วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

มนุษยวิทยากายภาพ เมื่อคนทำความเข้าใจคนผ่านการศึกษาลิง

ทำไมจึงต้องศึกษามนุษย์เปรียบเทียบกับลิง
                เนื่องจากการศึกษาในวิชามานุษยวิทยากายภาพ มีความเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของมนุษย์ในยุคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดี เช่นมีการค้นพบโครงกระดูก กะโหลก เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ซากสัตว์ต่างๆ หรือเศษฟืนที่เหลือจากการก่อไฟ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมของมนุษย์วานรหรือบรรพบุรุษของมนุษย์ในอดีต แต่ในบางกรณีนักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาก็ไม่สามารถจินตนาการไปไกลได้ถึงแบบแผนของพฤติกรรม เช่นการอยู่ร่วมกัน  การสืบพันธุ์ การหาอาหาร ความขัดแย้ง หรือระบบความสัมพันธ์ในกลุ่ม การศึกษาไพรเมทในยุคปัจจุบันที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างจินตนาการให้กับนักมานุษยวิทยาร่วมกับเอกสารหลักฐานอื่นๆ แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของความคิดเหล่านี้ จนถึงขนาดที่บางคนมีอคติกับการศึกษาแนวนี้ ด้วยความคิดที่ว่าตนเองเหนือกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสมองและอารยะธรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่พัฒนาก้าวไปไกลกว่าสัตว์ได้  แต่ในความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพฤติกรรมของมนุษย์บางอย่างมีความคล้ายคลึงกับสัตว์ในแง่ที่แสดงออกมาตามธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณ เช่น ความต้องการอาหาร การยอมรับในกลุ่ม ความต้องการสืบเผ่าพันธุ์ เป็นต้น เพียงแต่สัญชาตญาณและความต้องการเหล่านี้ของมนุษย์ ถูกจำกัดและควบคุมโดยบรรทัดฐานทางสังคมต่างๆ เช่น จารีต และกฎหมาย  แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่อาจถูกควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ บ่อยครั้งสัญชาตญาณของมนุษย์ก็มีพลังขับดันมากกว่า บรรทัดฐานของสังคมดังกล่าว ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านการล่วงละเมิด หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งไม่แตกต่างจากสัตว์ดังกล่าว ดังนั้นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ในยุคเริ่มต้น จึงมีความสำคัญในการทำให้เราเข้าใจวิวัฒนาการและแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ได้ดีขึ้น
1.การศึกษาลิงบาบูน  ในแอฟริกา นับว่า เป็นการศึกษาที่สร้างความน่าสนใจต่อนักมานุษยวิทยากายภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของพวกมันที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบนทุ่งหญ้าโล่ง ซึ่งแตกต่างจากลิงทั่วไป ที่ชอบหาอาหารและอาศัยอยู่บนต้นไม้  ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของนักมานุษยวิทยากายภาพ  ที่เชื่อว่า บรรพบุรุษรุ่นแรกๆของมนุษย์ ได้ลงจากต้นไม้  มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบป่าโปร่งและทุ่งหญ้า  การปรับตัวของลิงบาบูน ทั้งในเรื่องการหาอาหาร การป้องกันภัยอันตราย และการผสมพันธุ์ จะทำให้เราสามารถเข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ดีขึ้น
ลิงบาบูน จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เหมือนกองทัพ เกิดกลุ่มไหนก็อยู่กับกลุ่มนั้น แต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกแตกต่างกัน ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ถึง 100 ตัวก็มี พวกลิงบาบูนจะอาศัยอยู่ในเขตแดนที่ถาวร แต่มักไม่มีการป้องกันอาณาเขต และอาณาเขตของกลุ่มต่างๆ อาจมีการทับกันบ้าง รวมทั้งมีความร่วมมือกันในบางสถานการณ์ เช่นมีบ่อน้ำในฤดูแล้งบ่อเดียวก็อาจใช้ร่วมกัน หรืออาจหลีกทางให้กับกลุ่มที่ใหญ่กว่า ที่อาศัยหลับนอนตอนกลางคืน ของลิงบาบูนคือต้นไม้ เพื่อป้องกันตัวเองจากสัตว์ร้ายอาหารหลักคือหญ้า ในฤดูแล้ง นอกนั้นก็เป็นผัก เมล็ดพืช ดอกไม้ หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก  บางครั้งก็กินเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก  เมื่อลิงบาบูนตัวผู้ฆ่าสัตว์ชนิดนั้นได้แล้ว ตัวผู้ที่มีสถานภาพสังคมสูง เท่านั้นจึงจะได้กินเนื้อ ตัวอื่นๆ ไม่มีส่วนร่วมในเนื้อสัตว์นั้นๆเลย
