งต่างๆ ชอบคิดค้นชอบประดิษฐ์ ช่างฝัน บางครั้งดื้อรั้น ดื้อดึง
2.       เพลง ห่วงใย เพลงนี้แต่งคำร้องโดยศุ บุญเลี้ยง ทำนองโดยพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา สำหรับคนราศีสิงห์ ที่มีสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ อำนาจ วาสนา ทะนงในศักดิ์ศรี แต่บางครั้งก็มีความอ่อนไหวซ่อนอยู่ลึกๆ
3.       เพลงชน  เพลงนี้ประจำราศีพฤษภ  ที่มีความมานะพยายามเป็นเลิศ สู้งาน อดทนสูง เหมือนวัวที่พุ่งชนสู่เป้าหมาย ที่สำคัญราศีนี้รักใครรักจริง
4.       เพลงหัวใจธนู เพลงนี้สำหรับคนราศีธนู ที่รักอิสระ รักการผจญภัย มองโลกในแง่ดี บางครั้งก็ดีจนเกินไป
5.       เพลงสถิตยุติธรรม  คำร้องทำนองโดยพงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่สะท้อนตัวตนของราศีตุลย์ ที่เป็นตัวแทนของความเที่ยงธรรม ฉลาดและใช้ปัญญาตัดสินปัญหามากกว่าใช้ความรุนแรง
6.       เพลงกลับบ้าน เพลงนี้สำหรับคนราศีกรกฎ ที่เหมือนปูรักเปลือกหอย ถ้าเป็นคนก็รักบ้าน รักครอบครัวสุดชีวิต และมีความอ่อนไหวสูง ไมช่ำชองเรื่องความรัก แต่ถ้าเรื่องของความซื่อสัตย์ก็ไม่เป็นรองใคร
7.       เพลงการเริ่มต้น  เพลงประจำชาวราศีเมษ เขาคือผู้นำ ผู้บุกเบิก เป็นนักเสี่ยงแนวหน้า กล้าตาย สิ่งที่ชาวราศีเมษมีอยู่เต็มเปี่ยมคือเรื่องของความจริงใจ
8.       เพลงบริสุทธิ์  ที่เป็นตัวแทนของชาวราศีกันย์ ที่รักระเบียบเรียบร้อย เป็นพวกอนุรักษ์นิยม มักเก็บซ่อนอารมณ์ความรู้สึก ภายใต้ใบหน้าที่เรียบเฉย
9.       เพลงข่าว เพลงนี้บ่งบอกลักษณะของชาวราศีเมถุน ที่มีความเฉียบไว มีวาทศิลป์เป็นเลิศ พร้อมรับและปรับตัวตลอดเวลา คนราศีนี้มีไม่น้อยที่ทำอาชีพสื่อสารมวลชน
10.   เพลง Sweetness เพลงนี้เนื้อร้องแต่งโดย Todd Lavelle หากเรียกว่าทอด ทองดี หลายคนก็คงรู้จัก ทำนองโดยพี่ปุ้ม พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  เพลงนี้เพราะมากทั้งเสียงกีตาร์ที่อินโทรขึ้นเพลงและท่อนโซโล่ เพลงนี้สำหรับชาวราศีพฤศจิก ที่เป็นคนผู้มีจิตแข็งแกร่ง จนแข็งกร้าว ทะเยอทะยาน จนบางครั้งกลายเป็นรุนแรง อาจจะพลิกผันจนคาดไม่ถึงก็เป็นได้
11.   เพลงรักเกินห้ามใจ  เพลงนี้สำหรับชาวราศีมังกร ที่มีความเชื่อว่าการจะรักใครสักคน สำหรับชาวราศีแพะนั้น ต้องการคำว่ารัก แบบเหมาะสม และฐานะถือว่าคือสิ่งสำคัญ
12.   เพลงนางไม้ เพลงสำหรับชาวราศีมีน  ซึ่งหนุ่มสาวราศีนี้มีเสน่ห์คือถ้าใครได้ใกล้ชิดจิตใจจะสั่นไหว  อ่อนไหว เหมือนต้องมนต์ แต่พวกเขาเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง จึงยากจะเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย
เพลงทั้ง 12 เพลงนี้มีความไพเราะ ทั้งเนื้อร้องทำนอง เช่นเพลง นางไม้ผมชอบที่เรื่องการใช้ภาษาแบบกวีมาแต่งได้บาดลึกและกินใจ ที่มีเนื้อว่า
“คืนเหน็บหนาว คราวที่รักร่วงโรย โบยหนามคม โถมลงสุดตัว รอบกายดูราวจะหมองมัว มืดมนและหมดความหมาย แต่มีแสงดวงหนึ่ง ดูงดงามเมื่อยามปรากฏ กระพริบพราวเศร้าใจในรักที่เหี้ยมโหด เธอเข้ามาทำให้ฟ้าแจ่มใส คือหัวใจให้ไออุ่นเรา ดุจดวงมณีทอรุ้งพราว ภูตดาวหรือว่านางไม้..”
