วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานผาแดงนางไอ่(1)

นิทานปรัมปรา เป็นการใช้ภาษา (parole) เพราะเป็นการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นระบบของภาษาด้วย (language) เพราะต้องเล่าภายใต้กฎเกณฑ์โครงสร้างชุดหนึ่ง เช่นเป็นการพูดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไปพร้อมๆกัน (ไชยรัตน์ 2545:70)
            จากคำกล่าวข้างต้น การวิเคราะห์นิทานปรัมปรา จึงไม่ช่แค่เรื่องของการวิเคราะห์เนื้อหา หรือขอบเขตทางวัฒนธรรมแต่เพียงเท่านั้น แต่เป็นการทำความเข้าใจความคิดของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นสากล ดังเห็นได้จากตามนานปลาไหลเผือกของชาวล้านนา ที่พูดถึง โยนกนาคนคร หรือหนองหานกุมภวาปี ที่พูดถึงเรื่องของพญานาคพังคีหรือกระรอกเผือก ผ่านตำนานผาแดงนางไอ่ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของโลกทัศน์ ความเข้าใจ ต่อระบบจักรวาล ระบบธรรมชาติ ของโลกและชุมชน ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน ต่อเรื่องของการอธิบาย เรื่องของการตั้งถิ่นฐานและอพยพย้ายถิ่นนของมนุษย์ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ที่คนในอดีตได้รวบรัดหรืออธิบายจักรวาลอย่างเป็นสากล ซึ่งเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วหรือเรียกว่า กระบวนการหาคำตอบของชนเผ่าดั้งเดิมที่ต้องการเข้าใจจักรวาลอย่างเป็นสากลด้วยวิธีลัดที่สุด(อ้างจากปริตตา 2533:54) ผ่านเรื่องของ ฟ้า ดินและน้ำ หรือ สวรรค์ โลกและบาดาล ความสำคัญที่ปรากฏในนิทานปรัมปรา หาใช่เนื้อหาอันพิลึกพิสดาร ที่มีความแตกต่างกันในผู้เล่าแต่ละคน แต่คือระบบความคิด กฎเกณฑ์หรือโครงสร้างบางอย่างที่กำหนดความหมายของนิทานปรัมปรา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งหรือความจริงของคนในพื้นที่ ที่ถูกบอกเล่า และผลิตซ้ำผ่านพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรมชุดต่างๆที่สัมพันธ์กับนิทานละวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่นพิธีกรรม จุดบั้งไฟ เพื่อบูชาพญาแถนและสร้างความมั่นใจให้กับชาวนาในการได้รับน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ต่อการเพาะปลูก และพืชผลเจริญงอกงาม แม้ว่าจะปะทะกับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบันที่พยายามเข้ามาแทรกแซงและเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมดังกล่าวก็ตาม
            ดังเช่นตำนานการเกิดหนองหานกุมภวาปี จากการศึกษาของผู้ศึกษาพบว่า แม้ว่าจะมีความพิลึกพิสดารในการอธิบายและการเล่าที่แตกต่างกันในผู้เล่าแต่ละคน ตามความทรงจำที่จดจำสิ่งที่เล่าต่อิกันมาได้มากน้อยต่างกัน ทั้งในรูปของนิทาน คำกลอน หรือหมอลำ ก็ตาม  แต่จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับตำนานาแดงนางไอ่ ก็พบว่าในเนื้อหาของนิทานปรัมปรา มีความสอดคล้องกันหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเกษตรกรรมและการดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมต่างๆที่ยังคงสืบทอดต่อกันมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเสมือนกฎเกณฑ์ที่คนในชุมชนใช้อธิบายความเป็นมาของตัวเองและความสัมพันธ์ต่อพื้นที่ ที่เป็นเรื่องของภูมิศาสตร์สังคม (Social Geography)  เรื่องเล่าตำนานผาแดงนางไอ่มีดังนี้คือ[1]
            พญาขอมผู้ครองเมืองเอกชะธีตา[2] มีพระมเหสีชื่อนางจันดา และมีพระราชธิดาที่ทรงสิริโฉมงดงามนามว่า นางไอ่คำ  พระยาขอมทรงมีน้องชายสองคนครองเมือง เชียงเหียน[3] และเมืองสีแก้ว[4] และหลานชายอีกสองคน ครองเมือง ฟ้าแดดสงยาง[5] และเมืองหงษ์[6] โดยให้ไพร่พลไปเมืองละ 8,000 คน  ความงามของธิดาไอ่คำเลื่องลือไปทั่วทิศ จนไปถึงท้าวผาแดง พระโอรสเจ้าเมืองผาโพง[7] เกิดความหลงใหลใฝ่ฝันในตัวนาง จึงให้ทหารมหาดเล็กนำแก้วแหวนเงินทองไปให้นางเพื่อเป็นไมตรี และได้เดินทางไปหานางไอ่ที่เมืองเอกชะธีตา จนทั้งคู่เกิดต้องชะตาและรักชอบกัน ในอีกด้านหนึ่งพังคีผู้เป็นพญานาคและเป็นบุตรของพระยาสุทโธนาค[8]ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งครองเมืองบาดาล ก็หลงใหลใฝ่ฝันอยากได้นางไอ่ มาครอบครองเช่นเดียวกันกับเจ้าชายจากเมืองอื่นๆ


