วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มานุษยวิทยากับโลกไซเบอร์ตอนสอง

แล้วเราจะศึกษามานุษยวิทยาในโลกไซเบอร์อย่างไร?


 
Erving Goffman


Sinnicolas (1997) ได้เขียนในบทความ Erving Goffman ,Dramaturgy ,and on-line relationship ในCybersociology onlone (http://www.cybersoc.com/magazine/1/islnikki.html [2007,october 4] ) ที่ใช้วิธีการวิเคราะห์นาฎการหรือการวิเคราะห์เชิงละคร ของเออร์วิง กอฟฟ์แมน นักสังคมวิทยาที่มุ่งศึกษาปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Interaction)ของผู้คนในชีวิตประจำวัน  โดยใช้ข้อมูลภาคสนามที่เขาศึกษาในการวิเคราะห์และตีความหมายพฤติกรรมทางสัญลักาณ์เหล่านั้น ทำให้ได้แนวทางในการศึกษาและทำความเข้าใจชุมชนเสมือนจริงที่จะต้องวิเคราะห์องค์ประกอบทั้ง 4 ด้านคือ

  1. ตัวตนออนไลน์ (Online Identity) ตัวตนที่แสดงออกผ่านโลกออนไลน์ซึ่งอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริง ไม่แท้จริงหรือตัวตนที่เลือกแสดงออกก็ได้
 2. บริบททางสังคม (Social Context)
 3. ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Interaction) ที่ปรากฏกผ่านพื้นที่อินเตอร์เน็ต
  4. การติดต่อสื่อสาร (Communication) มองที่รูปแบบการสื่อสาร วิธีการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารและอื่นๆ
Rheingold [1993]


Baym N.K (2000) เขาได้เขียนเกี่ยวกับวิธีการศึกษาในโลกของไซเบอร์ในหนังสือ Tune in Log on : Soap,Fandom and online community ที่ต่อยอดจาก Rheingold (1993)ที่เป็นผู้บุกเบิกเริ่มต้นของการศึกษษชุมชนเสมือนจริง ในหนังสือที่มีชื่อของเขา เรื่อง  The Virtual Community : Homesteading on the Electronic Frontier  ที่ได้ให้ภาพของการสื่อสารในบริบทของชุมชนเสมือนจริง โดยมองว่า กลุ่มคนมีแนวโน้มจะสร้างบรรทัดฐานทางสังคม กฏเกณฑ์กติกาต่างๆขึ้นมาใช้ควบคุม และจัดบริบททางสังคมใหม่ โดยการเลียนแบบชุมชนดั้งเดิม เช่น บ้าน ที่ทำงาน อาชีพ กลุ่มเพื่อนและอื่นๆ เพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างความหมายและแสดงอัตลักษณ์ร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวเรียกว่า การสร้างความจริงรูปแบบใหม่ (New Reality) น่าสนใจว่า ชุมชนเสมือนจริงดังกล่าวทำหน้าที่เป็นความจริงทางเลือก (Alternative Real) หรือควมเป็นจริงเทียม ความจริงเสมือน ความจริงในแบบที่ตัวเราคิดว่าจริง ก็แล้วแต่เรียกกัน  ทุกคนไม่ว่าจะแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา ความคิด เพศ และอื่น ต่างก็มาสื่อสารกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สิ่งที่ Rheingold ย้ำก็คือ  ชุมชนเสมือนนั้น ตั้งอยู่บนเงื่อนไขการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มคนและความรู้สึกร่วมกันต่อผู้อื่นในชุมชนที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน โดยต้องมีการปฏิสัมพันธ์ร่วมกันเป็นระยะเวลานานพอควร และพวกเขามีความรู้สึกของความเป็นชุมชนร่วมกัน

Nancy Baym (2000)


ในขณะที่ Baym เขาต่อยอดความคิดของ Rheingold ว่า ชุมชนเสมือนจริงไม่ใช่เรื่องของพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของกิจกรรมและความรู้สึกที่มีร่วมกันด้วย โดยเขาได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญของการทำความเข้าใจชุมชนเสมือนจริงผ่านการมองกระบวนการทางสังคม 4 ลักษณะคือ
1 รูปแบบของการแสดงออก (Form of Expression) เช่น การพูดคุยถึงชุมชนของตัวเอง
2 อัตลักษณ์ (Identity) ความรู้สึกถึงการมีตัวตน การแสดงตัวตน
3 ความสัมพันธ์ (Relationship) การติดต่อสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในชุมชนเดียวกัน ในพื้นที่อินเตอร์เน็ต
4 กฏเกณฑ์ข้อบังคับ (Norm) เช่นระเบียบ กฏเกณฑ์ ข้อบังคับ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติที่คนในชุมชนรับบรู้และปฏิบัติร่วมกัน
ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับโลกไซเบอร์มีความแตกต่างหลากหลายขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเนื้อหาของศาสตร์ต่างๆ เช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ แล้วแต่ใครสนใจจะศึกษาแบบไหน แต่สำหรับผู้เขียนที่เป็นนักมานุายวิทยา ก็จะสนใจเรื่องวิถีชีวิต การใช้ชีวิต และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนและสังคมเป็นตัวตั้ง ด้วยความเชื่อว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อินเตอร์เน็ต สามารถพัฒนา ก่อรูปมาเป็นรูปแบบทางสังคมที่เฉพาะแบบหนึ่งได้เช่นเดียวกัน และชุมชนเสมือนจริงเหล่านี้มีความยืดหยุ่นลื่นไหลมากว่าสังคมมนุุษย์ที่ดำรงอยู่จริง ทั้งเรื่องความคิด เรื่องเพศ เรื่องเศรษฐกิจและอื่นๆ ในขณะเดียวกัก็ดูเหมือนจะเป็นชุมชนที่ปลอดอคติมากกว่าชุมชนจริงเสียอีก เป็นชุมชนที่เปิดกว้างในการเข้าถึงและก่อความสัมพันธ์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมในโลกที่เรียกว่าออนไลน์
มานุษยวิทยามีอะไรให้ศึกษาเยอะ คุณว่าจริงไหม? ขอจบเพียงเท่านี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...