ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

อาวุธของผู้อ่อนแอ ในการต่อรองอำนาจ โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Weapons of the Weak เป็นงานชาติพันธุ์วรรณาที่เขียนโดย James C. Scott ที่ศึกษาผลกระทบของการปฏิวัติเขียวในชนบทของมาเลเซีย วัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของการศึกษาวิจัยนี้คือการโต้แย้งว่าแนวคิดเรื่องจิตสำนึกที่ผิดพลาด( false consciousness ) และการครองอำนาจนำ(hegemony ) ของลัทธิมาร์กเซียน(Marxian )และพวกกรัมเซียน (Gramscian ) นั้นไม่ถูกต้อง เขาพัฒนาข้อสรุปนี้ตลอดหนังสือทั้งเล่ม ผ่านสถานการณ์และตัวละครต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาทำงานภาคสนามในหมู่บ้านในมาเลเซีย ภายใต้ระยะเวลาการทำงานภาคสนามของเขาเป็นเวลา 2 ปี (ค.ศ. 1978-1980) ในชุมชนเกษตรกรรมทำนาขนาดเล็กที่มี 70 ครัวเรือนในพื้นที่ปลูกข้าวหลักของรัฐเกดาห์ในมาเลเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติเขียวในปี ค.ศ.1976 ที่ได้ขจัดโอกาสในการรับค่าจ้างสำหรับเกษตรกรรายย่อยและแรงงานที่ไม่มีที่ดินถึง 2/3 ส่วน ที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ตามมา… โดยผู้เขียนวิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์นี้ถือเป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในหมู่บ้านและแนวปฏิบัติในการต่อต้านซึ่งประกอบด้วย การอู้งาน การหลอกลวง การทอดทิ้งงาน การไม่ยอมตาม การฉกฉวย การแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น การใส่ร้าย การปล้น การวางเพลิง และการก่อวินาศกรรม คนรวยและคนจนมีส่วนร่วมในการต่อสู้อย่างเงียบๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงในการถือครองที่ดิน เครื่องจักร และการจ้างงานเพื่อพัฒนาผลประโยชน์ของตนเอง และใช้ค่านิยมที่พวกเขาแบ่งปันเพื่อควบคุมการกระจายสถานะ ที่ดิน งาน และธัญพืช เป็นต้น ตัวอย่างเข่น การแกล้งป่วยเพื่อไม่ยอมทำงานรับใช้เจ้าของที่ดิน หรือการขอตัวไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เพื่อให้เวลาในการทำงานน้อยลงหริอ การเกี่ยวข้าวแรงๆเพื่อให้เมล็ดข้าวร่วง เพื่อตะได้แอบไปเก็บเมล็ดข้าวจากที่ดินของนายจ้างในตอนกลางคืน เป็นต้น การต่อสู้เหล่านี้คืออาวุธของคนจนคนไร้อำนาจ ที่มีเพียงร่างกายในการต่อสู้.. คำถามสำคัญในปัจจุบันคือ ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อการล่มสลายของระบอบการปกครองที่ดูเลวร้ายตลอดช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์? พวกเขา(คนตัวเล็กคนน้อย ไร้อำนาจ) ล้วนเป็น “ผู้กล้าหาญ” (brave) และเป็นผู้เห็นต่างที่มีจำนวนไม่มากที่สามารถพบได้ในทุกระบบการเมือง พวกเขาอาจจะต่อต้านอย่างเปิดเผย ขณะเดียวกันการเปิดเผยก็เสี่ยงอันตรายต่อตนเอง บ่อยครั้งถึงชีวิตด้วยซ้ำ แต่พวกเขาต้องต่อสู้ เพราะพวกเขาเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตอยู่กับคำโกหก ปลิ้นปล้อนของชนชั้นปกครอง ? หรือพวกเขาค่อนข้างจะทำตัวเหมือน "คนขี้ขลาด"( cowards) หรือแกล้งที่จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้ต่อต้านกับผู้ทีอำนาจมากกว่าโดยที่ตัวเองไม่ต้องเสี่ยง พลเมืองหลายล้านคนที่อยากจะต่อต้าน แม้จะไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงชีวิตแต่กลับมีส่วนร่วมในการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวันแต่มีสติอย่างเต็มที่ นี่คือข้อสะท้อนของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน เจมส์ สก็อตต์ ในทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับ "อาวุธของผู้อ่อนแอ" ซึ่งสะท่อนสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของความคิดของเขา นั่นคือวัฒนธรรมของการต่อต้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจทุกๆวันของชีวิตประจำวันมนุษย์ทั่วไป ตัวอย่างที่ขวนวิเคราะห์ คือ เรื่องของ การหัวเราะหรือการพูดเรื่องลามก เรื่องเพศหรือ สิ่งที่ตลกขบขันเท่ากับการรักษาบำบัดความตึงเครียด (Healing) การหัวเราะหรือการใช้คำพูดลามก การพูดเรื่องเพศซึ่งเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน คือการล้อเลียนเสียดสีทางการเมือง การเมืองของรัฐศีลธรรม รัฐที่พยามบอกว่าเราคือประชาธิปไตย ผมนึกถึงงานของ Hans Speier ชื่อ Wit and Politics: An Essay on Laughter and Power หรือชื่อแปลเป็นไทยว่าไหวพริบและการการเมือง : ความเรียงว่าด้วยการหัวเราะและอำนาจ ได้จัดแบ่งประเภทของการหัวเราะหรือตลกขบขันออกเป็นประเภทต่างๆ ทั้งในเรื่องการหัวเราะเท่ากับการรักษาบำบัดความตึงเครียด (Healing) การหัวเราะคือการล้อเลียนเสียดสีทางการเมือง การหัวเราะเป็นการใช้สติปัญญาหรือไหวพริบ การหัวเราะเป็นการขบถ เป็นต้น รวมทั้งการมองว่าการหัวเราะไม่ได้หมายถึงการที่เรามีชัยชนะเหนือคนอื่น แต่การหัวเราะเป็นเครื่องหมายของการชนะตัวเราเอง การเอาชนะต่ออดีต เป็นเสมือนการท้าทายตัวเอง ทำไมการหัวเราะมันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม การหัวเราะถูกเชื่อมโยงกับกาละและเทศะ (พื้นที่และเวลา) การหัวเราะเชื่อมโยงกับบุคคลและสถานภาพของบุคคล การหัวเราะแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะการหัวเราะกลายเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะความซีเรียส เคร่งขรึมจริงจังกับความไร้สาระหรือไม่จริงจังของมนุษย์ เช่นเดียวกับการหัวเราะ การพูดเรื่องลามก เรื่องเพศ เป็นรูปแบบของการใช้สติปัญญาหรือไหวพริบ ในการตอบโต้กับบางสิ่งบางอย่าง บางครั้งใช้ตอบโต้กับการถูกกดขี่ ควบคุม เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย ความตึงเครียดในทางสังคม สิ่งเหล่านี้คือรูปแบบของการนอกกรอบ ชวนให้ถกคิด ตั้งคำถาม หรือการขบถต่อบางสิ่ง เป็นต้น หากจะถามต่อว่า ทำไมสิ่งดังกล่าวข้างต้น มันกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะมันถูกเชื่อมโยงกับกาละและเทศะ (พื้นที่และเวลา) มันถูกเชื่อมโยงกับบุคคลและสถานภาพของบุคคล เช่น คนรวย คนมีการศึกษา ผู้ดี ไพร่ คนจน คนไร้การศึกษาหรือแม้แต่ความเป็นคนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง แน่นอนว่า เพราะการใช้ภาษาที่ง่าย ตรงไปตรงมาของคนทั่วไป ไม่ใช่ภาษากวีหรือวิชาการที่สวยหรูที่ใช้เปรียบเปรยอัปมาอุปมัย เข่น การใช้แท่งหยก แทนอวัยวะเพศชาย หรือวงแหวนมังกร แทนอวัยวะผู้หญิง ที่ปรากฏในคัมภีร์เต๋า หรือในใช้ลึงค์ กับโยนี ที่แทนเทพผู้ชายผู้หญิงอันศักดิ์สิทธิ์ นี่ยังไม่นับคำเรียกอวัยวะของการสืบพันธุ์ที่หลากหลายในหลายวัฒนธรรม ทั้งไส้กรอก มะเขือ กุนเชียง ปลาชะโด หอยกาบ หอยเป๋าฮื้อ หรือการเรียกอัณฑะ ทั้งลูกนัท (อังกฤษ) พวงไข่ (ไทย) อโวคาโด (เม็กซิกัน) …มันคือเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมที่เฉพาะ การแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะการหัวเราะ การพูดเรื่องลามก เรื่องเพศ การพูดหยาบคาย ได้กลายเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะแบบแผนของมาารยาทที่ถูกกำหนด บ่อนเซาะรัฐแห่งศีลธรรมที่ต้องสร้างความสะอาด ความบริสุทธิ์ กลายเป็นสิ่งที่บ่อนเซาะกับความซีเรียส เคร่งขรึมจริงจัง ในสิ่งที่ถูกมองว่าคือความไร้สาระหรือไม่จริงจังของมนุษย์ ทั้งที่มันเป็นด้านธรรมขาติของมนุษย์ กิน ขี้ ปี้ นอน..