ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เริ่มจากห้องแถว(8)

พุ่มหนาม เล็บแมว
บริเวณพุ่มหรือพวกหญ้ารกๆก็เป็นแหล่งหากินสำคัญของครอบครัวผมเช่นเดียวกัน เนื่องจากจะมีสัตว์บางชนิดมาอาศัยอยู่ เช่น ผึ้งหรือหนู รวมทั้งพืชจำพวกเห็ด โดยเฉพาะเห็ดปลวกขนาดใหญ่จำนวนมาก เพราะตามพุ่มหนามเหล่านี้มักจะมีจอมปลวกเกิดขึ้นจำนวนมาก
เวลาหน้าฝน พื้นดินพื้นหญ้าชุ่มชื่นด้วยหยาดน้ำค้างหรือน้ำฝน เวลาเดินไปบนพื้นจะเห็นปฏิมากรรมของเหล่าไส้เดือนที่ขุดดินขึ้นมาทับทมกันสูงขึ้นมาเหมือนคอนโดเล็กๆ สูงประมาณ 10 เซนติเมตร ปฎิมากรรมชนิดนี้เป็นความสวยงามตามธรรมชาติแต่ก็สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์
ในแต่ละฤดูกาลบริเวณไม้พุ่ม ดงเล็บแมว หรือจอมปลวกเหล่านี้มักจะเป็นแหล่งอาหารการกินที่มีความสำคัญ เช่นในหน้าแล้งเราจะพบรังผึ้งที่มีน้ำหวานสีเหลืองทองติดอยู่กับบริเวณกิ่งของเล็บแมว พร้อมรวงสีขาวที่เต็มไปด้วยฝูงผึ้งเกาะอยู่ รวงผึ้งสีขาวตรงส่วนนี้จะมีตัวอ่อนของผึ้งอยู่ พ่อของผมท่านจะใช้ยาสูบสมัยก่อนท่านสูบบุหรี่กรุงทอง ก็จะพ่นใส่ก้านมะละกอให้ผึ้งมันแตกรัง เนื่องจากมันแพ้ควันไฟ มันก็จะบินออกไป จากนั้นเราก็ตัดเอารังผึ้งออกจากกิ่งเล็บแมว แล้วเอารังมากิน รังสีขาวกินสดได้หรือจะนึ่งก็ได้ ส่วนน้ำผึ้งพ่อจะบีบเอาน้ำออกใส่ขวดไว้ จิ้มกินกับขนมปัง หรือบีบน้ำมะนาวใส่ผสมกับน้ำอุ่นกินเวลาเจ็บคอหรือไม่สบาย สำหรับกากของมันที่บีบเอาน้ำผึ้งออกแล้วก็ยังไม่ทิ้ง เราสามารถเอากากเหล่านั้นมาอมเล่นได้เพื่อดูดน้ำหวานที่ยังเหลืออยู่ได้  ส่วนพวกแตน รังก็จะเล็กกว่าผึ้งมาก นิยมกินตัวอ่อนชองมัน แต่พิษสงของมันก็มากไม่น้อย เพราะผมเคยโดยต่อยครั้งหนึ่งจนหัวปูดเท่าลูกมะนาว วิธีการเอารังของมัน ก็ใช้หินหรือไม้ตีเอาก็ได้ เพราะรังหนึ่งแตนจะมีตัวแตนไม่เกิน 10 ตัวซึ่งแตกต่างจากผึ้งที่มีเป็น100 ตัว
ในช่วงฤดูฝนเห็ดปลวกจะเกิดขึ้นมากบริเวณพุ่มหนามหรือดงเล็บแมวที่มีจอมปลวกขึ้นอยู่ พ่อของผมจะรู้จักแหล่งที่มีเห็ดปลวกและจะเกิดขึ้นทุกปีในที่เดิมซ้ำๆ พ่อจะใช้มีดสปาร์ต้าแซะลงไปให้ลึกเพื่อให้ถึงหัวหรือรากของมันซึ่งจะมีลักษณะเป็นหัวเรียวใหญ่เล็กตามขนาดของดอก เห็ดปลวกจะหอมมากสามารถนำมาแกง หรือย่างเพื่อทำแจ่วหรือป่นเห็ดได้ พ่อผมชอบหาเห็ดมากท่านรู้จักป่าเห็ดดีว่าป่าไหนมีเห็ดชนิดไหนบ้าง เห็ดอะไรจะเกิด แม้ว่าท่านจะออกจากค่ายมาอยู่ที่บ้านโนนสูงท่านก็ยังชอบหาเห็ดในป่าต่างๆ และครอบครัวเรามักจะเป็นคนแรกๆที่ได้กินเห็ดก่อนใครเพื่อนเสมอ ในช่วงฤดูฝนเมื่อท่านเข้าป่ามักจะมีเห็ดพวกเห็ดปลวก เห็ดละโงกขาว ละโงกเหลือ เห็ดผึ้งหวาน เห็ดผึ้งขม เห็ดถ่าน เห็ดดิน กลับมาเสมอในช่วงหน้าฝน บางครั้งจะมีพวกอีลอก ผักหวาน ผักกระสัง ผักเม็ก ผักกระโดนป่าและ ผักติ้วป่าที่มักจะเกิดตามป่าต่างๆ เช่นป่าโนนแตงโมบ้านหนองตะไกร้และหนองนาเจริญ โค้กก๊อก โคกคาม บ้านโนนสมบูรณ์ หรือป่าหนองนาตาล
พ่อของผมเก่งเรื่องการหาอยู่หากิน เพราะชีวิตของท่านต้องต่อสู้ตั้งแต่เด็ก ท่านจึงมีวิธีเอาตัวรอด เพื่อให้ตัวเองสามารถแก้ปัญหารายได้ที่น้อยและพึ่งตัวเองให้มากที่สุด ท่านจะรู้ว่าจะเข้าป่าวันไหน กี่วันหลังจากฝนตกที่เห็ดจะเกิดให้เก็บมากินได้ หรือมีเชื้อเห็ดเริ่มเกิดขึ้น รวมทั้งดูจากสภาพอากาศ เช่นแดดแบบนี้เห็ดบดจะเกิด ท่านก็จะขับมอเตอร์ไซค์ออกไป เห็ดกระด้างมักจะเกิดตามขอนไม้หรือตอไม้ที่ถูกตัดมักจะมีเห็ดบด เห็ดขอนดาว เห็ดกระด้างเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งเห็ดพวกนี้เนื่องจากลักษณะเหนียว ถ้าดอกไม่อ่อนจริงจะแกงไม่อร่อย ก็จะนำมาหั่นเป็นชิ้น แล้วต้มใส่น้ำปลาร้า ใส่ถั่วฝักยาว ใส่ปลาทู นำมาตำกับพริก หอมและกระเทียมที่ย่างเอาไว้ กลายเป็นซุปเห็ดกระด้างอาหารอร่อยมีประโยชน์และกินกับผักที่เก็บมาจากป่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...