วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

เหมืองแร่กับสิทธิชุมชน

เรื่องเหมืองแร่กับสิทธิชุมชน[1]
บทนำ
บทความชิ้นนี้พยายามสรุปให้เห็นสถานการณ์ของการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ในปัจจุบัน ที่สัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กระบวนการพัฒนาดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งในหลายๆด้าน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปี พ.ศ 2535 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 รวมทั้งประเด็นเรื่องของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)และการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้เคลื่อนไหวภาคประชาชน แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และหลายกรณีที่กระบวนการทำรายงานเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศในการผลักดันโครงการ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
                                                            
การต่อสู้ที่ผ่านมา....บทเรียนของการต่อสู้ระหว่างธุรกิจเหมืองแร่กับชาวบ้าน
การพัฒนาทรัพยากรแร่ในประเทศไทย ได้เริ่มก่อเกิดและเติบโตตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบสำหรับการพัฒนาประเทศเมื่อปี พ.. 2504 เป็นต้นมา ทำให้ต้องใช้เทคนิคและวิธีการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุที่มีความทันสมัยมากขึ้น เช่นมีการสำรวจทางธรณีเคมี และการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อแสวงหาแหล่งแร่ สำหรับวิเคราะห์ประเมินความสมบูรณ์ ปริมาณสำรองของทรัพยากรแร่และความคุ้มค่าต่อการลงทุนในทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งค้นหาและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญ เช่น ดีบุก เหล็ก ฟลูออไรต์ โลหะพื้นฐานต่างๆ ยิปซัม โพแทช เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศและบางส่วนส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ โดยในอดีตได้มีโครงการสำรวจทรัพยากรแร่ร่วมกับต่างประเทศ ที่สำคัญคือ การสำรวจแร่กัมมันตรังสีและแร่วัตถุนิวเคลียร์ร่วมกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ในช่วงปี พ.. 2504 – 2506 โครงการสำรวจลุ่มแม่นํ้าโขงร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ในปี พ..2506  และโครงการสำรวจแร่นอกชายฝั่งทะเลร่วมกับ UNDP และ CCOP ในระหว่างปี พ.. 2522 – 2538[2] โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและเทคโนโลยีการผลิตแร่ให้กับคนไทย เช่น การเปิดสอนด้านวิศวกรรมโลหะและเหมืองแร่การเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป้าหมายของการสำรวจทรัพยากรแร่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการจากการแสวงหาแหล่งแร่เพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์และชี้ชวนให้นักลงทุนมาลงทุน มาเป็นการจัดเตรียมข้อมูลธรณีวิทยาและธรณีวิทยาแหล่งแร่ รวมทั้งเชื้อเชิญให้ภาคเอกชนเข้ามาขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจแร่ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีหน่วยงานภาครัฐด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้นำไปสู่การเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆทั้งในประเทศและนอกประเทศจำนวนมาก ทยอยเข้ามาขอใช้ทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการขออาชญาบัตรในการสำรวจและการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ โดยในประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่จำนวนมากและอยู่ในกลุ่มแร่ 4 ประเภทหลักคือ กลุ่มแร่เชื้อเพลิง กลุ่มหินประดับและหินอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มหินอุตสาหกรรมซีเมนต์ กลุ่มแร่โลหะและแร่อโลหะ(ดูแผนที่ ก แสดงแหล่งแร่ประเภทต่างๆในประเทศไทย)
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 5 (พ.ศ. 2504 - 2529) รัฐมุ่งเน้นให้มีการผลิตทรัพยากรแร่เพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศเป็นหลักและหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสำรวจธรณีวิทยาแหล่งแร่ในประเทศรวมทั้งสนับสนุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการลงทุนในกิจการเหมืองแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก วุลแฟรม ตะกั่ว ยิปซัม แมงกานีส ฟลูออไรต์ พลวง เหล็ก โลหะพื้นฐาน เกลือหิน และลิกไนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน อย่างเช่น ไฟฟ้า ในขณะที่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ถึงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2530 - 2549) ได้เปลี่ยนแนวทางจากการผลิตทรัพยากรแร่เพื่อการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมาเป็นผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจและประเมินปริมาณสำรองแร่วัตถุดิบเพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าการผลิต โดยเฉพาะแร่วัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเชื้อเพลิง ได้แก่ลิกไนต์ หินปูน สังกะสี ยิปซัม หินอ่อน ดินขาว เฟลด์สปาร์ ทรายแก้ว รวมทั้งแร่ที่ใช้เป็นปุ๋ย เช่น โพแทชฟอสเฟต เป็นต้น[1]
ประเด็นปัญหาของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจึงเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความทันสมัยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ความรู้ ทุนและทรัพยากร ระหว่างกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาของทุนต่างชาติมากขึ้น ที่สัมพันธ์กับเรื่องกฎหมายที่เปิดช่องให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินหรือเช่าที่ดินในระยะที่ยาวมากขึ้นได้ ทำให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถเข้ามาลงทุนประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยแบบระยะยาวได้ เช่น โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด ที่ขอสัมปทานผลิตแร่โพแทชที่แหล่งสมบูรณ์ไซด์ อุดรเหมือนและอุดรใต้ เป็นระยะเวลา 22 ปีตลอดสัญญาที่ขอประทานบัตรเป็นต้น
ในตลอดระยะเวลาของการพัฒนาประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินถูกนำขึ้นมาใช้จำนวนมาก  โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการใช้ทรัพยากรแร่ธาตุของไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแร่ในกลุ่มพลังงานอย่างถ่านหินและแร่ในกลุ่มก่อสร้าง เช่นหินปูน หินก่อสร้าง ยิปซั่ม  มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ในปี2552ประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตลิกไนต์มากกว่า 15.000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการผลิตในปี2547 ราว 5,000 ล้านบาท และการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศอีกกว่า 18,000 ล้านบาท โดยถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศถูกใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันราว1ใน5 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศมาจากพลังงานถ่านหิน[2] เช่นเดียวกับแร่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จำเป็นต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการคำนวณข้อมูลการผลิตแร่กลุ่มหินก่อสร้างปี2546-2550 ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า ปริมาณการใช้หินก่อสร้างในปีพ.ศ.2546 เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ6 ต่อปี จาก77.1 ล้านตัน เป็น101.0 ล้านตันในปีพ.ศ.2550 เช่นเดียวกับข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ปี2550 เกี่ยวกับการผลิต ราคาทรัพยากรแร่ ทรัพยากรแร่ที่ได้รับการอนุญาตให้ทำการผลิตได้และพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการผลิต ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มทุนต่างๆ(ดูรายละเอียดจากตาราง ข้างล่าง )
[1] บทความชิ้นนี้เรียบเรียงและเขียนโดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้นำเสนอในงานเสวนาสานพลังเครือข่ายและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ในหัวข้อธุรกิจเหมืองแร่กับสิทธิชุมชน ณ โรงแรมมิราเคิล วันที่ 20 ธันวาคม 2554 โดยสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมาจากการศึกษารวมทั้งความเห็นบางประเด็นมาจากทัศนะผู้เขียนเอง
[2] กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ :นโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ (กรุงเทพฯ:กรมทรัพยากรธรณี,2554)

