ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ผังเมืองกับการจัดการพื้นที่บนฐานของความจริง?(3)

เกลือกับคนอุดรธานี

ประวัติศาสตร์เมืองอุดรธานี มีความสัมพันธ์กับเกลือมาอย่างช้านาน เกลือสำหรับคนอุดรธานีจึงมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับคนอีสานในพื้นที่อื่นๆ เช่น วัฒนธรรมการผลิตเกลือสินเธาว์ในแถบลุ่มน้ำชี บริเวณหนองหานน้อยหรือหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หรือแถบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตอีสานตอนล่าง บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่ที่เรียกว่า อาณาจักรเกลือ เมื่อประมาณ 2,500 ปี แต่ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีความสำคัญในระดับประเทศและระดับโลก แม้ว่าบริเวณนี้ในอดีตจะเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมสายปลาแดกและเส้นทางการค้าขายเกลือในภูมิภาคนี้  ระหว่างที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรต่ำ  ความสัมพันธ์ของคนไทย ลาวและเขมร  ความอุดมสมบูรณ์ของปลาจากทะเลสาบเขมร และเกลือสินเธาว์ที่ผลิตอย่างมหาศาลในแถบทุ่งกุลาร้องไห้  ที่มาเชื่อมโยงกันกับวิถีการผลิตปลาร้า การถนอมอาหารและวัฒนธรรมการค้าขายแลกเปลี่ยนของคนในภูมิภาคนี้
ในความเป็นจริงแล้ว การค้นพบว่าอุดรธานี เป็นแหล่งแร่โพแทชและเกลือหิน  ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มต้นปรากฏมาเมื่อ30-40 ปีเท่านั้น ดังที่ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนว่ากรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจ เมื่อปีพ.ศ.2516 แต่ลักษณะมิติทางกายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของอุดรธานีเป็นพื้นที่ที่ถูกจ้องมองจากศูนย์กลางทางอำนาจ ว่าเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะเกลือดังที่ได้มีการบันทึกไว้ เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการและประพาสหัวเมืองในแถบมณฑลอีสาน  ได้ทรงบันทึกถึงสภาพพื้นที่ การประกอบอาชีพ การผลิตและลักษณะของกลุ่มคนที่อาศัยตามหัวเมืองที่เสด็จผ่านไว้ ดังตัวอย่างบางตอนว่า

กล่าวถึงเมืองกุมภวาปี ที่ตลอดการเดินทางจากกุดหว้า บ้านห้วยเสือเต้น ถึงเขตเมืองกุมภวาปี ต.ห้วยกองสี ห้วยดงปะโค และผ่านมาพบหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า หนองหานที่บริเวณของกลางหนองหาน จะมีทุ่งเนินเล็กๆ ที่ชาวบ้านปล่อยโคกระบือและม้าออกมากินหญ้า มีชาวบ้านมาตั้งเพิงหาปลาอยู่รอบ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางรอบหนองหานประมาณ2 วัน และมีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว มีเกาะอยู่กลางหนองเรียกว่าเกาะดอนแก้ว น้ำหนองหาร ไหลลงลำปาวและลำชี...เวลาเก้าโมงครึ่งถึงหนองขอนกว้างระยะทาง200เส้น มีที่พักร้อนสักครู่หนึ่งแล้วเดินไปตามทางซึ่งมีนาข้าวและนาเกลือไปจนถึง ต.ห้วยโซ....(ในเขตจังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน) ...มณฑลได้ตัดถนนตั้งแต่หลังที่ว่าการไปจนถึงหนองนาเกลือเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง  และเมื่อรื้อที่ว่าการอำเภอบัดนี้ไปตั้งบนเนินใกล้หนองนาเกลือตามความตกลงใหม่ ถนนสายนี้จะบรรจบกับถนนเก่าเป็นถนนยาว...หนองนาเกลือเป็นหนองน้ำใหญ่ เพราะบัดนี้คล้ายทุ่งสร้างเมืองขอนแก่นขนานนามว่า หนองประจักษ์...”

