วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

งานวิจัยที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ในเลย ต่อ

ประเด็นทางด้านสุขภาพ
                การศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสุขภาพ ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเฉพาะมาตรา 67 วรรค 2 ที่ได้กำหนดให้มีการจัดทำรายงานโครงการที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โครงการพัฒนาต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้ประเด็นในเรื่องสุขภาพถูกนำเสนอทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สาธารณสุขจังหวัด หรือองค์กรภาคเอกชน เช่น บริษัทหรือกลุ่มทุนที่เข้ามาดำเนินกิจการ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ขับเคลื่อนเรื่องนโยบายสาธารณะ รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ ที่นำกรณีดังกล่าวมาใช้เป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแลด้อมและสุขภาพของประชานในพื้นที่ ซึ่งงานศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย ที่ทำการสำรวจคุณภาพของแหล่งน้ำ ผิวดิน เพื่อหาการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆและโลหะหนักจากการะบวนการทำเหมืองและการแยกแร่ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน งานที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้มีดังนี้
                เอกสารประกอบการประชุม รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  โครงการเหมืองทองแดง บริษัทภูเทพจำกัด (มปพ.)
                เอกสารชิ้นนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองทองแดง บริษัทภูเทพจำกัด เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านต่อการกำหนดเขตการทำเหมืองแร่และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบริษัท โดยนำเสนอให้เห็นโครงการนี้ว่าเป็นความร่วมมือของบริษัทผาแดง อินดัสทรี จำกัดกับบริษัทแพน ออส จำกัด ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัทภูเทพจำกัด เมื่อปีพ.ศ. 2549 หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากกรมทรัพยากรธรณีให้ทำการสำรวจ หาศักยภาพแหล่งแร่ทองแดง ปริมาณแร่สำรองแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราที่ 67 โดยบริษัทได้ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการมีเหมืองทองแดงในประเทศไทย เพราะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งที่ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองแดงกระจายอยู่หลายพื้นที่ เช่น จังหวัดเลย อุดรธานี และหนองคาย แต่ก็ยังไม่มีบริษัทใดขอสัมปทานเพื่อทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าวที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการลงทุน สำหรับในพื้นที่ดำเนินการของบริษัทภูเทพ จะตั้งอยู่ที่ตำบลนาดินดำ ในเขตอำเภอเมือง และตำบลท่าสะอาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลยรวมพื้นที่ 4,026.5 ไร่ พร้อมทั้งให้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำเหมืองและกระบวนการแต่งแร่ จากนั้นก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สิ่งที่น่าสนใจก็คือข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองแดง ภูเทพ ของจังหวัดเลย คือ เรื่องของที่ดิน จากการขุดเหมือง  เรื่องป่าไม้ ฝุ่นละอองในอากาศ คุณภาพดิน และน้ำ นิเวศวิทยาสัตว์น้ำที่ได้รับจากกระบวนการทำเหมือง การแยกแร่ และการขนส่ง โดยบริษัทได้ระบุถึงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ออกเป็น 3 ระยะ คือ
1.             การศึกษาความเป็นไปได้ในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์แนวทางสำหรับจัดทำรายงาน โครงการหรือกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดปัญหากระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการขอความเห็นของชุมชนท้องถิ่นด้วย
2.             การวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จะกระทำหลังจากได้รับการยอมรับจากชุมชนให้มีการศึกษาแล้ว
3.             เมื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว ต้องจัดทำร่างรายงานพร้อมทั้งเปิดเวทีทบทวนร่างรายงานดังกล่าว
สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือกระบวนการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่และสื่อมวลชนที่จะต้องรับรู้และให้ความเห็นร่วมกัน ซึ่งเป็นมิติใหม่ของกระบวนการพัฒนาที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นและจะต้องได้รับการยอมรับและรับรองโดยประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