สำหรับโครงสร้างทางชนชั้นของลิงบาบูน จะมีหลายชนชั้น เริ่มจากสูงสุด คือตัวผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ รองลงมาก็คือตัวเมียที่เป็นผู้ใหญ่  ต่อมาก็ตัวผู้ที่อายุน้อยกว่า และตัวเมียที่อายุน้อยกว่า ต่อมาก็เป็นวัยรุ่น ที่ต่ำสุด คือเด็กและทารก  สำหรับตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือจ่าฝูง จะมีลักษณะที่สำคัญคือ มีบุคลิกภาพความเป็นผู้นำ มีความมั่นใจในตัวเอง มีความก้าวร้าว  และความสามารถดึงดูดการสนับสนุนจากตัวอื่นๆ  สิ่งที่ลิงบาบูนผู้นำจะได้รับก็คือ การได้กินเนื้อสัตว์ที่ล่าก่อน  และเลือกตัวเมียที่ต้องการจะผสมพันธุ์ได้ก่อนตัวอื่นๆ
ความสัมพันธ์ทางเพศ ของลิงบาบูน มีระยะเวลา 35 วัน  โดยตัวผู้และตัวเมียจะมีอาการพองตัวของอวัยวะเพศ  ยิ่งมีขนาดบวมใหญ่มากเท่าใด ก็แสดงว่าตัวผู้และตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์มากเท่านั้น  เมื่อลิงบาบูนตัวเมีย คลอดลูกออกมา ทารกที่เกิดใหม่จะเป็นที่สนใจของกลุ่ม และได้รับการคุ้มครองจากสมาชิกในกลุ่มและตัวผู้  เมื่อทารกบาบูนอายุ 2-4 ขวบก็จะเป็นวัยรุ่น และเป็นอิสระจากแม่
2. การศึกษากอริลล่าภูเขา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมนุษย์วานรหรือเอป ขนาดใหญ่ที่สุด   จากการศึกษาของชาลเล่อร์  ในป่าของประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา และฟอสซี่  โดยใช้เทคนิคการศึกษาแบบการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (Participant Obsevation) พบว่า กอริลล่า เป็นสัตว์กินผัก อาศัยอยู่บนพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ ทั้งที่ลักษณะมือและเท้ามันเหมาะกับที่จะอยู่บนต้นไม้มากว่า แต่เนื่องจากขนาดของมันที่ใหญ่มาก และน้ำหนักมาก ทำให้มันอาศัยอยู่บนต้นไม้ได้ลำบาก แต่อยู่ในพื้นดิน ได้คล่องมากกว่า สำหรับพฤติกรรมการใช้กำลังมีน้อยมากในสัตว์ประเภทนี้
3.การศึกษาสังคมของลิงชิมแพนซีของ ลาวิค-กูดเดอร์ ในประเทศอูกันดา โดยศึกษาลิงชิมแปนซี ที่อาศัยอยู่ในป่าโปร่ง มากกว่าป่าดงดิบ การรวมกลุ่มของสมาชิก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งกลุ่มย่อยอาจรวมอยู่ในกลุ่มใหญ่  มีการป้องกันดินแดนที่พวกมันเดินผ่านไปมา สมาชิกในแต่ละกลุ่มจะมีตั้งแต่3 ตัวถึง 20 กว่าตัว  พวกลิงชิมแปนซี ที่เขาศึกษา จะใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งหาอาหาร หลับนอน  โดยจะเปลี่ยนที่นอนตลอดเวลา จากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง  อาหารของพวกมันคือ ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช แมลงตัวเล็กต่างๆ เช่น ปลวก มด  มีการล่าสัตว์และกินเนื้อสัตว์บ้างแต่ไม่บ่อย
ลิงชิมแปนซีมีลักษณะของนักล่าสัตว์  เช่น  กินทารกลิงบาบูน ลิงประเภทอื่นๆที่ตัวเล็กกว่า ลิงชิมแพนซี จะล่าเหยื่อโดนเข้ามาด้านหลังแล้วฆ่ามัน ไม่เหมือนลิงบาบูนตรงที่จะช่วยกันล่าเหยื่อเป็นอาหาร
วงจรการผลิตทารกและการสืบพันธุ์ของลิงชิมแพนซี จะเริ่มจากการบวมของอวัยวะเพศ  และจะไม่มีการจับคู่  ลักษณะความสัมพันธ์ทางเพศของลิงชิมแปนซี จึงเป็นแบบสำส่อน  มากกว่าจะเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว ตัวผู้ 10 ตัวอาจรุมตัวเมียตัวเมียตัวเดียว เป็นต้น
