วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มานุษยวิทยากับภาพถ่าย ตอนที่2

ความแตกต่างระหว่าง Camera Lucida และ Camera obscura
            Camera Lucida จะประกอบด้วยองค์ประธานหรือตัวแบบ ที่ถูกมองผ่านเลนส์ และปรากฏอยู่บนพื้นผิวที่จิตรกรกำลังวาดภาพ  ซึ่งจิตรกร จะมองเห็นฉากและร่างภาพบนพื้นผิวได้อย่างทันที โดยไม่ต้องมองที่ตัวแบบจริงแต่อย่างใด
ลักษณะของภาพในลักษณะCamera Lucida

Camera  Obscura มาจากลักษณะของห้องมืด ซึ่งแสงสว่างส่องเข้ามาจากภายนอก โดยมีการนำเลนส์ไปใส่ไว้ตรงช่องรูเลกๆนั้นๆ ผลก็คือ ภาพจากโลกภายนอกจะปรากฏ ขึ้นในห้องมืดในลักษณะกลับหัว บนผนังด้านด้านหนึ่งของห้องมืด หรืออาจกล่าวได้ว่า Camera Obscura มีสถานะเป็นพื้นที่ในเชิงลบของการบังคับการรับรู้ของเรา
ลักษณะของCamera obscura

            เกิดการแบ่งแยกระหว่างผู้มองกับโลกภายนอก รูปภาพสำหรับผู้สังเกต มีอิสระในตัวเอง มีปัจเจกบุคคลสูง มีความเป็นส่วน ซึ่งได้กักตัวเองไว้ในพื้นที่ด้วยประหนึ่งว่าเป็นบ้าน สภาพเช่นนี้ได้ตัดตัวเขาเอง จากโลกภายนอกที่เป็นสาธารณะ
การที่สังเกตไม่สามารถ/ไม่อาจมองมองเห็นภาพตัวเขาเองได้ ยกเว้นแต่ภาพที่แยกออกมาจากโลกภายนอก ซึ่งผ่านรูรับแสงของเลนส์เข้ามา เป็นการเน้นย้ำถึงความเชื่อในยุคแสงสว่างทางปัญญา ในความแตกต่างที่แหลมคม ระหว่างจิตใจ ซึ่งเป็นตัวตัดสินการรับรู้ต่างๆ  ทางผัสสะ ประสาทสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งเป็นเพียงตัวบันทึกสิ่งเหล่านั้น
การรับรู้เป็นสิ่งที่นักปรัชญา อย่าง Richard Roity เรียกว่า พื้นที่ภายใน (Inner Area) เรียกว่า พื้นที่ภายใน (Inner Area) ถูกจำแนกความแตกต่างอย่างแหลมคมจากความเป็นจริงที่ขยายมาจากดวงตา ซึ่งไม่สามารถสัมผัสและสร้างการตัดสินที่ถูกต้องขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเลนส์ทำหน้าที่เป็นดวงตา ตัวเลนส์ไม่ใช่ตัวรู้แต่เป็นตัวรู้ภาพ ส่วนคนที่อยู่ข้างใน ที่มองเห็นภาพที่ผ่านเลนส์เข้ามาคือตัวรู้คือ
โดยหลักการของการถ่ายภาพทั้งสองแบบมีลักษณะที่เหมือนและแตกต่างกัน ดังนี้ ในแง่ของความแตกต่าง Camera  Obscura เป็นสิ่งที่ถูกมองผ่านห้องมืดที่คุมขังผู้สังเกตหรือผู้มองไว้ภายใน เพียงแต่ภาพหรือทิวทัศน์จากภายนอกสามารถสะท้อนเข้ามาผ่านแสงและเลนส์ ที่ทำให้ภาพปรากฏอยู่บนผนังในลักษณะกลับหัว ในขณะที่ Camera Lucida จะมีลักษณะเป็นที่โล่งแจ้ง ซึ่งพื้นที่ไม่ได้เป็นตัวกั้นผู้สังเกตกับโลกภายนอกแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้สังเกตมองโลกข้างนอกผ่านเลนส์ ไม่ใช่มองไปยังโลกข้างนอกจริงๆ ซึ่งลักษณะของการถ่ายภาพทั้งสองแบบ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิกฤตของความจริงและความเป็นตัวแทน เมื่อเราไม่จำเป็นต้องมองโลกภายนอกแท้จริง แต่มองโลกภายนอกผ่านภาพสะท้อน ผ่านสื่อที่เป็นตัวส่งต่อภาพมายังสายตาของเรา ปัญหาก็คือ ภาพที่เราเห็นกับความจริงที่อยู่ข้างนอก เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ อีกทั้งภาพดังกล่าวมันได้สะท้อนแง่มุมทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนที่เล็ดลอดผ่านเลนส์หรือช่องเข้ามายังสายตาของเราเท่านั้น ดังนั้นเมื่อลักษณะดังกล่าวมีความคลุมเครือของสิ่งที่ปรากฏ กับการมองเห็นและประสบการณ์ของผู้สังเกตที่ทำให้ภาพนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น การตีความความหมายของภาพดังกล่าว ก็ย่อมสามารถที่จะตีความได้อย่างหลากหลายตามการมองงของปัจเจกบุคคลแต่ละคน