                เช่นเดียวกับหนังสือ เปลี่ยนไปเลย ชะตากรรมของเหมืองเลยภายหลังจากการเข้ามาของเหมืองทองคำ สำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 2553 งานศึกษาชิ้นนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาวะ ที่มีความหมายนอกเหนือไปจากเรื่องของโรค พฤติกรรมทางสุขภาพของคนและพันธุกรรม ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีอิทธิพลต่อเรื่องสุขภาวะ แต่ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ  สภาพแวดล้อม การศึกษา การแพทย์ สาธารณสุข สิทธิมนุษยชนและอื่นๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพ โดยนโยบายสาธารณะและโครงการพัฒนาระดับต่างๆได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยกำหนดสุขภาพที่ส่งผลกระทบทางด้านลบ ที่นำมาสู่ปัญหาสุขภาพในหลายมิติทั้งความเครียดและความขัดแย้งในชุมชน โดยการดำเนินนโยบายหรือการตัดสินใจในโครงการพัฒนาต้องอาศัยข้อมูลด้านต่างๆโดยเฉพาะการประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายหรือการพัฒนาในโครงการนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า ซึ่งกระบวนการพัฒนาที่ผ่านมาประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มีโอกาสเข้าร่วมตัดสินใจหรือแสดงข้อมูลหลักฐานประกอบการตัดสินใจ แต่รัฐธรรมนูญปี2550 ได้เปิดโอกาสให้คนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรในชุมชนของตัวเองและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในนโยบายและโครงการพัฒนามากขึ้น
                ประเด็นที่น่าสนใจในงานนี้ก็คือ การให้ข้อมูลพื้นฐานของชุมชนที่อยู่โดยรอบเหมือง ผลกระทบทางด้านต่างๆที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าประชากรจำนวน 9,674  คน ใน 2,727 ครัวเรือน ใน 6 หมู่บ้านที่อยู่รอบเหมือง ไม่ว่าจะเป็นบ้านภูทับฟ้าพัฒนา บ้านนาหนองบง บ้านห้วยผุก บ้านกกสะทอน บ้านแก่งหิน และบ้านโนนผาพุง ในตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  ที่ต้องเจอกับขุมเหมือง โรงแต่งแร่และบ่อกักเก็บกากแร่ของบริษัททุ่งคำ จำกัดที่ตั้งอยู่ที่ภูทับฟ้า  ซึ่งกระบวนการแต่งแร่เพื่อแยกแร่ทองคำ ส่งผลให้น้ำมีโลหะหนักปนเปื้อน จำพวกสารหนู แคดเมียม ตะกั่วและแมงกานีส ที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำผิวดินและใต้ดิน  โดยการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สาธารณสุขจังหวัดเลย ที่อ้างผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำพบสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำกินน้ำใช้ระบบประปาบาดาลของชาวบ้านนาหนองบง และเตือนประชาชนห้ามนำน้ำดังกล่าวมาใช้อุปโภคบริโภค โดยทางอำเภอแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านเบื้องต้นโดยนำรถบรรทุกน้ำวิ่งบริการจัดน้ำดื่มน้ำใช้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็ไม่เพียงพอกับชาวบ้าน จนชาวบ้านต้องรับภาระในการซื้อน้ำกินน้ำใช้เอง อีกทั้งพืชผักและปลาจากลำห้วยไม่สามารนำมาบริโภคได้
รวมทั้งในปีพ.ศ. 2551 โรงพยาบาลวังสะพุง จังหวัดเลย เข้ามาสุ่มตรวจสารไซยาไนด์ในกระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่6 หมู่บ้านรอบเมืองจำนวน 279 คน พบสารไซยาไนด์ในเลือด 54 คน ในจำนวนนี้มีค่าเกินมาตรฐาน 20 คน ทำให้รู้ว่ามีสารปนเปื้อนจากเหมืองแร่ลงสู่แหล่งน้ำและดินในพื้นที่ ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การทำงานเพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพในพื้นที่โครงการเหมืองแร่ต่างๆของจังหวัดเลย สอดคล้องกับผลการศึกษาเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารพิษลงแหล่งน้ำดังกล่าวถูกเปิดเผยและนำเสนอโดย สำนักสารนิเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (2553)  ที่มีการเตือนเรื่องการปนเปื้อนสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ รอบเหมืองทุ่งทองคำในปริมาณที่อาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยตรวจพบสารพิษหลายชนิดเช่นสารหนู แคมเมี่ยมและแมงกานีสโดยสาธารณสุขจังหวัดประกาศห้ามกินห้ามใช้น้ำจากพื้นที่ที่เกิดการปนเปื้อนของสารพิษดังกล่าว (อ้างจาก Http://www.mopha.go.th/ops/iprg/include/adminhotnow) สอดคล้องกับผลการศึกษาและผลตรวจเลือดของประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยซึ่งประกอบด้วย บ้านห้วยผุก บ้านกกสะทอน บ้านนาหนองบง บ้านแก่งหิน บ้านโนนผาพุงพัฒนา และ บ้านภูทับฟ้า จำนวน 474 คน จากโครงการศึกษาวิจัย การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพประชานผู้อาศัยรอบเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ปีงบประมาณ 2552” ที่เจาะเลือดระหว่างวันที่ 5-6, 19-21 มิถุนายน 2553 ดำเนินการโดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย (สสจ.เลย) ร่วมกับ รพ.วังสะพุง เพื่อส่งตรวจหาสารไซนาไนด์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และส่งตรวจสารโลหะหนัก (ปรอทและตะกั่ว) ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์นี้พบว่า มีสารโลหะหนักโดยเฉพาะปรอทปนเปื้อนในเลือดของทุกคน โดย 38 คนมีค่าเกินมาตรฐาน นอกจากนี้พบมีไซยาไนด์ในเลือด จำนวน 348 คนโดย 84 คนมีค่าเกินมาตรฐาน มีเพียง 103 คนที่ไม่พบไซยาไนด์ในเลือด ขณะเดียวกันยังพบสารตะกั่วในเลือดของทุกคนอีกด้วย

