วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มานุษยวิทยากับการศึกษาสัญญะ และสัญลักษณ์ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

มานุษยวิทยากับการศึกษาสัญญะ และสัญลักษณ์
Sign[1] and Symbol in Anthropology study
             
มานุษยวิทยา(Anthropology) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ในทุกๆด้านที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่และการใช้ชีวิตของมนุษย์ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา พิธีกรรม ที่สะท้อนผ่านโลกทัศน์ ความเชื่อ  ความคิด วัตถุสิ่งของ ภาษา พฤติกรรม บุคลิกภาพและการแสดงออกของมนุษย์ ความพยายามอย่างสำคัญของนักมานุษยวิทยา ในช่วงปี1960-1970 ในการศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์วัฒนธรรม เช่นเดียวกับระบบของสัญลักษณ์ และการติดต่อสื่อสาร ในสังคม ได้นำนักมานุษยวิทยา ก้าวเข้าไปสู่สนามใหม่ทางมานุษยวิทยา ที่เป็นการเผชิญหน้ากันอย่างท้าทายของ มานุษยวิทยาโครงสร้าง(Structural Anthropology) และมานุษยวิทยาทางปรัชญา(Philosophy Anthropology) อันได้รับอิทธิพลมาจากนักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ชาวสวิสเซอร์แลนด์ อย่างเฟอร์ดิน็องต์ เดอ โซซูร์ (Ferdinane de Saussure) และนักปรัชญาชาวอเมริกัน อย่างชาร์ล แซนเดอร์ เพิร์ซ (Charles Sander Pierce) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสนามทางมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม ดังที่Singer Milton (1968)ได้กล่าวถึงสนามใหม่ทางมานุษยวิทยาในช่วงเวลานั้นว่า
ในช่วงทศวรรษหน้าของปี1968-1978 ฉันวางแผนกับภาพที่ต่อเนื่องในงานวิจัยของฉัน และการสอนที่น่าสนใจในอินเดีย รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับอารยะธรรม อย่างไรก็ตาม ฉันยังใช้เวลาจำนวนมากกับสนามทางมานุษยวิทยา ซึ่งฉันหมายถึง การพรรณา การวิเคราะห์ ระบบคุณค่า การให้ความหมายและระบบความเชื่อของวัฒนธรรมที่เฉพาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบและความสัมพันธ์ของพวกเขา(คนที่ถูกศึกษา)กับโครงสร้างสังคม สิ่งแวดล้อมและบุคลิกภาพ นี่คือการปรากฎขึ้นของสนามใหม่ทางมานุษยวิทยา และความสนใจที่ถูกชักชวนและดึงดูดอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน  เนื่องมาจากการทำงานของเลวี่ สเตร๊าท์ ในการวิเคราะห์โครงสร้างของนิทานปรัมปรา(Myth)  และนำวิธีการทางภาษาศาสตร์ไปใช้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ ส่วนประกอบของนิทานพื้นบ้าน การจำแนก แยกแยะ การจัดประเภทของเครือญาติ การจำแนกสี โรคภัยไข้เจ็บ การแบ่งแยกพืช และสัตว์ รวมถึงลักษณะสำคัญอื่นๆ ทางวัฒนธรรม....ในการทำงานของตัวฉันเอง ฉันตั้งใจกับการวางรูปแบบและการฝึกฝนที่เฉพาะในตรรกะเชิงสัญลักษณ์ ทางปรัชญา และจิตวิทยาสังคม สำหรับการช่วยวางรากฐานทางทฤษฎีของระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม(Cultural Symbol System)” (Singer 1984;preface 8 )

 ดังนั้น การประยุกต์ใช้แนวคิดและทฤษฎีของสาขาอื่นๆในทางมานุษยวิทยา ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย วิธีการ และหัวเรื่องสำคัญ ในสนามย่อยทางมานุษยวิทยา และนำไปสู่วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เรียกชื่อกันแตกต่าง เช่น เลวี่ สเตร๊าท์(Levi-Strauss ) ที่เรียกว่า มนุษยวิทยาโครงสร้างหรือสัญวิทยา (Structural Anthropology or Semiology) ,เกียร์ซ คลิฟฟอร์ด (Clifford Greezt) ที่เรียกว่า มานุษยวิทยาตีความ (Interpretive Anthropology) ,ชไนเดอร์ (Schneider) ที่เรียกสนามของเขาว่า คำอธิบายหรือเรื่องเล่าทางวัฒนธรรม(Culture account) , พีค็อซ(Peacock) และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้ออกแบบสนามใหม่ของพวกเขาทางมานุษยวิทยา ว่าเป็นมานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์(Symbolism Anthropology),วิกเตอร์ เทอร์นเนอร์(victor Turner)และ แมรี่ ดักลัส(Mary Douglas) ที่อ้างเกี่ยวกับ สัญลักษณ์วิทยาเชิงเปรียบเทียบ(Comparative Symbology) ที่เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์ ในบริบทที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคมที่เป็นรูปธรรม และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ ที่เป็นเป็นเหมือนสูตรทางคณิตศาสตร์และเหตุผลเชิงตรรกศาสตร์ หรือระบบการระลึกรู้เข้าใจ(Cognitive System) ดังเช่นที่เทอร์นเนอร์  ได้สังเกตบนลักษณะของสัญวิทยา(Semiology) สัญศาสตร์(Semiotic)และภาษาศาสตร์(Linguistic)
การพยายามสร้างสนามย่อยของนักมานุษยวิทยาในการพัฒนาทฤษฎีทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ทฤษฎีสัญลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ได้นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะในการประชุมแห่งชาติในการวิจัยทางมานุษยวิทยา   ดังเช่นการประชุมสัมมนาเรื่อง ระบบความคิดของแอฟริกัน(A African system of thought)  ของนักมานุษยวิทยาอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้แสดงให้เห็นจุดร่วมและจุดต่างในงานชาติพันธุ์วรรณาของทั้งสองฝ่ายคือ
1.งานชาติพันธุ์วรรณาฝรั่งเศส เริ่มต้นพร้อมกับโครงสร้างทางความรู้ทั้งหมด ที่ถูกแสดงในนิทานปรัมปรา(Mythology) ของมนุษย์ และสัญลักษณ์ในพิธีกรรมของพวกเขา ที่สะท้อน ความคิดเกี่ยวกับมนุษย์และจักรวาล ที่ปรากฎเป็นรูปร่างทางความคิด  ในการจัดระเบียบสังคม และเทคโนโลยีของพวกเขา และกระบวนการเชื่อมโยงกับตรรกศาสตร์(Logic)
2.มานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคม ในบริบทของพิธีกรรมและความเชื่อของประชาชนที่แตกต่าง รวมถึงความจริงของการจัดระเบียบสังคมและชีวิตประจำวัน
3.ทั้งสองวิธี(ฝรั่งเศสและอังกฤษ) ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีลักษณะขัดแย้งกัน แต่มีการรับมือจัดการบนลักษณะของการหนุนเสริมกัน ในประเด็นทางศาสนาของแอฟริกันและสถาบันทางพิธีกรรม นั่นก็คือเอาเรื่องศาสนาของแอฟริกันเป็นตัวเชื่อมต่องานชาติพันธุ์วรรณาที่ตัวเองทำ
ระบบสัญลักษณ์และพิธีกรรม จึงเป็นสิ่งที่ถูกแนะนำและพัฒนาโดยนักมานุษยวิทยาทั้งสายฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งเน้นย้ำอยู่บนการศึกษาเรื่องศาสนาในแอฟริกัน  ที่มีความแตกต่างทางด้านวิธีการและการทำงานภาคสนาม  โดยนักมานุษยวิทยาฝรั่งเศส(French Anthropology) มีการทำงานภาคสนามโดยการสังเกตการณ์ของพวกเขา การทำงานภาคสนามจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ว่างจากงานสอน และใช้ระยะเวลาศึกษาติดต่อกันนานหลายปี ในขณะที่นักมานุษยวิทยาอังกฤษ(British Anthropology)ใช้เวลาศึกษาอย่างเข้มข้นในภาคสนามเป็นเวลา1-2 ปี  ซึ่งวิธีการทำงานภาคสนามและแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาอันแตกต่าง  ได้นำไปสู่วิธีการศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ ออกเป็นสองประเภทคือ  สัญวิทยา(Semiology)ที่ชื่นชอบโดยพวกยุโรป และสัญศาสตร์(Semiotics)ที่นิยมชมชอบโดยผู้พูดภาษาอังกฤษ(Terence Hawkes;1977,Floyed Merrell;1992) โดยที่ทั้งสองคำนี้มีการใช้แลกเปลี่ยนร่วมกันอยู่เสมอในความหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับระบบสัญญะ และการสร้างความหมาย แม้ว่าทั้งสองคำนี้จะมีความแตกต่างกันรายละเอียดของวิธีการศึกษาและจุดเน้นย้ำที่เฉพาะในทางสัญศาสตร์และสัญวิทยา