การค้นหาความเป็นมาของมนุษย์ โดยเทียบเคียงกับซากดึกดำบรรพ์ และลิงประเภทที่มีหางและไม่มีหาง  ซึ่งเนื่องมาจากความก้าวหน้าของการสำรวจทางชีววิทยา และสัตว์วิทยา ทำให้มีการค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่มากขึ้น มีการจัดประเภท จำแนกแยกแยะ และจัดหมวดหมู่สัตว์ประเภทต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น เอ็ดวาร์ด ไทสัน  เปรียบเทียบส่วนต่างๆของลิงที่เขาเรียกว่า ปิ๊กมี่  (ลิงชิมแพนซี วัยรุ่น) และเปรียบเทียบลิงมีหาง ไม่มีหาง กับมนุษย์ เขาสรุปว่า ปิกมี่ อยู่ระหว่างเอป และมนุษย์ หรือนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน อย่าง ลินเนียส เป็นนักวิชาการคนแรกที่จัดมนุษย์รวมเข้าอยู่ในประเภทเดียวกับพวกแอปหรือลิงไม่มีหาง ในการจัดแบ่งตระกูลสัตว์ออกเป็นไพรเมทต่างๆ  ในหนังสือ Systema Naturae (System of Nature) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเขาจะจัดมนุษย์และพวกเอปเข้าด้วยกันตามลักษณะทางกายภาพ แต่เขาก็ยังไม่เชื่อว่าทั้งเอปและมนุษย์ มีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องจากความคิดพื้นฐานของเขายังอยู่บนความเชื่อในเรื่องพระเจ้า
ดังนั้นจากภาพของสัตว์ชนิดดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราสามารถมองแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ได้ว่า มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า  จากความล้าหลังไปสู่ความเจริญก้าวหน้า จากไพรเมทช่วงแรก ที่พัฒนามาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ออสโตรโรพิเธคคัส โฮโมอีเรคตัส และโครมันยอง เป็นต้น
นักปรัชญาชาวกรีก อย่าง อาร์ซีลาอัส แห่งเมืองมิเลททัส ได้เสนอแนวความคิดในศตวรรษที่ 16 ก่อนพระเยซูเกิด ว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากปลา อยู่ในน้ำ และขึ้นบกมาอยู่บนโลก หรือ ลูเครสติอัส ซึ่งมีอายุในช่วง 99-55 ปีก่อนพระเยซูเกิด ได้เขียนคำกลอนชื่อ “De Rerun Naturura”  เกี่ยวกับต้นตำรับของวิวัฒนาการทางชีวภาพและวัฒนธรรม  เขาบอกว่า ชีวิตพัฒนามาจากอุบัติเหตุของอะตอม มนุษย์ครั้งหนึ่งเคยแก้ผ้า อาศัยอยู่ในถ้ำ และไม่รู้จักใช้ไฟมาก่อน

ในสมัยต่อมาที่คริสต์ศาสนามีอำนาจมากอย่างมหาศาล (ยุคคริสเตียน/ยุคมืด) นักบวชชื่อ ออกุสติน (Augustin) บอกว่า มนุษย์ทุกคนสืบเชื้อสายมาจากอาดัมกับอีฟ ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นเมื่อ 6,000 ปีมาแล้ว แนวความคิดดังกล่าว จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า Monogenetic Conception ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งคล้ายกับความเชื่อในเอเชียหลายประเทศ แต่แนวความคิดดังกล่าวก็ถูกคัดค้านและโต้แย้ง แนวความคิดดังกล่าว โดยนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Polygenetic  ที่มองว่ามนุษย์ในโลกนี้มาจากหลายแห่งแตกต่างกันไป  
                ในยุคของแสงสว่างทางปัญญา หรือยุคที่มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ที่มีความสนใจในเรื่องของเหตุผล และธรรมชาติ (สรรพสิ่งที่เป็นอยู่) ภายใต้ความเบื่อหน่ายกับสงครามศาสนาอันป่าเถื่อนเหี้ยมโหด คนได้หันไปให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการใช้เหตุผลโต้แย้งบทบาทของผู้มีอำนาจ และกลับมาสำรวจตรวจสอบโลกที่ตัวเองยืนอยู่ มีการค้นหาทฤษฎีในการอธิบายมนุษย์และสังคม  โดยเฉพาะงานชิ้นสำคัญของชาร์ลดาร์วิน ที่ได้ให้ภาพความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยเฉพาะกฎธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดบุคคลโดยธรรมชาติในสังคม การทำสงครามระหว่างชาติในเดือนตุลาคม ค.ศ.1838 เขาได้อ่านงานชิ้นสำคัญของมัลทัส เรื่อง ประชากร   ( Population) ของ อาร์.ที.