วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ต้นกับเพลงในความทรงจำ


ผมอยากเขียนเรื่องดนตรี  แต่คงไม่ใช่แบบมานุษยวิทยาดนตรี เพราะหากใช้คำว่ามานุษยวิทยา มันจะกลายเป็นการศึกษาหาความรู้ (วิทยา)เกี่ยวกับมนุษย์ ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าจะกล่าวได้ว่า มานุษยวิทยาดนตรีก็คือการศึกษาเกี่ยวกับดนตรีของมนุษย์ และเป็นดนตรีในเชิงของวัฒนธรรม เพราะเราศึกษาในเชิงของมานุษยวิทยา แม้ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องของดนตรี แต่เมื่อมีคำว่ามานุษยวิทยา(Anthropology of Music) หรือชาติพันธุ์ (ดนตรีชาติพันธุ์/Ethnomusiology)เข้ามาเกี่ยวข้องปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่างเลี่ยงไม่ได้
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบฟังเพลงและ เป็นนักเรียนมานุษยวิทยา ดังนั้นการเขียนเกี่ยวกับเพลงของผมจึงปนไปด้วยเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกในความเป็นมนุษย์ และมุมมองทางวัฒนธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง  ที่สำคัญผู้เขียนไม่ได้เน้นที่ทฤษฎีดนตรี หรือเน้นไปที่เรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เพราะผู้เขียนไม่ได้เรียนดนตรี เล่นดนตรีไม่เป็น แต่ขอย้ำว่าชอบฟังและชอบคิด ที่สำคัญคิดแล้วชอบเขียนด้วย ไม่ใช่แค่คิดเฉยๆ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร หลายคนมองว่าการคิดเป็นการบริหารสมองดีกว่าไม่คิดอะไร ผู้เขียนก็มองว่าถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะผู้เขียนชอบที่จะคิดและสื่อกับผู้อื่นมากกว่าสื่อกับตัวเอง ก็คิดว่าถ้าใครชอบ สนใจในเรื่องราวแบบเดียวกันก็คงจะเข้ามาอ่าน ในชุมชนที่เปิดกว้างนี้ บนโลกออนไลน์
ในเมื่อได้ฤกษ์ เปิดคอลัมน์  ผู้เขียนก็จะเขียนเกี่ยวกับวงที่ตัวเองชื่นชอบ จริงๆวงนี้เป็นวงที่เกิดขึ้นมานาน อัลบั้มแรกๆมีหลังจากผมเกิดประมาณสัก 4-5 ปี แต่กว่าผมจะได้ฟังจริงจังก็ช่วงอายุประมาณ 19-20 ปี เนื่องจากในช่วงเด็กไม่มีเงินซื้อเทป เพราะราคาก็ไม่ได้ถูกราคาประมาณตลับละ 70-80 บาท  แต่ช่วงก่อนหน้านั้นก็เคยได้ยินเพลงของนักร้องกลุ่มนี้บ้าง ตามรายการโทรทัศน์ ที่มีคอนเสิร์ต หรือ มิวสิควีดีโอ หรือตามคลื่นวิทยุที่เปิดฟัง วงดนตรีที่ว่า วงตาวัน  (ตะวัน ที่แปลว่าพระอาทิตย์) ซึ่งในปัจจุบันสมาชิกส่วนใหญ่ของศิลปินกลุ่มนี้ยังทำงานอยู่ในแวดวงของดนตรีอยู่ในปัจจุบัน