จากข้อมูลข้างต้นสามารถคาดคะเนได้ว่า ยิ่งประเทศมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดไหนมากขึ้นเท่าไหร่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเภทของแร่ชนิดนั้นก็จะมีการสำรวจและขอสัมปทานในการผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเงื่อนไขในแง่ของราคาและความคุ้มทุนของการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นกลถ่มแร่อื่นๆที่มีความสำคัญในเรื่องของการเกษตร เช่น โพแทช ที่นำมาใช้ผลิตปุ๋ยและผลพลอยได้จากเกลือที่นำไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆก็มีแนวโน้มที่จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นและมีการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาสำรวจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีโดมเกลือมหาศาลใต้พื้นดินของแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร[1] เช่น การขออาชญาบัตรสำรวจพื้นที่โพแทชในจังหวัดสกลนคร มหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น
สถานการณ์ของปัญหาเรื่องเหมืองแร่จึงไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่แต่มีการสะสมอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษของการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของปัญหาในเรื่องเหมืองแร่กับสิทธิชุมชนพบเห็นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยดังที่สรุปเป็นตารางได้ดังนี้[2]

โครงการ
จุดเริ่มต้น
การเคลื่อนไหว
สถานการณ์ปัจจุบัน
โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
ปีพ.ศ.2539-40 บริษัทAPPC  เข้ามาสำรวจและลงทุน
ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.2545
บริษัทอิตาเลียนไทยเข้ามาร่วมลงทุนกับAPPC ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทำอีไอเอ ใหม่และเอชไอเอเพิ่มเติมในการขอประมานบัตร รวมทั้งพยายามเร่งรัดให้มีการรังวัดปักหมุด ในพื้นที่ขอประทานบัตรทำการขุดเหมืองแร่และพื้นที่โรงงานแต่งแร่
โครงการทำเหมืองแร่ทองแดง
บริษัทภูเทพ จำกัดในเครือ ผาแดง อินดัสทรีและไทยออสจำกัด ทำการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ในปีพ.ศ.2549
ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟประมาณปีพ.ศ  2551-52
บริษัทภูเทพ จำกัด พยายามเปิดเวทีเพื่อจัดทำรายงานอีไอเอ และเอชไอเอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอประทานบัตร
โครงการเหมืองแร่ตะกั่ว คลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
เกิดโรงแต่งแร่คลิตี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2510และบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทยจำกัด) ทำเหมืองแร่ตะกั่ว และเกิดผลกระทบต่อลำห้วยคลิตี้เมื่อปีพ.ศ.2541 และตรวจพบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านสูง นอกจากนี้บริเวณโดยรอบเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังมีบริษัทต่างๆที่ได้รับสัมปทานประกอบกิจการเหมืองแร่จำนวนมาก เช่น บริษัทเคมโก้ และบริษัทผลแอนด์ซัน จำกัด (เมืองพลวง) รวมทั้งการลักลอบทำแร่ถื่อน
ปีพ.ศ.2541 ชาวบ้านเขียนจดหมายร้องทุกข์ถึงอธิบดีควบคุมมลพิษ เกิดการนำเสนอประเด็นสู่สาธารณะ และเมื่อปีพ.ศ.2543องค์กรพัฒนาเอกชนและวุฒิสภาเรียกร้องสิทธิชุมชนให้กับชาวบ้านในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว
ปัจจุบันมีการยกเลิกและยังยั้งการทำเหมืองในพื้นที่แต่ก็ยังมีการพยายามสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการทำเหมืองขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการคัดค้านการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงูทับที่ทำกินชาวบ้านในพื้นที่คลิตี้บนและคลิตี้ล่าง จำนวนกว่า 4000 ไร่  และเตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชน
โครงการเหมืองลิกไนต์ แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
มีแนวคิดสำรวจแร่ลิกไนต์บริเวณพื้นที่แม่เมาะจังหวัดลำปางตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 และสำรวจพบถ่านหินลิกไนต์ในปีพ.2496-97 และสร้างเหมืองแม่เมาะขึ้นเพื่อขุดแร่ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงและตั้งโรงงานไฟฟ้าขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปีพ.ศ.2527 เกิดมลพิษทางด้านฝุ่นควัน และปีพ.ศ.2535 เกิดปัญหาการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ประชาชนล้มป่วยไม่ทราบสาเหตุและรวมตัวกันภายใต้ชื่อเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ
ช่วงปีพ.ศ.2547 2549 และ2551 มีมติให้คนอพยพออกจาพื้นที่รัศมีโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร ชาวบ้านมีทั้งส่วนที่สมัครใจย้ายกับไม่ยอมย้ายออก
ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย เดินทางมาศาลปกครองสูงสุดแจ้งวัฒนะเมื่อ 22 กันยายน 2554 เพื่อให้ศาลเร่งรัดคดีค่าชดเชยเยียวยาจาก กฟผ. ที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้จ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีพ.ศ.2552 แต่กฟผ.ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งยังไม่ได้พิจารณาตัดสิน
โครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน
ปีพ.ศ.2539 พื้นที่ป่าบริเวณผาจันได ตำบลดงมะไฟ ถูกกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรม บริษัทศิลาโชคชัยภัทร จำกัด ขอประทานบัตรทำเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 แกนนำถูกยิงเสียชีวิตรวม4 คน และปีพ.ศ.2542 พระสงฆ์และชาวบ้านรวมตัวกันตั้งชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้
ปัจจุบันศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมาสั่งให้ระงับโครงการจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดให้ยกเลิกโครงการ รวมทั้งชาวบ้านที่คัดค้านถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี และถูกตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเอกชัย ศรีพุทธา และนายสุพัฒน์ ถมทองวิจิตร เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ปีพ.ศ. 2554
โครงการเหมืองแร่สังกะสี ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
และตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
บริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด และบริษัทตาก ไมน์นิ่ง จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองสังกะสีที่ตำบลแม่ตาว จังหวัดตากเมื่อปี พ.ศ. 2525 (ก่อนหน้านั้นบริษัทไทยซิงจำกัดได้รับประทานบัตรทำเหมืองเมื่อปีพ.ศ./2515-2518) และเตรียมจัดทำแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพื้นที่ใหม่ในคอยผาแดง ตำบลพระธาตุผาแดงเพื่อขอประทานบัตรต่อ
เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียม ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541-2546 และชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่
ปัจจุบันมีการตรวจสอบและกำกับดูแลและเผ้าระวังการทำเหมืองสังกะสี บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตากให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ปีพ.ศ. 2510
โครงการเหมืองแร่ทองคำ ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
ปีพ.ศ.2543 บริษัทอัคราไมน์นิ่ง จำกัด จัดทำรายงานอีไอเอและขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์รวมทั้งได้รับสิทธิสำรวจสายแร่ทองคำเพิ่มเติมครอบคลุมพื้นที่3 จังหวัด ร่วมกับบริษัทริชภูมิไมนิ่ง และบริษัทไทยโกลบอลเวนเจอร์ส จำกัดในปีพ.ศ. 2549
เกิดภาวะน้ำธรรมชาติแห้ง ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร เกิดมลพิษทางฝุ่นและเสียง รวมทั้งกาปนเปื้อนสารไซยาไนด์และสารหนูลงสู่น้ำบนดินและใต้ดิน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วยและเคลื่อนไหวต่อต้านในพื้นที่
ปัจจุบันบริษัทอัครา ไมนิ่ง  จำกัด อยู่ในช่วงของการขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจเพิ่มเติม
โครงการเหมืองแร่ทองคำ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ปีพ.ศ.2548 บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า ภูซำป่าบอนและภูเหล็ก ครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านนาหนองบง บ้านกกสะทอน บ้านแก่งหิน บ้านโนนผาพุงพัฒนาบ้านห้วยผุกและบ้านภูทับฟ้าพัฒนา ในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ปีพ.ศ.2549 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจและวิเคราะห์น้ำในลำน้ำฮวย แม่น้ำสาขาของลำน้ำเลย พบปริมาณสารแคดเมียม สารหนูและสังกะสี ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเกินค่ามาตรฐาน จนนำไปสู่การตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในเรื่องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
บริษัทขอประทานบัตรเพื่อเปิดพื้นที่ทำเหมืองเพิ่มเติม
โครงการสำรวจและเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
กลุ่มนายทุนในและนอกประเทศ เข้ามากว้านซื้อพื้นที่ตามป่าและไหล่เขาในบริเวณภูเขาแก้ว ในเขต ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย และ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย  โดยบางกลุ่มลักลอบตัดไม้และทำแร่เหล็กเถื่อน
ชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลธาตุและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้ตรวจสอบและสั่งปิดเหมืองดังกล่าว และคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่บนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าภูเหล็ก และสัมปทานที่ทับที่ดินทำกินชาวบ้าน

