วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มานุษยวิทยากับโลกไซเบอร์ตอนหนึ่ง

มานุษยวิทยากับการศึกษาเรื่องราวบนพื้นที่ไซเบอร์
 
    หัวใจสำคัญของการศึกษาทางมานุษยวิทยาคือการทำความเข้าใจวัฒนธรรมของมนุษย์ (Study about human Culture) ผ่านระเบียบวิธีกาศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เรียกว่าการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม (Observation and Participation Method) ในพื้นที่ภาคสนาม และถ่ายทอดออกมาในรูปของงานเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) ดังนั้นกระบวนการศึกษาของนักมานุษยวิทยาจึงต้องสัมพันธ์กับพื้นที่และผู้คน  ในช่วงประมาณศตวรรษที่19 ที่วิชามานุษยวิทยามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด สนามของนักมานุษยวิทยาคือพื้นที่ทางกายภาพ ของประเทศอาณานิคม (การเข้ามาของนักมานุษยวิทยาในฐานะประเทศเจ้าอาณานิคมผิวขาวตะวันตก) และพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่มีคนพื้นเมือง(Primitive Man)อาศัยอยู่ โดยใช้วิธีการศึกษาแง่มุมต่างๆของสังคมชนพื้นเมืองเหล่านั้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของการนำความคิดและความรู้แบบตะวันตกสมัยใหม่เข้าไปครอบงำทางความคิด และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองในพื้นที่เหล่านี้ จนกระทั่งโลกได้เข้าสู่ระบบของการติดต่อสื่อสารแบบไร้พรมแดนที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์  ที่พัฒนาและเติบโตอย่างมากในช่วงต้นของศตวรรษที่20 จนถึงปัจจุบัน

ในความจริงแล้วรากฐานความคิดในเรื่องของโลกาภิวัตน์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มตั้งแต่ในช่วงของยุคล่าอาณานิคม ที่นักปราชญ์และผู้มีความรู้ในสมัยนั้นได้สร้างแนวความคิดที่ว่า โลกเชื่อมโยงเข้าหากัน ความเชื่อเดิมที่มีอิทธิพลจากศาสนาในยุคมืด หลายเรื่องได้ถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าเมื่อมนุษย์เดินทางหรือเดินเรือไปสุดขอบโลกแล้วจะตกขอบโลกนั้น ความจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้มนุษย์เริ่มท้าทายในเรื่องของการเดินเรือและเรื่องแผนที่ เพื่อเชื่อมโยงโลกที่พวกเขาอยู่กับโลกที่ยังไม่ถูกค้นพบ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในซีกมุมต่างๆของโลก สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่จินตนาการอีกต่อเมื่อมนุษย์ได้เดินทางไปถึงและค้นพบโลกเหล่านั้น ทำให้การเชื่อโยงสินค้าจากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก และการนำทรัพยากรจากโลกตะวันออกไปยังโลกตะวันตกเป็นไปได้รวดเร็วมากขึ้น เช่น เครื่องเทศ กาแฟ เพชร น้ำตาล กาแฟ ชา  โกโก้ ยาสูบ ข้าวโพด โลหะเงินและทอง สินค้าเหล่านี้ สร้างความมั่งคั่งให้กับยุโรป เกิดความก้าวหน้าของระบบธุรกิจเงินตราและระบบธนาคาร รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมในแง่ของอาหารและการบริโภค เมื่อเครื่องปรุงจากอีกซีกโลกหนึ่งเดินทางเข้ามายังอีกซีกโลกหนึ่ง
ความก้าวหน้าของการค้นพบโลกใหม่ ทำให้มนุษย์มีความมั่นใจในความสามารถของตนและเกิดการพัฒนาความรู้ใหม่เรื่อยมา โดยเฉพาะความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่สามารถสร้างพลังและอำนาจทางความรู้ ให้กับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยรากฐานความเชื่อมั่นศรัทธาในวิทยาศาสตร์ ปรากฏตัวอยู่ในแนวคิดของแม็กซ์ เว็ปเบอร์  (Max Weber) ในเรื่องของกระบวนการสร้างเหตุผลของตัวมนุษย์ (Rationalization) และการสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับชีวิตผ่านผลตอบแทนทางด้านวัตถุ ซึ่งเป็นรางวัลของชีวิต มนุษย์จึงไม่ใช่มนุษย์ของพระเจ้า หากแต่เป็นมนุษย์ของงาน มนุษย์ที่สามารถสร้างความก้าวหน้าและผลักดันประวัติศาสตร์ของโลกให้เปลี่ยนแปลง
