จากความรู้ท้องถิ่นสู่ประเด็นสาธารณะ: การขยายกรอบงานมานุษยวิทยาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
งานศึกษาทางมานุษยวิทยามักให้ความสำคัญกับ ความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยศึกษาความหมาย แนวปฏิบัติ และการดำรงอยู่ของกลุ่มต่าง ๆ ในบริบทที่เฉพาะเจาะจง แต่หากต้องการแปลงองค์ความรู้นี้ไปสู่ประเด็นสาธารณะที่ต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาในระดับที่กว้างขวางขึ้น นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องใช้ เครื่องมือ แนวคิด และกระบวนการแปลงงานวิจัย เพื่อสร้างอิทธิพลต่อสังคมวงกว้าง
1. การแปลความรู้ท้องถิ่นหรือความรู้เฉพาะบริบทให้เชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคมที่กว้างขึ้น
นักมานุษยวิทยาต้องช่วยทำให้ความรู้ท้องถิ่นไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงเรื่องของชุมชนเล็ก ๆ แต่เป็น “ตัวอย่าง” หรือ “กรณีศึกษา” ที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่า ตัวอย่างเช่น งานของ Anna Tsing (The Mushroom at the End of the World) ที่ศึกษาเศรษฐกิจของเห็ดมัตสึทาเกะ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจของกลุ่มชนพื้นเมืองเชื่อมโยงกับ ตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา หรืองานของ James C. Scott (Weapons of the Weak) ที่ศึกษาการต่อต้านของชาวนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถนำไปใช้ทำความเข้าใจ ขบวนการต่อต้านทางการเมือง ในหลายประเทศ
การนำไปใช้เช่น ขยายกรอบงานวิจัยจากประเด็นท้องถิ่นไปสู่ ปัญหาระดับชาติ/โลก การเชื่อมโยงประสบการณ์ของกลุ่มชายขอบเข้ากับ โครงสร้างอำนาจและเศรษฐกิจการเมือง รวมทั้งการใช้เปรียบเทียบกรณีศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบปัญหาที่คล้ายคลึงกันในบริบทอื่น ๆ
2. การใช้แนวทางมานุษยวิทยานโยบาย (Policy-Oriented Anthropology)
หากต้องการให้การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วิทยามีผลกระทบต่อประเด็นสาธารณะ นักมานุษยวิทยาต้องนำเสนอข้อมูลให้สื่อสารได้กับ นักการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐ ตัวอย่างเช่น งานของ Paul Farmer (Pathologies of Power) ที่ศึกษาสุขภาพและความไม่เท่าเทียมกัน ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนานโยบายด้าน สาธารณสุข หรืองานของ Nancy Scheper-Hughes เกี่ยวกับ การค้ามนุษย์ด้านอวัยวะ ถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานในการกำหนดนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ระดับสากล
งานทางมานุษยวิทยา สามารถนำไปใช้สร้างงานวิจัยที่สามารถ ให้ข้อมูลเชิงนโยบาย ได้แก่ สร้างความร่วมมือกับ หน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคม การสื่อสารผลการศึกษาผ่าน บทความเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะที่อ่านเข้าใจง่าย
3. การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อขยายผลกระทบ
หากงานมานุษยวิทยาต้องการมีผลต่อประเด็นสาธารณะมากขึ้น นักวิจัยต้องหาวิธี สื่อสารข้อมูลให้ออกไปนอกวงวิชาการ ตัวอย่างเช่น งานของ Jean Rouch ใช้ภาพยนตร์สารคดี (Chronique d’un été) เพื่อสื่อสารเรื่องอัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย หรืองานของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับ Ballroom Culture และ Drag Culture ถูกทำให้เป็นที่รู้จักผ่าน สารคดี เช่น Paris is Burning
งานทางมานุษยวิทยาสามารถนำไปใช้ สร้าง สารคดี ภาพยนตร์ หรือพอดแคสต์ เพื่อให้ข้อมูลเข้าถึงคนทั่วไปหรือใช้โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูล รวมทั้งการทำให้ความรู้ท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงได้
4. การมีส่วนร่วมของชุมชน (Participatory Research & Advocacy Anthropology)
นักมานุษยวิทยาควรทำงานร่วมกับกลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่แค่ศึกษา แต่ช่วยผลักดันให้พวกเขาสามารถเปล่งเสียงและต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ตัวอย่าง เช่นงานของ Linda Tuhiwai Smith และแนวคิด Decolonizing Methodologies เน้นให้ชนพื้นเมืองมีบทบาทในการกำหนดงานวิจัย หรืองานของ Jason De León เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานและความรุนแรงในพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญด้านสิทธิมนุษยชน