โครงการสำรวจแร่โพแทช จังหวัดมหาสารคาม
บริษัทไทยสารคาม อะโกร โปแตช จำกัด ยื่นขออาชบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปีพ.ศ.2548
ชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ และยังไม่มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวในพื้นที่
บริษัทกำลังดำเนินการขอต่ออาชญาบัตรพิเศษเพิ่มเติมหลังจากสำรวจมาแล้ว 5 ปี
โครงการสำรวจแร่โพแทช จังหวัดขอนแก่น
ปีพ.ศ.2548 บริษัทกรุงเทพโยธาอุตสาหกรรม ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช จำนวน 10 แปลงที่ ตำบลบ้านทุ่ง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลบ้านฝาง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น


โครงการทำเหมืองเกลือแบบละลายและสูบน้ำเกลือใต้ดิน จังหวัดนครราชสีมา
บริษัทไทยสินทรัพย์ ยื่นขออาชญาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา และบริษัทธนสุนทร (1997) ขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจที่ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
การดูดน้ำเกลือ ส่งผลกระทบต่อการเกษตร และเกิดหลุมยุบ รวมทั้งฝุ่นละอองเกลือในอากาศ จนนำไปสู่การเรียกร้องของชาวบ้านและทางการสั่งให้มีการหยุดดำเนินการดังกล่าว  รวมทั้งชาวบ้านชนะคดีจากการฟ้องศาลปกครองในปีพ.ศ.2552
ปัจจุบันยังมีการยุบตัวของผิวดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
โครงการทำเหมืองหินเขาคูหา ต.รัตภูมิ จ.สงขลา
บริษัทพิรพลมายนิ่ง จำกัด และนายมนู เลขะกุล ขออนุมัติประทานบัตรทำเหมืองหินเพิ่มเติม ในปีพ.ศ.2552-2553
ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และเครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา เพื่อเรียกร้องสิทธิและเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีที่บริษัทละเมิดสิทธิชุมชน และผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม โดยที่หินที่ได้ไม่ได้นำมาใช้ในกิจการของจังหวัดสงขลาและประเทศไทยแต่ส่งไปจำหน่ายยังอินเดีย
บริษัทยังคงดำเนินการผลิตเหมืองหินในพื้นที่ต่อไป และชาวบ้านก็คงยังต่อสู้เรียกร้องในพื้นที่
โครงการเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนจะขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในปีพ.ศ.2549ถึงปีพ.ศ.2551 ที่ตำบลทุ่งพอและตำบลคอลอมูดอ อ.สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ชาวบ้านยังรับรู้ข้อมูลน้อย
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการตามแผน

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง, พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  ,พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว อ.งาว จ.ลำปาง,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่   ,พื้นที่ขอสำรวจแร่โปแตช จ.สกลนคร ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ต.พะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.ลี้ จ.ลำพูน ,พื้นที่ลำเลียงและลานกองแร่ถ่านหินจากพม่า จ.เชียงราย และพื้นที่อื่นๆในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ดังข้อมูลของกลุ่มตรวจสอบและพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมกราคม 2554 พบว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2552 จำนวน 27 โครงการที่ยื่นขอประทานบัตร เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2553 จำนวน 50 โครงการที่ยื่นขอประทานบัตร ที่น่าสนใจคือข้อมูลของโครงการที่ยังไม่ได้จัดส่งรายงานประเภทโครงการเหมืองแร่ มีจำนวนถึง515โครงการที่มีผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทั่วประเทศ[3] นั่นแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของปัญหาในการดำเนินการพัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ของประเทศไทยในอนาคตอาจจะทวีความรุนแรงและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้น เพราะโครงการจำนวนหลายโครงการที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ว่าจะมีโครงการหรือธุรกิจเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองเสมือนการตัดชาวบ้านออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินโครงการตั้งแต่แรกเริ่ม โดยปัญหาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและปัญหาเก่าในประเด็นเรื่องเหมืองแร่ที่ยังคั่งค้างและแก้ไขปัญหาไม่ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายประการของการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทำการต่อสู้เคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ถูกจังดำเนินคดี ทั้งที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการชะลอโครงการ ยกเลิกหรือยับยั้งโครงการ หรือประสบความล้มเหลวในการต่อสู้และต้องจำยอมต่อกระแสการพัฒนาที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลือก
ประเด็นที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวกรณีเหมืองแร่ในประเทศไทย พบประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายประเด็นตั้งแต่พัฒนาการของการต่อสู้ที่มีความยาวนานแตกต่างกัน เช่น เหมืองคลิตี้ที่ดำเนินการทำเหมืองมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2510 ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติแร่และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ทำให้สถานการณ์ของปัญหาค่อนข้างรุนแรงและสั่งสมมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปีพ.ศ.2541 จึงจะเริ่มเป็นข่าวสู่สาธารณะในวงกว้าง เมื่อมีการตรวจพบสารตะกั่วในกระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ ที่น้ำจากลำห้วยคลิตี้มาใช้ในการอุปโภคบริโภค  มีการเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตของกระบวนการต่อสู้ เช่น การรวมกลุ่ม การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้าน การทำให้เป็นข่าวสาธารณะที่ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านสามารถนำเสนอแนวนโยบายหรือการตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาของตัวเองสู่สาธารณะ รวมทั้งการเปิดเวทีวิชาการระหว่างนักวิชาการภาครัฐ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายและพันธมิตร และนำเสนอปัญหาสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนและข้อมูลในการตัดสินใจในการพัฒนา โดยกระบวนการเคลื่อนไหวของเหมืองคลิตี้หรือแม่เมาะที่ลำปาง กลายมาเป็นบทเรียนให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น เหมืองแร่โพแทชที่อุดรธานี เหมืองแร่ทองคำและทองแดงที่เลยเป็นต้น ภายใต้กระบวนการรุกคือบของกลุ่ทุนที่ใช้มายาคติหรือภาพลวงเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาที่คนในพื้นที่อยากจะสัมผัสแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม




[1] ผู้สนใจสามารถอ่านได้ในงานแอ่งอารยธรรมอีสาน(2533) ของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่พูดถึงพัฒนาการการตั้งถิ่นฐาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆแถบลุ่มแม่น้ำ โขง ชีและมูลโดยการขุดค้นทาและสำรวจทางโบราณคดีซึ่งพบแหล่งผลิตเกลือโบราณกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของภาคอีสาน หรือเอกสารการเสวนา ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ 2,500ปี ภูมิหลังนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งจัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546

[2] ส่วนหนึ่งรวบรวมจากงานรายงานการศึกษาชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายและงานวิชาการ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...