พฤติกรรมของมนุษย์ ถูกอธิบายในลักษณะที่เป็นโครงสร้าง (Mechanistic) หรือเครื่องจักรกลไก ที่มีระเบียบ โครงสร้างแน่นอน แต่ปราศจากคำอธิบายถึงลักษณะทางอารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกันของมนุษย์ ผ่านการสร้างภาพลักษณ์ของมนุษย์ที่เหมือนเครื่องจักร มีหน้าที่กลไกลเหมือนกัน และก่อให้เกิดวาทกรรมรวมหมู่ ที่ให้ความสำคัญกับคนจำนวนมาก แนวความคิดเรื่องโครงสร้างเครื่องจักร ได้รับการวิจารณ์จากแนวคิดตรงกันข้ามที่ให้ความสนใจกับเงื่อนไขทางความคิดและอารมณ์ส่วนตัวของปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นลักษณะของพวกศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutics) ที่ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ในมิติทางด้านจิตใจ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของMarx และ Weber
    ดังนั้น สรุปได้ว่า การเสื่อมถอยของอำนาจทางศาสนา ที่มีจุดเน้นแบบ เน้นเทวหรือพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง (Theocentric) ได้ก้าวไปสู่การให้ความสำคัญกับเรื่องทางโลก ที่อยู่ตรงกันข้ามและแปลกแยกกับเรื่องทางศาสนา  ได้เคลื่อนเข้าไปสู่วิธีคิดแบบเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentric) ในฐานะผู้ปลดปล่อยตัวเองอย่างอิสระและก้าวไปสู่ความก้าวหน้า และทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพความสามรถของมนุษย์  การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สัมพันธ์กับตลาดทุนนิยมแบบเสรีที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง  ทำให้สินค้าและบริการถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น รวดเร็วขึ้น  เทคโนโลยีกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญของนายทุนในกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อวางขายในท้องตลาดต่อผู้บริโภค
    กระบวนการดังกล่าวได้นำไปสู่ สภาวะของการบริโภคที่เหมือนกัน ทั้งในแง่วิถีชีวิตที่เลียนแบบและผลิตซ้ำตัวตนและความคิดที่เหมือนกัน ดังเช่น การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมที่ทำให้มีการรับเอารูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่งมาให้ในวิถีชีวิตประจำวัน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้น เช่นวัฒนธรรมเกาหลี ( Koreanization  ) วัฒนธรรมญี่ปุ่น ( Japanization ) และวัฒนธรรมแบบอเมริกัน ( Americanization ) ที่ไหลบ่าข้ามพรมแดนต่างๆอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการขยายตัวของลัทธิบริโภค ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร และเพลง เป็นต้น
    ในช่วงปรากฏการณ์ของการบริโภคสินค้าที่แผ่ขยายไปทั่วโลก (Global Commoditization) ได้ปรากฏการก่อรูปของลักษณะเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในโลกยุคไร้พรมแดน ซึ่งตามความคิดของอาจัน อับปราดูรัย วิเคราะห์ว่ามี 5 ลักษณะคือ 1. การแตกกระจายเผ่าพันธุ์ ( Ethnoscapes ) 2. การแพร่กระจายและการเข้าถึงกันด้วยระบบสื่อสารสนเทศ ( Mediascapes ) 3.การมีชีวิตสัมพันธ์และคลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยี ( Technoscapes ) 4.การแพร่สะพัดและพลังอำนาจของระบบเงินตรา (Finanscapes) และ 5. การสร้างภาพฝันต่อสิ่งต่างๆ (Ideoscapes) เช่น ข่าวสาร สินค้าและบริการ ที่สื่อทั้งหลายได้นำวาทกรรมและภาพลักษณ์เกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ออกมาสู่ผู้คนที่บริโภคเป็นจำนวนมาก