หรือแม้แต่ประเด็นทีต้องการอธิบายถึงสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน พงษ์พรหม (พี่ปุ้ม) ก็ถ่ายทอดออกมาได้ดี เช่นเพลงข่าว ที่มีท่อนร้องว่า
“ฟังข่าวอันเศร้าใจ คืนวันนี้มีข่าว เซ็กส์บอมบ์สาวพร่ำเพ้อ แหวนของเธอหายไป และกินเวลาสี่วันในสำนักใหญ่ สามร้อยกว่าคนถกเถียง ใครเป็นเมียน้อยใคร คืนนี้มีหน้าอกออกอากาศ ร้อยทั้งร้อย คนคอยดู มีแต่คนสนใจ...ชีวิตน้อยๆ ใครจะตาย เป็นยังไง ไม่รู้ ไม่เคยดู  สงสารใครรังแก คนตาบอด หมาโดนวางยา โอ๊ย..มีหน้าอก ออกอากาศ ชีวิตน้อยๆเป็นยังไง มีโรงเรียนถูกเผา ใครดูแล...”
หรือเพลงสถิตยุติธรรม ที่พูดถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แม้แต่กฎหมายที่คิดว่าจะให้ความเป็นธรรมยังช่วยอะไรไม่ได้ เช่นเดียวกับหนุ่มคนหนึ่งที่เรียนกฎหมายมาแต่สุดท้ายก็ลับต้องตกเป็นจำเลยของกฎหมาย เพลงมีเนื้อว่า
“ปัญญาคนหนุ่มมองการณ์ไกล  เติบใหญ่อยู่ในแดนกันดาร อุตส่าห์ฝ่าฟันใฝ่ความรู้ได้เรียนมหาลัย ไปเรียนตัวบทตัวกฎหมายเรียนไปก็ด้วยใจเป็นธรรม จะนำความรู้สู่ตำบล ที่ทุกข์ทนเฝ้ารอเพราะโดนกดขี่  คนเมืองมาเป็นใหญ่เป็นนายเรา เอาความรู้เข้ามาข่ม กรรมใดใครตกเป็นคดีความ เป็นธรรมไม่เห็นมีมาก่อน....”