อันที่จริงจุดเริ่มต้นของสมาชิกกลุ่มวงตาวัน ไม่ใช่เพิ่งมารวมตัวกัน แต่พวกเขาเคยเป็นกลุ่มวงดนตรีวัยรุ่นที่ได้รับความนิยมในช่วง ปี 2524-2528 ภายใต้ชื่อ วงแมคอินทอช (Mcintosh) โดยสมาชิกในวงประกอบด้วย สมบัติ ขจรไชยกุล (เหมียว) อรรถพล ประเสริฐยิ่ง (อู๋) วงศกร รัศมิทัต (ต้น) สุเมศ นาคสวัสดิ์ (นิด)  กิตติพันธ์ ปุณกะบุตร (หมู) มุรธา รัตนสัมพันธ์ (ปริ๊นส์) วรเทพ เหลี่ยงวรกุล (เป๋ง) และ สมเกียรติ์ ชวนสมบูรณ์ (หนุ่ย) โดยพวกเขาออกอัลบั้ม 5 อัลบั้ม คือ
1 ชุดผมอยากดัง จัดจำหน่ายในปี พ.ศ.2524
2 ชุดใจสยิว จัดจำหน่ายในปีพ.ศ. 2525
3 ชุดวันวานยังหวานอยู่ จัดจำหน่ายในปีพ.ศ.2526
4 ชุดวันนี้ยังมีเธอ จัดจำหน่ายในปีพ.ศ. 2527
5 ชุดซึ่งกันและกัน จัดจำหน่ายในปี 2528
บทเพลงของพวกเขาได้รับความนิยมจากวัยรุ่นสมัยนั้นอย่างแพร่หลาย เช่นเพลง แม่น้ำนิรันดร์ เพลงช้ำ  ต้นไม้แห่งความรัก  รักเธอ ซึ่งกันและกัน พระจันทร์ตกน้ำ และอื่นๆ โดยหลายเพลงในอัลบั้มของพวกเขาถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์ ที่มีสมาชิกในวงแมคอินทอชแสดงด้วยทุกครั้ง  เช่น หนังเรื่องวังวานยังหวานอยู่ ,สยามสแควร์ ,ตะวันยิ้มแฉ่งและ วันนี้ยังมีเธอ เพลงที่ผมประทับใจไม่ลืมคือเพลงที่ประกอบภาพยนตร์เรื่องสยามสแควร์ ซึ่งมันโดนใจวัยรุ่นยุคนั้นมาก แม้ไม่เคยไปกรุงเทพฯ แต่ก็รู้ว่าสยามสแควร์เป็นที่รวมของวัยรุ่นในยุคนั้นและเป็นศูนย์รวมแฟชั่นและความบันเทิงต่างๆ ทั้งโรงหนัง โบว์ลิ่ง สเก็ต ไม่แตกต่างจากสมัยนี้ เพลงประกอบเรื่องนี้เพราะมาก โดยเฉพาะเพลง แม่น้ำนิรันดร์ ที่มีเนื้อร้องว่า
“แม่น้ำนี้ชื่อนิจนิรันดร์ เป็นที่ซึ่งเรานัดพบกัน จูบครั้งแรกใต้เงาพระจันทร์ เสียงเธอพร่าสั่น ฉันเห็นน้ำตา แม่น้ำนี้ชื่อนิจนิรันดร์ ณ ที่นี่เราจึงรักกัน ข้ามฟากหนึ่งเธอก็ถึงฉัน มาอยู่ร่วมกัน สร้างฝันเป็นจริง สร้างเธอสร้างฉัน ให้กล้าหาญเผชิญทุกสิ่ง เชื่อในรักภักดีกันยิ่ง ข้ามพ้นสิ่งกีดขวางทางเรา...”
เพลงนี้ทำให้คิดถึงสมัยเรียน เวลาที่มีความรัก สมัยนั้นมักจะคิดอะไรที่ไกลมากกว่าตัวเอง นึกถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการศึกษาสูงขึ้น มีการมีงานทำ มีเงินเลี้ยงครอบครัว รักคือการรอคอย รอระยะเวลาที่เหมาะสม ที่คนสองคนจะกลับมาเจอกันอีกครั้ง  ซึ่งผมว่ามันแตกต่างจากสมัยนี้ ที่กรอบของความรัก มักไม่ค่อยได้นึกถึงสิ่งรอบข้าง สังคมรอบตัว เช่น เพื่อน เครือญาติ พ่อแม่ และอื่นๆ ความรักเป็นเรื่องของปัจเจกชนสองคน ที่ไม่สนใจใคร นั่งกอดกันข้างหลังรถเมลล์ พุ่มไม้สาธารณะ ป้ายรถเมลล์ โดยไม่แคร์สายตาใคร หรือแบบนี้ที่เขาเรียกว่า เสรีภาพ เสรีชน  ที่สามารถแสดงออกมาซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ความปรารถนาที่อัดอั้นอยู่ในใจของตัว โดยที่ตัวเองรู้สึกว่าไม่กระทบกระเทือนกับใคร หรือไม่หนักหัวใคร (แม้ว่าในความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...