    ประเด็นที่น่าสนใจคือ กระบวนการเคลื่อนย้ายของความคิด เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมืองของมนุษย์ ไม่ใช่การก้าวผ่านพรมแดนทางกายภาพที่เรารับรู้ดังเช่นอดีต แต่เป็นการก้าวผ่านพื้นที่ทางอากาศ หรือพื้นที่ของการสื่อสาร ตั้งแต่มนุษย์ได้เริ่มสร้างโทรเลขและโทรศัพท์เมื่อปีค.ศ. 1985 และพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างภาพกับเสียง ในช่วงปีค.ศ. 1936 ที่เกิดโทรทัศน์ขึ้น พร้อมทั้งความก้าวหน้าทางด้านดาวเทียมสื่อสาร จนกระทั่งปลายศตวรรษที่19 เกิดการประดิษฐ์คิดค้นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในช่วงปี 1970 และพัฒนาระบบการสื่อสารระบบอินเตอร์เน็ต ในปีค.ศ. 1996 ที่ทำให้การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทำได้กว้างขวางรวดเร็วมากขึ้น
สนามของนักมานุษยวิทยา
การพยายามสร้างสนามย่อยของนักมานุษยวิทยาในการพัฒนาทฤษฎีทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ ทฤษฎีสัญลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ได้นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะในการประชุมแห่งชาติในการวิจัยทางมานุษยวิทยา   ดังเช่นการประชุมสัมมนาเรื่อง ระบบความคิดของแอฟริกัน(A African system of thought)  ของนักมานุษยวิทยาอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้แสดงให้เห็นจุดร่วมและจุดต่างในงาน  ชาติพันธุ์วรรณาของทั้งสองฝ่ายคือ
1.งานชาติพันธุ์วรรณาฝรั่งเศส เริ่มต้นพร้อมกับโครงสร้างทางความรู้ทั้งหมด ที่ถูกแสดงในนิทานปรัมปรา(Mythology) ของมนุษย์ และสัญลักษณ์ในพิธีกรรมของพวกเขา ที่สะท้อน ความคิดเกี่ยวกับมนุษย์และจักรวาล ที่ปรากฎเป็นรูปร่างทางความคิด  ในการจัดระเบียบสังคม และเทคโนโลยีของพวกเขา และกระบวนการเชื่อมโยงกับตรรกศาสตร์(Logic)
2.มานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคม ในบริบทของพิธีกรรมและความเชื่อของประชาชนที่แตกต่าง รวมถึงความจริงของการจัดระเบียบสังคมและชีวิตประจำวัน
3.ทั้งสองวิธี(ฝรั่งเศสและอังกฤษ) ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีลักษณะขัดแย้งกัน แต่มีการรับมือจัดการบนลักษณะของการหนุนเสริมกัน ในประเด็นทางศาสนาของแอฟริกันและสถาบันทางพิธีกรรม นั่นก็คือเอาเรื่องศาสนาของแอฟริกันเป็นตัวเชื่อมต่องานชาติพันธุ์วรรณาที่ตัวเองทำ
ระบบสัญลักษณ์และพิธีกรรม จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจและพัฒนาโดยนักมานุษยวิทยาทั้งสายฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งเน้นย้ำอยู่บนการศึกษาเรื่องศาสนาในแอฟริกัน  ที่มีความแตกต่างทางด้านระเบียบวิธีการศึกษาและกระบวนการทำงานภาคสนาม  โดยนักมานุษยวิทยาฝรั่งเศส(French Anthropology) มีการทำงานภาคสนามโดยการสังเกตการณ์ของพวกเขา การทำงานภาคสนามจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ว่างจากงานสอน และใช้ระยะเวลาศึกษาติดต่อกันนานหลายปี ในขณะที่นักมานุษยวิทยาอังกฤษ(British Anthropology)ใช้เวลาศึกษาอย่างเข้มข้นในภาคสนามเป็นเวลา1-2 ปี  