วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

2. แนวคิดทฤษฎีนิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecological Approach) นัฐวุฒิ สิงห์กุล


                แนวคิดเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองเข้าใจว่าถูกใช้แรกเริ่มโดย Turshen ในบทความของเขาชื่อ The political ecological of disease ในปีค.ศ. 1997 ที่ได้วางรากฐานทางความคิดในการทำงานที่ต่อเนื่องเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บในแทนซาเนีย ในทางตรงกันข้ามความคิดดังกล่าวถูกโต้แย้งโดย Grossman (1981) ที่บอกว่าคำว่า นิเวศวิทยาการเมืองถูกผลิตในปีค.ศ.1980 โดยสาระสำคัญของนิเวศวิทยาการเมืองเป็นการเชื่อมโยงระหว่างนิเวศวิทยาวัฒนธรรมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเขาต้องการหาคำตอบของคำถามว่า อะไรเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพและการเชื่อมโยงอย่างสำคัญระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบพอยังชีพไปยังระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา ปัจจัยที่เขานำมาพิจารณาก็คือบทบาทเชิงนโยบายของอาณานิคมในการเปลี่ยนแปลงการเกษตรภายใต้กรอบความคิดแบบนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ดังนั้นจุดเน้นคือการวิเคราะห์บริบททางสังคม และเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันระดับท้องถิ่น (Local) สู่ระดับโลก (Global) รวมถึงลักษณะสำคัญอื่นๆเช่น การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น ผลกระทบของนโยบายรัฐและกิจกรรมในระดับของท้องถิ่น และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมบนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม (Mayer,1996:446-447)
การเกิดขึ้นของแนวคิดนิเวศวิทยากรเมืองเกิดขึ้นจากจุดอ่อนของทฤษฎีนิเวศวิทยาทางการแพทย์ ที่ให้ความสำคัญกับมุมมองทางวัฒนธรรมน้อย มองประเด็นความเจ็บป่วยและทางการแพทย์ที่ติดอยู่กับแนวคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ เชื้อโรคที่คุกคามและเข้ามาทำลายชีวิตของมนุษย์ ทั้งที่ในความเป็นจริงมานุษยวิทยาการแพทย์ไม่สามารถหลีกหนีออกจากอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจไปได้ เนื่องจากประเด็นทางด้านการเมืองมีผลต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายสุขภาพของประชาชน (Bear,Singer and Susser,1977 อ้างใน พิมพวัลย์,2555:14) เช่นการจัดการปัญหาชาวพื้นเมืองของคนอังกฤษ หากวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีนิเวศวิทยาการเมืองก็จะเห็นว่า  ชาวอังกฤษเลือกใช้แนวคิดทางสังคมแบบลัทธิดาวินนิสต์ (Socail Darwinism) ที่มองว่าตัวเองเข้มแข็ง ฉลาดกว่าและเหนือกว่า ดังนั้นพวกเขาสามารถทำความรุนแรงกับชาวพื้นเมืองได้อย่างชอบธรรม โดยมองข้ามความโหดร้ายและความไร้มนุษยธรรมของตัวเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิธีคิดทางด้านการปรับตัวให้ชีวิตอยู่รอดของชาวอังกฤษที่ไม่ใช่ด้านบวกแต่เป็นด้านลบเนื่องจากการปรับตัวรวมเข้ากับความเป็นชาตินิยม หรือประเด็นในเรื่องของโรคเอดส์ที่ข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์บ่งชี้ถึงความสำเร็จของโปรแกรมการส่งเสริมการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ติดเชื้อเฉพาะคน ช่วยลดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่กลับถูกตั้งคำถามของนักการเมืองและนักปกครองถึงความคุ้นค่าที่จะนำงบประมาณมาใช้ในด้านสาธารณสุขนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า งานทางการแพทย์และงานทางด้านสาธารณสุขไม่สามารถหลุดออกจากประเด็นทางการเมืองได้
หัวใจของแนวคิดนิเวศวิทยาการแพทย์เน้นย้ำและอธิบายเกี่ยวกับโรค (Disease) และตัวปัจเจกบุคคล มีเพียงแนวคิดทางด้านนิเวศวิทยาเท่านั้นที่ครอบคลุมถึงประเด็นทางชีววิทยา (Biological)และปัจจัยทางด้านสังคมวัฒนธรรม (Socio-cultural Factor) ที่นำมาอธิบายเรื่องโรคภัยไข้เจ็บภายในกรอบความคิดเรื่องการกระตุ้น(Stimulas) และการตอบสนอง (Response) แต่ในขณะเดียวกัน นิเวศวิทยาการแพทย์ก็ไม่ได้เตรียมตัวกับการต่อสู้กับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวางเช่นความสัมพันธ์กับระบบทุนนิยมที่แผ่ขยายในโลก ดังเช่น งานศึกษาของHuge and Hunter เรื่อง โรคกับการพัฒนา (Disease and Development) ในแอฟริกา โดยใช้แนวความคิดเรื่องนิเวศวิทยาและบริบทของโครงการพัฒนาในแอฟริกา ที่ชี้ให้เห็นภาวะสุขภาพของประเทศด้อยพัฒนา ภายในประเด็นทางภูมิศาสตร์การแพทย์  ความเป็นอาณานิคม เงื่อนไขทางสังคม โภชนาการ การส่งออกเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพและการเมืองของโลก (Greenberg and Park,1994:5) ดังนั้น นิเวศวิทยาการเมืองมีความสัมพันธ์กับมิติทางสังคมระดับมหาภาค(Macrosociological perspective)ที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่แตกต่าง ชนชั้นและเชื่อชาติที่เฉพาะที่มีผลต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยที่มีผลกระทบอยู่บนเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงทรัพยากร (Michael Winkelman,2009:266)
ลักษณะที่น่าสนใจและเป็นจุดแข็งของนิเวศวิทยาการเมือง คือการรวมเอานิเวศวิทยาวัฒนธรรมกับเศรษฐศาสตร์การเมืองเข้าไว้ด้วยกันภายใต้กรอบการวิเคราะห์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน  โดยความสำคัญของประเด็นเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองได้นำมาสู่การต่อสู้เคลื่อนไหวภาคประชาชนในประเด็นด้านสุขภาพ เช่นความหลากหลายทางชีวีภาพ การเคลื่อนไหวของแพทย์พื้นบ้านและแพทย์ทางเลือก รวมทั้งการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการอ้างถึงสิทธิในที่ดินและภูมิปัญญาในการจัดการป่า ถือเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับแนวความคิดนิเวศวิทยาการเมืองในปัจจุบัน
ื่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...