ในทัศนะทางความคิดของนักวิชาการภาษาศาสตร์อย่างโซซูร์( Ferdinance de Saussure) และเพิร์ส (Charles Sander Pierce) ได้นำไปสู่การแนะนำทิศทางที่แตกต่างในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาของนักมานุษยวิทยา ออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1) นักมานุษยวิทยาทางสัญวิทยา(The Semiological Anthropologist) ซึ่งสนใจเกี่ยวกับการอธิบาย พรรณาและวิเคราะห์ระบบสัญลักษณ์ (Cultural symbol system) การนับถือระบบสัญลักษณ์ของสัตว์ประจำเผ่าหรือตระกูล(Totemism) นิยายปรัมปรา(Myth) พิธีกรรม(Ritual) พิธีเฉลิมฉลอง(ceremonies) ระบบเครือญาติ(Kinship system) อันมาจากงานชาติพันธุ์วรรณาของพวกเขา ในบริบทความสัมพันธ์ทางสังคม และการกระทำของปัจเจกบุคคลและความรู้สึกนึกคิด
2) นักมานุษยวิทยาเชิงสัญศาสตร์(The semiotic Anthropology) ซึ่งสนใจศึกษาระบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในอีกด้านหนึ่ง ที่คล้ายคลึงกับงานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณาในระบบของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความรู้สึก อารมณ์ของปัจเจกบุคคล(Emotion individual)รวมทั้งกิจกรรม(Activity)ต่างๆที่เกิดขึ้น
ลักษณะทั้งสองนี้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของแนวคิด ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในสายหน้าที่นิยม (Functionalism) โครงสร้างนิยม(Structuralism) และสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยนักมานุษยวิทยาสังคม วัฒนธรรม ในอังกฤษ อเมริกาและฝรั่งเศส ดังที่ Singer Milton (1984) กล่าวว่า ความนิยมและกระบวนการสร้างลักษณะในทิศทางของการศึกษาวิจัยของพวก Saussurean เช่นเดียวกับพวก โครงสร้าง (Structuralist) การระลึกรู้ (Cognitive) และมนุษยนิยม (humanistic) ซึ่งทั้งสามประเภทมีจุดเน้นอยู่บนเรื่องของภาษา ในขณะที่พวกนิยมแนวคิดของเพิร์ส (Piercean) ถูกพิจารณาเช่นเดียวกับพวก หน้าที่นิยม(Functionalist) อรรถประโยชน์นิยม(Utilitarian) และธรรมชาตินิยม(Naturalist) ที่มีจุดเน้นที่ปัจเจกบุคคล ประสบการณ์ การสังเกต การรับรู้เข้าใจและการกระทำต่อโลกและสังคม
การผสานแนวคิดและทฤษฎีมานุษยวิทยาเข้ากับวิธีการศึกษาเชิงสัญลักษณ์และสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นมนุษยวิทยาโครงสร้างนิยม(Structuralism) มนุษยวิทยาหน้าที่นิยม(Functionalism) มนุษยวิทยาโครงสร้าง-หน้าที่นิยม(Structural-Functionalism) มนุษยวิทยาการระลึกรู้(cognitive) มนุษยวิทยาสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) มนุษยวิทยาภาพรวมทางวัฒนธรรม(Cultural Configuration)  ในตัวของทฤษฎีต่างๆเหล่านี้มีการถูกเชื่อมโยงเข้ากัน เช่นโครงสร้างนิยม กับสัญลักษณ์นิยม  ที่ความคิดในเรื่องของโครงสร้างสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการวิเคราะห์ปรากฎการณ์เชิงสัญลักษณ์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสัญลักษณ์สัตว์(Totemism)  นิทานปรัมปรา(Myth) และพิธีกรรม (Ritual) โดยเฉพาะในช่วงปี1950-1960 ที่นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อClaude Levi-Strauss(1908-1968) ได้ทำให้วิชาทางมานุษยวิทยามีสนามใหม่ภายใต้ชื่อโครงสร้างนิยมและสัญวิทยา ในคำประกาศของเขาเมื่อรับตำแหน่งที่ College de France  ว่า มนุษ์ติดต่อสื่อสารโดยความหมายของสัญลักษณ์และสัญญะ
โดยเฉพาะการศึกษาทางมานุษยวิทยา ที่เป็นบทสนทนาของมนุษย์กับมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์และสัญญะ ที่กระทำเช่นเดียวกับการเป็นตัวกลาง หรือสื่อกลางระหว่าง ประเด็นนี้  ภายใต้เรื่องของการติดต่อสื่อสารและการสร้างความหมาย  บ่อยครั้งที่เลวี่ สเตร๊าท์ มักจะถูกโจมตีในความคิดและการศึกษาเชิงโครงสร้างของเขาว่า เขาไม่สนใจในธรรมชาติของสัญลักษณ์ ธรรมชาติของวัตถุสิ่งของ(Nature of thing) สัญญะ(sign) และจิตใจ(Subject) ที่ปรากฎภายในตัวของมันเอง  ทำให้การตีความหมายและการวิเคราะห์โครงสร้างของเขากลายเป็นการลดทอนปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ในการดำรงอยู่อย่างอิสระของวัตถุ(Object)และจิตใจ(Subject) หรือความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา  ซึ่งเลวี่ สเตร๊าท์ ถูกมองว่า เป็นพวกรูปแบบนิยม(Formalism) หรือโครงสร้างที่พยายามก้าวข้ามความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเลวี่ สเตร๊าท์ ได้ปฎิบัติในสิ่งที่ไม่เป็นทางการ (Informal) และให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลาย
ในงานของเขาเรื่อง The Savage Mind(1966) ที่เขาให้ความสำคัญที่เท่าเทียมในความคิดของคนพื้นเมืองที่เรียกว่า ศาสตร์เชิงรูปธรรม (bricolage หรือ The Science of the concrete) และความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของคนสมัยใหม่ ที่เรียกว่าศาสตร์เชิงนามธรรม (The Science of abstract) โดยแสดงให้เห็นความซับซ้อนทางความคิดของคนพื้นเมืองที่สามารถคิดในเชิงนามธรรมได้เช่นคนสมัยใหม่ ดังนั้นสังคมต่างๆจึงมีความเท่าเทียมกันในคุณค่าและศักดิ์ศรีไม่มีใครดีกว่าหรือเหนือกว่าใคร เพียงแต่ว่ามันมีนัยที่แตกต่างทางความคิดของแต่ละระบบสังคมและไม่ควรที่จะนำเอามาตรฐานของอีกสังคมหนึ่งมาตัดสินกับอีกสังคมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ของคนสมัยใหม่ กับความเชื่อในอำนาจที่เหนือธรรมชาติของคนพื้นเมืองที่อยู่บนเหตุผลคนละชุดกัน โดยผ่านการรับรู้ ถ่ายทอดที่มีความเฉพาะในตัวของบุคคลและสังคม เป็นสิ่งที่จำกัดการรับรู้ของคนบางคนบางกลุ่มที่เราเรียกว่า สิ่งที่เราพูดไม่ได้หรือคิดไม่ได้(The Unspeakable /The unthought) นี่คือการบรรยายเกี่ยวกับโครงสร้าง และผลสะท้อนของระบบการรับรู้และเข้าใจ และการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในตรรกะหรือเหตุผลของพวกเขา