การศึกษาทางมานุษยวิทยา สามารถนำไปใช้ ทำให้ชุมชนมี สิทธิ์ในการกำหนดคำถามวิจัยและเสนอแนวทางแก้ไขของตนเอง การทำให้ข้อมูลกลายเป็น เครื่องมือทางการเมืองและสิทธิพลเมือง รวมถึงการทำให้คนชายขอบ เป็นผู้พูดแทนตนเอง ไม่ใช่ให้แต่นักวิจัยเป็นตัวแทน
5. การสร้างเครือข่ายและการทำงานข้ามสาขา
ททำการแก้ปัญหาสาธารณะต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายด้าน นักมานุษยวิทยาต้องทำงานร่วมกับเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาเมือง นโยบายสาธารณะ และสื่อมวลชน
ตัวอย่างเช่นงานของ Bruno Latour (Actor-Network Theory) ใช้ศึกษา เทคโนโลยีและนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกนำไปใช้ในด้าน การออกแบบเมืองและการแก้ปัญหามลพิษ หรือนักมานุษยวิทยาทำงานร่วมกับแพทย์ในการศึกษา ประเด็นสุขภาพจิต เช่น ความสัมพันธ์ของสังคมกับภาวะซึมเศร้าและ PTSD
งานทางมานุษยวิทยา สามารถนำไปใช้ทำงานร่วมกับ นักเศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การนำข้อมูลมานุษยวิทยาไปใช้ร่วมกับ Big Data หรือการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เพื่อให้เห็นภาพกว้างขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยกับ กลุ่มผู้มีอำนาจตัดสินใจ เช่น UN, WHO, องค์กรสิ่งแวดล้อม
สรุปการทำให้งานมานุษยวิทยามีผลต่อประเด็นสาธารณะคือการทำให้ความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่นกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ครอบคลุมขึ้น ต้องอาศัยกระบวนการเชื่อมโยงระดับท้องถิ่นกับระดับโลก โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม ได้แก่ 1.แปลความรู้ท้องถิ่นให้เห็นมิติทางสังคม-เศรษฐกิจระดับโครงสร้าง 2.เชื่อมโยงงานวิจัยกับนโยบายและผู้มีอำนาจตัดสินใจ 3.ใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงประชาชนวงกว้าง 4. ให้ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าขององค์ความรู้และการเคลื่อนไหวของตนเอง 5.ทำงานข้ามสาขากับนักวิจัยและองค์กรด้านอื่น ๆ
หากสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ มานุษยวิทยาจะไม่ใช่เพียงศาสตร์ที่ศึกษา “วัฒนธรรมท้องถิ่น วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มคน วัฒนธรรมเฉพาะบริบท ” แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการ เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและขับเคลื่อนสังคมในระดับโลก มีหลายกรณีที่งานวิจัยทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเด็นสาธารณะ โดยช่วยขยายพรมแดนความรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและสังคม ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่
1. การโยกย้ายถิ่นฐานเนื่องจากโลกร้อน
งานของ Michael Cernea เกี่ยวกับ “Impoverishment Risks and Reconstruction” (IRR) Model ในหนังสือ Risks and Reconstruction: Experiences of Resettlers and Refugee
ได้ศึกษาผลกระทบของการโยกย้ายถิ่นฐานจากโครงการพัฒนา เช่น การสร้างเขื่อน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยสิ่งแวดล้อม งานของเขาช่วยเปลี่ยนวิธีที่ธนาคารโลกและหน่วยงานพัฒนาระหว่างประเทศจัดการกับปัญหาการพลัดถิ่น โดยยอมรับว่าผู้ที่ถูกบังคับให้อพยพต้องการการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อป้องกันภาวะยากจนหลังการย้ายถิ่น รวมทั้งงานของ Susan Hoffman หรือ Anthony Oliver Smith ในหนังสือ The Angry Earth: Disaster in Anthropological Perspective ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมมิอากาศกับการอพยพโยกย้ายถิ่น ทำให้เกิดการขยายพรมแดนความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การมองมิติของโลกร้อนกับการเคลื่อนย้าย ที่ไม่ใช่แค่เงื่อนไขของสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองด้วย ที่นำไปสู่แนวคิด Environmental Refugee หรือ Enivironmental NormadRefugee นำไปสู่ประเด็นทางกฏหมายเกี่ยวกับสถานะผู้ผู้ลี้ภัยของ UNHCR ที่เชื่อมโยงกับกฎหมายระหว่างประเทศ
พรมแดนความรู้ที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง “climate refugees” ซึ่งขยายขอบเขตของแนวคิดเรื่องผู้ลี้ภัยไปสู่มิติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของรัฐและองค์กรพัฒนาต่อการพลัดถิ่นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