ซึ่งวิธีการทำงานภาคสนามและแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาอันแตกต่าง  ได้นำไปสู่วิธีการศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ ออกเป็นสองประเภทคือ  สัญวิทยา(Semiology)ที่ชื่นชอบโดยพวกยุโรป และสัญศาสตร์(Semiotics)ที่นิยมชมชอบโดยผู้พูดภาษาอังกฤษ(Terence Hawkes;1977,Floyed Merrell;1992) โดยที่ทั้งสองคำนี้มีการใช้แลกเปลี่ยนร่วมกันอยู่เสมอในความหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับระบบสัญญะ และการสร้างความหมาย แม้ว่าทั้งสองคำนี้จะมีความแตกต่างกันรายละเอียดของวิธีการศึกษาและจุดเน้นย้ำที่เฉพาะในทางสัญศาสตร์และสัญวิทยา
ในทัศนะทางความคิดของนักวิชาการภาษาศาสตร์อย่างเฟอดิน็องต์ เดอ โซซูร์ ( Ferdinance de Saussure) และชาร์ล แซนเดอร์ แซนเพิร์ส (Charles Sander Pierce) ได้นำไปสู่การแนะนำทิศทางที่แตกต่างในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาของนักมานุษยวิทยา ออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1) นักมานุษยวิทยาทางสัญวิทยา (The Semiological Anthropologist) ซึ่งสนใจเกี่ยวกับการอธิบาย พรรณนาและวิเคราะห์ระบบสัญลักษณ์ (Cultural symbol system) การนับถือระบบสัญลักษณ์ของสัตว์และพืชประจำเผ่าหรือตระกูล (Totemism) นิยายปรัมปรา(Myth) พิธีกรรม(Ritual) พิธีเฉลิมฉลอง(ceremonies) ระบบเครือญาติ(Kinship system) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานศึกษาชาติพันธุ์วรรณาของพวกเขา ในบริบทความสัมพันธ์ทางสังคม การกระทำของปัจเจกบุคคลและความรู้สึกนึกคิดที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
2) นักมานุษยวิทยาเชิงสัญศาสตร์ (The semiotic Anthropology) ซึ่งสนใจศึกษาระบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในอีกด้านหนึ่ง ที่คล้ายคลึงกับงานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณาในระบบของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความรู้สึก อารมณ์ของปัจเจกบุคคล (Emotion individual) รวมทั้งกิจกรรม(Activity)ต่างๆที่เกิดขึ้น
ลักษณะทั้งสองนี้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของแนวคิด ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในสายหน้าที่นิยม (Functionalism) โครงสร้างนิยม(Structuralism) และสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยนักมานุษยวิทยาสังคม วัฒนธรรม ในอังกฤษ อเมริกาและฝรั่งเศส ดังที่ Singer Milton (1984) กล่าวว่า ความนิยมและกระบวนการสร้างลักษณะในทิศทางของการศึกษาวิจัยของพวก Saussurean เช่นเดียวกับพวก โครงสร้าง (Structuralist) การระลึกรู้ (Cognitive) และมนุษยนิยม (humanistic) ซึ่งทั้งสามประเภทมีจุดเน้นอยู่บนเรื่องของภาษา ในขณะที่พวกนิยมแนวคิดของเพิร์ส (Piercean) ถูกพิจารณาเช่นเดียวกับพวก หน้าที่นิยม(Functionalist) อรรถประโยชน์นิยม(Utilitarian) และธรรมชาตินิยม(Naturalist) ที่มีจุดเน้นที่ปัจเจกบุคคล ประสบการณ์ การสังเกต การรับรู้เข้าใจและการกระทำต่อโลกและสังคม