ดังนั้นเราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าการวิเคราะห์ของ เลวี่ สเตร๊าท์ มีอิทธิพลและครอบงำในรายละเอียดของงานชาติพันธุ์วรรณามากที่สุด ในปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การใช้ถ้อยคำ นิทานปรัมปรา พิธีกรรมและอื่นๆ ที่พยายามศึกษาเพื่อหากฎเกณฑ์โครงสร้างในระดับของจิตใต้สำนึกที่เป็นสากล ดังเช่นการศึกษานิทานปรัมปราที่มากมายหลากหลาย และพยายามแบ่งนิทานออกเป็นโครงเรื่องย่อยๆ (Mythemes) แล้วร้อยเรียงโครงสร้างย่อยๆเหล่านี้เข้ารวมกันเป็นชุด และวิเคราะห์ไปสู่การสร้างรหัส/กฎเกณฑ์หรือโครงสร้างที่เป็นสากลของนิทานปรัมปรา ดังที่เลวี่ สเตร๊าท์ บอกว่า ฉันกล่าวอ้างกับการแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่มนุษย์คิดอย่างไรในนิยายปรัมปรา แต่นิทานปรัมปรา ปฎิบัติและดำเนินการในความคิดของมนุษย์อย่างไร โดยปราศจากการมีอยู่ซึ่งการตระหนักรู้เกี่ยวกับความจริงของพวกเขา[2] (Levi-strauss,1970:12 Singer,1984:20) นั่นคือ สิ่งที่มีอยู่ในนิทานปรัมปรา ปราศจากความบังเอิญในความสำนึกรู้ของมนุษย์ เช่นเดียวกับ ระบอบของความจริง ความรู้ที่ไม่ต้องพิสูจน์และคำนิยามที่กำหนดความเป็นไปได้ ในการสร้างความหมายร่วมกันบนโครงสร้างของความไร้สำนึก(Unconscious)   เลวี่ สเตร๊าท์ ไม่ปฎิเสธเครื่องมือของลัทธิประสบการณ์นิยม(Empirical) ไม่ว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่น สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และโครงสร้างทางสังคม ถูกผนวกรวมเข้าไปยังนิทานปรัมปรา เช่นเดียวกับศาสตร์เชิงรูปธรรม แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่ได้กำหนดโครงสร้างของนิทานปรัมปราหรือการแสดงความหมายของวัตถุสิ่งของ  รหัสที่เป็นสากล(Universal Code)ของมนุษย์ต่างหาก ที่เป็นวัฒนธรรมของจิตใต้สำนึก  อันเป็นเสมือนโครงสร้างที่บังคับและสร้างความยินยอม ในความคิดของมนุษย์  
ในความเป็นจริงแล้วก่อนหน้าเลวี่-สเตร๊าท์ นักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกอย่าง Bronislaw Malinowski(1884-1942)  และRadcliffe-Brown(1881-1955) ก็พยายามจะนำทฤษฎีทางมานุษยวิทยา ในข้อสมมติฐานที่เฉพาะและความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของสัญญะ สัญลักษณ์ มาใช้ในการทำงานและศึกษาคนพื้นเมือง ดังเช่น มาลีนอฟสกี้  ซึ่งเป็นพวกเน้นการปฎิบัติที่เป็นจริง(Pragmatic) ในการศึกษาชนพื้นเมือง(Primitive) เกี่ยวกับคำศัพท์(word) ในบริบทที่เป็นรูปธรรมของการปฎิสัมพันธ์ทางสังคม ดังเช่นผู้มีอำนาจกำหนดชี้ขาดความหมายของพวกเขา  ที่พยายามจะเน้นย้ำเชื่อมโยงการสร้างความหมายในภาษา ที่เป็นพื้นฐานทางทฤษฎีที่สำคัญ ของOgden และRichard[3] ในสามมิติของการสร้างความหมาย ที่ถือว่าเป็นการบุกเบิกยุคแรกเริ่มในความสัมพันธ์ของการพัฒนาในเรื่องของเสียง ถ้อยคำ การแสดงออกและสถานการณ์ ที่ปฎิบัติในคำบรรยาย การเล่าเรื่องและพิธีกรรม  ที่สัมพันธ์กับการอ้างอิงภายใต้สถานการณ์ของสัญญะ(sign-situation)และบริบทของสถานการณ์(context of situation)  และการให้ความหมาย(theory of meaning) พร้อมกับงานชิ้นอื่นๆของเขาที่ตามมา ในปี1935 เรื่อง ภาษาของเวทมนต์และการทำสวน(The Language of magic and gardening) ที่เน้นย้ำอยู่บนการจำแนกแยกแยะของเขาในบริบทของสถานการณ์ ดังที่ J.R Firth ได้วิเคราะห์และประเมินคุณค่าในการอธิบายทางชาติพันธุ์       วรรณาของMalinowski ในเรื่องภาษาของเขา ที่อยู่ในความเรียงของOgden และRichard ว่า
ช่วงห่างของตัวเขาเอง(มาลีนอฟสกี้) และคนพื้นเมือง เป็นสิ่งที่สามารถปฎิบัติได้ในการสังเกตและการมองลงไปที่ภาษาศาสตร์ เช่นเดียวกับรูปแบบของการกระทำ ที่ค่อนข้างจะเป็นการเผชิญหน้าของสัญญะทางความคิด  มาลีนอฟสกี้ ได้เลือกสังเกต เช่นเดียวกับ ลักษณะทางภาษาของเขาที่ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่สำคัญจำเป็น ที่เชื่อมต่อกับบริบทของสถานการณ์ของเขาในในการค้า การประมงและการทำการเกษตร และการปฎิบัติที่คล้ายคลึงกัน ที่เป็นเงื่อนไขของเขาในการชี้ทิศทางสำหรับกิจกรรมเหล่านี้ การอ้างอิงกับสิ่งที่รอบๆตัว คำศัพท์เกี่ยวกับคำสั่งควบคุม คำศัพท์ที่สัมพันธ์กับการกระทำ การแสดงของความรู้สึกและความรู้สึกที่รุนแรง ที่จำกัดขอบเขตหรือสร้างขอบเขตของพฤติกรรม ความหลากหลายของแม่แบบแม่พิมพ์ของพวกเขาในรูปแบบ เช่นการสะกดคำ เพลงสรรเสริญ เพลงสวดและคำบรรยาย  มันเป็นวัตถุเครื่องมือทางภาษาเกี่ยวกับประเภท ชนิด ที่ซึ่งเขาแสดงและนำไปสู่งานเชิงชาติพันธุ์วรรณา ภาษาได้รักษาเกี่ยวกับบทความเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Ethnographic Texts) จาก Argonaults of a western pacific (1922) ไปยัง Coral Garden and their magic(1935) ที่เป็นรากฐานเดียวกันที่นำไปสู่ Coral Garden ที่พวกเขาเป็นผู้กำหนด การรักษาอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับภาษาของการเกษตร(Language of Agriculture)” (Firth 1957;105)
เฟิร์ซ เชื่อว่าแนวคิดของแ มาลีนอฟสกี้ เกี่ยวกับบริบทของสถานการณ์ เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลของฟิลิป แว๊กเนอร์ (Phillip Wegener) และริชาร์ด เทมเปิล(Sir Richard Temple) ที่สนใจในบริบทของสถานการณ์ (Context of Situation) ซึ่งให้ลักษณะพื้นฐานที่ถูกต้องในส่วนประกอบที่บรรจุอยู่ภายในตัวบุคคล(Person) วัตถุ(Object) และเหตุการณ์(Event) สิ่งที่ไม่ใช่คำพูด (Non-Verbal)  เช่นเดียวกับภาษา  ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของเพิร์ซ (Pierce) ในการตีความแบบสัญศาสตร์ นอกจากนี้เฟิร์ซ (Firth) ยังได้วิจารณ์ ว่าแนวการศึกษาและความคิดทางภาษาศาสตร์ของมาลีนอฟสกี้ ค่อนข้างจะวางอยู่บนแบบแผนของพวกลัทธิประสบการณ์นิยม (Empiricism) ในอังกฤษ เช่นเดียวกับ ที่เอ็ดมันด์ ลีซ (Edmund Leach) มองว่ามาลีนอฟสกี้  ได้ฝึกฝนตัวของเขาเอง กับศาสตร์ที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ ซึ่งสร้างความอ่อนไหวในตัวเขาเองกับกระแสของการปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์ในช่วงปี1910 ที่เขาได้ใช้ชีวิตในอังกฤษ ลีซ ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างมาลีนอฟสกี้ นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ และมาแซล มอส (Marcell mauss,1872-1950) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส  ในการศึกษาเกี่ยวกับวงจรของการแลกเปลี่ยน “Kula”[4]  ว่า
กระบวนการตีความหมายของมอส (mauss) เป็นสิ่งที่ไม่ได้ให้การปฎิบัติที่สนับสนุนอย่างสำคัญ กับมาลีนอฟสกี้ ในแกนหลักของมอส ก็คือการมอง Potlatch(การสะสม การทำลายหัวเผือกหัวมันที่แสดงถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและชนชั้น) ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในประเภทของกูล่า(Kula) เช่นเดียวกับกระบวนการทางสัญลักษณ์(symbolizing) ที่มีสถานภาพของความรู้สึกที่คลุมเครือในความเป็นมิตร(เพื่อน) ความเป็นศัตรู ในลักษณะของความสัมพันธ์ที่ผูกโยงต่อกัน ในส่วนประกอบที่อยู่ภายในโครงสร้างทางสังคม มาเป็นสิ่งที่ตีความหมายในเชิงนามธรรมของมาลีนอฟสกี้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ว่า ชาวโทรเบียน(Trobianders) ปฎิบัติในพิธีกรรมของKula ด้วยเหมือนกัน ในหนทางของสัญลักษณ์ การเรียกชื่อ พูดชื่อ หรือให้ชื่อของวัตถุสิ่งของกับสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขาไม่สามารถจะจับวางไปยังคำศัพท์(Word)ที่แน่นอนได้”(Leach 1957:133)