งานของ Philippe Bourgois ในหนังสือ In Search of Respect: Selling Crack in El Barrio (1995) ศึกษาชีวิตของผู้ค้ายาเสพติดในฮาร์เล็ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความยากจนและการเหยียดเชื้อชาติผลักดันให้คนชายขอบเข้าสู่วงจรอาชญากรรม งานนี้กระตุ้นการถกเถียงในเชิงนโยบายเกี่ยวกับสงครามยาเสพติดและการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนชายขอบ
พรมแดนความรู้ขยายการศึกษาความเหลื่อมล้ำให้ครอบคลุมมิติทางวัฒนธรรมและโครงสร้าง ไม่ใช่แค่ตัวเลขเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับ “structural violence” และบทบาทของรัฐในการสร้างและรักษาความเหลื่อมล้ำ
3. สิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
งานของ Marisol de la Cadena และ Arturo Escobar ในหนังสือ A World of Many Worlds
และ Earth Beings: Ecologies of Practice across Andean Worlds ที่ได้ท้าทายแนวคิดแบบตะวันตกเกี่ยวกับการพัฒนา โดยศึกษามุมมองของชนพื้นเมืองในละตินอเมริกาเกี่ยวกับธรรมชาติและสิทธิในการจัดการทรัพยากร งานเหล่านี้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองในการปกป้องที่ดินจากโครงการเหมืองและพลังงาน
พรมแดนความรู้ความรู้ที่เกิดขึ้นคือ การขยายความเข้าใจเกี่ยวกับ “pluriverse” หรือโลกที่มีระบบความรู้และวิธีคิดหลายแบบอยู่ร่วมกัน รวมทั้งการตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยึดโยงกับเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตะวันตก
4. อัตลักษณ์ทางเพศและนโยบายสุขภาพ
งานของ Emily Martin ใน The Woman in the Body (1987) และงานของ Anne Fausto-Sterling เกี่ยวกับเพศสภาพและชีววิทยา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับสิทธิของคนข้ามเพศและการแพทย์เกี่ยวกับเพศ งานเหล่านี้ช่วยผลักดันให้วงการแพทย์ยอมรับมิติทางสังคมของเพศ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการให้บริการสุขภาพ
พรมแดนความรู้ก็คือ การท้าทายแนวคิดเรื่องเพศว่าไม่ใช่แค่เรื่องของชีววิทยา แต่เป็นกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งการผลักดันการยอมรับ “gender spectrum” และแนวคิดเกี่ยวกับ “embodiment” ในงานศึกษาด้านสุขภาพ
โดยสรุปงานวิจัยทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยามีบทบาทสำคัญในการทำให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมและผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย พรมแดนของความรู้ที่ถูกขยายเกิดจากการท้าทายมุมมองเดิม เช่น การนิยามใหม่ของผู้ลี้ภัย การขยายแนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ และการยอมรับความรู้และอัตลักษณ์ที่หลากหลายมากขึ้น
5. การควบคุมโรคระบาดและความไว้วางใจต่อระบบสาธารณสุข
งานวิจัยของ Paul Farmer และนักมานุษยวิทยาทางการแพทย์อื่นๆ เกี่ยวกับ HIV/AIDS, อีโบลา และโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าโรคระบาดไม่ใช่แค่ปัญหาด้านชีวการแพทย์ แต่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคมและความเหลื่อมล้ำ การศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกชี้ให้เห็นว่าความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศส่งผลต่อการยอมรับมาตรการสาธารณสุข
ผลกระทบต่อการออกแบบมาตรการรับมือโรคระบาด เช่น การสร้างความร่วมมือกับผู้นำชุมชนเพื่อเพิ่มความไว้วางใจในวัคซีน รวมทั้งการกระตุ้นให้ WHO และรัฐบาลต่างๆ นำมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเข้ามาประกอบการตัดสินใจ
พรมแดนความรู้ที่ขยายคือการท้าทายแนวคิดว่าโรคระบาดเป็นเพียงปัญหาทางชีววิทยา โดยชี้ให้เห็นบทบาทของบริบททางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองฃรวมทั้งขยายแนวคิดเกี่ยวกับ “structural violence” และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
6. การใช้เทคโนโลยีและ AI ในชีวิตประจำวัน
งานของ Shoshana Zuboff ใน The Age of Surveillance Capitalism (2019) และงานของ Nick Seaver ในหนังสือ Computing Taste: Algorithms and the Makers of Music Recommendation
ที่เขียนเกี่ยวกับอัลกอริธึมแนะนำเพลง แสดงให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลส่วนบุคคลถูกใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้บริโภค งานเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวในโลกดิจิทัล
ผลกระทบที่เกิดจากความรู้คือการกระตุ้นให้เกิดการออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น GDPR ของสหภาพยุโรป รวมทั้งการทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของบริษัทเทคโนโลยีและผลกระทบของ AI ต่อสังคม
