วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มานุษยวิทยากับความแปลก


มานุษยวิทยากับความแปลก
 
ความแปลกในด้านหนึ่งก็เป็นกำแพงกั้นระหว่างตัวเรากับสิ่งที่แปลก ไม่ว่าจะเป็นคน สถานที่ หรือสิ่งของ เป็นความรู้สึกที่แยกตัวเราเองกับสิ่งเหล่านี้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ความแปลกก็เป็นเสมือนแรงดึงดูดให้เราเข้าไปค้นหา ศึกษา ความหมายของสิ่งที่แปลก ซึ่งนักมานุษยวิทยาปัจจุบันก็ชื่นชอบความแปลกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเด็นที่เราไม่รู้จัก ไม่คุ้นชิน ความแปลกที่แปลกทาง แปลกหน้าแปลกตา เหล่านี้ได้กลายมาเป็นประเด็นศึกษาที่สำคัญของนักมานุษยวิทยายุคปัจจุบัน
คำถามที่มักเกิดขี้นเสมอในการทำการศึกษาวิจัยของนักศึกษาทางมานุษวิทยาก็คือ เราจะทำประเด็นอะไรที่แปลก แหวกแนว ไม่ซ้ำกับของคนอื่นที่ได้ทำการศึกษามาแล้ว  หรือจะศึกษาประเด็นอะไรที่แตกต่าง ทั้งประเด็นที่ไม่มีคนเคยทำหรือเคยศึกษามาแล้ว ในขณะที่นักศึกษาบางคนก็หลีกเลี่ยงความแปลกแตกต่างเหล่านี้ แต่หันกลับมาศึกษาสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย ศึกษาหมู่บ้านของตัวเอง ชุมชนที่ตัวเองเคยลงไปศึกษา ความเชื่อว่าการลงไปชุมชนชนบทสามารถเก็บข้อมูลได้ง่ายมากกว่าชุมชนเมือง หรือแม้กระทั่งการเลือกสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่มีความสนิทสนมกับตัวเองเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นการพยายามหนีไปจากความแปลกหรือความแตกต่าง จากความรู้สึก อารมณ์และจริตของตัวผู้ศึกษา
ความแปลกกลายเป็นความเสี่ยงของการศึกษาภาคสนามทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน แม้ว่าในอดีตความแปลกจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักมานุษยวิทยา ให้หลงใหลต่อความแปลกตา แปลกถิ่น แปลกวัฒนธรรม ในสิ่งที่พวกเขาค้นพบซึ่งผู้อื่นยังไม่รู้หรือไม่ค้นพบ และนำไปสู่การถอดรหัสความหมายทางวัฒนธรรมบางอย่าง อันสะท้อนให้เห็นความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เป็นคนพื้นเมืองพื้นถิ่นดั้งเดิม ไม่แตกต่างจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าอนารยะชนแต่อย่างใด เพียงแค่เป็นความรู้คนละชุด คนละระบบในวัฒนธรรมที่แตกต่าง
นักมานุษยวิทยาบางคน หรือนักวิชาการบางคนที่ประยุกต์ใช้วิธีการศึกษาภาคสนามทางมานุษยวิทยา ในการวิจัยหรือทำวิทยานิพนธ์ ก็ใช้ความแปลกของสนามที่ตัวเองศึกษา สร้างความน่าสนใจในประเด็นที่ตัวเองศึกษา ผ่านความแปลกที่คนทั่วไปเข้าใจ ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน หรือเคยสัมผัส  ผู้อ่านผู้ฟังงานเขียนของนักวิชาการเหล่านี้ ซึ่งเป็นกระบวนการดึงผู้คนที่เป็นคนนอกเข้ามาเป็นเสมือนคนใน ที่เป็นส่วนหนึ่งของพยานการรับรู้ร่วมกันในความแปลกในวัฒนธรรมที่แตกต่าง ดังที่ อ.เดชา ตั้งสีฟ้า อ้างถึงข้อความของ Nancy Scheper-Huges(1992)ในบทความ มองผ่านดวงตาของกระเหรี่ยง “คนอื่น” สู่วิธีวิทยาเพื่อการศึกษาผู้ถูกบังคับพลัดถิ่นในพื้นที่ระหว่างไทย-พม่า ว่า
“...ในปฎิบัติการ เขียนวัฒนธรรม นั้น สิ่งที่ปรากฏก็คือบันทึกของชีวิตมนุษย์ที่อาศัยการเป็นพยานรับรู้และคำให้การ เป็นบันทึกที่เปี่ยมอัตวิสัย อคติ และเป็นส่วนเสี้ยวอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันก็เป็นส่วนตัวและหลากล้นความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติการการเป็นพยานรับรู้คือกิจกรรมที่ทำให้งานของเรามีลักษณะทางศีลธรรม สิ่งที่ถูกเรียกว่า การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ดึงนักวิจัยที่ทำงานภาคสนามให้เข้าไปอยู่ในพหุพื้นที่ของชีวิตมนุษย์ ซึ่งเขาและเธออาจจะไม่เลือกที่จะไปเลย  แต่เมื่ออยู่ที่นั่นก็ไม่รู้จะออกมาได้อย่างไรนอกจากการเขียน ซึ่งดึงคนอื่นเข้าไปที่นั่นเช่นกัน ทำให้คนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพยานรับรู้”
การรู้จักหยิบเลือกความแปลก มาสร้างผ่านงานเขียน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายนักมานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยาก็ชอบกระทำอยู่ไม่น้อย  เพราะเขาเชื่อว่างานของเขาจะเป็นงานระดับมาสเตอร์ ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ดังนั้นการเอาความธรรมดาสามัญในชีวิตของผู้คนซึ่งเป็นคนใน มาทำให้กลายเป็นความแปลกผ่านสายตาคนนอกจึงกลายเป็นโลโก้สำคัญของการศึกษาทางมานุษยวิทยาไปแล้ว
แล้วคุณล่ะ อยากเหมือนหรืออยากแปลกจากคนอื่น?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...