ลีซ ต้องการที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่าง มาลีนอฟสกี้ และพวกหน้าที่นิยมอื่นๆ โดยเฉพาะการพยายามทำลายข้อจำกัด ข้อบกพร่อง ทางทฤษฎีของพวกหน้าที่นิยม เช่นเดียวกับการปรากฎของนักทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่นิยม อย่างแรดคลิฟฟ์ บราวน์   ที่ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของพวกนักมานุษยวิทยาอังกฤษ อย่าง Edward B.Tylor ที่เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ใช้กันทั่วโลก ในคำจำกัดความที่มีชื่อเสียงของเขาเกี่ยวกับวัฒนธรรมว่า
วัฒนธรรม(Culture) หรืออารยธรรม(Civilization) เกิดขึ้นในการแผ่ขยายความคิดทางชาติพันธุ์  วรรณา(Ethnographic sens) ที่เป็นความสลับซับซ้อนทั้งหมด ที่ซึ่งรวมถึงความรู้ ความเชื่อศิลปะ ศีลธรรม จรรยา มารยาท กฎหมาย ประเพณี และความสามารถอื่นๆ มากมาย รวมทั้งพฤติกรรมนิสัย ที่ถูกยึดถือยอมรับโดยมนุษย์ เช่นเดียวกับสมาชิกของสังคม”(Tylor:1871)
นี่เป็นความตั้งใจของนักมานุษยวิทยาอังกฤษและตัวของเทเลอร์ ที่พยายามจะรวมเอา แนวความคิดทางวัฒนธรรมเข้าไปไว้ในแนวความคิดเกี่ยวกับสังคม เช่นเดียวกับการมองว่าวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบและโครงสร้างทางสังคม ที่กลายมาเป็นเครื่องหมายที่สำคัญของนักมานุษยวิทยาอังกฤษ  โดยได้รับอิทธิพลมาจาก เดอร์ไคม์ อิมิล Emile Durkhiem   ออกุส ก๊อมต์(August Comte)และ มองเตสกิเออร์(Montesquier)[5] เช่นเดียวกับที่ได้รับจากนักสังคมวิทยาอังกฤษที่ชื่อสเปนเซอร์(Herbert Spencer)และนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ชื่อ มอร์แกน(Morgan Lewis Henry) รวมถึงนักมานุษยวิทยาอเมริกันคนอื่นๆ
ดังนั้น เทเลอร์ จึงเป็นผู้ให้แนวคิดทางวัฒนธรรม ที่ถูกนำไปใช้ โดย มาลีนอฟสกี้ในอังกฤษ และโบแอส ในอเมริกัน ได้นำไปใช้ศึกษาเกี่ยวกับคนพื้นเมือง ชนเผ่า ในเรื่องของวัฒนธรรม และพัฒนามาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชาวนา คนเมือง ประเด็นเชื้อชาติ รวมถึงประเภทของวัฒนธรรมย่อยอื่นๆทั้งหมด  ดังนั้นเราไม่สามารถจะปฎิเสธ แนวทางของนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่มีอิทธิพลทางความคิด ในเรื่องของระบบสังคม(Social System) และโครงสร้างทางสังคม(Social Structure) ที่กำหนดระบบความสัมพันธ์ที่เฉพาะในปฎิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่ม นำเข้ามารวมในแนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม  ที่เราจะเห็นได้จากร่วมมือกันของนักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา อย่าง อัลเฟรด โครเบอร์(Kroeber) และ ทาค็อต พาร์สัน (Tacott Parson) ในความคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม 
โครเบอร์ เป็นผู้ที่บรรยายแนวความคิดทางวัฒนธรรมของโลกที่ล้อมรอบด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมและการจัดระเบียบสังคม เขาได้สร้างกระบวนการทางความคิดเกี่ยวกับชุดคำของเครือญาติ เช่นเดียวกับตรรกะเชิงสัญลักษณ์  ที่เป็นเสมือนระบบสังคม การจัดแบ่งประเภท พฤติกรรมทางเครือญาติ ปทัสถาน กฎเกณฑ์ สิทธิ การเจรจาต่อรอง เช่นเดียวกับ กฎเกณฑ์การแต่งงานและการสืบเชื้อสาย สำหรับตัวของแร็คคลิฟฟ์ บราวน์ แล้ว แนวความคิดเกี่ยวกับเครือญาติได้กลายมาเป็นกรอบทางความคิดที่แผ่กว้างในแนวความคิดเกี่ยวกับระบบสังคมและโครงสร้างทางสังคม ที่แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม ได้ช่วยสนับสนุนส่งเสริม และเขาได้วิเคราะห์แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม ใน 3 ระดับคือ(คำบรรยายของเขาในปี1937เรื่องNature Science of Society ที่ถูกตีพิมพ์คำบรรยายในปี1957;อ้างจาก Singer 1984 หน้า 36)
1.ชุดของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่อยู่ในความคิดที่แน่นอนของประชาชน ซึ่งพวกเขาระลึกมันเช่นเดียวกับกระบวนการที่เหมาะสม และนำมันออกมาสู่พฤติกรรมหรือการใช้ในสังคม
2.การดำรงอยู่ของสัญลักษณ์ร่วมกันที่แน่นอนและมีความหมายร่วมกัน ที่จะยึดจับสัญลักษณ์เหล่านี้ เช่น คำศัพท์ ท่าทาง การทำงานทางศิลปะ พิธีกรรมและนิทานปรัมปรา เป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายของการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล และ...
3.หนทางร่วมกันของความรู้สึกหรือความเข้าใจ และหนทางร่วมกันของความคิดหรือความเชื่อที่แบ่งปันร่วมกัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ของในสังคม ที่เดอร์ไคม์ เรียกว่า ตัวแทนร่วม(Collective representation)
กฎเกณฑ์ทั้ง3 ระดับ เกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นไปได้ทางวัฒนธรรมร่วมกัน ในมาตรฐาน แบบแผน ของระบบความคิด พฤติกรรม ความเชื่อของบุคคลที่มีต่อสังคม วัฒนธรรม จึงเป็นระบบสากลที่เป็นมาตรฐาน ไม่ใช่การกระทำส่วนบุคคล ที่แสดงออกทางพฤติกรรมเท่านั้น แต่มันเกี่ยวพันกับเรื่องของโครงสร้างทางสังคม เช่นเดียวกับงานทางชาติพันธุ์วรรณาของแร็คคลิฟฟ์ บราวน์ ที่เกี่ยวกับกับนับถือสัญลักษณ์ของพืชและสัตว์ที่เรียกว่าTotemism การศึกษาเกี่ยวกับThe mother is brother และการศึกษาเกี่ยวกับระบบเครือญาติ ศาสนาและสังคม  ข้อห้ามทางเพศ(Taboo)และอื่นๆ  ก็แสดงให้เห็นความพยายามที่จะทำการศึกษา สำรวจและเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม กับการเป็นตัวแทนกลุ่ม เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม  เป็นกฎเกณฑ์พฤติกรรมและการใช้ทางสังคม ในอีกทางหนึ่ง โครงสร้างทางสังคม ก็เหมือนกับเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นอนแท้จริง
ในปี1932 คำนิยมในการพิมพ์ ของ The Andaman Islanders  แร็คคลิฟฟ์ บราวน์ ได้แสดงให้เห็นการทุ่มเทตัวเขาเอง กับความหมาย(meaning) และหน้าที่(Function) ของพิธีกรรมและนิทานปรัมปรา  ในความคิดที่ว่าคำศัพท์(Word) มีความหมายที่จะกระทำกับวัตถุสิ่งของ ส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม ประเพณี ลักษณะท่าทาง การกระทำทางพิธีกรรม  การละเว้น ข้อห้าม วัตถุเชิงสัญลักษณ์ นิทานปรัมปรา เป็นสิ่งที่แสดงสัญญะ(Express sign) ความหมายของสิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งที่วางอยู่บนการแสดง ที่ถูกกำหนดหรือตัดสินใจโดยความสัมพันธ์ภายในระบบของความคิด ความเชื่อและทัศนคติ  การศึกษาของเขาจึงทำให้เราเข้าใจการเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์(Symbolic Representation)ว่า มันเป็นสิ่งดีที่จะคิด(Good to Think)งานที่เด่นของเขาก็คือ  เรื่องของการนับถือสัญลักษณ์พืชและสัตว์ (Totemism) ที่แสดงให้เห็นความเป็นคู่ตรงกันข้าม ระหว่างความเป็นมิตร-ศัตรู เช่นตระกูลเหยี่ยว กับตระกูลอีกา ความสัมพันธ์ของโครงสร้างที่เป็นคู่ตรงกันข้ามระหว่างความเป็นมนุษย์กับความเป็นสัตว์ ในการนับถือสัญลักษณ์ของพืชและสัตว์ ของชาวออสเตรเลียน เหมือนกับที่เลวี่ สเตร๊าท์(Levi-Strauss) ได้ประทับตรากับโครงสร้างที่แท้จริงที่เขาศึกษาระบบคิดของคนอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือ ในความเป็นหนึ่งเดียวในตัวเขาเอง ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม ดังที่แร็คคลิฟฟ์ บราวน์ ได้แสดงให้เห็นคู่ตรงกันข้ามของกลุ่มทางสังคม 2 กลุ่ม ในการบรรยาย Sex Totemism ในNew South wale ว่า