            สรุปได้ว่า การมองทั้งสองแบบจะเห็นได้ว่า ไม่ได้มองลงไปที่ตัวภาพจริงๆ แต่เป็นการมองผ่านภาพสะท้อนหรือภาพตัวแทนของวัตถุที่แท้จริง ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาพัฒนาในงานของ มิเชล ฟูโก เรื่อง Panopticon หรือ สรรพทัศน์ หรือการจ้องมองนกโทษผ่านหอคอยของผู้คุมนักโทษ ซึ่งนักโทษไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกจ้องมอง โดยใช้วิธีการสร้างห้องโปร่งแสง ไม่ใช่ห้องมืดเหมือนในยุคก่อน ที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมรู้สึกว่าถูกจ้องมอง  แต่ในขณะที่การใช้พื้นที่โปร่ง ทำให้ผู้ถูกควบคุมรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจ้องมองหรือควบคุมอยู่  ซึ่งเรียกว่า แสงสว่างแห่งการควบคุม  เป็นความจริงของความจริงเสมือน (pseudo-truth) ซึ่งความจริงเสมือนดังกล่าวก็สามารถถูกทำให้เป็นความจริงได้ โดยการสร้างความชัดเจนผ่านตัวภาษา หรือคำอธิบายความเกี่ยวกับภาพนั้น ว่าต้องการสื่อหรือชี้ให้เห็นถึงอะไร ซึ่งบางครั้งคำอธิบายกับภาพอาจเป็นคนละเรื่อง หรือคำอธิบายกับภาพแม้จะสื่อให้เห็นถึงเรื่องเดียวกัน แต่ก็ปกปิดมายาคติหรือความหมายแฝงบางอย่างไว้ เช่น ภาพนักข่าวญี่ปุ่น  ภาพแรกเป็นภาพนักข่าวญี่ปุ่นนอนตายอยู่บนริมถนน โดดเดี่ยว ลำพัง คำถามที่ตามมาคือตายเพราะอะไร เพราะถูกฝูงชนที่ทำการประท้วงและหนีจากอาวุธปืนของทหารพม่าเหยียบ หรือถูกสังหารด้วยคมกระสุนของทหารพม่า  ภาพนี้ถูกนำเสนอในเรื่องของเหยื่อสงครามกลางเมืองและความบ้าคลั่งของฝูงชนในพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันของพม่า

โรลองต์ บาร์ธ (Roland Barthes) ต้องการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์ของการจ้องมอง (History of Looking)  ซึ่งบาร์ธ ต้องการที่จะทำการศึกษาและอธิบายเกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านจิตใจ อารมณ์และประสบการณ์ส่วนตัว       ในการอธิบายเกี่ยวกับภาพถ่าย    ภาพถ่ายจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกพรากหรือแยกออกจากการอ้างอิงเกี่ยวกับตัวมันเอง เมื่อเรามองไปยังภาพถ่าย  คำถามที่ตามมาคือ ภาพที่เราเห็นในภาพถ่าย กับภาพที่แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่  เมื่อเรามองลงไปที่ภาพภาพหนึ่ง  ลักษณะ 2 อย่างที่จะเกิดขึ้นกับเราก็คือ