การผสานแนวคิดและทฤษฎีมานุษยวิทยาเข้ากับวิธีการศึกษาเชิงสัญลักษณ์และสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นมานุษยวิทยาโครงสร้างนิยม(Structuralism) มานุษยวิทยาหน้าที่นิยม(Functionalism) มานุษยวิทยาโครงสร้าง-หน้าที่นิยม(Structural-Functionalism) มานุษยวิทยาการระลึกรู้(cognitive) มานุษยวิทยาแนวสัญลักษณ์นิยม(Symbolism)  เช่น Clifford Geertz ,Victor Turner มานุษยวิทยาสัณฐานทางวัฒนธรรม(Cultural Configuration) เช่น Franz Boas  ในตัวของทฤษฎีต่างๆเหล่านี้มีการถูกเชื่อมโยงเข้ากัน เช่นโครงสร้างนิยม กับสัญลักษณ์นิยม  ที่ความคิดในเรื่องของโครงสร้างสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการวิเคราะห์ปรากฎการณ์เชิงสัญลักษณ์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสัญลักษณ์สัตว์(Totemism)  นิทานปรัมปรา(Myth) และพิธีกรรม (Ritual) โดยเฉพาะในช่วงปี1950-1960 ที่นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อClaude Levi-Strauss(1908-1968) ได้ทำให้วิชาทางมานุษยวิทยามีสนามใหม่ภายใต้ชื่อโครงสร้างนิยมและสัญวิทยา ในคำประกาศของเขาเมื่อรับตำแหน่งที่ College de France  ว่า “มนุษย์ติดต่อสื่อสารโดยความหมายของสัญลักษณ์และสัญญะ”
เมื่อการสื่อสารผ่านโลกของไซเบอร์ วิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่หรือสนามเหล่านี้ จึงตะต้องมีระเบียบวิธีที่จะทำความเข้าใจเรื่องของวัฒนธรรม (Culture) สื่อ (Media) และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (Information Technology)
การก่อกำเนิดของการศึกษามานุษยวิทยาไซเบอร์

คำศัพท์เกี่ยวกับ มานุษยวิทยาไซเบอร์ (Cyberanthropology) เป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากคำอธิบายในเรื่องพื้นที่ในโลกไซเบอร์ (Cyberspace) ที่ถูกอ้างถึงเริ่มแรกในนวนิยายแนววิทยาศาสตร์เรื่อง Neuromancer โดย วิลเลียม กิ๊บสัน (William Gibson,1984) เช่นเดียวกับในช่วงปลายทศวรรษที่1940 นักคณิตศาสตร์ชื่อ Norbert Wiener ได้สร้างคำเติมข้างหน้า (Prefix) ว่าไซเบอร์ (Cyber) เพื่ออธิบายถึงเครือข่ายในโลกไซเบอร์ (Cybernetics) เพื่อนิยามความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ที่ว่าด้วยการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร (Human-Machine interraction) โดยเขาเชื่อมโยงกับรากศัพท์ในภาษกรีก ที่เกี่ยวข้องกับผู้นำหรือผู้วางระเบียบ (Steerman/Pilot) ที่เรียกว่า “Kybernetes” ในการอธิบายเกี่ยวกับการจัดวางและการควบคุม อุปกรณ์เครื่องจักรกล ในปัจจุบันคำเติมข้างของศัพท์คำว่า “Cyber” ใช้กับการอ้างถึงคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี โดยศึกษาว่า มนุษย์ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร
ดังนั้นการศึกษาที่เรียกว่ามานุษยวิทยาไซเบอร์ จึงสำคัญกับการบ่งชี้สนามของนักมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในพื้นที่คอมพิวเตอร์ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาที่มีบทบาทสำคัญคือ Arturo Escobar ในช่วงปีค.ศ. 1994 ในหัวข้อบทความของเขาเรื่องยินดีต้อนรับสู่โลกไซเบอร์ (Welcome to Cyber) ในวารสาร Current Anthropology เขาเป็นคนแรกที่ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมไซเบอร์ (Cyber Culture) ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและความหมายของสังคมร่วมสมัยที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ในคอมพิวเตอร์  โดยบทบาทสำคัญของการศึกษาวัฒนธรรมในโลกไซเบอร์ เกี่ยวข้องกับการสร้าง(Construction)และการรื้อสร้าง(Reconstruction)ทางวัฒนธรรม โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพื้นฐาน
