วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มานุษยวิทยากับภาพถ่าย ตอนที่3


ข้อถกเถียงในเรื่องของภาพถ่าย ความจริงหรือภาพสะท้อนความจริง
ความหมายในแง่ของปรัชญาและความรู้ (Postmodernism)
ในยุคศตวรรษที่18-19 กระแสวิธีการตั้งคำถามและวิพากษ์กระบวนการทางความรู้ในยุคของความทันสมัยที่ครอบงำความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความเป็นกลาง สากล ครอบคลุม รอบด้าน ต่อเนื่อง เป็นเหตุผล ถึงแก่นแท้  อิทธิพลของเรื่องเล่าแม่บท รวมทั้งเชื่อมมั่นและเชิดชูวิธีการหาความรู้ ความจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่บดบังความเชื่ออื่นๆ ความรู้ชุดอื่นๆ ทั้งไสยศาสตร์ เวทมนต์ คาถาหรือแม้แต่ความเชื่อทางศาสนา โดยเชื่อว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆจะทำให้มนุษย์และสังคมมีความก้าวหน้าและความเป็นเลิศ เป็นมนุษย์แห่งความทันสมัย
จนกระทั่งมนุษย์ได้ก้าวมาสู่ช่วงยุคศตวรรษที่20ถึง21 ความเชื่อมั่นถึงความทันสมัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้าและความสงบสุขได้ถูกลดทอนลงไปด้วยปัญหาต่างๆทั้งการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม การทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความอดยากหิวโหย วิกฤตการด้านสิ่งแวดล้อม และการสูญเสียความเป็นมนุษย์ ได้ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่าความรู้แห่งยุคสมัย มิใช่เป็นความรู้ที่ไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ที่เราควรรับเอาไว้และไม่ควรตั้งคำถามอย่างที่เข้าใจ ในทางตรงกันข้ามกับเป็นความรู้ที่ผูกโยงกับเรื่องของอำนาจ ไม่เฉพาะอำนาจรัฐ/ทุน แต่เป็นอำนาจรัฐและทุนแต่เป็นอำนาจที่ควบคุมลึกลงไปถึงร่างกาย ความคิดของมนุษย์ในชีวิตประจำวันผ่านวัฒนธรรม/ภาษา ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามและท้าทายความรู้ที่เคยเป็นมาตรฐานอย่างวิทยาศาสตร์ว่าไม่ใช่วิธีการที่เป็นกลาง เพียงวิธีเดียวที่จะทำให้มนุษย์หลุดพ้นหรือเข้าใจตัวเอง ข้อถกเถียงสำคัญในช่วงนี้คือเรื่อ วิกฤตของตัวแทน (Representation) รวมถึงความชอบธรรมในการนำเสนอภาพตัวแทน และการอ้างถึงความถูกต้อง ความจริงของตัวแทน ทำให้มนุษย์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและโลกที่ตัวเองอยู่
หลักการสำคัญของประเด็นนี้คือมนุษย์นำเสนอตัวเองอย่างตรงไปตรงมาแท้จริงหรือตัวตนและความเป็นมนุษย์ถูกนำเสนอโดยกระบวนการทางความรู้และอำนาจแห่งยุคสมัย สภาวะดังกล่าวทำให้มนุษย์กลับมาวิพากษ์และตั้งคำถามต่อตัวเองและโลกที่ตัวเองอยู่ มนุษย์และสังคม ปัจจุบันจึงมีลักษณะซับซ้อน ขัดแย้ง ขาดตอน  ไร้ราก ไร้ศูนย์กลาง ไร้แก่นสารและไร้สิ่งยึดเหนี่ยว
วิกฤตของการเสนอภาพแทนความจริง (Representation)
ในอดีต ภาพวาดเป็นสิ่งที่มีฐานะเป็นภาพแทนความจริง แต่ปัจจุบันภาพวาดกลายเป็นสิ่งที่พ้นสมัยเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของสังคมสมัยใหม่ ที่เกิดการคิดค้นและพัฒนาประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆเช่นเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องมือติดต่อสื่อสารที่ได้ย่นระยะทางหรือหดช่องว่างที่ห่างกันในเรื่องของการสื่อสารระหว่างกันของมนุษย์ โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านการถ่ายภาพ  ถึงแม้ว่าในแง่หนึ่งจะได้ทำลายความน่าเชื่อถือของภาพวาดที่เคยเป็นงานศิลปะที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ใกล้เคียงที่สุด ที่ไม่สามารถทำได้หลายครั้งและไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ มาเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่สะท้อนความจริงไดชัดเจนมากกว่าภาพวาด สามารถผลิตซ้ำได้จำนวนมาก ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  ที่นำไปสู่รูปแบบการผลิตเพื่อมวลชน เข้ามาแทนที่เอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกันได้ของงานฝีมือทางศิลปะ  ทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนความจริงและเราเชื่อว่ามันคือความจริงในปัจจุบัน



แนวคิดของพอล เซซาน Paul Ce-Zanne
