วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมือง
NAME OF THE PERSPECTIVE :  เศรษฐศาสตร์การเมือง (POLITICAL ECONOMY)
SUBJECT MATTER :   ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทุนนิยม (CAPITALIST RELATION) การขูดรีดชนชั้น (CLASS EXPLOITATION) การต่อสู้ดิ้นรนทางชนชั้น (CLASS STRUGGLE)  การแบ่งชนชั้น (CLASS DIVISION ) ความแปลกแยก (ALIENATION) โครงสร้างส่วนบน (SUPER- STRUCTURE) โครงสร้างส่วนล่าง (SUB-STRUCTURE)
LOGIC OF THINKING :
                เศรษฐศาสตร์การเมืองมีความเกี่ยวข้องกับวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ ที่ศึกษากฏเกณฑ์ของการผลิต(Production)และการแจกจ่าย(Distribution) วัตถุของความมั่งคั่งในสังคมทีมีความแตกต่างในระดับของการพัฒนาสังคมของมนุษย์ โดยพื้นฐานของวิถีชีวิตทางสังคมคือการผลิตสิ่งของ (Material Production) เนื่องจากมนุษย์ต้องการอาหาร เสื้อผ้าและสิ่งของอื่นๆในการดำรงชีวิต ความต้องการเหล่านี้ทำให้มนุษย์ต้องทำการผลิตและจำเป็นต้องทำงาน ดังนั้น แรงงานจึงเป็นกิจกรรมของสังคมมนุษย์ (Labor is an activity of socail man) ดังนั้นกำลังในการผลิต (labour power) คือความสามารถของมนุษย์ในการทำงาน คือผลรวมของพลังทางสรีระทางกายภาพ(Physical)และจิตวิญาณ (Spiritual)ของมนุษย์ที่ซึ่งพวกเขาสามารถผลิตวัตถุแห่งความมั่งคั่ง (C.P.Dutt and Andrew Rothstein ,1957:1)
เศรษฐศาสตร์การเมืองเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการตอบสนองความต้องการของประชาชนว่า มีความต้องการแบบไหน ระบบการผลิตและการแจกจ่ายเป็นอย่างไรในการตอบสนองความต้องการดังกล่าว ความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์ กับเศรษฐศาสตร์การเมืองมีความน่าสนใจ คือ เศรษฐศาสตร์(Economics) ในรากศัพท์ของกรีกหมายถึงการจัดการเศรษฐกิจของครัวเรือน ในขณะที่เศรษฐศาสตร์การเมืองหมายถึงการจัดการปัญหาเศรษฐกิจของรัฐ ดังนั้นในสมัยก่อนจะเป็นการสนองความต้องการที่เป็นเรื่องของครอบครัวและเครือญาติในวงแคบ ในขณะที่ปัจจุบันเป็นเรื่องของคนในวงกว้างขี้นมี ความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลมากมายหลากหลายกลุ่มและเป็นเรื่องของการเมือง ในแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ มองว่ากระบวนการพัฒนาระบบทุนนิยม พลังทางการเมืองมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงมูลค่าส่วนเกิน โดยมารกซ์วิพากษ์ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบตลาดซึ่งเป็นระบบที่สร้างปัญหาให้กับสังคม และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือทรัพย์สมบัติ
 แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมีรากฐานมาจากความคิดของสำนักมาร์กซิสต์ (Marxism) คือ  Karl Mark และ Friedrich Engels มองว่าการจัดแบ่งชนชั้น (Class divisions) เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์  โดยมาร์กซ์ใช้วิธีการที่เรียกว่า วัตถุนิยมวิพากษ์วิธี (Dialectical Materialism) ในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของเขา  มาร์กซ์มองว่า สังคมที่เราอาศัยอยู่ ประกอบด้วยการเมือง วัฒนธรรม ศิลปะ วรรณคดี และกฎหมาย ถูกกำหนดโดยรูปแบบการผลิต (Mode of Production) ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างพลังในการผลิต (Productive Force)ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือการผลิต กำลังแรงงานและความสัมพันธ์ทางสังคมและทางเทคนิคในการผลิต (Social and technical relation of production) พลังการผลิตกับความสัมพันธ์ทางการผลิตประกอบกันขึ้นเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคม (The Economic structure of Economy) หรือที่เรียกว่าโครงสร้างส่วนล่างหรือส่วนพื้นฐาน (Economic Base) ซึ่งสัมพันธ์กับพลังในการผลิต (Force of production)คือการผลิตสินค้า บริการโดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต และความสัมพันธ์ทางการผลิต (relations of production) คือ ความสัมพันธ์ของชนชั้น ระหว่างเจ้าของปัจจัยการผลิตกับผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หรือนายทุนกับแรงงาน กับโครงสร้างส่วนบน ที่เป็นเรื่องของสถาบันทางสังคมและอุดมการณ์ทางสังคม (Shaun best,2003 : p.49)  และโครงสร้างส่วนบน (Super Structure) คือระบบกฎหมาย ระบบการเมือง ฐานคติทางสังคม ระบบความรู้ความคิด วัฒนธรรม ประเพณี และความคิดความเชื่อของสังคม โดยความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่าง มาร์กซ์เน้นใช้เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดในการอธิบายโครงสร้างส่วนบนที่เป็นเรื่องของการเมือง กฏหมายและจิตสำนึกทางสังคม
ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับแรงงาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแรงงาน เพื่อผลิตสินค้าและบริการ ผ่านเรื่องของรายได้ ที่ดำเนินการใต้เงื่อนไขในระบบตลาดเสรี มีการแข่งขัน การต่อสู้ในเรื่องของราคา ต้นทุนและผลกำไรที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบของการจ้างงาน โดยในด้านหนึ่งคนงานเอาแรงงานแลกเป็นเงินค่าแรงเพื่อนำมาใช้ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่นายทุนเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต มีเงินทุน มีโรงงาน แต่ต้องการแรงงานเข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อนำไปขายสร้างรายได้และผลกำไรทางธุรกิจ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ที่แรงงานยินยอมและไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองถูกกดขี่หรือมองไม่เห็นการกดขี่ ส่วนนายทุนก็ขูดรีดจากแรงงานเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด โดยการลดต้นทุน  จ่ายค่าจ้างต่ำ ให้คนงานทำงานมากขึ้น และไม่เพิ่มประสิทธิภาพให้คนงานเพื่อคงสถานะที่เหนือกว่าไว้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดชนชั้นและความแตกต่างทางชนชั้นมากขึ้น
ในหนังสือของ Karl Marx ที่มีอิทธิพลเล่มหนึ่งคือ capital (1867) เขากล่าวถึงสินค้า (Commodity) ที่เป็นแนวคิดที่แสดงให้เห็นบทบาทที่สำคัญในการวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์  การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆของมนุษย์สามารถที่จะทำให้เกิดสินค้า และสินค้าที่บรรจุคุณค่า ทั้งคุณค่าเชิงประโยชน์ใช้สอย (Use Value) ที่ซึ่งคุณค่าของปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่ง ที่ได้รับจากการบริโภค สินค้าและคุณค่าการแลกเปลี่ยน (Exchange Value) ที่ซึ่งเป็นคุณค่าในชุดของการแลกเปลี่ยนเงินตรา  ดังนั้นคนงานคือผู้ซึ่งจัดวางคุณค่าไปยังสินค้าต่างๆ ความคิดดังกล่าวได้ทำให้มาร์กซ์สร้างแนวคิดเกี่ยวกับการขูดรีดทางชนชั้น (Shaun Best,2003:50)
นอกจากนี้ในเรื่องของคุณค่าหรือมูลค่า มาร์กซ์ ได้นำมาใช้ในการอธิบายความสัมพันธ์ของพลังแรงงาน (Labour power) ที่คุณค่าหรือมูลค่ามาจากพลังแรงงาน  โดยที่แรงงานเป็นสินค้าพิเศษที่สามารถผลิตขึ้นใหม่และสร้างมูลค่าได้มากกว่าเดิม ดังนั้นแรงงานจึงมีความสำคัญในการผลิตมูลค่าของสินค้าขึ้นอยู่กับจำนวนของแรงงานที่ใส่ลงไปในการผลิตมากน้อย  แรงงานจึงสามารถเพิ่มตัวเองและเพิ่มคุณค่าได้ แรงงานสามารถผลิตเพื่อให้ได้ผลิตออกมามากมาย  ในทางตรงกันข้ามค่าจ้างได้ไม่มากเมื่อเทียบกับแรงงานที่ใช้ไปและเวลาทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น แรงงานจึงเป็นเสมือนสินค้าในระบบการแลกเปลี่ยน โดยการแลกเปลี่ยนในรูปของเงินค่าจ้างในการทำหน้าที่ผลิตสินค้าและนำเงินนั้นมาซื้อสินค้าในการดำรงชีวิต ดังนั้นแรงงานจึงอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับนายทุนที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตเจ้าของทุน ในขณะที่แรงงานไม่มีเงินหรือทุนใช้แรงงานแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนดังกล่าวเกิดขึ้นในระบบตลาดเสรีมีการแข่งขันสูง การผลิตขึ้นอยู่กับนราคา การลดต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างกำไร ทำให้เกิดกระบวนการขูดรีดทางชนชั้น การจำกัดค่าแรง การเพิ่มเวลาในการทำงาน การไม่จัดสวัสดิการต่างๆที่ควรทำให้กับแรงงาน รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดีและสร้างความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งยังไม่มีการเพิ่มทักษะหรือฝึกฝนความรู้ความชำนาญที่ก้าวหน้าให้กับแรงงาน

                ลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับแรงงาน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม  เกิดกระบวนการแบ่งแยกทางชนชั้น (Class Division) แรงงานมีความสัมพันธ์กับการผลิตสินค้า โดยที่มูลค่าของสินค้ามาจากตัวของแรงงานมากกว่าตัวสินค้า  และแรงงานสามารถสร้างมูลค่าของตัวเองเพิ่มขึ้น ในขณะที่นายทุนจ้างแรงงานเพื่อผลิตสินค้าเพื่อสร้างผลกำไรในขณะที่แรงงานใช้ร่างกายและสติปัญญาในการแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างเพื่อซื้อสินค้าและบริการในการดำรงชีวิต  ในขณะเดียวกันนายทุนก็ใช้วิธีการขูดรีดแรงงานเพื่อสร้างผลกำไรให้กับตัวเอง ทั้งในเรื่องของการทำงานหนัก การจ่ายค่าแรงต่ำ หรือไม่จ่ายค่าแรง ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยกของคนงาน จากงานที่ตัวเองทำ จากสินค้าและบริการที่ผลิต และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างนายทุนและชนชั้นแรงงาน โดยการพยายามดิ้นรนต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน ในขณะที่ชนชั้นนายทุนก็พยายามสร้างสถาบันขึ้นมาควบคุมในลักษณะต่างๆ (Bureaucratic control)  ทั้งการแบ่งงาน การควบคุมโดยหัวหน้า  เพื่อควบคุมชนชั้นแรงงานไม่ให้เคลื่อนไหวภายใต้การทำงานในระบบทุนนิยม ทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่ความแปลกแยกทางสังคมและปัญหาของความไม่เท่าเทียมทางสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...