หนองนาเกลือหรือหนองประจักษ์ ในอดีตเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ต้มเกลือ ปัจจุบันชาวบ้านได้เลิกต้มไปนานแล้วและหนองประจักษ์ก็กลายเป็นสวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน ความสำคัญของเกลือสินเธาว์ที่นี่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เมืองอุดรธานีได้ยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน ดังหลักฐานที่ปรากฏในบันทึกของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้บัญชาการมณฑลลาวพวนในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี  และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมกองทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย ได้มีจดหมายไปถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น  เมื่อวันที่ 2 มกราคม         ร.ศ. 113 ในเรื่องของการขอย้ายที่พักจากหนองคายมาตั้งอยู่ที่บ้านเดื่อหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี จนนำไปสู่การยกฐานะของบ้านหมากแข้งมาเป็นเมืองอุดรธานี เมื่อปีพ.ศ. 2450  ดังใจความตามจดหมายที่ปรากฏบางตอนว่า
...ที่นี่ ที่พระพุทธเจ้าสังเกตดูตามปัญญาที่คิดเห็นว่าจะดีกว่าที่อื่นด้วยเป็นที่ที่มีเกลือมาก จนคนที่อยู่ที่นั้น ถ้าเป็นคนที่มัธยัสถ์ ถึงไม่ซื้อเกลือรับพระราชทาน ออกไปหลังบ้านเก็บเอาส่า มาทำให้สะอาดแล้วต้มขึ้นมาก็ไม่ต้องซื้อ และสังเกตดูว่าการที่คนผิดน้ำไม่มีและตั้งแต่หนาวมานี้ไข้เรื้อรังก็ดูหายไปมาก
เกลือจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินที่มีความสำคัญสำหรับคนอุดรธานี และคนภาคอีสาน มาตั้งแต่อดีต  ดังจะเห็นได้จากพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ที่มีการทำเกลืออยู่สองรูปแบบ คือแบบเกลือพื้นบ้านที่เป็นการผลิตเกลือตั้งแต่โบราณและกระทำอยู่แถบทุกจะพื้นที่ เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน แหล่งสำคัญเช่นหมู่บ้านบริเวณรอบหนองหานน้อย หรือหนองหานกุมภวาปี และแบบการผลิตเชิงพาณิชย์ ที่บ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกลือที่สำคัญในทางเศรษฐกิจของจังหวัด และเริ่มผลิตเมื่อ20 กว่าปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่สถานการณ์ของการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานนั้นเริ่มที่จะมีความซับซ้อนและปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในแง่ของการเข้ามาของนายทุนระดับประเทศ และบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ภายใต้โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งต้องการเข้ามาลงทุนในเชิงพาณิชย์และการสร้างอุตสาหกรรมของสิ่งที่เรียกว่าโพแทชและเกลือหินในพื้นที่แห่งนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...

Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Mode

(1)        อะไรคือ Biomedical Model และ Bio-Psycho-social Model ? แนวคิดแบบจำลองทางชีวะการแพทย์ ( Biomeaical Model ) เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์มีการพัฒนาอย่างเติบโตรวดเร็วและกว้างขวาง การค้นพบเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น แม้แต่สิ่งที่เล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์ รวมถึงเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วย แบบจำลองนี้ ดังนั้นแบบจำลองนี้เสนอว่า โรคหรือความผิดปกติทางกาย( Physiology )ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บ ความผิดปกติของพันธุกรรม ( Abnomal Genetics ) ความไม่สมดุลทางชีวะเคมี ( Biochemistry ) เรื่องของพยาธิวิทยา ( Pathology )   แบคทีเรีย หรือไวรัส หรือสิ่งอื่นๆที่คล้ายคลึงกันที่นำไปสู่การติดเชื้อและความเจ็บป่วยของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้อธิบายบทบาทของปัจจัยทางสังคม( The role of Social factors )หรือความคิดของปัจเจกบุคคล  ( Individual Subjectivity ) โดยแบบจำลองทางชีวะ...