ที่แคมป์ของชาวออสเตรเลียน  ที่มีระบบของสายตระกูลในท้องถิ่นที่แน่นอน และภรรยาของพวกเขาที่แต่งงานมาจากภายนอกกลุ่ม ที่จะต้องมาจากกลุ่มเครือญาติอื่นๆ ในนิวเซ้าท์เวลล์ ที่เป็นระบบของการนับถือสัญลักษณ์สัตว์พืชที่เกี่ยวกับเพศ (Sex Totemism) ที่ซึ่งประเภทของสัตว์ คือความเป็นพี่ชายน้องชายของผู้ชาย และชนิดประเภทอื่นๆ ที่เป็นพี่สาวน้องสาวของผู้หญิง ที่ค่อนข้างจะเป็นโอกาสที่เฉพาะ ที่เพิ่มขึ้นภายในที่พักของคนพื้นเมือง  สภาพเงื่อนไขข้อยึดเหนี่ยวทางเพศ  เป็นสิ่งที่ค่อนข้างคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามคำอธิบายของคนพื้นเมือง เช่นสิ่งที่ผู้หญิงจะต้องออกไปฆ่าคือค้างคาว  ซึ่งเป็นพี่ชายหรือน้องชาย ที่เป็นเสมือน Sex Totem ของผู้ชาย และทิ้งมันให้นอนอยู่ในแคมป์เพื่อให้ผู้ชายเห็น สำหรับผู้ชาย ก็จะมีความสัมพันธ์กับการฆ่านก ซึ่งในชนเผ่านั้น ถือเป็น Sex Totem ของผู้หญิง ผู้หญิงก็จะเปล่งเสียง เยาะเย้ยดูหมิ่น เพื่อสร้างความขัดแย้งกับผู้ชาย และนี่คือการนำไปสู่การต่อสู้ด้วยไม้ การกระทุ้งด้วยไม้ของเพศหญิง และการขว้างไม้ของผู้ชาย ระหว่าง2 กลุ่ม 2 เพศ ที่ซึ่งรอยฟกช้ำ จำนวนมากเป็นสิ่งที่เสมือนการลงโทษ/ความทุกข์ทรมานหลังจากการต่อสู้สงบก็จะเป็นการฟื้นฟูซ่อมแซม และความตึงเครียดก็จะถูกกำจัดออกไป ชนเผ่าพื้นเมืองออสเตรเลีย มีความหมายว่า การทะเลาะเบาะแว้งระหว่าง 2 บุคคล หรือ2 กลุ่ม ที่เสมือนการคุกรุ่นอย่างร้อนระอุ ของวัตถุสิ่งของกับการกระทำของพวกเขา ในการต่อสู้เพื่อให้มันออกไป/ทำให้หมดไปและสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นแก่กัน สัญลักษณ์ที่ใช้เกี่ยวกับ Totem จึงเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก นี่คือ ประเพณีธรรมเนียม  ที่แสดงให้เห็นความเป็นเอกภาพของสิ่งที่ขัดแย้งตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกจำกัดขอบเขตกับสังคมที่อยู่ภายนอกกลุ่ม”(Radcliffe-Brown1958;25-26)
นี่เป็นตัวอย่างของแร็คคลิฟฟ์ บราวน์ ที่เป็นรูปแบบความคิดเชิงนามธรรม ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการรับรู้เข้าใจในความสัมพันธ์ทางโครงสร้างของความแตกต่างตรงกันข้าม ระหว่างความคิดทางวัฒนธรรม ความเป็นผู้ชายและผู้หญิง  ในบริบทของการปฎิสัมพันธ์ทางสังคม โดยการเป็นตัวแทนของระบบสัญลักษณ์(Symbolic Representation) หรือTotem ของแต่ละกลุ่ม แร็คคลิฟฟ์ บราวน์  มองว่าสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) เป็นส่วนของระบบสังคมที่สมบูรณ์ที่รวมทั้งโครงสร้างสังคมทั้งหมดที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและธรรมเนียมแบบแผนที่สังคมใช้ ที่โครงสร้างสามารถถูกแสดงและถูกสังเกตได้ และความหมายของคำศัพท์ ลักษณะท่าทาง พิธีกรรม ไม่ได้พึ่งพาอยู่บนความสัมพันธ์ภายในระบบของความคิด ความรู้สึก และทัศนคติ เท่านั้น แต่อยู่บนแนวโน้มของการเป็นหนึ่งเดียวทางสังคมและความมั่นคงที่สัญลักษณ์ได้แสดงและรักษาไว้
สำหรับนักมานุษยวิทยาสายอื่นๆ อย่าง พวกประวัติศาสตร์เฉพาะกรณี(Historical particularism)ภาพรวมทางวัฒนธรรม(Cultural Configuration)  ในช่วงก่อนปี1911 ฟรานซ์ โบแอส(Franz Boas ;1876-1960) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งสนใจเกี่ยวกับพลวัตรทางวัฒนธรรม  ในร่องรอยที่ไม่ต่อเนื่องทางวัฒนธรรมและปฎิเสธกฎเกณฑ์ที่เป็นสากลในวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม เขาจึงเน้นที่การทำงานภาคสนามอย่างเข้มข้น ในสังคมวัฒนธรรมเฉพาะแห่ง โดยการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมนุษย์ เพื่อนำมาเปรียบเทียบ โดยเขาเชื่อว่าวัฒนธรรมแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์และคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นมันจึงมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการของตัวเอง นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำว่า แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่พบในความไร้สึกนึก(Unconscious) ในรูปแบบของภาษา(โครงสร้างของภาษาอ้างถึงความไม่รู้ของผู้พูดจนกระทั่งการการแนะนำของศาสตร์ไวยากรณ์) นิทานปรัมปรา พิธีฉลอง การออกแบบทางศิลปะ รูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมและขอบเขตทางวัฒนธรรม
ในการพรรณาอธิบายรูปแบบวัฒนธรรมของชนเผ่า เขาได้แบ่งแยกปรากฎการณ์ทางภาษาศาสตร์(Linguistic Phenomena)และปรากฎการณ์ทางชาติพันธุ์วิทยา(Ethnological)ที่ซึ่งการจำแนกแยกแยะประเภททางภาษาศาสตร์ไเป็นสิ่งที่เกี่วข้องกับความไร้สำนึก ในขณะที่ปรากฎการณ์ทางชาติพันธุ์วิทยาอื่นๆ แม้ว่าในจุดเริ่มต้นจะมาจากความไร้สำนึก แต่สิ่งเหล่านี้บ่อยครั้งได้เพิ่มขึ้นไปยังความสำนึกรู้ โดยวิธีการทางภาษาศาสตร์ ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยทางชาติพันธุ์วรรณา ในทิศทางที่ตรงกันข้าม เช่นเดียวกับ เอ็ดวาร์ด สเปอร์(Edward Spir) ได้ประยุกต์ใช้ในการศึกษา ความไร้สำนึกของแบบแผนในเรื่องการใช้ถ้อยคำส่วนบุคคล และพฤติกรรม ที่นำเอาความคิดของฟรอยด์(Frued)และจุง(Jung) ซึ่งเป็นนักทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาประยุกต์ใช้ ในความคิดเกี่ยวกับจิตใต้สำนึก/ความไร้สำนึกของระบบสัญลักษณ์ กับการกำหนด การใช้ประโยชน์ที่แตกต่างของเขา ระหว่างกระบวนการกลั่นกรองสัญลักษณ์(Condensation Symbol) และการอ้างอิงสัญลักษณ์(Referental Symbol) หรือ เบเนดิก (Ruth Benedict) ที่สนใจประเด็นทางจิตวิทยา ที่ใช้การตีความหมายภาพรวมทางวัฒนธรรม โดยเขาเชื่อว่า การแสดงออกทางจิตวิทยาสัมพันธ์กับพฤติกรรมและคุณค่าส่วนบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย
เช่นเดียวกับ มาร์กาเร็ต มี๊ด(Magaret Mead) ที่สนใจโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในกระบวนการจัดระเบียบทางสังคม ทั้งหมดนี้เป็นการตีความรูปแบบทางวัฒนธรรมทั้งหมดในชุดของสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม คุณค่า และรูปแบบ ที่เป็นเสมือนระบบการสร้างความหมายแบบหนึ่ง  นอกจากนี้ยังมีนักมนุษวิทยาการระลึกรู้และมานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์ อย่างเกียร์ซ(Clifford Greezt) ที่ได้ให้นิยามหรือคำจำกัดความของศาสนา เช่นเดียวกับระบบสัญลักษณ์ รวมทั้งเขาได้พัฒนาศาสตร์แห่งการตีความหมาย          (The Humenueutics)ทางวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากนักสังคมวิทยาอย่างแม๊กซ์ เวเบอร์(Max Weber) และทาร์ค็อต พาร์สัน(Tacott Parson) มาเป็นกรอบในการอ้างอิง โดยเขาบอกว่า