ประเด็นเรื่องความขัดแย้ง
งานวิจัยของ พรสวรรค์ สุวัณณศรีย์ (2550) การจัดการความขัดแย้งของชุมชน : การใช้ภาษาในการเจรจาไกล่เกลี่ยของพิพาทของผู้นำชุมชน ในตำบลนาดินดำ อำเภอเมือง จังหวัดเลย
ผู้ศึกษาได้ศึกษากรณีปัญหาต่างๆที่เป็นข้อขัดแย้งของชุมชน โดยสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยในชุมชนพบว่า 3ประเภทของความขัดแย้งที่เกิดในชุมชน อันดับแรกคือ การกะทำอนาจารล่วงละเมิดทางเพศ การละเมิดสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และการทะเลาะวิวาทในหมู่บ้าน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้สำเร็จก็คือ คุณลักษณะของผู้นำหรือคนกลางที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยและความร่วมมือของคู่กรณี ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูล ความเชื่อ ความศรัทธาและการยอมรับในกระบวนการยุติธรรมของชุมชน โดยการสื่อสารจะใช้ภาษาท้องถิ่นของชุมชนเป็นหลักในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้ง การใช้คำถามที่ทำให้คู่กรณีเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เน้นการสอบสอนเพื่อหาหลักฐานมายืนยันและการพูดจาโน้มน้าวจูงใจเพื่อเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งไปสู่ความสมานฉันท์ การเจรจาต่อรองเพื่อหาจุดร่วมในกรณีปัญหาและทางออกของปัญหา รวมทั้งการอ้างถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านในการจัดการความขัดแย้งในอดีต
งานดังกล่าวข้างต้นแตกต่างจากงานศึกษาแนวทางการแก้ไขความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในเขต ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  ของ ผศ.ไชยวุฒิ มนตรีรักษ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (2553) งานชิ้นนี้มุ่งศึกษาทัศนคติและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติของประชาชนในจังหวัดเลยที่มีต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย และเปรียบเทียบทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและการสร้างธรรมาภิบาลในของเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษาสถานะของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางด้านสังคมของผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ และศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งกรณีเหมืองแร่จังหวัดเลยตั้งแต่ปีพ.ศ.2547-2552 และการจัดการความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ โดยศึกษาประชาชนจำนวน 458 คน โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มและการจัดเวทีเสวนา ผลการศึกษาพบว่า ทัศนคติของประชาชนต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย มีความต้องการให้องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากที่สุด โดยที่ประชาชนที่มีภูมิลำเนาที่แตกต่างกันมีทัศนคติเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่แตกต่างกัน โดยที่สถานภาพของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำนั้น ไม่ได้ทำตามข้อเสนอในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วนทุกกรณีปัญหา ในเรื่องของการปนเปื้อนสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำพบว่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ระดับสารแคดเมียม สารหนูและแมงกานีส เกินมาตรฐาน ทำให้เรื่องของการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบกิจการเหมืองจะต้องปรับปรุงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือเพื่อความมั่นใจของประชาชน
สิ่งที่น่าสนใจในงานชิ้นนี้คือเรื่องของความขัดแย้ง ที่แตกต่างจากงานของพรสวรรค์ สุวัณณศรีย์ ที่พูดถึงประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่อำเภอเขาหลวง โดยเน้นแต่เรื่องของ การทำอนาจาร ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท และความขัดแย้งในเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยไม่มีเรื่องของความขัดแย้งจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ ในงานของ ไชยวุฒิ มนตรีรักษ์ สะท้อนให้เห็นในประเด็นความขัดแย้งของการดำเนินเหมืองแร่ทองคำ ในระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2547-2552) ที่เริ่มต้นเป็นจุดสนใจจากการเปิดประเด็นในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ อันนำไปสู่การเคลื่อนไหวของประชาชนชนพื้นที่ ที่ยื่นหนังสือและชุมนุมประท้วงหลายครั้งและแนวโน้มในอนาคตอาจทวีวามรุนแรงมากขึ้น และยังเสนอว่า การให้ข้อมูลกับประชาชนและสาธารณะที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ จะทำให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และไกล่เกลี่ย แก้ไขข้อขัดแย้ง และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ประเด็นสำคัญก็คือ ประเด็นนำเสนอเรื่องความขัดแย้งในกรณีปัญหาใหญ่ๆ เช่น ความขัดแย้งเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม ความขัดแย้งกรณีการได้รับผลกระทบจากการพัฒนา การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวกับการลงทุนขนาดใหญ่  มีจำนวนหนึ่ง แต่ความขัดแย้งระดับพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน มีการศึกษาวิจัยค่อนข้างน้อย  โดยเฉพาะเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ธาตุในท้องถิ่น โดยผู้ศึกษามองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องของความกลัว  ความกังวลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและปัจจัยอื่นๆ เงินปัจจัยการเมืองของพื้นที่ความขัดแย้ง ปัจจัยที่ชุมชนต้องการเสริมอำนาจในการเจรจาต่อรองกับรัฐและกลุ่มทุนได้ การผนึกรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อต่อสู้และเชื่อมโยงกับเครือข่ายปัญหาอื่นๆ ทำให้ปัญหาดังกล่าวถูกนำเสนอต่อสาธารณะในวงกว้าง อีกทั้งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังมีระดับของตัวปัจเจกบุคคล ในแง่ของการรับรู้ข้อมูลที่ผิด นำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับความรู้ในข้อมูลข่าวสาร ปัญหาในแง่ของการสื่อสาร  อันนำไปสู่การไม่สามารถจำแนกข้อเท็จจริงและยอมรับในเหตุและผลที่ถูกต้องได้ ซึ่งไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ โดยผู้วิจัยสนใจแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ในเขตตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย  เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านท้องถิ่นและผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ให้ลดน้อยลงและสามารถอยู่ร่วมกันได้
ในอีกประเด็นหนึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ในเรื่องของความไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐ ดังเช่นงานเขียนของกลุ่มศึกษาสัญญาและสัมปทาน สัมปทาน วารสารอีเล็คโทนิค  ปีที่1 ฉบับที่1 กรกฎาคม-กันยายน 2553 เขียนบทความเรื่องผีเน่ากับโลงผุ ในองค์กรเหมืองแร่ โดยกล่าวถึงการลงมาพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ของบริษัททุ่งคำ จำกัด ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ภายใต้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ซึ่งผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการลงพื้นที่และบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานบางคนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการทำเหมืองแร่และเป็นที่ปรึกษาบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการออกแบบและดำเนินการทำเหมืองแร่ต่างๆของประเทศไทยรวมทั้งตั้งข้อสงสัยกับอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบการทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ต่างๆในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยกลุ่มคนรักบ้านเกิดได้แสดงการไม่ยอมรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงที่รับจ้างกลุ่มทุนในการศึกษาวิจัยโครงการให้กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการจัดทำแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ (กรมทรพยากรธรณี) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตเกลือสินเธาว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ และโครงการพัฒนาวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีและเหมืองทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด บทความชิ้นนี้เรียกร้องให้สังคมไทยตั้งคำถามต่อองค์กรเหมืองแร่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่โครงการหรือเขตสัมปทานเหมืองแร่ ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชน ผู้คนและสิ่งแวดล้อม