ลักษณะแรกเรียกว่า Studium  คือความหมายที่เป็นไปได้ หรือเห็นได้ชัดสำหรับทุกๆคน เมื่อเรามองลงไปยังภาพ ความสงสัยหรือความคิดเกี่ยวกับภาพดังกล่าวจะไม่มี  เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นเสมือนจินตนาการที่เป็นเอกภาพและบรรจุอยู่ภายในตัวเราเองเหมือนกับนักมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้างอย่าง  โคล๊ด เลวี่ สเตร้าท์   ( Claude Levi-Strauss) ได้พูดถึงการทำงานของโครงสร้างในระดับจิตใต้สำนึก ที่สะท้อนผ่านการเล่านิทาน โดยที่ตัวผู้เล่าหรือเนื้อหาของการเล่าไม่ได้มีนัยสำคัญอันใด เพราะมีความแตกต่างกันตามประสบการณ์และความสามารถของผู้เล่าในแต่ละคน แต่สิ่งที่เรียกว่า โครงสร้าง ซึ่งทำงานในระดับของจิตใต้สำนึกที่แก่นหรือแกนเรื่องหลักของนิทานเรื่องนั้น ไม่ว่าจะมีกี่สำนวนก็ตาม แต่ทั้งหมดก็ล้วนสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นประเด็นหลักร่วมกันเพียงอันเดียว
            Studium จึงเป็นประเภทของการศึกษา กระบวนการทางความรู้และวัฒนธรรมของผู้ชมที่ถูกสร้างขึ้น เช่น ความเป็นพลเมือง ความสุภาพ ซึ่งเป็นความรู้สึกธรรมดาทั่วไป ไม่มีอะไรควรเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะสามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อนหรืออาจกล่าวในภาษาของบาร์ได้ว่าสิงที่อ่านได้ง่ายหรือถอดรหัสได้ง่าย
สำหรับคำว่า Punctum คือ ร่องรอยบางอย่างหรือส่วนประกอบบางอย่างของภาพที่เข้ามากระทบกับอารมณ์ ความสนใจของผู้ชม อย่างร้าวลึกและเจ็บปวด เช่นเดียวกับรูเล็กๆที่แสงกับภาพเข้ามากระทบกับดวงตาและให้ความรู้สึกหรือารมณ์ที่เสียดแทงใจของผู้มองหรือผู้ชม อาจกล่าวได้ว่าความรู้สึกดังกล่าวเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลหากไม่มีชุดของเหตุการณ์ร่วม คนอื่นก็ไม่สามารถเข้าใจหรือรู้สึกแบบเดียวกันได้
ความรู้สึกบาดตาหรือเจ็บปวด ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลที่เฉพาะ เพราะเป็นเรื่องของประสบการณ์เฉพาะบุคคล (Individual Experience) และความทรงจำ (Memory) ที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกต่อภาพที่บาดตานั้น
คำถามที่ตามมาคือ เมื่อแต่ละคนต่างก็มองภาพในมุมมองของตัวเอง ภาพที่สะท้อนออกมาจึงมีความหลากหลาย ดังนั้นเราจะกล่าวได้ว่า ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่นำเสนอความจริงได้อย่างหนักแน่นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ตัวแทนของความจริงหรือการจำลองความจริง หรือเป็นความจริงเทียม (pseudo-truth)
            การแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ การพยายามทำให้ความหมายของภาพมีความนิ่งหรือชัดเจนมากที่สุด เรื่องของภาษาหรือตัวบทจึงมีความสำคัญ เมื่อเราจะอธิบายความหมายของภาพ  แต่ทั้งภาพและตัวบทต่างก็กำหนดกรอบหรือข้อจำกัดในการรับรู้ต่อกันและกัน แต่บางครั้งแม้ว่าตัวบทกับภาพอาจจะขัดแย้งกันเอง แต่สิ่งเหล่านั้ก็ย่อมกระทบกับการรับรู้ของเรา ความหมายในทางสังคมวัฒนธรรมของเรา เหมือนกับที่ เฟอร์ดินองต์  เดอ โซซูร์ เปรียบเทียบว่า ภาษาจะต้องเป็นรหัสที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนของภาษา คนในสังคมวัฒนธรรมนั้นจึงจะสามารถถอดรหัสออกมาได้ (Saussure 1966: P.68-69) ดังนั้น ภาษาจึงเป็นสิ่งที่กำกับและสร้างความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับโลกและสิ่งรอบๆตัว  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...