ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความคิดเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณของนักปรัชญากรีกและตะวันตกสมัยใหม่คนสำคัญ



1.5 ความคิดเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณของนักปรัชญากรีกและตะวันตกสมัยใหม่คนสำคัญ
การถกถียงกันของนักปรัชญาในยุคทางปัญญาของกรีก เป็นการถกถียงในประเด็นปรัชญาเรื่องของความรู้ ว่า ความรู้ของคนเรามีจริงหรือไม่?  เช่น เฮราดิตุส (Heraditus) สอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้น แล้วเราจะยึดถืออะไรเป็นความรู้ที่คงที่ได้ ในขณะเดียวกันไพทรากอรัสก็สอนเรื่องสัดส่วนต่างๆ ว่ามีความสำคัญมากกว่าเนื้อธาตุ  ทำให้นักปรัชญากรีกหลายคนพยายามหาคำตอบของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเพลโต(Plato)และอะคาเดมี่ (Academy) เป็นลูกศิษย์ของโสเครตีส และทำให้โลกรู้จักโสเครตีสเกี่ยวกับงานและความคิดของโสเครตีสที่เขาบันทึกไว้   ได้เสนอว่า ความรู้ที่แท้จริงนั้นเรามีได้ แต่ไม่ใช่ความรู้สามัญที่มาจากความจัดเจน เชี่ยวชาญ (Experience) ซึ่งได้มาจากผัสสะ หากแต่ว่าเป็นความรู้ที่อยู่เหนือผัสสะ ที่เพลโตเรียกว่า แม่พิมพ์ หรือรูปแบบสมบูรณ์  (Forms) ซึ่งในความหมายนี้ก็คือ ความรู้ในรูปสมบูรณ์ (Knowledge of Form)
ดังนั้นเพลโตเชื่อในรูปที่สมบูรณ์และไม่เปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงแท้จริงแล้วต่ำกว่า และเป็นเพียงรูปเสมือนที่ใกล้เคียง กับรูปสมบูรณ์เท่านั้น เช่นดอกกุหลาบที่เปลี่ยนผ่านจากสภาวะดอกตูมไปสู่ดอกบาน จากตุ่มเล็กๆสีเขียวใบไม้ จนกระทั่งแย้มบานออกเป็นสีแดง หรือขาวเต็มที่ ต่อมาก็เหี่ยวเฉาร่วงโรย อย่างนี้ เพลโตตั้งคำถามว่า อะไรที่เรียกว่าดอกกุหลาบ  คนทั่วไปย่อมถือว่าดอกกุหลาบคือดอกที่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว บานเต็มที่  นั่นก็คือ รูปแบบ (Form) ของมัน เวลามัยตูมเราเรียกว่ากุหลาบตูม เวลาบานเราก็เรียกว่า กุหลาบธรรมดา เวลาร่วงโรยก็เรียกกุหลาบโรยหรือกุหลาบแห้ง ดังนั้นมโนภาพหรือความรู้เกี่ยวกับกุหลาบ ก็คือกุหลาบบาน เป็นมาตรฐานรูปแบบที่สมบูรณ์ตามแบบเพลโต
เพลโตปฏิเสธว่า สรรพสิ่งที่เราประจักษ์ต่อสายตาตนเองหรือการรับรู้ทางผัสสะ ล้วนเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น แต่รูปสมบูรณ์ของมัน คือ ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ ความรู้ในความสมบูรณ์ของมัน ดังเช่น ความรู้เกี่ยวกับกุหลาบและความเป็นกุหลาบซึ่งเป็นความสมบูรณ์ทางรูปธรรม ความงดงามของดอกกุหลาบก็คือ ความสมบูรณ์ทางนามธรรม เช่นเดียวกับศีลธรรมจรรยา
โลกจึงมีสองส่วนที่เชื่อมกันทั้งหมด คือรูปธรรมและนามธรรม ความคิดกับวัตถุสสาร เช่นเดียวกับที่ เพลโต เชื่อว่า วิญญาณ (Soul หรือPsyche)[1] ในร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ให้ชีวิต และบัญชาให้มองดู  รับรู้ และตั้งเจตจำนง ดังนั้นวิญญาณ จึงมีสามระดับ คือ1.ระดับของเหตุผล หรือระดับการรู้เหตุผล 2.ระดับอารมณ์ หรือระดับที่กล้าหาญ แกล้วกล้า  และ3.ระดับที่เป็นไปตามความต้องการของร่างกาย ระดับการเกิดความรักใคร่ ซึ่งตั้งอยู่บนส่วนต่างๆของร่างกายตามลำดับคือ ศีรษะ หัวใจ และท้อง[2]