ดังนั้นการซุกซ่อนของสิ่งเหล่านี้ในพิ้นที่ทางสังคม รายการทีวีรอบดึก ช่องทางออนไลน์ที่ควบคุมไม่ได้ นิทาน ภาพยตร์ เพลง และอื่นๆ ล้วนสะท้อนความปรารถนาที่อยู่ภายในของมนุษย์ ดังนั้น ระบบทุนนิยมและโลกสมัยใหม่ไม่ชอบให้มีการหัวเราะ พูดเรื่องเพศ หรือแสดงออกซึ่งสิ่งลามกมากเกินไป เพราะเวลาของการทำสิ่งเหล่านี้ ควรจะต้องถูกนำมาใช้ในการทำงานสร้างผลผลิตในทางเศรษฐกิจมากกว่า …ทั้งที่ในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้มันสามารถทำให้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมความบันเทิงได้เข่นเดียวกัน หากเราลองมองย้อนกลับไปดูในยุคกลางของตะวันตก ในหนังสือเรื่อง Carnival ของมิคาเอล บัคติน นักภาษาศาสตร์ชาวรัสเซีย คำว่าคาร์นิวัล (Carnival) ของบักตินคือการล้อเลียน ลักษณะกลับหัวกลับหาง หรือการกระทำอะไรก็ตามที่ตรงกันข้ามกับระเบียบของศาสนา เป็นการปลดปล่อยมนุษย์เพียงชั่วคราวในงานพิธีกรรม ก่อนที่ระเบียบที่เคร่งครัดจะกลับมา ที่ได้เชื่อมโยงให้เห็นบทสนทนาของการตอบโต้กับความเคร่งเครียดของคริสต์ศาสนากับพื้นที่ของการระบายของชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ในช่วงยุคกลาง งานคาร์นิวัลจึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นการระบายความอัดอั้นอันมากล้นของมนุษย์ที่ถูกกดขี่โดยคริสต์จักร ทั้งการดื่มกิน เต้น ถ่มน้ำลาย พูดหยาบคาย หัวเราะขบขัน เยาะเย้ยถากถางกัน แสดงออกเรื่องเพศกัน การตด การเรอ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็เป็นการแต่งตัว การสร้างหุ่นขนาดมหึมาตัวอ้วนกลมในขบวนแห่หรือขบวนพาเหรด ที่ทำให้เห็นความต้องการที่มากมาย ล้นเหลือของมนุษย์ ในอีกด้านหนึ่งผมมองว่า Carnival ของบักติน ไม่ใช่แค่การดำรงอยู่แบบชั่วคราวของเสรีภาพที่จะต้องกลับมาสู่ระเบียบหลังงานคาร์นิวัลสิ้นสุด แต่มันได้สร้างสภาวะของการกลายเป็น (Becoming) ที่วิถีชีวิต การมองโลก สิ่งที่เป็นเสรีภาพที่แท้จริงจะเข้ามาแทนที่สิ่งที่เป็นอยู่เดิม ภาวะของการหัวเราะ การล้อเลียนเสียดสี การพูดเริ่องเพศ เรื่องลามกที่เกิดขึ้นที่นำไปสู่ความหมายใหม่ๆ ผมนึกถึงงานวรรณกรรมแนวล้อเลียนเสียดสี ที่ใช้การล้อเลียนเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ หรือมีเรื่องเพศซุกซ่อนอยู่ เช่น นิทานก้อมหรือนิทานขนาดสั้นของอีสาน ที่เป็นเรื่องเพศที่ไร้กรอบ ลูกเขยแม่ยาย คนแก่กับเด็ก พ่อผัวลูกสะใภ้เป็นต้น หรือมรสพพื้นบ้านอย่างหมอลำ ที่มีการดึงเอาเรื่องเพศมาใช้ในกลอนลำ เนื้อเพลง หรือการสอย ให้ทั้งหมอลำ หางเครื่อง นักดนตรี หมอแคน รวมถึงผู้ชม ปลดปล่อยจินตนาการทางเพศของตัวเอง และระบายเสรีภาพของตัวเองที่ถูกกฏเกณฑ์ทางสังคมควบคุม แม้จะชั่วคราวก็ตาม ซึ่งเราพบเห็นได้ในพิธีกรรมของชาวอีสานที่มีเรื่องเพศ ที่เป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณืเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งตุ๊กตาบักแด่น ตุ๊กตาร่วมเพศ ปลัดขิก ในบุญบั้งไฟ ผีตาโขน สิ่งเหล่านี้คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้เรื่องเพศโดยทางอ้อม รวมทั้งระบายความตึงเครียด..และเมื่อเสร็จพิธีกรรมก็กลับเข้าสู่ภาวะสังคมปกติ ...ผมชอบงานของบัคตินซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากงานคนซิ่งอีสาน ร่างกายอัตลักษณ์และกามรมณ์ที่ผมเป็นผู้ช่วยวิจัย อ.ดร.พัฒนา กิติอาษาและอ.สุริยา สมุทคุปติ์ งานของบัคตินเป็นสิ่งที่ขยายพรมแดนทางความคิด มุมมองของมนุษย์ต่อตัวเอง โลกและจักรวาลที่จะนำไปสู่คุณค่าใหม่และการเรียนรู้ของมนุษย์ การมองปรากฏการณ์อย่างเข้าใจ เข้าบริบท เข้าใจคน และไม่มีอคติหรือความเกลียดชัง ใช้สิ่งเหล่านี้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง มองอย่างรอบด้าน มองอย่างเข้าใจความแตกต่างมากกว่าจะตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่มันมีเหตุผลเบื้องหลังที่แตกต่างกันอย่างไร ผมยังเชื่อในวิจารณญาณของแต่ละบุคคล

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...