วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หันกลับมาพูดเรื่องจุดเริ่มต้นของวงตาวันต่อ หลังจากที่วงแมคอินทอช ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงในยุคนั้น ด้วยอัลบั้มที่ออกอย่างต่อเนื่อง และมีคอนเสิร์ตยาวเหยียด ภายใต้บริษัทนิธิทัศน์ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ความเริ่มต้องการแสวงหาเสรีภาพทางด้านดนตรีให้กับตัวเอง และสมาชิกหลายคนเริ่มแยกย้ายไปตามความฝันและหน้าที่การงานของตัวเอง ปรากฏการณ์ที่เป็นจุดหักเหสำคัญในยุคนั้น คือกระแสของเพลงจากตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทย ทั้งเพลงสากล และเพลงไทยหลายเพลงที่เอาทำนองสากลจากต่างประเทศมาแต่งใส่เนื้อไทย รวมทั้งเพลงที่เกิดจากมันสมองของศิลปินในยุคนั้นถูกซื้อขาดจากนายทุนในราคาที่ค่อนข้างต่ำ แม้ว่ายอดขายเทปจะมีมากแต่ผลตอบแทนที่ได้กลับต่ำกว่ากำลังกาย ฝีมือและกำลังสมองที่ลงทุนไปกับการทำเพลงและอัลบั้ม ในขณะที่เจ้าของค่ายเพลง บริษัทเทปกลับร่ำรวย แม้ว่าจะมีการรวมกันต่อต้านเรียกร้องสิทธิ ในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานของตัวเอง และความชอบธรรมในส่วนแบ่งจากยอดขาย ก็จะถูกมองว่าเป็น ขบถในวงการเพลง ในจำนวนนี้ก็มีศิลปินในวงแมคอินทอช จำนวน 3 คนที่ออกมาแสวงหาแนวทางในเส้นทางดนตรีของพวกเขา แม้ว่าในช่วงเวลาแรกพวกเขาจะเป็นนักดนตรีไร้สังกัด ไร้ค่าย และเล่นดนตรีตามห้องอาหารเพื่อไล่ตามความฝันและความชอบในด้านดนตรีของพวกเขา สมาชิก 3 คน ประกอบด้วย วงศกร รัศมิทัต (ต้น) สุเมศ นาคสวัสดิ์ (นิด) กิตติพันธ์ ปุณกะบุตร (หมู) มุรธา รัตนสัมพันธ์ (ปริ๊นส์) และอีกสองคน คือพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ปุ้ม) และชัยวัฒน์ จุฬาพันธุ์ (ขุน) สมาชิกทั้ง 5 คน ของวงตาวัน เล่นดนตรีกลางคืนกันที่โรงแรมเอเชีย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น สมาชิกในวงเริ่มไม่มั่นใจกับอนาคตของตัวเอง ที่กำลังจะตกงาน พร้อมๆกับความตั้งใจของพวกเขาที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต จากการเป็นนักดนตรีกลางคืนในสังคมที่วุ่นวาย มาสู่การเป็นทีมผลิตดนตรีมืออาชีพและรับจ้างในห้องบันทึกเสียง ณ โรงแรมเอเชีย เพลงหลายเพลงของพวกเขาเกิดขึ้นจากประสบการณ์การเล่นดนตรีและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น บนโต๊ะอาหารและบนเวที เช่น เพลง หุ่นกระบอก ที่เพลงร้องว่า “ดึงเชือกสิ แล้วฉันจะยิ้มให้คุณ ดึงเชือกสิ ฉันจะร้องเพลงให้ฟัง ดึงอีกครั้งฉันอาจร้องไห้ แต่ไม่เป็นไร หากถูกใจของคุณ ดึงเชือกสิ ฉันอาจยิ้มให้อีกครั้ง แต่อย่าเพิ่งหวัง ครั้งนี้ฉันอาจร้องไห้ เพราะเชือกอาจขาด ฉันอาจหลุดลอยไป ไปทั้งที่ใจ ไม่อยากจะจากคุณเลย คุณคงเห็นฉันไม่มีหัวใจ ทำฉันอย่างไรได้เหมือนหุ่น ให้สุขให้ทุกข์แล้วแต่ใจคุณ ฉันเป็นเพียงหุ่นให้คุณเชิดตามใจ” หรือเพลงสมาคมว่างงาน ที่ร้องว่า “เรียนจบมานาน ยังตกงานอยู่ มีปริญญาโก้หรู ความรู้ไม่อายใคร เดินเที่ยวเดินหางานทำ ตั้งแต่เช้ายังเที่ยงบ่าย เรียนมาเกือบตายพอจบทำไมไร้งานทำ โธ่เรียนจบมานานแล้ว ตกงานเหมือนกันวะ ได้เกียรตินิยมด้วยนะ แล้วเป็นไง เคยมีคนบอกกันว่าถ้าขยันจะสบาย ขยันแทบตายยังไร้งาน...” โดยพวกเขาได้พัฒนางานเพลงที่ห้องอัดของต้น วงศกร รัศมิทัต พวกเขาเขียนเพลง เพื่อสะท้อนเรื่องราวของสังคม และสภาวะปัญหาของพวกเขาเอง รวมทั้งเขียนเพลงให้กำลังใจตัวเอง เช่น เพลงเสียงกระซิบจากสายฝน และเพลงสู่แสงตะวัน อัลบั้มหุ่นกระบอก จึงก่อร่างตัวเองขึ้นมาจากห้องอัดบัตเตอร์ฟลาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พบวกเขาเรียนรู้ความสุขจากการทำงานเพลง จากเพื่อนร่วมชะตากรรมและเพื่อนที่มีความคิดเหมือนกัน ที่ต้องการเห็นวงการเพลงพัฒนาไปอย่างก้าวไกล เดี๋ยวมาต่อกันกับการเดินทางของพวกเขาในอัลบั้มชุดที่ 2 ม็อบ ภายใต้ชื่อวงตาวัน

1 ความคิดเห็น:

  1. ตอนนี้วงตาวันมี Fanpage แล้วนะคะ http://www.facebook.com/TheWongTawan
    และ http://www.facebook.com/PongpromFanPage ค่ะ

    ตอบลบ

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...