พรมแดนความรู้ที่ขยายคือการท้าทายแนวคิดว่าเทคโนโลยีเป็นกลาง โดยชี้ให้เห็นว่ามันสะท้อนโครงสร้างอำนาจและอคติทางสังคม รวมทั้งการขยายมิติของมานุษยวิทยาให้ครอบคลุม “digital anthropology”
7. แรงงานข้ามชาติและการเอารัดเอาเปรียบในภาคอุตสาหกรรม
งานของ Saskia Sassen ในหนังสือ Guests and Aliensและ Globalization and Its Discontents
เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และแรงงานข้ามชาติ แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายของแรงงานในยุคปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสรี แต่ถูกควบคุมโดยโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง งานนี้มีอิทธิพลต่อการออกแบบนโยบายแรงงานข้ามชาติในยุโรปและเอเชีย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการทำให้หลายประเทศต้องปรับนโยบายเกี่ยวกับสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตรกรรมรวมทั้ง กระตุ้นการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานและการคุ้มครองแรงงานในระดับนานาชาติ
พรมแดนความรู้ที่ขยายที่น่าสนใจคือการขยายแนวคิดเรื่อง “global cities” และบทบาทของแรงงานข้ามชาติในเศรษฐกิจโลก ท้าทายแนวคิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่าย โดยชี้ให้เห็นการเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยม
8. การเมืองของอาหารและสิทธิความมั่นคงทางอาหาร
งานของ Sidney Mintz ใน Sweetness and Power (1985) และงานของ Marion Nestle ในหนังสือ Food Politics: How the Food Industry Influences Nutrition and Health (California Studies in Food and Culture) เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการบริโภคอาหารไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของวัฒนธรรม แต่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ผลกระทบคือการทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิอาหารและการต่อต้านอุตสาหกรรมอาหารที่แสวงหาผลกำไรเกินควรรวมทั้งมีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การจำกัดการใช้สารเคมีและการติดฉลากโภชนาการ
พรมแดนความรู้ที่ขยาย ขยายแนวคิดเกี่ยวกับ “food politics” และบทบาทของรัฐและอุตสาหกรรมในการกำหนดอาหารที่ผู้บริโภคเลือก รวมทั้งท้าทายแนวคิดว่าการบริโภคเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล โดยชี้ให้เห็นอิทธิพลของโครงสร้างเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
9. มานุษยวิทยาและสิ่งแวดล้อม: การปกป้องป่าไม้และสิทธิชนเผ่า
งานของ Anna Tsing ใน The Mushroom at the End of the World (2015) และงานของ Eduardo Kohn ใน How Forests Think (2013) ได้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยแสดงให้เห็นว่าป่ามีเครือข่ายทางสังคมและการสื่อสารของตนเอง ซึ่งมีผลต่อสิทธิของชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ผลกระทบที่สำคัญคือ การช่วยผลักดันแนวคิด “rights of nature” ซึ่งนำไปสู่กฎหมายให้สถานะทางกฎหมายแก่แม่น้ำและป่าไม้ในบางประเทศ เช่น เอกวาดอร์และนิวซีแลนด์ รวมทั้งมีอิทธิพลต่อขบวนการชนเผ่าที่ต่อต้านการตัดไม้และเหมืองแร่
พรมแดนความรู้ที่ขยายคือการขยายแนวคิดเรื่อง “multispecies ethnography” ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ท้าทายแนวคิดแบบแยกขาดระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โดยเสนอว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ซับซ้อน
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามานุษยวิทยาและสังคมวิทยาไม่ได้เป็นเพียงศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรม แต่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายและแนวคิดสาธารณะได้ โดยขยายพรมแดนความรู้ในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องแรงงาน เทคโนโลยี อาหาร ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
การที่นักมานุษยวิทยาจะก้าวข้ามพรมแดนความรู้และสามารถกำหนดประเด็นสาธารณะได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องอาศัย เครื่องมือและวิธีการทางความคิดหลายประการ ซึ่งรวมถึงแนวทางเชิงทฤษฎี จริยธรรม และการทำงานร่วมกับชุมชนที่ศึกษา นี่คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักมานุษยวิทยามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น