[1] อ้างอิงจาก การสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำหนองหาน ที่เป็นผู้เล่านิทานของคนในหมู่บ้าน3 คนคือ พ่อบุญตา จันทรเสนา อายุ 67 ปี ชาวบ้านอุ่มจาน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2544 พ่อทองดี จันทรเสนา ชาวบ้านสวนมอญ อายุ 78 ปี วันที่3 กรกฎาคม 2548 และพ่อตู้แขก บุญจันทร์  อายุ 65 ปี วันที่ 24 พฤษภาคม 2545 จากการสังเกตพบว่าเป็นผู้มีความเป็นปราชญ์และผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา สามารถอ่านภาษาบาลีได้ เขียนภาษาอีสานโบราณได้ รวมถึงเล่าตำนานต่างๆ ได้ เช่นปู่สังกะสาย่าสังกะสี ตำนานน้ำเต้าปรุง มีการเขียนบันทึกเรื่องราวไว้เป็นหนังสือ และสามารถท่องกลอนลำให้ฟังเกี่ยวกับตำนานดังกล่าวได้
[2] เมืองเอกชะธีตา สันนิษฐานว่าคือเมืองหนองหานน้อย อยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
[3] เมืองเชียงเหียนเชื่อว่าอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
[4] เมืองสีแก้วเชื่อว่า อยู่ในเขตตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
[5] เมืองฟ้าแดดสงยาง ปัจจุบันเชื่อว่าอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
[6] เมืองหงษ์ ปัจจุบันเชื่อว่าอยู่ในเขตตำบลเมืองหงษ์ อำเภอจตุรพักพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด
[7] เมืองผาโพง ในปัจจุบัน เชื่อว่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆในเขตอำเภอปากชม จังหวัดเลย อยู่ห่างจากลำน้ำโขงราว 10 กิโลเมตร
[8] สุทโธนาค น่าจะเป็นพญานาคผู้สร้างแม่น้ำโขง ที่สัมพันธ์กับเรื่องของบึงคำชะโนดในเขตอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีรูพญานาคที่เชื่อมโยงหนองหานน้อย  หนองหานหลวงและแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดหนองคาย

1 ความคิดเห็น:

  1. เมืองฟ้แดดสงยาง ปัจจุบันน่าจะเป็นเมืองกาฬสินธุ์
    ส่วนหนองหารหลวงสกลนคร กับหนองหานน้อยกุมภวาปี อยากทราบว่าหนองใดกันแน่ที่เกี่ยวกับตำนายผาแดงนางไอ่ เพราะต่างก็อ้างว่าเกี่ยวทั้งสองหนอง

    ตอบลบ

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...