ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มานุษยวิทยา สาระสำคัญ การศึกษา และความท้าทาย มองผ่าน Anthropology :Why It Matters ของTim Ingold โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

“Human life is not lived in isolation but in a constant negotiation with the environment and others.” ในปัจจุบัน มีคำสำคัญที่นักมานุษย์ชอบใช้และมักเอ่ยถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการผสมผสานกับสิ่งต่างๆ มากกว่าจะมองความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ และ ผลกระทบจากความทันสมัยและความก้าวหน้า รวมถึง เครื่องมือที่นักมานุษยวิทยาใช้ในการทำความเข้าใจคยามสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนั้น เช่น Relationality (ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม) Cultural Diversity (ความหลากหลายทางวัฒนธรรม) Sustainability (ความยั่งยืน) Progress and Development (ความก้าวหน้าและการพัฒนา) Holism (มุมมององค์รวมในมานุษยวิทยา) และEthnography (การศึกษาชาติพันธุ์ วรรณนา และการทำงานภาคสนาม) ผมนึกถึงหนังสือ Anthropology: Why It Matters (2018)ของ Tim Ingold มุ่งเน้นการสำรวจบทบาทและความสำคัญของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในโลกปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้เน้นให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “มานุษยวิทยา” (Anthropology) มีความสำคัญอย่างไรในการทำความเข้าใจมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในความสัมพันธ์ร่วมกับโลก หนังสือวิพากษ์แนวคิดที่มองมนุษย์แยกออกจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม และนำเสนอว่ามานุษยวิทยาคือการศึกษาชีวิตมนุษย์ในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับวัฒนธรรม สังคม และโลกธรรมชาติ แนวคิดหลักในหนังสือเล่มนี้ สามารถดึงอออกมาได้หลายแนวคิดและมุมมองที่น่าสนใจ ที่พอสรุปได้มาคือ 1. มานุษยวิทยาเป็นการตั้งคำถามต่อความ “ปกติ” (Questioning Norms) ซึ่ง Ingold ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาไม่ใช่การมองว่าโลกมีคำตอบแบบตายตัว แต่เป็นการตั้งคำถามต่อสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นปกติ เช่น ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และวิทยาศาสตร์ แนวคิดสำคัญที่เขาท้าทายนักมานุษยวิทยาคือมานุษยวิทยาท้าทายกรอบคิดเดิมเพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ ในสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น Ingold ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญของมานุษยวิทยาคือการช่วยให้เราเข้าใจและตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ในเชิงลึก ( “Anthropology matters because it challenges us to rethink what it means to be human.”) รวมทั้ง มานุษยวิทยามีหน้าที่ไม่ใช่เพื่อแปลโลกให้เข้าใจแบบง่ายหรือผิวเผิน แต่เพื่อเปิดเผยให้เห็นความซับซ้อนที่แท้จริงของโลกต่างหาก นี่คือหน้าที่ของนักมานุษยวิทยา ( “The task of anthropology is not to simplify the world but to reveal its complexity.”) 2. การทำความเข้าใจโลกผ่านความสัมพันธ์ (Relationality) ซึ่ง Ingold เสนอว่ามนุษย์ไม่สามารถแยกออกจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมได้ ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และมนุษย์ด้วยกันเองจึงเป็นหัวใจของมานุษยวิทยา ดังนั้นเราจึงควรมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และโลกธรรมชาติไม่ใช่แยกส่วนแบบโดดๆ แก่นสำคัญของมานุษยวิทยาที่ว่า มนุษย์ดำรงชีวิตในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัวเสมอ ดังนั้นมานุษยวิทยาจึงไม่ใช่ศาสตร์ของการวิเคราะห์เชิงปรัชญาในเชิงทฤษฎี แต่เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริงของผู้คน โดยมีความสำคัญในฐานะศาสตร์ที่มองมนุษย์ในความสัมพันธ์กับโลก (“Anthropology is philosophy with the people in“) Ingold ท้าทายแนวคิดแบบดั้งเดิมที่มองว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัว โดยชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมคือกระบวนการที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(“What