มัลทัส นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่บอกว่าประชากรโลกจะเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 25 ปี โดยไม่นับการทำลายโดยธรรมชาติ  การเติบโตที่ไม่อาจควบคุมได้ดังกล่าว ไม่อาจทำให้เกิดความก้าวหน้าของสังคมได้  ซึ่งได้นำไปสู่แนวความคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน ในเวลาต่อมา โดยเขาเชื่อว่า เหตุการณ์ต่างๆ ได้ก่อให้เกิดประเภททั้งหลายขึ้น และดูเหมือนว่าสภาพการณ์ต่างๆ ได้สนับสนุนให้พวกที่เหมาะสมสามารถดำรงอยู่ได้สืบต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับที่มัลทัสบอกว่า ธรรมดาผู้ที่เข้มแข็งกว่าย่อมมีสิทธิ์ เช่นเดียวกับกฎธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งดาร์วินคิดว่า สัตว์ในธรรมชาติก็เป็นเช่นเดียวกันกับมนุษย์ และความคิดดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้อธิบายในทางการเมืองการปกครองในยุคปัจจุบันในแง่ที่ผู้เข้มแข็งกว่าคือผู้มีอำนาจ เป็นต้น

2.ทำไมลิงจึงลงจากต้นไม้มาอยู่บนพื้นดิน และมนุษย์เริ่มที่จะล่าสัตว์ในทุ่งหญ้า ป่าดงดิบ
                สิ่งที่เป็นข้อสมมติฐานเบื้องต้นก็คือ
1.       ข้อจำกัดทางด้านอาหาร เมื่อผลไม้บนต้นไม้ลดน้อยลง แต่บริเวณทุ่งหญ้าที่มีพืชพรรณ และสัตว์ป่าอยู่มากมายมากกว่า เมื่อแหล่งอาหารบริเวณนี้มีมากกว่า ลิงและแอปก็ต้องลงมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน แทนการอยู่บนต้นไม้
2.       เมื่อมือและเท้าของลิงถูกออกแบบให้สามารถ ปีน ป่ายอยู่บนต้นไม้ได้ อย่างคล่องแคล่วและยาวนานมากกว่าปกติ เมื่อลงมาอยู่บนพื้นดิน หน้าที่ของมือและเท้าก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จุดนี้เองที่เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญของมนุษยชาติ ในการพัฒนาเรื่องมือและเท้า ในการเดินบนพื้นโลก และการหยิบจับอาหาร นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยากายภาพ เชื่อว่า พัฒนาการในเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วง 1-35 ล้านปี
3.       พัฒนาการด้านสมอง  ด้วยความที่มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ เช่นโครมันยอง มีขนาดของสมองโตกว่า มนุษย์ในช่วงเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็น ออสโตรโลพิเธคตัส  โฮโมอีเรคตัส  ทำให้มนุษย์มีการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมได้ก้าวหน้ามากกว่า ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นการใช้สัญลักษณ์ ในการติดต่อสื่อสาร เริ่มมีการพัฒนาภาษาพูด และภาษาเขียน มากกว่า การใช้สัญญะ ในการสื่อความต่อกัน หรือการได้รับสิ่งต่างๆ จากยีนส์ทางพันธุกรรม และสัญชาตญาณเท่านั้น แม้ว่าสัตว์จะถูกสอนให้เกิดการเรียนรู้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง เท่ากับมนุษย์ เช่น นกแก้วแม้จะสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถแปลความหมายหรือเข้าใจความหมายของสิ่งที่พูดได้
ประเด็นสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ก็คือ การเริ่มที่จะรู้จักใช้ไฟ ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการบริโภค การเริ่มรู้จักรสชาติของอาหารมากกว่า การกินแบบสดสดดังเช่นที่ทำมา และการรู้จักไฟทำให้มนุษย์ในช่วงแรกรู้จักการนำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาใช้บริโภคมากขึ้น เช่น การนำหัวเผือกหัวมันมาเผ่า การนำเอาข้าวไร่ ข้าวบาร์เล่ย์ มาหุงต้ม เป็นต้น รวมถึงการใช้พลังงานความร้อนในการถนอมอาหาร เป็นต้น มนุษย์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ มนุษย์โครมันยอง ที่รู้จักใช้ไฟ ทำเครื่องนุ่งจากขนสัตว์ที่ล่ามาได้ รวมถึงเริ่มมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นมนุษย์โฮโมเชเปียนส์- เชเปียนส์ และคนในชาวไร่ชาวนาในปัจจุบัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...