วิญญาณที่มีความยุติธรรมก็จะต้องมีทั้งสามส่วนนี้สมดุลกัน  แต่ละส่วนมีหน้าที่และเชื่อฟัง ในส่วนที่ควบคุมเหนือขึ้นไป ได้แก่เหตุผล  เหตุผลจึงเป็นผู้ปกครองอารมณ์ และอารมณ์ก็เป็นส่วนช่วยในการกระทำที่มีเหตุผล เป็นผู้ส่ง ถ้าส่วนที่อยู่ภายใต้เหตุผล มีอิทธิพลอยู่เหนือจิตวิญญาณ มนุษย์ก็จะอ่อนแอ และขาดความสมดุลไปในที่สุด ปรัชญาเรื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับแนวความคิดว่าด้วยรัฐ ของโสเครตีส ในความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวรัฐ เราจำเป็นต้องดูรูปแบบความสัมพันธ์ของวิญญาณและรัฐร่วมกัน ในแง่นี้รัฐ หรือ Polity คือ วิญญาณในวงกว้างและคนในรัฐคือส่วนย่อยในวงแคบ เนื่องจากวิญญาณที่สมบูรณ์ยุติธรรม ย่อมปกครองด้วยเหตุผล เช่นเดียวกับแบบที่อมตะ เป็นที่มาของความรู้ และมีแบบอย่างของความดีงามสูงสุด ดังนั้นวิญญาณที่เรียนรู้ย่อมมีการดำรงอยู่ที่ดี คือ การไตร่ตรองในรูปแบบของความดี (Form of the God)
ดังนั้นวิญญาณในระดับของเหตุผลเท่านั้นจึงจะเป็นวิญญาณอันอมตะ  ที่มีเจตจำนงอย่างอิสระ และเป็นรูปแบบสมบูรณ์ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้น การซ้อนทับกันของโลกแห่งรูปและโลกของเรา ซึ่งในโลกแห่งรูป บรรดารูปสมบูรณ์และนามธรรม  อันไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหลายจะอยู่ร่วมกันกับวิญญาณอมฤตของมนุษย์ ผู้ใดได้เข้าไปอยู่ในโลกแห่งรูปสมบูรณ์นั้น จะประสบความนิรันดร์ แห่งสรรพสิ่งทั้งปวงและจะเป็นสุขสมบูรณ์ การที่ในชาตินี้ คนเราเห็นสรรพสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป แต่รู้ว่ามันมีรูปสมบูรณ์ที่คงกระพันนั้น เพลโตว่าเนื่องจากชาติก่อนๆ เราเคยอยู่ในรูปแห่งรูปสมบูรณ์มาแล้ว นี่เป็นข้อคิดเกี่ยวกับการระลึกชาติของพวกกรีกอย่างในพระพุทธศาสนา แต่ในกรีกไม่ได้มีการระบุเรื่องเกี่ยวกับกรรมของส่วนบุคคลแต่อย่างใด
โซเครตีส (Socretes) มีข้อคิดเกี่ยวกับเรื่อวิญญาณ (Soul) ของมนุษย์ว่า
วิญญาณเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดชีวิตและเป็นลมปราณซึ่งเกิดขึ้นเองและเป็นอมฤต ดังคำสอนของโซเครตีสที่เคยให้ไว้กับชาวเอเธนส์ให้ ระวังรักษาจิตวิญญาณของตนเอง ซึ่งวิญญาณในทัศนะของโซเครตีสนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ (Divine) ซึ่งผูกพันกับส่วนของมนุษย์ที่เป็นอมตะ วิญญาณเป็นที่ตั้งของบุคลิกลักษณะ(Character) และความรู้ (Knowledge)ของมนุษย์ ดังเช่นที่ศาสตราจารย์ A.T. Tylor กล่าวว่า ตามคำสอนของโสเครตีสแล้ว วิญญาณของคนคือ ตัวคนนั้นเอง ต่อมาภายหลังจึงมีความเชื่อว่า วิญญาณคือสิ่งที่ซึ่งอาศัยร่าง
แนวคิดของอริสโตเติล ซึ่งมีพ่อเป็นนายแพทย์ของพระเจ้าฟิลิปแห่งรัฐ Macedonia ต่อมาเขาได้กลายป็นอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แม้ว่าอริสโตเติลเคยเข้าไปเป็นศิษย์ของเพลโตที่อะคาเดมีก็ตาม แต่แนวความคิดทางปรัชญาของเขาทั้งสองคนก็มีความแตกต่างกันมาก