แนวความคิดของวัฒนธรรม เป็นสัญศาสตร์อย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่เชื่อถือกับแม๊กซ์ เวเบอร์ ที่มองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ถูกแขวนไว้ในเครือข่ายของการสร้างความหมาย ที่ตัวเขาเองมีการเรียบเรียง ฉันยึดจับวัฒนธรรมกับการเป็นเครือข่ายเหล่านั้น และวิเคราะห์เกี่ยวกับมัน...มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ในเชิงการทดลองในการวิจัย/ค้นหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แต่มันเป็นการตีความหมายหนึ่ง ในการค้นหาเกี่ยวกับความหมาย”(Greezt,1973)
แนวความคิดของเกียร์ซ  เป็นแนวความคิดที่วางอยู่บนบุคคลและการสร้างความหมาย เขาได้ใช้ทฤษฎีเชิงปรากฎการณ์วิทยา ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับบุคคล เวลาและการปฎิบัติการ ดำเนินการ ดังเช่นการศึกษาของเขาที่บาหลี ไม่ว่าจะเป็นConduction of Bali ในปี1966 หรือ Deep play:Note on the balinese cockfight ในปี1973 ที่เกี่ยวกับการตีความสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่นการชนไก่ของผู้ชายบาหลี ที่ไก่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายและวัฒนธรรมของชาวบาหลี ในการเปรียบเทียบ คำว่า Sabange ที่ใช้สำหรับไก่ชน ถูกใช้ในความหมายถึง วีรบุรุษ นักรบ ผู้ชนะ ผู้ชายเจ้าชู้ เสือผู้หญิง หรือความแข็งแรงบึกบึน หรือแม้แต่เรื่องของการแต่งงาน การทำสงคราม การทะเลาะวิวาทในเรื่องสมบัติมรดก ก็จะถูกเปรียบเทียบกับไก่ชน ที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว องค์กรทางสังคมและการจัดช่วงชั้นทางสังคม ที่คนบาหลีบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง
นักมานุษยวิทยาอีกท่านหนึ่งที่มีความพยายามที่จะศึกษาสัญลักษณ์ในพิธีกรรม ที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางสังคมคือ วิกเตอร์ เทอร์เนอร์(Victor Turner)  ที่วิเคราะห์รูปแบบทางวัฒนธรรม พิธีกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยมองไปที่โครงสร้างทางสังคม ที่เป็นความสัมพันธ์ของสถานภาพ บทบาท กับโครงสร้างทางสังคมหน่วยต่างๆ การเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ในพิธีกรรมนั้นจะนำเราเข้าไปสู่ความเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม โดยเขามองไปที่สภาวะคุณสมบัติของโครงสร้าง 2 แบบคือ คุณสมบัติทางโครงสร้างและคุณสมบัติที่ไร้โครงสร้าง หรือStructureกับ Communitas ซึ่งสภาวะทั้งสองมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตลอดเวลา วิกเตอร์ เทอร์เนอร์ ได้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและพิธีกรรมในแอฟริกา  เขาได้ชี้จุดที่แตกต่างระหว่างวิธีการของพวกมนุษยวิทยาอังกฤษและฝรั่งเศส ในเรื่องของพิธีกรรมและสัญลักษณ์  ซึ่งเขาได้แนะนำในรายงานของเขาในการประชุมนี้ โดยแบ่งออกเป็น3ส่วน คือ 1) ปฎิบัติการทางความหมาย(Operational meaning) 2) การศึกษาการอธิบายความหมาย(exegetical meaning) 3)การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของความหมาย(positional meaning) ที่เป็นเหมือนหนทางของการเชื่อมโยงสำหรับสองสำนักทางมานุษยวิทยานี้  นี่คือสิ่งที่เทอร์เนอร์ ได้ใช้ในการศึกษาพิธีกรรม ที่เป็นรูปแบบทางวัฒนธรรม เทอร์เนอร์ ได้ศึกษาการแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ กระบวนการทางพิธีกรรม ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึงไปสู่อีกสถานะหนึ่ง สภาวะที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านก็คือสภาวะคุณสมบัติที่ไร้โครงสร้าง หรือช่วงเวลาที่เรียกว่าช่วงชายขอบ(Liminal period/Liminality) ที่สร้างความหมายสัญลักษณ์ในพิธีกรรม เพราะคุณสมบัติแห่งช่วงชายขอบ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิด วรรณกรรมปรัมปรา สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม รวมทั้งศิลปะและระบบปรัชญาด้วย(Turner,1970;p.128-130)
แมรี่ ดักลาส(Mary Douglas) ก็เป็นอีกผู้หนึงที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาทางสัญลักษณ์ พิธีกรรมและกิจกรรมทั้งหมด ในการสร้างเกี่ยวกับความจริงทางสังคมในทุกๆวัน โดยเฉพาะความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคม  ความสกปรก ร่างกาย อาหาร  การครอบครองวัตถุ คำพูดตลกและถ้อยคำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องทาง      โภชนศาสตร์ หรือเรื่องทางการแแพทย์  เรื่อองความรวย ความเสี่ยง แต่มันเป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรม เมื่อเขาศึกษา เรื่องความบริสุทธิ์(Purity)และมลทิน(Pollution) ความสกปรก ความสะอาด ที่เป็นเรื่องของการจัดระเบียบ และเป็นเรื่องของโครงสร้างทางความคิด  คล้ายคลึงกับการจำแนกระบบวรรณะในอินเดีย ดักลาส ได้ขีดร่างธรรมเนียมทางวัฒนธรรมไปยังการอธิบายกระบวนการที่เฉพาะทั่วไป ในกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ที่เรียกว่า Moral Order ซึ่งความสกปรก ความเบี่ยงเบน ความผิดปกติ และวัตถุอื่นก็ถูกสังเกตเช่นเดียวกับมลทิน/มลภาวะ(Pollution) ที่เปิดเผยให้เห็นความสำคัญของวัตถุสิ่งของ กับระเบียบกฎเกณฑ์ของการจำแนกแยกประเภท โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับขอบเขตทางสัญลักษณ์ ที่แบ่งแยกสังคม กลุ่มคนและปัจเจกบุคคล  
แมรี่ ดักลาสค่อนข้างสนใจ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการอธิบายทางสุขวิทยา(Hygienie) ในแนวทางเดียวกับรูปแบบธรรมเนียมความเชื่อในพระเจ้าและวิญญาณ  ที่สังคมไม่ใช่รูปภาพของความจริง ที่ถูกปกป้องไว้ ไม่ใช่โดยการมีอยู่ของมันที่เรามองเห็นมันเช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์และอันตรายเท่านั้น แต่เป็นการดำรงอยู่ของความจริงด้วย ดักลาสต้องการยืนยันถึงพื้นฐาน ศีลธรรม จรรยามารยาทของสังคม ที่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมและความรู้สึกร่วมกัน  ที่ถูกสร้างขึ้น ผ่านความสะอาด สกปรกของวัตถุ  วัตถุเป็นสิ่งที่ไม่ได้สะอาด สกปรกในตัวของมันเอง  มันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ผิดที่ผิดทาง (Out of Place) ที่สร้างบางสิ่งให้สกปรก ถ้าสิ่งที่ปกติมันวางอยู่บนโต๊ะหรือในอาหาร  หรือถ้ามันวางอยู่บนพื้นดินและมูลสัตว์ ดังที่ดักลาสบอกว่า
พวกเราเป็นสิ่งที่ออกไปจาก คำจำกัดความที่เก่าแก่ของความสกปรก เช่นเดียวกับสสารที่วางอยู่ผิดที่ผิดตำแหน่ง(Out of Place)  นี่คือความเกี่ยวข้องกับสภาพเงื่อนไข 2 อย่าง ในชุดของความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์และความขัดแย้งของระเบียบกฎเกณฑ์ ความสกปรก(Dirth) เป็นสิ่งที่ไม่เคยเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกแยกออกจากเหตุการณ์ ซึ่งความสกปรกเป็นระบบ ความสกปรกเป็นผลผลิต เป็นผลพลอยได้ ของการวางกฎเกณฑ์ของระบบ และการจำแนกแยกแยะประเภทของสสาร ในกฎเกณฑ์ทั้งหมดที่ปฎิเสธความไม่เหมาะสมของส่วนประกอบ...”