เซซานได้พูดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างการมองกับวัตถุ ความหลากหลายของมุมมองและการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เราเห็น ภาพสะท้อนความจริงดังกล่าวที่เราเห็น คือความจริงหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจก็คือเซซานให้ความสำคัญและให้นิยามกับความจริงว่า ความจริง คือสิ่งที่ไม่ปะติดปะต่อ และปรับเปลี่ยนตามมุมมองของผู้มองหรือผู้สังเกตเท่านั้น  เราสามารถมองเห็นโลกได้ในมุมที่แตกต่าง ดังนั้นภาพวาดหรือภาพถ่ายสำหรับเซซานจึงไม่ใช่ความจริงแต่เป็นผลมาจากการรับรู้ความเป็นจริงของคนเราต่างหาก ความจริงของภาพจึงเป็นสิ่งเดียวกับการรับรู้ของคนเราที่ทำให้ภาพกลายเป็นความจริงขึ้นมา
เมื่อภาพวาดผสมกับภาพถ่าย การตั้งคำถามกับความจริงและตัวแทน
จากงาน The Photographer ของ Emmanuel Guibert และ Didier Lefevre ซึ่งเป็นสารคดี นิยายภาพ (Graphic novel)สุดคลาสสิค ที่ไม่ใช่หนังสือที่เต็มไปด้วยการอรรถาธิบายผ่านตัวอักษรอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของช่างภาพข่าวที่ชื่อ Didier Lefevre ระหว่างที่เขาได้เข้าร่วมในโครงการที่ชื่อว่า องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontiers : MSF) ที่ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อปี ค.ศ.1986 ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งและรุกรานดินแดนระหว่างรัสเซียกับอัฟกานิสถาน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นการพยายามเข้ามาช่วยเหลือผู้คนในประเทศที่ห่างไกลเช่นนี้  งานในการเป็นช่างภาพของ Lefevre จึงเป็นงานที่ท้าทายตื่นเต้นก็เสี่ยงตายทุกเสี้ยววินาที  ซึ่งนำไปสู่งานเขียนเรื่อง The Photographer ในฉบับภาษาฝรั่งเศส ก่อนที่จะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานและการเดินทางของเขาและกลุ่ม MFS ในอัฟกานิสถาน จากประสบการณ์การเดินทางร่วมกับแพทย์อาสาเหล่านี้ ทำให้เขาได้เผชิญหน้ากับความตายและพบเห็นความตาย ความโหดร้ายของสงคราม ดังที่ปรากฏในภาพถ่ายเด็กตัวเล็กๆที่บาดเจ็บจากกระสุน เศษระเบิด การบาดเจ็บจากกับระเบิด  หรือภาพกรามล่างของเด็กที่หายไปทั้งซีกหลังถูกระเบิด เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการ์ตูนกึ่งภาพถ่ายนี้ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็ก และเป็นหนังสือที่นำเสนอภาพที่เป็นมากกว่าภาพ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนและเปิดโปงให้เห็นสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ ความรักชีวิต ความหวาดกลัว และการทำลายล้าง เป็นต้น
เรื่องราวและภาพถ่ายของ Lefevre จะไม่สามารถที่จะเป็น The Photographer ได้เลย ถ้าไม่มีนักเขียนการ์ตูนอย่าง Emmauel Guibert  ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ Lefevre ได้อย่างสมจริง ตื่นเต้นและน่าติดตาม และเป็นสิ่งที่ผสมผสานระหว่างการ์ตูนสีที่วาดเหมือนจริงกับภาพถ่ายของ Lefevre ได้อย่างลงตัว และทำให้การเดินทางของ Lefevre ที่ไม่ได้บันทึก จนเกือบจะหลงลืมและสูญหายไประหว่างห้วงเวลาได้รับการรื้อฟื้น ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอีกครั้งในรูปของการ์ตูนผสมกับภาพถ่ายบางภาพที่แม้จะไม่มีคำบรรยายแต่ก็ให้อารมณ์และความรู้สึกที่บาดลึกและทรงพลัง เช่น ภาพถ่ายหลุมศพของสมาชิก  MSF หรือภาพทะเลทรายในอัฟกานิสถานที่เวิ้งว้าง ร้อนระอุ ไกลสุดลูกหูลูกตา
หากจะมองว่าสิ่งที่ทั้ง Lefevre  และ Guibert ไม่ใช่แค่การผสมผสานระหว่างสิ่งที่เรียกว่าภาพเขียนกับภาพถ่าย แต่ในแง่หนึ่งทั้งสองคน กำลังเสนอถึงสารัตถะของคำว่าความจริง ที่แม้ว่าจะเป็นภาพวาดหรือภาพถ่ายก็ล้วนถ่ายทอดออกมาจากมุมมองของผู้ถ่ายและผู้เขี่ยน การเลือกภาพและแง่มุมของการนำเสนอความจริงจึงมาจากผู้มอง โดยใช้ภาพเขียนเป็นตัวเชื่อมโยงกับภาพถ่าย เนื่องจากมนุษย์มีเรื่องราวที่ประสบพบเจอมากแต่มีการบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น ผ่านการเขียน  การถ่ายรูปได้ไม่ทั้งหมด ใน32 ภาพ ของฟิล์มถ่ายรูปแบบเก่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บอิริยาบถหรือเรื่องราวของมนุษย์ได้สมบูรณ์ครบส่วน ซึ่งจะมีบางส่วนที่ถูกตัดออก ละเลย หรือไม่ควรจะบันทึก จดจำ  ไม่ได้ปรากฏในเฟรมหรือฟิล์มถ่ายรูป แม้ว่าในปัจจุบันระบบกล้องดิจิตอลจะสามารถถ่ายรูปได้ต่อเนื่องถึง  300-400 แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดแง่มุมของมนุษย์ได้หมดจดทุกซอกทุกมุม ดังนั้นส่วนที่ขาดหายจึงใช้ภาพวาดการ์ตูนและบทสนทนาเป็นตัวเชื่อม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...