ในเรื่องของผัสสะ เพลโตมองว่า ผัสสะลวงตาเราแต่ความคิดได้ให้ความจริงแก่เรา และเราสามารถเอาความรู้เหล่านี้ไปขยายเป็นความคิดอื่นๆได้ ในขณะที่อริสโตเติล วิจารณ์ความคิดเรื่องรูปสมบูรณ์ของเพลโต เขามองว่ามันเป็นเสมือนจินตนาการ หาได้มีอยู่จริงไม่ เขาเชื่อในความมีอยู่ของแต่ละสิ่ง  เมื่อเพลโตพูดถึงเรื่องกุหลาบดอกหนึ่ง  ว่ารูปสมบุรร์ของดอกกุหลาบมีอยุ่จริง แต่ดอกกุหลาบดอกหนึ่งมีอยู่ไม่จริงนั้น อริสโตเติล แย้งว่า ดอกกุหลาบดอกหนึ่งเป็นของจริง ส่วนรูปสมบูรณ์ของมันนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นจินตนาการหรือความฝันเท่านั้น
จากวิวาทะหรือข้อถกเถียงทางปรัชญาดังกล่าว นำไปสู่คู่ของความขัดแย้งทางปรัชญาในยุคปัจจุบันหลายประเด็น ทั้งแนวความคิดเรื่องสสารนิยม (Materialism) กับจิตนิยม (Idealism) และแนวคิดเรื่องของร่างกาย (Body ) กับจิต (Soul) โดยเฉพาะการแยกระหว่างร่างกายกับจิตของนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่อย่าง เคอเน่ เดคาร์ต (Rene Decart) ที่ให้ความสำคัญของมนุษย์ที่รู้ได้เอง คิดได้เอง เพราะมนุษย์คิดได้จึงทำให้มีตัวมนุษย์ หาใช่ความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า พระวจนะของพระเจ้า หรือเจตจำนงของพระเจ้าแต่อย่างใด
แต่ในประเด็นเรื่องของจิตวิญญาณ แนวความคิดของกรีกในยุคนั้นก็ก้ำกึ่งกันระหว่างความเชื่อแบบสสารนิยม กับจิตนิยม และมีความโน้มเอียงไปในทางชีวิตนิยม (Hylozoism) ที่เชื่อว่า มีชีวิตที่ใดก็มีวิญญาณที่นั่น วิญญาณทำให้สิ่งมีชีวิตแสดงออกมาซึ่งกัมมันตภาพหรือกิจกรรม (Activity) วิญญาณของมนุษย์ซึ่งรู้คิด มีเหตุผล เป็นวิญญาณขั้นสูงสุดของชีวิต ในความเห็นของอริสโตเติล ก็ยังมองว่า พืชก็มีวิญญาณเช่นกัน นักปรัชญาทั้งสองท่านนี้ จึงไม่ใช่พวก ทวิลักษณ์นิยม (Dualist) ที่มองว่า ร่างกายกับวิญญาณเป็นคนละสิ่งกัน แต่พวกเขามองว่า เป็นสิ่งเดียวกัน โดยเชื่อว่านามรูปของพระเจ้า วิญญาณของมนุษย์ก็ต้องอยู่ในร่างมนุษย์ จะอยู่ในร่างสัตว์ไม่ได้ และวิญญาณจะตั้งอยู่เป็นเอกเทศโดยตัวเองไม่ได้ ซึ่งแนวความคิดของอริสโตเติลก็คล้ายๆกับนิพพานทางพระพุทธศาสนา  หรือนิรวาณของพราหมณ์  ว่า ธาตุอันสูงส่งในวิญญาณของมนุษย์อันก่อให้เกิดการระลึกเหตุและผลนั้นมาจากภายนอก แล้วเข้าไปภายใน ธาตุนี้จะยังคงอยู่หลังจากร่างกายดับขันธ์ไปแล้ว แล้วจะอยู่ในสภาพเป็นบุคคล หรือไปรวมกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น แต่อริสโตเติลไม่ได้กล่าวไว้ตรงๆ เช่นเดียวกับเพลโต ที่เชื่อว่า สรรพสิ่งมีทั้งรูป(โครงสร้าง)และเนื้อ ของสิ่งเดียวกันต้องมีทั้งรูปและเนื้อตรงกัน เช่น แจกันและเชิงเทียนทำจากทองเหมือนกัน หากผิดรูปหรือรูปผิดกันก็เป็นของสองสิ่ง  รูปและเนื้อนี้แยกออกจากกันไม่ได้ คือ ไม่มีเนื้อที่ไร้รูป และไม่มีรูปที่ไร้เนื้อ แต่อาจมีรูปที่เนื้อคนละอย่าง หรืออาจมีเนื้อคนละรูป เป็นต้น


[1] บางที่แยกออกเป็น จิตวิญญาณที่เป็นลมหายใจ Breath-Soul หรือ Psyche กับ จิตวิญญาณที่เป็นอมตะ  Immortal Soul หรือ Psyche
[2] แนวความคิดนี้ได้มาจากโสเครตีส ที่มองรูปแบบของวิญญาณที่แตกต่างกัน ไม่ได้เหมือนกัน เขาอาศัยแนวคิดของไพทากอเรียนในตอนแรก โดยมองว่าชีวิตมีสามรูปแบบ ดังเช่นองค์ประกอบที่ปรากฏในการดูการละเล่นที่วิหารเดลฟี  ซึ่งมีผู้ดู ผู้เล่น และมีคนซื้อขายของ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...