ในความคิดของ เอสโคบาร์ เขามองว่าเรื่องของวัฒนธรรมไซเบอร์ มีสองส่วน ที่ควรต้องพิจารณาสำหรับการศึกษา ส่วนแรกคือ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ  และส่วนที่สองคือ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnologies) ตัวอย่างเช่น เรื่องพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ในส่วนแรกนำเราไปสู่ขอบเขตของเทคโนโลยีกับสังคม (Technosociality) ในแง่ของกระบวนการของการสร้างสังคมวัฒนธรรม ที่ถูกกระตุ้นโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะที่ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับเรื่องชีวสังคม (Biosociality) ในรูปแบบกฎเกณฑ์ใหม่ สำหรับการผลิตชีวิต รวมถึงความสัมพันธ์ของธรรมชาติกับร่างกายมนุษย์
มานุษยวิทยาไซเบอร์ (มานุษยวิทยาไซเบอร์ (Cyberanthropology) หรือ มานุษยวิทยาที่ศึกษาวัฒนธรรมไซเบอร์ (The Anthropology of Cyberculture) เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ว่าพวกเขาถูกสร้างหรือเป็นเครื่องมือในสังคมและวัฒนธรรมปัจจุบันอย่างไร ในช่วงของทศวรรษที่1950 จำนวนของนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลกระทบของเทคโนโลยีต่อชีวิตมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตก (Non-Western) ดังเช่นงานของ Maurice Godelier (1971) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการแนะนำให้ชาวพื้นเมืองบางกลุ่มในออสเตรเลียและปาปัวนิวกีนี รู้จักใช้ขวานเหล็ก แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการศึกษาดังกล่าวไม่สามารถประยุกต์ใช้กับสภาพสังคมที่มีความสลับซับซ้อนได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนในสังคมวัฒนธรรมปัจจุบัน ซึ่งจะต้องใช้วิธีการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาศึกษาและอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความเฉพาะและแตกต่างหลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐกิจและการเมืองได้
งานชาติพันธุ์วรรณนาในขอบเขตของมานุษยวิทยาไซเบอร์ สามารถสืบค้นถึงแหล่งที่ตั้งที่ซึ่ง ข้อมูลในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (ICTs) ถูกผลิตและถูกใช้ โดยเฉพาะศูนย์คอมพิวเตอร์และบริษัทซอฟแวร์  หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Providers หรือ ISPs ) นั่นคือการให้ความสำคัญกับการศึกษาพื้นที่ในอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะศูนย์กลางที่สร้างและออกแบบความจริงเสมือน (Vitual Reality) ไปสู่บ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ที่เป็นผู้บริโภคและผู้รองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ เนื่องจากพื้นที่อินเตอร์เน็ตสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร เข้ากับผู้ใช้พวกเขามากกว่าสิบล้านคนทั่วโลก ภายใต้เครือข่ายที่ค่อนข้างมหึมานี้ ประชาชนมีรูปแบบเครือข่ายที่เฉพาะ ในความสนใจของพวกเขา พร้อมกับรหัสที่เป็นตัวนำพวกเขาเข้าไปเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ในโลกไซเบอร์และภาษาเฉพะท้องถิ่นที่พวกเขาสามารถอ่านและเข้าใจได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ชุมชนเสมือน (Virtual Community) หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Online Social Networks) ที่ได้ให้สนามมากมายสำหรับการศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนาในสนามของมานุษยวิทยาไซเบอร์ ซึ่งนักชาติพันธุ์วิทยา สามารถศึกษาความสัมพันธ์ที่หลากหลายของพื้นที่ ทั้งภาษา โครงสร้างทางสังคมและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...