we call culture is not a thing but a process of life.”) 3. การเรียนรู้จากผู้อื่น (Learning from Others) มานุษยวิทยาเป็นการเรียนรู้จากการใช้ชีวิตและการฟังเสียงของผู้อื่น โดยเฉพาะจากชุมชนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากเรา แนวคิดสำคัญของเขาก็คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองระหว่างวัฒนธรรม จุดมุ่งหมายของมานุษยวิทยาที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์อื่นๆ โดยนักมานุษยวิทยาไม่ได้เพียงสังเกตหรือวิจัยผู้คน แต่เปิดใจเรียนรู้จากพวกเขา (“The anthropologist does not study people but learns from them.”) 4. มานุษยวิทยาเพื่อโลกที่ดีขึ้น (Anthropology for a Better World) มานุษยวิทยามีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่โลกเผชิญ เช่น วิกฤตสิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ดังนั้นมานุษยวิทยาจึงอยู่ในฐานะเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมและความยั่งยืนให้กับ ผู้คน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในนิเวศทางสังคม วัฒนธรรม มุมมองของ Ingold เน้นว่ามานุษยวิทยาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจในความแตกต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็หาจุดร่วมเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน (“To think anthropologically is to engage with the world in a way that respects its diversity while seeking to find common ground.”) ผมชอบตัวอย่างเชิงรูปธรรมจากหนังสอเล่มนี้ หลายเรื่อง อาทิเช่น การตั้งคำถามต่อแนวคิดเรื่องความก้าวหน้า โดย Ingold ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้า (Progress) ที่มักถูกกำหนดโดยโลกตะวันตก เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจไม่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นบางแห่ง ตัวอย่างเช่นในชุมชนชนพื้นเมืองในอเมซอนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ต้องการการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบตะวันตก เพราะมันทำลายสมดุลของระบบนิเวศและวัฒนธรรมของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ Ingold ยกตัวอย่างว่าการมองธรรมชาติในฐานะ “ทรัพยากร” ที่สามารถใช้ได้ตามใจชอบ เป็นผลจากแนวคิดแบบแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ แต่ในหลายวัฒนธรรม เช่น ชนเผ่าในแถบอาร์กติก มองธรรมชาติในฐานะคู่ชีวิตที่ต้องดูแลและเคารพ ตัวอย่างเช่น นักล่าชาวอินูอิตที่มีพิธีกรรมก่อนการล่าสัตว์เพื่อแสดงความขอบคุณต่อสัตว์ที่พวกเขาล่า การเรียนรู้จากชุมชนที่แตกต่าง Ingold เน้นว่ามานุษยวิทยาไม่ได้ศึกษาเพื่อ “ตัดสิน” หรือ “เปรียบเทียบ” วัฒนธรรมหนึ่งกับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แต่เพื่อเรียนรู้ เช่น การทำความเข้าใจว่าทำไมบางชุมชนถึงมองความมั่งคั่งไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สิน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ตัวอย่างเช่น ในชุมชน Melanesian การแลกเปลี่ยนของขวัญไม่ได้แสดงถึงทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่เป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์และสถานะทางสังคม มานุษยวิทยากับประเด็นวิกฤตสิ่งแวดล้อม โดย Ingold เสนอว่ามานุษยวิทยาสามารถช่วยโลก ในการสร้างคยามเข้าใจว่ามนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ มีวิธีการปรับตัวและจัดการกับธรรมชาติอย่างไร เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนฃ ตัวอย่างเช่น ชาวเกาะในแปซิฟิกที่พัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรน้ำและอาหารเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ บทบาทของมานุษยวิทยาในโลกสมัยใหม่คือความท้าทาย โดย Tim Ingold เสนอว่ามานุษยวิทยาไม่ได้เป็นเพียงวิชาที่ศึกษาอดีตหรือวัฒนธรรมไกลตัว แต่เป็นวิธีคิดและมุมมองที่ช่วยแก้ปัญหาในโลกปัจจุบัน เช่น ความไม่เท่าเทียม วิกฤตสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังนั้นมนุษย์ควรเข้าใจตนเองและโลกผ่านความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงมากกว่าจะมองแบบแยกส่วน