ดักลาส เชื่อมโยงความคิดเกี่ยวกับความสกปรกนี้กับสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจน เกี่ยวกับความคิดเรื่องความบริสุทธิ์ ศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์  พร้อมกับคำอธิบายทางศีลธรรม ในแต่ละระบบของการจำแนกแยกแยะ การจัดประเภทของความสกปรก ความสะอาด ที่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์และการจัดประเภททางความคิด โดยผ่านระบบสัญลักษณ์
ความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยาสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่นิยม โครงสร้างหน้าที่นิยม สัญลักษณ์นิยมและแนวความคิดเรื่องวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับเรื่องของปัจเจกบุคคล กลุ่มและสังคม ที่สร้างสัญลักษณ์ ความหมายทางสัญลักษณ์และการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่นำไปสู่สัญลักษณ์ทางภาษา ในการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะ  ภายใต้ความสัมพันธ์ ระหว่างปัจเจกบุคคล สังคม ความคิด วัตถุและการสร้างความหมาย โดยศึกษาและสังเกตผ่านตัวพิธีกรรม ประเพณีทางศาสนา  พิธีเฉลิมฉลอง  และปรากฎการณ์ทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือสัญญะ ผ่านวัตถุ สิ่งของในพิธีกรรม หรือการใช้ภาษา ผ่านการเล่านิทานปรัมปรา บทสนทนา คำเรียกเครือญาติ ภาษาพื้นเมือง บทสวดมนต์ขับไล่วิญญาณความชั่วร้าย หรือการบวงสรวงเทพเจ้าของชนเผ่า  ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากเรื่องของวัฒนธรรม ไปสู่เรื่องของภาษา ที่สอดคล้องกับวัตถุ(Object) และความคิด(Subject)ในการให้ความหมาย(meaning) ที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ ภาษากลายเป็นเครื่องมือให้เราสามารถศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมได้ การศึกษาความคิด ที่สัมพันธ์กับเรื่องของภาษา ได้รับการพัฒนาโดยนักมานุษยวิทยาสายโครงสร้างนิยม อย่างเลวี่ สเตร๊าท์ ที่เป็นการพยายามค้นหากฎเกณฑ์ภายใต้จิตใต้สำนึกของมนุษย์ ซึ่งผู้ศึกษาต้องการจะเน้นและนำไปสู่ความคิดเรื่องสัญศาสตร์และสัญวิทยา ของโซซูร์และเพิร์ซ
ความคล้ายคลึงในความคิดเกี่ยวกับรูปสัญญะ(Signifier) และความหมายสัญญะ(Signified) เช่นภาพเหมือนที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสัญญะและวัตถุ ในคุณลักษณะที่คล้ายคลึงของมันที่เป็นรูปสัญญะ และความหมายของมันที่ถูกยอมรับ หรือสัญลักษณ์ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะและความหมายสัญญะ จากการเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็น โดยความต้องการกิจกรรม การกระทำในการตีความหมายและสร้างความหมายที่เชื่อมต่อ อาจกล่าวได้ว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ ในตความคิดของโซซูร์ เทียบได้กับความคิด เรื่องวัตถุ(Object) สัญญะ(Sign)และองค์ประธาน(Subject) ที่วัตถุ ความหมาย เชื่อมโยงกับการกระทำของผู้ตีความหมายและสร้างความหมาย ที่ผ่านระบบของการติดต่อสื่อสาร ดัง ที่เพิร์ซ บอกว่า ความจริงอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างระมัดระวัง ที่จำเป็นจะต้องยอมรับ เช่นเดียวกับความจริงจนกว่าจะถูกโต้แย้งปฎิเสธ โดยการยอมรับในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันรับประกันอย่างแน่นอนทั้งหมดว่า ปัจเจกบุคคลโดยตัวพวกเขาเองสามารถที่จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในความถูกต้องของการพิจารณาตัดสิน เกี่ยวกับการรับรู้เข้าใจ อย่างค่อนข้างเป็นลำดับต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่เพิร์ซ ให้ความสำคัญกับความพยายามในการผลิตและจัดการในการตีความหมายอย่างระมัดระวังรอบคอบ ซึ่งแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยกับความคิดทางสัญวิทยาของโซซูร์ ที่Singer(1984) แสดงให้เห็นใน   ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสัญวิทยาและสัญศาสตร์ ดังนี้









จุดของการเปรียบเทียบ
สัญศาสตร์ของเพิร์ซ
สัญวิทยาของโซซูร์
1.เป้าหมายในทฤษฎีเกี่ยวกับสัญญะ
เกี่ยวกับปรัชญา(Philosophical)
,Normative
กระบวนการสังเกตการณ์ (observation)
การอธิบายพรรณา(Descriptive)
ความเฉพาะทางภาษา(Generalized Language)
2.ขอบเขตเรื่องราวหรือเนื้อหาที่สำคัญ
ตรรกศาสตร์(Logic)
คณิตศาสตร์(Mathermatics)
วิทยาศาสตร์(Science)
บทสนทนาข้อเขียนที่ไม่เป็นทางการ
ในภาษาอังกฤษ (Colloquial English)
เน้นตรรกะเป็นศูนย์กลาง(Logic Centered)
ภาษาธรรมชาติ(natural Language)
วรรณคดี(Literature) ตำนาน(Legends)
นิทานปรัมปรา(Myth)
ภาษาเป็นศูนย์กลาง (Language- centered)
3.ความสัมพันธ์ของสัญญะ
และความเป็นวัตถุสิ่งของ
สัญญะ(Sign) เป็นความสัมพันธ์
สามส่วน(Triadic)ของสัญญะ(sign/repretamen),วัตถุ (object)และการตีความหมาย(interpretant)
สัญญะเป็นสิ่งที่เป็นความสัมพันธ์เชิงทวิลักษณ์ (Dyadic)
ระหว่างรูปสัญญะ(Signifier)กับความหมายสัญญะ(Signified)
4.สัญญะทางภาษาศาสตร์(Linguistic Sign) เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็น(arbitrary)
แต่มันยังรวมถึงสัญญะธรรมชาติ(NaturalSign) ภาพเหมือน(Icon) และดัชนีบ่งชี้(Indext)
แต่ปรากฎความจำเป็นสำคัญสำหรับผู้พูดเกี่ยวกับภาษา
5.การศึกษาเกี่ยวกับการดำรงอยู่ มีอยู่ของวัตถุแห่งสัญญะ(Object of Sign)
ถูกตั้งสมมติฐานล่วงหน้า เกี่ยวกับการดำรงอยู่หรือ
มีอยู่จริงของสัญญะ
ไม่ได้กำหนดแต่ถูกตัดสินใจและพิจารณาโดยความสัมพันธ์ทางภาษา(Linguistic Relation)
6.ญาณวิทยาของปรากฎการณ์วิทยา ประจักษ์นิยมประสบการณ์นิยม อัตตะ(Ego)หรือองค์ประธาน(Subject)
รวมเข้าไปยังการวิเคราะห์ทางสัญศาสตร์ (Semiotic Analysis)
ถูกสมมติฐานเบื้องต้น แต่ไม่ได้รวมเข้าไปในการวิเคราะห์
เชิงสัญวิทยา (Semiological Analysis)




จากตารางข้างต้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือความแตกต่างของหัวข้อเนื้อหาที่สำคัญและวิธีการศึกษาที่มีความแตกต่างกันระหว่างสัญศาสตร์และสัญวิทยา สามารถเป็นสิ่งที่ถูกสรุปในชุดของความแตกต่างที่สำคัญ โดยสัญวิทยาเป็นสิ่งที่เน้นภาษาเป็นศูนย์กลาง ที่มีพื้นฐานอยู่บน 3 ข้อสมมตติฐานคือ
           1)ภาษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดของระบบสัญญะทั้งหมด
2)ข้อสมมติฐานของระบบสัญญะอื่นๆทั้งหมด เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ของภาษา
3)ภาษาศาสตร์ เช่นเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาเกี่ยวกับภาษาที่ได้ให้รูปแบบที่ดีที่สุด สำหรับการศึกษเกี่ยวกับระบบสัญญะอื่นๆทั้งหมด