เพลงที่เป็นลักษณะเด่นของวงตาวัน คือการให้กำลังใจและปลุกเร้าการต่อสู้ ที่มีปรากฏในทุกอัลบั้ม ผมชอบเพลงการเริ่มต้นที่เนื้อร้องทำนอง แต่งโดย พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มีเนื้อร้องว่า
“ทุกทุกวันที่เธอเหล่านั้นฟันฝ่า ทุกเวลามีเจ็บมีคนล้มไป ทุกทุกใจมีความใฝ่ฝันแตกต่าง ฝันไม่เคยบังเกิดกับคนท้อใจ ในกลางทาง ไม่อาจจะหวังเกินความจริง อาจถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง เปล่าเปลี่ยวและเคว้งคว้างกลางลมวนและไกลจากจุดหมาย  ฝนแม้ซัดพัดแรงเพียงใด ดังปัญหาที่โหมใส่ ฟ้านั้นรู้และคอยดูใจ ให้เรียนรู้หาคำตอบ แม้ล้มลุกคลุกคลานเพียงใด เหนื่อยเพียงไหนให้สู้ต่อ ฟ้าใสใสนั้นยังรอคอย อย่าไปท้อให้เริ่มใหม่ ทุกทุกคราวทีเธอปวดร้าวเท่าใด หัวใจจะเติบโตตามหนทางเหมือนตะวันที่เวียนจากฟ้าฟากหนึ่ง ถึงเวลาจะสาดประกายชี้ทาง”
เพลงชุดนี้ถือได้ว่ามีความหลากหลายทั้งในด้านเนื้อหา ฟังแล้วไม่เบื่อ แต่น่าเสียดายที่หาซื้อยาก เพราะอัลบั้มของวงตาวันไม่ค่อยดังเปรี๊ยงปร๊าง และหาซื้ออัลบั้มเก่าๆของวงนี้ไม่ได้ แม้จะหาดาวน์โหลดตามที่ต่างๆก็ไม่ครบทุกอัลบั้มหรืองานเพลง
ในช่วงปี พ.ศ.2537 อัลบั้มสุดท้ายภายใต้สังกัดวอร์นเนอร์มิวสิค (Warner Music) เป็นการรวมเอาเพลงในอัลบั้มต่างๆที่คุ้นหูและดีที่สุดของพวกเขามาไว้ในอัลบั้มชุดนี้ที่ชื่อว่า Autography  พร้อมความท้อใจกับเรื่องนายทุน ผู้ร่วมอาชีพที่เอาเปรียบ และเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยังเกิดขึ้นมากมาย พวกเขาคิดกันว่า ในบ้านเรามีสองทางเลือกสำหรับนักดนตรีหัวก้าวหน้า ถ้าไม่เลิกก็ต้องทำต่อไ ป ดังที่พวกเขารวมตัวกันเปิดบริษัทภายใต้ชื่อออเร้นท์ มิวสิค (Orange Music) เพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ ที่อยากคิดเอง ทำเอง มีอัลบั้มของตัวเอง มีเพลงของตัวเอง มีรายได้จากมันสมองของตัวเอง โดยไม่ถูกเอาเปรียบ และสุดท้ายแม้ว่าพวกเขาจะแยกย้ายกันไปตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน แต่สิ่งที่พวกเขาหวังเกี่ยวกับงานดนตรีของประเทศไทยก็พัฒนาขึ้นมาก ทั้งในแง่ของการเกิดค่ายเพลงต่างๆ ทั้งบนดิน ใต้ดิน ทั้งอยู่ในกระแส นอกกระแส เพลงแนวอินดี้ ไม่อินดี้ ผมว่าการเกิดขึ้นของกลุ่มสมอลล์ รูม สนามหลวง เลิฟ อีส หรืออื่นๆก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมเปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ที่มีความสามารถมากขึ้น มีช่องทางให้เขาเสนอตัวตน ผลงานของตัวเอง ในพื้นที่อินเตอร์เน็ต หรือในเวทีประกวดต่างๆ ที่สำคัญคือมีคนฟัง ที่คิดเป็น คิดได้ และเลือกฟังแนวเพลงที่หลากหลายมากกว่าเดิม อย่างผู้เขียนชอบเพลงประเภทเนื้อหาที่หนักๆ บางเพลงเปิดออกอากาศไม่ได้ ในยุคนั้นมีหลายคน เช่นดอนผีบิน, จินตะ, ซีเปีย (เกลียดตุ๊ด) ,Heavy Mod,(Rate-x ห้ามออกอากาศ)  The Exile(วงดนตรีจากประเทศเพื่อบ้านคือลาว) ไทร็อค,และอื่นๆ 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ในบ้านเมืองของเรา จะมีหุ่นกระบอกทางด้านดนตรีมากมาย แต่ก็ยังเหลือคนดนตรีจริงๆอยู่อีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ดูถูกคนฟัง และทำงานเพลงด้วยมันสมองด้วยหัวใจ ดังเช่นครั้งหนึ่งวงตาวันได้ทำอย่างนั้นมาแล้ว และวงตาวันก็จะอยู่ในใจของผมตลอดไป ทุกวันนี้ผมยังมีวิทยุที่เล่นเทปได้ เอาไว้เปิดเพลงของพวกเขาที่ยังเป็นเทป ไม่ได้เป็นซีดีเหมือนเพลงสมัยนี้ฟังอยู่บ่อยครั้ง คิดแล้วก็สุขสุดๆๆ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...