ความคิดเห็น

  1. คิดและตั้งคำถามบ่อยๆเหมือนกันค่ะว่ามานุษยวิทยากำลังทำอะไรกันแน่ในโลกทุกวันนี้ เลยชอบบทความนี้มากเลย ว่าแต่ในเล่มนี้เขาได้พูดเรื่องการประยุกต์แนวทางการเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยาเข้ากับศาสตร์อื่น ๆ บ้างไหมคะ

    ตอบลบ
  2. ในหนังสือ “Anthropology: Why It Matters” ของ Tim Ingold ผู้เขียนได้กล่าวถึงมุมมองทางมานุษยวิทยาที่กว้างขวางและการพยายามเชื่อมโยงความเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยากับศาสตร์อื่นๆ อย่างชัดเจน Ingold ไม่เพียงแต่พูดถึงการทำความเข้าใจโลกแบบมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสนอให้มานุษยวิทยาเป็นเครื่องมือที่ช่วยรวมศาสตร์อื่นๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นร่วมสมัย

    Ingold ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในกรอบของสาขาวิชา แต่ควรมีบทบาทในการเชื่อมโยงความรู้จากหลากหลายศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

    Ingold เสนอให้เรามองมนุษย์ในฐานะผู้มีปฏิสัมพันธ์และมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติและโลกอย่างลึกซึ้ง เขาใช้แนวคิดจากสาขาต่างๆ เช่น ธรรมชาติวิทยาและปรัชญา เพื่ออธิบายวิธีที่มนุษย์ “เข้าไปอยู่ในโลก” แทนที่จะมองโลกจากภายนอก

    มานุษยวิทยาในฐานะการ “เรียนรู้กับ” ไม่ใช่แค่ “เรียนรู้จาก” Ingold เขาเสนอว่ามานุษยวิทยาไม่ควรมองเพียงแค่การศึกษา “มนุษย์อื่น” แต่ควรเป็นการมีส่วนร่วมในกระบวนการของการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนหรือกลุ่มต่างๆ

    ในหนังสื Ingold อภิปรายเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างมานุษยวิทยากับสาขาอื่น เช่น การออกแบบ (Design Anthropology) วิทยาศาสตร์ (Science and Anthropology) ศิลปะ (Art and Anthropology) ทั้งนี้เพื่อสร้างวิธีคิดใหม่ๆ และช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อน

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พิธีกรรม สัญลักษณ์ และ Victor Turner โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

  พิธีกรรมวิเคราะห์แบบ  Victor turner  ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก  Arnold Van Gennep  ที่มองภาวะภายในของจักรวาลที่ถูกจัดการให้มีลักษณะของการเปลี่ยนผ่านหมุนเวียนของช่วงเวลา  (Periodicity)  ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์   จะทำอะไร   จะปลูกอะไร   ชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนกับภาวะของธรรมชาติ   ทั้งตัวปัจเจกชนและกลุ่มสังคม ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์ไม่มีส่วนใดที่สามารถแยกขาดได้อย่างอิสระ   โดยพิธีกรรมดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น  3  ระยะคือ 1.rite of separation  หรือขั้นของการแยกตัว   ถือว่าเป็นส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัวเองจากสถานภาพเดิม   ผ่านพิธีกรรมที่ทำให้บริสุทธิ์  (purification rites)  เช่น   การโกนผม   การกรีดบนเนื้อตัวร่างกาย   รวมถึงการตัด   การสร้างรอยแผลเป็น   การขลิบ  (scarification or cutting)  ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง 2.rite of transition  เป็นส่วนของพิธีกรรมที่ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพ   โดยบุคคลที่ร่วมในพิธีกรรมจะมีก...

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...    ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่    หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน    สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..     การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..     ในสังคมตะวันตก อุดมคติเก...

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์

เฟอร์ดิน็องต์ เดอร์ โซซูร์ (1857-1923) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์ของพวกโครงสร้างนิยม   ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสัญวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ เลวี่ สเตร๊าท์ (Levi-Strauss) ชาร์ค ลากอง (Jacques Lacan) และ โรล็องต์ บาร์ธ (Roland Barthes) รวมถึง มิเชล ฟูโก้ (Micheal Foucault) ที่ได้กลับมาวางรางฐานและปฎิเสธเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ภายใต้ทิศทางใหม่ของหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ในคำบรรยายเริ่มแรกของเขาที่มหาวิทยาลัยเจนีวา ในช่วงปี 1906-1911 และการตีพิมพ์โครงร่างงานของเขาที่เขียนไว้ และคำบรรยายของเขาที่ลูกศิษย์ได้รวบรวมไว้ ภายหลังการมรณกรรมของเขาเมื่อปี 1915-1916   ภายใต้ชื่อ Course de linguistique   Generale ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในยุโรป ภายใต้ชื่อ Course in general linguistic ในปี 1960 เขาได้นำเสนอความคิดว่า การศึกษาภาษาศาสตร์ในปัจจุบัน สามารถศึกษาได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากอีมิล เดอร์ไคม์ (Emile D...