1 ความคิดเห็น:

  1. ปัญหาอันเนื่องจากผลกระทบที่มีต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่วังสะพุง เป็นประเด็นปลายเหตุที่ต้องจัดการโดยด่วน แต่ในระยะยาวที่อยากบอกพี่น้องที่วังสะพุงว่า ทรัพยากร(ไม่ได้หมายถึงทองคำเท่านั้น)ของบ้านเราควรดูแลเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์ของคนบ้านเราให้มากที่่สุด กล่าวคือแทนที่จะให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายนอกมาเอาประโยชน์จากทรัพยกรเหล่านี้ เราต้องคิดใหม่ โดยต้องมองว่าของ ๆเรา เราต้องดูแลและจัดการเอง เพื่อประโยชน์ของเรา และลูกหลานสืบไปภายหน้า ความคิดที่ให้คนภายนอกมาสัมปทานทรัพยากรของท้องถิ่นที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่เราเปิดประเทศ( เช่น ต่างชาติมา ถลุงแร่ดีบุกทางภาคใต้ ตัดป่าไม้สัก และไม้มีค่าอื่น ๆในทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ขุดเจาะนำ้มันตามแหล่งต่าง ๆ เป็นต้น)ต้องเลิกกันเสีย จริงอยู่ว่า ปัจจุบันท้องถิ่น หรือ ชาติเรายังไม่มีคนและเทคโนโลยีที่จะเข้าไปจัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องรีบนำเอาทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ รอให้เราได้เตรียมคนและเทคโนโลยีให้พร้อมก่อนค่อยจัดการก็ได้ ถือว่าเรื่องนี้ไม่มีคำว่า "สาย" ขอฝากความคิดนี้แก่พี่น้องชาวไทยทุกถิ่นที่ ไม่เฉพาะพี่น้องชาววังสะพุงเท่านั้น

    ตอบลบ

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...