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสัญวิทยา  เป็นการศึกษาชนิดประเภทของระบบสัญญะ รวมทั้งวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับรูปแบบทางภาษา หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกระบวนการตีความหมายทางภาษาศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ในขณะที่สัญศาสตร์เป็นสิ่งที่สนใจในกระบวนการของการติดต่อสื่อสาร และเน้นการเอาตรรกะเป็นศูนย์กลาง ที่สนใจประเภทชนิดของสัญญะที่เป็นภาพเหมือน ดัชนี สัญลักษณ์ และความสัมพันธ์กับวัตถุของพวกเขา  ในการตีความหมายของพวกเขา ที่เป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ในรูปแบบทางภาษาที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสมการ แผนภาพและไดอะแกรม และแนวคิดในเรื่องของความหมายสัญยะหรือการกำหนดวัตถุ เช่นเดียวกับสิ่งที่ไม่สำคัญจำเป็น เหมือนเปลือกนอก  แต่มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญในแง่ของการนำไปสู่การแสดงออกที่เป็นไปได้ ในผู้แปลหรือตีความหมายมัน นี่เองที่เป็นจุดต่างสำคัญ กับความคิดของโซซูร์ ที่ปฎิเสธเรื่องของตำแหน่งแห่งที่ ในการกำหนดวัตถุ สิ่งของ เนื้อหาสาระ ซึ่งถูกรักษาไว้เช่นเดียวกับจุดที่แตกต่างทางภาษาศาสตร์ ที่เป็นเหมือนกับการสร้างข้อผูกมัดหรือพันธนาการในรากฐานทางวัตถุ หรือความเชื่อในการมีอยู่จริงเริ่มต้นของวัตถุสิ่งของในการกำหนดการตัดสินใจของเรา ในขณะที่โซซูร์ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างภาพประทับของจินตนาการ ภาพประทับของเสียง และความคิด ที่เรียกว่า การกำหนดให้เป็นของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ ที่โซซูร์ให้ความสำคัญกับตัวความคิด (Concept)และระบบกฎเกณฑ์(Langue) มากกว่ารูปสัญญะ
การกำหนดเนื้อหา ขอบเขตและวิธีการ ที่แตกต่างของสัญวิทยาและสัญศาสตร์ อันมีรากฐานมาจากโซซูร์และเพิร์ซ ทำให้มีผู้ติดตามที่มากมาย ในการประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาเชิงสัญญะ ดังเช่นสัญศาสตร์ของความไร้สำนึกของลากอง(Jacques-Lacan) สัญศาสตร์ในรหัสเกี่ยวกับเครือญาติและนิทานปรัมปราของเลวี่-สเตร๊าท์(Levi-Strauss) สัญศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความขัดแย้งในสังคมของออทุสแซร์(Louis Authusser) สัญศาสตร์ทางวรรณคดีของบาร์ธ(Roland Barthes) และสัญศาสตร์เกี่ยวกับวาทกรรมทางประวัติศาสตร์และเอกสารหลักฐานของฟูโก(Micheal Foucault) และอัมเบอร์โต้ อีโก้(Umbeto Eco) ในสัญศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุคAvant-garde โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes1915-1980) นักวรรณคดีวิจารณ์และนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับโซซูร์ ในคู่ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ ที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาไปสู่การศึกษารหัสทางวัฒนธรรม ที่มีโครงสร้างเหมือนภาษา 
การก้าวข้ามในการศึกษาสัญญะ จากการเริ่มต้นมองไปที่วัตถุ การให้ความหมายหรือการตีความหมาย ไปสู่เรื่องของภาษา รหัสทางวัฒนธรรม เพื่อค้นหาโครงสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดความคิด คุณค่า ค่านิยม มาเป็นการศึกษาตัวบท โดยให้ความสำคัญกับงานเขียน ที่กลุ่มพวกโครงสร้างนิยมและภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง อย่างโซซูร์และเลวี่ สเตร๊าท์ ได้ละเลย โดยให้ความสำคัญของภาษาพูดมากกว่า การเขียน ที่ถูกมองว่า เป็นทรราชหรือกบฎ ที่มีความร้ายกาจหรือเชื้อโรคที่ทำให้ธรรมชาติของการพูดการใช้ภาษาเสื่อมโทรม  ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญะ จึงควรที่จะแสดงให้เห็นความเป็นสัญญะที่หลากหลายภายใต้วัตถุ บทสนทนา ตัวบท ที่เกี่ยวกับสัญญะนั้นๆ เพื่อให้เราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ในลำดับชั้นในความสลับซับซ้อนของสัญญะที่เป็นเรื่องของวัตถุ บทสนทนา  และตัวบทอันหลากหลาย ซึ่งถูกใช้โดยบุคคลหลายกลุ่ม



[1] Sign ในความหมายนี้หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นสัญศาสตร์ (Semiotic) และ สัญวิทยา (Semiology)
[2] โดยต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ “I therefore claim to show not how men think in myths ,but how myths operate  in men’s minds without their being aware of the fact”
[3] อ่านแนวคิดดังกล่าวได้ใน งานของ C.K  Ogden and I.A.Richard (1972) “The Meaning of Meaning : A Study  the influence of language upon thought  and of the science of Symbolism”ในหนังสือเล่มนี้ในภาคผนวก ยังมีบทความของMalinowski ชื่อ The problem of meaning in primitive language(1923) ที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของศาสตร์เชิงสัญลักษณ์และการให้ความหมาย ที่ถูกแสดงในงานของogden และRichard โดยการวิเคราะห์การออกเสียงของคนป่า ซึ่งแสดงให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาของการให้ความหมาย ที่จำกัดอยู่เฉพาะนักภาษาศาสตร์เท่านั้น ไปยังการศึกษาทางวัฒนธรรมและจิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงภาษาศาสตร์กับการศึกษาทางชาติพันธุ์ โดยเขาเน้นถึงแนวคิดที่ว่าด้วย สถานการณ์ทางสัญญะ(Sign –situation)และบริบททางสถานการณ์(Context of situation) ซึ่งภาษาในหน้าที่ของคนพื้นถิ่นเป็นเช่นเดียวกับ รูปแบบของการกระทำ (Mode of action) โดยการวิเคราะห์ สถานการณ์ของถ้อยคำ(speech -situation)ระหว่างคนป่า(Savage) การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับถ้อยคำของคนท้องถิ่นที่สำคัญ ที่เป็นเช่นเดียวกับ ถ้อยคำในการกระทำ(speech-in-action)

[4] Kula  Ring คือการค้าระหว่างเผ่าในหมู่เกาะโทรเบรียนด์ โดยมีกฎเกณฑ์หรือหลักการ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนวัตถุ 2ประเภท คือสร้อยข้อมือที่ทำจากเปลือกหอยสีขาว(Arm-shells) ที่เรียกว่า Mwali และสร้อยคอทำจากเปลือกหอยสีแดง(Necklaces) ที่เรียกว่า Soulava ซึงวงจรของKula เป็นเหมือนเครือข่ายของความสัมพันธ์ (network of Relationship) และกฎเกณฑ์ของความเป็นหุ้นส่วนทางการค้า (Rules of Partnership) อ่านได้ในงานของมาลีนอฟสกี้(1953) เรื่อง  Argonauts of western pacific  an account of native enterprise and advenue in the Archiplesoes of Malanesian New Guinea ในบทที่สาม เรื่อง The Essentials of The Kula

[5] ทั้งสามคนเป็นชาวฝรั่งเศส เดอร์กไคม์(1858-1917) และก็อมต์(1789-1857) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชาทางสังคมวิทยา ที่ทำให้สังคมศาสตร์เป็นศาสตร์เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่สามารถศึกษาโดยการสังเกต  ทดลอง เปรียบเทียบและวิเคราะห์และเข้าใจความจริงในปรากฎการณ์ทางสังคมได้  เช่น งานเรื่องการฆ่าตัวตาย(Suicide) ของเดอร์ ไคม์ ในปี1897 ที่แสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายของปัจเจกบุคคลในแต่ละสังคมว่ามีสาเหตุทางสังคมอะไรบ้าง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของก็อมต์ ที่มองว่าความจริงทางประวัติศาสตร์สังคม ไม่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจหรืออำนาจของปัจเจกบุคคลแต่เกี่ยวกับระบบสังคมหรือกฎเกณฑ์ของสังคม ในขณะที่มองเตสกิเออร์(1689-1755) นักปรัชญาและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้นำเสนอทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจของสถาบันการเมืองออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพื่อควบคุมตรวจสอบ คานอำนาจ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง  เขามีความคิดทางการเมืองว่า สังคมการเมืองเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ธรรมชาติ4 อย่างที่ทำให้มนุษย์รวมตัวเป็นสังคมการเมือง คือ ความต้องการสันติภาพ ความต้องการแสวงหาสิ่งต่างๆเพื่อบำบัดความต้องการ ความต้องการคบหาสมาคมกับคนอื่นๆ และความปรารถนาที่จะอยู่ในสังคมที่เป็นระเบียบ เรียบร้อยที่แสดงให้เห็นแนวความคิดเรื่องสังคมของเขา ที่มีบทบาทอย่างมากในทางการเมืองของฝรั่งเศสในสมัยนั้น

2 ความคิดเห็น:

  1. ช่วยสรุปให้ได้ไหมคะ อ่านแล้วไม่เข้าใจเลย

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...